สัมภาษณ์::::“สมปอง เวียงจันทร์” จากรากหญ้าสู่ คปร. ทางเดินใหม่บนแผนที่เดิม
แม่ ค้าปลาบ้านวังสะแบงใต้ ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม อุบลราชธานี ที่ล้มละลายเพราะโครงการรัฐอย่าง“เขื่อนปากมูล” แต่กลับสร้างให้เธอกลายมาเป็นแกนนำบนเส้นทางการต่อสู้ของคนรากหญ้ามากว่า 20 ปี วันนี้ “สมปอง เวียงจันทร์”วัย 60 เป็นชาวบ้านคนเดียวในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.)
อยากให้เริ่มเล่าจากความเป็นมาของปัญหาเขื่อนปากมูล
เขื่อน ปากมูลเกิดขึ้นจากนโยบายส่งเสริมพลังงานของรัฐ มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) เป็นผู้รับผิดชอบ เริ่มศึกษาแนวเขตครั้งแรกปี 2528 ครอบคลุม 3 อำเภอ 70 หมู่บ้าน โดยอ้างว่าเราจะกินดีอยู่ดี ใช้น้ำไฟฟรี อุปโภคบริโภคดีขึ้น แต่ไม่เคยพูดถึงข้อเสียทั้งที่เขื่อนสร้างปิดปากน้ำมูลซึ่งเป็นแม่น้ำสาย หลัก แถมตอนทำประชาคมก็เชิญแต่ผู้นำไป ไม่ฟังเสียงค้านชาวบ้าน สุดท้าย กฟผ. ก็ลงมือสร้างจริงปี 2532
เขื่อนปากมูลสร้างปัญหาอะไรให้ชาวบ้านหรือ?
บ้าน วังสะแบงใต้เป็นชุมชนปลายน้ำ ไม่มีพื้นที่การเกษตร ยึดอาชีพประมงเป็นหลัก ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างคนบ้านใกล้และไกลน้ำ กระทั่งปีที่ระเบิดหินสร้างเขื่อนช่วง 2534-2535 ส่งผลให้ปลาสูญพันธุ์ ชาวบ้านล้มละลาย เงินลงทุนหายกลายเป็นหนี้สินเพราะทำมาหากินไม่ได้ ต้องส่งลูกหลานเข้ากรุงเทพฯ พอน้ำท่วมต้องย้ายชุมชนไปอยู่ที่ใหม่ วิถีชีวิตเปลี่ยน ดูแลกันลำบาก ห่างไกลข้อมูลข่าวสาร เกิดปัญหาลักเล็กขโมยน้อยเป็นประจำ คือสังคมใหม่ที่ไม่เคยเจอ เขื่อนก็คือศัตรูของเรานับแต่นั้น
การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่เริ่มจากจุดไหน อย่างไร?
เรา เห็นกรณีตัวอย่างจากเขื่อนสิรินธร ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ทำกิน แม้รัฐจัดสรรที่ดินนิคมสร้างตนเองให้ แต่ต้องอพยพเข้าเมืองเพราะทำกินไม่ได้ สภาพแบบนี้เราไม่อยากได้ การให้รื้อบ้านเดิมแล้วมาสร้างใหม่นั่นคือปัญหาและคิดอย่างเดียวว่า “กูไม่อยากได้เขื่อน ถ้าไม่หยุดก็ค้านอย่างเดียว”
แต่ก็เหมือนเราสู้กับช้างใหญ่ที่เป็นเจ้าเป็นนายซึ่งลำบากมาก ยิ่งคนจนด้วยยิ่งไม่กล้า เราเลยต้องระดมพี่น้องจากสิรินธรส่วนหนึ่งที่มีแรงพอ อาศัยเวทีคนอื่นร่วมชุมนุม แต่เสียงไม่ดังพอแถมสังคมก็ยังตราหน้าว่าเป็นแรงงานรับจ้าง ทำให้เป็นแรงกดดันรวมตัวที่สันเขื่อนยึดหลุมระเบิด กลายเป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่ว
แล้วทำไมแม่สมปอง ถึงเข้ามาร่วมเป็นแกนนำการต่อสู้คนหนึ่ง?
เรามีแรงบันดาลใจอย่างมด(วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดแนวทางให้ชาวบ้านรู้สึกมีกำลังใจ ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน บวกกับคณะกรรมการสิทธิเสรีภาพเขตอุบลราชธานี ทำให้เรารู้ว่าแม่น้ำน้อยแต่สู้ไฟได้ เมื่อรวมกับความเจ็บปวดที่ กฟผ. เปรียบหมู่บ้านเราเป็นบ้านพักชั่วคราว(ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องเอกสาร สิทธิ์)ยิ่งทำให้เจ็บปวด “นี่บ้านกูแท้ๆอยู่กันมาเป็นร้อยแต่บอกว่าแค่บ้านพักชั่วคราว ยังไงต้องลุกสู้เต็มที่ ตายเป็นตาย” นี่เองที่ทำให้ชาวบ้านและแม่ลุกขึ้นสู้แบบหัวชนฝา
พอมีข้อมูลจากนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและเอ็นจีโอที่ลงพื้นที่ศึกษา ถึงผลกระทบการสร้างเขื่อนทำให้น้ำท่วมที่ชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูลพวกนี้มา ก่อน จึงรวมตัวกันโดยส่งตัวแทนมาบ้านละ 5 คน ตั้งเป็นคณะกรรมการชีวิตและลุ่มน้ำชุมนุมกดดันในพื้นที่และที่รัฐสภา ตอนนั้นเราเป็นแม่ครัว พอดีครั้งหนึ่งที่รัฐเรียกตัวแทนไปเจรจา แต่ไม่มีแกนนำหลักอยู่ แม่จึงเข้าเข้าไปเป็นตัวแทนและถูกเลือกให้เป็นแกนนำ
จนถึงวันนี้ ปัญหาเขื่อนปากมูลได้รับการแก้ไขไปถึงแค่ไหน น่าพอใจไหม?
เรา ค่อยๆไปทีละก้าว การได้รับการยอมรับจากสังคม สร้างคนให้รู้จักสิทธินี่แหล่ะคือชัยชนะ ส่วนเรื่องเขื่อนมีมติ ครม.ให้เปิดปีละ 4 เดือน แต่เราบอกให้เปิดถาวรถึงจะฟื้นฟูชีวิตเราจริง อีกเรื่องคือการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการฟื้นฟู เพราะ กฟผ. ใช้วิธีทำคลองส่งน้ำให้ ทั้งที่เราไม่ได้ทำไร่ทำนา คนหาปลาต้องเปิดเขื่อน หรือไม่ก็ต้องจัดสรรที่ดินทำกินให้
ล่าสุดรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา 2 ชุด คือคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น และคณะกรรมการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมานำเสนออีกครั้งหนึ่งว่าจะทำตาม ทำข้อเรียกร้องของเราหรือไม่
อะไรคือความหมายของ “หมู่บ้านแม่มูลยั่งยืน”?
จริงๆ เราอยู่อย่างยั่งยืนมานานแล้ว แต่การเข้ามาแย่งทรัพยากรต่างหากที่ทำให้เราไม่ยั่งยืน หมดอนาคต ไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีหลักประกัน อย่างพวกนักการเมืองที่มาหาคะแนนเสียงพวกนี้เราเบื่อมาก เพราะประวัติศาสตร์สมัยคัดค้านเขื่อน คนกลุ่มนี้ตอนแรกคือผู้สนับสนุนเรา ทำให้ศรัทธาเลือกเขาเข้ามา สุดท้ายก็พาคนมาสลายการชุมนุม สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีสมัยนี้ก็เป็นอยู่
สมัชชาคนจน ที่เรียกว่าเป็นตำนานแรกๆของม็อบชาวบ้าน ก็เกิดจากการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล
แรกๆเราสู้แล้วเกิดสู้ได้ คนจนทั่วประเทศเลยเสนอปัญหามา แต่เราไม่ใช่รัฐบาล เขาเลยบอกว่าอย่างนั้นรวมตัวกันครั้งแรกของ 7 เครือข่ายทำเป็นสัญญาประชาคมในนาม “สมัชชาคนจน” เมื่อปี 2538 ทำงานชิ้นแรกด้วยการชุมนุมยาวนานที่สุด 99 วันจนรัฐบาลยอมแพ้
ต่างคนต่างมาแต่มีปัญหาเดียวกันคือคนจนเข้าไม่ถึงทรัพยากร อยากมีอำนาจที่ไม่ได้ใช้ข่มเหงคนอื่น แต่มีเพื่อจัดการกับทรัพยากรของเราอง
จนถึงวันนี้มองว่าการต่อสู้ของสมัชชาคนจนบอกอะไรกับสังคม และให้อะไรกับคนรากหญ้า?
สังคม ไม่เคยเท่าเทียม การใช้กฎหมายและเลือกปฏิบัติรวมถึงความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง มีอยู่ทั่วไปและขยายวงกว้าง ขณะที่คนรากหญ้ารู้จักคิด ต่อสู้ และรู้สิทธิมากขึ้น เพราะกติกาของสมัชชาบอกเสมอว่าใครยิ่งมีแต้มต่อมากมักเอาชนะได้ง่าย
ม็อบบนถนนยังจำเป็นตราบเท่าที่กลุ่มนายทุนยังไม่ลดบทบาทหรือยังไม่มี จิตสำนึก และตราบใดที่ชาวบ้านยังเข้าถึงทรัพยากรไม่ได้ จัดการชีวิตหรือเลือกทางเดินเองไม่ได้ ตราบนั้นม็อบต้องอยู่ เพราะนี่คือทางตรงที่คนจนจะเข้าถึงรัฐได้โดยไม่ต้องรอกระบวนการยาวนานของรัฐ
เป็นผู้หญิงที่อยู่แถวหน้าบนเวทีการต่อสู้ มีปัญหาบ้างหรือเปล่า?
บทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้ทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะความละเอียดอ่อนที่มีมากกว่า งานบางงานอาศัยความแข็งแรงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าจริงๆมันเหมือนหรือต่างกันไหม แม่ว่าไม่ต่างนะ ทุกเพศเท่าเทียมเพราะเวทีการต่อสู้มักมีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าทำให้สมดุลน่าจะดีกว่า
การมาเป็นแกนนำปากมูล มันเกิดจากความบังเอิญ แต่หลังจากนั้นชาวบ้านเขาเห็นแววว่ากล้าพูดกล้าจา กล้าต่อรอง คล่องแคล่ว ความจริงไม่มีอะไร แม่แค่เอาความทุกข์ความเจ็บปวดที่อัดอั้นไประบายให้รัฐฟังเท่านั้น ทุกอย่างมันเกิดที่ใจทั้งสิ้น
แต่ปัญหาของการเป็นแกนนำหญิงก็มีอยู่ ข้อจำกัดต่างๆทั้งการอยู่กิน การดูถูกเอาเปรียบจากผู้ชายแม้กระทั่งกลุ่มเดียวกันเอง แต่เราต้องสู้เพราะไม่อยากให้ใครคิดว่าแทนที่จะช่วยกลับมาสร้างปัญหาเพิ่ม
ตั้งแต่เรื่องเขื่อนปากมูล..มาสมัชชาคนจน..ถึงวันนี้ การต่อสู้ให้อะไรกับชีวิตแม่สมปอง?
เรา มีเพื่อนร่วมเดินบนทางเดียวกันเยอะ ประสบการณ์ทำงานที่สรุปเป็นบทเรียนได้เรื่อยๆทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งและ ค่อยๆปรับปรุง เหมือนเรียนรู้ไปพร้อมกับการต่อสู้ สำคัญมากคือเราได้ความภูมิใจ
คิดว่าอะไรทำให้ได้รับเลือกเป็นหนึ่ง คปร. และรู้สึกอย่างไรที่เป็นชาวบ้านคนเดียว?
จาก คนเรียนจบ ป. 4 ทำงานตรงนี้มาเกือบ 20 ปี บทบาทอาจเด่นออกมาเรื่อยๆ ประสบการณ์มากขึ้น รู้และเข้าใจปัญหาของคนจนแทบทุกเรื่อง คนคงรู้จักและเลือกจากตรงนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนทำงานตรงนี้มีเหมือนกันคือมีความในใจในการแก้ปัญหาของพี่ น้อง แม่อาจโดดเด่นเรื่องการพูดจา แต่ถ้าจะหาทางออกเราพูดคนเดียวไม่ได้หรอก ต้องอาศัยเพื่อน บางคนคิดดีกว่าเราแค่เขาไม่พูดเท่านั้นเอง
ปกติก็เคยอยู่อย่างนี้เพียงแต่ไม่เป็นทางการเท่าครั้งนี้ แต่แม่จะภูมิใจมากถ้า คปร.ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและชาวบ้านมาช่วยกันหนุนหลังจริงๆ แต่ถ้าไม่เป็นตามเจตนา เรายินดีถอยได้ไม่มีปัญหา สำคัญคือต้องระวังไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง
ประโยคแรกที่แม่พูดในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคืออะไร?
ประเทศไทยมีคนกำลังป่วยอยู่เยอะ คณะกรรมการปฏิรูปเปรียบเหมือนหมอต้องรักษาคนป่วยให้หาย ถ้าหายเมื่อไหร่สังคมจะรับเราได้ ต้องทำให้สังคมกระจ่างว่าเราไม่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังอย่างที่มีเสียง วิพากษ์วิจารณ์ โดยการหาทางออกทำให้สังคมเชื่อและเข้าใจ เห็นเป็นรูปธรรมแบบนี้จะแก้ได้เปราะหนึ่ง เราจะเข้าหาเขาได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนคนก็ไม่อยากร่วม
ในฐานะตัวแทนชาวบ้านใน คปร. วางบทบาทตัวเองไว้แค่ไหน อย่างไร?
เรา ก้าวเข้ามาตรงนี้เพื่อทำหน้าที่ดึงคนรากหญ้าให้เข้ามาให้มากที่สุด ทำอย่างไรให้เขามีพื้นที่ ไม่ต้องคิดเรื่องว่าจะปรองดองหรือไม่ เพราะเราไม่ใช่เครื่องเมืองของนักการเมือง
ถ้าจัดลำดับความสำคัญ ปัญหาเร่งด่วนของรากหญ้าที่ต้องทำก่อนหลังคืออะไร?
เร่งด่วนคือเรื่องปากท้อง เพราะถ้าคนไม่ได้กินก็ตาย ที่เป็นปัญหามากที่สุดตอนนี้คือเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย การเข้าไม่ถึงทรัพยากรต่างๆ แก้ตรงนี้ได้ค่อยมองเรื่องการสร้างความมั่นคงของประเทศชาติแบบยั่งยืน ทำอย่างไรให้คนกินดีอยู่ดี
ในฐานะแกนนำการต่อสู้ของชาวบ้าน มีความหวังแค่ไหนในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้?
ใน ภาพใหญ่ยังมองไม่ออก แต่ความหวังของแม่คือการทำให้คนรากหญ้าเข้าไปมีโอกาส มีช่องทางสร้างบทบาทร่วมกัน ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับแรงเหวี่ยงจากเพื่อนๆด้วยว่ามีมากน้อยแค่ ไหน อีกอย่างคือ คปร. ถ้าเข้าถึงรากหญ้าได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้หมด แต่ถ้าไม่ถึงก็เข้าอีหรอบเดิม
อยากให้ประเทศเปลี่ยนแปลงเยอะที่สุด การชุมนุมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังขืนดันทุรังอยู่แบบนี้ไม่แน่ต่อไปข้างหน้าอาจเกิดสงครามก็ได้ กลุ่มอำนาจต้องลดบทบาทและอำนาจลง ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น เรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่ที่จิตสำนึกด้วย
แม้เป็นการเริ่มต้น บทบาทใหม่ในฐานะ คปร. แต่จุดยืนของรากหญ้าหนึ่งเดียวอย่าง “แม่สมปอง” ยังคงแน่วแน่บนแผนที่เดินทางเดิม คือ การเบิกทางเปิดพื้นที่ให้คนรากหญ้าที่จนสิทธิ์ จนโอกาส จนอำนาจ และจนเงิน อดีตแม่ค้าปลาปากมูล ทิ้งท้ายว่า..
“อดีตแม่คัดค้าน ขณะที่คุณอานันท์เป็นคนอนุมัติเขื่อน มาวันนี้เราทำงานร่วมเป็นคณะกรรมการชุดเดียว เป้าหมายเดียวคือแก้ไขปัญหาคนจนทั้งประเทศ”.
ที่มา:http://www.community.isranews.org/extra-interview/661-2010-07-23-10-01-15.html