เศรษฐกิจฉบับพท. โอฬาร ไชยประวัติ เปลี่ยนแปลงจากฐานล่าง
ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ถือเป็นกระบี่มือหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ถูกวางตัวไว้เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลเศรษฐกิจ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
แม้จะเคยเป็นนายแบงก์ไทยพาณิชย์ แต่มุมมองของดร.โอฬาร กลับไม่เหมือนนายแบงก์ทั่วไปที่มุ่งเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม แต่มีทฤษฎีเฉพาะตัวเรื่องการกระจายรายได้ ก่อนจะกลั่นออกมาเป็นนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่เน้นเรื่องเงินไปสู่ชุมชน และราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น
ดร.โอฬาร เล่าให้ไทยรีฟอร์มฟังว่า ในอดีตเริ่มจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การกำหนดรูปแบบเศรษฐกิจของบ้านเราเป็นแบบ ท็อปดาวน์หรือบนลงล่าง คือกระจายเงินจากข้างบน ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าในข้างบน แล้วค่อยๆลงมาสู่ข้างล่าง โมเดลนี้ใช้มาหลายสิบปี ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจส่วนรวมพอสมควร แต่ประเด็นหลักคือไม่ได้กระจายรายได้สู่คนส่วนใหญ่ของประเทศ คือฐานราก รากหญ้า คนชั้นกลาง ประกอบด้วย 80-90% มีผลประโยชน์ตกเพียง 10 % ของทั้งหมด
ช่วง10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นชัดเจนว่าการเติบโตแบบนี้เกิดขึ้นได้จริง แต่ไม่มีสิ่งความยั่งยืน วูบวาบๆ เดี๋ยวขึ้น ลง เกิดวิกฤตขึ้นบ่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงข้างนอกประเทศบ้าง และความสามารถที่เราไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันภายในบ้าง อย่างปีพ.ศ. 2515 เกิดออยล์ช็อคหรือวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ครั้งที่สองปีพ.ศ. 2523 และครั้งล่าสุด ปี 2540 คือวิกฤตต้มยำกุ้ง
ทั้ง 3 ครั้ง เกิดขึ้นจากการผันผวนจากภายนอกประเทศ ส่งผลกระทบทางลบเข้ามาในบ้านเรา แต่เราไม่มีภูมิคุ้มกันภายใน ผ่อนหนักให้เป็นเบา จึงเจอวิกฤตในรูปแบบต่างๆ รัฐบาลแต่ละสมัยต้องวิ่งแก้ไขปัญหา ตั้งแต่สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเรื่อยๆ ตอนหลังก็มีการถามคำถามกันว่า การพัฒนารูปแบบนี้ความเสี่ยงสูง จะมีการพัฒนาแตกต่างไปจากเรื่องเก่าได้หรือไม่ และมีอีกเรื่องในช่อง 1-2 ปีหลัง คือการกระจายรายได้ไม่ตกสู่ฐานราก กระจุกค่อนข้างเยอะ จึงเกิดปัญหาเสื้อสีต่างๆ แตกแยกกัน เป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้
รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ตั้งคณะกรรมกาปฏิรูปที่มีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ก็เพิ่งจัดทำรายงานเสร็จเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ปรากฎว่ารัฐบาลกำลังเลือกตั้ง จึงบอกจะส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ คณะกรรมการชุดคุณอานันท์ วิเคราะห์ขึ้นมาตรงกับที่ผมวิเคาระห์มา 50 ปี ตั้งแต่อยู่ที่แบงก์ชาติ และแบงก์พาณิชย์อีกเกือบ 20 ปี พบว่ามันมีความเสี่ยงเรื่องโมเดลในการพัฒนาเศรษฐิจแบบท็อปดาวน์ และหวังว่าผลพวงของการพัฒนาค่อยๆไหลเหมือนน้ำซึมจากข้างบนมาข้างล่างไม่ช่วยเรื่องกระจายรายได้
“เลยมาคิดว่าเราจะมีการคิดแบบพัฒนาอีกแบบหนึ่ง ให้การพัฒนารวดเร็วและเป็นธรรม ผมเรียกว่าแบบบอตทอมอัพ คิดว่าทำได้ ขอเรียกว่าเป็นรุปแบบการพัฒนาเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตดีและยั่งยืน คือไม่วูบวาบ เดี๋ยววิกฤต เดี๋ยวตกต่ำ หรือบูมจนทะลุฟ้า และให้เน้นเรื่องการกระจายรายได้แก่ฐานรากและแก่คนชั้นกลางป็นหลัก”
เมื่อเราตั้งเป้าหมายอย่างนี้ สำหรับคนฐานราก เกษตรกร คนงาน ธุรกิจขนาดเล็ก ข้าราชการ คนชั้นกลาง ก็มีข้อสรุปคือการเอาการเจริญเติบโตพัฒนาเศรษฐกิจต้องเริ่มจากข้างล่าง ไม่ใช่จากข้างบนแล้วให้ซึมลงข้างล่าง แต่มันต้องทำให้เหมือนกับการต้มน้ำ ที่ต้องให้มันค่อยๆลอยขึ้นไป หรือเหมือนการชงกาแฟแล้วไอน้ำลอยขึ้นไป จะส่งผลให้การใช้สอยคนฐานราก มีงานทำ แล้วไปซื้อของที่ผลิตจากคนชั้นบน มันก็เลยเป็นแบบวินๆ คือได้ทั้งคู่
ดร.โอฬาร ยอมรับว่า การจัดทำนโยบายสอดคล้องกับฐานคะแนนเสียงเป็นเรื่องปกติ ส่วนหนึ่งเพราะทุกประเทศในโลกมีพรรคการเมืองสองประเภทหลัก ประเภทที่หนึ่งคือพรรคการเมืองที่ไม่อยากมีการเปลี่ยนแปลง และหลายครั้งชอบอำนาจนิยม ตัวอย่างในอังกฤษคือคอนเซร์เวทีฟปาร์ตี้ ในสหรัฐ คือรีพับลิกัน
อีกด้านคือพรรคชื่นชอบการปฏิรูป มีหัวก้าวหน้า(โปรเกสซีพ) เช่น พรรคเลเบอร์ ของอังกฤษ และเดโมแครต ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทย สมาชิกก็คือคนฐานรากที่ชอบการปฏิรูป เราเป็นพรรคแบบที่สองนี้ นโยบายก็เป็นไปตามฐานสมาชิกคือเพื่อความอยู่ดีกินดีและความเจริญรุ่งเรืองของคนฐานรากและคนชั้นกลาง แต่ไม่ใช่ทำให้คนชั้นบนต้องเสียสละ ไม่ใช่ “โรบินฮู้ดโมเดล” ที่เก็บเงินจากคนรวยมาช่วยคนจน เพียงแต่เราต้องการให้การเติบโตเศรษฐกิจสม่ำเสมอ ไม่วูบวาบเกินไป และผลพวงส่วนใหญ่ตกกับคนที่เริ่มทำ คือคนข้างล่าง ก็เลยตรงกับปรัชญาของพรรคเพื่อไทย
เรามาวิเคราะห์ดูว่าการเมืองไทยมีพรรคการเมืองแบบนี้ เมื่อไหร่ ก็พบว่าเกิดหลังรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 ซึ่งก็คือพรรคไทยรักไทย ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นโยบายที่คนจำกันได้ คือนโยบายกองทุนหมู่บ้าน เอาเงินไปกู้กันเอง ได้คืนมาเท่าไหร่ก็ไปกู้กันต่อ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เป็นเรื่องการรักษาพยาบาลให้คนทุกคนในประเทศไทย มันก็เป็นนโยบายที่ถูกเรียกว่าประชานิยม ซึ่งผมไม่เคยยอมรับคำนี้ เพราะถ้าประชาไม่นิยม สมาชิกจะนิยมใคร
ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นนโยบายแบบ “โปรเชนจ์” คือต้องการปฏิรูป ตรงพอดีกับโจทย์ที่คณะกรรมการปฏิรูปได้รับและเขียนรายงานออกมา โดยสรุปที่คณะกรรมการของคุณอานันท์ สรุปออกมาพันกว่าหน้า ท่านบอกง่ายๆว่า ความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม การกระจายรายได้ และโภคทรัพย์อื่นที่ไม่เป็นธรรม เกิดจากสาเหตุใหญ่ คือเศรษฐกิจมีคน 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. เอกชน ข้างในรายงานหมายถึงธุรกิจขนาดใหญ่และสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่รุ่งเรืองขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกว่ากลุ่มทุนก็ได้ หรือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่บวกธนาคารก็ได้
กลุ่มนี้ ด้วยธรรมชาติหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงไม่นานนี้ ก็มักจะเอื้อซึ่งกันและกัน สถาบันการเงินรับฝากเงินแล้วก็กปล่อยเงินให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน หลายธุรกิจก็แปลงมาเป็นแบงก์แล้วก็เอาเงินแบงก์มาขยายธุรกิจตัวเอง เรียกว่าเขามีสัมพันธไมตรีอย่างใกล้ชิดแต่อ้อนแต่ออก จึงเอื้อธุรกิจกัน คณะกรรกมารฯ เรียกว่าการเอื้อทุนซึ่งกันและกันและไม่เปิดโอกาสเอื้อทุนรอนกับฐานรากหรือผู้ประกอบการรายเล็กที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจ เอื้อบ้างในเงื่อนไขกู้ยาวๆไม่ค่อยได้ และจ่ายดอกเบี้ยแพง
ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่กู้ยาวได้ ดอกเบี้ยถูก ทำให้ฐานรากไม่ค่อยมีโอกาสเข้าถึงทุน การเติบโตจากฐานรากจึงเป็นไปได้ยาก เป็นแค่แรงงานถูกๆ ขายแรงงาน เป็นเกษตรกรก็ก้มหน้าก้มตาทำการเกษตร และขายได้ราคาไม่เหมาะสม และยังมีกลไกตลาดไม่เอื้อการแข่งขันกันอย่างแท้จริง ทำให้เกิดการผูกขาดตัดตอน ก่อนที่สินค้าจะถึงมือผู้บริโภคหรือส่งออก จึงเป็นเรื่องที่สองกลุ่มนี้อำนาจต่อรองไม่เท่ากันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
และในทุกระบบเศรษฐกิจก็จะมีบุคคลที่สามคือรัฐบาล มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ถ้ามีระบบการเมืองที่นโยบายสองขั้ว และประชาชนออกเสียงเลือกขั้วใดขั้วหนึ่ง โดยไม่มีการแทรกซ้อนจากขบวนการอื่นๆ อย่างที่เกิดขึ้นสมัยพรรคไทยรักไทย มันก็ต้องเข้ามาทำงานเรื่องนี้ เพราะเวลาหาเสียงคุณบอกว่าคุณจะทำงานเรื่องนี้ เมื่อเข้ามาทำตามสัญญา ทำเป็น คนก็เลยชอบ ถ้าสัญญาแล้วทำไม่ได้คนก็ไม่เลือก
“ผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็คือพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และพรรคเพื่อไทยคือปฏิรูป” โอฬารกล่าวทิ้งท้าย