แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ปาฐกถา: ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยืนยัน ติดเครื่องพัฒนาศักยภาพประเทศ ต้องเริ่ม...วันนี้
ดูเพียงจีดีพีอย่างเดียว อาจทำให้เข้าใจผิด ประเทศมีศก.แข็งแกร่ง
มีการพัฒนาการที่ดี มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดงานสัมมนา “GDP ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยแค่ไหน” โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถานำ
ดร.ประสาร กล่าวว่า หากพูดถึงเครื่องชี้ที่สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เข้าใจว่า คำตอบที่ผุดขึ้นมาในความคิดของหลายๆท่านคงหนีไม่พ้นเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจตัวสำคัญของประเทศ ที่เรียกว่า “จีดีพี” หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ” นั่นเพราะเป็นเครื่องชี้วัดกิจกรรมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก
เบื้องต้นที่สุดจีดีพีวัดการผลิตภายในประเทศ ที่รวมทั้งคนไทยและต่างประเทศ วัดผลรวมสินค้าทางการผลิตภายในประเทศไทยในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ในหนึ่งไตรมาส ซึ่งจีดีพี มักใช้วิเคราะห์กับอีกตัวคือ จีเอ็นพี ซึ่งเป็นผลรวมของมูลค่าสินค้า บริการ ที่ผลิตได้ แต่นับเฉพาะที่ผลิตได้โดยคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของโลกก็ตาม
บังเอิญช่วงนี้ในระยะปัจจุบัน เครื่องชี้ทั้งสองตัวในประเทศไทยไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ทั้งในแง่ของระดับ และอัตราการขยายตัว ในทางปฏิบัติจึงใช้เพียงจีดีพีซึ่งมีความสากลมากกว่าเพียงตัวเดียว
“ถ้าเราวัดระดับการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ ปัจจุบันก็จะอยู่ที่ 18% ของจีดีพี เวลานี้เราก็พยายามไปในทิศทางที่ส่งเสริมมากขึ้น ในอดีตสภาวะบ้านเราอาจจะไปในทางที่ค่อนข้างขาดเงินตราต่างประเทศ เราค่อนข้างจะหวงแหนในกรณีที่คนจะเอาเงินตราต่างประเทศออกไปนอกประเทศ มีกฎระเบียบในทางปฏิบัติที่ยาก แต่ปัจจุบันก็เริ่มเปลี่ยน เป็นว่า เราก็มีมากพอสมควร และอันที่จริงเพื่อรักษาสมดุล เราก็อยากจะส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศด้วย”
ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆเพิ่มเติมด้วย เช่น กระจายความเสี่ยง ถ้าเรามีสินทรัพย์ที่อยู่เฉพาะภายในประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยไม่ดี ก็มีความเสี่ยง แต่ถ้าเรามีสินทรัพย์อยู่ต่างประเทศด้วย บางครั้งบางตอนเศรษฐกิจภายในประเทศไม่ดี เรามีสินทรัพย์ต่างประเทศก็เป็นตัวถ่วงดุลได้
อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศล้วนต้องการยกระดับฐานะเศรษฐกิจของประเทศตนให้ดีขึ้น การเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น จีดีพีจึงเป็นตัวเลขที่สำคัญในการประกอบการตัดสินใจ ในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนด้วย เนื่องจากเป็นตัวที่ช่วยเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆและมีหลักการรวมถึงวิธีการคำนวณที่มีมาตรฐานชัดเจนและปฏิบัติกันเป็นสากล และจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในสภาวะและสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับการแข่งขันในระดับสูง
“จีดีพีไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน เนื่องจากองค์ประกอบของจีดีพีสามารถบอกลักษณะของโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้ ประมาณครึ่งหนึ่งของจีดีพีเป็นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ในขณะที่สัดส่วนของการลงทุนของภาครัฐมีแนวโน้มลดลงจากในอดีต ฉะนั้นจีดีพีจึงเป็นเครื่องชี้ตัวหนึ่งที่ภาครัฐสามารถใช้ประกอบการวางนโยบาย เพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศได้
การวิเคราะห์ภาพเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถวิเคราะห์เศรษฐกิจได้ถูกต้อง ชัดเจนและสนับสนุนการตัดสินใจในการดำเนินนโยบาย ร่มทั้งการดำเนินธุรกิจของเอกชนให้เกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบและเหมาะสมยิ่งขึ้น”
ถึงกระนั้น การวัดความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย หากมองย้อนอดีตมีการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี แต่จะเชื่อได้อย่างไรว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะเป็นเติบโตอย่างแข็งแกร่งอย่างแท้จริง
เปรียบเศรษฐกิจ เหมือนเด็กที่มีร่างกายเติบโต ก็ไม่อาจอนุมานได้ว่าจะมีร่างกายที่สมส่วน มีกำลัง มีพัฒนาการที่ดีและมีชีวิตชีวาเสมอไป เพราะว่าร่างกายที่เติบโตสูงใหญ่ ไม่อาจเพียงพอที่จะบอกว่าเด็กๆมีสุขภาพแข็งแรงจากภายในอย่างแท้จริง ...ในมุมเศรษฐกิจก็เช่นกัน
จีดีพีที่ขยายตัวไม่ใช่เครื่องยืนยันว่า เศรษฐกิจจะแข็งแกร่งได้
ดังนั้น เราจึงควรหมั่นดูแลองค์ประกอบภายในของเศรษฐกิจที่ไม่ได้สะท้อนจากตัวเลขของจีดีพี เพื่อส่งเสริมให้แข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอกอย่างสมบูรณ์ โดยต้องอาศัยอย่างน้อย 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1.ความสมดุลของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
อย่างแรกต้องเข้าใจว่า คำว่าสมดุล หมายถึง เศรษฐกิจที่เติบโต แต่ต้องไม่มาพร้อมกับแรงจูงใจที่มีการเก็งกำไร ไม่สร้างให้ธุรกิจครัวเรือนก่อหนี้จนเกินตัว หรือสถาบันทางการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวม นอกจากนี้ยังหมายถึง ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจต้องมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อมๆ กันด้วย
การที่ต้องพูดถึงความสมดุล เนื่องจากประเทศไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์จากอดีต ทั้งของตนเองและต่างประเทศ ประสบการณ์แรก คือ เศรษฐกิจไทยก่อนปี 2540 เติบโตได้ในระดับสูง แต่ว่าก็กลับมาติดลบและเข้าสู่ภาวะวิกฤตในปีถัดมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า เศรษฐกิจเติบโตแบบขาดเสถียรภาพในบางสาขา โดยเฉพาะการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และความหละหลวมในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
ในขณะนั้นภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นภาคที่มีจุดเด่นที่น่าดึงดูดต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นสินทรัพย์เก็งกำไรของทุนนิยม ไปขอกู้เงินเพื่อให้ได้ครอบครอง และกลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่สามารถนำพาวิกฤตเศรษฐกิจมาพร้อมๆกับวิกฤตการเงินได้
เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งทศวรรษในปี 2551 วิกฤตเศรษฐกิจได้หวนกลับมาอีกรอบหนึ่ง เหมือนเอาเรื่องมาเล่าใหม่ แต่มีรายละเอียดและลึกซึ้งกว่าเรื่องเดิม เนื่องจากเป็นประสบการณ์ของประเทศยักษ์ใหญ่ในโลกฝั่งตะวันตก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในกลุ่มยูโร ที่เกิดจากการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอสังหาริมทรัพย์ วินัยการคลัง หรือสภาวะการปล่อยสินเชื่อ และฐานะการเงินของธนาคารพานิชย์
และวิกฤตดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมค่อนข้างมากเช่นกัน โดยเฉพาะต่อภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก แต่หากมองในรายละเอียดยังมีภาคเกษตรที่มาช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง โดยเราเห็นคนที่ออกจากงานภาคอุตสาหกรรมบางส่วนกลับบ้านเกิดและประกอบอาชีพเกษตรกรรมแทน นี่จึงเป็นตัวอย่างของกรณีที่ทุกภาคส่วนต้องมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน
“ประสบการณ์ดังกล่าว เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงแต่ตัวเลขจีดีพีในระดับสูงๆ ละเลยเสถียรภาพและความสมดุลของการเติบโต ซึ่งไม่ต่างจากเด็กที่กินอาหารขยะ ร่างกายเติบโตแต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เมื่อเป็นผู้ใหญ่อาจต้องผ่าตัด ลดกระเพาะ ดังเช่นประเทศในกลุ่มยูโรที่ต้องรัดเข็มขัดทางการคลังในปัจจุบัน”
สำหรับประเทศไทยคงต้องยึดกุศโลบายเดิม คือเป็นการสร้างความสมดุล และภูมิต้านทานให้กับเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากภัยคุกคามจากภายในและภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
2.เติบโตอย่างมีพัฒนาการเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
การมีพัฒนาการในการเติบโต หรืออีกแง่หนึ่งคือ เศรษฐกิจต้องมีการพัฒนาไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข็งขัน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไม่ได้สะท้อนในการขยายตัวของจีดีพี เนื่องจากการที่จีดีพีเพิ่มขึ้น อาจมาจากการที่ประเทศมีการใช้จ่ายที่เน้นการบริโภค ไม่ลงทุน ไม่พัฒนาโครงสร้างการผลิต และพัฒนาประสิทธิภาพให้เหมาะสม ทำให้ในที่สุดประเทศจะย่ำอยู่กับที่และประเทศอื่นจะแซงหน้าได้ เพราะสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันในระยะยาว
“ดังนั้นการที่จะให้ประเทศไทยอยู่ในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะจะนำไปสู่หนทางการลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพ และความหลากหลายของสินค้า รวมถึงเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตทั้งคนไทยและต่างชาติสนใจมาลงทุนในไทยมากขึ้น”
โดยหนทางที่จะพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้ คิดว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมีบทบาทค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษา ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของการประชากรในประเทศเพื่อการวิจัยและพัฒนา ให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆในการผลิตมากขึ้น และสม่ำเสมอ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและประสิทธิภาพในการผลิตของไทยนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เครื่องชี้พื้นฐานคือ ระดับรายได้ต่อคน(GDP per capita) ที่บ่งบอกความสามารถในการผลิตสินค้า บริการ ที่ประชากรหนึ่งคนในประเทศผลิตได้ ซึ่งเครื่องชี้นี้อาจขัดแย้งกับมูลค่ากับจีดีพีที่ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวชี้วัด
“จากการจัดอันดับของไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ในปีที่แล้ว 2011 พบว่า ขนาดของเศรษฐกิจไทย เป็นอันดับที่ 31 ของโลก จากประเทศทั้งหมด 183 ประเทศ จะเห็นว่ามีขนาดค่อนข้างใหญ่
แต่ขณะเดียวกันกับพบว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่วัดจาก GDP per capita เราอยู่ในระดับที่ 90 ของโลก
นอกจากนี้ การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากการสำรวจของสถาบันการจัดอันดับการแข่งขันที่ชื่อว่า IMD World Competitiveness และ The Global Competitiveness Report เพื่อบ่งชี้ความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยผลสำรวจล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีอันดับความสามารการแข่งขันลดลงมาอยู่ที่ 30 จากอันดับที่ 27 โดยมีประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 57 ประเทศ รวมถึงยังมีอันดับแย่ลงในด้านอื่นๆด้วย โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานก็จะยิ่งเห็นชัดว่า เราจะแย่ลงต่อเนื่องติดต่อกันนับจากปี 2552 ทั้งที่ จีดีพีปี 2553 ขยายตัวได้ถึง 7.8%”
ดังนั้นการดูเพียงจีดีพีอย่างเดียวอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ประเทศมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีการพัฒนาการที่ดี มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริงจีดีพีไม่สามารถสะท้อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้สมบูรณ์
อีกทั้ง ในปี 2558 การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไทยเองต้องระมัดระวังอย่างมาก ที่จะไม่ตกขบวนรถไฟ เพราะต้องเพิ่มจุดแข็งให้กับประเทศควบคู่กันไป โดยเราต่างต้องเริ่มติดเครื่องพัฒนาศักยภาพของประเทศตั้งแต่วันนี้ โดยต้องมองว่าไม่ได้แข่งขัน ภายในประเทศเท่านั้น แต่ควรมองประเทศอื่นอย่างรอบด้าน เพราะจะมีความเข้มข้นมากขึ้น
3.การเติบโตต้องมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน
ช่วยให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการครองชีพที่ไม่สูงจนเกินไป รวมถึงการกระจายโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการเข้าถึงของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งอัตราการขยายตัวของจีดีพีไม่อาจสะท้อนข้อมูลเชิงคุณภาพเหล่านี้ได้ เพราะหากเศรษฐกิจเติบโตแต่ปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ปล่อยให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปตกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเวลานาน ในที่สุดก็จะนำไปสู่ปัญหาสังคม และความไม่สงบทางการเมือง จนอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสะดุดลงได้
ดังนั้นเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งได้อย่างแท้จริง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมควรที่จะลดลง ประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า พร้อมกับโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยทางสังคมอย่างเท่าเทียม ทั้งโอกาสการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล ความคุ้มครองทางกฎหมายและแหล่งเงินทุน
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ด้วยว่า หนทางแก้ไขที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาสำหรับปัญหานี้คือ การกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีความแตกต่างกับโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทางสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมมาก
“โอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทางสังคมจะช่วยเพิ่มศักยภาพของทุนมนุษย์และลดปัญหาของสังคม ให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงในแต่ละก้าวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้ก่อให้เกิดแรงจูงใจให้ลดทอนประสิทธิภาพลง ที่แตกต่างจากแนวคิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน ที่อาจสร้างแรงจูงใจที่ลดทอนประสิทธิภาพลง เพราะว่า ในเรื่องกระจายรายได้ เมื่อทุกคนทราบว่าไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ทำงานสุดท้ายก็ได้รายได้เท่ากัน สุดท้ายก็ไม่อยากทำงานจนส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลงด้วย”
องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นนั้นล้วนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ล้วนแต่มีส่วนรวมในการกำหนดทิศทางของประเทศ อยู่ในฐานะที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะที่ต้องเผชิญกับมรสุมในเวลานี้ ฉะนั้นคงต้องหาหนทางที่จะยื่นมือมาประสานกันเพื่อร่วมกันสร้างรากฐานและแนวทางที่จะนำเศรษฐกิจไทยไปสู่การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน นำพาซึ่งความกินดีอยู่ดีของประชาชน และช่วยให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอกอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ไทยยืนหยัดอยู่บนเวทีโลกอย่างภาคภูมิ