สัมภาษณ์ :::: นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์...มองภาพการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศจาก "คนใน"
หากเอ่ยถึงคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ที่กำลังเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ หลายคนคงจะนึกถึง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ผู้เป็นประธานมาเป็นอันดับแรก
แต่ถ้าจะกล่าวถึงผู้มีบทบาททำงานทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง เรียกได้ว่า แทบทุกครั้งบุคคลท่านนี้แทบไม่เคยขาดการประชุม นั่งเคียงข้าง นพ.ประเวศ เสมอ และหากต้องการจะทราบความคืบหน้าการทำงานขับเคลื่อนของ คสป. ในภาพรวมทั้งหมด คงจะคุยกับใครอื่นไปไม่ได้ นอกจาก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป ...
@ ภาพรวมงานของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กว่า 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าให้ผมมองสิ่งที่เรียกว่าผลงานในช่วง 5 – 6 เดือนที่ผ่านมา ผมมองว่าสิ่งที่เห็นชัด น่าจะมีอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ เครือข่ายต่างๆ ที่เขาอยากปฏิรูปมานาน ได้มีโอกาสที่จะขยับและเข้าใกล้กันมากขึ้น มาคุยกัน แลกเปลี่ยนมุมมองกันมากขึ้น
เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการ ‘เปิดพื้นที่ เสริมกำลังใจ’ เพราะว่าอย่างน้อยๆ ผู้ใหญ่ 2 คนที่มาเป็นประธาน อย่างท่านอดีตนายกรัฐมนตรี “อานันท์ ปันยารชุน” และ “ศ.นพ.ประเวศ วะสี” ก็เป็นบุคคลที่คนอยากปฏิรูปเชื่อมั่นว่ามีความจริงใจ
ยกตัวอย่าง
1. เครือข่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายคนที่เดือดร้อนเรื่องที่ดิน เรื่องทรัพยากร หรือภาคประชาชนที่อยากจะมาทำเรื่องการกระจายอำนาจให้ชัดเจนขึ้นว่า ไม่ใช่แค่ปฏิรูปท้องถิ่น แต่ต้องปฏิรูปให้ไปถึงชาวบ้านด้วย ที่เขาใช้คำว่า กลุ่มประชาสังคม มีการชูประเด็นเรื่องปฏิรูปเพื่อให้ท้องถิ่นดูแลตนเอง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ชัดมาก
2. กลุ่มแรงงาน กลุ่มนี้มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก และมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ หรือนอกระบบ รวมทั้งกลไกการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และกลไกที่จะทำให้เขามีความเข้มแข็งมากขึ้น
3. ภาคเอกชน ที่ตอนนี้เริ่มเห็นความจำเป็นของการปฏิรูป และก็พยายามจะรวมตัวกันมาคิดเรื่องการปฏิรูปมากขึ้น เราจะเห็นได้ว่าเขาเริ่มขยับไปแล้ว 2 ส่วน คือ เรื่องคอรัปชั่น ที่มีการเดินหน้าอย่างเต็มตัว เช่นในเวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 ก็มีการออกมาประกาศตัว และสร้างแนวร่วม ซึ่งผมคิดว่าก็เป็นเรื่องดี เพราะหากไม่มีการประกาศตัว คณะทำงานที่เดินหน้าเรื่องการปฏิรูปก็อาจจะทำได้อย่างไม่เต็มที่มากนัก
ส่วนผลงานที่เด่นชัดของภาคเอกชน คือ ที่หอการค้าไทย ลงไปทำเรื่อง 1 ไร่ 1 แสน จึงเห็นได้ว่าภาคเอกชนมีความกระตือรือร้นมาก
4. ภาคท้องถิ่น เครือข่ายท้องถิ่นก็มีความคึกคักมาก เพราะเขาทำงานกันมาก่อนแล้ว โจทย์ของท้องถิ่น คือ ทำอย่างไรไม่ให้การกระจายอำนาจมากระจุกตัวอยู่ที่ท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นจำนวนหนึ่งก็อยากให้โอกาสตรงนี้ไปถึงชาวบ้าน และอยากใช้โอกาสนี้ชวนชาวบ้านมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ แต่แน่นอนว่ายังไม่ใช่ส่วนใหญ่
สรุปสั้นๆ ได้ว่าสิ่งที่เห็นชัด คือ เห็นคนที่อยากปฏิรูปคึกคักขึ้น และเคลื่อนไหวเข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น และความคิดว่าจะปฏิรูปอะไร..ชัดขึ้น
@ เรื่องที่เด่นชัด เป็นรูปธรรมที่สุดของคณะสมัชชาปฏิรูป
ผมมองว่า มีอย่างน้อยๆ 2 ส่วน คือเรื่อง ที่ดิน และทรัพยากร จะเรียกว่าเป็นเรื่องนโยบายก็ไม่เชิง เอาเป็นว่าเป็นประเด็นที่กรรมการสมัชชากับกรรมการปฏิรูปตัดสินใจ “จับ” แล้วก็ลงไปดู ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุป และข้อเสนอแนะเบื้องต้น เช่น เราได้เห็นว่ามีความพยายามที่จะแก้ไขกติกา และกฎหมายจำนวนหนึ่ง ซึ่งเข้าท่า น่าลอง แต่ว่าก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นไปได้หรือไม่ เราจึงมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่า ภายใต้ความพยายามที่จะไปแก้ปัญหาระยะยาวนั้น เราต้องหาทางใช้กลไกที่มีอยู่ช่วยประชาชน เช่น กลไกเรื่องยุติธรรมจังหวัด ที่ผมมองว่าเป็นความสำเร็จอีกประการหนึ่ง คือ ความพยายามที่จะปฏิรูปในเรื่องกระบวนการยุติธรรม
ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมก็เข้ามาแสดงบทบาทเพื่อเชื่อมโยงกับฝ่ายต่างๆ มากขึ้น เข้ามาช่วยทำให้เกิดการดูแลชาวบ้านที่เดือดร้อนมากพอสมควร แน่นอนยังไม่ได้ดี ชาวบ้านยังไม่ได้หายเดือดร้อน แต่ก็เป็นกลไกหนึ่งที่เข้ามาช่วยได้มากพอสมควร
สำหรับเรื่องที่ดิน และเรื่องความเดือดร้อนของคนที่เกิดปัญหาที่ดินทรัพยากร ตอนนี้ผมถือว่าเป็นประเด็นที่ทีมปฏิรูปทำได้ดีพอสมควร ขณะนี้มีความชัดเจนไปถึงขั้นที่จะมีข้อเสนอจำนวนหนึ่ง ว่า เราควรจะจัดการเรื่องที่ดินและทรัพยากรอย่างไร แต่ยังไม่ชัดเจนถึงขั้นร่างกฎหมาย ผมเข้าใจว่า การโดดไปที่ร่างข้อเสนออาจจะไม่ง่าย ถ้าเรามองจากมุมประชาชน เพราะเราต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันในระดับหนึ่ง
เกี่ยวกับความคิด เรื่องทรัพยากรที่ดินที่มีความชัดเจน มีรูปธรรมขึ้นมาก เพราะมีการพูดกันในหลายเวที หลายกลุ่ม จึงเริ่มมีความเห็นร่วมกันว่า ทรัพยากรธรรมชาติ กับที่ดิน ไม่ควรทำแบบทรัพย์สินทั่วไป ที่หากพูดกันตามภาษาวิชาการ คือ สามารถมีเอกชน หรือใครสักคนเป็นเจ้าของคนเดียวได้ แต่ทรัพยากร กับที่ดิน เป็นทรัพย์สินอีกแบบหนึ่ง ซึ่งต้องพยายามไม่ให้มีใครมาเป็นเจ้าของอยู่คนเดียวมากเกินไป ต้องมีการมองให้เป็นประโยชน์ส่วนรวมด้วย ส่วนที่บอกว่าเป็นรูปธรรม ก็หมายถึงการเข้าถึง การตัดสินใจว่าจะใช้เมื่อไหร่ จะเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อไหร่ หรือจะเก็บรายได้อย่างไรกับทรัพย์สินเหล่านั้น เพื่อให้เป็นของส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่ให้เข้ากระเป๋าใครสักคนหนึ่ง นี่ก็คือตัวอย่างของความคิดที่ผมมองว่า ชัดเจนขึ้น
อีกด้านที่ผมคิดว่ากำลังก่อตัว จะว่าเป็นผลสำเร็จก็ไม่ชัด จะว่าไม่ใช่ผลสำเร็จก็ไม่เชิง คือเรื่อง สื่อ ที่ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สื่อมีความสนใจในการปฏิรูปมากขึ้น อาจไม่ถึงขั้นที่อยากปฏิรูป แต่เขาก็เชื่อว่าการปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำให้สังคมไทยเข้าใจ
ที่ผมมองว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะว่าพื้นที่การนำเสนอข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิรูป ยังมีน้อยกว่าที่ควร ผมสรุปได้ว่า เรายังทำไม่สำเร็จถึงขั้นที่จะทำให้เขาเข้าใจและมาลงมือทำข่าวเจาะ หรือสื่อสารให้สังคมเข้าใจเรื่องของการปฏิรูป เพราะเรื่องของการปฏิรูปยังซับซ้อนอยู่พอสมควร เช่น เมื่อเห็นชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องที่ดิน เรื่องความไม่ยุติธรรม สื่อก็จะนำเสนอเรื่องความเดือดร้อน โดยยังไม่เข้าใจว่าเรื่องความเดือดร้อนเหล่านี้มีรากฐานเรื่องกฎหมาย กติกาของสังคม การขาดกลไกต่อรอง การเข้าไม่ถึงกระบวนการ หรือเครื่องมือบางอย่างมาเกี่ยวข้องด้วย
@ ขณะนี้ คณะกรรมการเฉพาะประเด็นยังเป็น 14 คณะอยู่หรือเปล่า
เรื่องกลไก 14 คณะ ไม่อยากให้ไปยึดติด เพราะอาจจะมีการขยาย หรือปรับเปลี่ยนได้ ตั้งแต่ที่มีการแต่งตั้งทั้ง 14 คณะมา ทุกคณะก็มีความคึกคัก อยากมีพื้นที่ของตนเอง แม้จะยังไม่ได้พูดเรื่องเดียวกัน หรือเชื่อมโยงกับ 3 เรื่องหลัก คือ ทรัพยากร การกระจายอำนาจ และสวัสดิการ หรือ 2 เรื่องใหญ่ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ที่มีข้อสรุปแล้ว
ในปี 2554 นี้จะมีการคิดกันมากขึ้น ว่า จะทำให้คณะกรรมการแต่ละประเด็น เข้ามาคุยกันมากน้อยแค่ไหน เช่นใน 3 เรื่องหลัก ปีนี้อาจจะมีการลงรายละเอียดมากขึ้น เพราะ “สวัสดิการ” ไม่ได้แปลว่า การไปเรียกร้องให้รัฐบาลมาทำอะไรให้ แต่เราจะคิดโดยหลักการว่าจะทำอย่างไรให้เสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาส ช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นจะไม่ใช่เป็นการให้เงินช่วยเหลืออย่างเดียว
ยกตัวอย่างเช่น กองทุนผู้พิการ ข้อเสนอคือ จะจัดตั้งกองทุนเพื่อนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนา จัดการตัวเอง สร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้พิการ ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าขอเงินช่วยเหลืออย่างเดียว
@ คณะกรรมการเฉพาะประเด็นคณะไหนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด และน้อยที่สุด
หากผมประเมินไม่ผิด เครือข่ายที่คึกคักก็จะมีต่อไป ข้อเสนอต่างๆ ก็จะ เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเข้ากรรมการ แต่จะเป็นการทำงานโดยตรง ประสานผ่านกระทรวงต่างๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียโอกาส และกลุ่มที่ดินท้องถิ่นจะเคลื่อนไหวมากที่สุด
ส่วนของกลุ่มที่ยังมีความเคลื่อนไหวน้อยอยู่ คือ เรื่องยุติธรรม ที่เป็นเรื่องยาก แม้จะมีกระทรวงยุติธรรมที่เป็นแกนหลักในการให้ความร่วมมือ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในกระบวนการยุติธรรมนั้นประกอบด้วยหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ อัยการ และศาล จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสานความร่วมมือกัน แต่ก็คาดว่าในปีนี้ก็อาจจะเข้ามาร่วมกันมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผ่านไปแค่ 6 เดือน คงหวังอะไรมากไม่ได้ ผมมองว่าภาพรวมทุกอย่างมันก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างทั้งหมดแล้ว
@ วาทกรรมที่เป็นที่นิยมเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศที่ติดกระแสสังคม
ในปีที่ผ่านมา มีวาทกรรมที่ติดกระแสสังคมอยู่หลายคำ โดยส่วนตัวผมคิดว่ามี 4 คำที่น่าสนใจ
คำแรกคือ ‘สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ’ ที่เป็นเป้าหมายในการปฏิรูป ทำให้เราเห็นรูปธรรมว่าจะปฏิรูปเรื่องอะไร และอย่างไร ซึ่งตอบโจทย์ได้หลายอย่าง เช่น ภาษีที่ดิน มีเป้าหมายอย่างน้อย 2 ข้อคือ เพิ่มรายได้รัฐ และสร้างความเป็นธรรมในการกระจายการถือครอง ทั้งสองข้อต้องการกฎหมายภาษีที่ดินที่ไม่เหมือนกัน เพราะหากสร้างความเป็นธรรมอาจต้องการมากกว่าตัวกฎหมาย
อีกเรื่องคือ การกระจายอำนาจ ที่ไม่ได้ทำเพื่อลดขนาดราชการ และไม่ได้สร้างให้ท้องถิ่นมีงบประมาณมากขึ้น แต่จะกระจายอำนาจเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ เพื่อให้เข้มแข็ง และมีศักยภาพในการดูแลตนเอง ฉะนั้นเป้าหมายนี้เป็นวาทกรรมที่ดีมาก ผมเชื่อว่าหลายคนสนใจกับมัน
คำที่สองคือ ‘ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน’ เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่มีรูปธรรม
คำต่อมา การอยู่ร่วมกัน เพราะเราสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่ออยากให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน การสร้างจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกัน ของพวกนี้เหมือนเรื่องเดียวกัน แต่อยู่กันคนละจุดไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และผลสำเร็จ
ส่วนคำสุดท้าย เทศาภิวัฒน์ คือ การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง สร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งของชุมชน ให้กลับมามีความหมายใหม่ในสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน หากการปฏิรูปไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ก็ให้เริ่มจากจุดนี้ ที่สามารถจะนำไปต่อยอดในการปฏิรูปด้านอื่นๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าเรื่องที่ดิน ทรัพยากร หรือความยุติธรรม
@ มีอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2554
ทางกรรมการปฏิรูปชุดของอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน กำลังจะไปสร้างระบบงบประมาณที่ จังหวัดสระแก้ว ส่วนทางสมัชชาปฏิรูปยังไม่สรุปว่า จะเริ่มที่ไหนก่อน แต่กำลังมองว่าจะเลือกจังหวัดเพื่อไปเคลื่อนไหวภาคประชาชนกับท้องถิ่น โดยไม่ต้องรองบประมาณ เพราะถึงไม่มีเงินก้อนใหม่ ก็มีเงินก้อนเก่าที่อาจทำให้คนทำงานได้มากขึ้น ก็กำลังคุยกันว่า ใครจะหางบประมาณส่วนไหนมาช่วยได้บ้าง ขณะนี้มีการก่อตัวกันพอสมควรอย่าง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ก็เข้ามาสนับสนุน เพราะมีการพัฒนาความรู้ของชุมชน และก็จะเดินหน้า “เทศาภิวัฒน์” เป็นอันดับแรก
@ คิดว่าปัจจุบันนี้สังคมโดยรวมมีความเข้าใจเกี่ยวกับคณะทำงาน และการปฏิรูปประเทศไทยชัดเจนแล้วหรือไม่
ประเด็นนี้คงต้องมองให้เป็น 3 ด้าน ด้านแรกผมคิดว่า หลังเหตุการณ์พฤษภาคม ที่ผ่านมาหลายคนพูดตรงกัน ว่า ประเทศไทยต้องการการปฏิรูป คือพูดง่ายๆ ว่า แค่แก้ปัญหาคนยากจนอย่างเดียวไม่เพียงพอ การปฏิรูปต้องวิเคราะห์เลยว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน และความไม่เท่าเทียมคืออะไร ช่วงนั้นความรู้สึกในการอยากปฏิรูปมีสูงมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ลดลงไปเรื่อยๆ และการมีกลไกปฏิรูปของทั้ง 2 ชุดนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกอยากปฏิรูปเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ แม้จะมีกลุ่มแกนที่สนใจอยู่กลุ่มหนึ่ง แต่สังคมโดยรวมก็ยังตั้งคำถามอยู่มากว่า เขายังเชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทยต้องการการปฏิรูป
“ผมต้องการจะบอกว่าหลายเรื่องที่ผมเล่าให้ฟัง เช่นเรื่องการกระจายอำนาจ การใช้ทรัพยากร ความยุติธรรม พวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องการให้สังคมมาเข้าใจถึงจะเกิดขึ้นได้ เพราะใครสักคนที่มีอำนาจจะไปออกคำสั่งให้มีกฎหมาย 3 ฉบับ 5 ฉบับ 20 ฉบับ แต่คนไม่เข้าใจ หรือต่อต้าน ก็ลำบาก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”
ส่วนที่สังคมบางส่วนมองภาพของการปฏิรูปเป็นกระบวนการปรองดองนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ยังเข้าใจผิดอยู่ เพราะ “การปรองดองเป็นเหมือนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การปฏิรูปเป็นการพูดถึงเรื่องการทำโครงสร้างระยะยาว ที่เราต้องสร้างความเข้าใจต่อไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่เรายังทำไม่สำเร็จ แต่เรามองว่าสำคัญ เพราะเราจะคิดง่ายๆ ไม่ได้ว่า ถ้าสังคมไม่เข้าใจก็เป็นเรื่องธรรมดา เดี๋ยวเขาก็เข้าใจกันเอง”
@ คิดอย่างไรกับคำวิพากษ์วิจารณ์ คณะปฏิรูป 2 ชุด ในสื่อกระแสหลัก ที่มองว่า ได้แค่การวางกรอบ ยังไม่มีข้อเสนอที่ชัดเจน
ถ้าพูดกันตรงๆ ผมมองว่า สื่อไม่ควรจะตัดสินความสำเร็จของการปฏิรูปครั้งนี้ด้วยการมีข้อเสนอที่ชัดเจน ผมว่า การตัดสินแบบนั้นเป็นความคาดหวังที่อาจจะไม่ถูก เพราะอย่างแรก ถ้าเราตั้งเป้าปฏิรูปครั้งนี้ว่าเป็นการปฏิรูปโดยสังคมทั้งสังคม เราก็จะไม่พยายามไปล้ำเส้นของสังคม
ถ้าคุณเอาคนกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ มาเสนอว่าจะทำอะไร เขาก็สามารถเสนอได้ แต่ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง พูดง่ายๆ คือถ้าให้กรรมการปฏิรูปเสนอให้ชัดๆ วันนี้ก็ไม่ยาก แต่ถ้าไม่สำเร็จแล้วสื่อก็อาจจะมาว่า อีกรอบว่าไม่มีน้ำยาก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในที่สุดเราจะต้องกลับไปดูว่า 6 เดือนที่ผ่านมา มีการทำอะไรบ้างที่แสดงว่า เรากำลังเดินไปอย่างมั่นคง
อย่างที่ผมพยายามเล่าถึงความคึกคัก ความเข้มแข็ง กับข้อเสนอที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ การสร้างความเข้าใจร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งของพวกนี้ ประมวลไม่ได้ง่ายๆ
แต่เราจะดีใจกว่า เมื่อเห็นเครือข่าย เห็นชาวบ้านเข้มแข็งมากขึ้น ท้องถิ่นมีการกระจายอำนาจ และเข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากงบประมาณมากขึ้น ก็มีความรู้สึกว่า เหมือนลูกค่อยๆ เก่งขึ้นเรื่อยๆ เข้ามหาวิทยาลัยได้หรือเปล่าไปไม่รู้ แต่ก็คงเติบโตเป็นคนดีของสังคม มีการงานที่มั่นคง ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม
@ การนำเสนอเรื่องราวการปฏิรูปผ่านสื่อในปัจจุบัน
สื่อที่เผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ มีมุมที่เป็นข่าวอยู่ 2- 3 ประเด็น คือ เป็นเครื่องมือรัฐบาล กับเรื่องงบประมาณ ผมมองว่าสื่อควรจะมาทำให้สังคมเข้าใจเป้าหมาย และการลงมือปฏิรูปประเทศไทย มากกว่าจะไปวิพากษ์วิจารณ์เพื่อทำให้กลายเป็นประเด็นการเมือง โดยส่วนตัวผมก็เข้าใจว่า ส่วนหนึ่งมีคนตั้งคำถามกับความจริงใจ หรือ “น้ำยา” ของกลไกกรรมการปฏิรูป บางครั้งเมื่อเราตั้งคำถามตรงนี้ ก็สามารถพูดไปได้เรื่อยๆ
แต่หากสื่อมาตามเรื่องข้อคิด ข้อเสนอ ความคึกคักของเครือข่ายต่างๆ ก็จะเห็นอีกมุมหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ที่จะชวนสื่อมาร่วม เพราะเขามีหน้าที่ มีปัญหาของเขา แต่ข้อดีคือในที่สุดเราได้เห็นว่าเขาอยากจะเข้ามามีส่วนร่วม
ถึงที่สุดถามว่า การปฏิรูปจะสำเร็จเพราะสื่อใช่หรือไม่ ผมมองว่ายังไม่ใช่ ยังมีปัจจัยอื่นมีอีกมากมาย การที่ประชาชนไปเรียกร้อง ไปสร้างแรงกดดัน พรรคการเมืองบางพรรคที่มีอำนาจ มีโอกาสเข้าไปทำ แม้จะยังไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ทำให้เกิดเป็นรูปร่างได้มากขึ้น ส่วนสื่อก็สามารถทำให้รากฐานของการปฏิรูปแน่นขึ้น และสร้างโอกาสในความสำเร็จมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ตัวชี้ขาดตัวเดียวอยู่แล้ว
@ จะมีแนวทางในการสร้างให้สังคมมีความเข้าใจต่อการทำงานปฏิรูปประเทศอย่างไร
ประเด็นการสร้างความคึกคัก หรือสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม พูดกันตามตรงว่า เราก็หวังพึ่งสื่อ เพราะหลายคนคิดตรงกันว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือการสื่อสารให้ทั่วถึง ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ 1.การซึมลึกผ่านเครือข่ายต่างๆ 2.ขยายวงให้กว้างขวาง ซึ่งต้องอาศัยทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก
ใน 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งสื่อทางเลือกและสื่อกระแสหลักก็อยากจะช่วย แต่การสื่อสารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเรื่องของการส่งข้อความเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื้อหาที่จะไปสื่อต้องทำให้คนอยากฟัง วัยรุ่น คนทำงาน ชาวบ้านมีสิ่งที่อยากฟังไม่เหมือนกัน ซึ่งเราต้องเลือกสาระ หรือข้อเขียนที่คิดว่าสังคมส่วนใหญ่น่าจะสนใจ ก็คือการทำให้คนยากจน คนเสียโอกาส ลดความเดือดร้อน ได้เพิ่มศักยภาพในการเป็นคนที่มีคุณภาพ
ส่วนหลักคิดเกี่ยวกับข้อเสนอ คือ เราจะทำข้อเสนอต่างๆ ให้ชัดเจน โดยคิดถึงทางปฏิบัติเป็นหลัก และเมื่อทำเสร็จแล้ว เราจะบอกสังคม ไม่ได้บอกรัฐบาล ที่ผ่านมาผมมองเห็นว่า มีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนอยู่ 2 ข้อ คือ คณะปฏิรูปจะต้องมีข้อเสนอที่ชัด และต้องบอกรัฐบาลเป็นหลัก แต่ที่จริงแล้วกระบวนการของคณะปฏิรูปไม่ใช่แบบนั้น
เราจะพยายามคิดให้ชัด แต่ว่าชัดไม่ได้แปลว่า สุดท้าย แต่สังคมจะต้องมารับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน แม้เราจะบอกรัฐบาลด้วย แต่เราไม่ได้บอกเป็นหลัก เพราะเรารู้ว่าเรื่องไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะบางทีเมื่อรัฐบาลรับเรื่องไปทำก็อาจจะไปทำ “เพี้ยน” ก็ได้ อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ
เช่น การปฏิรูปที่ดิน ที่มีการออกกฎหมายขึ้นภาษีที่ดิน คนก็เข้าใจว่า รัฐบาลปฏิรูปที่ดินแล้ว ผมต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
ถ้าจะบอกว่า ปฏิรูปสำเร็จแล้วด้วยการที่มีข้อเสนอแล้ว รัฐบาลก็รับแล้ว คนมีความสุขแล้ว ก็คงง่ายเกินไป และอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน และศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะปฏิรูป ทั้ง 2 คณะ ก็มีความอาวุโสพอ ผ่านอะไรมาเยอะพอที่จะมองเห็นว่า การพยายามทำข้อเสนอให้ชัดเจนไปเสนอรัฐบาล มันอาจจะเป็นวิธีคิดที่ไม่ถูกนัก
@ สุดท้ายหากจะให้คะแนน คณะอนุกรรมการทั้ง 14 คณะ
ผมคิดว่าทุกชุด ผมให้คะแนนเต็มหมด เพราะในแต่ละชุดตั้งขึ้นมาไม่มีงบประมาณเลย แต่มีความคึกคักเคลื่อนไหวกันมาก ซึ่งจะสอดคล้องกันมากน้อยแค่ไหนก็ต้องมาคุยกันอีกเรื่อง
แต่สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ทุกคนมีความตื่นตัวในการจะปฏิรูปเพื่อให้เมืองไทยดีขึ้น ถึงจุดหนึ่งกรรมการปฏิรูปจะมาคุยกับสังคมว่า หากนึกอะไรไม่ออกก็จะต้องมาช่วยกันทำจุดใดจุดหนึ่งก่อน มาเริ่มที่จุดเดียวกันกับกรรมการปฏิรูปก่อน คือ “เทศาภิวัฒน์” ขณะเดียวกันเครือข่ายที่อยากทำเรื่องอื่นๆ ก็เป็นเรื่องดี ให้เขาเดินหน้าต่อไป