สัมภาษณ์ :::: “นิพนธ์ พัวพงศกร” ทวงถามสำนึก “ก่อนยุบสภาฯภาษีที่ดินต้องเกิด”
ห้วงที่รัฐบาลยังออกอาการน้ำท่วมปากว่า จะรับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปที่เสนอให้ปฏิรูปที่ดิน 5 มาตรการหลักไปดำเนินการหรือไม่ “รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร” ประธาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้ออกมาวิพากษ์ปัญหาเชิงโครงสร้างของที่ดินในประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการปฏิรูปที่ดินเชิงโครงสร้างเพื่อถามหาความจริงจังใน การปฏิรูปประเทศของรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผ่าน “ทีมงานศูนย์ข้อมูลฯ” อย่างน่าคิด
@หลังจากที่สมัชชาปฏิรูปทำงานมาแล้ว 6 เดือน เห็นแนวการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมโดยเฉพาะเรื่องที่ดินอย่างไร
สมัชชาปฏิรูปมีข้อเสนอ 5 ประเด็นหลักเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน คือ การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินและทรัพยากร การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการน้ำและลุ่มน้ำ การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเหมืองแร่ และการสร้างและคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนในกรณีที่ดินและทรัพยากร แต่เรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ การคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนในกรณีที่ดินและทรัพยากร เพราะมีรายงานถึงคดีความในกระบวนการยุติธรรมว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 361 ราย จำนวน 143 คดี เป็นคดีแพ่ง 140 ราย 87 คดี คดีอาญา 221 ราย 56 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีที่ชาวบ้านไม่ได้รับความยุติธรรม
เราเห็นชัดๆ ว่า รัฐออกกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายอุทยานทับที่ทำกินชาวบ้าน มีอย่างที่ไหนเขาอยู่มาก่อน แต่รัฐออกกฎหมายทับที่ดินทำกินพวกเขา แล้วก็ไล่จับพวกเขาในข้อหาบุกรุก อย่างนี้ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม ดังนั้นเราต้องคืนความเป็นธรรม
เราเสนอว่า คดีที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ขอให้มีการพักโทษ คดีที่ดินที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว อนุญาตให้เกษตรกรผู้ต้องหาและครอบครัวอยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิม ส่วนกรณีที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ระงับการดำเนินการ เพราะเป็นการสร้างความเดือดร้อนเพิ่ม
อย่างไรก็ตามมองว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเราต้องปรับอีกเยอะแต่สิ่งหนึ่ง ที่ควรมี คือ การมีกระบวนการยุติธรรมระดับตำบล เพราะการพิจารณาของศาลนั้นผู้พิพากษาท่านอยู่ส่วนกลางท่านมองไม่เห็นว่า เรื่องในท้องถิ่นเป็นอย่างไร กระบวนการนี้จะเริ่มเห็นว่าอำนาจรัฐไม่ได้อยู่เพียงแค่ส่วนกลาง แต่ควรมาจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่
@ต้องปรับกระบวนการยุติธรรมไปอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ
การจับคนผิดในเรื่องที่ดินทำให้เห็นชัดว่า กระบวนการยุติธรรมมีข้อบกพร่องมาก โดยเฉพาะกระบวนการฟ้องร้องและการพิสูจน์สิทธิ์ที่ต้องปรับให้เข้ากับสภาพ ปัญหาที่แท้จริงเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน มากขึ้น เพราะปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมนั้นไม่ได้เกิดจากรัฐประกาศพื้นที่ทับที่ทำ กินของชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังมีกรณีที่นายทุนบุกที่รัฐด้วย เวลาจะสร้างความเป็นธรรมต้องสร้างกระบวนการป้องกันเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นทุกหัวระแหง มีข้อมูลว่าชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาต่อสู้นายทุนและผู้อิทธิพลที่รุกที่รัฐได้ รับอันตราย ดังนั้น ควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะกลางและยาวด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จากการรวบรวมจากชาวบ้านก็มีข้อเสนอออกมาหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตามเราอยากให้กระทรวงยุติธรรมและภาคีเครือข่ายตั้งคณะกรรมการ ร่วมเพื่อรวบรวมคดีทั้งหมดเพื่อจำแนกว่าอยู่ในขั้นใด และวางมาตรการช่วยเหลือ ทางออกในกรอบของกฎหมาย อีกทั้งให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ออก โดยมิชอบและรายงานความก้าวหน้าต่อสาธารณะและข้อเสนอสุดท้าย คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงยุติธรรม สนับสนุนให้เกิดคณะกรรมการยุติธรรมระดับท้องถิ่นหรือระดับจังหวัดที่มีองค์ ประกอบจากทุกภาคีทุกภาคส่วนเป็นกลไกสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน
@ทำไมมองว่าการคืนความเป็นธรรมถึงเป็นเรี่องเร่งด่วนที่ต้องทำเป็นอันดับแรก
เพราะมีคนเดือดร้อนแล้ว ถูกฟ้องศาลแล้ว เวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเขาก็เสียเงินเสียทอง ไม่เป็นอันทำมาหากิน แล้วเขาก็ยากจนลง เมื่อถูกฟ้องศาลมันเสียเงินเสียทอง อันนี้ต้องคืน
@หากมีการคืนเป็นธรรมให้ชาวบ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะจบ เพราะกระบวนการพิสูจน์สิทธิของภาครัฐก็ยังคงอยู่ หากมีการพิสูจน์ว่าชาวบ้านถูก ตรงกันข้ามภาครัฐก็ต้องผิด
ขณะนี้มีข้อมูลว่า มีการพิสูจน์สิทธิ์กว่า 100 กรณี ในจำนวนนี้มีการทับที่ชาวบ้านจำนวน 30 กรณี อันนี้มีหลักฐานชัดเจน แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่มีการโต้แย้งจากชาวบ้านว่ายังไม่จบ ยังไม่สมบูรณ์ เราก็บอกว่ากระบวนการนี้ต้องปรับปรุง เพิ่มเติมจาก มติ ครม. 30 ม.ย. 2541 เพราะยังไม่เพียงพอ อย่างไรเราตามเราต้องยึดมตินี้ไว้ อย่ายกเลิก ปัญหาอย่างนี้ต้องมองจากมุมคนที่ถูกรังแก ถ้าไม่มีเกณฑ์นี้นายทุนก็เข้าเลย
@ตอนนี้มีข้อแย้งจากภาครัฐเองว่าชาวบ้านรุกที่ของรัฐมากเกินไป แต่ขณะที่ชาวบ้านก็บอกว่าถูกกระทำจากรัฐเหมือนกัน แล้วจะจบอย่างไร
ก็นี่แหละเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกัน แต่เกณฑ์ที่เขียนไว้ในมติครม. 30 มิ.ย. 2541 จะช่วยทำให้ข้อพิพาทที่ตกลงกันไม่ได้เริ่มเห็นทางออก โดยเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดินเล่าว่า การจะพิสูจน์สิทธิ์นั้นแม้ที่ดินคนบุกเบิกจะตายไปแล้ว แต่ต้นไม้ที่อยู่ในที่ดินสามารถพิสูจน์สิทธิ์ได้ เพราะพิสูจน์โดยใช้คาร์บอน แต่อาจจะแพงเสียหน่อย กระบวนการเหล่านี้ต้องทำ เราเสียเงินอย่างอื่นเสียได้ แต่ทำไมเราจะเสียไม่ได้เงินเพื่อคืนความยุติธรรมไม่ได้
@มองว่ากระบวนการคืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้านจะต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน กี่เดือน กี่ปี
จะบอกเป็นกี่ปี กี่เดือน คงคาดการณ์ลำบาก แต่ระยะสั้นคงต้องดูว่า กระบวนการทำงานนี้ใครจะเป็นคนเริ่มก่อน ต้องมีคนรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามต้องคุยกับกระทรวงยุติธรรม จากนั้นต้องติดตามว่าทำแล้วได้ผลอย่างไร ไม่ใช่เป็นการคืนให้กับคนบุกรุก ทำแล้วต้องช่วยชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจริงๆ เขาได้รับการเยียวยาจริงหรือไม่ หากทำแล้วใช้ไม่ได้ผลก็ต้องปรับกระบวนการ อันนี้ คือ ตัวอย่างจะต้องไปถึงขั้นนี้ให้ได้
@มาตรการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทุกระยะจะเสนอต่อรับาลหรือไม่ อย่างไร
เราเสนอไปทั้งรัฐบาลและต่อสังคม กระทรวงยุติธรรมก็ถือเป็นภาครัฐด้วยเช่นกัน จากการรับฟังความคิดเห็นเราพบว่า ภาครัฐที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านพวกเขาก็ขมขื่นมาก เพราะถูกชาวบ้านต่อว่า โอ้โหย!! ขมขื่น ไม่ใช่ชาวบ้านอย่างเดียว ต้องบอกว่า เจ้าหน้าที่ทำงานกับชาวบ้านเองก็เดือดร้อนเช่นกัน เพราะถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำก็ถูกเจ้านายเล่นงาน
คิดดูสิครับว่าจะเป็นอย่างไร มันต้องปรับครับ มันถึงจะเดินไปได้ การคืนความยุติธรรมจะไปจัดระบบการจัดสรรทรัพยากรไปในตัว เพราะต้องเชื่อว่าชาวบ้านเองที่อยู่ร่วมกับทรัพยากรดูแลทรัพยากรได้ดีกว่าคน นอก แต่ต้องมีกติกาจากข้างบนว่า เราให้ที่ดินคุณเป็นโฉนดชุมชนเป็นการบริหารที่ป่าชุมชนให้ที่ทำการเกษตรและ ทำประโยชน์สาธารณะ หากไม่มีกติกาจากส่วนบนมากำกับอาจจะมีการฮั้วกันภายในหมู่บ้านได้ ดังนั้นเราต้องจัดความสัมพันธ์
@ดูเหมือนข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปและสมัชชาปฏิรูปในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินมีความทับซ้อนกันอยู่หลายส่วน
อย่าเรียกว่าทับซ้อนเลย มีหลายส่วนคล้ายกันมากกว่า เพราะทีมที่ทำงานก็ทำงานร่วมทั้ง 2 คณะ หลายอย่างเหมือนกัน ไม่ใช่คล้าย โดยเฉพาะกระบวนความคิดเรื่องกระจายอำนาจเหมือนกัน เนื่องจากมองว่าการกระจายอำนาจเป็นการให้ความเป็นธรรม
@ข้อเสนอให้แก้ไขเรื่องที่ดินทำกินโดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและการจำกัดการถือครอง 50 ไร่ ซึ่งตอนนี้กระแสสังคมจากนักธุรกิจและนักการเมืองก็ออกมาต่อต้าน
กรรมการปฏิรูปเสนอเฉพาะที่ดินทำการเกษตรกรรม แต่สมัชชาปฏิรูปเสนอเรื่องปัญหาที่ดินทั้งหมด เราไม่ได้บอกว่าควรจะเป็นอัตราก้าวหน้า แน่นอนการทำงานมีกระบวนการแตกต่างกัน แต่ต้องมีอัตราภาษีที่ดิน ผมคิดว่าอย่างนี้มีอัตราภาษีขั้นต่ำได้ โดยควรให้ท้องถิ่นกำหนดอัตราขั้นต่ำแตกต่างกันได้ เพราะฉะนั้นมันจะเริ่มมีอัตราที่แตกต่างกันไม่ใช่มีอัตราเดียว
@หมายความว่าพื้นที่ท่องเที่ยวอย่าง จ.ภูเก็ตหรือเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ก็ควรเก็บภาษีที่ดินที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น
ใช่ พื้นที่อย่างนี้เขาก็สามารถเก็บแพงได้
@พื้นที่ภาคอื่นที่ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวจะจัดเก็บอย่างไร
เขาอาจจะเก็บอัตราต่ำ แต่ใครจะรู้ดีเท่าคนพื้นที่ล่ะ ไม่ใช่รัฐบาลส่วนกลางแน่ ต้องให้อำนาจรัฐบาลท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. โดยส่วนกลางควรเขียนกฎหมายว่า รัฐบาลกลางกำหนดอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงแล้วแต่พื้นที่ เช่น การเก็บอัตราภาษีเรื่องทำเกษตรกรรมขั้นต่ำจะต้องเป็น 0.03 % ท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีที่สูงกว่านี้ได้ ถ้า อบต.กำหนดสูงไปเวลามีการเลือกตั้งก็คงไม่ได้รับคัดเลือก ถ้าเขากำหนดต่ำไปก็ไม่มีเงินพัฒนาท้องถิ่นของเขา
@มองว่าจะมีความเป็นไปได้
ประเทศอื่นเขาก็ทำกันแบบนี้ อันนี้กระบวนการทางการเมืองเป็นคนตัดสิน คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปไม่ได้เป็นคนตัดสิน เราเป็นเพียงคนเสนอ เมื่อเขียนกฎหมายออกมาแล้ว ส.ส.และส.ว.จะต้องเป็นผู้ตัดสินให้ร่างกฎหมายฉบับนั้นผ่านไปได้หรือไม่
@คิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะตอบรับข้อเสนอนี้หรือไม่
ผมคิดว่า อย่างน้อยที่สุดอยากให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับ เพราะวันที่แถลงนโยบายเขาก็บอกว่า จะสนับสนุนให้มีภาษีที่ดินและนักวิชาการส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย ผมจึงอยากเรียกร้องว่าอยากให้รัฐบาลเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนก่อนที่ จะยุบสภา
@แต่หลังจากกรรมการปฏิรูปแถลงข้อเสนอการปฏิรูปที่ดินออกมา ส.ส.และ ส.ว.ก็ออกมาต่อต้านกันยกใหญ่
ก็ ก็...ไม่เป็นไร ผมคิดว่าสิ่งที่จะทำควบคู่กัน คือ ต้องทำแผนที่ภาษีที่ดิน ต้องดูว่า บริเวณนี้โฉนดแปลงนี้เป็นของใคร ถามว่าการจะเก็บข้อมูลตรงนี้ส่วนกลางจัดทำได้หรือไม่ ตอบว่า ชาติหน้าตอนบ่ายๆ ก็ไม่เสร็จ ลงทุนเป็นพันๆ ล้านก็ไม่จบ เพราะการทำโฉนดที่ดินส่วนกลางใช้งบประมาณจากธนาคารโลกเก็บข้อมูลเป็น 10 ปีก็ไม่เสร็จ
สิ่งที่ง่ายที่สุด คือ การให้ท้องถิ่นเป็นคนทำ ถามว่า อบต.รู้ไหมว่าพื้นที่ในท้องถิ่นของเขาตรงไหนเป็นของใคร ทำไมไม่ให้ อบต.ทำร่วมกับกรมที่ดิน โดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้ให้งบประมาณ เพราะกรมที่ดินมีตัวเลขโฉนด ส่วน อบต.ก็รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ เมื่อทำระบบข้อมูลแล้วอบต.ก็รู้ว่าจะต้องเก็บภาษีจากใคร
@เมื่อมีแผนที่ภาษีที่ดินแล้วการจะผลักดันให้การปฏิรูปที่ดินแล้วเสร็จจะต้องมีกฎหมายมารองรับหรือไม่
ต้องมีสิ แต่สิ่งแรกต้องทำแผนที่ภาษีที่ดินออกมาก่อน เพราะการจะเก็บภาษีได้ต้องรู้ว่าใครอยู่ตรงไหน อย่างไร มีทรัพย์สินเท่าไหร่ บ้านอยู่ตรงไหน เมื่อมีแล้วก็สามารถออกกฎหมายได้พอถึงเดือนมกราคม อบต.ก็จะส่งแบบฟอร์มเรียกเก็บภาษีเหมือนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แล้วผู้ถือครองที่ดินบริเวณนั้นก็ต้องกรอบแบบฟอร์มแล้วส่งกลับไปภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เหมือนกับการเสียภาษีทั่วๆ ไปแต่จะดีกว่าเดิม เพราะกฎหมายบำรุงท้องปัจจุบันเขียนไว้ว่า สิ่งที่เป็นสิ่งก่อสร้างไม่ได้เก็บภาษีบนฐานของทรัพย์สินแต่เก็บจากฐานราย ได้ คือ มีรายได้จากการให้เช่า ซึ่งซ้ำซ้อนกับภาษีรายได้ เพราะภาษีเงินได้เก็บจากค่าเช่าอยู่แล้ว
ดังนั้นต้องตัดความซ้ำซ้อนแล้วเก็บบนฐานทรัพย์สิน ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็เก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินทั้งนั้น ไม่มีไม่ได้ เพราะเป็นแหล่งรายได้ของท้องถิ่น ไม่เช่นนั้นท้องถิ่นจะงบประมาณมาจากที่ไหนมาพัฒนาท้องถิ่น
@อาจารย์มองว่ารัฐบาลชุดนี้จะเอาจริงเอาจังกับให้การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหน
ผมเชื่อคุณอภิสิทธิ์มีความจริงใจกับเรื่องนี้พอสมควร ส่วนใน ครม. รัฐสภา และอภิมหาเศรษฐีที่เขามีที่ดินอยู่เยอะ ผมก็เข้าใจว่าเขาคงไม่ยอม แต่ถามว่า คนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากที่ดินใช่หรือไม่ เวลาได้ ประโยชน์จากที่ดินพวกนี้ใครเป็นคนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะโครงการเหล่านี้ล้วนนำมาจากเงินภาษีประชาชน แล้วคุณยังมีหน้าเอาเปรียบประชาชน เอาประโยชน์จากประชาชนด้วยการไม่เสียภาษีได้อย่างไร (เน้นเสียง) ลองยกตัวอย่างว่า หากคุณไปซื้อที่ดินบนภูเขาแล้วรัฐบาลทำถนนขึ้นไปแล้วมีความเจริญขึ้น ถามว่ารัฐเอาเงินจากไหนมาสร้างถนน ไม่ใช่เงินของพวกเขานี่.. แต่เอาเงินมาจากภาษีประชาชนมาสร้าง ดังนั้นต้องเสียภาษี ถ้าไม่เสียภาษีก็อย่าอยู่ประเทศนี้
@กฎหมายฉบับนี้จะสามารถป้องกันการซื้อที่ดินไว้เก็งกำไรได้ใช่หรือไม่
ใช่ เพราะการเสียภาษีที่ดินแพงๆ สุดท้ายมหาเศรษฐีจะต้องปล่อยที่ดินออกมาและจะทำให้ที่ดินเข้าตลาดมากขึ้น ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ผม คิดว่านักการเมืองกับเศรษฐีจะยอมปล่อยที่ดินออกมา ถ้าไม่ปล่อยก็อยากจะถามว่า พวกเขามีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ ถ้าไม่มีก็อย่าอยู่ประเทศนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไรและประณามอย่างไรแล้ว
อย่างไรก็ตามต้องไปแก้ไขกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ คือ ภาษีเงินได้จากการซื้อขายที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้ามีการซื้อที่ดินไว้เก็งกำไรคนที่ถือที่ดินไว้ก็จะแบกภาระภาษีมาก ผมคิดว่าเมี่อมีกฎหมายภาษีที่ดินและกฎหมายภาษีจะทำให้ราคาที่ดินลดลง เพราะคนกลัวการเสียภาษี แต่ตอนนี้เราหาเจ้าของที่ดินไม่เจอว่าอยู่ตรงไหน เพราะมีการเปลี่ยนมือบ่อย
@นอกจากการทำแผนที่ที่ดินและผลักดันพรบ.ภาษีที่ดิน การปฏิรูปที่ดินมีมาตรการอื่นๆ อีกหรือไม่
แนวคิดหลัก ๆ คือ ต้องให้สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากรด้วยคนชุมชน โดยให้พวกเขาดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดความยั่งยืน ถือเป็นแนวทางที่ดีกว่ากรมอุทยานและกรมป่าไม้ดูแลฝ่ายเดียว เพราะสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็อาจจะดูแลไม่ทั่วถึงและรู้ก็มีคนลักลอบตัดไม้ ทำลายป่าก็ต่อเมื่อเขาเตรียมจะขนหรือขนไปแล้ว ซึ่งสายเกินไป ดังนั้นต้องมีกฎหมายที่ให้สิทธิชุมชนในการจัดการ น้ำ ป่า เหมืองแร่และที่ดิน
โดยเฉพาะเรื่องเหมืองแร่นั้นชาวบ้านควรจะมีสิทธิบอกว่า ควรให้มีหรือไม่ หากคนในชุมชนเห็นว่าภายหลังที่เหมืองเกิดขึ้นแล้วเขาจะมีงานทำ มีระบบป้องกัน เขามีรายได้จากเหมือง สัมปทานบางส่วนคืนเขาและไม่ได้รับผลข้างเคียงจนเกิดความเดือดร้อนก็มีได้ ถือว่าเขาสามารถจัดการได้ด้วยชุมชนและจะมีประสิทธิภาพในการดูแลทรัพยากร มากกว่า เพราะเขาอยู่กับมัน แต่จะแปลงที่ดินให้เป็นรีสอร์ตก็จำเป็นต้องห้าม เพราะถือว่าผิดข้อตกลง -
@จำเป็นหรือไม่ว่า การปฏิรูปที่ดินจะต้องนำที่ดินมาแจกให้กับประชาชนเพื่อให้มีที่ดินทำกิน
เรื่องนี้ต้องแยกจากเรื่องป่าชุมชน เพราะป่าชุมชนเป็นของชุมชนอยู่แล้ว ผมต้องขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปว่า ไม่เห็นด้วยกับการแจกหรือการให้เปล่า เพราะทันทีที่เอาที่ดินหลวงมาแจกเท่ากับเอาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาแจกทำให้คน อยากจนมาเข้าคิวกันเยอะ เหมือนเอาของฟรีมาแจก ทำแบบนี้ไม่ได้
วิธีการที่ดีต้องขายอย่างมีกระบวนการด้วยการขายแบบผ่อนส่งและระบบจัดการ อย่างให้รู้คุณค่าของที่ดิน ถ้าจะขายก็ต้องขายในราคาทุน แต่สำหรับคนจนที่เราพิสูจน์ว่าเป็คนจนจริงๆ รัฐจะอุดหนุน แต่จำนวนเท่าใดต้องมาคิดกัน เพราะก่อนตัดสินใจซื้อเขาจะต้องคิดว่า คุ้มหรือไม่ ตรงกันข้ามกับการแจก เพราะจะมีคนแห่มาทั่วทุกสารทิศเลย
ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) ที่มีการลงทะเบียนคนจน ทำให้เกิดตัวเลขคนอยากจนมากกว่าคนจนจริงๆ ดังนั้นการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่การแจกฟรี เพราะการแจกฟรีจะทำให้ล้มเหลว เราต้องนำบทเรียนการแจกที่ดิน สปก.ที่เคยทำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ล้มก่อนหน้านี้
ผมมีตัวเลขจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ทำให้แปลกใจมากกับการถือครอง ที่ดินของครัวเรือน โดยพบว่า ประชาชนระหว่างปีพ.ศ.2549-2550 ว่า ทั่วประเทศมีผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินของรัฐกว่า 43 % ของการถือครองที่ดิน แต่มีคนที่ได้รับสิทธิการแจกที่ดินทั้งที่ไม่จนจริง เพราะได้รับการจัดสรรที่ดินทั้งที่มีที่ดินอยู่แล้วกว่า 30 % ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นเท่ากับว่า การแจกที่ดินของ สปก.ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อแนวคิดไม่สำเร็จต้องคิดใหม่