เห็นควร-เห็นค้าน”กระทรวงน้ำ”ก่อนภัยมา
สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ "วิกฤติ" มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน จำนวน 4,213,404 ครัวเรือนมีผู้เสียชีวิต 67ราย สูญหายอีก3ราย และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสิ้น 1.42 ล้านล้านบาท และในอนาคตอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ประเทศไทยจะได้เจอกับสถานการณ์น้ำมาก และน้ำแล้ง อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งพิสูจน์ เรียกความมั่นใจคืนให้กับประชาชนให้มากที่สุด
สาเหตุหนึ่งของการเกิด "วิกฤติน้ำท่วม" คือมาตรการป้องกันและการบริหารจัดการที่ขาดความรัดกุม การแก้ปัญหาจึงเป็นเหมือนลิงแก้แห เมื่อแก้จุดหนึ่งก็จะกระทบอีกจุดหนึ่ง มีทั้งความขัดแย้งเรื่องของการบริหารจัดการและความขัดแย้งในพื้นที่ในคราวเดียวกัน
จนกระทั่งมีการโยนหินถามทางมาจากฝ่ายการเมืองที่จะเสนอแนวคิดตั้งกระทรวงน้ำ โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อนำหน่วยงานที่ดูแลน้ำทั้งหมดมารวบรวมแล้วบริหารจัดการร่วมกัน เพราะโครงสร้างปัจจุบันยังมีการกระจายบริหารจัดการน้ำที่ขาดเอกภาพ เช่น กรมชลประทาน อยู่ในความควบคุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำอยู่ความควบคุมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุตุนิยมวิทยาอยู่ในความควบคุมของกระทรวง เทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อระบบบริหารจัดการน้ำยังไม่เป็นเอกภาพ จนกลายเป็นข้ออ้างของการแก้ไขวิกฤตน้ำท่วมล้มเหลว จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังกับการตั้งกระทรวงน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำ ที่ไม่ใช่แก้ปัญหาการเมือง!
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ สภาพอากาศ และทรัพยากร อย่าง สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มองว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกระทรวงน้ำ เพราะเปลืองงบประมาณชาติ แต่ถ้าต้องการความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการก็สามารถจัดสรรให้หน่วยงานต่างๆเข้ามารวมไว้ด้วยกันในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แล้วควบคุมบริหารให้เหมือนกระทรวงน้ำก็สามารถทำได้ หรือไม่ถ้ารัฐบาลต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาจริง ก็ต้องขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอำนาจ เพราะต้องมีคนรับผิดชอบ และหากมีการตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาแล้ว นักการเมืองจะชื่นชอบ เนื่องจากมีตำแหน่งเพิ่ม
“ภัยธรรมชาติแก้ไขไม่ได้ แต่คนสามารถแก้ไขการบริหารจัดการได้ แต่ที่สำคัญทุกวันนี้ยังไม่มีใครสามารถบริหารจัดการธรรมชาติได้ อีกทั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่าแต่ละหน่วยงานยังแยกกันทำงาน เพราะอยากมีความเด่นทั้งที่การทำงานก็ใช้เครื่องมือเดียวกัน”
สมิทธ กล่าวว่า เรื่องความเป็นเอกภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้นคิดว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีที่ต้องใช้อำนาจให้ถูกต้อง ซึ่งการแต่งตั้งผู้ที่จะเข้ามาทำงานก็ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้สามารถเข้ามาทำงาน แต่ขณะนี้เห็นว่าไม่มีคนที่มีความรู้สามารถทำงานอยู่
ด้าน กิจจา ผลภาษี ประธานคณะอนุกรรมการวางระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (กยน.) กล่าวเรื่องนี้ว่า ถ้าตั้งกระทรวงน้ำแล้วสามารถรวมหน่วยงานทั้งหมดให้มาอยู่ที่เดียวกันและสามารถนำมาบริหารจัดการได้ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำได้ถูกแยกกระจายไปตามที่หน่วยงานต่างๆอยู่มาก อีกทั้งเมื่อถึงเวลาวิกฤตต่างคนก็ต่างทำ จึงส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ถ้ามองในประเด็นทางการเมืองที่จะเข้ามาแย่งชิงอำนาจนั้น คิดว่าจะทำให้ยิ่งแย่ลง จะไม่มีอะไรดีขึ้น
กิจจา บอกว่า เท่าที่ดูจากแผนงานของ กยน.วันนี้ คือการบริหารจัดการที่ไม่ได้ตั้งเป็นกระทรวงน้ำแต่เป็นในรูปแบบที่ตั้งเป็นหน่วยงานเป็นองค์กร ที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นเอกภาพ ซึ่งจะเป็นอีกทางออกหนึ่งโดยที่การเมืองไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือแทรกแซง
เสรี ศุภราทิตย์ กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตั้ง
กระทรวงน้ำ เพราะการมีกระทรวงน้ำขึ้นมาแล้วใช่ว่าการทำงานจะดีขึ้น ปัญหาจะจบลง แต่เราสามารถทำงานร่วมกันแบบบูรณาการกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายหน่วยงานต่างๆเข้ามารวมอยู่ที่กระทรวงเดียว ขอให้คิดเพียงแค่ว่าโครงสร้างที่มีอยู่ตอนนี้ทำอย่างไรจึงจะทำงานอย่างบูรณาการได้ และขอให้ทำงานอย่างจริงจัง เพราะตอนนี้การทำงานไม่ได้มีการคุยกันเลย ต่างคนต่างทำต่างมีอัตราการทำงานของตัวเอง
เสรี กล่าวว่า การแก้ปัญหาภัยพิบัติทางฝ่ายการเมืองจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพราะการตั้งคณะกรรมการต่างๆที่เข้ามาดูแลบริหารจัดการน้ำ นายกรัฐมนตรี ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดต้องเข้ามาเป็นประธานในการควบคุมดูแล เพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาการปฏิบัติงานตามอย่างเคร่งครัด ดังนั้นอยู่ที่ว่านายกฯจะลงมาเอาด้วยหรือไม่ ถ้านายกฯเอาด้วยปัญหาก็จะจบเพราะกระบวนการทุกอย่างจะเดินหน้า แต่ที่ผ่านมาเมื่อตรวจสอบแล้วปรากฎว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลับไม่มีใครทำปฏิบัติหน้าที่ตาม ดังนั้นความพร้อมจึงไม่มี
สุรจิต ชิรเวทย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา จ.สมุทรสงคราม มองว่า ที่ผ่านมาความรุนแรงของ ”อุทกภัย” มีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ยังบกพร่อง เพราะต่อให้ปริมาณน้ำมากจริง แต่ก็ไม่ควรที่จะท่วมรุนแรงขนาดนี้ โดยเริ่มจากผู้กำหนดนโยบาย การทำงานแบ่งระบบสายงานนี่คือปัญหาใหญ่ ถ้าคิดว่าการตั้งกระทรวงน้ำคือแนวคิดที่จะสามารถนำการบริหารจัดการน้ำมารวมไว้ที่เดียวคงจะง่ายขึ้น แต่ความจริงแล้วเรื่องจะซับซ้อน
“ถ้าเราดูระบบการทำงานในสังคมไทย คนไทยชอบคำถามง่ายๆที่มีคำถามเดียว มีพร้อมกับคำเฉลย มีคำตอบอยู่ในตัว เมื่อผมดูวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยจึงกังวลว่า ถ้านำการบริหารจัดการน้ำไปรวมอยู่กระทรวงเดียว จะกลายเป็นรวมทุกอย่างที่คอขวด โดยใช้อำนาจผ่านปลัดกระทรวง ไปยังรัฐมนตรีผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งจะเป็นผลสรุปของผู้บริหาร เช่น การเสนอความคิดแท่งเดียวจะส่งอันตรายในการดำเนินงาน ดังนั้นบทสรุปการทำงานทุกอย่างเรายังติดเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน ผลที่สุดแล้วไม่ว่าฝ่ายข้าราชการประจำมีความเป็นมืออาชีพสูงแค่ไหน แต่ในชีวิตจริงคือฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูกหมด ทั้งที่ระบบแท้จริงฝ่ายการเมืองจะสามารถล้วงได้คือแค่ปลัดกระทรวงเพียงคนเดียว เพราะปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าฝ่ายข้าราชการประจำ ดังนั้นการทำงานร่วมกันจึงไม่สามารถมีคำตอบเดียวได้”
สว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า คิดว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้อยู่ในเรื่องของการตั้งกระทรวงหรือไม่ตั้ง แต่เราต้องหาต้นสายปลายเหตุให้ได้ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดวิบัติได้มากขนาดนี้ และหลังวิกฤตการณ์ การจะฟื้นฟูจะทำอย่างไร ในเมื่อขณะนี้ความคิดยังไม่ตกผลึก บอกตามตรงว่า การทำงานของไทยยังขาดความเป็นเอกภาพ ถึงแม้รัฐบาลที่บริหารประเทศจะมีเสียงข้างมาก แต่ การทำงานเป็นทีมยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เรายังตกผลึกการทำงานไม่ได้ การทำงานส่วนใหญ่คิดการใหญ่ทั้งนั้น การแก้ไขจึงเกินขีดความสามารถของตนเอง
อีกซีกจากฝ่ายค้าน นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ประธานกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำ สำทับเช่นกันว่า ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกระทรวงน้ำ แต่คิดว่า “กระทรวงที่ดิน” น่าจะมีความจำเป็นมากกว่าเพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งที่ดินสูงมาก ส่วนปัญหาน้ำที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ ก็เพราะว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำอะไรอย่างจริงจัง ไม่มีแผนงานที่ชัดเจน เช่นถ้าพูดถึงเรื่องคณะกรรมการ 25 ลุ่มน้ำ ก็ยังไม่เห็นใครทำอะไรจริงจังเลยสักลุ่มน้ำ แม้แต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะให้ความสำคัญแต่ก็ยังเลือกพัฒนาเพียงแค่2ลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำปิงกับลุ่มน้ำชี และปล่อยลุ่มน้ำอื่นไม่ดูแล และเมื่อมาถึงรัฐบาลปัจจุบันที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำก็ยังไม่เห็นทำอะไรที่จริงจังเช่นกัน
ดังนั้นการบริหารน้ำอย่างเป็นระบบจึงจำเป็นต้องมี เพราะวิกฤตที่เกิดจากน้ำ ส่วนใหญ่มาจะเกิดจากการจัดโซนพื้นที่ การใช้ประโยชน์พื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ที่ควรเป็นที่รับน้ำก็กลับถูกสร้างเป็นชุมชนบ้านเรือน ส่วนพื้นที่สูง ควรสร้างเป็นโรงงานอุตสาหกรรมกลับทำเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร จะเห็นได้ว่าระบบผังเมืองมีความสำคัญมาก เมื่อผังเมืองมีปัญหา การใช้ระบบต่างๆก็จะมีปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่เช่นกัน เราจะเห็นว่าประเทศไทยมีการกระทำผิดกฎหมายลุกล้ำลำน้ำเยอะมากทำให้เสียระบบนิเวศและเรื่องของเส้นทางน้ำ
สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่จะให้มีกระทรวงน้ำหรือไม่จึงไม่สำคัญเท่ากับให้รัฐบาลมีแนวนโยบายที่ชัดเจนเรื่องน้ำว่าจะทำอย่างไรแล้วเริ่มดำเนินการอย่างไรเมื่อไหร่ "กระทรวงน้ำไม่สำคัญเท่ากับจัดระบบนิเวศใหม่" โดยเริ่มจากต้นน้ำคือป่า เราต้องมีพื้นที่ป่าเพียงพอ และต้องรู้ว่าป่าควรอยู่ตรงไหนบ้าง ปัจจุบันพื้นที่ป่าประเทศไทยลดลงเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจังหวัดไหนควรจะมีพื้นที่ป่าอย่างไรรัฐบาลต้องจัดให้ชัด เช่น พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ต้องส่งเสริมในการปลูกป่าให้มากขึ้น และที่สำคัญการปลูกป่าต้องให้เกิดความเป็นจริง สามารถ จับต้องได้มากที่สุด ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมาที่มีป่าเฉพาะเอกสารเบิกเงิน แต่ไม่มีป่าในพื้นที่จริง ประเทศไทยปลูกป่ามาร้อยกว่าปีแล้ว ถ้าปลูกจริงครบทุกต้นทุกไร่คงมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านที่พื้นที่ป่ารุกล้ำ
“แต่ถ้าแนวคิดการตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาด้านการเมืองนั้น ผมคิดว่าโครงสร้างการบริหารจัดการที่แต่ละหน่วยงานถูกกระจายอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่หลักและหน้าที่รอง ถือว่าเป็นโครงสร้างที่ยังสามารถใช้ได้อยู่ เพียงแต่ว่าต้องมีนโยบายจากรัฐบาลกลางสั่งการลงไป ไม่ใช่สั่งการกันสะเปะสะปะ และตามที่ผมเข้าใจ ผมคิดว่าคนที่เรียกร้องตั้งกระทรวงน่าจะมีปัญหาทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะความขัดแย้งเรื่องน้ำในพื้นที่ภาคกลางเป็นปัญหาความขัดแย้งที่สร้างปัญหาให้กับส.ส.ในพื้นที่มาก ดังนั้นแนวคิดการตั้งกระทรวงน้ำจึงไม่เกิดจากแนวคิดที่ต้องการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง แต่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง”
นริศเห็นว่า ปัญหาน้ำที่รัฐบาลแก้ไม่ได้เพราะนักการเมืองเข้าไปช่วยแก้ ไม่ฟังคนรู้จริงเรื่องน้ำ ไม่ฟังนักวิชาการ ทุกครั้งในการหารือ การวางแผน เสนอแนวคิด คนรู้จริงมักจะอยู่แถวสองแถวสาม แต่แถวหน้าที่เสนอ จะเป็นนักการเมืองทั้งหมด ดังนั้นการให้ตั้งกระทรวงน้ำ เป็นการให้นักการเมืองเข้ามาบริหารน้ำซึ่งไม่ถูกหลัก ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากเราไม่มีกระทรวงน้ำ แต่เกิดจากเราไม่มีนโยบายและแนวปฏิบัติจากรัฐบาลกลางที่ชัดเจน และเราไม่ฟังคนมีความรู้เรื่องน้ำ !