ปาฐกถา:::อานันท์ ปันยารชุน “มองผ่านมาบตาพุด สู่ความเข้มแข็งของภาคประชาชนสู่การปฏิรูปประเทศไทย”
"คนที่เขาได้รับทุกข์มากว่า 25 ปี ขอให้เขาได้มีโอกาสได้คืนพื้นที่บ้าง
ได้หายใจบริสุทธิ์บ้าง ให้เขาได้รับการฟื้นฟูในทางจิตใจ
3 ปี อุตสาหกรรมไม่ตาย...."
ในงาน “สังสรรค์ สาระ ระดมทุน ครบรอบ 5 ปีเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก” ณ สนามกีฬากลางจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการปฏิรูป ปาฐกถาในหัวข้อ “มองผ่านมาบตาพุด สู่ความเข้มแข็งของภาคประชาชนสู่การปฏิรูปประเทศไทย”
เริ่มต้น นายอานันท์ กล่าวถึงตลอดชีวิตที่ได้อยู่ในระบบราชการมากว่า 23 ปี ไม่เคย ไม่มีหุ้นส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแต่อย่างใด แต่ได้เห็นเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก ต่อมากลายเป็นการพัฒนาปิโตรเคมี
"ผมเข้าใจว่าตอนเริ่มต้นการวางแผนค่อนข้างจะดีมาก แต่ 30 ปีให้หลัง ก็พิสูจน์ได้ว่า การวางแผนนั้นอยู่บนพื้นฐานข้อมูล หรือการประเมินสถานการณ์ที่อาจจะผิดพลาดไปได้ ไม่เคยมีใครคิดว่า พื้นทะเลชายฝั่งตะวันออกเจริญเติบโตด้วยอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วมากกว่าที่คาดไว้
แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่รู้กันว่า พื้นฐานของชาวระยองเป็นเรื่องของการทำเกษตรและการทำมาหากิน โดยอาศัยพื้นที่ดิน อาศัยพื้นที่ทะเล มันหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ เมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแล้วมันจะกระทบกระเทือนและเบียดเบียนการทำมาหากินของชาวบ้าน ชาวไร่ และชาวประมง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่มีมาช้านาน ถามว่าแก้ไขได้ไหม มันอาจจะสายไป แต่แก้ไขได้ครับ แต่จะแก้ไขถึงขนาดที่ว่าทุกคนพอใจหรือเปล่านั้น ผมไม่รับรอง นั่นเป็นข้อแรกที่ผมอยากจะพูด
ขอรัฐบาลแสดงความจริงใจอย่างต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างมากแล้ว นอกจากจะเบียดเบียนธรรมชาติ เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ เบียดเบียนการทำมาหากินของชาวบ้าน ชาวไร่ เบียดเบียนชาวประมงแล้ว สุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัจจุบันข้อมูลที่เรามีอยู่ว่า สุขภาพของชาวระยองตกต่ำไปเพราะสารพิษต่างๆ แต่ผมก็ต้องยอมรับว่า ข้อมูลที่ได้มาส่วนใหญ่ก็คงเป็นความจริง แต่หลายสิ่งหลายอย่างเป็นการพูดกันโดยไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์หรือในทางการแพทย์
เรามาอยู่ในสถานการณ์ที่ว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมา 30 กว่าปี เราจะกลับไปอยู่สภาพเดิมได้หรือไม่ได้ คำตอบคือไม่ได้ ปัญหาคือว่า สภาพปัจจุบันจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตกแต่งให้ดีกว่าอดีตได้ไหม คำตอบว่าทำได้ ส่วนหนึ่งคือการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งไม่ได้มีการละทิ้งมาเป็นเวลาช้านาน คณะกรรมการสี่ฝ่ายในเรื่องของมาบตาพุดก็ได้มาดูแลเรื่องนี้ ได้มีการปรับปรุง เสนอแบบแผน วิธีการของการประเมินผลกระทบอย่างรุนแรง ไม่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ ได้มีการวางแบบแผน วิธีการในการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ช่วยให้เกิดการจัดตั้งองค์การอิสระเฉพาะกาล
ปัจจุบันก็มีร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมการสี่ฝ่ายได้เสนอไปรัฐบาลและกลายเป็นร่างที่นำเข้าสู่สภาและผ่านขั้นตอนไปพอประมาณ ก็เป็นที่หวังว่าในระยะต้นๆ ปีหน้าเราก็จะอาจจะได้พระราชบัญญัติเรื่องการจัดตั้งองค์การอิสระถาวรขึ้นมา ซึ่งมีหน้าที่ในการแนะนำให้ความเห็นรัฐบาลต่อโครงการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้มาตรา 67 วรรคสอง
สรุปแล้วคณะกรรมการสี่ฝ่ายได้ทำงานมาในแง่ทฤษฎีได้ครบจบสมบูรณ์แล้ว เพราะนอกเหนือจากมาตรา 67 วรรคสอง แล้วเรายังช่วยดูแลมาตรการต่างๆ ในอันที่จะลดมลภาวะ และพิจารณากำหนดประเภทอุตสาหกรรม เราเสนอไป 18 ประเภทก็มีการตัดไปบ้างจากคณะรัฐบาล ประเภทอุตสาหกรรมที่จะต้องเข้าสู่ในข่ายที่อาจมีผลกระทบรุนแรง นอกจากนั้นเราได้มีส่วนในการเสนอมาตรการต่างๆ ในอันที่จะชี้นำรัฐบาลท้องถิ่นหรือรัฐบาลกลางในอันที่จะวางแผนการจัดเมืองที่เป็นเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ถ้าเผื่อจะถามว่าคณะกรรมการสี่ฝ่ายได้ทำงานมาถึงปัจจุบัน มีความพอใจไหม คำตอบผม ผมว่ามีความพอใจในระดับหนึ่ง
แต่สิ่งที่เราต้องเป็นห่วงและเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลานั้นคือ ข้อเสนอนั้นรัฐบาลปฏิบัติด้วยความจริงจังและจริงใจแค่ไหน ปัจจุบันถึงแม้คณะกรรมการสี่ฝ่ายไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมแล้ว แต่เราได้ประชุมเดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้งเพื่อขอรับทราบความก้าวหน้าว่ามาตรการต่างๆ ที่เสนอไป รัฐบาลทำอย่างไร และฝ่ายอุตสาหกรรม ผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามที่เราเสนอไปหรือเปล่า คำตอบคือว่า เรามีความพอใจพอประมาณ
ปัจจุบันรัฐบาลก็มีกรรมการชุดหนึ่ง ประกอบด้วยกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ มาเยี่ยมพื้นที่อาจจะสัปดาห์ละครั้งหรือสองสัปดาห์ครั้ง ทำงานใกล้ชิดกับคุณสุทธิและภาคประชาชนฝั่งตะวันออก ได้มีมาตรการในการบรรเทาทุกข์ของประชาชน ไม่ว่าเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ จัดมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยให้สุขภาพประชาชนดีขึ้น การสร้างโรงพยาบาล หาหมอ หาพยาบาลเพิ่มเติม ดูแลน้ำไฟ โรงเรียนและการจำกัดขยะ มาตรการเหล่านี้ยังไม่สมบูรณ์และยังต้องทำอีกมาก
ผมว่ารัฐบาลได้แสดงความจริงใจ แต่ผมว่ารัฐบาลต้องจริงใจอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จริงใจเพื่อผลการเลือกตั้งคราวหน้าเท่านั้น แต่ต้องจริงใจจากจิตสำนึกว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม การอยู่เป็นสุขของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งหรือใครเป็นรัฐบาล ว่าต้องมองชาวบ้านว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และผมขอย้ำว่า ไม่ว่าเขาจะมาจากไหน ประชากรแอบแฝง ผมว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่ชาวระยองจะต้องตระหนักว่า ในสังคมไทยว่าจะหาความยุติธรรมที่เหมาะสม อย่าได้แบ่งพวกว่าเขาหรือเรา ไม่ว่าพวกถิ่นฐานเดิม อาชีพเดิม หรือพวกอพยพมาทำงาน ถ้าสังคมไหนสามารถบอกว่าเราทุกคนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ไม่ใช่เขากับเรา ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรจากมาบตาพุด ผมว่าเรียนรู้หลายอย่าง ความเฉื่อยช้า ความไม่เอาไหน ความไม่ตระหนักในทุกข์ของราษฎร ในวงการค้าธุรกิจ
ถามว่า วันนี้กับ 6 เดือนที่แล้วสถานการณ์ดีขึ้นไหม จิตสำนึกข้าราชการ ผู้ประกอบธุรกิจประชาชนทั่วไป ผมว่าดีขึ้นครับ แต่พอใจไหมไม่พอใจครับ ต้องดีมากกว่านี้
เมืองเกษตรผสมกับอุตสาหกรรม
บทเรียนอันที่สอง นอกจากความเฉื่อยชาของรัฐและองค์ประกอบอื่นๆ แล้ว ที่ผ่านมาเราเสียเวลาไป 25 ปี 30 ปี แก้ไขคงไม่ได้หมด อะไรเสียหายไปแล้วเอากลับมาไม่ได้ แต่ต่อไปนี้เราจะไม่เสียหายต่อไปครับ อย่าว่าแต่พวกคุณรับไม่ไหว ผมเองก็รับไม่ไหว อันนี้รัฐบาลต้องพิสูจน์ว่ามาตรการแก้ไขปัญหาชั่วคราว ปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาระยะยาวก็ดี ต้องทำด้วยความจริงใจจริงจัง ไม่ใช่ทำเพื่อหาเสียงหรือเพื่อผลประโยชน์ชั่วครู่ การเลือกตั้งยังมีอีกหลายสิบครั้งในชีวิตของเรา แต่ราษฎรเขาอยู่ที่นี่ ทำหากินที่นี่ เขาต้องดูแลสุขภาพเขา
สาม อะไรก็ตามที่เกิดความเสียหายแล้ว มันถูกกว่าครับ ถูกกว่าที่จะป้องกันมากกว่าแก้ไข ปัจจุบันเราเสียเวลา เสียความพยายาม เสียพลังต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา แก้จุดนั้นไปโผล่จุดนี้ แก้จุดนี้ไปโผล่จุดนั้น ต่อไปนี้การวางแผนในอนาคตที่จะป้องกันต่างๆ สำคัญมาก และประชาชนต้องเฝ้าระวัง
ผมเห็นใจครับประชาชนที่มีความรู้สึกว่าเดือดร้อนเรื่องสุขภาพ ชีวิตของคนในครอบครัวหรือพี่น้องอาจสูญไปหรือเจ็บหนัก การทำมาหากินลำบากขึ้น ประมงนี่บ่นมากผมรู้ ชาวไร่ชาวนา ระยองซึ่งเป็นเมืองเกษตรในอดีต คำถามคือจะเป็นเกษตรต่อไปได้หรือไม่ได้ คำตอบคือว่า คงต้องเป็นเมืองเกษตรผสมกับอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาเรายกธงอุตสาหกรรมอย่างเดียว เราไม่ให้พื้นที่ชาวเกษตร เราไม่ให้พื้นที่ชาวประมง เราไม่ให้พื้นที่กับคนที่อยู่ในถิ่นฐานมาชั่วคน
ขอ 3 ปี พื้นที่บริสุทธิ์กลับคืน
วันนี้ผมดีใจ ผมมาเจอหลานสาวผมคนเก่า ที่เคยถามผมเมื่อปีที่แล้ว ว่าตาเขาจะต้องไปอยู่ที่อื่น แต่คุณตาไม่ยอมไป คุณตาเขาอายุเท่าๆ กับผม แล้วคำถามที่เขาถามผมยังตรึงอยู่ในหัวใจผมตลอดมา เขาถามผมว่า คุณตาคะ แล้วคุณตาหนูจะมีชีวิตที่ดีขึ้นไหม เป็นคำถามง่ายๆ เมื่อปีที่แล้วผมตอบไม่ได้ แต่ปีนี้ผมคิดว่าเหตุการณ์ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อสร้างมาตรการในการป้องกัน อย่าให้สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกหรืออย่าให้เลวร้ายลงไป
วันก่อนผมพบท่านนายกฯ ท่านนายกฯ พูดกับผมเปรยๆ บอกเรื่องมาบตาพุดนี่ เพราะในการประชุมคณะกรรมการสี่ฝ่าย เราต้องคำนึงถึงความสามารถของพื้นที่ที่จะยอมรับอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ปิโตรเคมี ปัจจุบันตัวเลขข้อมูลยังไม่มีหลักฐานแน่นอน ว่าพื้นที่ระยองจะสามารถรับอะไรต่ออะไรเพิ่มเติมได้หรือไม่ แต่ถ้าเผื่อเราลืมเรื่องสถิติ เรื่องความรู้ทางวิชาการ เรื่องการวัดมลภาวะ ผมว่าสามัญชนทั่วไปในระยองตอบได้นะ มาบตาพุดรับต่อไปอีกไม่ไหวแล้วในปัจจุบันนี้
ผู้ประกอบธุรกิจต้องเข้าใจ ต้องเข้าใจว่าชาวระยองและพื้นที่ใกล้เคียงนี่ เขาทนทุกข์ทรมานมา 25 ปี 30 ปีแล้ว ขอพื้นที่บริสุทธิ์กลับคืนสู่ชีวิตเขาบ้าง ขอโอกาสให้เขาเป็นจำเลยที่ได้รับผลประโยชน์บ้าง
ผมอยากเห็นครับว่า รัฐบาลออกประกาศมาเลยว่า ต่อไปนี้ อันนี้เป็นความเห็นของผม ในฐานะนายอานันท์ ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการสี่ฝ่าย และไม่ใช่ความเห็นของผมในฐานะประธานคณะกรรมการสี่ฝ่าย ผมอยากเห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะยับยั้งการก่อสร้าง การขยาย หรือการเพิ่มเติมประเภทอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่ในข่ายของอาจมีผลกระทบรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดที่อยู่ในข่ายของ 14 15 ประเภทที่เราได้ประกาศไปแล้ว หรือที่รัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว ขอเวลาพักชั่วคราวครับ
ผมอยากได้ 5 ปี แต่ถ้าเผื่อไม่ได้ 5 ปี 3 ปีต่อรองกันได้ ขอให้ 3 ปีนี้เป็น 3 ปีที่มีความหมายกับประชาชน เป็นของขวัญวันปีใหม่ให้กับประชาชนชาวระยอง กับพื้นที่ใกล้เคียง ให้ประโยชน์แก่จำเลยครับ อย่าไปเคร่งครัดถึงเรื่องข้อมูลหลักฐานสถิติมากนัก เรื่องนี้เป็นเรื่องกระทบจิตใจคน เพราะฉะนั้นการแก้ไขนั้นไม่ใช่ของเรื่องกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องของสถิติ ข้อมูลหลักฐาน แต่เป็นเรื่องของคนที่เขาได้รับทุกข์มากว่า 25 ปี ขอให้เขาได้มีโอกาสได้คืนพื้นที่บ้าง ได้หายใจบริสุทธิ์บ้าง แล้วระหว่างนั้นก็ดู ตรวจสอบหลักฐานข้อมูลต่างๆ ว่าขีดความสามารถของพื้นที่ที่จะรองรับ ไม่ใช่รองรับเรื่องมลภาวะ 3 อย่างที่ อ.เรณูพูดถึง
ผมไม่มีความรู้ผมพูดไม่ถูก แต่ผมหมายถึงความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะต้องใช้ทรัพยากรของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางน้ำ ทรัพยากรไฟฟ้า ทรัพยากรที่ดิน ทรัพยากรทะเล ทรัพยากรหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาล สาธารณสุข โรงเรียน การเดินทาง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ในเรื่องการประเมินขีดความสามารถของพื้นที่ที่จะรับการขยายโรงงานหรือการตั้งโรงงานใหม่ ผมว่า 3 ปีอย่างน้อย ให้โอกาสพื้นที่ ให้เขาได้มีการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ ให้โอกาสกับคนซึ่งประสบทุกข์มานาน ให้เขาได้รับการฟื้นฟูในทางจิตใจ
3 ปี อุตสาหกรรมไม่ตายครับ
ทุกวันต้องมีการปฏิรูป 10 ปี 30 ปีก็ไม่เสร็จ
ปัจจุบันรัฐบาลบอกว่ามีนโยบายที่จะไปปรับพื้นที่หรือหาพื้นที่ใหม่ๆ อาจเป็นนอกประเทศก็ได้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นนโยบายที่ดี
สุดท้ายผมจะบอกว่า สิ่งที่ผมทำมาในเรื่องมาบตาพุด ผมต้องขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่นั่งอยู่ในคณะ ไม่ว่าในคณะผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนฝ่ายภาคประชาชน ผู้แทนฝ่ายภาคธุรกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย เรามีความตั้งใจทำงานจริง เรามีความเป็นห่วงเพื่อนชาวระยองและพื้นที่ใกล้เคียงในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่ห่วงในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกันนะครับ ปัจจุบันผมมารับหน้าที่ใหม่คือเรื่องของการปฏิรูป ผมจะไม่พูดมากเพราะเป็นงานที่ค่อนข้างยากลำบากมากกว่ามาบตาพุด
แต่สิ่งที่เราอยากเห็นในเรื่องของการปฏิรูปเมืองไทย ถามว่าจะปฏิรูปเมื่อไหร่ ผมบอกทุกวันต้องมีการปฏิรูป ปฏิรูปจิตสำนึกของคน ปฏิรูปวิธีคิดของคน เมืองไทยต้องปฏิรูปทุกเรื่อง 10 ปีก็ไม่เสร็จ 30 ปีก็ไม่เสร็จ ผมตอบแบบขวานผ่าซาก ผมบอกได้
แต่ผมจะบอกได้ เพราะการปฏิรูปนั้นเป็นกระบวนการ จุดเริ่มต้นไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยผมเป็นประธาน มันมีความพยายามปฏิรูปมาหลายสิบปีแล้ว แต่ปฏิรูปไม่เสร็จสิ้นครับ ปฏิรูปวันนี้อีก 10 ปีก็ต้องปฏิรูปเพิ่มเติม เพราะสิ่งที่ปฏิรูปวันนี้อาจต้องมีการปฏิรูปอีกในวันหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลง คนอาจตั้งคำถามว่าปฏิรูปการเมือง ให้เลิกซื้อขายเสียงรับเงิน ปฏิรูปเรื่องนั้น ปฏิรูปเรื่องนี้ได้ไหม อันนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อย เป็นเรื่องปลายเหตุเท่านั้น เพราะปฏิรูปคือการปรับระบบโครงสร้าง ปรับระเบียบ แต่เป้าหมายอยู่ที่ใด เป้าหมายคือการแสวงหาความยุติธรรมในสังคม ให้ทุกคนในเมืองไทยมีความเสมอภาคในการได้รับแบ่งปันความยุติธรรม เราไม่พูดถึงรายได้ เราไม่พูดถึงเรื่องอะไรต่างๆ ที่มันมีความเหลื่อมล้ำในตัวของมันเอง
ฝันเห็น ความยุติธรรมในสังคมไทย
แต่ผมมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าเป้ามันอยู่ที่หาความยุติธรรมให้กับคนในสังคม ความเหลื่อมล้ำมันจะลดน้อยลงไปเอง กระบวนการนี้ไม่มีวันจบ และไม่ใช่เป็นของแปลก อย่าไปนึกนะครับว่าเมืองไทยนี่มันมีปัญหามากมาย
ปัญหามาบตาพุดนี่มันเกิดขึ้นมาแล้ว แทบทุกแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ มันมีมาแล้วทั้งนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมืองไทย ไม่ใช่เพราะคนไทยเลวกว่าคนอื่นครับ ปัญหาการเดินขบวนเหมือนกัน วันนี้คุณเปิดวิทยุ เปิดทีวีดู มีการเดินขบวนทุกวัน แต่เขาเดินขบวนภายในขอบเขตของกฎหมาย ผู้เดินขบวนก็ต้องเคารพกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่ใช่ปราบปรามเกินขอบเขต แต่ต้องกำกับดูแลการเดินขบวนภายใต้กฎหมายเช่นเดียวครับ เรายังไม่ถึงจุดนั้นครับ
แต่ความฝันของผม ผมไม่รู้ว่าจะอยู่ได้อีกกี่ปี แต่ความฝันของผม ผมคิดว่าชาตินี้ผมคงไม่เห็น ว่า ความยุติธรรมในสังคมไทยจะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่ผมเป็นคนไม่ท้อแท้ เรียกว่าอดกลั้นและอดทน ถ้าเราไม่เริ่มต้นวันนี้ ผมว่าก็ไม่ได้เริ่มต้น ผมว่าเป็นโอกาสที่ดีของเมืองไทย ในภาวะคับขัน ในภาวะที่ผิดปกติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและการพัฒนา เราเอาภาวะวิกฤติต่างๆ นี้ มาเป็นโอกาสให้กับคนไทย เป็นโอกาสให้กับคนระยอง เป็นโอกาสให้กับคนมาบตาพุด เป็นโอกาสให้กับคนพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด อายุเท่าใด เชื้อชาติใด พื้นที่ใด ขอแบ่งปันความยุติธรรมที่ก่อให้เกิดความเสมอภาคเพื่อศักดิ์ศรีของพวกเราทุกคน”