ปาฐกถา:::นิธิ เอียวศรีวงศ์ "ดุลยภาพเศรษฐกิจ สังคมไทย บนความเปลี่ยนแปลงของระบบโลก"
วันที่ 26 พฤศจิกายน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ และกรรมการปฏิรูป ปาฐกถาหัวข้อ "ดุลยภาพเศรษฐกิจ สังคมไทย บนความเปลี่ยนแปลงของระบบโลก" ในงานสัมมนา "ประเทศไทย 2554:พลิกความท้าทายสู่โอกาส" ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินกลาง จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
"หัวข้อที่เขาชวนให้ผมมาคุยที่นี่คือ “ดุลยภาพเศรษฐกิจ สังคมไทย บนความเปลี่ยนแปลงของระบบโลก” ผมค่อนข้างดีใจ เพราะว่า ผมคิดว่าเรื่องดุลยภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก แต่เรามักจะไม่ค่อยสนใจเกี่ยวกับดุลยภาพของสังคมเราเท่าไหร่นัก เรายังนึกถึงแต่การพัฒนา การเสียโอกาส การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส โดยไม่ค่อยสนใจ หรือให้ความสำคัญกับดุลยภาพในทางสังคม ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจของเราเท่าใดนัก
ผมมีตัวเลขที่เชื่อว่าหลายท่านในที่นี้คงคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่อยากให้เอามาลองทบทวนดูสัก 4-5 ตัวเลข เพื่อจะดูว่าเรายังมีดุลยภาพดีอยู่หรือไม่
อันแรกคือ รายได้ทางภาคการเกษตรของเราในเวลานี้ ประกอบขึ้นเป็นประมาณ 10% ของ GDP ประเทศ ในขณะที่เรามีประชากรในภาคการเกษตรอยู่ถึง 12 ล้านคน ไม่นับลูกจ้างในภาคการเกษตร เอาคนที่อยู่ในภาคการเกษตรแท้ๆ มีอยู่ถึง 12 ล้านคน แม้ว่าไม่ใช่จำนวนมากที่สุดในหมู่ประชากรแรงงานของไทยก็ตาม แต่นับว่ามหึมามากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย
เรามีประชากรในภาคการเกษตรถึง 12 ล้านคน ทำเงินได้ 10% ของ GDP ประเทศ ฉะนั้น จึงเป็นสิ่งปกติธรรมดาเลยที่รายได้ของคนในภาคการเกษตรก็จะต่ำค่อนข้างมาก เกษตรกรรายย่อยซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของคนใน 12 ล้านคนนี้ กำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ต้องเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร ส่วนคนที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากก็ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำแล้ว ซ้ำอีก กำลังสูญเสียที่ดินของตัวไปในอนาคตอันใกล้
เวลานี้ที่ดินในภาคการเกษตร ที่ติดอยู่ในธนาคารมีอยู่ประมาณ 30 ล้านไร่ จากที่ดินการเกษตรทั้งหมด 130 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่สูญเสียปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญ เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ก็จะตกเป็นเหยื่อของทุนการเกษตรข้ามชาติขนาดใหญ่ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงไก้ เลี้ยงปลา ในลักษณะของการเกษตรพันธสัญญา แต่ถ้าเราดูเกษตรพันธสัญญาประเทศไทยเปรียบเทียบกับอินเดีย เฉพาะกฎหมายของไทยที่เกี่ยวกับพันธสัญญามันหละหลวม ผู้ที่เป็นเกษตรกรที่เข้าไปทำเกษตรภายใต้เกษตรพันธสัญญาจะถูกเอารัดเอาเปรียบในทุกทาง ตั้งแต่ซื้ออาหารสัตว์ ซื้อปุ๋ย ซื้ออะไรก็แล้วแต่ ไปจนกระทั่งถึง ราคาการผลิต เมื่อมาเปรียบเทียบกฎหมายเกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญาของอินเดียจะพบว่ามันละเอียดยิบไปหมด ทุกข้อเพื่อจะป้องกันไม่ใช้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนในเมืองไทย
อีกตัวเลขหนึ่งที่ผมก็คิดว่าทุกคนก็คุ้นอยู่แล้ว เวลานี้เรามีลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเกษตร 17 ล้านคน มากกว่าคนที่อยู่ในภาคการเกษตร ทั้งนี้ยังไม่นับลูกจ้างที่อยู่นอกระบบ อย่างคนใช้ในบ้าน ร้อยละ 60 ของคนที่เป็นลูกจ้าง มีรายได้ไม่ถึง 6,000 บาท และดูว่า 6,000 เขาต้องรับผิดชอบต่อใครบ้าง พบว่าหลายคนด้วยกัน เขาต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวที่อยู่ในจังหวัด เช่นพ่อ แม่ที่แก่แล้วเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ลูกจ้าง 60% เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่พอกิน เมื่อไม่พอกินก็ต้องทำงานล่วงเวลา เพราะฉะนั้นโดยเฉลี่ยแล้ว แรงงานของเราส่วนใหญ่ต้องทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง มากกว่านั้นก็มี เกินกว่าอัตราปกติของการทำงานของมนุษย์โดยทั่วไป เรารู้อยู่แล้วว่าสุขภาพของแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะดีนัก ในทางรอดของเศรษฐกิจไทย คือการยกระดับฝีมือแรงงานขึ้นมา เพราะฉะนั้นถ้าคุณคิดว่าคนทำงาน 10-12 ชั่วโมง แล้วยังต้องเอาเวลาอีกกี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ ไปเรียนหนังสือ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ มีแรงงานที่อ่านหนังสือไม่ออก แล้วมีคนพยายามจะเข้าไปช่วยเพียงเพื่อให้อ่านหนังสือออก แต่พบว่ามันไม่ได้ง่าย สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เพราะเขาไม่ได้มีกำลังกาย ไม่อาหารกินที่ดีพอ ไม่ได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอที่จะสละเวลามาพัฒนาฝีมือขึ้นมา
เพราะฉะนั้นถ้าหากอยากจะพัฒนาฝีมือแรงงานในประเทศไทยจริงคงต้องสร้างมาตรการพิเศษหลายอย่าง ที่ต้องคิดให้เชื่อมโยงกันด้วย เพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างแท้จริง การมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถช่วยได้
อีกตัวเลขที่อยากจะพูดถึงคือ มันมีความเหลื่อมล้ำในรายได้ของคนไทยสูงมาก รายได้เฉลี่ยของครัวเรือน 20% ที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ ห่างจาก 20% ที่มีรายได้ต่ำสุดของประชากรในประเทศถึง 12-15 เท่า เปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศมากมายเหลือเกิน พบว่ามันไม่ห่างกันขนาดนี้ ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ในระยะ 4 ทศวรรษที่ผ่านมาของไทย ชี้ให้เห็นว่าค่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เราเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย จะพบว่าค่าสัมประสิทธิ์จีนีของเขาชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำมันลดลง แต่ของเรานอกจากเพิ่มขึ้น ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
ส่วนด้านการถือครองทรัพย์สิน ประชากร 20% แรกที่รวยที่สุด ถือครองทรัพย์สินถึง 69% ของทรัพย์สินรวมประเทศ ในขณะที่ประชากร 20% ที่จนสุด ถือครองทรัพย์สินอยู่เพียง 1% ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังชี้ให้เห็นว่า กล่าวเฉพาะเรื่องที่ดิน 90% ของประชากร ถือครองที่ดินต่ำกว่า 1 ไร่ ที่เหลืออีก 10% ถือครองที่ดินเกิน 100% ไร่ขึ้นไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ที่ดินในประเทศไทยมันเข้าไปกระจุกตัวอยู่ในมือคนประมาณ 10% เท่านั้นเอง
ยิ่งไปกว่านี้ ที่ดินที่เข้าไปกระจุกตัวอยู่นี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเขาเห็นว่า 70% ของที่ดินเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ หรือนำมาใช้ประโยชน์อย่างไม่คุ้มค่า มีงานวิจัยที่รับรองเรื่องเหล่านี้ ที่ทำใน 15 จังหวัด ก็พบในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือว่าผู้ที่ถือครองที่ดิน 50 อันดับแรกของ 15 จังหวัดที่ว่านี้ ถือครองที่ดิน ตั้งแต่ประมาณ 10% ถึง 14% ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ภูเก็ต ปทุมธานี สมุทรปราการ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมที่ดิน ซึ่งเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นการกระจุกตัวของที่ดินสูงมากๆ แล้ว ทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต คือที่ดิน
คำว่า ปัจจัยการผลิตในที่นี้ ผมไม่อยากให้นึกภาพเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว หากว่า ซาเล้งมีที่ดินของตนเองอยู่ในเมืองก็เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เพราะว่าซาเล้งต้องอยู่ในเมือง ถ้าไปอยู่ในชนบทก็ไม่รู้จะไปเก็บของเก่าที่ไหน
อีกตัวเลขหนึ่งที่ผมจะพูดถึงก็คือตัวเลขที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งทุกคนก็คงรู้อยู่แล้ว เพราะว่าสื่อชอบลงเรื่องนี้ ที่นี้ประเทศไทยเราลงทุนเรื่องการศึกษาสูงมาก เราลงทุนด้านการศึกษา 6.8% ของ GDP สูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของประเทศ OECD เพราะว่าประเทศเหล่านั้นลงทุนด้านการศึกษา เพียง 6.1% เท่านั้น เพราะฉะนั้นปัญหาการศึกษาของไทยไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราจน หรือเราให้เงินกับการศึกษาน้อยเกินไป แรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยเกิน 50% จบระดับชั้นประถม หรือต่ำกว่าชั้นประถม เปรียบเทียบกับเวียดนาม แรงงานของเขาจบชั้นมัธยม หรือต่ำกว่ามัธยม เพราะฉะนั้นมันคนละเรื่องกันเลย
นอกจากนี้คุณภาพการศึกษาของไทยก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าวัดกันโดยสถาบัน หลายสถาบันก็อยู่ในฐานะที่ค่อนข้างต่ำมาก ผมสามารที่จะยกแบบนี้ได้อีกมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีดุลยภาพของเศรษฐกิจ สังคมไทย แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ยกถึงพรุ่งนี้เช้าก็ไม่จบ เพราะฉะนั้นปัญหาที่เราเผชิญทุกวันนี้ ผมคิดว่าที่เราสนใจ และพูดถึงกันบ่อยๆ คือประเทศจะแข่งขันกับใครได้ หรือไม่ อย่างไร อันนี้กลับเป็นปัญหาที่ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่นัก เพราะถ้ามองระดับประเทศ อย่างไรเสียเศรษฐกิจโลกนั้นก็ต้องมีบทบาทอันหนึ่งเหลือไว้ในทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้ทำ เช่นการผลิตอาหารราคาถูก การขายวัตถุดิบยางพารา แร่โปแตช หรือทำปุ๋ย
แต่สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าคือ ใครเป็นเจ้าของทุนในการผลิต ใครเป็นผู้ได้กำไรจากบทบาททางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างที่กล่าวมา แล้วคนไทยส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ไหน และทำอะไร ถ้ามันยังขาดดุลยภาพอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าคนจำนวนมากต้องไปเป็นลูกจ้างในภาคการเกษตรที่อาจจะมีงานทำไม่ถึง 365 วันต่อปี อาจจะไม่ถึง 200 วันด้วยซ้ำไป คนอีกจำนวนมากก็อาจไปเป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมที่ขาดทักษะ เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีอำนาจต่อรอง แล้วก็ต้องทำงานหนัก เสียสุขภาพ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คนจนเมืองก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น
ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาที่ผมสนใจมากกว่า ผมไม่ห่วงว่าประเทศไทยจะมีบทบาทแข่งขันกับประเทศอื่นได้หรือไม่ คือมันต้องอยู่ได้ แต่ปัญหาที่น่าห่วงมากกว่าคือ แล้วคนไทยจะอยู่อย่างไร ในปัญหาที่ขาดดุลยภาพอย่างนี้ และโลกก็กำลังเปลี่ยนแปลง ในสภาพนี้ เรามักจะชอบนึกว่า เราน่าจะหันไปหาภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะเกษตรกรรมแบบพึ่งตนเอง การทำไร่นาสวนผสม ทำนองนั้น คิดว่านั่นคือคำตอบของประเทศไทย
ซึ่งผมก็คิดว่าคงจะมีคำตอบหนึ่ง แต่จะเป็นคำตอบให้กับคนไทยได้สักเท่าไหร่ ผมสงสัยว่าไม่สู้จะมากนัก เพราะมันอาจจะสายเกินไปแล้ว สำหรับประเทศไทยที่จะหันกลับไปเป็นอย่างนั้น
จริงๆ แล้วภาคเกษตรกรรมในสังคมไทยปัจจุบันนี้ เข้ามาอยู่ในตลาดเต็มตัว คนผลิตในภาคเกษตรกรรมเพื่อขายเป็นหลัก และส่วนใหญ่ของคนก็หลุดออกจากภาคการเกษตรแล้ว แม้แต่ที่ยังอยู่ในภาคการเกษตรก็ได้รายได้ส่วนใหญ่ออกมาจากรอบข้างการเกษตรทั้งนั้นเลย รับจ้างแรงงานบ้าง ลูกชายส่งมาให้บ้าง รายได้จากภาคการเกษตรเป็นส่วนน้อยของครัวเรือน
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถ้าเราจะหันหน้ากลับมาหาการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรพึ่งตนเอง เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรอะไรก็แล้วแต่ ก็น่าจะเป็นคำตอบแน่ๆ แต่คนที่จะหันหาคำตอบนี้ได้ ผมคิดว่าเหลือจำนวนน้อยลงมาก ในขณะเดียวกันคนเหล่านี้ก็ขาดความมั่นคงในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่พืชผลตกต่ำ หรือลูกชายโดนไล่ออกจางานก็ตาม ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงทางสังคม และเศรษฐกิจอะไรรองรับได้เลย และเมื่อคนเหล่านี้หันออกจากภาคการเกษตรออกมาอยู่ตลาดโดยตรง เมื่อเข้ามาสู่ตลาดสิ่งที่คิดว่าต้องการก็คือต้องการพื้นที่ทางการเมือง เพราะว่า การเข้ามาอยู่ในตลาด นโยบายสาธารณะของชาติ ของระดับประเทศจะกระทบถึงผลประโยชน์ของคุณโดยตรง
ในขณะที่สมัยหนึ่งที่คุณยังยืนอยู่ในภาคการเกษตรค่อนข้างมาก นโยบายสาธารณะที่กำหนดในประเทศไม่เกี่ยว ยังไงๆ ก็มีกิน ก็อยู่ได้ แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในภาคการตลาดมากขึ้นเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งต้องการมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างประเทศมากขึ้น เพราะว่า กระทบต่อผลประโยชน์ของคุณ และที่น่าเสียดายในขณะที่สังคมกำลังเปลี่ยน คนจำนวนมากขึ้น และคนบางส่วนก็มีรายได้ดีขึ้นด้วย กำลังต้องการพื้นที่ทางการเมืองในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ก็เป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่พื้นที่ทางการเมืองระดับประเทศหดตัวลง ด้วยอำนาจที่อยู่นอกระบบทางการ เช่น กองทัพ เป็นต้น เข้ามาคุมพื้นที่นี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น แทนที่จะเป็นระยะเวลาของคนแปลกหน้าทั้งหลายที่ไม่เคยอยู่บนเวลา หรือพื้นที่นี้มาก่อนจะสามารถฝ่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ได้ง่ายขึ้น ก็กลับยากขึ้น เพราะเป็นช่วงระยะเวลาที่พื้นที่นี้หดตัว
ลองคิดย้อนกลับไปในปลายปี 2530 ผมคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นตอน พ.ศ. 2530 ตอนปลาย ตอนนั้นพื้นที่ทางการเมืองค่อนข้างเปิด คนจะเข้ามาได้ง่ายกว่า แต่ตอนนี้พื้นที่ทางการเมืองมันหดตัวลงทำให้เข้ามายากขึ้น และทำให้เกิดความรุนแรงด้วย เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือว่า เราจะผนวกกับคนกลุ่มใหม่เหล่านี้ ที่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างรุ่นใหม่เหล่านี้มีรายได้เป็นตัวเงินมากขึ้น อยู่ในตลาดเต็มตัว ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง โดยสงบได้อย่างไร และทุกฝ่ายยอมรับ ยอมรับให้คนเหล่านี้มีอำนาจ มีสิทธิ ในการที่จะเข้ามาแข่งขัน ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
นโยบายสาธารณะไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย หรือไม่ได้เป็นประชาธิปไตยก็ตามแต่ นโยบายสาธารณะไม่เคยถูกกำหนดขึ้นโดยคนๆ เดียว แต่มันเกิดขึ้นจากกระบวนการต่อรอง ต่อรองในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามานั่งโต๊ะแล้วต่อรองกัน ต่อรองกันผ่านหนังสือพิมพ์ ต่อรองกันผ่านสื่อ ต่อรองกันผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ทำอย่างไรจึงจะให้คนกลุ่มนี้ เข้ามาร่วมต่อรองพื้นที่ทางการเมือง เพื่อมาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะด้วย เมื่อเรามามองเรื่องการขาดดุลยภาพของสังคมไทย มองความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดคนกลุ่มใหม่ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่าเดิม
ผมคิดว่า คำตอบน่าจะเป็นการปฏิรูป และการปฏิรูปที่แท้จริงไม่เกี่ยวกับการปรองดองทางการเมือง เพราะว่าไม่ได้อยู่กับรัฐบาลชุดนี้รัฐบาลเดียว แต่มันเป็นปัญหาอนาคตที่ยาวไกลกว่านั้น
ผมอยากจะทำความเข้าใจว่า ปฏิรูปไม่ใช่การแก้ไขตัวระบบให้มันทำงานได้ เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยทั้งหมด เกิดจากตัวระบบ ไม่ได้เกิดจากการที่ตัวระบบมีช่องโหว่ แล้วเราไปอุดช่องโหว่เหล่านั้น เพื่อหวังว่าตัวระบบมันจะสามารถทำงานได้ ตามเดิม ผมคิดว่ามันไม่ใช่ ตัวระบบมันจะโหว่ หรือไม่โหว่ ตัวมันเองนั่นแหละที่เป็นตัวปัญหา
ผมขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การทุจริตงบประมาณสาธารณะทั้งหลาย ไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมก็ตามแต่ ผมคิดว่ามันไม่ได้เกิดจากช่องโหว่ของระบบในการตรวจสอบ และป้องกันให้เกิดการทุจริตขึ้น แต่เกิดขึ้นจากโครงสร้างการตัดสินใจ และโครงสร้างการบริหาร ซึ่งโครงสร้างการตัดสินใจ ก็คือการเมืองนั่นเอง เพราะการเมืองคือส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจ ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรสาธารณะทั้งหลาย และการบริหาร ทั้ง 2 อย่างทำให้คนต้องทุจริต เพราะฉะนั้นหากเราไปอุดช่องโหว่อย่างเดียว จึงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตได้ แต่ต้องหมายถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการตัดสินใจ และการบริหารทรัพยากรสาธารณะทั้งหลาย ปรับเปลี่ยนให้ตัวกระบวนการทั้ง 2 อย่างนี้ มีการตรวจสอบไปพร้อมกัน คือมันไม่เหมือนกับการที่เราตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาคอยตรวจสอบ อันนั้นก็ดี ไม่มีใครคิดว่าไม่ดี แต่มันไม่พอ
หัวใจสำคัญของการป้องกันการทุจริต ต้องมาดูตรงกระบวนการมากกว่าที่จะมาตั้งองค์กรมาตรวจสอบแต่เพียงอย่างเดียว อย่างที่บอกว่าองค์กรตรวจสอบก็มีความสำคัญ แต่ว่าอย่างเดียวไม่พอ ตัวกระบวนการก็ต้องถูกตรวจสอบด้วยตัวของมันเองไปพร้อมๆ กันด้วย
เพราะฉะนั้นถ้าจะปฏิรูป ผมคิดว่ามันจะต้องหมายถึง การปรับถึงระดับโครงสร้าง ไม่ใช่แค่อุดช่องโหว่ในโครงสร้างที่มีอยู่ ผมคิดว่าระบบที่มีอยู่มันเป็นตัวทำให้เกิดปัญหาต่างๆ
ถามว่าใครจะเป็นคนปฏิรูป ผมคิดว่า อย่าคิดว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ทำ ไม่มีรัฐบาลไหนทำ จนกว่าจะมีพลังอื่นมาบังคับให้รัฐบาลต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากปากกระบอกปืน หรือรัฐบาลที่มาจากหีบเลือกตั้งล้วนแต่ถูกกำกับโดยสังคมได้ทั้งนั้น ไม่มีหรอกรัฐบาลที่ยิงอย่างเดียว แม้แต่ในพม่าก็ยังมีคนคอยดักยิงรัฐบาลจากชายแดน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชนิดใดก็แล้วแต่ เราจะบังคับให้รัฐบาลสามารถทำอะไรได้ก็ต้องใช้พลังอื่น ที่เข้ามาบังคับ ปิดล้อม ให้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปฏิรูป พลังที่ว่าไม่ใช่พลังที่เราเรียกว่าคนดี ที่มาจากการรัฐประหาร แต่ต้องเป็นพลังของสังคมทั้งหมด
สังคมทั้งหมดจะต้องมีความตื่นตัวกันพอที่จะปฏิรูป แล้วก็บีบบังคับให้นักการเมืองที่ไปตั้งรัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่น ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ในการที่จะนำประเทศแก้ไข ปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่นำประเทศของเราไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้เกิดดุลยภาพภายในประเทศเรามากขึ้น
ความสำเร็จของการปฏิรูปจึงอยู่ที่จะสามารถขับเคลื่อนสังคมให้อยากปฏิรูปได้หรือไม่ คำว่าอยากปฏิรูป หมายถึงผลักดันให้รัฐปฏิรูป ให้องค์กรสังคมปฏิรูป ให้องค์กรเศรษฐกิจปฏิรูป ให้องค์กรอุตสาหกรรมปฏิรูป และในขณะเดียวกันก็คอยกำกับการปฏิรูปด้วย ไม่ใช่แค่ผลักดันเฉยๆ
สมมติว่าเลือกพรรค A ที่สัญญาไว้ว่าจะทำการปฏิรูป พอพรรค A ชนะเลือกตั้งแล้ว เราก็กลับไปนอนบ้าน แต่เราต้องมีพลังในการกำกับให้พรรค A ปฏิรูปตามสิ่งที่เราต้องการ ที่จะเกิดความสำเร็จขึ้นได้ และตรงนี้ที่ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด
ในเมืองไทยมีวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องข้อบกพร่องที่ทำให้เราขาดดุลยภาพ และในเมืองไทยมีข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องที่จะปรับแก้อะไรเพื่อที่จะทำให้เกิดดุลยภาพ แตะเรื่องภาษี แตะเรื่องที่ดิน แตะเรื่องการศึกษา ที่จะมีคำตอบพอสมควร อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดจากนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม จากนักการเมือง ที่จะให้คำตอบเหล่านี้ได้พอสมควร ที่ยากกว่านั้นไม่ได้อยู่ที่คำตอบ แต่อยู่ที่จะทำให้สังคมไทยสำนึกในตัวปัญหา สำนึกในความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป
แต่สิ่งที่ผมคิดว่ายากยิ่งกว่าในปัจจุบัน แค่ทำให้สังคมปัจจุบันอยากปฏิรูปก็ยากแล้ว ปัจจุบันสังคมไทยยิ่งประสบปัญหาที่ยากยิ่งกว่าเก่า ที่จะทำให้สังคมไทยไม่อยากปฏิรูป กล่าวคือ ผมคิดว่าคนไทยปัจจุบันขาดความเชื่อมั่น ในตัวเอง ว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาของเราเองได้ เรานึกไปตอนปลายทศวรรษ 2530 ตอนที่เขาเคลื่อนไหวในการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 จะเป็นเพราะคนไทยตอนนั้นไร้เดียงสา หรืออะไรก็ตาม แต่มีความตื่นตัวของคนไทยทั้งประเทศ ในหมู่คนทุกระดับชั้น ที่รู้สึกว่า เราจับตัวที่เป็นจุดสำคัญของความเสื่อมถอยของประเทศเราได้ ซึ่งในตอนนั้นสรุปก็คือ การเมือง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถปฏิรูปการเมืองได้ เราจะสามารถทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนได้ด้วยตัวของมันเองทั้งหมด และทุกคนเข้ามาออกความเห็น เข้ามาตื่นตัว กับเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเชื่อว่าถ้าเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็จะปฏิรูปการเมืองเครือข่ายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เราต้องรู้สึกว่าเรามีพลังที่จะแก้ปัญหา
ปัจจุบันคนไทยขาดจุดนี้ไปแล้ว เรากลายเป็นคนที่ไม่คิดว่าตัวเราจะสามารถแก้อะไรได้ คุณจะไปพูดเรื่องปฏิรูปอะไรที่ไหนก็แล้วแต่ คนจะเชื่อที่คุณพูด แต่จะบอกว่าคุณทำไม่ได้หรอก สิ่งที่คุณอยากจะแก้ อยากจะให้ใครมองเห็นปัญหามีคนเห็นด้วยหมด แต่ทุกคนเชื่อว่าเราไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ เราอยู่ท่ามกลางสังคมที่พูดถึงหลักการ ธรรมะ ความถูกต้อง โดยที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังต่างก็รู้อยู่เต็มอกว่า พูดโกหก ไม่ได้เชื่อเรื่องนั้นจริง และไม่ต้องอายด้วย และผู้ฟังก็รู้อยู่แล้วว่าคุณไม่ได้พูดจริง ทั้งผู้พูดและผู้ฟังต่างรู้ว่าหลักการนี้ไม่สามารถมาใช้ได้ในชีวิตจริง
คนไทยในปัจจุบันเป็นคนที่ cynical อย่างน่าสมเพช ว่าจะเชื่อว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ ทำไมเราถึงต้องมาอยู่ในภาวะนี้ผมขอไม่พูดถึง แต่ว่า ยิ่งเกิดภาวะอย่างนี้ ยิ่งต้องการผลักดันให้สังคมอยากปฏิรูป
ยิ่งเป็นเรื่องยาก ประการสุดท้ายที่ผมจะพูดคือ พลังจากภายในดูแล้วฝากความหวังไม่ได้มากนัก แต่ผมก็ยังฝากความหวังไว้อยู่ ว่าจะสามารถขับเคลื่อนพลังจากภายในให้ไปสู่การปฏิรูป สร้างดุลยภาพให้เกิดกับสังคมอย่างแท้จริงได้ ถ้าพลังภายในอ่อนเปลี้ย เพลียแรงอย่างนี้ ถามว่า พลังจากภายนอก สังคมไทย จะสามารถผลักให้สังคมไทยไปสู่สังคมดุลยภาพที่ดีอย่างที่เราต้องการได้หรือไม่
ผมเองสงสัยว่า พลังภายนอกในช่วงระยะเวลานี้ ไปอีก 10 ปีข้างหน้า ก็จะค่อนข้างอ่อนแรงลง ด้วยเหตุผลอย่างน้อยที่ผมมองเป็น 2 อย่าง
อย่างที่ 1 ก็คือ เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว พลังที่เรียกว่าพลังประชาธิปไตย ฝรั่งจะเชื่อจริงหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่มีคนที่เชื่อจริงจำนวนหนึ่ง ผมไม่ค่อยเชื่อนักการเมืองฝรั่ง หรือนักธุรกิจฝรั่งเท่าไหร่ แต่มีคนที่เชื่อจริงจำนวนหนึ่งว่า โลกเราควรจะเป็นประชาธิปไตย พลังอันนั้นผมสงสัยว่า อ่อนแรงลงในช่วงมหาอำนาจตะวันตก และในปัจจุบันนี้เปรียบเทียบกับ 10 - 20 ปีที่ผ่านมา ตอนช่วงนั้นผมคิดว่ามันมีพลังมาก และคนก็จะรู้สึกเดือดร้อนเวลาที่ใครที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะเดือดร้อนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ส่วนที่เดือดร้อนด้วยความไม่บริสุทธิ์ใจก็เยอะ แต่ปัจจุบันผมคิดว่าคนก็เริ่มจะยอมรับแล้วว่า ต่างคนต่างเดิน
เพราะฉะนั้นโลกเราจะทนต่อการเอารัดเอาเปรียบ ในทางสังคม ในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจมากขึ้น พลังจากภายนอกที่จะกดดันเรื่องนี้จึงน้อยลง
ในขณะเดียวกันผมคิดว่า พลังจากเศรษฐกิจของโลกภายนอก ที่หมายถึงโลกตะวันตกก็อ่อนลงไปด้วย ประเทศยุโรปส่วนใหญ่มีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งสิ้น และประเทศที่ไม่ประสบปัญหาเรื่องการเงินก็คือประเทศที่อยู่ในโลกตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ไม่ได้มีความเชื่อในเรื่องของการขับเคลื่อนสังคม ประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือจีนเชื่อว่ามันมีพรรคที่ฉลาดล้ำเลิศที่มีคนคิดแทนให้สังคม และได้ดีกว่าสังคมคิดด้วยซ้ำไป ในขณะที่ประเทศที่เชื่อในพลังของสังคม พลังของประชาชน ประเทศเหล่านั้นมีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งก็คงต้องรัดเข็มขัด เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงไม่ได้เป็นประเทศที่ค่อนข้างเด่น หรือมีเสน่ห์ในการลงทุน ในการเป็นตลาดของเขา มันไม่ใช่ มันยังมีประเทศอื่นๆ อีกมารอบตัวเรา
คุณจะปกครองในระบอบอะไรก็แล้วแต่ แต่ท่าทีที่ทำให้ผมมั่นใจคือ การที่ผมเอาเงินลงไปแล้วมันจะงอกเงยมาได้มากกว่าประเทศไทย ผมจึงคิดว่าส่วนนี้ คงต้องมีพลังจากภายนอกมาช่วยบีบบังคับให้ประเทศไทยสร้างดุลยภาพหรือการปฏิรูปด้วย"