ปาฐกถา: ศ.นพ.ประเวศ วะสี “ปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ ชั้น 2 อาคารคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทยในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมการบรรยายพิเศษ “ปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” โดยศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานสมัชชาปฏิรูปฯ ทั้งนี้มีตัวแทนจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คน
“ปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย”
วันนี้เป็นการชุมนุมนายกฯ มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ท่านผู้นำท้องถิ่นครับ ท่านคือคนที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปประเทศไทย ที่พูดอย่างนั้นเพราะว่าชุมชนท้องถิ่นคือกุญแจในการแก้วิกฤตชาติ ถ้าเราไปไขกุญแจผิดที่ เราไขไม่ออก กุญแจในการแก้วิกฤตชาติอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น เพราะว่าชุมชนท้องถิ่นนั้นคือชาติที่แท้จริง เนื่องจากชุมชนท้องถิ่นดูแลพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยดูแลคนทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่ ดูแลต้นไม้ใบหญ้า ทรัพยากรทั้งหมดที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย เป็นความจริงของแผ่นดินที่จริงที่สุด เป็นความจริงของพื้นที่ของคน ของวัฒนธรรม ของเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจจริงอยู่ข้างล่าง การปลูกข้าว การปลูกทั้งหลาย แต่ถ้าขึ้นมาข้างบนเป็นมายาคติ สิ่งที่อยู่ข้างบนคือสมมติ ถ้าสมมติผิด สมมติให้ประชาชนข้างล่างซึ่งเป็นเศรษฐกิจจริงที่รวยที่สุด ทำให้เขาจนที่สุด ทำให้คนรวยกลับจน เราต้องแก้ ดังนั้นเราต้องหันมาที่ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นชาติจริงๆ ที่ดูแลเรื่องราวทั้งหมดของแผ่นดินจริง
ปฎิรูปประเทศไทย-กลับรูปประเทศไทย
คำว่าปฏิ แปลว่า กลับ ปฏิรูปแปลว่ากลับรูป กลับรูปอะไร ปฏิรูปประเทศไทยก็คือ กลับรูปประเทศไทย คือกลับเอาหัวลง คือการตั้งฐานประเทศไทย อะไรที่ฐานใหญ่มันไม่ล้มง่ายๆ ประเทศไทยที่ฐานเล็ก ให้ข้างบนทำลายข้างล่าง ถ้าเราตั้งฐานประเทศไทยเอาฐานลง ประเทศไทยจะมั่นคง นี่เป็นใจความที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูป กลับรูปประเทศไทยเสียใหม่ชุมชนท้องถิ่นนั้นเป็นฐานของประเทศ ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งมั่นคง ประเทศจะมั่นคง ที่แล้วมาเราไปพัฒนาข้างบน เศรษฐกิจข้างบน ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างขึ้น เกิดปัญหาขาดความเป็นธรรม เหลื่อมล้ำ
การศึกษาก็เป็นไปเพื่อให้ฐานเข้มแข็ง การเมืองประชาธิปไตยเราก็ทำแต่การเมืองระดับชาติ ทำมา 78 ปีไม่สำเร็จ เพราะไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนทำแต่ระดับชาติ ประชาธิปไตยที่สำเร็จก็คือประชาธิปไตยท้องถิ่น เรื่องใหญ่ที่สุดคือการทำส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถปกครองตัวเอง ก็แก้ปัญหาได้ทุกชนิด ทำง่ายกว่าข้างบน เนื่องจากข้างล่างเป็นความจริงของชีวิต ของวัฒนธรรม ของเศรษฐกิจ แต่ข้างบนเป็นเรื่องของอำนาจ มายาคติ ฉ้อฉล ฉะนั้นข้างบนพัฒนาประเทศชาติไม่สำเร็จ เพราะความเจริญขึ้นจากข้างล่าง
วันนี้ผมมาให้กำลังใจท่านผู้นำท้องถิ่นว่าท่านทั้งหลายคือผู้แก้ปัญหาวิกฤตชาติที่แท้จริง เพราะตัวชุมชนท้องถิ่นคือชาติ เราต้องปฏิรูปประเทศไทยใหม่ คือกลับรูปให้ท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง แล้วทั้งหมดมาสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจการศึกษา ต้องมาหนุนให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง นั่นคือใจความของการปฏิรูป
ปัญหาโครงสร้าง-วิกฤตชาติ
เราเกิดวิกฤตชาติเพราะเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมาเรื่อย และประเทศไทยแสนที่จะไม่สนใจปัญหาเชิงโครงสร้าง และก็แก้ปัญหาไม่ได้ มัวแต่ไปสนใจว่าใครชั่วใครเลว ก็สะสมมาเรื่อยๆ จนชาติวิกฤต
โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม โครงสร้างทางสังคม โครงสร้างอื่นๆ เช่น กฎหมาย ซึ่งมีอคติกับคนจน เราต้องการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โครงสร้างทางการปกครอง ในรอบร้อยปีที่ผ่านมา การปกครองเรารวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์ กับความเป็นตัวเองของท้องถิ่น และนำไปสู่ปัญหารวมทั้งปัญหาภาคใต้ ถ้าไม่แก้ปัญหานั้นเราแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ ที่อื่นก็เช่นเดียวกัน การทำลายสภาพแวดล้อม วัฒนธรรมทั้งหลาย คือการรวมศูนย์อำนาจ
การปฏิรูปคราวนี้คือการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถปกครองตัวเอง ส่วนที่เคยทำในการใช้อำนาจลงไปข้างล่างควรจะต้องเลิก เปลี่ยนบทบาทตัวเองไปสนับสนุนทั้งหมด จากการบังคับบัญชาไปเป็นการสนับสนุน เราต้องเชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่าสามารถดูแลชุมชน ดูแลท้องถิ่นได้ ไม่ควรจะไปรวมศูนย์อำนาจแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว การใช้อำนาจลงไปนั้นคือวิกฤตชาติ การปฏิรูปครั้งนี้ต้องให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเองให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของเขา สอดคล้องกับความต้องการของเขา ส่วนอื่นเข้าไปสนับสนุน
ปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่น- มรรค 8 แห่งการพัฒนา
จุดสำคัญที่สุดขององค์กรท้องถิ่นคือการสนับสนุนชุมชนให้เข้มแข็ง แต่ละตำบลมีประมาณ 10 หมู่บ้านไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไรเลยที่ อบต. จะไปสนับสนุนความเข้มแข็งของหมู่บ้าน
แนวทางการทำงานของชุมชน
1. ส่งเสริมกระบวนการชุมชน-มีสภาชุมชนซึ่งมีผู้นำตามธรรมชาติ แต่ละชุมชนมักมีผู้นำประมาณ 10-20 คน ทำหน้าที่สำรวจชุมชน แล้วเอาข้อมูลชุมชนมาทำ แผนชุมชน ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างมีบูรณาการ แล้วให้คนทั้งหมู่บ้านดู เป็นกระบวนการพัฒนาทีเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เป็นประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยโดยตรงมีส่วนในการวางแผนและขับเคลื่อนแผน ก็จะเกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ แปดเรื่อง เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย
พอทั้งแปดเรื่องที่เรียกว่ามรรคแปดแห่งการพัฒนานี้ มาเชื่อมโยงกัน ก็เกิดสังคมศานติสุขขึ้น และมีตัวอย่างแล้วทั้งระดับหมู่บ้านและตำบล อบต.เองก็ทำงานร่วมกับเทศบาลหากทำได้ก็เข้มแข็งขึ้นเป็นปึกแผ่น เกิดการพัฒนาเชื่อมโยงกันหมด แก้ความยากจน จิตใจดีขึ้นสังคมดีขึ้นไม่ทอดทิ้งกัน รักษาความดีงามไว้ สิ่งแวดล้อมก็ทำให้ดีขึ้น ขจัดมลพิษ เป็นประชาธิปไตย เป็นการพัฒนา นี่เป็นข้อใหญ่ใจความของชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งสามารถทำได้
ท่านทั้งหลายที่กลับไปก็สามารถร่วมมือกับองค์กรส่งเสริมความแข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมมือกับคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ คุณสมพร ใช้บางยาง นี่คือโอกาสที่เราจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง อย่างอื่นก็มาสนับสนุน หัวใจอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งของแผ่นดินที่พื้นฐาน อย่างอื่นก็เป็นการเพิ่มเติมเข้ามา
2. เศรษฐกิจพอเพียง สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ วิสาหกิจชุมชน ก็จะแก้ปัญหาความยากจนและทำให้เกิดความร่วมเย็นเป็นสุข เป้าหมายของเราไม่ใช่การมีจีดีพีเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเอาสัมมาชีพำเป็นตัวตั้ง สัมมาชีพ หมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม
ถ้าท่านทั้งหลายเอาสัมมาชีพเป็นเป้าหมาย ก็จะจัดการความชั่วร้ายทั้งหลายได้
3. อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ชุมชนต้องมีสิทธิในการดูแลที่ดิน การใช้ที่ดิน ป่าไม้แหล่งน้ำ เราเกิดมาต้องมีสิทธิ เช่นมีอากาศหายใจ ต้องมีน้ำกินฉันใด มนุษย์เกิดมาก็ต้องมีที่ดินทำกิน ต้องมีป่าไม้ มีแหล่งน้ำ เป็นสิทธิของชุมชน ต่อมาไปยึดเป็นของรัฐแล้วจัดการว่าให้ใครใช้แล้วการจัดนั้นไม่เป็นธรรม จำเป็นต้องคืนสิทธินี้ไปสู่ชุมชน คือสิทธิในการดูแลเรื่องการใช้ทรัพยากรต่างให้เป็นธรรม ถ้าชุมชนมีสิทธิตรงนี้ก็จะแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ผู้นำท้องถิ่นต้องรวมตัวกันและทำความเข้าใจเรื่องนี้ ต้องจัดที่ทำกินให้ประชาชนมีที่ทำกินมาที่สุด โดยอาจมีการออกพันธบัตรเพื่อซื้อคืนที่ดินมาเป็นของรัฐ แล้วให้ประชาชนเช่าระยะยาว ไร่ละ 10 บาทก็ได้ ถ้าประชาชนสามารถใช้ที่ดินระยะไกลได้ก็จะมีความมั่นคงในเรื่องเศรษฐกิจและที่อยู่ เรื่องสิทธิชุมชนท่านผู้นำท้องถิ่นต้องต่อสู้และขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้
4 .ชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน ชุมชนต้องสำรวจว่าใครจะถูกทอดทิ้งบ้าง เช่น คนแก่ เด็ก คนพิการ คนจน ใครบ้างดูหมดเลย บางตำบลเขาสำรวจคนพิการ มีอาสาสมัครไปช่วยดูแล และมีกองทุนสวัสดิการชุมชนอะไรก็แล้วแต่ เราสามารถทำได้ ผู้นำท้องถิ่นภายในหนึ่งเดือน เราเป็นชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน นี่เป็นคำที่เราไปใช้แล้วเกิดความรู้สึกดีมาก ประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่เราไม่ทอดทิ้งกัน
5 .การศึกษาของชุมชนโดยชุมชนและเพื่อชุมชน การศึกษาที่ผ่านมาอาจมีบางส่วนที่ทำลายชุมชน เอาเด็กไปเข้าประถม มัธยม ทิ้งชุมชน การศึกษาต้องมีความเข้มแข็งของชุมชน ต้องรวมอยู่ในแปดประการ เชื่อมโยง ไม่ใช่การศึกษาที่แยกตัว ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เป็นการศึกษาที่ทิ้งชุมชน การศึกษาแบบนี้จะทำให้คนไทยขาดจากรากเหง้า เพราะเป็นการศึกษาที่เอาอวิชชาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ถ้าการศึกษาเอาชีวิตเป็นตัวตั้งก็จะเชื่อมโยงทั้งสังคม เศรษฐกิจจิตใจ สิ่งแวดล้อม สามารคิดอย่างเป็นอิสระ อย่างไปเชื่อคุณค่าของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในหนังสือที่แจกท่านทั้งหลายมีเรื่องหนึ่งคือเรื่องการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะท่านนายกได้สั่งให้มีการตั้งองค์กรใหม่ ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ท่านผู้นำท้องถิ่นทั้งประเทศจะเป็นกำลังในการปฏิรูปการศึกษา เป็นการศึกษาเพื่อชีวิต และคนไทยทั้งหมดสามารถจะมีส่วนร่วมในการพัฒนา
6 .พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
ทั้งนี้ อบต.ควรจะเสนอให้มีการปฏิรูปดังนี้
1. อบต, ทั้ง 8,753 จะรวมตัวกันปฏิรูปประเทศให้เกิดความเป็นธรรม อบต. คือพลังสำคัญที่สุดที่จะสร้างความเป็นธรรม จะมีการประกาศเพราะการประกาศจะทำให้เกิดพลัง เป็นพันธสัญญาของเราว่าเราจะทำตามนั้น
2 .อบต. จะขจัดความยากจน โดยสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สร้างสังคมศานติสุขภายใน 10 ปี
3 .จุดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งประเทศไทยจะเข้มแข็ง
ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายนั้น
1 .ขอให้แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจของการกระจายอำนาจไปสู้ชุมชนท้องถิ่น
2 .ปรับบทบาทของกระทรวงมหาดไทยจากการใช้อำนาจมาเป็นผู้สนับสนุน ปรับบทบาทผู้ว่าจากผู้บริหารมาเป็นผู้กำกับ
3 .ให้ชุมชนมีสิทธิในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
4 .ให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง
5 .ห้ามมิให้เศรษฐกิจมหภาคทำลายความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ไม่ให้มีภาพซูเปอร์มาร์เก็ตไปตั้งแล้วทำลายร้านค้ารายเล็กรายน้อย รายเล็กรายน้อยสำคัญกว่ารายใหญ่ เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นคือเศรษฐกิจของการอยู่ร่วมกัน เศรษฐกิจมหภาคต้องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างเกื้อหนุนกัน
6 .ให้มีอย่างน้อยมหาวิทยาลัยหนึ่งแห่งส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในหนึ่งจังหวัด การศึกษาที่แล้วมาที่แย่เป็นบ่อเกิดของการแยกตัว ขาดความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ท้องถิ่นต้องเรียกร้อง เดี๋ยวท่านนายกมาต้องเรียกร้องให้นายกฯสั่ง นี่จะเป็นพลังมหาศาลที่จะช่วย
7 .เสนอให้นายกรัฐมนตรีตั้งองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาระบบการปกครองตนเองของชุมชนท้องถิ่นเป็นองค์กรอิสระ เป็นสำนักงานเพื่อพัฒนาระบบการปกครองตนเอง ว่าติดขัดอะไรจะได้แก้ไข จากการศึกษาของคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ซึ่งทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่ามีกฎหมายกว่า 100 ฉบับที่ต้องแก้เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
ขอให้กำลังใจท่านอีกครั้งว่าผู้นำท้องถิ่นคือผู้นำในการแก้วิกฤตชาติ ชุมชนท้องถิ่นคือชาติ เราต้องสร้างฐานของชาติให้เข้มแข็ง ประเทศไทยก็จะมั่นคง