"ธิดา ศรีไพพรรณ" ประธานสภาผู้สูงอายุฯ "ต้องเตรียมสังคมพร้อมรับคนวัยชรา"
เมื่อสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่แค่คำขู่ การเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นหลายรูปแบบ
ด้านหนึ่งคือความพยายามตั้ง “กรมกิจการผู้สูงอายุ” เพื่อรับผิดชอบงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยแยกส่วนงานมาจากสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ
อีกด้านมองกันว่าเรื่องของผู้สูงอายุมีมากกว่าการตั้งกรม-กอง ด้วยมิติของคุณภาพชีวิต ล้วนเกี่ยวพันกับสังคม ทั้งนี้การบริหารสถานการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดด้านหนึ่ง ด้วยต้องควบคู่กันไป
เหมือนที่ “ธิดา ศรีไพพรรณ” ประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จะบอกอีกมุมจากอีกหนึ่งผู้ใกล้ชิดสังคมคนชรา ในวาระ “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ว่าด้วยฃแนวทาง “ต่อกร”กับความ “ชรา”
@มองรัฐบาลบริหารผู้สูงอายุอย่างไร
ดีในระดับหนึ่ง ทั้งระบบประกันสุขภาพ การให้เบี้ยยังชีพเดือนละ500บาท กล่าวคือรัฐอาจช่วยได้เรื่องสุขภาพ หรือเรื่องการออมที่ขณะนี้มีการทำเรื่องการออมเพื่อการชราภาพ การออมแห่งชาติ แต่นั่นเป็นความเพียงพอสำหรับคนที่อายุมากแล้ว สิ่งที่ควรจะทำตลอดคือการเตรียมความพร้อมสำหรับคนวัยกลางคน วัยหนุ่มสาว เพื่อรับมือก่อนจะเป็นผู้สูงอายุ อาทิ เรื่องการเตรียมสุขภาพให้แข็งแรงที่ทำได้ทุกช่วงวัยไม่ใช่เจาะจงเฉพาะหลังเกษียณเท่านั้น การออมเงิน การจัดการในเรื่องที่พักอาศัย คุณภาพชีวิต และการสร้างครอบครัวให้อบอุ่น ทั้งนี้ทุกเรื่องเป็นคุณภาพชีวิตพื้นฐานทั่วไป แต่ทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับการสร้างฐานรองรับวัยชราเปรียบเทียบกับว่าหากเตรียมตัวแต่เนิ่นๆจะมีต้นทุนดี การจะให้ความสำคัญเฉพาะตอนชราแล้วมันเหมือนใช้เงินทั้งหมดที่เก็บมาตลอดใช้ในวัยชรา
@สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ มีส่วนร่วมบริหารสังคมสูงอายุอย่างไรบ้าง
พยายามสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุ มีสาขาสภาผู้สูงอายุในเมืองและขยายไปหลายพื้นที่สร้างกิจกรรมให้เกิดการรวมกลุ่ม นั่นก็เพื่อให้เกิดมิติของสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง เช่นอาจจะรวมตัวกันออกกำลังกาย การสร้างรายได้เสริม การตรวจเยี่ยมพูดคุยกันเรื่องปัญหาสุขภาพ
อย่างไรก็ดีสภาผู้สูงอายุฯคงไม่มีเงินไปให้ เพราะเราไม่มีเงินจากรัฐบาล แต่ได้พยายามจะสร้างชมรมผู้สูงอายุขึ้นมาให้ทั่วประเทศเพื่อรู้จักสร้างกิจกรรม หรือเขียนโครงการขอทุนสนับสนุน ทั้งจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสำนักงานกองทันสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อย่างโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน”ที่ ทำกับสสส.นับแต่พ.ศ.2550 ได้สร้างให้เกิดเครือข่ายชมรมผู้สูงอายุจำนวนมาก เพราะจะเน้นการขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง บนหลักที่ว่าไม่มีใครเข้าใจผู้สูงอายุเท่าผู้สูงอายุด้วยกันเองโดยโครงการฯมีแนวทางการทำงานยังเน้นการสร้างมิติทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม จิตใจ แก่ผู้สูงอายุใน 3กลุ่มหลักประกอบไปด้วย 1.กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไมได้ เจ็บป่วย พิการ 2.กลุ่มที่ถูกทอดทิ้งหรือได้รับการดูแลไม่ถูกต้อง 3.กลุ่มที่มีความยากจน นั่นก็เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ฝากความหวังไปที่การรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่าง
@ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ พบปัญหาอะไรบ้าง
บางส่วนยังคิดว่าการเป็นอาสาสมัครมันยาก คิดว่าต้องไปฉีดยา ไปวัดความดัน ดูแลเรื่องยาอาการป่วยเหมือนกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จริงๆมันไม่ถึงขั้นนั้น แต่มันไปด้วยกัน การลงพื้นที่ก็มีทีมสาธารณสุขไปด้วย และเราก็ไม่เน้นการดูแลแบบพยายบาล เราเน้นเรื่องด้านสังคม สิ่งแวดล้อมด้านจิตใจ และบริบทของแต่ละที่มันต่างกัน อย่างภาคใต้เท่าที่ดูมักจะมีญาติมีลูกหลานอยู่ ถึงแม้จะทำงานแต่ก็ยังดูแลเพราะไม่ทิ้งถิ่น แต่อีสานนี่จะอพยพมาเยอะ มีค่านิยม ไปทำงานต่างถิ่น ภูมิใจกับการมีลูกทำงานในเมืองในชุมชนก็จะมีแต่ผู้สูงอายุ ส่วนปัญหาที่เกิดมันก็ปรับไปตามลักษณะอย่างจังหวัดภาคใต้ก็มีปัญหาเรื่องความไม่สงบก็เคยร่วมโครงการแต่ก็มีการทำงานที่ต่างกัน อาจจะไม่เยี่ยมบ่อยเหมือนกับที่อื่นๆ ก็ลดระดับลงมา
@การรวมกลุ่มผู้สูงอายุในรูปแบบชมรมเป็นเพียงนามธรรมหรือไม่
นั่นเฉพาะในเมืองใหญ่ แต่ในพื้นที่จริงๆ แม้จะไม่มีที่ทำการเป็นเรื่องเป็นราวแต่ชมรมเช่นนี้มีอยู่ ของแบบนี้มันอยู่ที่วัฒนธรรมในแต่ละที่ ในชนบทความเป็นชุมชนยังมี เขาดูแลกัน ห่วงใย เห็นอกเห็นใจเพื่อนที่เจ็บป่วย ซึ่งชมรมผู้สูงอายุจะในส่วนนี้ โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นนั่นก็เพื่อให้ผู้สูงอายุให้ออกมารวมกัน ใครเจ็บป่วยอย่างไรมาคุยกัน หมอคนไหนรักษาอย่างไร ออกกำลังกายแบบไหน แนะนำกันบนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางสาธารณสุข เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เหงา เพราะอยู่แต่กับบ้านจะทำให้เครียด โกรธง่าย
อุปสรรคมันก็มีอยู่ อย่างเรื่องคน แม้ว่าคนที่ประธานชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดนั้น จะผ่านการคัดเลือกจากชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดด้วยกันเอง แต่ก็มีบางรายที่ต้องการตำแหน่งเพื่อหน้าตาในสังคม ไม่ได้มีใจเสียสละจริงๆ เพราะแม้สภาฯจะมีโครงการดีๆไป แต่ถ้าประธานสาขาสภาไม่กระจายไปถึงชมรม ชมรมก็ไม่มีทางรู้ เราไม่มีทางที่จะถึงชมรมได้ทั้งที่มีเครือข่ายถึงกว่าสองหมื่นชมรมทั่วประเทศ
แต่บทเรียนก็บอกเราว่ายังมีพื้นที่ตัวอย่าง กล่าวคือประธานสาขาเข้มแข็ง เพราะส่วนมากเป็นข้าราชการบำนาญ มีเครือข่ายเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะชมรมที่เข้ากับสาธารณสุขและสามารถเข้าถึงส่วนราชการได้ มันทำให้เกิดงานเพิ่ม เกิดชมรมตามอำเภอต่างๆ เช่นนี้จะทำให้เขารู้ว่าต้องทำกิจกรรมอะไรที่จะได้ประโยชน์แก่สมาชิก รู้ว่าต้องทำอะไรที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี
@ผู้สูงอายุควรมีสิทธิ์อะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง
ไม่วิพากษ์วิจารณ์กลไกที่มีอยู่ แต่เรามีสภาผู้สูงอายุและประธานสภาผู้สูงอายุเป็นรองประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยที่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการคือนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองคนที่2
ตามกฎหมายในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะมีอนุกรรมการติดตามสิทธิ์ ตามพรบ.ผู้สูงอายุ ปี46 ซึ่งมีการระบุในมาตรา7 ที่บอกว่าสิทธิ์ของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง โดยคณะอนุกรรมการติดตามจะตรวจสอบว่าหน่วยงานต่างๆในส่วนราชการมีการทำหน้าที่ตามพ.ร.บ.นี้หรือไม่ เช่น ในส่วนสาธารณสุขจังหวัด หรือระดับอำเภอ ต้องมีคลินิคผู้สูงอายุจัดไว้ให้ ไม่ใช่มีแต่ป้าย ต้องอำนวยความสะดวกนี่คือสิ่งที่กลไกเหล่านี้ทำอยู่และพอจะทำได้
แต่สภาผู้สูงอายุ คงไม่ระดมสมาชิกไปทวงสิทธิ์เสียทุกเรื่อง เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ มีแต่จะปลูกฝังเป็นผู้ให้ สะท้อนเหตุการณ์คือที่ผ่านมาเมื่อเวลามีการรวมตัวของผู้สูงอายุ มีการประชุม แต่ละครั้งจะมีการเสนอทุกทีว่า พวกเราควรจะไปเดินขบวนเรียกร้องอะไรหรือไม่ ซึ่งเรามองว่ามันไม่ใช่ เพราะหลักของเราคือการให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ด้วยตัวเอง สร้างเครือข่าย สร้างชุมชนบูรณาการอยู่ร่วมกัน เราคงไม่ทำเพียงแค่ส่งหนังสือไปหารัฐบาลแล้วร้องขอ เพราะนั่นคือรูปแบบการสงเคราะห์ และรัฐบาลมีภาระพอแล้ว
การที่คิดว่าตัวเองจะตายไม่ว่าแต่ขอให้ลูกหลานได้เงินตอบแทนเยอะผ่านเงินประกัน ผ่านการร้องขอให้จ่ายเงินสนับสนุนมันไม่น่าจะใช่เรื่องที่ถูกต้อง ประกอบกับกลไกมันไม่ได้เอื้อให้มีสิทธิ์ให้กับผู้สูงอายุในทุกเรื่อง หากจะถามว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการดูแลผู้สูงอายุมันก็ตอบได้ว่าคือเรื่องความกตัญญูรู้คุณเท่านั้น สภาผู้สูงอายุฯจึงเน้นเรื่องการสร้างกลไกทางชุมชนเพื่อดูแลกันเอง เหมือนเพื่อนที่รู้จักเพื่อนและดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย