ปาฐกถา...ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ “การสร้างความเป็นพลเมือง”
เมื่อเร็วๆ นี้ ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในกระบวนการสร้างความเป็นพลเมือง ระหว่างสถาบันพระปกเกล้า และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การสร้างความเป็นพลเมือง”
โดยศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประชาชน มีทางเลือกทำตัวได้ 2 แบบ แบบที่ 1 คือ ประชาชนที่ทำตัวเป็นราษฎร (subject) ที่ต้องรอให้ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ สั่งหรือทำให้ จึงจะรับสภาพ ฉะนั้นความเป็นราษฎรเหมาะมากสำหรับสังคม ที่อยู่ในระบบเผด็จการ สังคมที่มีระบอบประชาธิปไตยอุปถัมภ์ แบบที่ 2 ประชาชนสามารถเลือกได้อีกทาง คือเลือกความเป็นพลเมือง (citizen) โดยประชาชนที่เป็นพลเมือง จะทำตัวแตกต่างจากประชาชนที่เป็นราษฎร
แนวคิดความเป็นพลเมือง เกิดขึ้นในสมัยโบราณทั้งทางตะวันตก และตะวันนออก ทางตะวันออกคำว่า พลเมือง เกิดขึ้นที่กรีก ที่มีลักษณะเป็นนครรัฐเล็กๆ พื้นที่ไม่กว้างมากนัก เช่นนครเอเธนส์ มีพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร พอๆ กับกรุงเทพมหานคร และเป็นรัฐเพราะมีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยตัวของมันเอง ถึงเรียกการปกครองยุคนั้นว่า นครรัฐ
ประชาชนที่อยู่ในนครรัฐนั้น ต้องทำตัวเป็นพลเมือง คือเป็นกำลังสำคัญของเมือง คำว่า พลเมือง หรือ citizen ในภาษาฝรั่งนั้น ภาษาไทยเมื่อแปลมาแล้ว ใช้คำว่า พล-เมือง มาจากคำว่า "พละ. ที่แปลว่า กำลัง กับ "เมือง" มาสมาสกัน แปลว่า ต้องเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง เห็นเรื่องของบ้านเมือง เป็นเรื่องของตัว
การที่ อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ กล่าวไว้ว่า มนุษย์คนใดก็ตาม ที่อยู่ในนครรัฐแล้วไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของบ้านเมืองเลย ถ้าไม่ใช่อมนุษย์ ก็เป็นเทพ นี่คือคำพูดของอริสโตเติล
เพลโต (Plato) นักปรัชญาชาวกรีกโบราณอีกคนก็บอกว่า มนุษย์ทุกคนมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เรียกว่า กาย ส่วนที่ 2 เรียกว่า จิต ซึ่งกายประกอบด้วย ส่วนที่เรียกว่า พละศึกษา เพื่อทำให้เกิดกำลังกาย และการแพทย์แพื่อรักษายามเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนจิตนั้น มนุษย์ต้องเป็นการเมือง คือต้องเอาเรื่องของบ้านเมืองมาเป็นเรื่องของตัว ทำเรื่องการออกฎเกณฑ์ ทำเรื่องการบริหาร การตัดสินคดี
นี่คือความคิดของปราชญ์ยุคโน้น จะเห็นได้ว่า ถือเอาความเป็นพลเมือง เป็นหน้าที่ที่ต้องมีต่อบ้านเมือง เขาเน้น "หน้าที่" ที่ต้องมีต่อบ้านเมืองมากกว่า "สิทธิ" ที่ควรมี
จากยุคพลเมือง ยุคกรีก ก็มาสู่ยุคประชาธิปไตย หากศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยก็จะพบว่า มันเกิดขึ้นในยุโรป และในอเมริกาประมาณศตวรรษที่ 18 แนวความคิดเรื่องความเป็นพลเมือง ซึ่งจำกัดอยู่เฉพาะคนที่เป็นสัญชาติของนครรัฐ ไม่รวมไปถึงคนอื่นที่ไม่มีสัญชาติของนครรัฐ เริ่มขยายขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติฝรั่งเศส และมีการออกประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมือง ปี ค.ศ.1789
แปลว่า ขยับจากความเป็นสัญชาติ ความเป็นพลเมือง ไปสู่ความเป็นมนุษย์ แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็นพลเมือง เพราะความเป็นพลเมืองในยุคประชาธิปไตย ที่เริ่มในการปฏิวัติฝรั่งเศส และในสหรัฐอเมริกา เน้นสิ่งที่เป็นคำขวัญของปฏิวัติฝรั่งเศส ก็คือ เสรีภาพ (liberty) เสมอภาค (equality) และภราดรภาพ (fraternity)
ความเป็นพลเมืองจึงมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นในยุคที่ 2 นี้ 3 ประการคือ เน้นความเสมอภาค เน้นภราดรภาพ และเน้นเสรีภาพ
นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ความร่วมแรงร่วมใจ ร่วมทุกข์ร่วมสุข เมื่อมีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อมีสุขก็สุขด้วย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ความมีหน้าที่ต่อบ้านเมืองนั้นยังคงมีเหมือนเดิม หากใครไปศึกษาคำประกาศสิทธิมนุษย์และพลเมืองฝรั่งเศส 1789 ก็จะมีการพูดถึงหน้าที่เสียภาษี หน้าที่ทำตามกฎหมาย หน้าที่เป็นทหาร หน้าที่ไปเลือกตั้ง
มาถึงยุคปัจจุบันความเป็นพลเมือง ก็ไม่ได้อยู่เฉพาะพรมแดนแล้ว มันมีเทคโนโลยีใหญ่โตมโหฬารติดต่อกันได้ชั่วลัดนิ้วมือ เราก็พูดถึงความเป็นพลเมืองของยุโรป วันนี้ ปี ค.ศ.2015 เรากำลังพูดถึงความเป็นพลเมืองของอาเซียน และไปไกลกว่านั้น เรากำลังพูดถึงความเป็นพลเมืองของโลก ที่เรียกว่า Global Citizen
ทั้งหมดนี้ความเป็นพลเมืองจึงเป็นเรื่อง ทันสมัย ทั้งในโบราณ ประเพณี จึงเป็นเรื่องทันสมัย ในปัจจุบัน และก็ยังทันสมัยต่อไปในอนาคต มันจะเป็นแนวความคิดซึ่งทำให้ ประชาชนธรรมดา เปลี่ยนตัวเอง จากราษฎร ที่เป็นผู้รับคำสั่งของผู้ปกครอง และทำตามที่คนอื่นบอกให้ทำ หรือชักจูงให้ทำ ไปสู่ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ของบ้านของเมืองของกิจการบ้านเมือง ซึ่งมันจะต้องอาศัยแนวความคิดเรื่อง ภราดรภาพ ความรับผิดชอบ ความร่วมแรงร่วมใจ ร่วมทุกข์ร่วมสุขเข้ามา และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของบ้านเมือง
ทั้งหมดนี้คือคุณธรรมของความเป็นพลเมือง และความเป็นพลเมืองนั้นสร้างขึ้นได้ในหลายระดับ โดยระดับที่สำคัญ คือระดับครอบครัว ถ้าพ่อแม่มีความเป็นพลเมืองแล้ว การถ่ายทอดลักษณะความเป็นพลเมืองลงไปยังบุตร ธิดา นั้น เป็นไปได้ง่าย แต่หากพ่อแม่มีลักษณะเป็นราษฎร คอยฟังแต่คำสั่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รัฐบาล ช่วยไม่ได้ความเป็นราษฎร ก็จะตกทอดไปถึงบุตรหลานของตนเองเหมือนกัน
มาในโรงเรียน มาในมหาวิทยาลัย การสร้างความเป็นพลเมืองก็มีความสำคัญจากสถานศึกษา สมัยผมเราเรียนหน้าที่พลเมือง ชัดเจนว่า เขาให้ความสำคัญกับความเป็น Citizen เหมือนกับในต่างประเทศวันนี้ ในอังกฤษก็บังคับให้เรียนพลเมืองศึกษา ในอเมริกาก็บังคับให้เรียนเรื่องพลเมืองศึกษา
แต่บ้านเรากลับให้ไปเรียน สปช. สรน.ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดมรรคผลใดๆ ทั้งสิ้น...
วันนี้ความเป็นพลเมือง ปรากฎว่า มีการขยายไปมาก มีการนำแนวความคิดเรื่องนี้ ไปสร้างสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยชุมชน โดยสภาพัฒนาการเมือง ที่ต้องการทำให้คนในชุมชน หมู่บ้าน ตำบลทั้งหลาย มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ที่เรียกว่า Active Citizen เปลี่ยนจากราษฎรที่คอยฟังแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด มาสั่ง เป็นพลเมืองที่ร่วมกันดูปัญหาของชุมชน ถกเถียงกันแล้วไปขอให้องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล จังหวัด นำปัญหาของตัวลงไปบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาตำบล เรียกโครงการนี้ว่า ประชาธิปไตยชุมชน
หรือโครงการสร้างสำนึกพลเมือง ที่สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับหลายแห่งทำมา เป็นสิ่งที่อยู่ในกระแสเดียวกัน
สรุปแล้วความเป็นพลเมืองจะทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นดังต่อไปนี้ อย่างน้อย
ประการแรก เมื่อราษฎรพ้นจากความเป็นราษฎร ไปสู่ความเป็นพลเมือง ก็จะมีความเข้มแข็งในทางการเมืองยืนอยู่บนขาของตัวเอง ไม่ถูกชักจูงได้โดยง่าย เราจะไม่เห็นคนมามองอยู่ในกรุงเทพมหานครด้วยเงินค่าจ้างเพียงไม่กี่บาท
ประการที่สอง เมื่อพลเมืองมีความเข้มแข็ง พลเมืองที่เห็นเรื่องบ้านเมืองเป็นเรื่องของตัว ก็จะเป็นเครื่องดุลและคานอำนาจกับผู้มีอำนาจทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ไม่ให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ทำการตามที่ตัวต้องการ แต่อาจจะไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง
ที่สำคัญก็คือว่า คนที่เป็นพลเมืองนั้นก็จะมีความสามารถในการดุลและคานกับอำนาจทุน ซึ่งเป็นอำนาจเงินมหาศาลอยู่ในบ้านเมืองเราเวลานี้ได้ด้วย
และ ท้ายที่สุด ถ้าคนมีความเป็นพลเมืองกันมากๆ ชักจูงได้ยาก ไม่ว่าจะโดยอามิสสินจ้าง การซื้อเสียงขายเสียงอย่างที่เราพูดถึงกันนั้นก็จะลดลง นี่คืออานิสงส์เพียงบางประการที่ผมคิดว่าความเป็นพลเมืองจะก่อให้เกิด ขึ้น.......