คำต่อคำ: กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กับ‘โครงการมาบตาพุด ร่วมสุขร่วมสร้าง’
“ปัญหาที่เกิดขึ้นสะสมมายาวนานกว่า 30 ปี ถึงเวลาที่จะต้องได้รับการแก้ไข ประชาชน ชุมชนจะได้รับการเยียวยา และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทุกองค์ประกอบทางสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนจะต้องอยู่ด้วยกันโดยเคารพสิทธิของกันและกัน”
ยืดเยื้อ-ยาวนาน คำจำกัดความสั้นๆ สำหรับทางออกของปัญหาในพื้นที่ ‘มาบตาพุด’ จังหวัดระยอง ดินแดนที่เต็มไปด้วย ‘มลพิษ’ ที่รอคอยการแก้ไขอย่างจริงจังจากภาครัฐ ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย กี่รัฐบาล ปมปัญหาในพื้นที่แห่งนี้ ก็ไม่เคยคลี่คลายลงสักที
สำหรับรัฐบาลชุดนี้ที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า จะเดินหน้าสะสางปมปัญหาในมาบตาพุดอย่างเป็นรูปธรรม แล้วจะกลายเป็นเพียงการ ‘จุดไฟไหม้ฟางหรือไม่’
เรามาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหามาบตาพุดกับ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานอนุกรรมการติดตามรายงานการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด ไปพร้อมๆ ติดตามความคืบหน้าไอเดียใหม่ ‘โครงการมาบตาพุด ร่วมสุขร่วมสร้าง’
@ การลงพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
กอร์ปศักดิ์: สำหรับการลงพื้นที่ 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการติดตามความก้าวหน้าโครงการเร่งด่วน ที่ได้มอบหมายไว้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อเดือนกันยายนและตุลาคม 2553 ซึ่งมีความคืบหน้า 5 ด้านดังนี้
1. โครงการพัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง เป็นการพัฒนาโรงพยาบาลมาบตาพุดให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง รวมทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องอัตรากำลังของแพทย์และเจ้าหน้าที่ไม่พอเพียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอกรอบอัตรากำลังต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553
2. โครงการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังโรคของประชาชนในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าในปี 2554 จะมีการขยายเป้าหมายการตรวจสุขภาพเป็น 35,000 คน ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอาร์ไอแอล 31,000 คน นอกรัศมี 4,000 คน โดยจะเพิ่มการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การทำความเข้าใจ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูล เนื่องจากชาวบ้านยังขาดความเข้าใจและมีความกังวลในผลการตรวจ ทางที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนงานการตรวจสุขภาพและการรายงานผลที่ชัดเจน รวมทั้งนำเสนอความก้าวหน้าการจัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ฯ จังหวัดระยองในการลงพื้นที่ครั้งต่อไป
โดยงานนี้นายกรัฐมนตรีจะมารับมอบรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ด้วยตนเอง ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ รวมทั้งจะมีการสาธิตการตรวจสุขภาพด้วย
3. โครงการติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบต่อเนื่อง (VOCs) และป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Display Board) ก็ได้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่มาบตาพุดจำนวน 23 จุด เป็นสถานีที่ติดตั้งเสร็จแล้ว19 จุด และผู้แทนชุมชนได้ขอติดตั้งชุดตรวจวัดสาร VOCs และ Display Board เพิ่มอีก 12 จุด นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการติดตั้งที่ศูนย์ราชการจังหวัดระยองเพิ่มอีก 1 จุดด้วย ส่วนจุดอื่นมีสถานีตรวจวัดครอบคลุมอยู่แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้กรมควบคุมมลพิษจะประสานฝ่ายเลขานุการในเรื่องงบประมาณต่อไป
4. การดำเนินงานก่อสร้างระบบประปา 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างขยายเขตจำหน่ายน้ำประปาบริเวณพื้นที่อำเภอเมืองระยอง ก่อสร้างไปแล้ว 9 % ส่วนโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุดและเทศบาลเมืองบ้านฉาง ดำเนินการไปแล้ว 7 % โดยการประปาส่วนภูมิภาคปรับปรุงแผนที่ชุมชนที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเร่งรัดการจ่ายน้ำในส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้ทันวันที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเป็นประธานเปิดจุดจ่ายน้ำประปา
และ 5. แผนงานการขยายเขตน้ำประปาสำหรับชุมชนที่ตกสำรวจ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาระยอง สาขาบ้านฉาง เทศบาลนครระยอง เทศบาลเมืองบ้านฉาง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จัดให้มีการประชาคมและลงพื้นที่สำรวจความต้องการของชุมชนในพื้นที่ 3 เทศบาลให้ครอบคลุมผู้ตกสำรวจทั้งหมดและสามารถบริการประชาชนได้ 100 % ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวเสนอโครงการ พร้อมงบประมาณรวม 136 ล้านบาท โดยประธานฯ มอบให้ฝ่ายเลขานุการประสานสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณารายละเอียดแล้ว
@ ขอกรอบการดำเนินงาน ของแนวคิดโครงการ ‘มาบตาพุด ร่วมสุขร่วมสร้าง’
กอร์ปศักดิ์: โครงการ ‘มาบตาพุด ร่วมสุข ร่วมสร้าง’ นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มชุมชนมาบตาพุด และประชาชนทั่วไปว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และกำลังริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
สำหรับแนวคิดของโครงการฯ คือ ‘Living in Harmony in Maptaphut’ หรือ ‘การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างชีวิต สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ มีกรอบการดำเนินงาน โดยรัฐบาลได้วางมาตรการโครงการเร่งด่วนในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียง ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เช่น โครงการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังโรคของประชาชนในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง, โครงการติดตั้งชุดตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบต่อเนื่อง (VOCs) และป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ส่วนการกำหนดกรอบระยะเวลาและแผนดำเนินการจะพิจารณาจากความเดือดร้อนและความจำเป็นเร่งด่วน ร่วมกับความต้องการของชุมชนเป็นหลัก และหากโครงการใดยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามที่ยื่นเสนอไปก็สามารถขอใช้งบประมาณกลางได้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
@ แผนงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค เรื่องกลิ่น น้ำเสีย และการจัดกากขยะเป็นอย่างไร
กอร์ปศักดิ์: ขณะนี้มีการมอบหมายให้ ดร.สุทิน อยู่สุข ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสี่ฝ่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 14 หน่วยงานร่วมกันพิจารณาโครงการเร่งด่วน เพื่อลดและขจัดมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดระยอง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่อง กลิ่น น้ำเสีย และการจัดการขยะตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเติมเต็มทางเทคนิค และอนุกรรมการศึกษาแนวทางการใช้การผังเมือง เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย
เบื้องต้นประกอบด้วยโครงการ 18 โครงการ วงเงินรวม 83.17 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 43.00 ล้านบาท และเป็นโครงการที่มีงบประมาณแล้ว 8 โครงการ วงเงิน 40.17 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดทำแผนปฏิบัติการจะให้ผู้แทนชุมชน 2-3 คน มามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่วมกับฝ่ายเลขาฯ และหน่วยงานที่รับผิดชอบนอกจากนี้ยังมอบหมายให้หน่วยงานอนุมัติอนุญาตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการประเมินผลการดำเนินการของโรงงานอุตสาหกรรมว่า ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้วหรือไม่ หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว รัฐบาลก็จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการต่อไป
@ แล้วโครงการนี้จะเกิดขึ้นหรืออนุมัติได้ทันทีหรือไม่
กอร์ปศักดิ์: ตามหลักแล้ว โครงการฯ จะสามารถดำเนินการได้นั้นต้องอาศัย 1.งบประมาณที่ได้รับจัดสรรประจำปี (งบปกติ) 2. ผ่านขั้นตอนคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นประธาน 3.หากเป็นโครงการเร่งด่วนสามารถขอใช้เงินงบประมาณกลางได้
@ความเป็นไปได้ที่โครงการจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
กอร์ปศักดิ์:ผมมองว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐและภาคประชาชนเพิ่มขึ้น เช่น การแก้ไขปัญหาระยะห่างระหว่างโรงงานกับชุมชน ซึ่งหลายโรงงานปรับตัวและพยายามดำเนินการให้เกิด Protection Stripe เพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบ ทั้งเรื่องกลิ่นสารเคมีที่เกิดจากกระบวนการผลิตและเรื่องของเสียง
ปัจจุบัน กรมโยธาธิการและผังเมืองและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำลังพิจารณาหาเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ในการกำหนดชนิด ประเภทและขนาดของต้นไม้ที่จะนำมาใช้ในการจัดทำ Protection Stripe ส่วนโรงงานที่มีข้อจำกัดไม่สามารถดำเนินการตามมาตรฐานดังกล่าวได้ ก็จะมีการศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นต่อไป ซึ่งโรงงานก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
ความร่วมมือดำเนินการในลักษณะนี้ถือเป็น จุดเริ่มต้นของการร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
@ “มาบตาพุด ร่วมสุขร่วมสร้าง” จะแก้ไขปัญหามาบตาพุดได้จริง หรือเป็นเพียงการ ‘ขายฝัน’ ให้กับชาวบ้าน
กอร์ปศักดิ์:โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมุ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมาบตาพุด รวมไปถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ปัญหาที่เกิดขึ้นสะสมมายาวนานกว่า 30 ปี ถึงเวลาที่จะต้องได้รับการแก้ไข ประชาชน ชุมชนจะได้รับการเยียวยา และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทุกองค์ประกอบทางสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนจะต้องอยู่ด้วยกันโดยเคารพสิทธิของกันและกัน
ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องมีโอกาสในการแจ้งปัญหาความเดือดร้อน ความลำบาก อันเป็นผลจากการดำเนินชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่
@ มั่นใจได้อย่างไรว่า มาบตาพุด ร่วมสุขร่วมสร้าง ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งระหว่าง ‘ภาคประชาชน’ และ‘อุตสาหกรรม’
กอร์ปศักดิ์:ผมคิดว่าโครงการนี้จะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งแก่ชุมชนและอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมได้มีแผนงานรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) หลายประเภท เช่น การสร้างสถานพยาบาลให้กับชุมชน การสนับสนุนการเรียนรู้และอุปกรณ์การเรียนให้กับโรงเรียนและชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่โรงงาน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานกับคนในชุมชนโดยรอบ
ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมก็ได้มีการปรับตัว ในเรื่องระยะเวลาการผลิต เพื่อลดการรบกวนชุมชน ตลอดจนควบคุมและกวดขันบุคลากรให้ปฏิบัติตัวอย่างเป็นมิตรกับชุมชน เช่น การไม่ดื่มสุรา หรือไม่ขับขี่ยานพาหนะเร็วเกินกำหนดในเขตชุมชน เป็นต้น
รัฐบาลยังอาศัยภาคอุตสาหกรรมที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ช่วยส่งต่อข้อมูลและเผยแพร่ผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐไปสู่ชุมชน ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจและรับรู้ถึงการดำเนินการของภาครัฐตลอดเวลา ซึ่งเป็นการป้องกันความสับสนจากการชี้นำที่ผิดของผู้ไม่หวังดี
ท้ายที่สุด อุตสาหกรรมและชุมชนก็จะเริ่มปรับตัวเข้าหากัน และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้