ผู้ตรวจการฯ “ศรีราชา เจริญพานิช” ปูพรม 3 ปี ฉุดจริยธรรมไทยขึ้นจากเหว
การเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญจนต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์มากมายและมีเป็นจุดเปลี่ยนหลายเรื่องที่ส่งผลต่อโครงสร้างการเมือง การปกครองของไทย ไม่ว่า ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น เสียงคนเล็กคนน้อยมีพลังขึ้นจากสื่อออนไลน์ที่เติบโตทลายการผูกขาดของสื่อกระแสหลัก เช่นเดียวกับ วัฒนธรรมทางการเมือง แม้ในช่วงที่ผ่านจะเกิดความขัดแย้งกันหนัก แต่ก็มี กระแสบางอย่างที่ดูตื่นตัวขึ้น เช่น การสอดส่องเรื่องการทุจริต คอรัปชั่น รวมถึงปัญหาจริยธรรมของนักการเมือง
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรหลักที่รณรงค์เรื่อง “คุณธรรม จริยธรรม” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ล่าสุดได้ออกคู่มือ มาตรฐานทางจริยธรรม 9 ข้อ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย อย่าง สถาบันครอบครัว การศึกษา ชุมชนและสังคม ศาสนา หน่วยงานภาครัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วย
1.การยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม 2.การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบ 3.การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตนและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 4.การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย 5.การให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ 6.การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้องและไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง 7.การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ 8.การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 9.การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร
กฎ 9 ข้อ อาจดูนามธรรม กระนั้น ปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า การจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานต่างๆ ต้องจัดทำโดยใช้แนวทางมาตรฐานที่ทางสำนักงานผู้ตรวจฯ ได้จัดทำขึ้น หากพบว่ามีการฝ่าฝืนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี ข้าราชการทางการเมือง ทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะอาศัย อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 279 และมาตรา 280 ส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้สอบสวน และหากว่า ป.ป.ช.ชี้ว่ามีมูลความผิดจริงก็ต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ทั้งหมดเพื่อกระตุ้นจิตสำนึก สร้างค่านิยมด้านจริยธรรมที่ดีกับสังคมไทย
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย สนทนากับ “ศรีราชา เจริญพานิช” ผู้ตรวจการแผ่นดินต่อการสร้างจิตสำนึกค่านิยมด้านจริยธรรม คุณธรรม ในขณะนี้
@ค่านิยมอะไรที่เราควรปรับปรุงมากที่สุด
เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต เราค่อนข้างมีกันน้อย ทำให้การเมืองไทยมีปัญหามาตลอด คือ ตอนนี้ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เราออกเรื่องคุณธรรม จริยธรรม พื้นฐานมา อันแรกคือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง หมายความว่า ถ้าเราซื่อสัตย์ด้วยตัวของเราได้ คือ ไม่โกงไม่กิน ขณะเดียวกัน คำว่า ซื่อตรง มันตรงกับคำของฝรั่งว่า intregity แปลว่า ถูกต้องชอบธรรม หมายความว่า คนที่มีความซื่อตรงคือ คนข้างเคียง ผู้บริหารจะคดโกงไมได้ ต้องทำให้เกิดความซื่อสัตย์ทั้งระบบ ทั้งองค์กร
2. มีวินัยและความรับผิดชอบ อันนี้เป็นหลักสำคัญที่เรากำลังจะรณรงค์กันทั่วประเทศ ซึ่งคำว่า วินัย คือ เราต้องรู้ว่า อะไรควรหรือไม่ควร ส่วน ความรับผิดชอบ ก็คือ อะไรที่เรามีภาระหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ ตามกฎเกณฑ์ ก็ควรจะต้องทำ 3. การเสียสละเพื่อส่วนรวมไปถึงขนาดมีจิตอาสาด้วยก็ยิ่งดี เพราะบ้านเมืองเราจะอยู่รอดปลอดภัย มันต้องเสียสละ และผลประโยชน์ส่วนรวมต้องมาก่อน ผลประโยชน์ส่วนตัว 4. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน เพราะเวลานี้สิ่งแวดล้อมประเทศไทยกำลังสาหัสสากรรจ์ น้ำท่วมหลายระลอก พืชผลทางการเกษตรเสียหาย 5. ควรยึดมั่นในหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องเดินทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง คิดแบ่งปันให้คนอื่น ไม่ให้ละโมภโลภมาก
ตอนนี้สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน กำลังรณงค์ 5 เรื่องนี้ให้มากที่สุดให้เข้าไปถึงโรงเรียน อนุบาล กระทั่ง จบสถาบันการศึกษา เพื่อปูพื้นฐานในอนาคตที่เราอยากเห็นบ้านเมืองนี้ดี ซึ่งที่ผ่านมา เราไปยกเลิกหลักสูตรของดีในอดีตหมด เช่น พลเมือง ศีลธรรม เลยไม่ได้สอนกันในห้องเรียน
@สาเหตุสำคัญจริงๆ คืออะไร
การศึกษา เพราะเราไม่ได้มองพื้นฐานของสังคมไทย เราจบจากต่างประเทศก็พยายามใช้สิ่งที่ตัวเองไปร่ำเรียนมา ไม่ได้มอง หรือ ทดสอบ
@อะไรที่เป็นดัชนีชี้ว่า ประเทศไทยมีความซื่อสัตย์สุจริตต่ำกว่าในหลายประเทศ
ปรากฎการณ์ทางสังคม มันก็บอกอยู่แล้ว ดัชนีชี้วัดความโปร่งใสที่เขาทำกัน ของไทยก็อยู่ในระดับที่ต่ำ คือ 70 กว่า ถ้าเทียบกับประเทศอื่นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เราอยู่ในลำดับกลางๆ ค่อนข้างต่ำ ภาพที่เราเห็นในสังคม ก็ค่อนข้างชัดอย่าง สตง. ก็ตรวจสอบอะไรต่ออะไรมาก และชี้ว่า มีความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างหรือการประมูล มีการโกงกัน มีการร้องเรียนเรื่องทุจริตเข้าสู่สตง.พอสมควร อันนี้ก็น่าจะยืนยันได้
@ใครควรผลักดันแก้ไขจิตสำนึกเหล่านี้
องค์กรหลักเขามอบให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เราก็ทำระดับหนึ่งด้วยการสร้างเครือข่าย โดยร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม เชื่อมต่อยัง กระทรวงศึกษาธิการ ในอนาคต เพราะหลายคนในกระทรวงศึกษา ไม่ค่อยให้ความสนใจด้านนี้ ทีนี้วันที่ 2 ก.ย. เราจะประชุมร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อดูว่า ใครทำอะไรเกี่ยวกับการสร้างคุณธรรม จริยธรรมในด้านนี้บ้าง เราจะไม่ทำให้ซ้ำซ้อนกัน รวมทั้งจะเชิญองค์กรมหาชน คือศูนย์คุณธรรมเข้ามาเชื่อมด้วยอย่างน้อย 3 ส่วน ส่วนที่เหลืออาจเชิญแนวร่วมคือ สมัชชาคุณธรรมความซื่อตรงแห่งชาติมาช่วยกัน ตอนนี้ก็มีเป็นรูปธรรมขึ้นบ้างระดับหนึ่ง
@เป้าหมายที่เราจะรณรงค์เน้นที่ไหน
เราจะใช้แนวทางเหมือนอย่างที่มาเลเซียทำเป็นวาระของชาติ คือ ต้องรณรงค์ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน จากนั้นก็จะกระจายออกไปตามภาคราชการ ซึ่งเราต้องทำอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ 2550 ภาคนักการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่า ในระดับ สส. สว.หรือ ในระดับท้องถิ่น อบจ. อบต. เราก็ต้องทำ นอกจากนั้น จะทำในภาคธุรกิจด้วย โรงเรียนก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำ เพราะเป็นศูนย์รวมของการปลูกฝังเด็กในอนาคต รวมตลอดแล้วก็ต้องทำทุกภาคส่วน
@แผนระยะสั้น ระยะยาวกี่ปี
ใจผมอยากจะรณรงค์ให้เสร็จ เต็มกำลังให้เสร็จภายใน 3 ปี เพราะยืดไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะมันจะเป็นตัวที่ไม่มีวันจบ และคนก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราจะปูพรมตลอดช่วง 3 ปีนี้ ทีนี้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินตั้งใจจะไปพบท่านนายกฯคนใหม่เพื่อขอตั้งกองทุนเหมือนเช่น สสส. ที่รณรงค์เลิกบุหรี่ เหล้า แต่ของเราจะตั้งกองทุนเรื่องความดี มีคุณธรรม อาจใช้ชื่อว่า กองทุนเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ชุมชนในชาติ เป็นเรื่องของสุขภาพจิต ฉะนั้น ถ้านายกฯเห็นด้วยก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเราจะขอเงิน 2-3 พันล้านเพื่อมาลงทุนด้านนี้ให้เต็มที่ มิฉะนั้น จะชนะยาก
@วาดฝันโมเดลสร้างจิตสำนึกเหมือนในประเทศไหนหรือไม่
ตอนนี้เรามองไปที่มาเลเซีย ส่วนเรื่องเกาหลี ผมก็คิดเหมือนกันว่า ทำอย่างไร เราถึงจะเอามาเสริมในเรื่องที่เขาทำเสร็จ คือ โซเชียลมีเดีย เราไปดูงานที่เกาหลีใต้เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว ไปพบกับผู้นำเขา ปาร์ค วอน ซุน ถึง1 ชั่วโมง สิ่งที่น่าสนใจ เขาจบจากอังกฤษ อ๊อกฟอร์ด เขาทำสถาบันแห่งความหวัง รับสมาชิก 1,400 คน โดยให้แต่ละคนไปค้นหาอนาคตใหม่ให้กับคนเกาหลีใต้ เพื่อจะได้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง แตกต่างกัน ซึ่งเป็นก็เป็นทฤษฎที่ดี
@ในมาเลเซีย ทำไมจริยธรรมเขาถูกส่งเสริมได้ดีกว่าเรา
พื้นฐานเขาดีกว่าเรา และช่วงที่เขาไปได้ดีกว่าเราคือ ช่วงที่เขามีการเมืองที่นิ่ง เขามีนายกฯที่ค่อนข้างแข็ง ฉะนั้น การทำอะไรก็ตามในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องได้ผลในระยะยาว ของเราการเมืองมันไม่นิ่งเลย เปลี่ยนรัฐบาลทุก 1-2 ปี ช่วงชิงกันไปมาก รัฐธรรมนูญก็ถูกแก้บ่อย มันก็เลยสะเปะสะปะ เพราะถ้าการเมืองไม่นิ่ง พอทำอะไรปั๊บเดี๋ยวรัฐบาลใหม่ก็ถูกรื้อมทิ้ง และยังไม่รู้อะไรสำเร็จหรือไม่
@ถ้าเราพัฒนาเรื่องนี้ช้า มันจะเป็นอย่างไร
มันก็ยิ่งแย่ คือ ชื่อเสียงของประเทศมันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าชื่อเสียงไม่ค่อยจะดี กลายเป็น “ชื่อเสีย” ในการที่นักลงทุนจะมาลงทุน มันก็อาจน้อยลง หรือ มีปัญหา เพราะเวลาใครจะไปลงทุนที่ไหนแล้วเขาบอกต่อๆ กันว่า ประเทศนี้ดี ระบบทุกอย่างตรงไปตรงมา มีเหตุมีผล เดินตามกฎหมาย มันก็ง่าย แต่ถ้าประเทศนี้จะไปลงทุนอะไรซักอย่างต้องมีตั้งแต่ ชั้นต้น เจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อยกระทั่ง ถึงรัฐมนตรี มันก็เหนื่อยเหมือนกัน อย่างกรณีของเวียดนามที่เขามีชื่อกันพอสมควรว่า อย่าไปลงทุน มันก็เหนื่อยนะกว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอน
@ที่ผ่านมาการรณรงค์เรื่องสำนึก จริยธรรม ในไทยมีการตื่นตัวขึ้นแค่ไหน
ตื่นตัวขึ้นบ้าง แต่ไม่มากเท่าที่ควร ที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญ2550 วันนี้ก็ 4 ปี แล้ว แต่ด้วยที่เราไม่มีกำลังคน ตอนนั้นเราก็ตั้งสำนักส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมมีคนอยู่ 4 คน ทำได้ก็แค่ไล่จับ และอธิบายเรื่องประมวลจริยธรรมเสียเวลาไปประมาณ 2 ปี ส่วนงานส่งเสริมที่จะออกอะไรเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ทำเท่าไร เพิ่งมาเริ่มในปีนี้ที่เป็นชิ้นเป็นอันเพิ่มขึ้น แต่ก็พยายามเร่ง เพราะถ้าเราไม่มีเป้าหมายให้เสร็จภายในกี่ปี มันก็ยืดไปเรื่อย ก็เลยกำหนดมาว่าขอ 3 ปีให้เต็มประเทศ วันนี้เราก็รณรงค์กันเต็มที่
@คาดหวังรัฐบาลนี้แค่ไหน
ผมยังไม่คาดหวังเท่าไร แต่คิดว่า ควรปล่อยให้รัฐบาลทำงานไปซักระยะหนึ่งถึงจะรู้ แต่เขาก็มีความตั้งใจที่อยากทำอะไรเยอะพอสมควร เพียงแต่ว่า สิ่งที่หาเสียงด้านประชานิยมไว้ กลัวว่า มันจะทำได้ไม่ครบหรืออีกอย่าง จะมีปัญหา อุปสรรคที่ขัดต่อกฎหมาย รวมถึง ผมกลัวว่า ถ้าประชานิยมมากเกินไป คนจะเคยตัว จะรับอย่างเดียว และไม่คิดที่จะช่วยตวเอง แต่ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลจะเจอหนักในช่วงที่มันมีภัยบัติเยอะ ตรงนี้จะกลายเป็นเรื่องที่แก้ไม่ไหว เพราะสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ตอนนี้มันจะไม่มีฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ต่อไปมันจะมีฤดูฝนและฤดูฝน พอท่วมแล้วก็หายแล้วก็ตกใหม่
@สุดท้ายฝากอะไร
เมื่อไรก็ตามที่สังคมเราเป็นสังคมคุณธรรม นักการเมือง และทุกคนเป็นคนดี ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อนั้น ผมว่า ประเทศจะเจริญ และเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะสร้างสังคมใหม่ ตรงนั้นผมว่า มันจะเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เสียที