ปาฐกถา ::: “นายกรัฐมนตรี กับ แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย”
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย” เนื่องในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยรังสิต ครบรอบ 25 ปี มหาวิทยาลัยรังสิต ณ อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา
โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความจำเป็นของการปฏิรูปประเทศไทยว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คนไทยมีความรู้สึกวิตกกังวลต่ออนาคตของประเทศ เรื่องเศรษฐกิจไทย ที่มีปัญหารุมเร้ามากมาย ทั้งจากเศรษฐกิจโลกและปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหาการเมืองภายในประเทศไทยและปัญหาอื่นๆ แต่ประเทศไทยก็สามารถผ่านพบจุดต่ำสุดและผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี
รูปธรรมที่เห็นชัดเจน ถ้าพูดให้เห็นทางด้านตัวเลข ในภาพรวม เช่น ปัญหาการว่างงานของประเทศไทย กลับกลายเป็นว่ากลางถึงปลายปีที่แล้ว ตัวเลขของจำนวนคนที่ว่างงาน ลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 -1.2 ซึ่งตามมาตรฐานสากลแล้ว แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่ถือว่าเป็นภาวะที่เป็นวิกฤตในประเทศด้านแรงงานแต่อย่างใด ขณะที่ความต้องการพื้นฐานที่มีต่อสินค้า บริการ ของไทย ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากที่การท่องเที่ยวและการส่งออก หดตัวร้อยละ 20 – 30 ในช่วงครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว การท่องเที่ยวและการส่งออก สามารถกลับมาขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงคือ จะเป็นตัวเลข 2 หลัก ปีนี้ก็มีการรตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า การส่งออกก็สามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 14 ซึ่งเป็นตัวที่ช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ประมาณอย่างต่ำร้อยละ 3.5
จากรายงาน ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยกึง 1,600,000 คน เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในระยะเวลา 1 เดือน นี่ก็เป็นการบ่งบอกว่าชาวโลก ได้มองเห็นเสน่ห์ของประเทศไทยและคนไทย
ปัญหาเศรษฐกิจขาดการจัดการที่นำไปสู่ความสมดุล
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดาย ขณะที่เรามีความเข้มแข็งทางด้านพื้นฐาน ที่ได้กล่าวมาทั้งหมด บ้านเมืองเราก็ได้ประสบกับปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังหลายเรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจ ยังคงขาดประสิทธิภาพ ขาดระบบหรือการจัดการที่นำไปสู่ความสมดุลในด้านการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการกระจายรายได้ การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปัญหาต่างๆเหล่านี้ เชื่อได้ว่า ชาวไทยทุกคนก็คงตระหนักและมองเห็นเช่นเดียวกัน
“ไม่นับว่าวิกฤตผลพวงทางการเมือง ที่มีผลมาตั้งแต่การลุต่ออำนาจ การทุจริตคอรัปชั่น ในช่วงประมาณ 10 ปี ก่อนหน้านี้เป็นต้นมา จนถึงการปฏิวัติรัฐประหาร ก็ยังทำให้เกิดปัญหาในการขัดแย้งในภาพของการเมือง ที่ต้องมีความจำเป็น ในการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่ความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการบ้านเมืองและที่หลายคนมองข้าม คือ สภาพที่รเสื่อมโทรมในแต่ละด้านของสังคม
ที่เข้าขั้นวิกฤตเช่นเดียวกัน ไม่เฉพาะปัญหายาเสพติด อบายมุข แต่ปัญหาบางประการ เช่น ที่เด็กผู้หญิงตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลก ล้วนเป็นสาเหตุของความจำเป็นในการปฏิรูปทั้งสิ้น”
ดังนั้น ทำให้ต้องมีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เพื่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการบริหารการจัดงานของรัฐบาล และการที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในยุคนี้ ในภาวะที่คนบอกว่า เป็นภาวะวิกฤตและมีปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน ที่จำเป็นต้องแก้ไข ตั้งแต่วันแรก คือ ภาระหน้าที่ไม่อาจจำกัดอยู่ที่ประคับประคองสถานการณ์สู่เศรษฐกิจ หรือแก้ปัญหาความขัดแย้งทางด้านการเมือง แต่ก็ต้องทำหน้าที่ในการวางรากฐานที่เข้มแข็งในระยะกลางและระยะยาว เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพราะโลกมีความเปลี่ยนแปลงและมีการแข่งขันเพื่อมุ่งสู่ความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากหยุดนิ่งอยู่กับที่ย่อมจะเกิดความสูญเสียทั้งโอกาสและขาดความสามารถในการบริหารจัดการกับปัญหาการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนไปสู่ระบบที่ดีขึ้น
วางรากฐานภาคเกษตรให้เข้มแข็ง
การปฏิรูปที่มีความสำคัญ คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ 2.ด้านสังคม 3.ด้านสังคม โดยจะเน้นไปเรื่องของระบบสวัสดิการและการศึกษาเป็นสำคัญ
“การปฏิรูประบบต่างๆ เริ่มจากเศรษฐกิจไทย ที่มีความเข้มแข็ง ที่ได้ประคับประคองและพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เราต้องแก้ไขก็มีมาก ในภาคการเกษตรที่มีความมั่นคงในการผลิตอาหารนั้น ข้อเท็จจริง คือ ประสิทธิภาพในการผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และถ้าหากสามารถปฏิรูประบบที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรทั้งหมดได้ จะทำให้ ผลผลิต โอกาส รายได้ ที่จะเกิดขึ้นสามารถเพิ่มขึ้นได้เป็นเท่าตัว หรืออาจจะมากกว่านั้น”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ที่เป็นนโยบายในหลายด้าน ทั้งที่เป็นนโยบายที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว แต่กำลังวางรากฐานสำหรับภาคเกษตรให้เข้มแข็งและสร้างความมั่นคงกับอาชีพเกษตรกรรม ของเกษตรกรระยะยาว
“สิ่งที่ได้เริ่มต้นแล้ว ในปีที่ผ่านมา ครอบคลุมเรื่องปัจจัยพื้นฐาน คือ แหล่งทำกิน และแหล่งน้ำ สำหรับพื้นที่ทำกินนั้น สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ คือ ระบบของการถือครองที่ดิน เพื่อจะสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืน ในการบริหารจัดการในขณะนี้ และสำหรับสิ่งที่นำมาใหม่ เพื่อเป็นองค์ประกอบสำหรับการปฏิรูป คือ
การจัดทำโฉนดชุมชน นำไปสู่การกำหนดตัวกฎหมาย เพื่อทำให้เราสามารถทำให้เกษตรกร และชุมชนสามารถเลือกถือครองโฉนดได้และมีหลักประกันว่าที่ดินจะไม่ตกไปสู่นายทุน และเกษตรกรสามารถถือครองที่ดินได้มากขึ้น ระบบนี้ รัฐบาลจะผลักดัน เรื่อง ภาษีกฎหมายว่าด้วยเรื่องภาษีทรัพย์สินที่ดิน ที่จะเป็นตัวจูงใจให้ใช้ทรัพยากรที่ดิน ในลักษณะที่เอื้อต่อการใช้ที่ดินมากขึ้น และนำเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดตั้งเป็นกองทุนที่ดิน เพื่อนำประโยชน์มาจัดสรรหาเพื่อประชาชนคนยากจนต่อไป ถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานในการปฏิรูปภาคการเกษตรในระดับแรก
สำหรับเรื่องแหล่งน้ำ ถือเป็นปัจจัยและองค์ประกอบสำคัญของปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2553-2555 ที่จะมีการลงทุน เพื่อนำไปสู่การสรางพื้นที่ชลประทาน และเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะบางพื้นที่นั้น ก็จะมีการเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับผลประโยชน์จากชลประทานเป็นจำนวนมาก เช่น ภาคอีสาน ซึ่งประเด็นนี้ก็จะไปเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะเข้าไปแก้ปัญหาวิกฤตสภาพปัญหา เรื่องสินค้า เช่น ข้าว ที่ประเทศไทยส่งออกได้เป็นอันดับ 1 แต่กลับมีผลผลิตต่อไร่ในอัตราที่ต่ำมาก เทียบกับทุกประเทศที่เป็นคู่แข่งค้าข้าวประเทศสำคัญ
ปฏิรูปชีวิตของประชาชนในชนบท
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความมั่นคงของเกษตรกรที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นฐานอยู่ 3 ด้าน เพื่อเป็นการปฏิรูปชีวิตของประชาชนในชนบท คือ รัฐบาลเข้าไปจัดการหนี้สินนอกระบบ ที่ทำลายความเป็นอยู่ของประชาชนในปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการโอนหนี้นอกระบบเข้าสู่ในสถาบันการเงิน
ส่วนการปฏิรูปเพื่อเข้าไปจัดการราคาพืชผลอย่างเป็นระบบ จากระบบจำนำ ที่เสียเงินไปจำนวนมาก และเปิดช่องให้ทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งยังทำลายขีดความสามารถในการผลิตผลผลิตทางการเกษตรของไทย รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการแทรกแซงราคาพืชผลโดยสิ้นเชิง ปรับมาเป็นการประกันรายได้ มีผลคือ ทำให้เกษตรกรทุกรายได้ประโยชน์จากการแทรกแซงราคาพืชผล โดยใช้เงินไม่ได้มากกว่าเดิมในระบบจำนำ แต่จะให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ 4-5 เท่า และระบบนี้ไม่ทำลายกลไกตลาด ตรงกันข้ามฟื้นฟูกลไกตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตข้าวไทยช่องว่างที่เป็นราคา กับเวียดนาม เริ่มลดลงในระบบหลายปี เมื่อเราใช้นโยบายนี้
รวมทั้งระบบนี้ทำให้เกษตรกรตื่นตัวมากขึ้นในการปลูกข้าวคุณภาพดีมากกว่าการเพิ่มรอบในการปลูกข้าวในแต่ละปี โดยใช้ข้าวคุณภาพต่ำ จากที่เราออกนโยบายไม่สนับสนุน ข้าวที่มีคุณภาพต่ำหรืออายุสั้น เราพบความจริงว่า รอบนอกฤดูกาลในการปลูกข้าวในปัจจุบันเกษตรกรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวอายุสั้น ที่เป็นตัวอย่างของการปฏิรูปผ่านระบบนโยบายประกันรายได้ของเกษตรกร
“เรากำลังจะตั้งการประกันภัยพืชผล เพื่อที่จะให้เกษตรกรมีความมั่นคงมากขึ้น ไม่ประสบกับปัญหาภัยแล้งหรือโรคระบาดที่มีผลต่อระบบเกษตรที่เกิดขึ้น นี่คือพยายามที่จะเดินหน้าปฏิรูปในภาคการเกษตรและจากตรงนี้ก็จะนำไปสู่ความมั่นคงทั้งด้านอาหาร รวมไปถึงการมีทรัพยากรที่นำมาใช้ในการทำพลังงานทดแทน
ปีนี้ก็จะมีการขับเคลื่อนเรื่องมันสำปะหลัง นำมาใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน พร้อมสนับสนุนการแปรรูป เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร จะเป็นนโยบายสำคัญในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ พร้อมการส่งออกสินค้าเกษตรจะสามารถทำรายได้สุทธิเข้าสู่ประเทศได้มาก คิดเป็นสัดส่วนได้มากกว่าภาคอุตสาหกรรม ที่มียอดส่งออกที่คิดเป็นตัวเงินสูงแต่ต้องพึ่งพิงทั้งวัตถุดิบ และเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยสิ่งที่คนไทยได้รับอาจเป็นเพียงค่าแรงส่วนหนึ่ง กำไรส่วนหนึ่งและแถมด้วยมลพิษ”
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มุ่งสู่สังคมระบบสวัสดิการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเราเบนเข็มเปลี่ยนโครงสร้างในการผลิตการปฏิรูปในการผลิตนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เพื่อความตระหนักว่าประเทศไทยนั้นมีทั้งภูมิปัญญา ทุนทางสังคม เรื่องประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจได้จากผลิตภัณฑ์จากโครงการต่างๆ เป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ จากเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์นั้นจะไม่เป็นภาระเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นแนวทางของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนสำคัญ คือ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการ พัฒนาเส้นทางการขนส่งระบบราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและลดอุบัติเหตุ
อีกด้านหนึ่ง เรื่องสวัสดิการสังคมที่รัฐต้องผลักดัน เราได้ผลักดันหลายเรื่องที่ทำให้ชีวิตของพี่น้องคนไทย โดยเฉพาะคนที่เคยผ่านหลักประกันต่างๆ โดยเริ่มต้นจากการผลักดันเบี้ยยังชีพ ให้ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกท่าน ยกเว้นท่านที่ได้รับรายได้ประจำจากภาครัฐอยู่แล้วและเบี้ยสำหรับคนพิการทุกคนที่ขึ้นทะเบียนคนพิการ รวมไปถึง การเดินหน้าตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มีขึ้นเมื่อหลายปีก่อน เรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
“รัฐบาลตระหนักดีว่าโครงการที่รัฐไม่เก็บค่าใช้จ่ายหรือสนับสนุนเชิงรายได้นั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างกฎหมาย และมีข้อจำกัดในการขยายโครงการต่อไปอีก ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาล โดยเฉพาะโลกที่การแข่งขันสูงมาก ทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ให้มีสวัสดิการนั้นไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น รัฐบาล กำลังจัดวางระบบสวัสดิการสังคมที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและส่งเสริมพฤติกรรมทางด้านการออม เริ่มจากการต่อยอดที่ชาวบ้านทำอยู่ คือ สวัสดิการชุมชน ที่เกิดจากการสร้าง สัจจะกลุ่มสวัสดิการออมทรัพย์ ออมวันละบาท ที่ต่อไปนี้ชุมชนใดที่สามารถจัดการสวัสดิการชุมชนเช่นนี้ได้มีความมั่นคงแล้ว รัฐบาลก็เข้าไปสมทบทุน”
สำหรับปีต่อไป สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คือ การเปิดโอกาสให้คนที่ไม่อยู่ในระบบราชการได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม สามารถออมเงินและรับเงินสมทบจากรัฐบาล ทำให้มีเงินไว้ใช้ในยามแก่ชราต่อไปได้โครงการเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสวัสดิการสังคม เป็นเรื่องที่สร้างหลักประกันสังคมให้พี่น้องคนไทยเป็นครั้งแรก แต่ต้องใช้เวลาตั้งเป้าหมายปี 2560 ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าจะต้องเกิดขึ้น และ 3-4 เดือนข้างหน้าจะจัดทำตัวเลขออกมาให้เห็นทั้งหมดว่า การทำระบบสวัสดิการใน 5-6 ปี ข้างหน้าต้องใช้เงินเท่าไร จากรัฐบาลเท่าไร จากการสมทบของประชาชนเท่าไร ทำให้จัดวางระบบนี้ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
พื้นที่ที่ไม่ดีนำไปสู่การสร้างปัญหาในสังคม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงระบบการศึกษา ที่ได้มีการเริ่มต้นปฏิรูปมาตั้งแต่ ปี 2542 ในรอบแรก ที่เรียกว่า การปฏิรูปในทศวรรษแรก ตอนนี้ระยะเวลาผ่านมา 10 ปี บางเรื่องเดินหน้าไปได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับเรื่องคุณภาพการศึกษา ยังเป็นเรื่องที่ได้รับผลกระทบที่การปฏิรูปนั้นไม่บรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ การปฏิรูปในทศวรรษที่ 2 จึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและขณะนี้ได้มีการปรับแผนการศึกษาเป็น 15 ปี ที่ใช้มาครึ่งทาง เพื่อกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับการบริหารจัดการ การศึกษาที่จะไปสิ้นสุดในปี 2559 ซึ่งสิ่งที่จะเอามาวัด คือ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยแล้วเพิ่มมากขึ้น และบรรดาสถานศึกษาที่ไม่ผ่านมาตรฐาน สมศ.จะต้องหมดไปภายในปี 2559
“รัฐบาลเชื่อว่าพื้นที่ที่ไม่ดี พื้นที่อบายมุขนั้น จะนำไปสู่การสร้างปัญหาในสังคม รัฐบาลจึงได้ประกาศทิศทางนโยบายแน่ชัด เช่น กรณีของหวยออนไลน์ ว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องมีสัญญาณที่ชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนในการที่จะเพิ่มพื้นที่ในลักษณะนี้ให้กับเด็กและเยาวชน ตรงกันข้ามการจัดคลื่นวิทยุสีขาวเพื่อครอบครัว การสร้างพื้นที่ทั้งกายภาพ เช่น สร้างลานกีฬา พิพิธภัรฑ์การเรียนรู้ การเพิ่มพื้นที่ในพื้นที่เสมือนในพื้นที่อิเล็กทรอนิกส์ โลกไซเบอร์ จะเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะดึงให้เด็กและเยาวชนมาแสวงหาโอกาสและหนทางที่สร้างสรรค์ในทางที่ดีขึ้น”
การเมืองล้มเหลวจะเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤติ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาทางการเมือง และปัญหาความแตกแยกที่มีอยู่ในสังคมว่า การปฏิรูปทางด้านนี้มีความสำคัญอย่างมาก ผมเป็นคนที่ใช้คำว่า การเมืองล้มเหลวเป็นต้นเหตุวิกฤตอีกหลายๆด้าน ที่เราต้องทำการปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น ประเด็นแรก ประเทศไทยได้มีประสบการณ์ และได้รับบทเรียนมาหลายครั้ง ว่าการปฏิรูปมันมีความหมายกว้างขวางและมีความยิ่งใหญ่ไปกว่าการแก้รัฐธรรมนูญและกฏหมาย”
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลากหลายรูปแบบ ทั้งวิธีการเลือกผู้แทนในสภาที่มีความหลากหลาย มีการจัดตั้งองค์กรอิสระมากมาย แต่สิ่งที่พบซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือ ยังมีคนไม่ดีที่สามารถเข้ามาหาผลประโยชน์จากช่องว่างได้ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เราไม่ประสบความสำเร็จนัก ส่วน กฏเหล็ก 9 ข้อ นั้น คือสิ่งที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานโดยเน้นในเรื่องของความเป็นนักการเมืองที่มีจิตวิญญาณในวิถีทางประชาธิปไตย การคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนและมีความรับผิดชอบทางการเมืองสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การปฏิรูปทั้งหลายต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เฉพาะตัวกฎระเบียบที่เขียนเป็นตัวหนังสือ แต่ต้องเป็นกฎที่ใช้บังคับพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้องในระบบการเมือง รวมทั้งอยากเห็นสื่อมวลชน ประชาชน นักวิชาการ ได้ตั้งกฎข้อบังคับ (กฎเหล็ก)สำหรับตนเองด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศและระบบการเมืองสามารถเดินหน้าและมีการปฏิรูปอย่างแท้จริง
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความไม่สมานฉันท์หรือความไม่ปรองดองที่เกิดขึ้น รัฐบาลมีจุดยืนที่ชัดเจนคือ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ความแตกต่างนั้นต้องแสดงออกอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และไม่นำไปสู่ความรุนแรง รัฐบาลจะใช้อำนาจเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และไม่คิดใช้วิธีการหรือแนวทางใดที่อยู่เหนือกฎหมายไปดำเนินการกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล
“การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลมีหลายส่วนมองว่า รัฐบาลอ่อนแอเกินไป ไม่สามารถจัดการกับคนที่ทำลายชาติบ้านเมือง แต่รัฐบาลนี้จะใช้อำนาจเท่าที่กฏหมายให้ จะไม่คิดใช้วิธีการนอกเหนือกฎหมายไปจัดการกับใครที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย รัฐบาลจะไม่ทำอะไรเพียงเพื่อให้ความขัดแย้งพ้นไปเฉพาะหน้าและทำลายอนาคตของประเทศ หรือทำลายความถูกต้องซึ่งจะเป็นตัวผดุงความยั่งยืนของสังคม”