‘ยุค ศรีอาริยะ’ ถึงเวลาต้องยอมรับ "วิกฤตสิ่งแวดล้อมรุนแรงกว่าภัยก่อการร้าย"
"วิกฤติทางธรรมชาติมันรุนแรงกว่าภัยอื่นๆ แม้กระทั่งภัยผู้ก่อการร้าย
เดี๋ยวนี้แม้แต่อเมริกาเขายังหันมายอมรับความจริงข้อนี้กันเลย"
สถานการณ์น้ำท่วมในบ้านเราขณะนี้ สร้างความเสียหายมหาศาล เดือดร้อนกันทุกข์หย่อมหญ้า อีกทั้งความกังวลต่างๆ นานายิ่งทวีคูณ หลังพื้นที่หลายจังหวัดกลายสภาพเป็น ‘นครใต้บาดาล’ สมบูรณ์แบบ
หรือนี่ ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับกันแล้วว่า วิกฤติทางธรรมชาติรุนแรงกว่าภัยอื่นๆ แม้กระทั่งภัยผู้ก่อการร้าย
“ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ” เจ้าของนามปาก ‘ยุค ศรีอาริยะ’ นักคิด นักวิชาการอิสระ มีมุมมองสั้นๆ ต่อวิกฤตน้ำท่วม พร้อมแนวทางแก้ปัญหาสถานการณ์กลียุค (Chaos) สำหรับท่านผู้นำ
@ อาจารย์มองภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้อย่างไร
จริงๆ แล้วเรื่องธรรมชาติเป็นเรื่องยาวนาน แต่เราเองไม่มีใครสนใจ มีนักวิชาการที่สนใจน้อย นักการเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่เคยติดตาม สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่สะสมกันมา
อีกอย่างหนึ่งคือ เราทำลายล้างธรรมชาติกันมาอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ จริงๆ ก็มีสัญญาณมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ว่ามีคนสนใจน้อยมาก (ลากเสียง)
จากที่ผมศึกษาโลกพบว่า ปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤติแล้งครั้งใหญ่ในหลายจุด ไล่ตั้งแต่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีนตอนใต้เกือบทั้งหมด ขึ้นไปถึงรัสเซีย แอฟริกา จนกระทั่งตอนนี้แอฟริกายังมีปัญหาเรื่องอาหารขาดแคลนอยู่เลย ส่วนประเทศไทยนั้นก็เจอด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดปกติขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า ปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ลานินญ่า แล้งและน้ำท่วมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งผมไปศึกษาดูปรากฏว่า สมัยก่อนปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น 3-4 ปีครั้ง แต่ปัจจุบันเกิดถี่ขึ้น ประมาณปีละครั้งได้
ปีที่แล้วบ้านเรายังเจอภัยแล้ง แต่พอปีนี้กลับเจอน้ำท่วมใหญ่แบบที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะหนักขนาดนี้ มันพลิกผันไปอย่างนี้ แล้วถามว่า ปีถัดไปเราจะทำอย่างไร หลังจากน้ำท่วมใหญ่แล้ว บางจุดอาจเกิดภัยแล้งขึ้นเราจะทำอย่างไร
เรื่องเหล่านี้ต้องเตรียมคิด ประเมินให้ดีว่า ปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ลานินญ่าจะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจ การเมืองหนักหน่วงแค่ไหน
“ถึงเวลาต้องยอมรับกันแล้วว่า วิกฤติทางธรรมชาติมันรุนแรงกว่าภัยอื่นๆ แม้กระทั่งภัยผู้ก่อการร้าย เพราะเดี๋ยวนี้แม้แต่อเมริกาเขายังหันมายอมรับความจริงข้อนี้กันเลย ดังนั้น บ้านเราก็ต้องคิดวางแผนกันอย่างเป็นระบบ เพราะตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเราไม่เคยมีแผนป้องกันการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ เราคิดว่าทรัพยากรเป็น ‘ทรัพย์’ ใครอยากรวยก็ไปตัดไม้ขาย เอาไม้มาสร้างอารยธรรมสร้างเมืองให้กับมนุษย์
พอเข้าสู่ยุควิกฤติสิ่งแวดล้อม เราก็ยังมองว่า วิกฤติสิ่งแวดล้อมเป็นวิกฤติที่จัดการได้
เราเชื่อแบบนั้นจริงๆ เพราะสถาบันการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม มักจะพูดถึงวิธีควบคุมดูแล มองธรรมชาติเหมือนเป็นสิ่งไร้ชีวิต เอาอันนี้ไปวางไว้ตรงนั้น เอาอันนั้นไปวางไว้ตรงนี้ พอน้ำท่วมทีก็จะไปขุดเขื่อนเพิ่ม จัดการไปหมด เอาเข้าจริงแม้แต่การการประชุมในเวทีระดับโลก เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังพบว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่ซีเรียสมากนัก ทำเหมือนกับว่า ความร้อนของโลกนั้นคุมได้ หรือต่อให้อีก 10 ปีค่อยไปคุมก็ยังสามารถทำได้
นี่เป็นวิธีคิดของมนุษย์ โดยลืมว่าธรรมชาติมันมีภาวะที่เหนือกว่าความสามารถในการควบคุม ดูแลหรือจัดการ ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ แต่เราไม่เคยยอมรับความจริงข้อนี้ ทำให้ทุกอย่างเลย "เลอะเทอะ" ไปหมด สร้างเมืองโดยไม่แคร์ สร้างถนนก็ตัดซ้ายตัดขวา จนกลายเป็นกำแพงกั้นน้ำในที่สุด
อีกอย่างเวลาน้ำมา เราก็ไปกั้นกันแถวๆ นครสวรรค์ อะไรแถวนั้น เพื่อไม่ให้มันเข้ากรุงเทพฯ จังหวัดนั้นๆ ก็รับกรรมกันไป แต่ว่าเรานึกสั้นไง เอ้า...เสร็จแล้วก็ปล่อยแล้วคิดว่า เรื่องมันจบ
แต่ไอ้เขื่อนที่กรุงเทพฯ สำหรับกั้นน้ำนั้นกลับสร้างไว้สูงแค่นิดเดียว เห็นไหมว่า ถ้าเราประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ เราก็จะทำให้เขื่อนให้มันสูงกว่านี้ รวมถึงมีทางระบายน้ำออกทะเลได้อย่างง่ายดาย แต่ทีนี้พอเราไปทำเขื่อนกรุงเทพฯ ไว้ต่ำก็เลยกลายเป็นที่กักน้ำไปเลย
@ เราจะแก้วิกฤตเฉพาะหน้าในขณะนี้กันได้อย่างไร
ส่วนหนึ่งก็ต้องเรียนรู้วิธีการจัดการ อย่าให้กลียุค (chaos) เพราะเรื่องบางเรื่องมีความสับสนวุ่นวาย (chaotic) สูง ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้นำ (Leadership) ไม่เข้าใจในเรื่องของการใช้สื่อ
อีกทั้งเมื่อสื่อมีหลายสื่อเหลือเกิน ตอนนี้ข่าวลือเรื่องน้ำท่วมจะมาทางนั้นทางนี้เลยเยอะไปหมด (ถอนหายใจ)
ผมคิดว่า Leadership ต้องมีสื่อหลักของตัวเองที่ให้ชาวบ้านเชื่อมั่นได้ว่า เออ..มันแค่นี้นะ สามารดูแลได้ รวมถึงน้ำจะมาตรงพื้นที่ไหนบ้าง
“บทบาทของผู้นำตรงนี้สำคัญอย่างมาก ผู้นำต้องสามารถควบคุม มีความรู้และสามารถเป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้ เพราะข่าวลือทั้งหลายทำให้คนตกใจ จนต้องไปกวาดซื้อของเต็มไปหมด กักตุนกันบ้าบอคอแตก มันป่วนไปหมด นี่เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นขบวนการ Leadership ที่สะท้อนว่า เวลาที่บ้านมีวิกฤตการณ์อะไรขึ้น เราคิดไม่เป็น ดูแลไม่เป็นกัน”
ผมว่าคงต้องแก้ความสับสนก่อน สื่อสารกับกลุ่มคนให้ดี ใครทำอะไร กักน้ำไว้เช่นนี้จะให้เหตุผลกับประชาชนอย่างไร เพราะถ้าไม่มีกระบวนการจัดการที่ดีจะยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่
@ แล้วสำหรับแนวทางระยะยาวมีไหม
ระยะยาวก็ต้องกำหนดแผน (set plan) ใหม่ทั้งหมด แต่แผนที่ว่า ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่ภาครัฐทุ่มเงินเป็นหมื่นๆล้านแล้วเอาไปคอร์รัปชั่นกัน
วิธีการแก้ปัญหาที่ดีต้องให้ชุมชน ซึ่งมีความเข้าใจในปัญหาของตนเองเข้ามาร่วมคิด หรือที่เรียกว่าต้องมี Small plan เพราะมุมมองของชุมชนนั้นเขาจะเห็นภาพจริงๆ ว่า หมู่บ้านเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องมี Big plan ซึ่งต้องทำงานร่วมกันทั้งสองระดับ
“ในเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมนั้นต้องให้ชุมชน ให้ประชาชนมีบทบาท เวลาเกิดวิกฤตจะทำอย่างไร ขณะที่แต่ละชุมชนก็ต้องมีผู้นำของเขาเองด้วย เพราะผู้นำต้องมีอยู่ในทุกระดับ”
@ อาจารย์มองเรื่องการอยู่รวมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างไร ในขณะนี้ที่เราพยายามต่อสู่กับมวลน้ำ
ผมว่าเราคงต้องเริ่ม "รื้อ" กันที่หลักคิด
นักสิ่งแวดล้อมต้องรื้อความคิดที่มองว่าธรรมชาติเป็นทรัพย์ หรือสิ่งของทิ้ง เปลี่ยนไปรักและเคารพธรรมชาติ
หลักคิดอันนี้สำคัญมากนะ (เสียงเน้นย้ำ) ธรรมชาติไม่ได้แยกจากตัวเรา น้ำนั้นก็เป็นแม่ที่ให้กำเนิด ฉะนั้น เราคงต้องศึกษาว่า น้ำมีเส้นทางอย่างไร เพราะเส้นทางที่น้ำเดินทางผ่านทั้งหมดจะต้องถูกรักษา ป่าไม้จะถูกตัดทำลายไม่ได้ เพราะน้ำกับป่านั้นอยู่ด้วยกัน ป่าเป็นแหล่งอุ้มน้ำ
ดังนั้น เราก็คงต้องหาทางรื้อฟื้นสิ่งที่ถูกทำลายกลับคืนมา ส่วนในเรื่องเส้นทางน้ำนั้น ขณะนี้เราพยายามแก้กันจนซะไม่รู้ว่า น้ำมันไหลกันไปยังไง ยกปัญหาโน้นมา แล้วไปทำตรงนั้นตรงนี้ เสริมกัน แก้ไขปัญหากัน จนยุ่งยากพอสมควร เราคงต้องไปวิเคราะห์เส้นทางน้ำเดิมทั้งหมด และปลูกป่าเสริมอย่างจริงจัง
แต่ประเทศนี้เราไม่เคยจริงจังกับอะไร ปลูกป่าทีก็ทำเหมือนกับว่ามีในหลวงสั่ง เอาหน้ากันไป ปลูกแล้วก็ปล่อยทิ้ง ไม่จริงจัง
@ อาจารย์บอกให้ปลูกป่า แต่พอน้ำท่วมทีไร ก็มีเสียงเรียกร้องให้สร้างเขื่อน
(อืม) ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า เวลาสร้างเขื่อนจะต้องมีการเจาะถนนเข้าไป ซึ่งนั่นหมายความว่า เราต้องตัดไม้ทำลายป่า นี่เป็นปัญหาหนึ่งของเขื่อน เท่านั้นยังไม่พอยังมีปัญหาตามมา อย่างเช่นกรณีเขื่อนภูมิพล เขื่อนกักน้ำไว้มาก แต่พอมีข่าวแผ่นดินไหวก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำลงมา ยิ่งเท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมวิกฤตน้ำท่วมเข้าไปอีก ยุ่งกันไปมากขึ้น
หลายๆ เขื่อน เพิ่มขึ้นๆ ต้องเริ่มคิดพิจารณา เพราะในต่างประเทศเขาเริ่มเห็นกันแล้วว่า ที่เก็บกักน้ำที่ดีที่สุดคือ ป่าธรรมชาติ ไม่ใช่เขื่อน
@ มีประเทศใดบ้างไหมที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ และในปีถัดไปสามารถปรับตัวรับมือ หรือแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
ผมคิดว่า ตรงนี้เราคงต้องไปศึกษาเรียนรู้ อย่างเช่นญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เกิดวิกฤตทางธรรมชาติอย่างมาก แต่เขาก็เป็นประเทศที่ปลูกป่า มีพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลเลย เพราะว่าเมื่อเจอวิกฤตธรรมชาติมาตลอดก็เลยเล็งเห็นว่า การรักษาธรรมชาติเป็นเรื่องใหญ่ แต่บ้านเรายังไม่ค่อยรู้สึกว่า สิ่งที่ธรรมชาติให้เรานั้นมีค่า
ดังนั้น เราคงต้องไปเปลี่ยนปรัชญาของคนกันใหม่ว่า เรากับธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งระบบคิด รวมถึงการเรียนการสอนในโรงเรียนนั้น ก็ต้องช่วยเปลี่ยนจิตสำนึกของผู้คนด้วย
ขณะเดียวกันเราต้องอย่าไปเชื่อว่า จะเอาชนะธรรมชาติได้ เพราะถ้าเชื่อเช่นนั้นก็จะคิดแต่สร้างเมือง สายน้ำบางสาย คลองบางคลองที่มีก็โถมทิ้ง สร้างตึกขึ้นมาแทน ซึ่งมันวุ่นวายมาก
@ แล้วถ้าทางน้ำในปัจจุบันถูกปิด หรือมีสิ่งกีดขวางอยู่ เราจะบริหารจัดการอย่างไร
ผมว่าไอเดียคลองสมัยก่อนน่าสนใจมาก สมัยก่อนอยุธยาน้ำท่วมตลอดเวลา เขาก็ใช้วิธีการสร้างคลองเป็นสี่เหลี่ยม เป็นรูปแบบต่างๆ นานา เพื่อตัดให้น้ำมันกระจายตัวออก อันนี้ก็เป็นไอเดียโบราณของคนเก่าๆ ที่เขามีชีวิตอยู่กับน้ำจริงๆ ซึ่งก็น่าจะลองเอามาคิดกันดู
(อืม) กรุงเทพฯสมัยก่อนก็มีคลองเต็มไปหมด แต่ผมก็ไม่สามารถจินตนาการได้ว่า ระบบคลองในกรุงเทพฯ กับชีวิตในกรุงเทพ จะมีความหมายต่อการจัดระบบชลประทานที่ช่วยลดทอนความหนักหน่วงของปัญหาน้ำท่วมในอดีตอย่างไร หรือมีวิธีอะไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็น่าจะนำไปศึกษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าว อาจช่วยลดปัญหาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะว่าขณะนี้ระบบมันพังไปเรียบร้อยแล้ว เราจึงจำเป็นต้องกลับไปดูพื้นที่ป่าทั้งหมด อย่างในประเทศจีน เขาสามารถรื้อพื้นที่ทะเลทรายและนำปลูกต้นไม้ ลงทุนกันมหาศาล จนทุกวันนี้ทะเลทรายสามารถเป็นป่าได้ ผมเห็นแล้วยังตกใจ
แล้วทำไมบ้านเราจะทำไม่ได้ เพิ่มพื้นที่ป่าในทุกจุด ระดมคนทุกหมู่บ้านมาช่วยกันทำอย่างจริงจัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง http://www.thaireform.in.th/news-highlight/item/5980-2011-06-12-06-42-34.html