สัมภาษณ์ ::: "วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล" ขีดเส้นปฏิรูป ทำแค่ในส่วนที่เข้าใจ
เอ่ยชื่อ“ร.ต.ท ชาติ วุฒิไกร” นายตำรวจหนุ่มขาลุยที่เชื่อว่าโลกนี้มีแต่ขาวกับดำ เห็นอาชญากรทุกคนเป็นศัตรู บุคลิกไม่กล้วใคร ดื้อรั้น ทรนงในเกียรติของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หลายคนงง อาจไม่รู้จัก เพราะนั่นเป็นบทบาทกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต “อินทรีแดง” ที่กำลังจะเข้าฉายต้นเดือนหน้า แต่ถ้าบอก ผู้รับบทผู้หมวดชาติ คือ ลูกชายคนเล็กของ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล”- “จีระนันท์ พิตรปรีชา” เชื่อว่าหลายคนร้องอ๋อ….
“วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” คลื่นลูกใหม่ที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย จับมาชวนคุยให้ได้รู้จักตนที่มีพ่อเป็นหนึ่งในกรรมการปฏิรูป สำหรับเขาแล้ว กำหนด “พื้นที่” (เล็กๆ) ปฏิรูป แบบ “ทำแค่ในส่วนที่เข้าใจ”....
@ ตอนนี้ทำงานอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการร่วม “ปฏิรูปประเทศไทย”
สิ่งที่ผมทำหลักๆ คือ เรื่องของโครงการไอเดียประเทศไทย เรื่องอื่นๆ ก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องอะไรเท่าไร
@ อะไร คือ เป้าหมายจริงๆ ของ “ไอเดียประเทศไทย”
โครงการไอเดียประเทศไทยเกิดจากคุณสุนิตย์ เชษฐา กรรมการผู้จัดการ Change Fusion (บริษัทที่ทำงานอยู่) ได้ไปดูงานไอเดียแฟคทอร์รี่ของสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองจึงเกิดแรงบันดาลใจ ว่า การพัฒนาประเทศจะทำให้เกิดกระบวนการแบบนี้ได้หรือไม่ แทนที่จะมีคนกลางมาคอยบอก แต่ให้มีคนทุกคนมาช่วยกันคิดแล้วกรองไอเดียที่ดีที่สุดออกมาให้เกิดเป็นเรื่องจริงให้ได้
อีกส่วน คือ เดิมเคยทำโครงการไอเดียแบ็งก๊อก แต่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในขณะนั้นเป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็มีเหตุทำให้โครงการนั้นถูกยุบไป มาตอนนี้จึงเกิดเป็นโครงการไอเดียประเทศไทยทำในระดับประเทศแทน
@ ในฐานะที่ก็เป็นคนรุ่นใหม่ มีกลุ่มเครือข่ายเยาวชนมาชวนให้ไปร่วมกันปฏิรูปบ้างหรือไม่
ทางทีมเยาวชนของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ชุดนพ.ประเวศ วะสีก็มาเชิญให้ไปร่วม แต่ผมก็ไม่เห็นจะได้ทำอะไรกันเท่าใดนัก
@ ขณะนี้เห็นอะไรบ้างจากกระแสการปฏิรูปประเทศไทย
(หัวเราะ) สิ่งแรกที่เห็น คือ กระแสต่อต้าน (หัวเราะ..อีกครั้ง) เอาเป็นว่า กระแสนี้ผมไม่ขอพูดถึงก็แล้วกัน
@ ความคิดของวรรณสิงห์ เกี่ยวกับการปฏิรูป
(นิ่งคิด) ความคิดการปฏิรูปนี้ 1. คือ ควรฟังความเห็นใครบ้าง 2. คือ กฎหมายควรแก้ตรงไหนบ้าง สองสิ่งที่ผมเคยเห็นมา แต่ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผมไม่ค่อยรู้สึกอินตามด้วยเท่าใด เพราะเรื่องของคนในการฟังความเห็นใคร เราก็เคยจัดสัมมนาให้คนมาออกความเห็นกันมากแล้ว ถึงรัฐมาฟัง บางครั้งนายกฯ มาฟังเองด้วยซ้ำ แล้วก็ให้คนมาออกความเห็นกันว่า อยากให้เรื่องนี้เป็นแบบนี้ เราจะเห็นว่า วันหนึ่งๆ มีคนมาบอกรัฐให้ต้องทำอะไรเป็นร้อยเป็นพันอย่าง แล้วรัฐจะทำได้สักกี่อย่างกัน
“ดูเหมือนเราใส่ใจกับความคิดที่ว่าเราควรจะฟังความเห็นใครมากเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับควรจะออกความเห็นอย่างไร หรือเนื้อหาสาระของความเห็นเหล่านั้นคืออะไร แต่อย่างน้อยผมว่า เราควรจะก้าวผ่านแค่ที่มาของประชาธิปไตยให้ได้ ให้ไปสู่เนื้อหาของประชาธิปไตย เรื่องการปฏิรูปผมจึงไม่สนใจตรงนั้นเท่าใด”
@ ความสนใจในช่วงนี้
ในช่วงนี้ สนใจอยากเรียนรู้ทุกแง่มุมของสังคม ถ้าจะไปช่วยก็ไม่ได้หวังผลทางสังคม แต่ไปเพราะอยากรู้เองมากกว่า เพราะว่าหลังเกิดเหตุการณ์ช่วงพฤษภาที่ผ่านมา ทำให้เราได้รู้ว่า เรายังมีความเข้าใจในสังคมที่ยังจำกัดอยู่ ผมก็อยากรู้มากกว่านี้ อยากเข้าใจมากกว่านี้ เพื่อให้อย่างน้อยก็จะได้มีส่วนร่วมป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ (เหตุการณ์รุนแรง) ขึ้นอีก
@ แล้วทางแก้ที่ว่าคืออะไร
การสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ ในการที่ทุกคนในสังคมจะแก้ปัญหากันเอง โดยที่เราไม่ต้องไปออกความเห็นให้ใครฟัง บอกมาอยากทำอะไรก็ทำเลย แล้วก็มีคนช่วยสร้างพื้นที่ให้ทำด้วย อย่างน้อยพวกเราก็ได้สร้างพื้นที่ (ไอเดียประเทศไทย) ให้คนที่อยากทำอะไรด้วยตัวเองได้ทำเลย โดยไม่จำเป็นต้องออกความเห็นว่า รัฐบาลต้องทำแบบนี้ หรือรัฐมนตรีกระทรวงนี้ต้องเป็นคนนี้ หรืออะไรก็ตาม เพราะเรารู้สึกว่า ถ้าไม่ก้าวผ่านตรงนี้ เราก็จะไม่สามารถไปต่อข้างหน้าได้
รัฐบาลที่ดี ทุกคนก็อยากมีกัน แต่ว่าเรารอรัฐบาลที่ดีมากี่ปีแล้ว ตอนนี้ก็ 78 ปีแล้ว ก็อาจจะมีรัฐบาลที่โดนด่าน้อย กับโดนด่ามาก ก็ว่ากันไป แต่รัฐบาลที่ดีสุดๆ ก็ยัง
คำว่า “ดี” คือ ประเด็นหลักๆ ของการโต้เถียงกันทางการเมือง หลายๆ คนก็บอกว่าศีลธรรมคืออันนี้ ขณะที่อีกคนก็บอกว่าศีลธรรมคืออีกแบบ บางคนบอกว่าคนนี้คือฮีโร่ ขณะที่อีกคนก็อาจจะบอกว่าคนๆ นี้คือจอมมาร สลับกันไป (ตอบแบบเหนื่อยๆ) เราอยากก้าวผ่านความดีให้ได้ เพราะความดีเป็นเรื่องส่วนตัว
คุณอยากจะให้เงินขอทานก็ได้ ให้แล้วรู้สึกดีกับตัวเองก็ทำไป แต่อีกคนอาจจะบอกว่า เป็นการสนับสนุนอาชญากรก็ได้ ดังนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ การมาบอกว่า ทั้งสังคมควรมองเห็นความดีที่เหมือนกัน พร้อมกันนั้นว่าจะไปถึงจุดไหน ผมก็มองไม่เห็นอนาคตว่า มันคือจุดไหนที่เราต้องการตรงนั้นกัน ความดีนั้นก็ดี แต่คุณอย่าเก็บมันไว้กับตัว อย่าอ้างมันเพื่อผลประโยชนทางสังคม ถามตัวเองว่าทำดีที่ว่าแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมแค่ไหน
ผมเชื่อว่าศีลธรรมและความดีควรมีไว้นำทางชีวิตส่วนตัวของคุณเอง แต่ไม่ควรนำความคิดของคุณในเรื่องความดีที่คุณคิดมากำหนดชีวิตของคนอื่น ถ้าเรามองผ่านตรงนี้ไปได้ ก็จะมองที่คำว่าพัฒนาสังคมมากขึ้น มองที่ผลลัพธ์มากขึ้น มองว่าวัดอย่างไรมากขึ้น มากกว่ามองว่าสิ่งที่ทำนั้นดีหรือไม่
และการวัดผลในที่นี้ คือ ต้องพูดออกมาเป็นตัวเลขง่ายๆ เลย ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนได้เท่าไร สร้างเงินและงานให้คนจน คนว่างงานได้เท่าใด ขั้นต่ำต่อเดือนได้จำนวนเท่าไร สามารถหมุนเวียนและลดการใช้ทรัพยากรได้เท่าไร เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เราเคยเถียงกันบ้างไหม ผมไม่ค่อยเห็นคนเถียงกันเรื่องนี้
@ ปฏิรูปประเทศต่อจากนี้ควรพูดถึงเรื่องอะไร
เรื่องปฏิรูปประเทศต่อจากนี้ต้องพูดถึงตัวเนื้อหาสาระ คอนเท้นท์ เพราะถ้าเรายังคากันอยู่ว่า ใครพูดอะไร ช่วงที่เกิดเหตุการณ์หนักๆ ก่อนที่จะมีเรื่องการปฏิรูปก็จะเห็นว่า คนๆ หนึ่งพูดอะไรขึ้นมาจะผิดเสมอในสายตาของคนบางกลุ่ม ขณะที่คนบางกลุ่มเป็นเรื่องถูก (ต้อง) เสมอ แต่เราไม่ค่อยสนใจว่าพูดอะไรกันเท่าไร
แต่ก่อนคนไทยอาจจะโหยหายุคที่คนสามารถออกความเห็นต่างๆ ได้เต็มที่ เพราะว่าเรามีข้อปิดกั้นค่อนข้างเยอะ แต่พอมาถึงยุคนี้แล้วก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ยุคที่ปัญญาชนเบ่งบาน ทุกคนเป็นปัญญาชนสามารถวิเคราะห์ อะไรได้เอง
ตอนนี้เป็นยุคของความเห็นล้นตลาด ไม่ใช่ความเห็นของใครสำคัญหรือไม่สำคัญ ตอนนี้แค่คุณเห็นอะไร คนก็ไม่สนใจอีกต่อไปแล้ว เพราะก็เห็นกันทุกคน ตอนนี้ผมรู้สึกว่าความเห็นมันเยอะมากจนไร้ราคา ความเห็นกระจายอยู่ทุกที่ ทุกคนมีความเห็นหมด ฉะนั้นคำถามต่อไป คือ คุณทำอะไรได้มากกว่าล่ะ
@ โจทย์สำคัญปฏิรูปประเทศ
ทำอย่างไรให้คนสามารถโชว์ว่า ตนเองสามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้โชว์ว่า อยากให้ใครทำอะไรให้ หรือว่าจะทำอะไร แต่ว่าโชว์ให้เห็นเลยว่า พูดแล้วทำได้หรือไม่
ผมเป็นเด็กเมืองผมก็เข้าใจแค่นี้กับสังคม ผมก็เลยทำแค่ในส่วนที่ผมเข้าใจ ผมไม่ไปอยู่ในส่วนที่ผมไม่รู้เรื่องอะไรแล้วก็ทำมั่วๆ ไป แน่นอนว่า สังคมชนบทคงต้องการโจทย์อีกแบบ สังคมคนรวยและนักการเมืองก็ต้องมีสถาบันอื่นๆ มาปกครองให้อยู่ในร่องในรอยมากกว่านี้ ผมมองว่า คนชั้นกลางยังมีพลังเหลือเยอะ ทำอย่างไรให้พลังเหล่านั้นเปลี่ยนมาเป็นพลังก้อนใหญ่ทำให้สังคมดีขึ้นให้ได้
ไอเดียประเทศไทยก็เป็นพื้นที่หนึ่ง ก็หวังว่าจะเติบโตต่อไปในอนาคตซึ่งเยาวชนก็เข้ามาได้ ผมไม่ได้บอกว่า การปฏิรูปประเทศไทยแค่นี้เพียงพอแล้ว แต่ถ้าเลือกได้ผมก็อยู่แค่ตรงนี้แล้วกัน ความจริงไม่ใช่หน้าที่ผมที่ต้องมาทำไอเดียประเทศไทยด้วยซ้ำ แต่ผมอยากจะทำ ฉะนั้นถ้าผมเลือกว่า อยากจะทำ ผมก็จะทำในสิ่งที่ผมอยากทำ
@ ดูเหมือนว่ากระแสปฏิรูปให้พื้นที่กับผู้ใหญ่ หรือคนรุ่นพ่อมากกว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ คุณมองแบบนี้ไหม
เราอาจจะมองภาพ 14 ตุลาคม 2516 ว่า เยาวชนสำคัญเหลือเกินในการเป็นพลังบริสุทธิ์ พลังขาวสะอาด ตอนนี้เราไม่ได้มีศัตรูให้ต่อสู้ขนาดนั้นแล้ว แต่ตอนนี้เราต้องสร้างชาติ สร้างสังคมขึ้นมา มีอะไรที่ซับซ้อนกว่าสมัยก่อนมาก เยาวชนเองประสบการณ์ก็ไม่เยอะ ความคิดก็ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา ผมเองก็รู้ว่ายังต้องเรียนรู้อะไรอีก
ความจริงที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่า เยาวชนไม่ควรจะมาเข้าร่วมหรืออย่างไร แต่เยาวชนก็มีสิ่งที่เขาพยายามทำกันอยู่ อาจจะไม่ได้ออกมาในรูปแบบที่มีสาระมากมาย หรือออกมาในรูปของการปฏิรูปชัดเจน ขณะเดียวกันถ้าเราไม่มีมันเลยสังคมก็ถือว่า อับเฉา ต้องมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์ ดนตรี ภาพยนตร์ โฆษณา งานออกแบบ ฯลฯ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรมากมายถ้าเยาวชนจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะยุคนี้ไม่ใช่จุดที่จะต้องบังคับให้เยาวชนเข้ามาสู่จุดนี้ (ปฏิรูปประเทศ) อีกแล้ว
“ไม่ใช่เรื่องที่มีพื้นที่หรือไม่ แต่มันอยู่ที่คุณจะเลือกเข้ามาหรือไม่ ถ้าเข้ามาเพราะใจอยากทำก็เข้ามา แต่ถ้าเข้ามาเพราะโดนด่าว่าต้องเข้ามาทำแต่ใจไม่อยากทำ ก็อย่าเข้ามาเลยจะดีกว่า”
บทบาทภาพของเยาวชนมันผ่านไปแล้วครับ มันเปลี่ยนไปแล้วครับ ยุคนี้ไม่มีจอมพลถนอม กิตติขจร หรือจอมพลประภาส จารุเสถียร ไม่มีผู้ร้ายที่ชัดเจน หลายคนอาจบอกว่า คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เขาก็ยังเป็นนักบุญของคนอีกครึ่งประเทศ เราจะบอกว่า คนเหล่านั้นโง่ โดนหลอกหรือ เราไม่สามารถพูดแบบนั้นได้เพียงเพราะว่า เราเงินเยอะกว่าเขา ถ้าเราคิดอย่างนั้นแสดงว่า เรามองคนเป็นสองชนชั้นเรียบร้อยแล้ว
ผมเองมาอยู่จุดนี้เพราะโดยทางเลือกว่าทำอะไรได้ก็ควรจะทำสักอย่าง เราไม่อยากมานั่งด่าว่า ทำไมเยาวชนสมัยนี้ทุเรศทุรัง ไม่สนใจสังคมเลย บางครั้งความโกรธนั้นทำให้เรานั่งวิจารณ์สังคมทั้งวัน กว่าเราจะรู้ตัวก็กลายเป็นนักวิจารณ์ที่แบบว่าอะไรก็ไม่ดีไปหมดทั้งโลก มันมีพื้นที่ครับ แต่ถ้าเขา (เยาวชน) จะไม่เข้ามาก็ไม่เป็นไร ก็เรื่องของเขา
@ การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องอนาคตชาติก็ควรให้คนในอนาคตเข้ามามากๆ ไม่ถูกต้องหรือ ?
แน่นอนว่าในคณะปฏิรูปมีแต่คนแก่ๆ บางคนก็บอกว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านขนานเดิม ผมรู้สึกว่าทุกท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และในคณะเหล่านั้นก็มีเยาวชนอยู่ในนั้นด้วย เพียงแค่ชื่อไม่ได้ออกปรากฎในสื่อแต่อย่างใด เยาวชนในคณะนั้นก็คงจะดูแลในเรื่องที่ต่างออกไป จะให้ไปทำเรื่องแก้กฎหมายความรู้และประสบการณ์คงยังไม่พอ
สมัยก่อนเราเข้าใจว่าเยาวชนต้องเป็นคนผลักดันสังคม แต่เราต้องยอมรับว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว คนไทยโตช้ามาก อายุ 30 ปีบางครั้งยังถือว่าเด็กอยู่เลย เราก็อย่าไปด่า ว่าสังคมแย่ ต้องยอมรับว่า เดี๋ยวนี้เป็นแบบนี้ ควรมองว่าสามารถหาจุดและปัจจัยใดบ้างมาช่วยแก้ไขได้บ้างจะดีกว่าการมานั่งบอกว่าจะทำอย่างไงให้เยาวชนโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น
@ หรือว่าเรื่อง “ปฏิรูป” ยังไกลตัวเยาวชน คนรุ่นใหม่ ?
มันไม่ไกลตัวใครแล้ว ทุกคนคงรู้ว่า ใกล้ตัวมากๆ อยู่แล้ว ตอนนี้ผู้ใหญ่ก็อยากทำกันจะตายอยู่แล้ว ถึงแม้เด็กเยาวชนจะไม่มาทำ ผู้ใหญ่ก็ยังมีแรงเหลือกันมากมายในการทำ และถ้าจะห่วงเยาวชนไทยสักเรื่อง ก็คือ กลัวการเป็นสังคมแห่งการวิจารณ์ที่ไม่ค่อยมีการกระทำมารองรับเท่าไร วิจารณ์โดยไม่เคยเข้าไปดูและสัมผัสในจุดนั้นว่าเป็นอย่างไร
เรื่องปฏิรูปประเทศเยาวชนไทยอาจไม่ต้องมีส่วนร่วมก็ได้ แต่คุณต้องไม่วิจารณ์ทั้งวันโดยที่ไม่ได้ทำ คุณอาจไม่ต้องเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่คุณเคยมีส่วนการเข้าร่วมออกแบบนโยบายประเทศไหม ถ้าจะวิจารณ์รัฐบาลนะ เราไม่ได้บอกว่า คุณวิจารณ์รัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้าคุณวิจารณ์อะไรก็ไม่ดีไปหมด สุดท้ายมันก็ไม่ได้ช่วยเหลือให้ดีขึ้น
ฉะนั้นถ้าสิ่งใดที่พอรับได้ก็ขอให้หยุดคิดสักนิด อย่าเพิ่งวิจารณ์ออกมา สิ่งใดที่ดีก็ควรจะชมบ้างให้มีกำลังใจ ส่วนอะไรที่ไม่ดีจริงๆ ก็วิจารณ์ได้ สักหมัดสองหมัดก็ว่ากันไป อย่าลืมว่าถ้าเราไปทำเองตรงนั้น เราจะทำได้ไหม มีทางเลือกให้หรือเปล่า ไม่เช่นนั้นเราก็วิจารณ์กันอยู่อย่างนี้ อย่างน้อยเมื่อสิบปีก่อนมาถึงวันนี้ ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ก็กลัวว่าอีกสิบปีข้างอนาคตจะกลายเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เราจะไม่รู้จักเลยหรือไม่ ยุคนี้ทุกคนด่ากันได้ออกนอกหน้าโดยที่ไม่ต้องแคร์
@ คุณมองอนาคตประเทศไทยไว้อย่างไรบ้าง
(คิด…) ประเทศไทยในอนาคตผมก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะผมไม่ใช่คนไทยที่เข้าถึงสังคมไทยได้มากขนาดนั้น เราไม่รู้ว่า สังคมไทยจะเป็นอย่างไร แต่สังคมที่อยากเห็นคือ สังคมไทยที่รัฐบาลลดความสำคัญลง
รัฐบาลทำในเรื่องที่รัฐบาลทำได้เท่านั้น หลายเรื่องรัฐบาลไม่ต้องทำ ก็ปล่อยให้เอกชนทำกันเมื่อรัฐบาลมีความสำคัญน้อยลง คนก็จะมีสติเกี่ยวกับเรื่องรัฐบาลมากขึ้น อาจจะมีชอบบ้างไม่ชอบบ้าง แต่คงไม่ถึงขั้นอย่างที่แล้วๆ มา แน่นอนว่าก็ต้องเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ
@ หมายความว่า ทุกคนต้องหยุดวิจารณ์-เรียนรู้ร่วมกัน-โตไปพร้อมกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง
(ตอบด้วยน้ำเสียงจริงจัง) ก่อนหน้าเสื้อเหลืองบุกสนามบินสุวรรณภูมิผมก็คิดอีกแบบหนึ่ง ก่อนหน้าเสื้อแดงบุกยึกกรุงเทพฯ ผมก็คิดอีกแบบหนึ่ง ความคิดก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ช่วงนี้อย่าพยายามมีจุดยืนเลย พยายามมีเส้นทางความคิดดีกว่า
ถ้ามีจุดยืนเราก็จะยืนอยู่ตรงนั้นแล้วก็ไม่ไปไหนแล้ว แต่ถ้าคิดจะเปิดหัวตัวเองเพื่อที่จะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ กับประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลง คิดว่าเราโตไปพร้อมกับสังคมเราก็จะกลายเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าเราไม่ได้หยุดแค่จุดเดิม เหมือนที่เป็นอยู่ที่ต้องคิดเสมอว่า นักศึกษาต้องออกมาต่อสู้เรียกร้อง ต่อต้านเผด็จการ รัฐบาลต้องชั่วร้ายเสมอ เราจะเรียนรู้ได้ไหม
อย่าคิดว่าถ้าเราหยุดวิจารณ์แล้วจะกลายเป็นคนไม่ฉลาดนะ หยุดวิจารณ์แล้วจะกลายเป็นคนไม่มีความหนักแน่น จริงๆ คนส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้วิจารณ์อะไรกันมากมาย ลองมองดูว่าเราเป็นคนส่วนน้อยหรือเปล่า ถ้าเห็นดังนั้นแล้วก็ลองปรับปรุงตัวเองดูเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้สังคมดีขึ้นได้บ้าง
แต่ก่อนผมก็มีจุดยืน แต่ตอนนี้คิดว่าจะยืนไปทำไม ถ้าจุดที่ยืนอยู่นั้นไม่ฉลาดเท่าไหร่ ก็จะยังไม่ฉลาดอยู่อย่างนั้น ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดีกว่า ก็ต้องเรียนรู้กันไป ก็อย่าปลิวไปตามลม ใครบอกอะไรก็ไปตามนั้น ขณะเดียวกันก็อย่าหนักเป็นหินยังไงก็จะเอาแบบนี้ ไม่เชื่ออะไรแล้วทั้งนั้น ซึ่งมันต่างมีความพอดีของมันอยู่
@ คิดว่ากระแสปฏิรูปจุดติดกับเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือยัง
(คิด) ผมว่าปฏิรูป “จุด” ตอนแรกก็แค่ “ติด” กับคนที่ไม่ใช่เยาวชนอยู่แล้ว อาจจะมีเยาวชนบ้าง กลุ่มคนที่รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยของสังคม คนวงกว้างออกไปหน่อยก็อาจจะมองว่า เขาทำอะไรที่จะปฏิรูปกันบ้าง ต้องทำอะไรกันบ้าง จากนั้นก็มีเหตุการณ์เทศกาลบอลโลกเข้ามาเป็นกระแส พอบอลโลกจบคนก็ลืมหมดแล้วว่าจะต้องทำอะไร ก็เหลือแค่กลุ่มฮาร์ดคอร์จริงๆ ที่อยากจะทำอะไรกันอยู่
ประเทศไทยก็ทั้งบุญทั้งบาปลืมง่าย สบายใจง่ายดี แต่สำหรับคนที่เขายังเจ็บอยู่ล่ะ เราลืมเขาแล้วหรือ ผมเองคงไม่สามารถบอกได้ว่า กระแสนี้กับเยาวชนมันจุดติดหรือไม่ และก็ไม่อยากวิจารณ์ด้วยว่า จุดกระแสติดหรือไม่ติดนั้นดีอย่างไร เพียงแค่เราก็รู้สึกเหมือนกันว่า คนเริ่มลืมๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา อาจจะต้องเกิดอีกรอบสองรอบหรือเปล่าให้คนไม่ลืม ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นแต่มันอาจจำเป็นต้องเกิดเพื่อให้เราหันกลับมามองต้นเหตุของความขัดแย้งครั้งนี้ให้ได้ ว่า ไม่ได้อยู่ที่ทางการเมืองอย่างเดียว มีปัจจัยหลายอย่างร่วมอยู่ด้วย
เหตุการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า สังคมเมืองก็ไม่ได้เข้าใจสังคมชนบท สังคมชนบทก็ไม่เข้าใจสังคมเมืองเช่นเดียวกัน ถ้าเราบอกให้คนรวยไปเข้าใจคนจนก็อาจฟังดูยุติธรรมในบางมาตรฐาน แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด ก็หวังว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาคนเมืองจะได้เรียนรู้จากคนชนบท ส่วนคนชนบทก็จะเข้าใจคนเมืองมากขึ้นด้วยว่า พวกเราไม่ได้เห็นแก่ตัวอย่างเดียว ไม่ใส่ใจ ไม่ใช่ว่าวันๆ เอาแต่ช้อปปิ้ง ซึ่งยังมีคนที่ใส่ใจตรงนี้อยู่เพียงแค่อาจจะไม่ใช่ทุกคนเท่านั้นเอง
ผมอยากให้คนชนบทเห็นภาพที่แตกต่างกันของคนในเมืองสมัยก่อนกับในปัจจุบันบ้าง ส่วนคนเมืองเองก็ต้องมองคนชนบทให้ต่างไปจากเดิมบ้าง เมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าหากันเรื่อยๆ ปัญหาก็อาจจะลดลงเรื่อยๆ
@ มองการ “ปฏิรูป” เป็นเรื่องของการ “ปรองดอง” หรือไม่
ก็ต้องถอยกลับไปถามว่า การปรองดองคืออะไร อยู่ดีๆ มากอดคอรักกันเถอะ หรือว่าปรองดอง คือ ไม่ใช่แค่การเลิกทะเลาะกัน มันก็เหมือนกับความสุขคืออะไร ความสุขจริงๆ คืออะไร มันเป็นก้อนจับได้หรือไม่ หรือแค่ไม่ทุกข์ก็มีความสุขแล้ว ผมก็เคยถามท่านนายกฯ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ว่าปรองดองคืออะไร ท่านก็ตอบว่า เป็นการทำให้คนอิ่มท้อง ไม่ต้องมาทะเลาะกันเพื่อแย่งเรื่องต่างๆ ก็ถือว่า ปรองดองกันไปเองแล้ว
ถ้าผมตอบคำถามนี้ไปก็ไม่รู้ว่าจะจริงหรือไม่ ก็เป็นแค่ความเห็นหนึ่งไม่ได้สำคัญอะไรมากมาย เพราะยังมีความเห็นอื่นอีกเป็นร้อย (ยิ้มมุมปาก) แต่ถ้าจะให้ผมลองออกความเห็นดู……ก็ได้นะ (หัวเราะ) “ปรองดองก็เป็นผลลัพธ์จากการปฏิรูปที่สำเร็จมากกว่า แต่ไม่ใช่ปฏิรูปเพื่อความปรองดองอย่างเดียว”
ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าคนมันจะฆ่ากันบางทีก็อาจจะไม่มีใครช่วยได้ก็ได้ อาจจะดีถ้าทุกคนอิ่มท้อง มีข้าวกินแล้ว แต่ว่าอยู่ดีๆ ก็มีอุดมการณ์ทางศาสนา ทางการเมืองเข้ามาบอกว่า คนอีกพวกเป็นน้อยกว่ามนุษย์ มาบอกว่าตัวเองเป็นชนชั้นที่สูงกว่า โดยที่อีกพวกหนึ่งเป็นพวกไร้ความยุติธรรมสิ้นดี มันเลวไปหมด ก็อาจจะฆ่ากันอยู่ดีก็ได้…ใครจะไปรู้
@ การปฏิรูปประเทศ คือ การลดความสำคัญของรัฐบาล ใช่หรือไม่
การปฏิรูปครั้งนี้คือการสร้างพื้นที่ให้กับคนที่คิดอยากจะทำอะไร (ให้สังคมพัฒนาขึ้น) สามารถมาทำได้จริง แล้วก็ทำให้รัฐบาลลดความสำคัญลงในประเทศไทย นั่นคือ การปฏิรูปสำหรับผม (เน้นเสียง) แต่ถ้ามีใครเชื่อว่าปฏิรูปคือการปรองดองก็ไปทำให้เกิดการปรองดองขึ้น ถ้าล้มเหลวหรืออย่างไรก็ช่วยบอกกันด้วย
ผมเองที่ทำอยู่ก็จะบอกคนอื่นด้วยว่า ถ้าสำเร็จหรือมันล้มเหลวก็เพราะแนวทางแบบนี้นะ แต่ที่แน่ๆ คือไม่มีใครถูกต้อง100% อยู่แล้ว เพราะว่ามีความเห็นเป็นล้านแบบกับคำว่า ….ปฏิรูป
@ ยังมีคนที่อยากทำอะไรเพื่อสังคมอีกมาก แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน
ผมเองก็ไม่ได้ทำอะไรกับการปฏิรูปประเทศมากนัก นอกจากโครงการไอเดียประเทศไทย ผมเชื่อว่าไม่มีใครไปบอกคนอื่นได้ว่า คุณต้องคิดอย่างไร หรืออะไรคือสิ่งที่เหมาะสมกับสังคม
แต่ก่อนเราเคยนึกว่าการช่วยต่อต้านผู้มีอำนาจนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง สวยงาม เพราะเรามีความจำสมัย 14 ตุลาฯ มาคอยเป็นผีหลอกหลอนสังคมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่า ที่ผ่านมามีข้อกังขาในหลายเรื่องที่ไม่ได้ออกมาอย่างสวยงามอย่างเดียวในเรื่องของการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ถ้าเราไปปลูกฝังแนวคิดแบบนี้ให้เยาวชนอย่างเดียว เราจะการันตีได้อย่างไรว่า ต่อไปมันจะไม่แรงกว่านี้ ขณะเดียวกันถ้าไม่ปลูกฝังเลย เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผู้มีอำนาจจะไม่ครอบงำ ในเมื่อเราก็ตอบไม่ได้ก็อย่าไปตอบแทนเขาเลยดีกว่า ให้คนที่เขาอยากทำอะไรได้ออกมาทำเองดีกว่า ผมเชื่อว่ายังมีคนที่อยากทำอะไรเพื่อสังคมอีกเยอะแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร
@ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กรรมการปฏิรูปเคยชวนคุยเรื่องปฏิรูปบ้างหรือไม่
คุยครับ (อมยิ้ม) แต่พ่อไม่ได้ชวนไปทำเพราะพ่อรู้ว่าผมทำเรื่องนี้อยู่ (ไอเดียประเทศไทย) ซึ่งแต่ละคนก็งานยุ่งกันเกิน พ่อก็เข้าไปร่วมในส่วนนั้น (กรรมการปฏิรูป) ซึ่งก็ไม่ได้ถือตนว่าเป็นเจ้าสำนักอะไร พ่อก็บอกว่าช่วงนี้อยากทำอะไรสักอย่าง ซึ่งถ้าผมช่วยอะไรได้ก็อยากจะช่วย ช่วงนี้พ่อก็ประชุมกรรมการบ่อยมาก แต่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ (พ่อและคณะกรรมการ) ทำก็จะมีการระดมความเห็น ประชุมให้เสร็จ สร้างเป็นโร้ดแมปในการพัฒนาประเทศออกมา
(ตอบแบบเหนื่อยๆ) ถ้าพูดแบบไม่เกรงใจพ่อ ผมก็รู้สึกว่า มีโร้ดแมปแบบนั้นออกมาบ่อยมากแล้ว แทบจะทุกรัฐบาล และที่สำคัญรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็จะออกจากอำนาจไปในไม่ช้าแล้วรัฐบาลต่อไปจะเป็นใครก็ไม่รู้ เขาจะทำต่อหรือไม่ แล้วที่สำคัญนโยบายระดับประเทศนี้แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ แน่นอนว่ามันจำเป็นในการแก้ปัญหาบางเรื่อง แต่ถ้าบางเรื่องนั้นแก้โดยภาคเอกชนได้ดีกว่า
ผมไม่ได้บอกว่า ไม่ควรทำการปฏิรูปประเทศในระดับมหภาคแบบนั้น แต่ว่ายังไม่มีใครมามองในเชิงจุลภาคบ้างเลย แบบที่พวกเรากำลังพยายามทำกันอยู่ ความจริงมันก็ไม่ได้ขัดแย้งซึ่งกันและกัน แต่จะช่วยเสริมกันไป ถ้าเลือกได้ผมก็เลือกอยู่ตรงนี้ (ไอเดียประเทศไทย) เพราะอีกด้านหนึ่ง (การปฏิรูป) ไม่ค่อยสนุกเท่าไรสำหรับผม
พ่อก็พูดบ้างว่า คุยการปฏิรูปเรื่องอะไรกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ชวนว่าจะทำอะไรบ้าง เราก็ไม่ค่อยได้ชวนกันและกันอยู่แล้ว เพราะรู้ว่าแนวความคิดเราต่างกันนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้ทะเลาะอะไรกัน
@ ถ้าบอกว่า ปฏิรูปประเทศ คือ การต้องเปลี่ยนจิตสำนึก จิตวิญญาณของคนทั้งประเทศใหม่ เท่านี้พอหรือไม่
(คิด) ผมอาจจะเกิดมาในยุคที่มองโลกในแง่ร้าย ผมไม่เคยเชื่อเรื่องจิตวิญญาณอีกต่อไป คือมีครับจิตสำนึก มีอยู่ในจิตใจของทุกคน ผมก็มีจิตวิญญาณของผมที่จะยืนหยัดเพื่อต่อสู้ในสิ่งที่ผมทำ แต่จะมีคณะปฏิรูปคณะใดที่จะมาสร้างจิตวิญญาณให้สังคมได้จริงหรือ ก็ต้องทำด้วยตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ไม่ใช่วาระแห่งชาติครับ
ผมสังเกตได้อย่างหนึ่งคนเราเวลาอิ่มท้องมักจะหาอะไรต่อเอง ฉะนั้นถ้าจะทำให้เกิดจิตวิญญาณในสังคมจริงๆ ..(คิด) นี่คุณกำลังถามให้ผมทะเลาะกับพ่อ ชัดๆ (ขำ) ผมอาจจะไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับพ่อโดยสิ้นเชิง คือเห็นด้วยว่าจะต้องมีจิตวิญญาณ ต้องมีแก่นให้ยึด ต้องมีความหนักแน่นในเชิงการกระทำและความคิด แต่ว่าสิ่งที่จะทำให้เกิดจุดเหล่านั้นได้ ว่าพวกคุณต้องมีจิตวิญญาณนะ ต้องมีจิตสำนึกนะ ผมว่าไม่ง่าย
มันต้องเกิดจากการทำให้พวกเขาอิ่มท้องให้ได้ก่อน แล้วเมื่ออิ่มคนก็จะไปหาอะไรต่อกันเอง ก็ไม่ต้องมีใครมากบอกว่าควรจะคิดแนวไหน อย่างไร เช่น เรื่องการอ่าน ถ้าคนยังกินข้าวไม่อิ่มแล้วคนจะอ่านหนังสือกันไหม ถ้ายังกินข้าวไม่อิ่มเขาจะไปอ่านหนังสือปรัชญากันไหม แต่ถ้าอิ่มแล้วมีเงินใช้แล้วเขาอาจจะสนใจเรื่องปรัชญาเหล่านั้นมากขึ้นก็ได้ แล้วเมื่ออ่านปรัชญาก็จะเริ่มตระหนัก มีจิตสำนึก มีปรัชญา ความคิดอะไรใหม่ๆ เข้ามาเอง
@ 3 สิ่งที่ “วรรณสิงห์” อยากจะทำเพื่อร่วมพัฒนาสังคมไทย
(ยิ้ม) อย่างแรกเลยที่ผมอยากจะทำ อยากจะทำเพลงและงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ ทำเพลงที่ลึกซึ้ง แปลกใหม่ แต่ว่าเรียบง่าย เข้าใจง่าย ให้เนื้อหาลึกกว่าเดิม อาจจะไม่ใช่งานเชิงพัฒนาสังคมแบบที่เคยเข้าใจกันไปช่วยคนจน หรือไปทำเขื่อน ผมก็เพิ่งรู้ว่าการทำให้คนมีงานศิลปะใหม่ๆ เสพนั้นก็สามารถกระตุ้นให้สังคมรู้สึกสนุกอยู่ตลอดเวลา สนุกใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์มาก ซึ่งวิธีนี้ก็อาจไม่ใช่สำหรับคนทุกคน
สอง โครงการไอเดียประเทศไทย สร้างพื้นที่ให้คนที่อยากจะทำอะไรเพื่อสังคมได้ทำจริง จะทำโครงการนี้ให้ระยะยาวและยั่งยืน
และสาม รายการพื้นที่ชีวิตที่ทำอยู่ ที่ผมออกเดินทางเพื่อให้คนเห็นว่าด้านศาสนานี้สังคมไทยเราอยู่จุดไหนของโลก ซึ่งพบว่าสังคมไทย Conservative เรื่องนี้มากแต่ทำไม่ได้เท่าไร ผมอยากจุดประเด็นเหล่านี้ให้คนในสังคมกลับมาคิดให้มากขึ้น ศรัทธาที่มีอยู่ให้เราต้องสามารถตั้งคำถามได้ด้วย ศรัทธาที่มีโดยที่เราไม่เคยถามคำถามอะไรเลย โดยที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้เชื่อมันอาจจะไม่แข็งแรง ผมแค่พยายามจะบอกว่า คุณมีทางเลือก ให้ทุกคนตั้งคำถามได้ สงสัยได้ในศรัทธานี้ เพราะมันอาจนำเรากลับไปสู่ศาสนาพุทธที่เคยแข็งแรงก็ได้
ผมไม่อยากให้มองเรื่องการทำงานอะไรเพื่อสังคมจะต้องซีเรียสเท่านั้น เป็นแค่เรื่องของการกระจายรายได้ เศรษฐกิจ หรือการเมืองอย่างเดียว จริงๆ เรื่องศิลปะทำให้คนสนุก ช่างสงสัย มากกว่า และทำได้ยากกว่าประเภทแรกอีกด้วยซ้ำ
@ กลัวหรือไม่ถ้างานที่ทำอยู่จะไม่สำเร็จ
มันคงไม่สำเร็จ 100% แล้วมันก็คงไม่ล้มเหลว 100% ไม่เคยกลัวว่าจะล้มเหลว ถ้าไม่ได้ทำมันก็คือไม่ได้ทำ ก็แค่อยากทำอะไรพัฒนาสังคมให้มันเกิดผลที่สูงที่สุดเท่านั้น แค่คิดว่าเราอยากทำหรือไม่เท่านั้นก็พอ
@ สุดท้ายอะไร คือ สิ่งที่ “วรรณสิงห์” อยากทำมากที่สุด
(หัวเราะ) ผมไม่เล่นการเมืองแน่นอน ให้ตายอย่างไรผมก็ไม่เล่น เพราะว่าอยากให้สังคมเห็นว่าแม้เราไม่ต้องเป็นนักการเมือง เราก็สามารถพัฒนาร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และผมเองก็ไม่สนุกและทนไม่ได้ถ้าจะต้องมีคนมานั่งวิจารณ์ผมทั้งวัน ตอนนี้ผมคิดแบบนี้นะ