ปาฐกถา::::"วิทยาศาสตร์เพื่ออะไร"
"วิทยาศาสตร์ได้สร้างก็อตซิลล่า ขึ้นมามากมาย
ซึ่งในที่สุดแล้วเราควบคุมไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทุกคนห่วงอยู่ตลอดเวลา"
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแสดงปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 12 ในหัวข้อเรื่อง "วิทยาศาสตร์เพื่ออะไร" โดยศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ณ ห้องกิจกรรม ชั้น 2 หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ช่วงแรก ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงแนวทางปาฐกถา โดยจะพูดถึงวิญญาณของวิทยาศาสตร์ จุดมุ่งหมายของวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม วิทยาศาสตร์กับคุณธรรมและจริยธรรม นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จบท้ายด้วยวิทยาศาสตร์เพื่ออะไร
“..วิทยาศาสตร์ เราต้องยอมรับว่า เป็นศาสตร์ที่เป็นสากล มีจุดกำเนิดจากหลายทาง ที่สำคัญมาจากทางด้านนักปราชญ์ชาวกรีก แต่เรามักจะนึกว่า วิทยาศาสตร์จากตะวันตกเป็นจุดที่สำคัญจุดเดียวทำให้เกิดวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ซึ่งจริงๆแล้ววิทยาศาสตร์จากหลายส่วนของโลกที่ได้มีส่วนพัฒนาวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาศาสตร์และวิทยาการของอิสลาม มีทั้งวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เริ่มก่อนสมัยยุโรป สมัยศตวรรษที่ 7 -8 มีความเจริญก้าวหน้ามา ทางยุโรปเองได้ขอยืมไปจำนวนมาก จีนโบราณก็มีวิทยาการเป็นความรู้ เทคโนโลยีมากมาย ทั้งทางด้านความเป็นอยู่ การรักษาพยาบาล อินเดียก็มีมาก เช่นอายุรเวท เป็นต้น ทั้งหมดหลอมรวมเข้ามาเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นของคู่กัน
วิทยาศาสตร์มี 2 ด้านที่สำคัญ ด้านหนึ่งเป็นด้านความรู้ ความเข้าใจ เป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบ อีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์สิ่งของ ซึ่งด้านการค้นพบ คือการคิดให้เป็น การประดิษฐ์ คือการทำให้เป็น คิดเป็นทำเป็น นำไปสู่ความรู้และประโยชน์ และนวัตกรรมสู่สังคม...
วิทยาศาสตร์จุดสำคัญที่สุดต้องมี “จิตนาการ”
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คือการค้นหาและพิจารณาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในธรรมชาติ ซึ่งในแง่นี้ต้องมีความรู้เดิม เหมือนกับเราค่อยๆ ขึ้นบันได หรือต่อตัวกันขึ้นไป ซึ่งจุดสำคัญที่สุด คือต้องมี “จิตนาการ” เราต้องใช้จินตนาการมากในการตั้งคำถามที่ยังไม่รู้คำตอบ ในการตั้งคำถามต้องมีระบบ ตั้งสมมุติฐาน หาข้อมูลจากการทดลอง หรือการสังเกต ความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ มี 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน เป็นความรู้ประเภทต่อยอดมีทฤษฎี ต่อยอดเพิ่มเติมขึ้นมาให้กว้างขวางลึกซึ้ง แต่นานๆครั้งจะมีความรู้ใหม่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนโลกทัศน์ (Paradigm change)
การทำให้เกิดความรู้ทั้ง 2 ประเภท นักวิทยาศาสตร์ต้องมีวินัยดี รับสิ่งที่คนอื่นค้นพบ ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ต้องมีวิญญาณขบถด้วย รับแต่ไม่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ พยายามหาแนวทาง
ไอน์สไตน์ บอกเอาไว้ ความรู้สำคัญก็จริง แต่จินตนาการสำคัญยิ่งกว่าความรู้ เป็นเรื่องซึ่งหากพิจารณาก็พบว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นความจริงมากขึ้น เพราะความรู้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก แต่ความรู้ใหม่ที่จะมาได้มาจากจินตนาการ เป็นจุดเริ่มต้น
จินตนาการคล้ายน้ำเชื่อม ความรู้คล้ายน้ำตาล
จินตนาการคล้ายน้ำเชื่อม คือ เป็นจุดเริ่มต้นของความหวาน มีโมเลกุลของน้ำตาลกระจัดกระจายในน้ำเชื่ออย่างไม่ระบบ ไร้ขอบเขต ไม่มีขีดจำกัด เมื่อถึงจุดที่จินตนาการได้ผล ก็เหมือนกับน้ำตาลที่ตกผลึกเป็นความรู้ เหมือนเป็นปลายทางของจินตนาการ มีระบบ มีขีดจำกัด
ต่างจากจินตนาการ ก็คือ จากยังไม่ได้ทดสอบ เวิ้งว้างกลายเป็นความรู้ที่ทดสอบแล้วจากความรู้ที่ยังใช้งานไม่ได้ กลายเป็นความรู้ที่ใช้งานได้แล้ว ความรู้ที่ตกผลึกแล้วเราก็สามารถนำไปละลายมีจินตนาการเพิ่มเติมขึ้นไปอีกได้
ที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์มีความคล้ายคลึงกับหลายหลักการทางพุทธศาสนา เช่น ในกาลามสูตร จุดที่สำคัญคืออย่าเพิ่งเชื่อ สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนอื่นบอก หรือแม้แต่อาจารย์ หรือถูกกับทฤษฎีของตน สิ่งเรานี้รับฟังไว้ก่อนแต่อย่างเพิ่งเชื่อ โดยเชื่อพิจารณาอย่างแยบคาย จนกระทั่งเราสามารถสร้างความรู้ของเราเองได้ อย่างที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ...
Albert Szent-Gyoryi ผู้ค้นพบไวตามินซี ท่านได้พูดเอาไว้ว่า วิทยาศาสตร์คือการที่เราได้เห็นสิ่งที่ทุกคนได้เห็น แต่ว่า การค้นพบเกิดขึ้นเมื่อเราได้คิดสิ่งซึ่งคนอื่นยังไม่ได้คิดขึ้นมา
จุดสำคัญของวิทยาศาสตร์ไม่ใช่การค้นพบอย่างเดียว โดยเฉพาะเทคโนโลยีจุดคู่กันของวิทยาศาสตร์ สามารถนำสู่ประโยชน์ได้ด้วย แต่หลายคนยังเข้าใจผิดว่า เหมือนการกดปุ่มได้หรือจากการค้นพบสามารถนำสู่ประโยชน์ได้เสมอ รวดเร็ว แต่ความจริงแล้วเป็นพัฒนาที่ใช้เวลายาวนาน บางครั้งอาจไม่เกิดขึ้น บ่อยครั้งเกิดขึ้นมาด้วยวิธีการที่ไม่ทันถ่วงที
การค้นพบเพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ มักใช้เวลานาน ยกตัวอย่างเช่น เพนิซิลิน Alexander Fleming ค้นพบจากเชื้อราเมื่อ 1928 แต่เป็นยาได้จริงๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหากไม่มีสงครามโลกก็อาจไม่มียา เพนิซิลิน เพราะถึงแม้ค้นพบเพนิซิลิน สามารถต่อต้านการติดเชื้อได้ แต่ไม่มี ใครสามารถสกัดออกมาเป็นจำนวนมาก ผลิตเป็นสารบริสุทธิ์ แต่เมื่อเกิดสงคราม มีความจำเป็น ..
ในระยะหลังผมได้เห็นว่า การค้นพบเพื่อสู่ประโยชน์ต้องผ่านกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์มากมาย มีชื่อนักเศรษฐศาสตร์หลายคน พูดถึงนวัตกรรม วิญญาณของผู้ประกอบการ ถึงทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และกว้างขวาง อันนี้คงเห็นพ้องต้องกันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก
เรามักมองวิทยาศาสตร์ในแง่บวกว่า วิทยาศาสตร์ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น ทำให้สุขภาพดีขึ้น การค้า อุตสาหกรรม บริการ เกษตร แต่เราก็รู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า วิทยาศาสตร์ เปรียบเสมือนมีดสองคม ผมอยากจะคิดว่า มีดสองคม ที่ด้านหนึ่งคมมาก ด้านประโยชน์คมมาก แต่อีกด้านก็บาดได้เช่นเดียวกัน
ด้านลบของวิทยาศาสตร์ เช่นการนำวิทยาการไปทำอาวุธที่ร้ายแรง อาชญากรรมมาจากไอทีมากมาย หรือยาเสพติดมาจากสารเคมีผลผลิตจากวิทยาศาสตร์
ด้านเสี่ยงที่เรายังไม่เข้าใจดีนัก ยกตัวอย่างเช่น การเราสามารถโคลนนิ่งมนุษย์ได้ จะมีผลกระทบอย่างไรกับสังคมมนุษย์ ผลด้านเสี่ยง ที่เรายังไม่รู้ หรือผลของอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อสภาพแวดล้อม โลกร้อน ยังเป็นเรื่องที่มีผลกระทบที่ยังไม่เข้าใจดีนัก
นิวเคลียร์ จีเอ็มโอ ประเด็นต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
ตัวอย่างผลกระทบที่เราเข้าใจมากแล้ว แต่ยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และพืชแปลงพันธ์ (จีเอ็มโอ) หรือเรื่องใหม่ๆ การรักษาโดยเซลล์ต้นกำเนิด นอกจากการโคลนนิ่งออกมาเป็นมนุษย์ หรือสัตว์ ทั้งคนทั้งตัวแล้ว สิ่งที่สามารถทำได้ คือ การโคลนสเต็มเซลล์ ออกมาช่วยทดแทนอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง กล้ามเนื้อ ขณะนี้อยู่ในระยะทดลอง เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า คาบลูกคาบดอกเกิดขึ้น มีการค้าเกิดขึ้นที่ยังไม่พิสูจน์ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ผลหรือไม่ มีประเด็นทางด้านจริยธรรมเกิดขึ้น หรือเรื่องสังคมคาร์บอนต่ำ ไม่ผลิตคาร์บอนไดออกไซต์ หรือสิ่งที่ทำให้โลกร้อนไปกว่านี้
พลังงานนิวเคลียร์เราก็ทราบว่า มีประโยชน์อย่างมาก ขณะเดียวกันตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มีการนำระเบิดนิวเคลียร์ไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายทำให้มีการวิจารณ์ว่า พลังงานเช่นนี้เป็นพลังงานอันตราย น่าที่ต้องคิดให้ดี แม้แต่เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ยังมีประเด็นเรื่องความปลอดภัย
ตรงนี้เราน่าจะมองได้ว่า วิทยาศาสตร์ พยายามรักษาหรือพัฒนาตนเองได้ เมื่อมีเรื่องความปลอดภัย เกิดขึ้นในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็มีความพยายามตลอดเวลาให้มีความปลอดภัยจริงๆ เกิดขึ้น ขณะนี้ โรงงานไฟฟ้าทั้งหลายในโลกนี้ที่ทำกันอยู่ ไม่มีวันเกิดเหตุการณ์แบบเชอร์โนบิล ได้อีกแล้ว เพราะเราได้เรียนจากความผิดที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันนี้ก็จะมีอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งจะต้องมีการเรียนรู้
แต่โดยรวมแล้ว อันตรายจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ หรืออุบัติเหตุต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความเสียหาย นั้น จากพลังงานนิวเคลียร์น้อยกว่าอันตรายจากโรงงานไฟฟ้าทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นด้านถ่านหิน หรือด้านอื่นๆ ตรงนี้เป็นประเด็นที่จะต้องนำมาคิด
ส่วนจีเอ็มโอ ทั่วโลกใช้กันมาก เช่นสหรัฐฯ หรือในเอเชียจำนวนมาก แต่ประเทศไทยยังไม่ชัดเจน ยังมีกฎหมายที่ทำให้เราไม่สามารถใช้ได้ แต่มีเรื่องมะละกอ ซึ่งมีโรคไวรัสมากมายทำให้การผลิตมะละกอ ยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถปลูกได้ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า จะคุ้มหรือไม่คุ้มจะพัฒนาพืชประเภทจีเอ็มโอที่ปลอดภัย
หลายคนเสนอว่า หากเป็นห่วงเรื่องสารอาหารเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นเราอาจพัฒนาพืชจีเอ็มโอประเภทพืชพลังงาน ดอกไม้ ที่เราไม่ได้รับประทานเข้าไป ตรงนั้นอาจเป็นแนวทางหนึ่งได้ ...
ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่เมื่อเราคิดไปแล้ว หลายท่านอาจชอบดูหนังผจญภัย อสูรกาย แต่ผมคิดว่าหนังอย่างก็อตซิลล่ามีความลึกซึ้ง เป็นผลมาจากญี่ปุ่นโดนระเบิดนิวเคลียร์ ทำให้สังคมญี่ปุ่นคิดตรงนี้มาก ความไม่ปลอดภัยของวิทยาศาสตร์ ทำให้สัตว์ประเภทก็อตซิลล่า เดิมมีอยู่แล้วโผล่มารังควานมนุษย์ จึงมีการคิดกันว่า วิทยาศาสตร์ได้สร้างก็อตซิลล่า ขึ้นมาใช่หรือไม่
เร่งสร้าง ธรรมาภิบาลวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์ได้สร้างก็อตซิลล่า ขึ้นมามากมาย วิทยาศาสตร์สร้างอสูรกาย ซึ่งในที่สุดแล้วเราควบคุมไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทุกคนห่วงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เราไม่สามารถบอกได้ว่า วิทยาศาสตร์ไม่ดี ต้องทิ้งไปทั้งหมด แต่เราต้องมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่าง ในปัจจุบันทุกเรื่องเราพูดถึงธรรมาภิบาล ผมเองอยากเสนอว่า ไม่ว่า เราจะมีธรรมาภิบาลด้านอื่นๆ อีกด้านที่เราหลบไม่ได้แล้ว คือ
ธรรมาภิบาลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะพูดถึงจริยธรรม ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์อะไรขึ้นมา มีประโยชน์ โทษ ความเสี่ยง เท่าไร่ หรือจรรยาบรรณเกี่ยวข้อง
เช่น หากยังไม่รู้ว่าโทษมากน้อยเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง ยังไม่รู้ว่าการโคลนนิ่งมนุษย์ โคลนมาได้แล้ว มนุษย์จากการโคลนนั้นจะมีปัญหามากน้อยอย่างไรกับสังคม เราอาจต้องหยุดไว้ก่อน
อาจเป็นเรื่องจรรยาบรรณทั่วๆ ไป ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การใช้สารเคมี การเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ พืช เอามาใช้บริโภค ก็ต้องมีจรรยาบรรณ และมีหลักสูตรการวิจัยด้านจริยธรรม คุณธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสถาบันการศึกษา
หากจำเป็นอาจต้องมีกฎหมาย ระเบียบ แต่ตรงนี้อยากให้เป็นทางเลือกสุดท้าย หรือค่อนข้างสุดท้าย เพราะไม่อยากให้มีกฎหมายต่างๆ ขึ้นมาผูกมัดอิสระในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากนัก
วิทยาการของไทยเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการของมนุษย์ โลก พัฒนาเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตโดยทั่วไป มีความเป็นตัวของตัวเอง สังคมไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีความคล้ายคลึงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรามีอิทธิพลจากตะวันตก ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่ง สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4
วัฒนธรรมบ้านเชียง ความรู้ด้านโลหะวิทยา เครื่องปั่นดินเผา เรื่องกายภาพบำบัด หรือเครื่องมือใช้ในเกษตรกรรม ของเล่นเด็ก นี่ก็คือเครื่องมือใช้หลักการทางฟิสิกส์
รวมทั้งมะเกลือ ใช้ถ่ายพยาธิ จิตกรรมฝาผนัง ตัวอย่างการใช้สีจากสารธรรมชาติ
วิทยาศาสตร์จากตะวันตกและวิทยาการของไทย หลายอย่างผสมผสานไปด้วยดี แต่หลายอย่างขัดกับความเชื่อของสังคมดั่งเดิม แม้ปัจจุบันก็สู้กันอยู่ เช่น ดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์ ที่ศึกษาเรื่องดวงดาว คู่กันก็จริงแต่ก็คู่กัดกันด้วย ในประเทศไทย ผมว่า โหราศาสตร์ น่าจะชนะ
หรือกรณีหมอบลัดเลย์ มีคุณูปการกับประเทศไทยมาก ท่านเป็นผู้นำเครื่องพิมพ์มาใช้เป็นคนแรก ขณะเดียวกันก็เป็นที่รู้กันว่าหมอบลัดเลย์ โจมตีเรื่องแพทย์แผนโบราณของไทยมากว่าเป็นความเชื่อที่ล้าสมัย ไม่ดี สู้แพทย์สมัยใหม่ไม่ได้
ในอนาคตหากเราต้องการสร้างสังคมที่ดีต่อไปเมื่อเราดูว่ารากฐานของเรามาอย่างไร วิทยาการจากทั่วโลก การนำไปใช้ประโยชน์นั้น เราคงต้องมีนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนลยที่เหมาะสม ต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชาชน มีแรงจูงใจด้านภาษี การเงิน เพื่อทำให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้
ขณะนี้ภาคเอกชนมีการวิจัยน้อยมากทำให้การแข่งขัน สู้ข้างนอกไม่ได้ ดังนั้นต้องมีมาตรการสนับสนุน และเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรม
การวิจัยและพัฒนาจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ตอนนี้เรามีงบประมาณและกำลังคนสำหรับการวิจัยและพัฒนาอยู่น้อยมาก ภาคเอกชนก็น้อยมาก เราต้องมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสร้างเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรม แหล่งน้ำ พลังงานหมุนเวียน หรือการดูแลตัวเอง สุขภาพ การพัฒนาวิถีชนบทที่เหมาะสม
เปิดตัวเลขความอ่อนด้อยด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์
ความอ่อนด้อยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทย โดยเฉพาะด้านการสนับสนุนโดยทั่วไป ค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และจำนวนนักวิจัย จะเห็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนของการวิจัย และพัฒนาประมาณ 2-3 % ของ GDP และมีนักวิจัยมาทำงานประมาณ 5,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน
ประเทศไทยมีสัดส่วนน้อยมากประมาณ 0.2% ของ GDP สัดส่วนนี้ติดอยู่อย่างนี้มา 20- 30 ปีแล้ว มีนักวิจัย 600 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน ในการทำการวิจัยและพัฒนา
รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายและแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 พยายามมุ่งว่า ปี 2015 จะมีนักวิจัยประมาณ 15 คน ต่อประชากร 1 หมื่นคน หรือ มีนักวิจัย 1,500 คนต่อประชากร 1 ล้านคน และงบฯ วิจัยและพัฒนา 1 % ของ GDP และยังระบุว่า เป็นของภาคเอกชนประมาณ 70 % จะเห็นว่า เรายังต้องไปอีกไกลมากเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในโลกนี้
วิทยาศาสตร์เป็นแกนในของสิ่งที่มีความสำคัญต่อสังคม วิทยาศาสตร์คู่กันกับเทคโนโลยี ทำให้เกิดนวัตกรรมสู่สังคม เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่งตนเองได้
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่สามารถแยกจากกันได้ เหมือนต้นไม้
มีหลายคนบอกว่าเอาแต่เทคโนโลยีอย่างเดียวได้หรือไม่ ที่เหลือสั่งเข้ามา ก็คล้ายกับการปลูกต้นไม้ อยากให้มีผล อย่างเดียว ไม่ต้องมีต้น มีกิ่ง มีใบ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ การปลูกต้นไม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราต้องมีวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เป็นเหมือนราก ลำต้น ต้องมีวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่เหมือนกิ่ง ก้านใบ แล้วถึงจะมีเทคโนโลยีเป็นผลขึ้นมาได้…..
โดยสรุป วิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ใช้เหตุผล และจินตนาการ เพื่อสร้างความรู้และปัญญา ขณะเดียวกันก็สร้างประโยชน์ในระดับบุคคลและสังคม รวมทั้งสังคมโลก แน่นอนว่า มีผลกระทบเชิงลบ หากใช้ไม่ถูกต้องหรือขาดความเข้าใจ นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีย่อมมีความสำคัญในการพัฒนาสังคม วิทยาศาสตร์ไม่ใช่สมบัติของสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นของมนุษย์ทั้งหมด ช่วยเสริมสร้างความเป็นมนุษย์
แนวคิดเช่น “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” น่าจะเป็นกรอบในการนำวิทยาศาสตร์ มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่พึงประสงค์ได้"