“อดิศร พวงชมภู” ทุนที่เรารู้จักไม่ได้มีแต่ 'ทุนสามานย์'
ระยะหลังมานี้ เรามักเห็นภาคเอกชนรวมตัวกัน เอาจริงเอาจังกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดั่งเช่นโครงการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ก่อนจะแยกยอดออกมาเป็นโครงการปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน ก็ล้วนมาจากแนวคิดของพ่อค้า ซึ่งอยู่ในหอการค้าไทยทั้งสิ้น
เห็นนักธุรกิจลงมาลุยโคลน คลุกฝุ่นเช่นนี้ เหมือนส่งสัญญาณว่า ช่องว่างระหว่างชนชั้น คนรวย คนจนกำลังแคบลง “อดิศร พวงชมภู” ประธานโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ยิ้มรับ ก่อนตอบคำถามว่า ของแบบนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ‘ทุน’ ที่เราพูดถึงทุกวันนี้มีทั้ง ‘ทุนคุณธรรม’ และ ‘ทุนสามานย์’ ส่วนที่ทุนสามานย์ถูกยกย่องมากกว่า ก็เพราะเรามั่วแต่ไปดูว่าเศรษฐีรวยอันดับหนึ่งของประเทศ ของโลกเป็นใคร
@ จากเจ้าของธุรกิจเสื้อยี่ห้อ แตงโม ทำไมถึงตัดสินใจลงมาทำนาปลูกข้าว ปลูกมันกับชาวไร่ชาวนาได้
คือผมเริ่มจากการมอง ‘ทุน’ และเข้าใจว่า มันทำลายเรา มันมุ่งแต่เรื่องเงินอย่างเดียว ยิ่งในโลกปัจจุบัน ถ้าเอาสามเหลี่ยมคนรวย คนจน ซึ่งเป็นสามเหลี่ยมฐานกว้างมาซ้อนทับกับสามเหลี่ยมของเงิน ที่เป็นสามเหลี่ยมหัวกลับ เราจะพบว่า คนเพียงหยิบมือมีเงินจำนวนมหาศาล และอันที่จริงมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร
สตีฟ จ๊อบส์ตายไป แต่ผู้ที่เดือดร้อน คือคนทั่วโลกที่ต้องซื้อสินค้า แม้ส่วนหนึ่งจะบอกว่าเป็นการสร้างงาน แต่เอาเข้าจริงดูดเงินมหาศาล สร้างงานนิดเดียว
@ แล้วทำไมถึงเจาะจงเลือกชาวนา
(ตอบทันที) มันก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนะ ถ้าดูว่าปัจจัยสี่ใครขาดแคลนมากที่สุด ตอนนี้ชาวนาใส่เสื้อโฆษณา เพราะไม่มีตังซื้อเสื้อ ชาวนาไม่ใช่คนแล้ว แต่เป็นป้ายโฆษณา ใครอยากขายของก็เอาชาวนามาเป็นป้ายโฆษณา ดังนั้นปัจจัยที่ 1 มันหายไปส่วนอาหารทุกวันนี้เขาก็กินความสะดวก กับข้าวถุงละ 6 บาท
อีกอย่างคน 26 ล้านคนที่อยู่ในภาคเกษตร คนที่อยู่กับดิน คือคนที่คุมถุงทองเอาไว้ แต่เขามองไม่เห็นและก็ไม่มีปัญญาที่จะเห็น เพราะไม่มีคนไปชี้ให้เขา มันก็เลยทำให้ผมมองว่า ในอนาคต พูดแบบเท่ห์นะ (ยิ้ม) ถ้าผมตายไปแล้วคนรุ่นลูกผมจะอยู่ยังไง นั่นคือความรู้สึกที่ไม่มีอะไรซับซ้อน
@ เราเอาความรู้ไปใส่ให้เขาอย่างไร
ผมใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการเปลี่ยนเขา ส่วนใหญ่จะตั้งคำถาม ทำไมชาวนาถึงจน เขาก็จะพูดเหตุผลต่างๆ นานาออกมา ผมก็จะไปแย้งว่า ไม่ใช่หรอก เป็นเพราะพ่อแม่สอนแล้วไม่จำ สมัยผมเด็กๆ เขาสืบทอดกันมาว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว วันนี้เหลือแต่ประโยคหลังอย่างเดียว
ส่วนคำว่าในน้ำมีปลา ที่มันมีนัยยะถึงเรื่องการลดโลกร้อน การทำให้น้ำสะอาด การไร้สารพิษ แต่เราทิ้งทุกอย่างพอพ่อค้าบอกว่าจะเอาข้าว เราอยากได้เงิน จนลืมคำสอนพ่อแม่
ส่วนสูตรสำเร็จที่โบราณให้ไว้ ‘10 กอล่า ไม่สู้ 5 กอต้นปี’ คือข้าว 10 กอที่ปลูกทีหลังมันแตกกอน้อย สู้ต้นปีที่ปลูก 5 กอไม่ได้เลย แต่เรากลับเอาภูมิปัญญาที่คิดค้นไปทิ้งหมด
(อืม) ผมถามชาวนาด้วยนะว่า ชาวนาสมัยนี้กับเมื่อ 10 ปีก่อน ใครฉลาดกว่ากัน บางคนยกมือบอกทันทีเมื่อก่อนฉลาดกว่า อ้าว..แปลว่าอะไร ยิ่งเกิดยิ่งโง่เหรอ พอผมถามตรงๆ เขาก็ฉุกคิด
แต่ก็มีนะ พวกคนวัยปัจจุบันที่บอกว่า ชาวนายุคนี้ฉลาดกว่า มีทั้งเทคโนโลยี ความสะดวกสบาย ผมเลยถามต่อไปว่า 30 ปีที่แล้วต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ ซื้ออาหารให้ควาย พวกที่อายุมากๆ ไม่กล้าเถียงลูกๆ ก็เริ่มผงาดแล้ว บอกไม่ต้องเตรียมเลย แต่วันนี้อย่างน้อยต้อง 300 บาท
อีกอย่างหนึ่งเมื่อก่อน ควายขี้เป็นปุ๋ย แต่เดี๋ยวนี้ขี้เป็นควัน เชื่อไหมว่าเรื่องเหล่านี้เขาไม่เคยมอง และจริงๆ แล้วนักวิชาการบ้านเราก็ไม่เคยมอง แต่ก็ว่าไม่ได้นะ เพราะมันเป็นมุมของพ่อค้า สายตาพ่อค้าจะเปรียบเทียบ หาข้อที่ดีที่สุด เพื่อจะได้ประโยชน์สูงสุด
ผมก็ค่อยๆ ชี้ไปทีละเปลาะ เหมือนกับโครงการทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน ตอนแรกถามว่าใครไม่เชื่อยกมือขึ้น ยกกันพรึบ แต่ตอนจบไม่เห็นมีสักมือเลย (ยิ้ม) เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเคยบอกไว้ หากใจเปิดกว้างรับความรู้ อวิชาก็หายไป ความไม่รู้ก็หายไป แต่ฐานะจะดีขึ้นหรือไม่ มันอยู่ที่ลงมือทำ
@ ที่ชาวนาเปิดใจ เพราะไปบอกเขาว่าทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน
คนส่วนใหญ่จะมองเรื่องเงิน แต่เงินเป็นแค่อุบายเท่านั้น
“ลำพู” ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยทำงานที่นวนคร ได้เงินเดือน 10,000 บาท แต่พอมาทำนาได้เดือนละ 40,000 บาท ทุกวันนี้ครอบครัวนี้ไม่ไปทำงานที่อื่นแล้ว อยู่กับบ้านมีที่ดิน 1 ไร่ก็สามารถทำนาได้ แล้วลักษณะแบบนี้จะทำให้ชนบทของเราดีขึ้น เพราะขณะนี้ครอบครัว "แหว่งกลาง" ในอีสานมีถึง 11%
ส่วนอีกคน “ลุงคำปัน” เขาบอกกับผมว่าทำนามา 50 ปีชีวิตต่ำต้อย เวลาไปติดต่อทางการเขียนว่า อาชีพทำนา รู้สึกอายมาก แต่หลังจากร่วมโครงการทำนา 1 ไร่ 1 แสน คนมาดูเยอะแยะ และยังเรียกเขาว่าอาจารย์ มันปลื้มใจมาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่เงิน แต่มีเรื่องศักดิ์ศรีอยู่ด้วย
@ พอเอาเงินเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างมันหาย
ใช่ เท่าที่ผมสรุปไว้นะมีประมาณ 7 ข้อคือ
1.มนุษย์ทุกคนเกิดมามีแรงงานอยู่ในตัว แรงที่ว่านี้ยิ่งใช้ยิ่งแข็งแรง ยิ่งใช้ยิ่งมาก แต่ว่าคนเรากลับหลงลืม ยกตัวอย่างชาวนา ทุกวันนี้มีแต่เอาเงินไปจ้างแรงคนอื่น ไม่เคยใช้แรงตนเองเลย ทั้งที่ธรรมชาติให้แท้ๆ
2.หายใจฆ่าเวลา ถ้าเอาแรงบวกกับเวลา มันจะเกิดเป็น ‘ประสบการณ์’
3.ความรู้ ลองสังเกตดู คนที่อยู่ในภาคเกษตรขณะนี้ ความรู้อยู่ข้างถุงปุ๋ย เขาบอกว่าใส่สูตรไหนก็เอาไปโรยตามนั้น นั่นเพราะแรงไม่ใช้ เวลาไม่ใช้ ความรู้ก็เลยไม่จำเป็นต้องแสวงหา ในที่สุดก็ขาด ทำไปเรื่อย เดาไปเรื่อย มันเลยอันตราย
4.ถ้าได้ลงมือทำทั้งหมด ก็จะเกิดประสบการณ์และปัญญาใหม่ขึ้นมา ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีความรู้เรื่องจักรยาน รู้เรื่องล้อ รู้เรื่องโซ่ เรียกว่ามีความรู้ แต่สุดท้ายถ้าเราขี่เป็น เขาถึงจะเรียกว่ามีปัญญาขี่จักรยาน
บางคนมีความรู้เยอะมาก (เน้นเสียง) แต่จะมีปัญญาหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมพบว่า ชาวนาไม่ได้มาถึงตรงนี้นะ เพราะจะไถ หว่านหรือเกี่ยวข้าว ก็ใช้เงินเป็นตัวหลัก ในที่สุดก็วิ่งตามหาว่าเงินอยู่ตรงไหน แต่ไม่มีความรู้พอที่จะสู้กับพ่อค้าอย่างผม (ชี้นิ้วเข้าหาตัวเอง) มันถึงได้จน
5.หลังจากมีปัญญา จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ เมื่อรู้ว่าดินมันแข็ง ใช้มือแล้วเจ็บ เขาก็คิดหาจอบหาเสียบขึ้นมา ซึ่งความคิดที่เกิดขึ้นก็จะสอดคล้องกับความต้องการในการทำเกษตร แต่ถ้าไม่ผ่านการคิดลักษณะดังกล่าว ต่อให้ทำนาได้กำไรนิดเดียว ก็จะหาทางไปซื้อรถไถ่ รถเกี่ยวสารพัด
6.ทุนทางสังคม ผมสังเกตว่าคนโบราณ ทำนาคนเดียว 10 ไร่พอเกี่ยวข้าวก็ต้องขอแรงลงแขก เกี่ยวข้าวจากเพื่อนบ้าน แต่ถ้าตนเองไม่เคยทำความดีไว้เลย อยู่อย่างโดดเดี่ยว ถึงเวลาเดือดร้อน ก็คงไม่มีใครมาช่วย ดังนั้น ทุนทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญ
และสุดท้าย 7.เงิน เป็นตัวที่เล็กมาก ผมบอกชาวนาว่า วันนี้อยากให้ผมทำเกษตรในที่ดินแปลงไหนชี้มาได้เลย ผมจะทำให้ดูโดยที่ไม่ต้องใช้เงิน
ค่าเช่านาที่สุพรรณบุรี ไร่ละ 1,500 บาท ผมจะขอเช่าในราคา 4,000 บาท ถามว่าใครจะไม่เอา ส่วนผมจะลงทุนปลูกผักบุ้งจีนแค่ 20 วันก็ขายได้แล้ว ลองคิดดูหนึ่งตารางเมตรละ 100 บาท 30 ตารางเมตรผมก็ได้ค่าเช่าแล้ว แต่อย่างว่าวิธีคิดเหล่านี้ มันไม่ได้อยู่กับชาวนา
@ แล้วอย่างนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ความรู้ด้วยหรือเปล่า
ความเหลื่อมล้ำมันเกิดจากการปัดคนออกจากชีวิตดั่งเดิมของเขา โดยเอาเงินเป็นตัวล่อ ตอกย้ำทุกวันว่าจะต้องมีมอเตอร์ไซค์ คนเลยยอมตัดส่วนหนึ่งของชีวิต นั่นคือ แปลงนา เพื่อไปเปลี่ยนเป็นมอเตอร์ไซค์ ส่วนความรู้ที่จะทำให้แปลงนามีความสมบูรณ์กลับไม่สนใจ เพราะชีวิตไปอยู่กับมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ โทรศัพท์ ถามว่าแปลงนาจะให้ผลผลิตสูงขึ้นไหม คำตอบคือ ไม่
อีกอย่างเวลาที่เราบอกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลแจกเงิน 2,000 บาท บริษัทต่างๆ ก็เข็นโปรโมชั่นออกมา เห็นไหมตัวที่เป็นแรงดูดอยู่ข้างบนมันดูดกลับทันที เงินไม่ได้ลงไปถึงแปลงนา เพราะฉะนั้นความแข็งแรงข้างล่างมันก็ไม่ฟื้น
@ สุดท้ายหลังน้ำท่วม ความช่วยเหลือส่วนใหญ่เทไปที่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตร ตรงนี้คิดเห็นอย่างไร
สิ่งเหล่านี้ก็ย้อนกลับไปที่สามเหลี่ยมนั่นแหละ
วิธีการที่ดี ก็คือวิธีการแบบโรบินฮูด คนรวยไม่รู้จะเอาเงินไปใช้อะไรแล้ว ถ้าจะเอามาเพิ่มให้กับคนข้างล่างก็จะมีประโยชน์มาก อีกอย่างเขาก็ไม่ได้เดือดร้อน อย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์แช่น้ำ เสียหาย 200 ล้านบาท 1,000 พันล้านบาทมันจะเป็นอะไร แต่บางคนผ่อนแค่ตู้เย็นยังต้องใช้เวลาถึง 2 ปี แล้วทำไมเราถึงจะต้องไปสนใจคนข้างบน
ถ้าเป็นผมจะสอนการใช้ชีวิตในภาวะน้ำท่วม สอนวิชาจับปลา จับกบ หรืออะไรที่พร้อมจะกินได้ในภาวะน้ำท่วม
อย่างตอนนี้เราก็กำลังทดลองทำแปลงนาสู้น้ำ ใช้ที่ดินประมาณ 2-3 ไร่ ที่พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ โดยจะออกแบบคันนาให้สูง 3 เมตร ถึงเวลาน้ำมา นาแห่งนี้จะสามารถเลี้ยงคนได้มากถึง 50 คนหรืออย่างน้อยต่ำสุด 16 คน เพราะในพื้นที่เลี้ยงปลาได้ 30,000 ตัว คันนาก็ปลูกพืชที่แข็งแรงยึดดินได้
ส่วนอีกฝั่งก็จะปลูกผัก ด้านล่างลงมาก็จะปลูกสมุนไพร ตรงกลางเป็นนา คูน้ำและมีบ้านเล็กๆ หลังหนึ่ง เมื่อน้ำมาชีวิตจะได้ไม่ต้องไปอยู่ศูนย์อพยพ ไม่ต้องเดือดร้อนกันทั้งประเทศเรื่องของบริจาค ที่แจกไม่ครบ
ผมว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องเอาเงินเป็นตัวตั้ง ถ้าในหมู่บ้านหนึ่งมีคน 100 หลังคาเรือน ทำสัก 50 แปลงก็อยู่กันได้แล้ว ไม่ต้องอพยพ และเอาจริงๆ คนที่อพยพส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรุงเทพ แถบอยุธยาคนที่อพยพก็มีแต่คนในตัวเมือง ชนบทเขาอยู่ของเขาได้อยู่แล้ว
@ แล้วถ้าจะทำอย่างที่คุณอดิศร ทำ ต้องปรับวิธีคิดอย่างไร
ผมทำงานแบบสำเร็จ ไม่ได้ทำวิจัย หากจะให้ผมทำวิจัยด้วยผมไม่ทำ เพราะชีวิตคนที่เขารออยู่ สำคัญกว่าที่คุณจะรู้ว่ามันเกิดจากอะไร
“จริงๆ แล้วมนุษย์เกิดมา ฟ้าดินไม่ได้สร้างใครมาเป็นยอดคน คนหนึ่งดูแลตัวเองดีและมีเวลาเหลือ ฟ้าดินก็ส่งครอบครัวมาให้ดูแล ดูแลตัวเองได้ดีแล้ว ดูแลครอบครัวดีแล้ว แล้วมีเวลาเหลือ ฟ้าดินก็ส่งประชาชนให้มาดูแล เพราะหน้าที่ดูแลประชาชนเป็นหน้าที่ของฟ้าดิน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะรวยที่สุด คือมีเวลาทำหน้าที่แทนฟ้าดิน”