ปาฐกถา::: ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ “ประชาธิปไตย 3 ระดับ ปฏิรูปด้วยชุมชน”
วันที่ 1 มีนาคม คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดเวที "ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย" โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ประชาธิปไตย 3 ระดับ ปฏิรูปชุมชน" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวถึงประเด็นที่จะพูดในวันนี้ คือ เรื่อง “ประชาธิปไตย 3 ระดับ ปฏิรูปด้วยชุมชน” อันที่จริงผมเคยพูดเรื่องประชาธิปไตย 2 ระดับมาแล้ว คือ ประชาธิปไตยระดับชาติ และระดับท้องถิ่น แต่จากการค้นคว้าก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงกระบวนการ เห็นความเคลื่อนไหวของชุมชน ก็ได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชน และคิดได้ว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทยมี 3 ระดับ คือ ประชาธิปไตยระดับชาติ ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น และประชาธิปไตยระดับชุมชน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ ที่เราต้องคำนึงเสมอว่า บ้านเมืองมี 3 ระดับที่ยุบรวมกันไม่ได้ และขาดระดับใดก็ไม่ได้ ให้เป็นฐานคิดที่สำคัญว่า มีชาติ ต้องมีท้องถิ่นด้วย ซึ่งก็หมายถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
แต่ที่ขาดไม่ได้อย่างยิ่งยวด คือ ชุมชน ทั้งที่เป็นเขตพื้นที่ หรือุชมชนที่มีภารกิจร่วม เช่น สมาคมศิษย์เก่า มูลนิธิก็เป็นชุมชน ทั้ง 3 อย่างนี้สำคัญทั้งสิ้น ฉะนั้นทุกครั้งที่เราร้องเพลงชาติ ให้ระลึกเสมอว่า มีท้องถิ่น มีชุมชนอยู่ด้วย
ถ้ามองในแง่ที่เป็นสามเหลี่ยม ตามที่ นพ.ประเวศ วะสี มองแล้วนั้น จะพบว่า ชุมชนเป็นฐาน ท้องถิ่นก็จะอยู่กึ่งกลาง และชาติก็จะอยู่บนสุด สิ่งที่เป็นอุปสรรคกับการพัฒนาประชาธิปไตย คือ คนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าทั้ง 3 ระดับใช้ประชาธิปไตยแบบเดียวกัน คือ ประชาธิปไตยแบบที่เลือกผู้นำมาทำหน้าที่แทน
วันนี้ผมอยากจะเพิ่มเติมจากที่เราเคยถูกสอนแค่คำว่า ประชาธิปไตย ให้คิดเพิ่มด้วยว่าประชาธิปไตยที่ไหน ระดับใด และแต่ละระดับไม่ควรจะเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องไม่ไปเลียนแบบประชาธิปไตยระดับอื่น ไม่เลียนแบบประชาธิปไตยระดับชาติ ต้องพยายามทำประชาธิปไตยในแบบของตนเองที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยชุมชน’
เมื่อก่อนนี้ ระบอบประชาธิปไตยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชน ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่ผู้นำ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ แม้สิ่งเหล่านั้นจะสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชน นิยามของประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะประเทศไทยเรานั้นมักจะไปเน้นด้านเพื่อประชาชน ถ้าถามว่าการปกครองทั้ง 3 อย่างนี้อะไรสำคัญที่สุด คนไทยมักจะตอบว่า การปกครองเพื่อประชาชนสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำเพื่อประชาชน ที่บอกว่าผิดเพราะว่า การปกครองแทบทุกระบอบที่เคยมีมา และที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ล้วนแต่อ้างตนเองว่าทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น และบางคนก็ทำเพื่อประชาชนจริงๆ แต่นั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยจะมีลักษณะพิเศษ คือเป็นการปกครองของประชาชนด้วย และก็เป็นการปกครองโดยประชาชนเองด้วย แต่ถ้าเป็นการปกครองที่เน้นทำเพื่อประชาชนอย่างเดียว จะไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกรัก รู้สึกเป็นเจ้าของที่จะร่วมดูแล และไม่ให้ประชาชนทำอะไรเลย อย่างนี้ก็ไม่ได้เรียกว่าประชาธิปไตย
อยากจะเสนอให้ทุกคนรู้จักว่า ทำอย่างไรที่ให้การปกครองเป็นของประชาชน และให้เป็นการปกครองโดยประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกนาย แต่ทุกวันนี้ประชาธิปไตยที่เราทำกันในระดับชาติค่อนข้างเป็นไปในทางการเลือกนาย ทุกวันนี้เราเลือกผู้แทน ให้ผู้แทนมาเป็นนายเรา ในที่สุดพอไปเป็นรัฐมนตรี ไปเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็ยังรู้สึกว่าเขาเหล่านั้นเป็นนายของเรา ก็นับว่าถูกในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่หัวใจของประชาธิปไตย
เพราะหัวใจของประชาธิปไตย คือ ทำอย่างไรจะให้คนได้รู้สึกเป็นเจ้าของ ให้คนรู้สึกว่าได้ทำอะไรให้บ้านเมืองโดยตรงมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือต้องปกครองตนเองให้มากที่สุดของสามัญชน ของคนธรรมดา แน่นอนเราไม่ได้รังเกียจชนชั้นกลาง ชั้นสูง เราไม่ได้รังเกียจนักวิชาการ แต่ปัญหาของประชาธิปไตยไทยในเวลานี้ต้องให้กลุ่มคนธรรมดาขึ้นมามีส่วนร่วม ผมคิดว่าประชาธิปไตยไทยวันนี้น่าจะมาถึงเวลาที่ประชาชนจะเข้ามาร่วมในการ ปฏิรูปประชาธิปไตยด้วยตนเองได้
ที่กล่าวอย่างนี้เพราะคิดว่า เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่ง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ เริ่มเห็นประชาชนในบ้านเมืองเรา ลุกขึ้นมาต่อต้าน เคลื่อนไหว ทำกิจกรรม ต่อสู้ แน่นอนย่อมมีแกนนำอยู่ด้วย แต่ในความเป็นประชาชนไม่ว่าจะมีสีเหลือง สีแดง สำน้ำเงิน สีต่างๆ หรือผู้ที่ไม่เอาสีก็ตาม มีประเด็น มีการเรียกร้อง กดดัน ต่อสู้ มีผิด มีถูก มีควร มีไม่ควร มีสันติ มีอดกลั้น และก็มีความไม่สงบ มีความรุนแรง แต่พอถึงที่สุดแล้ว ถ้ามองในแง่ดีประชาชนเริ่มเข้ามา เริ่มเป็นยุคของประชาธิปไตยแล้ว ประชาธิปไตยไทยมาถึงขั้นที่ไม่ได้มีแต่เพียงนักศึกษา ปัญญาชน ชนชั้นกลาง ชั้นชนสูงเท่านั้นที่สำคัญ แน่นอนว่ายังสำคัญอยู่ แต่ชนชั้นกลาง คนจน คนชายขอบ ทั้งในชนบทและในเมือง ซึ่งก็เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ขึ้นมาสู่เวทีการพัฒนาประชาธิปไตย ได้เข้ามามีส่วนในการบอกว่านิยามของประชาธิปไตยคืออะไร และที่สำคัญคือได้มาบอกกับคนอีกส่วนหนึ่งของสังคมให้ได้ทราบว่า เวลานี้ประชาธิปไตยกำลังมาสู่กระแสประชาชนแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะกระแสประชาชนนั้นเป็นกระแสที่ต้านทานยาก
ถ้าเราสนใจประชาธิปไตย โดยไม่สนใจประชาชน และไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ให้คุณค่ากับประชาชน ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะปกครองได้
กลับมาที่ประชาธิปไตยอีกครั้ง อยากจะให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ของตะวันตกล้วนๆ บางคนคิดและพูดอยู่เสมอว่าประชาธิปไตยเป็นของฝรั่ง สังคมไทยไม่มีประชาธิปไตย สังคมตะวันออกมีประชาธิปไตย และมองว่าประชาธิปไตยกำเนิดที่ประเทศกรีก แต่หลังจากที่ผมได้ไปค้นคว้า ก็ได้พบว่าประชาธิปไตยเริ่มที่ตะวันออก ที่ปัจจุบันคือประเทศอิรัก อิหร่านและตะวันออกกลาง ที่มีสภาโบราณ มีการปรึกษาหารือ มีคล้ายๆ สภาชุมชนของเราอยู่ จากนั้นจึงค่อยๆ ถ่ายถอดไปยังประเทศกรีก ซึ่งอยู่ทางตะวันตก ฉะนั้นประชาธิปไตยก็ไม่ได้เป็นเรื่องของฝรั่งอย่างเดียว
และเพื่อให้เป็นที่ภูมิใจมากขึ้น ในศาสนาพุทธ ประเทศอินเดีย ชมพูทวีป แคว้นที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ โดยเฉพาะกรุงกบิลพัสดุ์ ก็มีการปกครองแบบที่เรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย มีการประชุมของสภา เพื่อปรึกษาหารือกันในการปกครอง และหานโยบายเพื่อบ้านเมือง โดยใช้วิธีร่วมแรง ร่วมใจกัน ไม่มีลักษณะที่ผู้นำคนเดียวตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง อย่างที่เราเห็นในสมัยนี้ ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมพระพุทธองค์ ตรัสอะไรที่ทันสมัยมากเสมอ เช่น ต้องประชุมสม่ำเสมอ มติอะไรที่ตกลงกันแล้วยกไม่ยกเลิกต้องถือตามนั้น เป็นต้น
ส่วนในศาสนาอิสลาม ก็เป็นต้นกำเนิดเรื่องความคิดประชาสังคม สิ่งที่ศาสนาอิสลามใช้ในการบริหารจัดการมัสยิด บริหารจัดการศาสนสถาน ก็ล้วนเป็นหลักที่ว่า รัฐอยู่ส่วนรัฐ สังคมอยู่ส่วนสังคม โดยที่รัฐไม่เข้าไปแทรกแซงในการบริหารจัดการด้วยตนเองได้ ลงทุนด้วยตนเองได้ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ศาสนาอิสลามได้เกิดประชาสังคมขึ้นมา
ดังนั้น เราจะสร้างประชาธิปไตยจากพื้นฐานตะวันตก หรือตะวันออกก็ได้ ประชาธิปไตยเป็นของทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ประชาธิปไตยที่มีคนส่วนใหญ่เป็นศาสนาใดก็สามารถสร้างประชาธิปไตย สร้างความชอบธรรมผ่านศาสนาของตนเองได้ เรามีความภูมิใจ มีความชอบธรรม และสามารถที่จะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยตามแบบของตนเองได้
จินตนาการใหม่ของประชาธิปไตย หรือกระบวนความคิด กระบวนทัศน์เกี่ยวกับประชาธิปไตย ที่อยากจะนำเสนอให้ทุกคนที่อยากจะสร้างชุมชนท้องถิ่นว่า อยากให้มองว่าประชาธิปไตยมี 3 ระดับ แต่ละระดับไม่เหมือนกัน มีทั้ง ประชาธิปไตยระดับชาติ ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น และประชาธิปไตยระดับชุมชน ต้องย้ำตรงนี้ เพราะคนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องความคิด คนไทยสนใจแต่เรื่องทำ คนไทยทำเก่ง แต่คิดไม่ค่อยเก่ง และการคิดไม่ค่อยเก่ง การไม่ฟัง ไม่อ่าน จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติมาก ผมไม่แยกสองอย่างออกจากกัน การคิดกับการปฏิบัติต้องไปด้วยกัน ถ้าเราอยากปฏิบัติให้ดีต้องคิดให้ดี ต้องพยายามหาความคิด หาทฤษฎี หากระบวนทัศน์ให้ดี ต้องสนใจว่า 3 อย่างไม่เหมือนกัน แต่คนไทยเป็นคนที่แปลกคือทำได้ก่อนคิด
ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนให้ทุกคนคิดสักนิดว่า เราจะทำชุมชนท้องถิ่นไปด้วยความคิดอะไร กระบวนความคิดแบบไหน ด้วยทฤษฎีแบบไหน เราควรจะทำแบบประชาธิปไตยท้องถิ่น ซึ่งสำคัญที่สุดในความเห็นผม เป็นพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตยทั้งหมด เป็นโรงเรียนฝึกพลเมืองที่ดียิ่ง และประเทศไทยต้องการพลเมืองมาก แม้จะมีประชาชน มีคนยากจนจำนวนมาก แต่ประชาชนขาดพลเมืองมากที่สุด และคนยากจนก็เป็นพลเมืองได้ คนทุกคนก็เป็นพลเมืองได้
คำว่าพลเมือง หมายถึงประชาชนที่กระตือรือร้นอยากจะเข้ามาจะช่วยบ้านเมือง ไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่เป็นเพียงผู้รับนโยบาย และไม่เป็นเพียงผู้หย่อนบัตร พลเมืองจะต้องเป็นคนที่ชอบ และสนใจบ้านเมือง อยากจะทำให้บ้านเมืองดี และก็ไม่ฝากบ้านเมืองไว้กับผู้นำเท่านั้น เมื่อมีปัญหาจะไม่ถามว่า ผู้นำจะทำอย่างไร คิดอย่างไร รวมทั้งผู้นำระดับชาติด้วย ต้องเลิกความคิดว่าเป็นแค่ผู้น้อย เป็นผู้อ่อนหัด เราจะต้องมีความคิดใหม่ เพราะในทางเศรษฐกิจเราอาจจะยากจน ในทางการศึกษาเรายังอยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในทางหัวใจต้องไปให้ถึงที่สุด คือ พลเมือง ที่ไม่สนใจแค่ใครจะมาบริหารบ้านเมือง แต่ต้องสนใจ และเข้าใจปัญหาบ้านเมือง รวมถึงพยายามที่จะอาสามาทำงานให้บ้านเมือง
เราสามารถทำได้มากที่สุดในระดับชุมชน ทำได้รองลงไปในระดับท้องถิ่น และทำได้น้อยมากในระดับชาติ ชุมชนที่สำคัญที่สุดคือชุมชนที่ท้องถิ่นทั้งหลาย ฉะนั้นแนวทางในการปฏิรูปประชาธิปไตยของเรา เราต้องกลับความสำคัญของสามเหลี่ยม เอาความสำคัญไปอยู่ที่ฐาน ให้ชุมชนและท้องถิ่นมีความสำคัญมากขึ้น ส่วนในระดับชาตินั้นก็ไม่ต้องให้ความสำคัญมากนัก และอย่าไปฝากความหวังไว้มาก อย่าไปท้อแท้ผิดหวังกับส่วนนั้น แต่เราก็ต้องใช้ประโยชน์จากส่วนนั้น ต้องกดดันส่วนนั้น แต่ก็ไม่ได้ยุให้ไปเป็นปรปักษ์กัน ชาติ ท้องถิ่น และชุมชนต้องไปด้วยกัน แต่ขณะเดียวกันต้องมีความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ต้องไม่คล้อยตาม หรือเลียนแบบ ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเรากำลังทำประชาธิปไตยอยู่ในระดับไหน
ประชาธิปไตยระดับชาติเป็นเรื่องที่อยู่สูง และใหญ่มาก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน 60 กว่าล้านคน แต่ที่ระดับชุมชนท้องถิ่น ที่มีคนไม่กี่ร้อยคน สามารถทำประชาธิปไตยในอีกรูปแบบหนึ่งได้ เราควรจะมองว่า ประชาธิปไตยมี 3 แบบ คือ หนึ่ง ประชาธิปไตยทางอ้อม ที่เรารู้สึกเสมือนว่าเป็นประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ที่ได้มาจากการไปเลือกตั้งผู้แทนมาใช้อำนาจแทนเรา และมาทำให้เกิดประโยชน์กับเรา ซึ่งประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่นี้ แต่ในประเทศไทยส่วนใหญ่สอนกันมาแต่แบบนี้ เลียนแบบแต่แบบนี้ทั้งหมด พอมาทำในส่วนท้องถิ่น ก็คิดว่าต้องทำแบบเดียวกับระดับชาติในรูปแบบที่ย่อกว่า
ที่จริงแล้วประชาธิปไตย ยังมีในรูปแบบ สอง ประชาธิปไตยทางตรง คือ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่เลือกตั้ง ต้องมีส่วนเข้ามารับรู้ปัญหา แก้ปัญหา เข้ามาพัฒนา มีวิธีการระดมทรัพยากรของตนเอง แต่จะไม่อยู่เฉยๆ แล้วแค่ไปเลือกตั้งเท่านั้น เราจะต้องคิดถึงเรื่องการทำประชาธิปไตยทางตรง เช่นถ้าโรงเรียนที่ท่านอยู่ไม่ดี ก็จะไม่เพียงแต่ร้องเรียน หรือส่งหนังสือไปประท้วง ไปให้หนังสือพิมพ์ด่า แต่ต้องร่วมกันเองว่าทำอย่างไรจะให้โรงเรียนของเราดีขึ้น ไม่ใช่คิดแค่ว่าเราเป็นผู้ส่งลูกไปเข้าโรงเรียน แต่ทางใดที่จะทำให้โรงเรียนดีขึ้นเราจะต้องอาสาเข้าไปช่วย
ส่วนประชาธิปไตยแบบที่สาม คือ ประชาธิปไตยแบบที่รัฐกับสังคมแบ่งอำนาจสาธารณะกัน ในประเทศไทยอำนาจสาธารณะถูกกำหนดให้อยู่ที่รัฐหมด เรียกว่าอำนาจอธิปไตย ส่วนสังคมจะมีอำนาจอยู่บ้างคือเมื่อรัฐมอบหมายให้ ในวันนี้จะนำเสนออีกแนวคิดหนึ่ง ซึ่งก็มีคนคิดอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ว่าในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีคนคิดกัน คือหลักอำนาจสาธารณะ เช่น อำนาจในการดูแลความปลอดภัย อำนาจในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน อำนาจในการจัดการศึกษา จริงๆ แล้วสามารถแบ่งกันระหว่างรัฐกับสังคมได้ รัฐไม่จำเป็นต้องผู้ขาดอำนาจอธิปไตย และอำนาจที่แบ่งกับสังคมได้ รัฐก็จะไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่สูงกว่า แต่เป็นผู้เสมอกันกับสังคม เพียงแต่ว่าหนึ่งในความคิดเท่าเทียมกัน แต่จะไม่ใช่เรื่องของสูงต่ำ รัฐจะต้องสนใจสังคม สนใจชุมชน จะต้องให้เกียรติ ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน และถือว่ามีความชอบธรรมที่จะมาร่วมแก้ปัญหาบ้านเมือง ดังนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องบ้านเมืองก็ต้องนึกถึงทั้งระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น และระดับชาติเท่าเทียมกัน
สำหรับประชาธิปไตยระดับชาติ หมายถึง การเลือก สส. สว. การอภิปรายในรัฐสภา การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แม้บางครั้งจะเลือกตั้งที่ท้องถิ่นบ้านเราก็ตาม ซึ่งประชาธิปไตยระดับชาติใช้ประชาธิปไตยแบบทางอ้อมมากที่สุด ใช้การเลือกตั้ง มันเป็นความจำเป็นที่ประชาธิปไตยระดับชาติจะใช้แบบอื่นไม่ได้
ส่วนประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นต้องไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ต้องใช้ทั้งหนึ่งกับสอง คือประชาธิปไตยทางตรงกับทางอ้อมรวมกัน ต้องพยายามคิดตลอดเวลาว่าประชาธิปไตยท้องถิ่นต้องไม่เหมือนชาติ ต้องหมั่นเอาประชาชนมามีส่วนร่วม หมั่นขอความคิดจากประชาชน หางบประมาณที่ให้ประชาเข้ามามีส่วนร่วม อย่าว่าจ้างอย่างเดียว ต้องสร้างบรรยากาศให้คนอยากอาสามาช่วย ใช้กฎระเบียบของทางราชการให้น้อยลง การเลียนแบบส่วนกลาง การเข้าใกล้รัฐบาลแห่งชาติมากเป็นความคิดที่ผิด
ถ้าสามารถทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของถือว่าสำเร็จ แต่ถ้าประชาชนรู้สึกว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนรัฐบาลกลาง ถือว่าล้มเหลว ต้องไม่คิดแค่ว่าเลือกตั้งคราวหน้าจะชนะหรือไม่ ถ้าจะยกระดับประชาธิปไตย การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องไม่เลียนแบบส่วนกลาง ถ้าส่วนกลางทำอะไรที่ท่านไม่พอใจ ท่านต้องอย่าทำตาม ผมเชื่อว่าท้องถิ่นจะดีขึ้น
ในการกระจายอำนาจ หัวใจอยู่ที่ระดับท้องถิ่น ขณะเดียวกันขึ้นอยู่กับผลงานของผู้ปกครองท้องถิ่นด้วย หากผลงานเข้าตาประชาชนอำนาจก็จะอยู่ที่ท้องถิ่น แต่ต้องไม่เข้าตาในรูปแบบการเมืองระดับชาติ อย่างท้องถิ่นต้องการทำเรื่องการศึกษาให้ดีต้องสนับสนุน หากมีคนอาสาเข้ามาพัฒนาท้องถิ่นต้องสนับสนุน ซึ่งต้องคิดเรื่องงบประมาณเสียใหม่ เปิดโอกาสให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ให้ประชาชนร่วมกันออกแบบงบประมาณของตนเอง ที่สำคัญอยากเน้นว่า อย่าให้เหมือนกับการเมืองระดับชาติที่มีแต่การแก่งแย่ง กัน ซึ่งในระดับชาตินั้นมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงยากรูปแบบดังกล่าว แต่การเมืองท้องถิ่นไม่ต้องไปเลียนแบบ ต้องเป็นการเมืองแห่งการออมชอม การเมืองแห่งความรักสามัคคีให้มากเป็นพิเศษ
ฉะนั้นอยากจะฝากเอาไว้ หากมีโอกาสได้ขึ้นเป็นนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะทำอย่างไรให้คนที่คิดไม่เหมือนกันมาทำงานกับเรา หากเอาหัวหน้าฝ่ายค้านมาทำงานร่วมกันไม่ได้ ก็ให้เอาคนที่อยู่ระดับรองลงมาทำ
อย่าละทิ้งฝ่ายค้าน สนใจฝ่ายค้านเข้ามาทำงานร่วมกัน ทำไมท้องถิ่นถึงมีฝ่ายค้านมากไม่ได้ เพราะท้องถิ่นพื้นที่น้อย บางท้องถิ่นมีเพียง 1000 คน หากเป็นฝ่ายค้านเสียครึ่งหนึ่งก็ทำอะไรไม่ได้ มีแต่เรื่องชวนปวดหัว ฉะนั้นท่านทั้งหลายหากจะเป็นนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะต้องเป็นคุณปรองดอง คุณสมานฉันท์ คุณสามัคคีให้มาก ไม่ต้องไปเลียนแบบคนจากส่วนกลาง เพราะคนส่วนกลางภาระหน้าที่คือห้ำหั่นกัน แม้เราจะไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่โดยโครงสร้างก็ทำให้มันเกิดขึ้น แต่ที่ท้องถิ่นต้องพยายามอย่าให้เกิดขึ้น
ส่วนประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งคือ รัฐกับสังคมแบ่งอำนาจสาธารณะ นี่คือสิ่งที่จะมารองรับชุมชน หากชุมชนมีความชอบธรรม มีความศักดิ์สิทธิ์ มีเกียรติยศของตนเอง สังคมเนื้อในที่เป็นตัวตนของตนเอง ประชาธิปไตยชุมชนจะต้องใช้แบบผสมผสานระหว่างรัฐกับสังคมแบ่งอำนาจ และประชาธิปไตยแบบทางตรง ฉะนั้นการฝึกอบรมอะไรก็ตาม ควรจะฝึกอบรมที่หน่วยงาน อย่างเช่น พนักงานท้องถิ่น นักชุมชนสัมพันธ์ พนักงานท้องถิ่นต้องเน้นคนที่ไปทำงานที่ไหนแล้วคนรัก ส่วนเรื่องชุมชน ต้องทำให้คนรักชุมชน ทำให้คนรู้เรื่องชุมชน แต่ขณะนี้ความรู้ของเรามีแต่ความรู้เรื่องชาติ เรื่องของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ท้องถิ่นค่อนข้างน้อย ฉะนั้นท่านทั้งหลายเวลาเห็นคนหนึ่งคน โดยปกติจะคิดอย่างเดียวว่าเขาเป็นคนชาติไทย ในแต่ยุคที่ประชาธิปไตยกำลังเดินไปข้างหน้า อยากฝากให้คิดไว้อีก 2 อย่างด้วยว่า คนๆ นี้เป็นคนท้องถิ่นไหน จังหวัดใด
ดังนั้น คนหนึ่งคนควรจะภูมิใจในสิ่งที่ตนเองมี เพื่อเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น
สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยชุมชนไปได้ดี สิ่งที่สำคัญประการแรกจะต้องทำให้คนมีจิตอาสา จิตสาธารณะ ต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน หากเป็นผู้นำชุมชน จะต้องทำให้สมาชิกในชุมชนรักชุมชน ภูมิใจชุมชน อยากจะทำอะไรให้ชุมชน ทำชุมชนให้เหมือนครอบครัว ในครอบครัวจะทำให้เราคิดอะไรอีกแบบหนึ่งไม่เหมือนกับการเมืองระดับชาติ ที่เป็นสองขั้วแข่งกัน
อย่างเวลาอาบน้ำในครอบครัว เราจะถอดสร้อยคอทองคำไว้ที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่าคนในครอบครัวจะเอาไป เวลาลูกประสบความสำเร็จในการเรียนเราก็ภูมิใจ ภรรยามีความก้าวหน้าในการงานเราก็ภูมิใจ ต้องสร้างคำว่า “ของเรา” ให้เกิดขึ้น ชุมชนอย่ามัวแต่ทำกิจกรรม อย่าวัดความสำเร็จว่าทำนู่นนี่ได้เท่าไหร่ ผลงานเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือทำให้คนรักชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน ชุมชนทำให้คนมีความสุขแค่ไหน หากเราเห็นเด็กในชุมชนเจริญก้าวหน้าและเราภูมิใจอันนี้เป็นเรื่องที่ดี ฉะนั้นต้องสร้าง “หัวใจ” ชุมชนขึ้นมา ทำให้คนอยากเสียสละเพื่อชุมชน
ประการต่อมา ต้องทำอย่างไรให้คนรู้เรื่องชุมชนให้มาก เช่นชุมชนมอญ หรือชุมชนเขมรปัจจุบัน อาจจะกำลังลืมเรื่องราวของตน ฉะนั้นจึงอยากให้เพิ่มเรื่องของท้องถิ่นเข้าไป เพื่อทำให้คนในท้องถิ่นรู้เรื่องของชุมชนตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยากฝากไว้