ปาฐกถาพิเศษ "การสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนท่ามกลางวิกฤต"
เนื่องในโอกาสวันนักข่าว 2553 TJA 55th Anniversary จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ "2 ผู้นำทางการเมืองและสังคม" ในประเด็น การสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนท่ามกลางวิกฤต
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 เวลา 19.15 น. ณ ห้อง Bangkok Convention Center ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษ "2 ผู้นำทางการเมืองและสังคม" ในประเด็น "การสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนท่ามกลางวิกฤต" เนื่องในโอกาสวันนักข่าว 2553 "TJA 55th Anniversary" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนทุกสาขาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับการก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยก่อนที่ได้กลายมาเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้มีการก่อตั้งสมาคมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2498 เพราะฉะนั้นปีนี้จึงถือว่าครบ 55 ปี ที่มีความสำคัญกับการดำรงบทบาทของภาคส่วนของสังคมที่ทำหน้าที่ในการนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา และการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและภาคอื่น ๆ ในสังคม ตรงนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยการทำงานของรัฐบาลซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำให้การบริการราชการแผ่นดิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความซื่อสัตย์สุจริต พร้อมกันนี้ยังได้แสดงความยินดีกับสื่อมวลชนที่ได้รับรางวัลและได้รับการยกย่องด้วย
"สิ่งสำคัญที่มีความท้าทายสังคมไทยเมื่อมองไปข้างหน้าโดยเฉพาะวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ว่า มี 2 วิกฤต คือ วิกฤตที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤตทางการเมืองภายในประเทศของเรา อย่างไรก็ตามปัจจุบันความวิตกกังวลที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมีการลดลงแล้วตามสมควร ซึ่งการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจดังกล่าวนั้น มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบแรกของรัฐบาล และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยเห็นได้จากตัวเลขที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการซึ่งล่าสุดยืนยันว่าเศรษฐกิจได้กลับมาขยายตัวเป็นบวก และตลอดทั้งปีที่ผ่านมาการติดลบก็ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี นอกจากนั้นเมื่อดูตัวเลขของการใช้จ่ายของประชาชน การลงทุนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน การใช้อัตรากำลังการผลิต และที่สำคัญคือภาวะการมีงานทำและราคาสินค้าการเกษตรนั้นทำให้มีความมั่นใจว่าการฟื้นตัวมีความแข็งแรง แม้ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 หรือมากกว่านั้น
การสร้างความเชื่อมั่นสืบเนื่องจากกรณีมาบตาพุดที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่า คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะกำหนดกรอบกติกาที่มีความชัดเจนในปัจจุบัน แม้จะยังไม่อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายก็ตาม แต่ตัวระเบียบที่มีอยู่ชัดเจนเพียงพอ และกระบวนการที่กำลังสรรหาองค์การอิสระเข้ามาทำหน้าที่จะเป็นคำตอบสำหรับทุกโครงการซึ่งขณะนี้สมัครใจที่จะเข้ามาร่วมในกระบวนการตามมาตรา 67 วรรค 2 ขณะเดียวกันก็มีความก้าวหน้าของการตรากฎหมายอยู่เป็นลำดับ"
สำหรับวิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะที่จะมีการชุมนุมใหญ่ในไม่กี่วันข้างหน้าในกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความเชื่อมั่นที่จะเกิดขึ้นได้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้เสริมหรือสร้างนั้น จะต้องทำอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ส่วนตัวสิ่งที่เป็นแนวทางที่ใช้ตลอดเวลาในเรื่องของการบริหารสถานการณ์เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและการเมือง ก็คือการให้ความจริง ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการคาดการชัดเจนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร พร้อมให้มีการเร่งจัดทำแผนให้เกิดความชัดเจนและให้ประชาชนรับทราบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะประกอบด้วยมาตรการอะไร และดำเนินการตามแผนดังกล่าวที่วางไว้ ในที่สุดก็ทำให้เกิดความชัดเจน ส่วนเรื่องการเมืองนั้น การที่จะทำให้บ้านเมืองของเราดำรงความสงบสุขได้เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้หลายสิ่งประกอบกัน ทั้งในเรื่องของเวลา ความอดทนอดกลั้น รวมถึงการที่จะต้องช่วยกันสร้างค่านิยมที่จะทำให้เราอยู่ภายใต้กติกาที่ยอมรับกันทุกฝ่ายและทำให้บ้านเมืองสามารถเดินไปข้างหน้าได้
"แม้ว่าวันนี้เราอาจจะวิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้านั้น ขอยืนยันว่าแนวทางของการที่พูดความจริง จะสามารถลบคำสบประมาทในแง่ของการดำรงอยู่ของรัฐบาลที่สามารถบริหารและผลักดันนโยบายต่าง ๆ ได้ ท่ามกลางภาวะวิกฤต ทั้งนี้ความจริงที่เราต้องยอมรับในวันนี้คือเราไม่ปกปิด ใครที่บอกว่าสังคมไทยจะสามารถทำให้คนที่มีความขัดแย้งให้กลับมาคิดเหมือนกันนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกลุ่มคนแต่ละกลุ่มวันนี้จากสังคมเศรษฐกิจการเมืองที่เติบโตและพัฒนาไปมีความหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือเลวร้าย เพียงแต่ต้องรู้จักที่จะปรับตัวในการที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้และภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่า ความจริง เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องให้กับประชาชนเพื่อปูทางไปสู่ความเชื่อมั่นต่อไป
ทั้งนี้เมื่อให้ความจริงกับประชาชนทั้งในเรื่องของสถานการณ์ สภาวะความเป็นจริง และแนวทางของรัฐบาลในการที่จะแก้ไขปัญหาแล้ว ก็จะต้องมีการแสวงหาความร่วมมืออยู่ตลอดเวลาจากประชาชนทุกกลุ่มเท่าที่จะทำได้ เพราะการบริหารที่เป็นสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตที่ยืดเยื้อแบ่งแยกสังคมมาเป็นเวลายาวนานเช่นนี้ ลำพังคนเพียงกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาได้ ซึ่ง 1 ปี ที่ผ่านมาที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศท่ามกลางความแตกแยกและขัดแย้งนั้น รัฐบาลได้ยึดหลักของกฎหมายความถูกต้อง และการเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง โดยได้อาศัยทั้งความอดทนอดกลั้น และความแน่วแน่ในการที่จะแก้ไขปัญหาตามแนวทางนี้"
นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำว่า สื่อมวลชนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการปรับเปลี่ยนประเทศ เพื่อที่จะรับปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งนี้เพราะข่าวสารคือหัวใจ ที่จะทำให้คนรับรู้ในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงร่วมกัน เพื่อที่จะเป็นตัวหลอมให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้างเพื่อนำพาบ้านเมืองไปข้างหน้า
"ผมพูดกับสื่อตั้งแต่ครั้งแรกที่มีโอกาสพูดกับสื่อในวันที่เข้ามารับตำแหน่งว่า ผมจะวิจารณ์สื่อ แต่ผมจะไม่แทรกไม่คุกคาม แต่ผมเรียกร้องและคิดว่ามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องจากสื่อ เท่ากับที่สื่อเรียกร้องจากผมตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไปที่เราจะมี ผมพยายามเปิดกว้าง พรุ่งนี้รายการเชื่อมันประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่จะบันทึกเทปก็จะเชิญคนซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างมาร่วมซักถาม เพื่อที่จะบอกว่าการสร้างความเชื่อมั่นตามแนวความคิดของผมนั้น คือการเปิดความจริงแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา ให้แต่ละฝ่ายมีส่วนร่วมและใช้สิทธิเสรีภาพ เคารพในความแตกต่าง และรู้ว่าความแตกต่างนั้นจะต้องมีกระบวนการที่หาข้อยุติด้วยวิธีใด ที่เหมาะสมกับการเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ได้เติบโตแล้ว
แนวทางดังกล่าวจะเป็นแนวทางที่จะได้ยึดถือต่อไป และมั่นใจว่าจะเป็นแนวทางเดียวที่จะสามารถฟันฝ่าปัญหาวิกฤตทั้งหลายได้ และนำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อไปในอนาคต จากวันนี้ไปทุกคนจะได้ร่วมกันทำงานบนความเคารพซึ่งกันและกันในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน เพื่อนำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุขและสร้างความผาสุกให้กับประชาชนคนไทยทุกคนต่อไป"
สำหรับการจัดงานดังกล่าวสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังได้จัดการประกวดข่าวรางวัล "อิศรา อมัตกุล" ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลแต่ละประเภท ประกอบด้วย 1. ประเภทข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น ของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ดับแผนขุดทรายให้สิงคโปร์ ปกป้องทรัพยากรมีค่าไทย จากหนังสือพิมพ์มติชน 2. ประเภทภาพข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศรา อมันตกุล ของมูลนิธิอิศรา ได้แก่ ภาพข่าว "ไล่ขวิด" ถ่ายภาพโดยนายไชยวัฒน์ สาดแย้ม จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ3.ประเภทข่าวยอดเยี่ยมรางวัลอิศร อมันตกุล ของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้แก่ เปิดโปงทุจริตพอเพียง ยับยั้งแผนรุมทึ้งไทยเข้มแข็ง สธ. จากหนังสือพิมพ์มติชน