สัมภาษณ์:::รศ.นพ.กำจร ตติยกวี คลี่ปม ‘ความเก๋า’ นายกสภามหาวิทยาลัย นั่งควบเก้าอี้หลายแห่ง
ท่ามกลางข่าวร้ายๆ เกี่ยวพันกับระบบการศึกษาไทย ปรากฏผ่านหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ถี่ยิบ มีทั้งข่าวการปลดอธิการบดี การซื้อขายใบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) การจัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐานตามวิชาชีพ จน สกอ. ต้องเข้าไป ควบคุมกิจการ ตลอดจนการชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย
เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนปัญหาความรับผิดชอบและธรรมาภิบาลในรั้วมหาวิทยาลัยแทบทั้งสิ้น ถามว่า ใครควรถูกตำหนิ หรือถูกกล่าวโทษเป็นบุคคลกลุ่มแรกๆ
ใช่...กรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกสภามหาวิทยาลัยหรือไม่ ที่ละเลยการทำหน้าที่ ไม่จัดการศึกษาให้เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน ยิ่งเมื่อพบรายชื่อ ผู้ทรงคุณวุฒินั่งควบเก้าอี้นายกสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วยแล้ว บ้างก็มีชื่อเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งซ้อน จะใช่เหตุผลนี้หรือไม่ ทำให้ผู้บริหารไม่มีเวลาดูแลมหาวิทยาลัย หรือลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” มีโอกาสนัดพูดคุยกับ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ถึงประเด็นดังกล่าว
@ ก่อนอื่นช่วยอธิบาย บทบาทหน้าที่ สภามหาวิทยาลัย
จริงๆ แล้ว หน้าที่หลักๆ ของสภามหาวิทยาลัย คือ ช่วยดูแลมหาวิทยาลัยทั้งหมดในภาพรวม ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย นั่นคือ ผลิตบัณฑิตและผลงานวิชาการ ดูแลคุณภาพมาตรฐานของบัณฑิตและคนในวงวิชาการ รวมทั้งเป็นที่พึ่งด้านบริการวิชาการให้กับสังคม
หากมององค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย ทั้งในส่วนของรัฐและเอกชนจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก การคัดเลือกหรือสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะของรัฐก็มักจะหาจากผู้ที่มีประสบการณ์ มีคุณวุฒิ มีชื่อเสียงในวงวิชาการ เมื่อหาไปหามามักซ้ำอยู่ที่คนเดิม
อย่างเช่น อาจารย์วรากรณ์ (สามโกเศศ) อาจารย์วิจารณ์ (พานิช) อาจารย์เกษม (สุวรรณกุล) ซึ่งเป็นที่นิยมชื่นชอบของสภาฯ แทบทุกมหาวิทยาลัย
ข้อดีของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงในวงวิชาการ ก็คือ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีประสบการณ์สูง สามารถให้ข้อคิด คอยควบคุมได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ ส่วนข้อเสียก็คือ กรรมการสภาที่นั่งซ้ำซ้อนกันหลายแห่ง จะมีปัญหาเรื่อง ‘เวลา’ (เน้นเสียง) ซึ่งหากผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ได้อยู่ในวงการราชการ เอกชน หรือเกษียณอายุไปแล้วจะมีเวลามากกว่าผู้ที่มีงานประจำ
ฉะนั้น หากกรรมการสภาฯ ไม่มีงานประจำ นั่งหลายมหาวิทยาลัยก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยพอสมควร แต่หากเป็นคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีงานประจำ การนั่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากเกินไปก็จะกลายเป็นประเด็นได้
@ กรณีนายกฯสภามหาวิทยาลัย นั่งซ้อนกันหลายแห่ง จะเกิดการสร้างกวนแก๊ง หรือก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ผลัดกันเกาหลัง” หรือไม่
(อืม) ต้องดูผลประโยชน์ที่สภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยทั่วไปจะได้รับจากมหาวิทยาลัยก่อน ซึ่งส่วนใหญ่คือ 'เบี้ยประชุม' เป็นหลัก ไม่ค่อยมีแห่งใดที่จะให้สภาฯ มีผลตอบแทนเป็นประจำ อย่างเช่น เงินเดือนไม่มีแน่นอน ส่วนเบี้ยประชุมในแต่ละแห่งก็ไม่ได้มากมายอะไร หลักพันเท่านั้น ไม่ใช่หลักหมื่นหลักแสน ยกเว้นในกรณีที่มหาวิทยาลัยอยู่ในต่างจังหวัดก็จะให้ค่าเดินทางเพิ่ม
แต่หากถามว่า มีผลประโยชน์อื่นที่อาจได้หรือไม่ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง บางแห่งอาจให้ชื่อเสียงก็ว่ากันไปแล้วแต่กรณี
ส่วนการบริหารของมหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคงอยากได้สภามหาวิทยาลัยที่คุ้นเคย เข้ากันได้ดี เพราะจะได้บริหารงานง่ายๆ ไม่ถูกควบคุมมากนัก ในทางกลับกัน นายกสภามหาวิทยาลัยเองก็มองว่า หากได้อธิการที่ดีก็น่าจะช่วยกันบริหารงานได้ตามวัตถุประสงค์ ตามพันธกิจ และทำให้มหาวิทยาลัยเจริญรุ่งเรืองได้ในที่สุด
ส่วนที่ว่าผลัดกันเกาหลัง ผมว่า....ปัจจุบันมีในมหาวิทยาลัยบางแห่งเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นเป็นปี่เป็นขลุ่ยขนาดนั้น เพราะที่สุดแล้ว คงต้องไปวิเคราะห์กันที่ผลประกอบการหรือผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยมีความรุ่งเรือง ต่อให้อธิการสองสมัยเป็นคนเดิม สภาเป็นชุดเดิมไม่เปลี่ยน แต่มหาวิทยาลัยมีคุณภาพ มีชื่อเสียง มีผลงานวิชาการ คุณภาพบัณฑิตที่ผลิตออกมาดี ผมคิดว่า ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็นที่ต้องพิจารณาอะไร
ในทางกลับกัน หากมหาวิทยาลัยมีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษา คุณภาพบัณฑิต ผลงานวิชาการ คณาจารย์ทะเลาะกัน แย่งชิงกันเป็นใหญ่ โดยใช้สภาชุดเดิม อธิการชุดเดิม อันนี้ถึงจะต้องพิจารณา
แต่ผมว่า คนเหล่านี้ก็คงไม่มีความสุข เพราะนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ร้อนพอสมควร...(สีหน้าขึงขัง)
@ แล้วกระบวนการสรรหาสภามหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร สามารถตรวจสอบได้ สมมุติว่า มหาวิทยาลัยบางแห่ง ผู้บริหารมีพวกพ้องอยู่มาก อยากจะเลือกผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้หรือไม่ คำตอบคือ ทำได้แค่ชี้นำ เพราะสุดท้ายกระบวนการสรรหาก็มีความเป็นธรรมอยู่
กระบวนการสรรหาโดยทั่วไป เมื่อดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก จะใช้กรรมการสภาที่ยังคงอยู่ภายในเป็นหลัก ซึ่งกรรมการภายในดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้บริหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยตำแหน่ง แน่นอนว่า บุคคลเหล่านี้มักจะมองหาคนเดิมๆ เพราะเห็นว่า สร้างประโยชน์ได้
ส่วนกระบวนการเสนอชื่อกับคณะกรรมการสภา ในลักษณะผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกก็จะดูกันที่ประวัติ ผลงานวิชาการ
@ มีเกมการเมืองเข้ามาแทรกบ้างไหม
(นิ่งคิด) ผมคิดว่าเรื่องนี้คงต้องระบุหรือพิจารณาเป็นรายกรณี ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้บริหารอยู่มานาน สร้างผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้บริหารหลายส่วนด้วยกัน
เมื่อผลประโยชน์เกิดขึ้นในระดับผู้บริหารก็เกิดการแย่งชิงกันเองในระดับเดียวกัน มากกว่าสภามหาวิทยาลัย เพียงแต่กรรมการสภาที่เข้ามาทำหน้าที่สรรหาผู้บริหาร กลับพยายามแบ่งกันเป็นพรรคเป็นพวก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ประชาคมของมหาวิทยาลัยต้องเข้าไปตรวจสอบ เรื่องใดที่เห็นว่าไม่โปร่งใส ต้องพยายามช่วยกันดูแลให้ลึกลงไปถึงตัวบทกฎหมาย
ผมว่านอกจากเรื่องภายในหลายมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่อง conflict of interest ระหว่างมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นคู่แข่งกัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนากรรมการสภามหาวิทยาลัยไปแล้วประมาณ 7-8 รุ่น เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ รวมถึงจริยธรรมของสภามหาวิทยาลัย เชื่อว่า ผลการดำเนินการจะช่วยให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และปรับสภาวะของตนเองได้ดีขึ้น
ประการสำคัญ สกอ. พยายามจะแก้ไข พ.ร.บ.อุดมศึกษา ให้ครอบคลุมไปถึงกติกาในการแต่งตั้งสภามหาวิทยาลัยด้วย เช่น กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีงานประจำ ไม่ควรเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกินกว่า 3 แห่ง ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีงานประจำ ควรเป็นกรรมการสภาฯ ไม่เกินกว่า 5 แห่ง จะได้ทุ่มเททำงานให้กับมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่
@ ระหว่างนี้จะใช้วิธีการอะไร
ผมว่าง่ายๆ นะ หากผู้ทรงคุณวุฒิมีความตระหนักดีแล้ว ปัญหาก็คงไม่เกิด ในทางกลับกัน หากผู้ทรงคุณวุฒินั่งอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งเดียว ไม่มีใครเชิญไปร่วมงานอีก ก็น่าจะเป็นการประเมินตัวเองได้อีกทางหนึ่ง
@ การนั่งควบเก้าอี้ ในสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง สร้างปัญหาต่อระบบการศึกษาหรือไม่
นั่งหลายตำแหน่งไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เพราะประเด็นที่สำคัญอยู่ที่นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีความตระหนักถึงหน้าที่และการดูแลมหาวิทยาลัยมากน้อยเพียงใด
หากดูมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหิดล จะพบว่า กรรมการสภามีความซ้ำซ้อนกันอยู่ก็จริง แต่กลับทำหน้าที่ได้อย่างเข้มแข้ง ติดตามควบคุมฝ่ายบริหารที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยอย่างใกล้ชิด จนไร้ปัญหาใดๆ
(นิ่งคิด) วันนี้ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า บ้านเรายังหาผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมากไม่ได้ ลองคิดคำนวณดูคร่าวๆ มหาวิทยาลัย 100 กว่าแห่ง ต้องการผู้ทรงคุณวุฒิแห่งละประมาณ 7-8 คน แปลว่า เราต้องมีผู้คุณวุฒิที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับเลือกประมาณ 700-800 คน ถามว่าจะหาจากที่ไหน มีคนที่รู้เรื่องมหาวิทยาลัยโดยตรงกี่คน ภาพที่ออกมาเลยปรากฏว่ามีการซ้ำซ้อนกันบ้าง”
@ ถ้าอย่างนั้น การสรรหานายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีจุดไหนที่ควรปรับเปลี่ยนบ้าง
หากผู้ทรงคุณวุฒิตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเอง รู้ว่า ตนเองเหมาะที่จะนั่งสักกี่แห่ง ก็ควรปฏิเสธเสียบ้าง ถึงแม้ว่าเขาจะเห็นคุณค่า ความสามารถของท่านก็ตาม
@ หากเทียบเคียงกับรูปแบบการบริหารจัดการสภามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เหมือนหรือต่างกับบ้านเรา
บริบทต่างกัน เพราะในต่างประเทศลักษณะของมหาวิทยาลัยก็ต่างกับบ้านเรา ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยก็คงต้องต่างไปด้วย
จะว่าไปบ้านเราก็เรียนรูปแบบมาจากหลายประเทศ แต่สุดท้ายก็มาสรุปที่ว่า สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบมหาวิทยาลัยทั้งหมด
ส่วนในต่างประเทศ สภามหาวิทยาลัยก็เป็นผู้รับผิดชอบมหาวิทยาลัยทั้งหมดเช่นกัน จะต่างก็ตรงที่ส่วนประกอบของสภาเนื่องจากประชาชนมีโอกาสเข้าไปดำรงตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยด้วย แต่ประเทศไทยยังขาดส่วนร่วมของชุมชนตรงนี้
ในอนาคตผมคิดว่า น่าจะต้องเกิดขึ้นนะ เพราะจริงๆ อุดมศึกษาไทยสร้างบัณฑิตเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้น ประชาสังคมต้องเข้ามานั่งบ้าง เพียงแต่วันนี้ขนาดผู้ทรงคุณวุฒิยังหายาก หากจะให้ประชาสังคมเข้ามาก็คงต้องพิจารณาให้ดีว่า จะใช้คนระดับไหน อย่างไร
“ในต่างประเทศเลือกใช้คนในท้องถิ่นนั้นๆ ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ในอำเภอไหน ก็ให้คนในอำเภอนั้นส่งตัวแทนเข้ามา อาจจะเป็นนายอำเภอหรือไม่ก็ได้ แต่ประเทศไทยคนในท้องถิ่นยังไม่มีความเข้มแข็ง
สมมุติว่า วันนี้จะเลือกใครเข้ามานั่งในสภามหาวิทยาลัยก็คงต้องถกเถียงก่อนยาว ยังมีความไม่เห็นพ้องต้องกันอยู่ เช่น หากวางตัวให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอก็ยังเกิดข้อถกเถียงและคำถามตามมาอยู่ดี เพราะหากยังเป็นหน่วยราชการอยู่ ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อหน่วยราชการก็ยังมีปัญหา เกรงว่าจะไปเออออกับมหาวิทยาลัย โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของภาคประชาสังคมเช่นนี้”
@ ภาคประชาสังคมระดับไหนที่เหมาะนั่งตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัย
ผมฟันธงเลยว่า ควรเป็นระดับชุมชน แต่ก็น่าเสียดายที่ชุมชนบ้านเราในขณะนี้ยังไม่ความเข็มแข็ง ยังไม่มีความรู้มากพอที่จะนั่งคุยกับนักวิชาการ
ผมจึงเห็นว่าแนวทางนี้สำหรับบ้านเราคงต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องรอจนกว่าภาคประชาสังคมไทยจะเข็มแข็ง รอให้มหาวิทยาลัยไทยลงไปแตะดินมากกว่านี้ โดยเริ่มต้นขยับในส่วนของนักวิชาการสายรับใช้สังคมให้เกิดมากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสังคมกับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้แน่นอนว่า คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
@ มีบางคนบอกว่า การศึกษาไทยทุกวันนี้เสื่อมถอยลงมาก คิดเห็นอย่างไร และพอมีวิธีใดบ้างที่จะเรียกศรัทธากลับคืนมา
(อืม...) ผมว่า ความเชื่อมั่น ต้องเริ่มต้นที่การสร้างธรรมาภิบาลในสภามหาวิทยาลัยก่อน หลังจากนั้นค่อยถ่ายทอดลงไปสู่ระดับผู้บริหารและระดับอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย แต่โดยทั่วไปแล้วผมว่า ผู้บริหารมีธรรมาภิบาลกันทุกคน ไม่เช่นนั้นคงก้าวมาถึงจุดนี้ไม่ได้ แต่คงต้องยอมรับเช่นกันว่า ในสังคมมีทั้งคนดีเยี่ยมและคนดีน้อย
ดังนั้น ทุกคนจึงต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ซึ่งในความคิดของผมมองว่า นักศึกษา ซึ่งเป็นปัญญาชนทั้งหลาย น่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องธรรมาภิบาลมากที่สุด แต่ก็ต้องระวังไม่ตกเป็นเครื่องมือของใครด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสภามหาวิทยาลัยมีจรรยาบรรณ ตระหนักรู้ว่า ควรทำหรือไม่ควรทำอะไร ขณะเดียวกันหากเกิดความผิดพลาดขึ้นในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะกรณีการได้ปริญญาบัตรโดยมิชอบ การจัดการศึกษานอกที่ตั้งโดยไม่แจ้งให้ สกอ.รับทราบ ตลอดจนการจัดการศึกษาที่ไร้คุณภาพ สภามหาวิทยาลัยซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลมหาวิทยาลัยทั้งระบบ จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นหรือเลี่ยงบาลีไม่ได้