“ธานินทร์ ผะเอม” รองเลขาฯสภาพัฒน์ ผ่าแผนพัฒนาที่ 11“เป้าคือทลายกำแพงเหลื่อมล้ำ”
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ปีพ.ศ. 2555-2559 ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถือเป็น "พิมพ์เขียว" ในการพัฒนาประเทศแบบครอบคลุมในทุกมิติ แม้ในห้วงเวลาหนึ่งจะถูกมองว่าเป็นแผนแม่บทที่ล้าหลังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่หลังเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ทุกให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสำคัญต่อเข็มทิศในการพัฒนาประเทศร่วมกันมากกว่าการพึ่งพานโยบายพรรคการเมือง ที่หวือหวาและมีความเสี่ยงต่อการล่มสลาย
วิสัยทัศน์ในแผนพัฒนาฉบับที่ 11 มุ่งเน้นให้ "สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง" ถือเป็นตัวสะท้อนสภาพสังคมไทยในขณะนี้ว่าเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง การกระจายรายได้ยังไม่ทั่วถึง สุดท้ายผลลัพท์คือทำให้ประเทศไทยอ่อนแอในภาพรวม
ในวาระนี้ นายธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดของแผนพัฒนาฯฉบับนี้ว่า
“การสร้างความสุขและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ของสังคมไทย ซึ่งตามแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11มุ่งเน้นการยกฐานะความเป็นอยู่ ความเสมอภาค คือให้ทุกคนมีโอกาสที่เท่ากัน แต่ดำเนินการไปแล้วผลลัพท์ที่ออกมาก็อาจไม่ทำให้ทุกฝ่ายเท่าเทียมกันเสมอไป เพราะต้องขึ้นกับว่าคนๆนั้นมีความอุตสาหะมากน้อยแค่ไหน หากนำสิ่งที่ได้ไปทำประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมาก ผลตอบแทนก็สูงตามไปด้วย แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือคนไทยจะต้องมีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง ทั้งด้านการศึกษา แหล่งทุน ทรัพยากร มีภูมิคุ้มกัน และองค์ความรู้ สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ไม่เพียงเท่านั้น ประชาชนจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อยู่ในเศรษฐกิจที่ขยายตัวโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงหรือเรียกว่า Green Growth ขณะที่การแย่งชิงเค้กในเรื่องรายได้ของแต่ละส่วนต้องเกิดการกระจายตัว ประชาชนต้องเข้ามาร่วมกันสร้าง ไม่ใช่แบมือขออย่างเดียว เพราะบางครั้งนโยบายของภาครัฐก็ไม่ได้ทำให้คนไทยเข้มแข็งขึ้นโดยตรง ไม่ได้ส่งเสริมให้เขาหาปลาเป็น หรือรู้ว่าปลาอยู่ตรงไหน เวลาใดที่จับแล้วพันธุ์ปลาจะไม่ถูกกระทบ การให้เบ็ดแต่ไม่ให้องค์ความรู้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเขาใช้ไม่เป็นหรือใช้วิธีที่ไม่ถูกต้อง”
"ถ้าเรื่องแค่พออยู่พอกินเท่านั้น ก็จะเป็นอีกแนวคิดหนึ่ง แต่ในภาวะปัจจุบันทุกคนต้องการเงิน ต้องการทำสินค้าออกขาย จะขายอย่างไร เช่น ตอนเช้ามีคนมาซื้อแต่พอบ่าย ตลาดวายแล้ว จะทำอย่างไร จะทำปลาส้ม ปลาร้า ปลาตากแห้ง ทำแล้วขายใคร ลงทุนไปแล้วขาดทุนจะทำอย่างไร"
ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีพัฒนาการในหลายด้าน โดยในแผนพัฒนาฯฉบับที่1-7 ได้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาของประเทศไทย ด้วยการเร่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ต่อมาในแผนพัฒนาฯฉบับที่8 พบว่าแม้เศรษฐกิจดี แต่สังคมมีปัญหา ก็ส่งผลให้การพัฒนาไม่ยั่งยืน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง กระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้มีการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุลในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 และ 10
ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 11ที่มีเป้าหมายหลักคือความอยู่เย็นเป็นสุข และสร้างความสงบสุขของสังคมไทยเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง รวมถึงเป้าหมายของผู้อยู่ใต้เส้นของความยากจนลดลงด้วย ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต้องเหมาะสมตามศักยภาพของประเทศ
"ตอนนี้สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือเรื่องของศักดิ์ศรีของประเทศ เป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เขาควรมีโอกาสในการพัฒนาตัวเอง มีหลักประกันทางสังคม ความมั่นคง ซึ่งเรื่องของศักดิ์ศรีมันเป็นนามธรรมเราเลี่ยงที่จะไม่พูด"
“ในช่วงที่สภาพัฒน์จัดสัมมนาทั่วประเทศตลอดปีที่ผ่านมา มีการหยิบยกเรื่องความเป็นธรรม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อย่างมากมาย โดยเฉพาะช่วงที่มีเหตุการณ์การเมืองเสื้อเหลือง เสื้อแดง เมื่อ 3 ปีก่อน เหตุการณ์ครั้งนั้นมันชัดมาก ทำให้สังคมไม่อยู่เย็นเป็นสุข
ผู้คนในสังคมไทยรู้สึกในเรื่องนี้มาก ถือว่าสังคมได้รับผลกระทบ ขณะนี้จึงเป็นอาการของคนถวิลหา ว่าสังคมไทยสมัยก่อน แม้จะไม่ได้ดีเพียบพร้อม แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรงเลวร้ายถึงขนาดนี้ ถึงขนาดที่มีการเผา ปิดถนน ฯลฯ เหมือนจริงๆแล้วคนไทยไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยเท่าไหร่ บอกแค่ว่ามีการเลือกตั้งแล้วทุกอย่างก็โอเค แต่จะซื้อเสียงหรือไม่อันนี้ก็เป็นอีกเรื่อง ส่วนตัวผมคิดว่าเราตกเป็นเหยื่อของตะวันตกด้วย เพราะตะวันตกไม่สนใจจะซื้อเสียงหรือไม่ แต่อย่าโกงอย่างด้านๆก็พอ”
"จริงๆก็เป็นเรื่องของมนุษย์นิยมว่าความเหลื่อมล้ำไม่ควรห่างกันมาก ผมคิดว่าความยากจนไม่เห็นว่า เป็นประเด็นหลักของสังคมอีกแล้ว แม้ความยากจนจะยังมีอยู่ แต่เมื่อเทียบกับเมื่อ 50 ปีก่อน เรียกได้ว่าเป็นคนละเรื่อง ประเด็นก็คือเราจะรวยไปทำไมถ้าไม่มีความสุข อย่างสถิติของประเทศเกาหลีใต้ พบว่า มีคนฆ่าตัวตายวันละ 40 คน ส่วนของประเทศไทยวันละ 10 คน ก็ถือว่ามาก แม้จะเทียบกับประชากรที่มีอยู่ 65-67 ล้านคนไม่ได้ ดังนั้น ตอนนี้เราเห็นว่าควรหันกลับมาพูดถึงความสุข"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกลุ่มทางสังคม ที่ใช้ชื่อว่า คนไทย คิด พูด ทำ ได้สำรวจด้วยการสอบถามความรู้สึกของประชาชนและพบว่ามีประชาชน 87% คิดว่าตัวเองมีความสุข แต่ในทางวิชาการเราจะบอกว่าความสุขของคนไทยคืออะไร มันก็ค่อนข้างยุ่งยากหน่อย เพราะความสุขของคนราชบุรีกับเชียงใหม่ก็แตกต่างกัน พอปรับมาเป็นแผนหรือในทางเทคนิค สภาพัฒน์ก็คงบอกไม่ได้ว่าคนไทยมีความสุข 87% เพราะเราต้องมีหลักการและตัวชี้วัดมารองรับ ว่าความสุขต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง สุดท้ายจึงออกมาเป็นข้อมูลสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ครอบครัว ภาวะเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่าง ถ้าเศรษฐกิจดี แต่สิ่งแวดล้อมมีคาร์บอนเต็มไปหมดหรือ มีสารตะกั่ว เต็มไปหมด แล้วบอกว่าคนมีความสุขอย่างนี้ก็คงแปลกๆ ตอนนี้ประเด็นความสุขจึงมีพลวัตของมัน ไม่อยู่กับที่ ถ้าถามคนๆหนึ่ง ในช่วงเวลาต้นปี กลางปี ท้ายปี ก็จะได้คำตอบไม่เหมือนกัน หมายความว่าความรู้สึกมันไม่อยู่กับที่
“สภาพัฒน์ได้ระดมความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11ตามขั้นตอน เพราะสภาพัฒน์เป็นกลไกของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยการกำหนดทิศทาง มาจากสภาพข้อเท็จจริง และผลของการพัฒนาที่ผ่านมา รวมถึงเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงที่เกิด ขึ้น เราจะดูทิศทางไปทางไหน ทำอะไร และต้องทำเท่าไหร่ หลักๆคือทิศทางเศรษฐกิจที่เราต้องทำให้สังคมไทยอยู่ดีกินดี คนไทยได้ประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วหน้า”
ต่อจากนี้ไปจะมีการลงทุนของภาครัฐในกรอบสำคัญ 9 เรื่อง ตามแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 ประกอบด้วย
1. การพัฒนาคน เพื่อสร้างทุนทางปัญญาอย่างยั่งยืน เน้นพัฒนาคนไทยให้มีศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมที่ดีงาม รู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ควบคู่กับการเสริมสร้างและพัฒนาโครงสร้างพ้นฐานทางปัญญาและแหล่งเรียนรู้ในระดับชุมชน
2. การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับทุกคนในสังคมไทย โดยมุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและยั่งยืน มีฐานการพัฒนาที่ทั่วถึง พัฒนาระบบการเงินฐานรากและระบบการออมที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบสัมมาชีพที่มั่นคง รวมทั้งพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมให้มีคุณภาพและครอบคลุม
3. เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และส่งเสริมบทบาทภาคประชาสังคมและธุรกิจเอกชนให้เป็นพลังร่วมในการพัฒนาสังคมไทย โดยมุ่งยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่กับส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4. การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและระบบการแข่งขันที่เป็นธรรม เน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งปฏิรูปกฎระเบียบทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมทันต่อสถานการณ์
5. การส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค เน้นสร้างความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ รองรับการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุน ผ่านการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน
6. การเตรียมความพร้อมของไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักในความสำคัญและผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ และใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นที่ยอมรับ
7. การบริหารจัดการน้ำและที่ดินเพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มั่งพัฒนา ปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน พัฒนาระบบโครงข่ายกระจายน้ำและความมั่นคงด้านน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม กระจายการถือครองที่ดิน ป้องกันการสูญเสียกรรมสิทธิ์ที่ดินของเกษตรกรรายย่อย
8. การยกระดับขีดความสามารถในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ด้วยการวางแผนรองรับและจัดการปัญหา สนับสนุนการวิจัยพัฒนา รวมทั้งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้าจากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม
9. การบริหารจัดการประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม พัฒนาระบบราชการและข้าราชการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกรองส่วนท้องถิ่น พัฒนาระบบป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลแก่ประชาชนทุกกลุ่ม