นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ถอดประสบการณ์มอง "เรามีทางเลือกให้ผู้ประสบภัยน้อยเกินไป"
“มนุษย์มีดีและชั่วอยู่ในตัวเสมอ
ถ้าระบบดีจะทำให้พฤติกรรมฝ่ายดีแสดงออกได้ง่าย"
มหาอุทกภัยครั้งนี้ เปิดเผยให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อน ของสังคมไทยอย่างชัดเจน โดยมองมุมหนึ่ง คนไทยยังเปี่ยมล้นมีน้ำใจ ไม่ทอดทิ้งกัน แต่อีกมุมหนึ่งกลับยังเห็นภาพความโกลาหล แย่งชิง กักตุนสินค้า รวมตัวบุกพังคันกั้นน้ำ บิ๊กแบ็ค ซึ่งมีให้เห็นเป็นระยะๆ
สำหรับมุมมองของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ นักมานุษยวิทยา และผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เห็นต่างว่า พฤติกรรมการแสดงออกนั้นแยกไม่ได้จาก ‘โครงสร้างเชิงระบบ’ คนจะดีระบบต้องเอื้ออำนวย...
@ อะไรคือสิ่งที่คนไทยได้เรียนรู้จากมหาอุทกภัยครั้งนี้
(อืม) น้ำท่วมใหญ่ มันได้เปิดเผยให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของสังคมไทย จุดแข็งก็คือ เราได้เห็นการรวมตัวกันของชุมชน ที่แต่ก่อนอาจต่างคนต่างอยู่ อย่างเช่นตามหมู่บ้านจัดสรร คนไม่เคยพบปะพูดคุยกัน พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ก็มีการรวมตัวกัน เพื่อจัดการน้ำ จัดการความช่วยเหลือ รวมทั้งพยายามที่จะแก้ปัญหาของส่วนรวมร่วมกัน
แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ พื้นที่นอกกรุงเทพถูกจัดการแบบหนึ่ง พื้นที่ในกรุงเทพได้รับการดูแลอีกมาตรฐานหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการแย่งชิง การกักตุนต่างๆ
ผมคิดว่า พฤติกรรมการแสดงออกมันแยกออกจากสิ่งที่เราเรียกว่า ‘โครงสร้างเชิงระบบ’ ไม่ได้ หมายความว่า เราอาจเห็นว่า ทุกคนแก่งแย่งข้าวของ ถุงยังชีพ ซื้อสินค้าจนหมด ไม่เหลือให้คนอื่น แต่มันก็อาจง่ายไปที่จะไปวิจารณ์ว่า คนเหล่านี้เป็นพวกเห็นแก่ตัว
เช่นเดียวกับพวกที่ประกาศน้ำท่วมแล้วไม่ออกจากบ้าน ก็อาจจะง่ายไปที่จะไปว่าเขาเป็นพวกที่ห่วงทรัพย์สินมากกว่าห่วงชีวิต
ผมคิดว่าการวิจารณ์ลักษณะดังกล่าว เป็นการเด้งโทษไปยังพฤติกรรมของปัจเจกมากเกินไป เพราะพฤติกรรมการแสดงออกหรือจิตสำนึก สัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคม ซึ่งจะเป็นตัวเปิดโอกาสให้การเป็นมนุษย์ฝ่ายดี หรือความเป็นมนุษย์ฝ่ายร้ายนั้นแสดงออกมาได้พอๆ กัน
ฉะนั้น ถ้าเราจะพูดถึงจิตสำนึกใหม่ในสังคมไทย เราอาจจะต้องพูดถึงเรื่องโครงสร้างเชิงระบบควบคู่ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าระบบการแจกของบ้านเรามีหลักประกันชัดเจนว่า ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน คนที่ไม่มาคราวนี้ เนื่องจากติดธุระ แม่ป่วยหรืออะไรก็แล้ว เรามีระบบที่จะรู้ได้ว่า เขายังไม่ได้รับ และการันตีว่าเขาจะได้รับของๆ เขา ทุกคนก็จะมีความเชื่อมั่น เพราะในสภาวะขาดแคลน คนก็กลัวไม่มีกิน
(อืม) ผมว่า คราวนี้เราเห็นชัดเจนแล้วถึงจิตสำนึกของผู้คนทั้งด้านดี ดีมาก การช่วยเหลือกันแบบไม่เกี่ยงไม่งอน แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นปรากฏการณ์การแย้งชิงกัน ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ มันมีคุณภาพในเชิงโครงสร้างเป็นตัวกำหนดว่าพฤติกรรมแบบไหนจะแสดงออก
ดังนั้น ถ้าจะสร้างจิตสำนึกของสังคมไทยต่อไปในอนาคต ผมคิดว่าจำเป็นต้องสร้างระบบที่ 1. มีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ 2. มีความยุติธรรมเท่าเทียม 3. มีหน่วยงาน หรือช่องทางหลักในการรับผิดชอบ โดยที่ผู้คนสามารถสามารถสื่อสารกับเขาได้
หากไม่มี 3 สิ่งข้างต้นแล้ว คนมีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว
“มนุษย์มีคุณสมบัติทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วอยู่ในตัวเสมอ ถ้าระบบมันดีจะทำให้พฤติกรรมฝ่ายดีแสดงออกได้ง่าย ฉะนั้น ถ้าพูดในเรื่องจิตสำนึกในอนาคต เราจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของปัจเจกกับโครงสร้างเชิงระบบให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องระมัดระวังในการกล่าวโทษคนนั้นคนนี้ว่า มีศีลธรรมจรรยาที่ต่ำ โดยไม่ได้มองไปที่ระบบว่า เอื้ออำนวยให้คุณสมบัติด้านดีของมนุษย์แสดงออกได้มากหรือน้อยเพียงใด”
@ ความเห็นแก่ตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีทางเลือกให้กับผู้ประสบภัยน้อยเกินไปหรือไม่
ใช่ (ตอบทันที) เรามีทางเลือกน้อย เรียกว่า มีคำตอบสุดท้ายที่ถูกเพียง 2 ข้อแล้วให้คนเลือก
“มันเหมือนกับคนถูกขังอยู่ในห้องขนาดใหญ่แล้วมีประตูให้ออกเพียง 2 ประตู พอคนตะโกนว่า ไฟไหม้ ความโกลาหลก็เกิดนั่นเป็นเพราะคนมีความหลากหลายมาก (เน้นเสียง) ทั้งวิธีคิด อายุ ประสบการณ์ ทักษะ ภูมิปัญญาที่สะสมอยู่ในตัว รวมถึงความสัมพันธ์และเครือข่ายที่ตนมี ความแตกต่างเหล่านี้เมื่อมีทางเลือกแค่ 2 มันก็ปั่นป่วนมหาศาล”
แต่ถ้าสังคมมีทางเลือกที่มากขึ้น เขาก็สามารถเลือกใช้วิถีทาง วิธีการจัดการภัยคุกคามที่สอดคล้องกับศักยภาพของตนเองได้ ไม่ต้องเบียดเสียด ไม่ต้องการแก่งแย่งในทางออกที่มีอยู่จำกัด และต่อไปถ้าใครไม่เลือกตาม 2 ทางเลือกดังกล่าว เราก็จะได้ไม่ต้องไปตราหน้าเขาว่าดื้อ หรือไม่ฟังสั่ง (หัวเราะ)
อย่างกรณีศูนย์พักพิงเห็นได้ชัด พอชาวบ้านไม่ยอมปิดศูนย์ตามคำสั่งของทางการ ก็ถูกเรียกว่า คนตกค้างบ้าง พวกดื้อบ้าง แต่เอาเข้าจริง เมื่อไปดูศูนย์พักพิงเล็กๆ ตามวัด โรงเรียน เขากับช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่าที่ไปอยู่ในศูนย์พักพิงขนาดใหญ่...แต่ตรรกะของทางการในปัจจุบัน มันไม่ค่อยมีความหลากหลาย
@ อยากให้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปทำงานกับชุมชน
กรณีถุงยังชีพ เมื่อหน่วยงานส่วนกลางนำมาแจก กรรมการชุมชนก็จะจัดการนำเกลี่ยใหม่ โดยนำไปร่วมเข้ากับถุงยังชีพของผู้บริจาครายอื่น รอจนกว่าจะมีจำนวนครบทุกคนแล้วค่อยแจก แบบนี้ทุกคนก็สบายใจ สามารถแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกันได้ ต่างจากชุมชนที่ไม่มีอะไรอยู่เลย
ผมจึงคิดว่า สังคมส่วนร่วมหรือจิตสำนึกต่อส่วนรวมของผู้คน จะสัมพันธ์กับโครงสร้างองค์กร ชุมชนที่เขาทำงาน ที่เขามีชีวิตอยู่ด้วย ดังนั้น ในระยะยาวจำเป็นต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย ส่วนในระดับที่สูงกว่าชุมชนขึ้นไป ก็ต้องปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างเสมอเท่าเทียม
ไม่เช่นนั้นจะเชื้อเชิญความขัดแย้ง
เช่น คนกลุ่มหนึ่งต้องทนอยู่กับน้ำแรมเดือน ในขณะที่คนอีกกลุ่มได้รับการปกป้องอย่างดี ถามว่า คนที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะทนได้หรือ ดังนั้น เขาก็ต้องแสดงออก ปิดถนนบ้าง รื้อคันดินบ้าง
ส่วนคนที่เห็นเหตุการณ์ อาจบอกว่า คนที่รื้อคันเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่รักษาส่วนรวมหรือศูนย์กลางเศรษฐกิจ บางคนก็บอกว่า ถ้าน้ำท่วมกรุงเทพแล้ว คนกรุงจะไปช่วยพวกคุณ (ผู้ประสบภัย) ได้อย่างไร มันก็พูดกันไปทำนองนี้
ผมคิดว่าในเชิงโครงสร้าง และประสบการณ์ของผู้ประสบภัยที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเดือนๆ พอเห็นบางพื้นที่น้ำแห้ง หรือเห็นคลองที่อยู่ติดกับบ้านของเขาไม่มีน้ำเลย เขาก็ทนไม่ได้และรู้สึกว่า สังคมไม่เป็นธรรม ทำไมถูกปฏิบัติเช่นนี้ ในที่สุดก็กลายเป็นบ่อนทำลาย และเอาเข้าจริงๆ ความรู้สึกที่ว่า ตนถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่มีช่องทางให้ต่อสู้กลับไป มันก็เป็นเหตุผลเดียวกับการก่อการร้าย
@ เรื่องจิตสำนึกในช่วงภัยพิบัติของเรา มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นเสมอ
(อืม) ผมคิดว่าการเปรียบเทียบประเทศไทยกับญี่ปุ่นนั้น ก็มีเหตุผลที่จะนำไปเปรียบเทียบได้เหมือนกัน แต่มันก็ไม่มีเหตุผลที่จะบอกว่า เราต้องเป็นเหมือนญี่ปุ่นแบบนั้นแบบนี้
การอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมันก็ทุกข์หนักเหมือนกัน ผมเคยไปอยู่ญี่ปุ่นหกเดือน ได้เห็นชีวิตของคนญี่ปุ่นในหลายเรื่องก็เลยเข้าใจว่า ทำไมคนญี่ปุ่นชอบประเทศไทย เขาอาจบอกว่าประเทศไทยดี ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข รื่นรมย์บ้าง ไม่ยึดติดกับการแข่งขันจนเกินไป ดังนั้น สังคมไทยเองก็มีบางเรื่องที่สังคมอื่นเขาปรารถนา
แต่เมื่อพูดถึงเรื่องภัยพิบัติ แม้บ้านเราจะมี 'จุดอ่อน' อยู่พอสมควร แต่การที่จะให้บ้านเมืองเราเป็นเหมือนญี่ปุ่นให้ได้ ผมคิดว่าอาจจะละเลยบริบททางประวัติศาสตร์ ความเป็นสังคมไทยไปพอสมควร เพราะเรามีเรื่องที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาของเราเอง
ส่วนที่ผมคิดว่าเป็นจุดเด่นของญี่ปุ่นและเราสามารถเรียนรู้ได้บ้าง ก็คือการทำระบบให้เอื้อต่อการปรับพฤติกรรมของผู้คนไปสู่ความคิด การกระทำที่ประณีต พิถีพิถันในการใช้ชีวิต
ในประเทศญี่ปุ่นเน้นการอยู่ร่วมกันแบบเป็นกลุ่มก้อน แม้จะมีข้อด้อยตรงที่คุกคามชีวิตส่วนตัวของผู้อื่น เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ หรือระเบียบแบบแผนของกลุ่ม แต่เราก็เห็นศักยภาพในการทำงานเป็นกลุ่ม การอยู่ร่วมกันในชุมชน มีสมาคมต่างๆ จำนวนมาก
การมีชีวิตแบบร่วมหมู่ มันทำให้ผู้คนมีความประณีตขึ้น เพราะว่า สายตาคนอื่นจะจับจ้องการกระทำของเรา เช่น ญี่ป่นใช้ถุงใสเป็นถุงขยะ เพื่อให้คนคัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะเปียก ขยะแห้งออกจากกัน หากใครใส่ทุกอย่างลงในถุงเดียว ไม่ยอมแยกก็จะถูกเพ่งโทษได้ สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ถูกหล่อหลอมมาจากระบบที่เขาสร้างขึ้น และระบบดังกล่าวก็เข้ามากำกับให้ผู้คนมีความประณีต ไม่มักง่ายกับสิ่งที่ตนทำอยู่
ผมคิดว่า สังคมไทยจะต้องปรับสมดุล เพราะเราคุ้นชินกับคำว่า “ทำอะไรตามใจ ถือเป็นไทยแท้”
จึงอยากฝากทุกคน แม้ภัยพิบัติครั้งนี้จะทำลายถนนหนทาง โครงสร้างทางกายภาพต่างๆ แต่สิ่งที่ภัยพิบัติไม่สามารถทำลายได้คือ
1.หัวใจที่ไม่ยอมแพ้ของผู้คน แม้จะเห็นบางคนดราม่าต่อหน้าโทรทัศน์ว่า โอ๊ย...ชีวิตหมดแล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่ผมพอเจอ เขาไม่ค่อยยอมแพ้กันนะ อาจเป็นเพราะว่าขอบเขตของภัยพิบัติมันกว้างขวาง มีคนร่วมอยู่ในความทุกข์แบบเดียวกันเยอะมาก คนก็จะมีความรู้สึกว่า ร่วมทุกข์กันทั้งแผ่นดิน หัวใจมันเลยไม่ท้อแท้ง่ายๆ
2. ภูมิปัญญาของผู้คน ผมเข้าไปในชุมชนเห็น ความพยายามในการแสวงหาวิธีอยู่ร่วมกับน้ำ วิธีการรับมือกับสถานการณ์ยากลำบาก ด้วยการประดิษฐ์ คิดค้น ปรับตัว ไม่ใช่งอมืองอเท้า นำภูมิปัญญา สติปัญญามาใช้เพื่อกอบกู้ชีวิตของตนเอง
3. เครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คน เราจะเห็นว่าคนในพื้นที่น้ำท่วม มีเครือข่ายชุมชนที่เคยร่วมกันต่อสู้ในเรื่องต่างๆ เข้ามาให้การช่วยเหลือ เหมือนกับพอรู้ว่าเพื่อนๆ ติดน้ำท่วมก็นำอาหารมาให้ คอยช่วยเหลือ
“ในยามภัยพิบัติเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ เยื่อใย ความสัมพันธ์และมิตรภาพกับผู้คนถือเป็นบุญ ถ้าเรามีมันอยู่ ดังนั้น หากสังคมไทยจะเข็มแข็งต่อไปได้ จะละเลยมิติการสร้างเครือข่ายของผู้คนไม่ได้ เพราะความช่วยเหลือของรัฐไปถึงทุกแห่งเสมอ"
@ สุดท้าย บทบาทผู้นำ สำคัญมากน้อยแค่ไหน ในช่วงภัยพิบัติ
ไม่มีสถานการณ์ไหนแล้ว ที่บทบาทของผู้นำจะสำคัญเท่านี้ (เน้นเสียง)
ผู้นำต้องมีคุณภาพ มีศักยภาพ มีความสามารถในการสื่อสารที่ดี หรือมีบารมีที่ผู้คนจะให้ความไว้ใจได้ว่า เขาจะไม่เล่นพรรคเล่นพวก จะปฏิบัติและเอาใจใส่ทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะถ้าผู้ถูกดูแลมีความมั่นใจในตัวผู้นำ สถานการณ์ก็จะเบาบางลง ในทางกลับกัน หากผู้นำไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ สถานการณ์จะยิ่งปะทุเร็วขึ้น
ผมอยากจะสรุปคุณสมบัติของผู้นำ ที่จะสร้างความไว้ใจให้กับผู้คนไว้สัก 4 ข้อ คือ
1.ผู้นำต้องมีความรับผิดชอบ (commitment) ต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่า จะรับผิดชอบเต็มที่ เพราะคนที่กำลังเผชิญกับปัญหา อย่างน้อยจิตใจจะได้มีหลักประกัน แต่ถ้าผู้นำกรรเชียงหนีไปเรื่อยๆ คนก็ยิ่งไม่มั่นใจ
2. ต้องการมีความสามารถในการตัดสินใจที่ดี มีวิธีจัดการกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่สำคัญเพื่อใช้ในการตัดสินใจได้ เพราะหากตัดสินใจผิด สื่อสารผิด ก็อย่างที่เราเห็น โกลาหลไปทั่ว
3.ต้องการทิศทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา เพราะขอบเขตของปัญหาครั้งนี้มันกว้างขวางมาก มีผู้ประสบภัยตั้งแต่บ้านหลังละร้อยล้าน สิบล้าน ไปจนกระทั่งสลัม มีพื้นที่ประสบภัยทั้งพื้นที่เกษตร พื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง นิคมอุตสาหกรรม
สถานการณ์เช่นนี้จึงต้องการทิศทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา การประสานภาพรวมที่สอดรับกันของทุกส่วน รวมทั้งการหาผู้ตัดสินใจและรับผิดชอบในระดับพื้นที่ เพราะสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
การตัดสินใจแบบรวมศูนย์อย่างเดียวไม่ตอบ เพราะศิลปะและกระบวนการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างแท้จริงนั้น บางเรื่องต้องตัดสินใจแบบรวมศูนย์ ขณะที่บางเรื่องต้องให้ระดับปฏิบัติการณ์เป็นผู้ตัดสินใจ
4.การสื่อสาร ถ้าเราดูจากปฏิบัติการณ์กู้ภัยพิบัติทั่วโลก ระบบสื่อสารสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ทุกการเปลี่ยนแปลงได้รับการแจ้ง ได้รับการประสานติดต่อและการตัดสินใจ แต่ที่ผ่านมาระบบของบ้านเรามีข้อจำกัด กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ แยกกันเป็นแท่งๆ แบ่งเป็นท่อนๆ ไม่ประสานกันเท่าที่ควร ระบบส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นก็ไม่ประสานกันเท่าที่ควร เรื่องดังกล่าวถือเป็นปัญหาใหญ่