สัมภาษณ์ :::: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กับการขับเคลื่อน “สร้างธรรมาภิบาล การเมือง การปกครอง”
“สร้างธรรมาภิบาล การเมือง การปกครอง และระบบความยุติธรรม” หนึ่งใน 10 โจทย์เร่งด่วนที่ท้าท้ายประเทศไทย ที่เครือข่ายสถาบันทางปัญญา กำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันในเวทีปฏิรูปประเทศไทย มี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รับหน้าที่เป็นหัวขบวน วันนี้เปิดโอกาสให้ “ทีมศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ได้พูดคุย
ถามถึงกิจกรรมทางวิชาการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
"สำหรับเวทีนี้ เป็นเวทีแวดวงวิชาการที่อยากจะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยที่ไม่หวังรอให้รัฐบาลทำ ไม่รอให้ส่วนกลางทำ เพราะเห็นแล้วว่า รัฐบาลทำไม่ไหว มีคนมาก ในส่วนเราทำอะไรได้ก็ทำเลยเราคิดอะไรได้ก็ทำ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนปัญหาแล้วก็ช่วยกันมองปัญหา ก่อนแยกย้ายกันไปทำ ใครทำอะไรได้ตรงไหนก็ทำ"
ความยากง่ายการขับเคลื่อนโจทย์ “สร้างธรรมาภิบาล การเมือง การปกครอง และระบบความยุติธรรม”
“ผมรับช่วยดูในเรื่องหาคนทำการศึกษาวิจัยแบบการมีส่วนร่วม ที่ไม่ใช่วิจัยแล้วนำไปใส่หิ้ง แต่เป็นการวิจัยแบบการมีส่วนร่วม มีการปฏิบัติการ เรียกว่า Participatory Action Research ผมก็รับมาในส่วนที่พอจะทำได้ เพราะโจทย์ข้อที่ 5 เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร ทำเท่าที่ทำได้ ตัดช่องน้อยแต่พอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยุติธรรม ผมไม่ทำ เพราะชื่อบอกแล้วว่า ยุติธรรม คิดว่าใหญ่เกินไปกว่าที่จะทำไหว”
สิ่งที่เป็นรูปเป็นร่าง จับต้องได้มากที่สุดคือเรื่องอะไร
“ภายใต้โจทย์ข้อที่ 5 ที่ดูจะเป็นรูปร่างมากที่สุด คือ การสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสาธารณะ ได้แก่ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมเพื่อให้รู้ว่าเขาเป็นใคร มีประวัติมีพฤติกรรมอย่างไร เคยถูกกล่าวหาอย่างไร การทำงานในสภาผู้แทนราษฎร เคยโหวต เคยพูดอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นโครงการที่จะให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูล เมื่อมีข้อมูลแล้วก็ให้หน่วยงานหรือประชาชนทั่วไปสามารถที่จะตรวจสอบ เลือกคนไม่ผิด นี่คือการให้ข้อมูล ส่วนเขาอาจจะไม่เลือกคนเก่ากลับเข้ามา หรืออย่างไรก็แล้วแต่”
ส่วนการจะติดตามรายละเอียดความคืบหน้าของโครงการฐานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสาธารณะนั้น ดร.เจิมศักดิ์ กล่าววา ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา จะเป็นแกนหลักในการดำเนินงานเรื่องนี้ ได้ตั้งทีมรวบรวมข้อมูลสร้างเว็บไซต์เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โดยมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับเอ็นจีโอ กับคนอื่นๆ เป็นเรื่องหนึ่งของการปฏิรูปมิติการเมือง และธรรมาภิบาล ที่กำลังเดินเตาะแตะแล้ว
“เรื่องที่กำลังอยู่ในระหว่างตั้งไข่ คือ ความพยายามจะพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรในภาครัฐ ทั้งวิธีคิด วิธีการทำงาน การทำให้เกิดแรงจูงใจ วิธีการสร้างคนของหน่วยงานของรัฐ ที่ดูจะมีปัญหาในระบบราชการ”
มุมมองการเมืองภาคประชาชนในสายตาอาจารย์เจิมศักดิ์
“การพัฒนาการเมืองภาคประชาชน ทุกวันนี้เรามีการเมืองภาคประชานแต่ว่ากระจัดกระจาย มีปัญหาครั้งหนึ่งก็รวมตัวกันครั้งหนึ่ง เดินทางเข้ามาชุมนุม จนกลายเป็นรูปแบบของความขัดแย้ง เผชิญหน้าชุมนุม ทำให้มีต้นทุนมหาศาล ซึ่งการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ทำได้โดยที่ในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ หรือแต่ละชุมชนจะมีกิจกรรมการเมืองภาคพลเมืองในการตรวจสอบ รวมกันเพื่อทำกิจกรรมในแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภออาจจะมีกิจกรรมที่หลากหลายแตกต่างกัน แล้วแต่แต่ละอำเภอ บางแห่งอาจจะสนใจในการติดตามตรวจสอบการทำงานของอบต. อบจ. บางแห่งอาจจะรวมเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด บางแห่งอาจจะรวมตัวกันในเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ไม่เหมือนกัน
ในการรวมตัวกันทำงานเพื่อสังคม เพื่อตรวจสอบ กดดัน แนะนำ ติดตามข่าวสารบ้านเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่แต่ละจังหวัดอาจจะแตกต่างกัน แล้วเมื่อมีปัญหาระดับชาติก็จะรวมตัวได้อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง ต่างคนต่างมีพลังในการแสดงความคิดเห็นของแต่ละภาค แต่ละจังหวัด แต่ละเขตออกมา ไม่ต้องมารวมตัวก็มีพลัง แล้ว สามารถทำให้ประเทศชาติเดินได้ เรียกว่า เป็นการเมืองภาคพลเมืองอย่างเป็นระบบ ซึ่งในต่างประเทศมีสโมสร คลับ สมาคม มีหลากหลายมากมายจนเป็นประโยชน์ ทั้งสมาคมโดยอาชีพ โดยพื้นที่ สมาคมโดยปัญหา เรื่องนี้ก็มีทีมนั่งคิดเรื่องนี้กันอยู่ เช่น นายพิภพ ธงไชย อาจารย์นิด้าบางส่วน อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต ที่กำลังคิดกันอยู่ว่าจะวางรูปแบบจะทำอย่างไร อยู่ในระหว่างดำเนินการ”
แนวคิดมหาวิทยาลัยทำงานกับหนึ่งจังหวัด
“จากความต้องการที่อยากจะเห็นการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษามีความสัมพันธ์กับพื้นที่ เรื่องนี้มหาวิทยาลัยรังสิตรับไปดำเนินการ ในพื้นที่จ.ปทุมธานี ไปเรียนรู้ปัญหา เรียนรู้ภูมิปัญญาของคนในจ.ปทุมธานี แล้วก็ทำงานร่วมกัน ทั้งเรียนรู้แล้วก็นำวิชาการความรู้ไปแลกเปลี่ยน ร่วมกันทำกิจกรรม ร่วมกันทำงานในพื้นที่ โดยจะใช้ท้องถิ่นเป็นห้องแล็บหรือ social lab พื้นที่ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่จะได้สัมพันธ์กันแล้วให้นักศึกษา อาจารย์ได้เรียนรู้จากชุมชน เรียนรู้จากคนในพื้นที่ทั้งปัญหาและภูมิปัญญาของพื้นที่ในทุกมิติ”
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตมีหลายคณะ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มีแพทย์ มีพยาบาลมีทุกอย่างอยู่แล้ว ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า จะใช้พื้นที่ในจ.ปทุมธานีเป็นสถานที่เรียนรู้แล้วมีกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ สำหรับจะเริ่มดำเนินการด้านใดก่อนขึ้นอยู่กับแต่ละคณะว่า ต้องการจะเรียนรู้กับพื้นที่ หรือจะมีความสัมพันธ์กับคนภายนอกนั้น ให้มหาวิทยาลัยรังสิตนึกถึงคนในจ.ปทุมธานีก่อนอันดับแรก “ขณะนี้กำลังวางแผนกันว่าจะทำงานกันอย่างไร ให้นโยบายแต่ละคณะทุกหน่วยทำงานประสานกับพื้นที่ ไปเรียนรู้จากภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ นักศึกษาก็จะไม่ลอย ได้เรียนรู้จากชุมชน แล้วชุมชนก็จะได้แง่คิดจากอาจารย์ นักศึกษา จะได้ทำงานร่วมกัน”
เมื่อถามถึงปัญหาการเมืองในประเทศไทยยังไม่นิ่งทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ
“การทำการเมืองไทยให้นิ่งนั้น ทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่พูดง่าย พูดเมื่อไหร่ก็ถูก การเมืองนิ่งให้มีเสถียรภาพหรือให้มันหยุดนิ่ง อย่าลืมว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ คำว่าการเมืองคืออำนาจ ชิงอำนาจอยู่จะนิ่งได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการนิ่ง เห็นด้วยแต่ว่าเวลาพูดนั้นง่าย ทำยาก”