สัมภาษณ์พิเศษ :::: นายดุสิต นนทะนาคร "ถึงเวลา..ปฏิรูปประเทศไทย รัฐไม่ต้องสั่ง แต่เอกชนทำเอง"
“ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องทำ ไม่ใช่เพียงผมคนเดียว หรือหอการค้าที่ต้องทำ
แต่ต้องเป็นเราทั้งหมดที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้สำเร็จ”
“ไม่มีประเทศไหนในโลกหรอก ที่คนในชาติชอบทะเลาะกัน และประเทศจะเจริญเติบโต ฉะนั้น ต้องทุกคนต้องร่วมปรับปรุงพื้นฐานของประเทศให้มีความมั่นคง ผมไม่รู้ ว่าปฏิรูปประเทศไทย คืออะไร แต่วันนี้ ผม และภาคธุรกิจเอกชน พร้อมถอดชุดสูท ผูกไท กระโดดลงมาคลุกคลีกับประชาชนเต็มตัว”
คำพูดที่ฉะฉาน และชัดถ้อยชัดคํา ของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตัวพ่อ” แห่งวงการภาคธุรกิจและเอกชน มีความคิดสร้างสรรค์ และแตกต่าง กล้าหาญประกาศตัว พร้อมแล้วที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยสังคมไทย หลังเกิดวิกฤตร้ายแรง
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แบ่งปันเวลาเป็นเงินเป็นทองให้ “ทีมศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ได้มีโอกาสพูดคุย และนำมาถ่ายทอดให้เห็น หลักคิดง่ายๆ ทุกคน คือ ส่วนหนึ่งของสังคมไทย
- ตั้งโจทย์อย่างไรที่ภาคเอกชน กระโดด ลงมาร่วม ปฏิรูปประเทศไทย ในครั้งนี้
หากพูดถึงที่มา ทำไมถึงต้องมาคุยถึงเรื่องนี้กัน เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาก แต่เดิมหอกาค้าไทยคิดแต่เพียงว่า ต้องทำงานเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยมีสังคมเป็นส่วนประกอบ เพียงมีหน้าที่ทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนที่ไปได้ เพื่อช่วงชิงความเติบโต หากมีอะไรติดขัด ควรเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคอยชี้แนะรัฐบาล หรือทำอะไรที่สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปได้เท่านั้น
ช่วงหลังเดือนพฤษภาคม ชี้ชัดว่า การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ได้ หากสังคมยังแตกแยกกัน สังคมเป็นส่วนที่จะทำให้ประเทศชาติขับเคลื่อนไปได้ และหากประเทศชาติล่มสลายแล้ว ภาคธุรกิจและภาคเอกชนก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางภาคธุรกิจ จึงร่วมกันนั่งคิดว่า เรื่องเศรษฐกิจและสังคมต้องไปด้วยกัน จากเดิมที่คิดว่า เศรษฐกิจไม่เกี่ยว ก็คงเป็นไปไม่ได้ ต้องสร้างให้มีความเข้มแข็งควบคู่กันไป
- ที่ไปที่มา-จุดประกายความคิดให้มาทำงานครั้งนี้
เริ่มจากทางกรรมการของทางหอการค้าไทยได้มาพูดคุยในหมู่คณะกรรมการทั้งหมด ช่วยนั่งเรียบเรียงและมองสังคมร่วมกันว่า ในสังคมไทยมีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันบ้าง แล้วหาแนวทางแก้ไข
"ในช่วงเกิดเหตุการณ์รุนแรง เรายังคิดกันว่า ถือเป็นโชคดีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นเท่านี้ โชคดีที่เป็นเพียงไม่กี่ตึก ที่ถูกเผา ซึ่งหากครั้งนั้นเผาไปกว่า 20 ตึกจะเป็นอย่างไร สิ่งนี้ได้เริ่มเกิดจุดประกายทางความคิดของกรรมการ ผมจึงเชิญคณะกรรมการทั้งหมดของหอการค้าไทยมาเล่าให้ฟังว่า จากเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น พวกเราจะเลือกพัฒนาเพียงเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้แล้ว แต่ต้องเข้ามาช่วยดู มาแก้ไขปัญหาด้วย"
ต่อจากนั้น จึงร่วมกันเรียงลำดับ จนได้มาเป็น 4 ข้อหลัก คือ 1.เรื่องความแตกแยก เพราะหากไม่ร่วมกันหยุด สังคมก็จะร้าวลึก กลุ่มเสื้อแดงและกลุ่มเสื้อเหลืองก็ไม่มีทางแก้ไขกันเองได้ อนาคตก็จะยิ่งฝังรากลึกจนยากจะแก้ไข 2. เรื่องความเหลื่อมล้ำ ทุกคนรับรู้ว่าได้เป็นมานานแล้ว หากโชคร้ายเกิดมาจน ก็จะได้รับผลกระทบตลอด คนที่รวยก็ได้เปรียบ นี่คือ ความเหลื่อมล้ำที่เห็นชัดเจน และไม่เคยใส่ใจ จึงคุยกันว่า ถ้าความเหลื่อมล้ำเป็นเช่นนี้ ควรที่จะเลิก เพราะหากตราบใดที่ยังรู้สึกที่จะชื่นชมคนรวย ไม่สนใจคนจน คงไม่ได้แล้ว
เรื่องต่อไป ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองและเหตุการณ์รุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย ดังนั้น จึงเกิดเป็นข้อ 3 คือ ต้องกระตุ้นให้คนไทยมาเที่ยวประเทศไทย ใช้ของไทย
จนช่วงสุดท้ายของการประชุม ได้มีกรรมการท่านหนึ่งเสนอว่า แล้วเรื่องคอรัปชั่นล่ะ จึงร่วมกันวิเคราะห์อีกว่า เรื่องคอรัปชั่น คือ ต้นตอ หากทำข้อที่ 4 ได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สามารถไปแก้ทั้ง 3 ข้อไปได้เยอะแยะ ความแตกแยก ความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่มาจากความเหลื่อมล้ำ ก็มาจากคอรัปชั่น
- กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร
เมื่อได้มา 4 ข้อ ก็ร่วมกันคิดต่อถึงเวลาแล้ว หากภาคธุรกิจและภาคเอกชนไม่ลงมือ ก็จะไม่สามารถตอบโจทย์สำหรับผู้ที่มาอาสาทำงานในองค์กรที่เป็นเอกชน องค์กรธุรกิจ ที่เงินเดือนไม่ได้รับเพิ่มขึ้นและไม่มีเบี้ยประชุม แล้วมาทำเพื่ออะไร ถ้าไม่ทำเพื่อสังคม
การที่เริ่มจากคณะกรรมการในหอการค้าไทยก่อน หลังจากนั้นจึงนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งทุกคนเห็นด้วย งานนี้ภาคเอกชนต้องการยื่นเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ 4 ข้อ ไม่ใช่เป็นข้อเสนอที่จะให้รัฐต้องทำ แต่จะเป็นสิ่งที่เอกชนจะทำเอง
- มีการแบ่งคณะทำงานหรือไม่ และแบ่งอย่างไร
มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับแต่ละประเด็น ยุติความแตกแยก มอบให้คุณสมเกียรติ อนุราช รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ลงไปดูทุกจังหวัดในประเทศ กระจายไปทั่วประเทศว่าไปดูว่าอะไรเป็นปัญหาแต่ละจังหวัด ภายใต้การคิดที่ว่า 1.อะไรเป็นปัญหาในจังหวัดที่ทำให้เกิดความแตกแยก และ 2.อะไรที่หอการค้าจะช่วยได้ ไล่ดูความคิด แต่ละอำเภอ ถกจริงๆ ว่ามีปัญหาอย่างไร มีความคิดอย่างไร
ส่วน เรื่องความเหลื่อมล้ำ ดูว่ามาจาก 2 กรณี คือ ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับอุตสาหกรรม และ เกษตรกรรม โดยภาคอุตสาหกรรม คือ เรื่องแรงงานขั้นต่ำ ต้องทำให้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม มอบให้ นายคมสัน โอภาสสถาวร รองประธานกรรมการหอการค้าไทยที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน
อีกกลุ่มคือ เกษตรกร ดูว่าทรัพยากรเป็นอย่างไร เช่น เรื่องอ้อยและน้ำตาล ให้ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล เรื่องการกระตุ้นใช้ของไทย มอบให้คุณฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจอยู่ ก็เข้าไปดูแลจัดการ การเที่ยวไทย จะปรับอย่างไร
และเรื่องสุดท้าย ทุจริตคอรัปชั่น หากไปให้คนไทยดูแล เกรงว่า ลูบหน้าปะจมูก เพราะคนไทยมีโอกาสขี้โกงได้ การทำสิ่งนี้หากทำเอง ก็ให้ฝรั่งมาทำ คือ นายนันดอร์ แวน เดอ ลูร์ ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ที่ต้องลงไปดูตัวอย่างว่า ในเม็กซิโก ที่มีการโกง คอรัปชั่นมากมาย แล้วมีวิธีการจัดการอย่างไร แต่ตอนนี้สะอาด โปร่งใส หรือฮ่องกงที่ขี้โกงมาก ตำรวจฮ่องกงโกง แต่ตอนนี้เป็นประเทศที่สะอาดที่สุดในโลก ต้องไปดูว่าจัดการอย่างไร
"ทั้ง 4 ข้อ จะมีคนดูแลทั้งหมด 5 คน นอกจากนั้น ยังมีอีกแผนงานหนึ่งด้วย คือ ให้กรรมการคนหนึ่ง ดูแลคนละจังหวัด ซึ่งหากเมื่อสำเร็จแล้ว จะได้ไม่ต้องมีผู้ที่สนใจมาถามผมคนเดียว เพราะภาจะเบลอไป และดูแลไม่ได้ทั้งหมด เช่น หากมาถามเรื่องอุบลราชธานี ให้ไปถามคุณไพรัช บูรพชัยศรี กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย ,หากถามเรื่องขอนแก่น ให้มาถามกับผม หรือ จังหวัดสกลนคร ดูแลโดยคุณฉัตรชัย บุญรัตน์ ก็ต้องแบ่งกันไป"
- แล้วทุกอย่างที่คิดไว้ วางไว้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่
ไม่ได้วางกรอบแต่ละข้อไว้ ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะหากไปกำหนดว่า 3 ปีเสร็จ ก็ยังไม่รู้ว่าจะเสร็จได้จริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องให้คณะกรรมการแต่ละคณะลงไปดูก่อนว่า จะสามารถตอบปัญหาได้หรือไม่ คำตอบ 2 ข้อ ที่ต้องหาให้ได้ คือ 1.ตอบคำถามว่า อะไร คือ ปัญหา และจะแก้อย่างไร และ 2.แล้วหอการค้าไทยจะลงไปช่วยอย่างไร
- แสดงว่ามุ่งตั้งโจทย์ไว้ คล้ายทางคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ได้วางกรอบการทำงานเอาไว้ใช่หรือไม่
จะเป็นใคร จะชื่อว่า นายอานันท์ (ปันยารชุน),นพ.ประเวศ (วะสี) หรือว่านายดุสิต ก็ต้องมีโจทย์เพียงไม่กี่ข้อในการช่วยแก้ปัญหา
อย่างของนายดุสิต ของหอการค้าไทย มี 2 ข้อที่ต้องไปแก้ ชีวิตของคนเรามีเพียงเท่านี้ อย่าคิดฟุ้งซ่านหรือคิดไปมากกว่านี้ ต้องเริ่มจากการหาปัญหาให้ได้และมุ่งไปแก้ปัญหา เพราะหากไม่ได้ปัญหา สิ่งต่างๆก็หลงเข้าป่า ดังนั้น ต้องเจาะจงปัญหาเสียก่อนว่ามีอย่างไร เกิดขึ้นที่ไหน มองหาว่า วิธีการปัญหามีอย่างไร เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแล้วจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร มอบหมายแก่ให้คณะทำงานได้ทำ แล้วกลับมาคุยกัน
หากคุณสมเกียรติ ที่ดูแลเรื่องการยุติความแตกแยก ลงไปดูแล้ว กลับมาตอบคำถามผมว่าต้องใช้เวลา 10 ปี ผมก็ต้องบอกไปว่า นานเกินไป ไม่ต้องพูดคุยกันแล้ว หรือว่าหากทาง คุณนันดอร์ กลับมาให้คำตอบและพูดว่า อีก 3 เดือนก็ทำเสร็จ ผมก็คงบอกว่า เพ้อเจ้อ ทำไม่ได้หรอก เพราะเรื่องคอรัปชั่นบ้านเรา 10 ปีจะทำเสร็จหรือเปล่าไม่รู้ ซึ่งแต่ละคนต้องไปสร้างกรอบ ตั้งโจทย์ของเขาเอง ให้เป็นไปอย่างที่เป็นไปได้มากที่สุด
- เรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่สุด คือเรื่องอะไร
เรื่องคอรัปชั่น มีความคืบหน้าไปมาก เพราะมีการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง เลือกคณะกรรมการย่อยขึ้นมา และที่ให้ฝรั่งเพราะเชี่ยวชาญ มีความซื่อตรง และให้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ประเทศไทย ที่เป็นคนไทย เป็นหัวหลัก เชิญหลายๆท่านเข้ามา ร่วมทำงาน
หากถามว่าจะทำอย่างไร การทุจริตคอรัปชั่นจะหายไป ก็ยังไม่รู้ว่าทำอย่างไร จึงจะแก้ได้ แต่ตอนนี้รู้สาเหตุแล้วว่ามีการโกงกว่า 30 % แล้วประเทศจะอยู่ได้ไหม พยายามแก้ปัญหาให้ได้ พวกขี้โกงให้หมดจากประเทศไทย หากไม่เริ่มอีก 20 ปี เพิ่มเป็น 40-50 % ตอนนั้นประเทศคงย่อยยับหมด
- ความคืบหน้าของแต่ละคณะทำงาน
ยังไม่ได้มีความคืบหน้า เพราะแต่ละเรื่องต้องใช้เวลานาน อาจจะต้องใช้หลายปีในแต่ละเรื่อง โดยส่วนของข้อ 1.เรื่องความแตกแยก อาจจะช้าหน่อย เพราะต้องกระจายทำทั่วประเทศ ต้องศึกษาว่าต้นเหตุ และก็ดูว่าหอการค้าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร
ข้อ 2 ช่วยจัดการให้ความเหลื่อมล้ำนั้น ลดลงนั้น ต้องแก้ที่จุด ในข้อนี้ค่อนข้างชัดเจน ได้มีการใช้ขอนแก่นในการเริ่มให้มหาวิทยาลัยหอการค้า ส่งทีมอาจารย์ลงไปดูแลหมู่บ้านแต่ละจังหวัด ผลักดันให้ 1 ไร่นั้นได้ 1 แสนบาท เพื่อให้ชาวบ้านรวยขึ้น มีความสุขขึ้น เป็นโครงการเริ่มต้นที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
ส่วนข้อ 3 เรื่องไทยเที่ยวไทย ที่มี คุณฉัตรชัยเป็นประธาน รู้เรื่องตลาดพอสมควร ก็จะมอบไปว่าทางจังหวัดที่ได้รับผิดชอบไป ข้อที่ 4 เรื่องทุจริตคอรัปชั่น ขณะนี้กำลังวาดแนวทาง ตอนนี้ได้เข้าไปพูดคุยกับทาง ICAC ของทางประเทศฮ่องกงแล้ว ซึ่งผมมีความตั้งใจว่า เดือนพฤศจิกายน จะเดินทางไปที่ฮ่องกง เพื่อดูว่าทางประเทศทำอย่างไร ภายใต้กรอบที่วางไว้ นี่คือ ผลที่จะเกิดขึ้นภายใน 3-5 เดือน
- ทำไมต้องมุ่งแก้ปัญหาที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่แรก
จะเห็นชัดว่าภาคอีสาน ความเหลื่อมล้ำเยอะ รองลงมาคือภาคเหนือ แต่หากผมมานั่งแก้ในกรุงเทพฯ จะไม่ได้ประโยชน์เลย และมีเสื้อเหลืองเยอะ แต่หากเป็นทางอีสาน เสื้อแดงเยอะ ไปแก้ปัญหาที่จุดหลักของปัญหา ก็ไปแก้ที่นั่น หากไปทำแล้วเหลวก็ต้องยอมแพ้ ว่าเราไม่มีปัญญาไปทำให้ประเทศไทยดีขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาที่เป็นต้นตอ ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ที่อีสานกับเหนือ
- ขยายความ โครงการ 1 ไร่ 1 แสน เพื่อยกคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร
เริ่มจากส่งมหาวิทยาลัยลงไปในท้องถิ่น ศึกษาแต่ละพื้นที่ เพื่อจัดทำโครงการ 1 กรรมการ 1 จังหวัด เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเน้นให้ทำเกษตรพอเพียง ปลูกข้าว เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาด้วย เปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น
อย่าง ม.นเรศวร ก็เจาะจงไปที่พิษณุโลก สำรวจว่าทำอย่างไร และร่วมกับหอการค้าจังหวัด หากรรมการคนหนึ่งจากส่วนกลางดูแล หาผู้เชี่ยวชาญ หาชาวบ้านที่มีความต้องการจะปลูก เป็น 4 ฝ่าย วิธีการเช่นเดิม
มีโมเดลต้นแบบ การจัดการลดความเหลื่อมล้ำ หรือยัง
โครงการลดความเหลื่อมล้ำ เริ่มชัดเจนที่จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นโมเดลแรก ที่เน้นเรื่องการปลูกข้าว บนความรู้ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากผลที่ออกมาชัดเจน เป็นรูปธรรมขึ้น ก็จะเป็นต้นแบบของหอการค้าไทยที่ทำ และนำไปขยายผล สู่สมาชิกจังหวัด
หลังจากนั้น ก็ไปสร้างที่อุบลราชธานี สุรินทร์ สกลนคร และเรื่อยๆไป ในหลายๆจังหวัด ซึ่งอาจต่อยอดเป็นการเกิดตำราขึ้นมาว่า หากต้องการที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตจาก 1 ไร่ 5 พันบาท ไปเป็น 1 ไร่ 1 แสนบาทต้องมีวิธีการทำอย่างไร ในวิถีชีวิตอย่างไร หรือว่าจังหวัดใดสนใจอาจจะใช้มหาวิทยาลัยในจังหวัด หรือ เข้าไปเสนอวิทยาลัยตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่ามีโครงการดังนี้ ว่าหากคุณมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องเอาหมู่บ้านนี้ไปดู ตอนนี้เป็น 1 หมู่บ้าน 1 กรรมการต่อไปก็จะเป็น 1 หมู่บ้าน 1 บริษัท
หากสามารถทำอย่างนี้ได้จะเป็นประเทศที่น่าอยู่ ที่เป็นฝันที่วางไว้ จะทะเลาะกันทำไม พึ่งพากันไม่ดีกว่าเหรอ
- มุมมองการปฏิรูปประเทศไทยของคุณดุสิต
การปฏิรูป ผมไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร แต่เป็นสิ่งที่ผมกำลังจะทำ
ผมคิดว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ผมมีพลังที่จะช่วย โดยที่ไม่รู้ความหมาย แต่ผมคิดว่าภาคธุรกิจต้องมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลประเทศชาติเชื่อว่าทุกสิ่งที่ทำ คือ การปฏิรูป หากเรียกให้เพราะๆ สิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมดก็คือการปฏิรูปประเทศไทย
สมัยก่อน ผมไม่เคยคิดจะมาทำเรื่องนี้ เพราะคิดว่าธุระไม่ใช่ แต่วันนี้ผมถือว่าวันนี้ใช่ ผมจึงลงมาทำโครงการนี้ และไม่ว่าจะเป็นคุณอานันท์ หรือ หมอประเวศ ก็ต้องใช้หลักการนี้เป็นแกนในการคิด จะทำอย่างไรให้ประเทศชาติมีแกนที่ดีขึ้น จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาครั้งนี้ แต่ผมเป็นเพียงจุดเล็กๆ เชื่อว่าหากคิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ สักวันก็มาเจอผม สิ่งที่อยากทำให้ประสบความสำเร็จก็มาเจอผม และจุดเล็กๆที่ทำอยู่นี่ ก็จะเป็นจุดสำคัญของเขา เป็นคำตอบของกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 ชุดกำลังจะทำ
- มองการปฏิรูปประเทศไทยขณะนี้อย่างไร
เหมือนการนำ 30-40 หน่วยงานมาพูดความต้องการของชาวบ้านว่าต้องการอะไร จะต้องมาพัฒนาประเทศอย่างไร ดูแลเรื่องการศึกษา สังคม ออกมาเป็นข้อๆ และใครสามารถทำอะไรได้ สิ่งที่ดีขึ้นใน 5-10 ปีข้างหน้า จะทำอย่างไร มีเพียงถามๆๆ
แต่สำหรับผมได้ทำไปแล้ว หวังว่าสิ่งที่ทั้ง 2 กลุ่มทำ สิ่งที่เขาอยากได้คือ พวกผมที่เป็นนักธุรกิจที่ได้เปลี่ยนชีวิตมาแล้ว มาทำให้สังคม ทำให้ชาวนาดีขึ้น เป็นพลังจากฐานก็จะเกิดขึ้น แต่ผมมีฐานอยู่แล้ว มองเห็นทางออกไม่ต้องคิดใหม่ ทำอยู่แล้วประจวบเหมาะ และเร่งเครื่องต่อไปได้
- การได้รับแต่งตั้งเป็น 1 ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีแผนงานที่เพิ่มเติมอย่างไร และแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่หรือไม่
ผมไม่ต้องคณะกรรมการใหม่แล้ว เพราะที่ทำคือคำตอบ อีก 2-3 ปีข้างหน้า ผมก็รวบรวมในสิ่งที่ผมทำ คือ คำตอบ ส่งไปให้ถึงทุกคนที่ร่วมปฏิรูป สักวันต้องวิ่งขึ้นไปข้างบน สิ่งที่ผมคิดทั้งหลาย จะเจอผมตรงกลาง เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะประสบความสำเร็จ ผมเชื่อว่า หากทางคณะกรรมการปฏิรูปได้รู้ข้อมูลต้องตาโตแน่นอน เพราะงานไม่ต้องรออีก 6 เดือน แต่ภาคธุรกิจล่วงหน้าไปแล้ว และมีผลให้เห็นอย่างเห็นชัด อาจจะพูดว่า กลุ่มที่ 14 เสร็จแล้ว
"นี่ก็เป็นคำตอบของผม ที่อาจจะเพ้อเจ้อไปเองคนเดียว แต่นี่คือหลัก ผมคิดว่า แค่นี้ก็ทำเยอะแล้ว"
- ภาพฝันจริงๆ ประเทศไทยหลังปฏิรูป สายตาภาคเอกชน
ฝันของเอกชนที่อยากเห็นจริงๆ คือ อยากเห็นสังคมที่เอื้ออาทร สังคมที่คนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีคนเห็นแก่ตัว ไม่มีคนเอาเปรียบจากการคอรัปชั่น ในการที่จะสร้างปัญหาแก่คนอื่นเขา น่าอยู่อย่างยั่งยืน สถานที่ที่มีคนน่ารัก ไม่มีความขัดแย้ง พึ่งพากันได้
- แสดงว่าภาพลักษณ์ ขององค์กรธุรกิจที่ถูกมองว่าโกง จะหายไปใช่ไหม
แน่นอน เพราะเอกชนมีส่วนทำให้การโกงเกิดขึ้น หากถ้าเราปรับไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ต้องจ่าย คนโกงก็จะโกงยากขึ้น คนโกงก็จะไม่กล้าโกง เพราะคนที่พร้อมจะให้เงินก็มี ต้องจัดการ แต่คนที่เสียเปรียบ คือคนที่จ่ายภาษี
ดังนั้น เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยเหลือกัน สร้างบ้านเมืองให้น่าอยู่ ทำความแตกแยกให้หมดไป ทำความเหลื่อมล้ำให้ลดลง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องเกิดขึ้น หากคอรัปชั่นไม่มี ทุกคนได้ประโยชน์พอๆกัน ความเอื้ออาทรจะมีมากขึ้น