จักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผอ.สบน. "หนี้สาธารณะไทย ยังไม่เกินพิกัด"
การออกมาส่งสัญญาณแสดงความเป็นห่วงรัฐบาลเรื่องหนี้สาธารณะของ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ทุกฝ่ายไม่อาจนิ่งนอนใจได้ แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้จะอยู่ที่ระดับ 41% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อดูจากโรดแมปการกู้เงินของรัฐบาลจะคำนวณได้ว่า หากรัฐยังขาดดุลงบประมาณที่ 3-4 แสนล้านบาท หรือ 2.5-3% ของจีดีพี ต่อไปภายใน 5 ปี หนี้สาธารณะก็จะแตะ 60% ของจีดีพี ชนเพดานกรอบความยั่งยืนทางการคลัง
ระเบิดเวลาที่ถูกซุกไว้ ยังรวมถึงต้นเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติอีก 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการกู้เงินก้อนใหญ่ที่ต้องเริ่มจ่ายดอกเบี้ยในปี 2556 ซึ่ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ก็ออกมายอมรับว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะมีสิทธิสูงขึ้นเป็น 50% ของจีดีพี ใน 2 ปีข้างหน้า
“จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ผู้กุมจังหวะการกู้เงินและแผนการชำระหนี้ของประเทศ ได้ออกมาแจกแจงว่า ยอดหนี้ ณ วันที่ 31 ม.ค. 2555 มีจำนวน 4.36 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.06% ของจีดีพี เป็นหนี้ของรัฐบาล 3.11 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.07 ล้านล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน 1.67 แสนล้านบาท
เมื่อแยกตามประเภทเจ้าหนี้จะพบว่า ยอดหนี้สาธารณะ 4.36 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ต่างประเทศ 3.43 แสนล้านบาท หรือ 7.88% และหนี้ในประเทศ 4.01 ล้านล้านบาท หรือ 92.12% โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว
ผู้ว่า ธปท. ออกมาเตือนเรื่องการก่อหนี้ของรัฐบาลว่า หากกู้เงินไม่ระวังจะทำให้สัดส่วนหนี้ทะลุกรอบความยั่งยืนการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ได้
จักรกฤศฏิ์ : เรื่องหนี้สาธารณะนั้น ที่ผ่านมา รมว.คลัง ออกมายืนยันว่าปีงบประมาณ 2555 จะขาดดุล 4 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2556 จะขาดดุล 3 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 จะขาดดุล 2 แสนล้านบาท และ ปีงบประมาณ 2558 จะขาดดุลลดลง 1 แสนล้านบาท ทำให้ในปี 2558 ก็จะเข้าสู่งบประมาณสมดุล ซึ่งหมายความประเทศจะเข้าสู่งบประมาณสมดุลได้ภายใน 3 ปี นับจากนี้
ส่วนเรื่องที่ผู้ว่า ธปท. ออกมาเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะกู้ขาดดุลงบประมาณ 3-4 แสนล้านบาท เป็นเรื่องความกังวลของผู้ว่า ธปท. แต่กระทรวงการคลังมีแผนที่ชัดเจนที่จะลดการกู้ทำงบประมาณขาดดุลให้น้อยลง จนเข้าสู่งบประมาณสมดุล
รัฐบาลต้องมีการกู้เงินจากการออก พ.ร.ก. อีกจำนวนมาก จะทำให้หนี้สาธารณะน่าเป็นห่วงหรือไม่ เพราะคลังเองก็ประเมินว่า จะทำให้สัดส่วนเพิ่มไปแตะที่ 50% ของจีดีพี
จักรกฤศฏิ์ : ถึงตอนนี้ประเมินได้ยาก เพราะโครงการกู้เงินตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ยังไม่ชัดเจน การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กองทุนประกันภัยพิบัติ 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าอีกนานกว่าจะได้กู้ การกู้ขาดดุลงบประมาณปี 2555 จำนวน 4 แสนล้านบาท ก็ยังทำไม่ได้เต็มที่ เพราะการเบิกจ่ายยังน้อยอยู่ ดังนั้นการกู้เงินภาพรวมทั้งหมดดังกล่าว 8 แสนล้านบาท ทำได้ 70% ก็ถือว่าเก่งแล้ว ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจจะโตได้เร็วกว่าการก่อหนี้อยู่มาก
ตอนนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 41% ของจีดีพี ซึ่งหากกู้ได้เต็มที่ 70% ก็ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเต็มที่ 5% ของจีดีพี มาอยู่ที่ระดับ 46% ของจีดีพีเท่านั้น เป็นระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ การกู้น้อยไม่ได้กระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังขยายตัวได้ตามปกติ เพราะเศรษฐกิจส่วนใหญ่โตจากการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก มาเป็นเวลานานแล้ว การลงทุนของภาครัฐเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
มองภาพรวมหนี้สาธารณะของประเทศ มีจุดไหนที่น่าเป็นห่วงบ้าง
จักรกฤศฏิ์ : ไม่มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง ทั้งปัจจุบัน หรือมองไปอีก 3 ปีข้างหน้า ก็ยังไม่มีปัญหา ซึ่งตัวเลขหนี้ตอนนี้สัดส่วนหนี้ต่ำ ความสามารถการชำระหนี้ดีขึ้น เศรษฐกิจก็ขยายตัวได้ดี
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่เรื่องหนี้สาธารณะ แต่เป็นเรื่องการขาดทุนในบัญชีของ ธปท. มากกว่า ตัวเลขที่ขาดทุนของ ธปท. เพิ่มขึ้นมากกว่าหนี้สาธารณะของประเทศ ทำให้อาจจะเป็นปัญหากับภาระงบประมาณในอนาคต เรื่องการบริหารจัดการค่าเงิน กับอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ทำให้เกิดผลกระทบกับการคลังในอนาคตได้
ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่า ธปท. ขาดทุนเท่าไร มีทุนติดลบเท่าไร และเมื่อทุนต้องติดลบจำนวนมากๆ เท่าไร ถึงต้องเข้าไปเพิ่มทุนให้ ซึ่งการขาดทุนของ ธปท. เพิ่มขึ้นมาตลอด เป็นเรื่องที่ ธปท. ต้องมีแนวทางว่าเมื่อมีการขาดทุนจำนวนมาก สถานะไม่มั่นคงจะต้องดำเนินการอย่างไร เป็นคำถามที่ผมยังไม่ได้รับคำตอบจาก ธปท.
ผมไม่ห่วงเรื่องฐานะการคลัง แต่ผมห่วงความเสียหายของ ธปท. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ผ่านมาปี 2540 ธปท. มีทุนสำรองเงินตราต่างประเท 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเหลือแค่ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เกิดความเสียหายของสถาบันการเงินทำให้รัฐบาลต้องไปแบกรับหนี้เป็น 1.1 ล้านล้านบาท
ซึ่งเหตุการณ์ตอนนี้ก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ตัวเลขมันน่ากลัว เพราะธปท. ขาดทุนตลอด 6 ปี ติดต่อกันแล้ว จนปัจจุบัน ธปท.ขาดทุนสะสม 2 แสนล้านบาท ทุนติดลบ 4 แสนล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร
ผมเห็นว่า ธปท. กังวลเป็นห่วงกับคนอื่น โดยเฉพาะกับการทำงาน และการทำโครงการของรัฐบาล แต่เรื่องของของ ธปท. เอง ไม่เคยพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการปกป้องค่าเงิน การดูดซับสภาพคล่อง ตรงนี้ผมเป็นห่วงมากกว่าการทำโครงการของรัฐบาล
รู้สึกอย่างไรบ้างที่มีคนให้ความเชื่อถือการทำงานของ ธปท. มากกว่า กระทรวงการคลัง หรือ รัฐบาล
จักรกฤศฏิ์ : ผมเห็นว่าสื่อให้ความเชื่อถือ ธปท. ในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระ มีความน่าเชื่อถือ แต่ความเป็นองค์กรอิสระ มีความน่าเชื่อถือ ยังมีอะไรอีกมากที่ยังไม่ได้อธิบายอีกเยอะที่ประชาชนไม่รู้ เพราะฉะนั้นประชาชนควรรู้ซึ่งที่ ธปท. ทำอยู่ ต้นทุนที่ต้องแบกภาระ และโอกาสที่จะเป็นภาระการคลังในอนาคต ต้องบอกกับคนอื่นให้รู้ด้วย ส่วนรัฐบาลบอกประชาชนตลอด โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร มีการเปิดเผยโปร่งใส แต่ ธปท. ต้องบอกให้คืนอื่นรู้ด้วย
นโยบายของ รมว.คลัง ต้องการให้ ธปท. ทำค่าเงินบาทอ่อน มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร
จักรกฤศฏิ์ : ที่ รมว.คลัง พูดเรื่องค่าเงินบาทอ่อน เพราะรัฐบาลเป็นห่วง ธปท. เพราะทำให้ค่าเงินบาทแข็งเรื่อยๆ เงินทุนก็จะไหลเข้ามามาก ธปท. ก็ต้องดูดซับสภาพคล่องมากขึ้น ขาดทุนมากขึ้น รัฐบาลต้องหาทางช่วย โดยการพูดชี้นำตลาดบอกให้นักลงทุน ผู้ประกอบการ ให้นำเข้าเครื่องจักรให้มากๆ ให้ขาดดุลการค้าบ้าง จากปัจจุบันที่เกินดุลตลอดทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า จะได้ผลหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารของ ธปท. เรื่องอัตราดอกเบี้ยหากยังสูง เงินก็จะไหลเข้า เพราะดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกายังอยู่ระดับต่ำและไม่มีแนวที่จะขึ้น
นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ ทั้ง 3 ตัวต้องไปด้วยกัน ทุกฝ่ายต้องคุยกันให้รู้เรื่องว่าต้องการให้เศรษฐกิจโตเท่าไร อัตราดอกเบี้ยอยู่เท่าไร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโต โดยต้นทุนไม่สูง ขณะเดียวกันดอกเบี้ยก็ต้องไม่เป็นภาระกับ ธปท. และต้องไม่ทำให้ค่าเงินแข็งเกินไป ซึ่งหากพูดคุยกันรู้เรื่องก็คงไม่มีปัญหาถียงกันไปมาอย่างนี้ คลังก็กลัว ธปท. จะขาดทุน ส่วน ธปท. ก็หาว่ารัฐบาลใช้เงินมาก จะเป็นหนี้สูง
แผนการกู้ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
จักรกฤศฏิ์ : การกู้เงินมีความพร้อมตลอดเวลา ขอให้มีโครงการเท่านั้น โดยจะเป็นการขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% ต่อปี
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคต มีผลกระทบกับแผนการกู้เงินของรัฐบาลอย่างไร
จักรกฤศฏิ์ : ไม่มีปัญหา เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังทรงตัว คิดว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังไม่ถึงเวลาปรับขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สบน. มองว่าดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้นมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้านี้แล้ว ถึงวันนี้ก็เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยยังไม่ใช่ขาขึ้น ส่วน ธปท. จะปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น เป็นเรื่องของ ธปท. แต่ สบน. จะดูแลอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไป
สบน. มีนวัตกรรมทางการเงินอะไรใหม่เข้ามาช่วยในการบริหารหนี้บ้าง
จักรกฤศฏิ์ : มีหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น การออกพันธบัตรแบบทยอยคืนเงินต้น เช่น ออกพันธบัตรอายุ 15 ปี พอถึงปีที่ 11 ก็จะทยอยจ่ายคืนปีละ 20% เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการขายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านตู้เอทีเอ็มมากขึ้นกว่าเดิมในเดือน ก.ย. 2555 เพื่อรองพันธบัตรออมทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ 2 แสนกว่าล้านบาท ที่จะครบกำหนด จะมีการดึง 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เข้ามาร่วมขายมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมีธนาคารกรุงไทยเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนพันธบัตรรุ่นที่ไม่มีสภาพคล่อง ให้มาถือหุ้นที่มีสภาพคล่องแทนมากขึ้น
การบริหารหนี้ปีงบประมาณ 2556 มีแนวโน้มอย่างไร
จักรกฤศฏิ์ : การบริหารหนี้สาธารณะจะดีขึ้น แม้ว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 45-46% ของจีดีพี แต่เป็นระดับที่ยังต่ำ การชำระหนี้ต่องบประมาณยิ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีการปรับเอาภาระของดอกเบี้ยหนี้กองทุนฟื้นฟูประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ออกไปให้ ธปท. ดูแล้ว หาก ธปท. ลดหนี้ได้ไวก็จะทำให้ลดสัดส่วนหนี้โดยรวมลดลงไปอีก ในส่วนของรัฐบาลยังเป็นห่วงเรื่องการเบิกงบลงทุนที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้า สามารถเร่งได้เร็วขึ้น ก็จะทำให้การกู้เงินทำได้ตามแผนขึ้น
มีหลายฝ่ายกังวลว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
จักรกฤศฏิ์ : เป็นเรื่องดีที่กลัว แต่ภาพที่ออกมาเป็นเรื่องตรงข้าม ทั้งเรื่องการก่อหนี้ที่กลัวกันว่าจะก่อหนี้มาก ก็มีการก่อได้น้อย ด้านเศรษฐกิจที่กลัวว่าโตได้ช้า ก็โตได้เร็วกว่าเดิม ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ การบริโภค ดีกว่าที่คาดการณ์ว่า ทำให้จีดีพีต้องดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่หนี้โตได้น้อย ทำให้ภาพรวมสัดส่วนหนี้สาธารณะจะลดลง
เมื่อดูจากจำนวนเงินที่ สบน. ต้องกู้เป็นจำนวนสูงมาก แต่ดูเหมือนตลาดการเงินจะดูเงียบๆ ไม่คึกคักหรือไม่
จักรกฤศฏิ์ : อยู่ที่การบริหาร ต้องทำให้ตลาดไม่กระเพื่อม ต้องบริหารตลาดให้ดี เดือนที่ผ่านมาที่ พ.ร.ก.กู้เงินผ่าน ดอกเบี้ยในตลาดขึ้นกันใหญ่ ทำให้ สบน.ต้องเล่นไม้ตาย ใครที่ประมูลพันธบัตรคิดดอกเบี้ยสูงๆ จะถูกตัดทิ้งออกหมด เพราะตลาดและแบงก์พาณิชย์คิดว่าเราจนตรอก ต้องกู้ขาดดุลมาก ดอกเบี้ยต้องขึ้นและรัฐบาลต้องกู้
แต่เรามีแหล่งเงินกู้อื่น หากกู้ในประเทศไม่ได้ ก็ยังมีตลาดต่างประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำกว่าก็ได้ เพราะที่ผ่านมาตลาดท้าทายเราว่าดอกเบี้ยขึ้น เราก็ต้องกู้ ทำให้เราต้องทำให้ตลาดรู้ว่าเราอยู่เหนือตลาด หลังจากนั้นก็ทำให้ตลาดนิ่ง อย่างกรณีที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี ขึ้นไปถึง 3.9% ต่อปี ตอนนี้ลดลงมาอยู่ที่ 3.7% ต่อปี
ในช่วง 2-3 ปี เราบริหารตลาดทำได้ดีขึ้น ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงถึง 3.75% เรายอมปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแซงระยะยาว หน้าที่ของ สบน. ต้องคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไม่ให้แกว่ง เรื่องดอกเบี้ยระยะสั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ธปท.
แนวโน้มเครดิตของประเทศในอนาคต
จักรกฤศฏิ์ : ที่ผ่านมาสถาบันจัดอันดับยังคงอันดับไว้ที่ BBB+ ระดับมุมมองมีเสถียรภาพ ถือว่าดีมากแล้ว เพราะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากน้ำท่วมปลายปีที่ผ่านมา โดยคลังจะพยายามทำให้เครดิตมาอยู่ในระดับ A ให้ได้ เพราะถือว่าเป็น 1 ใน 3 ภารกิจของ สบน. โดยอีก 2 ภารกิจ เป็นเรื่องการแก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่ดำเนินการได้เรียบร้อย ส่วนอีกภารกิจการบริหารเงินคงคลังที่อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย