สัมภาษณ์::::“มานิจ สุขสมจิตร” ปฏิรูปสื่อ คนวิชาชีพสื่อ ต้องปฏิรูปตนเอง
"คนที่ทำงานสื่อได้ดี อาจจะไม่ใช่ “คนเก่ง” แต่หากเป็น “คนดี” ด้วยจะดีมาก แต่ในทางตรงข้าม หากเป็น “คนเก่ง” แต่ “ไม่ดี” จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม ดังนั้น การทำงานสื่อ สิ่งที่ต้องปรับปรุง รับผิดชอบให้มาก ไม่เพียงนึกอยากเขียนอะไรก็เขียน"
ภายใต้สถานการณ์ บ้านเมืองมีความคิดเห็นขัดแย้ง แตก-แยกเป็นสองขั้ว สื่อมวลชน อาชีพที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถูกตั้งคำถามว่า ไม่ได้ทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารที่นำไปสู่การแสวงหาทางออกให้กับสังคมไทย
จนเป็นที่มา แนวคิด "ปฏิรูปสื่อ" ที่กำลังขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ทั้งจากคนในวิชาชีพ นักวิชาการ ภาคประชาชน
ชื่อของ “มานิจ สุขสมจิตร” นอกจากจะเป็นกรรมการสมัชชาปฏิรูป ชุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานแล้ว ยังมีชื่อเป็น 1 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน
อีกบทบาท หนึ่ง บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) ที่เพิ่งก่อตั้ง ขึ้นภายใต้แนวคิด “ปฏิรูปสื่อภาครัฐ-พัฒนาสื่อเอกชน” นั้น
“มานิจ สุขสมจิตร” ถือได้ว่า เป็นบุคคลต้นแบบ เป็น "ครู" ของคนวงการสื่อรุ่นหลังที่จะก้าวเดินตาม วันนี้เปิดโอกาสให้ทีมศูนย์ข้อมูล ข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย พูดคุยเพื่อถ่ายทอดให้เห็นกรอบแนวคิด ปฏิรูปสื่อ.....
@ บทบาท คพส.กับการทำงานตามแผน “ปฏิรูปสื่อภาครัฐ-พัฒนาสื่อเอกชน”
“คณะกรรมการ พัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” หรือ คพส. มีทั้งสิ้น 11 คนได้รับการแต่งตั้งมาจากองค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 4 องค์กร(สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ,สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย) แต่ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเองทั้งหมด ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน โดยแบ่งการทำงานเป็นคณะทำงาน 5 คณะ คือ คณะทำงานพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพ , คณะทำงานพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ , คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ,คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และ คณะทำงานพัฒนากลไกการเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
@ กระบวนการทำงานของ คพส.เป็นอย่างไร
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการมอบหมายให้ทั้ง 5 คณะ ดำเนินการจัดการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อร่วมวางกรอบหน้าที่การทำงานที่ชัดเจน ก่อนนำเสนอรายงานต่อการประชุมรวมกลุ่มใหญ่อีกครั้ง เพื่อตกลงร่วมกัน โดยอำนาจหน้าที่ในการวางกรอบการทำงานจะขึ้นอยู่กับกรรมการแต่ละชุด ซึ่งเมื่อได้ข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆแล้ว หากไม่สมบูรณ์ คณะกรรมการชุดใหญ่ จะช่วยเสนอรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนลงมติเห็นชอบ รวบรวม วิเคราะห์เป็นข้อเสนอที่จะนำเสนอไปยังฝ่ายต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม ทั้งภาครัฐและเอกชน
“ขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่า นำเสนอเรื่องอะไร ต้องรอคณะกรรมการแต่ละทีมเสนอก่อน จึงจะทำงานได้ เพราะการทำงานไม่ใช่ทำงานเพียงคนเดียว หากทำตัวคนเดียว เพียงวันสองวัน ก็เสร็จ แต่การทำงานเพื่อให้เห็นผลสำเร็จนั้นต้องฟังความเห็นจากรอบด้าน เพราะตัวเองคนเดียวอาจจะคิดเพียงมุมเดียว หากหลายๆคนมาช่วยคิดและทำ ก็จะได้มุมมองใหม่ๆเพิ่มเติม ตามกรอบระยะเวลาการทำงานที่วางเอาไว้ทั้งสิ้น 6 เดือน
หลังจากนั้น สำหรับการทำงาน ต่อไป ผมคิดว่า ควรมีโอกาสพบกับเจ้าของสื่อก่อน ทั้งหนังสือพิมพ์ และวิทยุโทรทัศน์ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน หลังจากได้พบกับบรรณาธิการของแต่ละสำนักไปแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องถามไปยังเจ้าของสื่อให้เห็นชอบด้วย ให้เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมกันคิด เสนอความคิดเห็นร่วมกันหารือ การทำงานร่วมกัน จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูป”
@มองว่าเรื่องเร่งด่วนและอุปสรรคในการปฏิรูปสื่อในขณะนี้คืออะไร
เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ คือ เรื่องการปรับปรุงตัวคน ปรับปรุงองค์กร ที่สามารถทำได้เลย โดยเน้นเรื่องการพัฒนา ปฏิรูปคนในการดูแลตัวเองของสื่อ ปฏิรูปองค์กร ที่อยู่ในกลไกการทำงานของคณะกรรมการดำเนินงานชุดคณะทำงานพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพและคณะทำงานพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ
ส่วนเรื่องกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ หรือการควบคุมดูแลต่างๆ ก็ยังต้องเป็นเรื่องที่ต้องทำกันต่อไป ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายใหม่ที่ได้ร่างไปบ้างแล้ว อย่างเช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ จากที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมาย ก่อนมอบเข้าสู่สภา เพื่อรอผ่านการเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ส่วนตัวคิดว่าไม่มีอุปสรรค เพียงแค่ห่วง เรื่องระยะเวลาดำเนินการ ที่กำหนดเพียง 6 เดือนที่ยังน้อยเกินไป เพราะเรื่องบางเรื่องต้องใช้เวลานานที่ต้องปฏิรูป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การปฏิรูปสื่อจะสำเร็จได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากบรรดาเจ้าของสื่อและจากคนทำงานสื่อด้วย
@ ปฏิรูปสื่อในความคิด ของ “มานิจ สุขสมจิตร” เป็นแบบไหน
“เรื่องปฏิรูป สื่อนั้น คงไม่มุ่งเฉพาะการรายงานข่าวในเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เจอเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ผ่านมาอย่างเดียว แต่ยังจะดูข่าวบางประเภทด้วย เช่น ข่าวบันเทิง ที่ผ่านมาไม่ได้นำเสนอข่าวที่มีสาระ ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถในการแสดง น่าจะถูกพูดถึง
ไม่เพียงดูแล เฉพาะสื่อที่ทำหน้าที่เกิดความขัดแย้ง แต่ดูการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยว่า ที่ได้ปฏิบัติ มีการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหรือไม่ แม้กระทั่งการพูดโกหกทุกวันในคอลัมน์เดิม ก็ต้องดูแล
ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องมีการปฏิรูป สื่อก็เช่นกัน เพราะสื่ออยู่กับสังคม และผู้อ่านสื่อ ผู้รับสื่อ คือ ประชาชน เพราะฉะนั้น สื่อต้องทำตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งไม่เฉพาะสื่อ อย่างอื่นก็ต้องปรับปรุงตนเองควบคู่กัน ทั้งมหาวิทยาลัย หลักสูตรการศึกษา พ่อค้า นักธุรกิจ
วันนี้ ทำงานอยู่อย่างเดิมไม่ได้ในสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการศึกษาที่เพิ่มขึ้น สื่อมวลชนต้องปรับตัวเองเพื่อรับใช้สังคม รู้เท่าทันสื่อมากขึ้น แน่นอนว่าต้องปรับที่คนในวิชาชีพก่อน และเชื่อมโยงไปยังวิชาการ รัฐบาลตลอดจนภาคส่วนอื่นๆ
สิ่งสำคัญ คือ การปรับพื้นฐานของคนทำงานสื่อก่อนเข้าสู่วิชาชีพ ต้องมีคุณสมบัติ คุณวุฒิ ในการทำงานที่ดี ซึ่งสถาบัน การศึกษาทุกแห่งจำเป็นต้องปรับวิธีการสอนด้วย ปรับปรุงหลักสูตรในมหาวิทยาลัย โดยเมื่อสอนไประยะเวลาหนึ่งแล้ว ต้องปรับใหม่ ไม่ใช่หลักสูตรเดิมที่สอนเมื่อ 50 ปี ซึ่งใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน ต้องใช้วิทยาการใหม่ๆ เพื่อให้มีการเรียนรู้”
@ มุมมองสำหรับผู้ที่ก้าวเข้ามาทำอาชีพสื่อสารมวลชน
“คนที่มาทำงาน สื่อนั้น นอกจากจะมีวุฒิภาวะแล้ว ต้องรู้จัก วิเคราะห์ว่า อะไรเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ตามหลักกาลามสูตร 10 ประการของพระพุทธเจ้า เป็นคนมีความรับผิดชอบ จริยธรรม คุณธรรม ตามความคาดหวังของประชาชน ที่หวังว่า สื่อจะต้องมีอะไรมากพอสมควร ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามาผลิตสื่อและเสนอสื่อต่อสาธารณชน”
“ความจริง จริยธรรมในวิชาชีพนักข่าวข้อหนึ่งได้สอนว่า การที่จะได้ข่าวมานั้น ต้องได้มาโดยวิธีสุภาพและซื่อสัตย์ โดยต้องบอกแหล่งข่าวก่อนว่า จะนำไปออกข่าว จะได้ระมัดระวังตัว หรือทำให้พูดดีขึ้น ไม่ใช่เพียงไปฟังใครพูดอะไร แล้วมาเขียนเป็นข่าว ซึ่งนั่น ไม่ใช่การทำงานที่ดี”
@ คุณสมบัติพื้นฐาน ที่นอกจากเรื่องจริยธรรมในวิชาชีพสื่อสารมวลชน
“ส่วนตัวผมคิด ว่า คนที่ทำงานสื่อได้ดี อาจจะไม่ใช่ “คนเก่ง” แต่หากเป็น “คนดี” ด้วยจะดีมาก แต่ในทางตรงข้าม คือ หากเป็น “คนเก่ง” แต่ “ไม่ดี” จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม
ดังนั้น การทำงานสื่อ สิ่งที่ต้องปรับปรุง คือ ต้องมีความรับผิดชอบให้มาก ไม่เพียงนึกอยากเขียนอะไรก็เขียน เพราะการเขียนถ้อยคำที่ไม่ถี่ถ้วนและไม่รอบด้าน จะเป็นอันตรายอย่างมากต่อสังคมไทย”
@ จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องรื้อหลักสูตรวิชานิเทศศาสตร์และร่างวิชาการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชนใหม่ทั้งหมด
ไม่จำเป็นที่ต้องรื้อหลักสูตรใหม่ทั้งหมด เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เป็นเรื่องที่ตามสมัย และจำเป็นต้องมีการเข้มงวดในการเรียนการสอน เน้นเรื่องความรับผิดชอบให้มาก ต่อไปอาจจำเป็นต้องจัดอบรมนักข่าวก่อนเข้ามาทำงาน เพื่อให้ได้คุณภาพ ไม่ใช่เพียงคนที่จะเรียนหลักสูตรใดมาแล้วสามารถเข้ามาเป็นนักข่าวได้ ต้องเรียนรู้จริยธรรม คุณธรรมในวิชาชีพเป็นสำคัญ
@ ความแตกต่าง ระหว่างวงการสื่อสารมวลชนในเมืองไทยกับต่างประเทศ
“ในต่างประเทศจะ ให้ความสำคัญกับวิชาชีพสื่อมวลชนมาก แต่ในประเทศไทยขณะนี้วิชาชีพสื่อสูญเสียความน่าเชื่อถือไปมาก ไม่ได้รับการยกย่อง เหมือนวิชาชีพอื่นที่ได้รับการยกย่องและยอมรับเหมือนเช่น ทนายความ แพทย์ สาเหตุใหญ่มาจากคนในวิชาชีพทำตัวเอง ให้คนทั่วไปไม่ยอมรับ
ตัวอย่างเช่น เมื่อไปที่ใด มักโดนคนพูดว่า พวกนักข่าวมาต้องระวังหน่อย ทำให้เกิดทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ กลายเป็นการถูกโดนมองว่าเป็นผู้ที่จะเอาอะไรมาเปิดเผย เป็นวิชาชีพที่ไม่มีจริยธรรม และไม่มีใครอยากเข้ามาทำงานอาชีพนี้”
@ วันนี้สื่อกระแสหลักยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้หรือไม่
“ สื่อกระแสหลักอาจจะยังไม่เป็นที่ “พอใจ” เพียงพอของคนรับสื่อ จึงสมควรที่ต้องปรับปรุง ต้องเสนอข่าวสารอย่างละเอียดรอบคอบทุกด้าน
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อดีก็ยังมีอยู่มาก ในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสาร
แต่สิ่งที่ต้อง คำนึงถึงมากกว่า คือ ผู้รับสื่อ ที่อยากฝากด้วยว่า ต้องมีวิจารญาณ รู้จักคิด วิเคราะห์ ก่อนรับสาร แยกแยะ สารที่ควรเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่เชื่อในสิ่งที่สื่อเสนอออกไปทั้งหมด ต้องพินิจพิเคราะห์ตามด้วย ขณะเดียวกันสื่อก็ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน แก่ผู้บริโภคสื่อ”
@ อยากฝากอะไรถึงรัฐบาลในการปฏิรูปสื่อ
หากมีข้อเสนอ อะไรจากประชาชนและภาคส่วนใดๆ ที่ออกไปแล้ว รัฐบาลต้องช่วยเหลือ ในขอบเขตที่รัฐบาลจะสามารถทำได้ เช่น แก้กฎหมาย ให้มหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรการเรียนการสอน รับฟังและปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
@ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมการสมัชชาปฏิรูป จะมีแนวทางผลักดันการปฏิรูปสื่ออย่างไร
สำหรับการประชุมวันที่ 15 กรกฎาคม กับทีมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการนั้น คงเสนอตามกรอบของการนำเสนอที่มีอยู่ว่า มีหน้าที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม , ค้นหาข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ของสาธารณชน เกี่ยวกับการปฏิรูป , สนับสนุนให้เกิดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่ เฉพาะประเด็น ตามความจำเป็น และเหมาะสม เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายของการปฏิรูป ,และประสานงานกับคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพียงครั้งแรกนี้เป็นการร่วมพูดคุยกรอบกว้างๆ ว่าจะทำอะไรบ้างก่อน ซึ่งยังลงลึกถึงรายละเอียดไม่ได้ เพราะยังไม่ได้พบกัน ต้องให้มีการพูดคุยกันก่อน ว่าใครจะได้ทำงานอย่างไร