สัมภาษณ์::::นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ปฏิรูปจิตสำนึกคนไทย ทำอย่างไรกระแทกใจ จดจำทั่วทุกชนชั้น
ทีมข่าวศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ หนึ่งในผู้คลุกคลีทำงานกับชาวบ้าน เรียกว่า คร่ำหวอดเรื่องนโยบายสาธารณะ เป็นคุณหมอนักพัฒนา “นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป” เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ผู้ร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยมาตั้งแต่ยุคแรกๆ กับศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
วันนี้ หมอพลเดช ก้าวออกจากห้องตรวจแคบๆ มาทำงานกับสังคม ใช้ทักษะและความสนใจส่วนตัวในการแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มต่างๆ ถ่ายทอดมุมมอง วิกฤตที่เกิดขึ้น กับจุดเปลี่ยน เมื่อสังคมเริ่มเห็นพ้องต้องกันควรเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย...
มองวิกฤตบ้านเมืองในเวลานี้อย่างไร
นพ.พลเดช :วิกฤตที่เกิดขึ้นทางสังคมและการเมือง มีปัญหามาก โดยเฉพาะปัญหาพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการสะสาง ไม่ได้รับการแก้ไข ปล่อยหมักหมมมานาน ซึ่งแต่ละเรื่องทวีความรุนแรงขึ้นและขยายตัวจาก “ปริมาณ” สู่ “คุณภาพ” คือ จากปัญหาเป็นความขัดแย้ง จากความขัดแย้งเป็นวิกฤต หรือเป็นความรุนแรง เป็นไปตามธรรมชาติ
“ปัญหาพื้นฐานของประเทศ ที่ยังไม่ได้แก้ หากถามว่า มีคนรู้ไหม ทุกคนรู้และมีคนพูด แต่ทุกคนไม่ได้ยิน เรียกง่ายๆ คือ ฟังแต่ไม่ได้ยิน"
"ทั้งจากชาวบ้านที่ออกมาพูด ผู้ที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนก็พูด เอ็นจีโอ ที่ทำงานกับชาวบ้านก็พูด ยาวนานกว่า 20-30 ปีผ่านมา แต่คนที่อยู่ในระดับบนของโครงสร้างของประเทศ นั่นคือ รัฐมนตรี รัฐบาล ราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ชนชั้นสูงและชนชั้นนำ ที่อยู่ส่วนบนของสังคม ยังไม่ค่อยจะได้ยิน ถึงแม้ว่าคนที่ทำงานอยู่กับชาวบ้านฐานราก ที่อยู่กับปัญหาเหล่านี้ พยายามพูด ตะโกน ด้วยวิธีต่างๆ มาตลอด แต่ก็ไม่ได้มีใครสำนึกว่า เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งเมื่อผู้มีอำนาจหน้าที่อยู่ข้างบนไม่มีความรับผิดชอบการทำงานหน้าที่แก้ ปัญหาก็หมักหมม”
ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยมีอะไรบ้าง
นพ.พลเดช : ปัญหาเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหา มีอยู่ 4 เรื่อง คือ
1.เรื่องความยากจน แม้ที่ผ่านมามีคนได้ยินขึ้นมาเรื่อยๆ แต่มักจะแปลสิ่งที่ได้ยิน ไปเป็นนโยบาย เช่น นโยบายประชานิยม ซึ่งแม้จะเป็นการแก้ปัญหาได้ แต่การเอาเงินไปหว่านโปรยเช่นนั้น จะเป็นการเร่งสร้างปัญหา เพราะเป็นการแก้ปัญหาโดยการเอาใจ กลบปัญหาที่แท้จริง อาจช่วยชโลมใจในเบื้องต้น แต่จะอยู่ได้เพียงชั่วคราว และจะผุดขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกวิธี ไม่ยั่งยืน
2.ปัญหาความไม่เป็นธรรมในทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และระบบความยุติธรรม ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ความหลายมาตรฐาน ซึ่งเกิดจากคนที่มีอำนาจรัฐเลือกใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
3.การละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ในภาคใต้ที่เห็นได้ชัด แม้แต่เรื่องการค้ามนุษย์ การซ้อมทรมานผู้ต้องหา ที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรม
4.การทุจริตคอรัปชั่น
“จาก 4 เรื่องใหญ่ๆ เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ยังมีเรื่องย่อยอีกเยอะ เช่น ปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่า ทะเล ภูเขา ที่เป็นสมบัติสาธารณะ เป็นสมบัติส่วนร่วมของประเทศชาติ ที่ไม่เท่าเทียม หากคนจนเข้าไปบุกรุกโดนจับ แต่หากเป็นคนรวยซื้อสัมปทานและระเบิดภูเขาทั้งลูก และภูเขาหายไป ไม่มีความผิด ซึ่งการจัดการทรัพยากรที่ถูกต้องนั้น ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วม และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน เป็นธรรม
ปัญหาที่ยกมา เป็นปัญหามาแล้วอย่างน้อย 50 ปี ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 1 เพราะเป็นการเอาทุนเป็นตัวตั้ง กระตุ้นให้เกิดการบริโภคนิยม ทุนนิยม เงินนิยม เพราะฉะนั้น จากทิศทางเช่นนี้ที่ไปทำลายชีวิตของคนตัวเล็ก ตัวน้อย ทำลายครอบครัว ทำลายชุมชน และการมุ่งสู่อุตสาหกรรม ก็ไปเอื้อต่อนายทุน ทำให้ประเทศถูกบีบคั้น เกิดปัญหาสะสม และเกิดวิกฤต จนทางการเมืองเป็นวิกฤตทั่วด้าน”
บทเรียนจากความจริง ในวิกฤตความขัดแย้งมีอะไรบ้าง
นพ.พลเดช : “ปัญหาที่มาจากการปล่อยปละละเลยตั้งแต่ต้นมือ และปล่อยมาเรื่อยๆ จนเกิดวิกฤตพร้อมๆกัน และระเบิดเป็นปัญหาของการเผาบ้านเผาเมืองในวันนี้ ถือว่ายังโชคดี ในความจริงว่า ในโชคร้ายยังมีโชคดี ในวิกฤตยังมีโอกาส ให้ได้เห็นการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ทางการเมือง
นับตั้งแต่ปี 2548 ถือเป็นเวลายาวนานกว่า 5 ปี มีทั้งสีแดง สีเหลือง สลับกันไป จากตรงนี้ สิ่งที่เกิดเป็นความสูญเสีย เกิดมาเป็นโอกาส จากปัญหาทั้งหลายที่มีคนพูด พยายามหาทางตะโกนและบอกผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ ให้แก้ไข ขณะนี้ได้เห็นแล้ว
การเคลื่อนขบวนของกลุ่มเสื้อสีเหลืองในช่วงปี 2548-2551ประเด็นหลักของการเคลื่อนไหว คือ การคอร์รัปชั่น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ผลพวงทำให้สังคมและชนชั้นสูงรับรู้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญ และต้องแก้ไข ส่วนที่สองที่อ้างถึง คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน จากสถานการณ์ภาคใต้ เรื่อง 2,500 ศพ การฆ่าตัดตอนยาเสพติด ทำให้สังคมรับรู้ปัญหาได้จากการเคลื่อนไหวและตื่นตัว
สำหรับกลุ่มเสื้อสีแดง ขับเคลื่อนจากเรื่องความยากจน สองมาตรฐาน จนเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง คนทั้งสังคมก็ได้รับรู้ว่า ความยากจน ไม่สามารถปล่อยไปได้ ต้องเข้ามาช่วยแก้ไข ยกตัวอย่างชัดเจน เมื่อ 2-3เดือนก่อน สมาคมอุตสาหกรรมกับหอการค้า ที่เป็นองค์กรธุรกิจระดับชาติ ออกมาพูดว่า ถึงเวลาที่ภาคธุรกิจ จะนิ่งเฉยไม่ได้ ภาคธุรกิจต้องเข้ามาช่วยรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อก่อน 20 ปีที่แล้ว ทุกคนรู้ แต่ไม่มีใครพูดถึง และยังกอบโกยไปเรื่อยๆ”
ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยต่อไปได้อย่างไรจึงจะสำเร็จ
นพ.พลเดช : “เรื่องการปฏิรูปนั้น หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 ได้มีการริเริ่ม ในขณะที่มีการประท้วงทางการเมืองของ เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ที่อดข้าวประท้วงให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนมีการตั้งองค์กรในนามว่า คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) และให้ ที่ท่านนายแพทย์ประเวศ วะสีเป็นประธาน โดยสิ่งที่ได้ผุดออกมาเป็นข้อเสนอในครั้งนั้นนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 1 และเกิดเป็นเรื่องที่ต้องนึกถึงต่อยอดเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย
“การปฏิรูปต้องต่างจากการบริหารแบบทั่วไป ที่ทำไปตามธรรมชาติ ซึ่งต้องมุ่งเปลี่ยนโครงสร้าง ให้แก้ปัญหาได้ถึงราก และไม่ใช่การปฏิวัติ ที่เป็นการเปลี่ยนอย่างฉับพลัน แต่เปลี่ยนอย่างฉันทามติ ให้เห็นพ้องต้องการตรงกัน ค่อยเป็นค่อยไป และไม่บังคับ ฉะนั้น การปฏิรูป เป็นการเดินทางสายกลาง เนื่องจากหากใช้การปฏิวัติก็สุดโต่ง บังคับใจ บางคนไม่ยินยอม ซึ่งจะคล้ายกับแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่าใจร้อน ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมสูง เปลี่ยนเป็นการปฏิรูปสังคม
ตั้งแต่เกิดช่วงของแต่ละสีเคลื่อนไหวประท้วงเป็นช่วงของรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย หลายฝ่ายได้มองเห็นแล้วว่าคงไปไม่รอด แต่หากบ้านเมืองเปลี่ยนขั้วทางการเมืองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยเจตนา ว่าสังคมจะงอม และต้องวิ่งหาการปฏิรูป ประเด็นที่สำคัญที่ยากที่สุด คือ ปฏิรูปจิตสำนึก การปฏิรูปจิตสำนึกจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง เป็นภาพรวมใหญ่ ซึ่งทุกเรื่องในวงเป็นเรื่องใหญ่
อาทิ ภาคประชาชน เรื่องชุมชน การเมือง กระบวนการยุติธรรม สิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ชาติ สื่อสารมวลชน สร้างสัมมาชีพ สวัสดิการสังคม ระบบการศึกษา สุขภาพ ซึ่งทุกเรื่องต้องร่วมขับเคลื่อน จากวิกฤตที่บานปลาย ให้สังคมในขณะนี้ยอมรับ และรัฐบาลก็ต้องขานรับ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
จัดเป็นวาระแห่งชาติร่วมกัน สร้างวาระแห่งชาติที่เกิดจากข้างล่างให้ได้ ซึ่งภายหลังไม่ว่าคนข้างบน หรือหน่วยงานราชการจะเปลี่ยน หากสังคมขับเคลื่อน ตอบรับ และเอาด้วยกันทั้งสังคม จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แก่สังคม ทุกองค์กรขานรับ และรับไม้ต่อ เป็นวิธีของแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยอย่างยั่งยืน จากตัวสำคัญคือ ฐานราก”
เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำเพื่อสังคมคืออะไร
นพ.พลเดช : ถ้าจะปฏิรูปอาจจะทำไม่ได้ทุกมิติพร้อมกัน เพราะนั่นคือการคิดล่วงหน้าว่ามีเรื่องใดเกี่ยวข้องบ้าง สิ่งที่จะขับเคลื่อนได้ ต้องเริ่มจากดูท่าทีจากสถานภาพของรัฐบาลให้ชัดเจน อาทิ การจัดตั้งหน่วยกลไกแล้ว จะตั้งกลไกได้หรือไม่ หากยุบพรรค จะเป็นอย่างไร ซึ่งหากคิดฝัน จะเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งต้องคิดกันอีกเยอะ
“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเสนอ ไม่ต้องรอดูท่าทีของใคร อาศัยจังหวะที่จะขับเคลื่อนไปได้ก่อน คือ การเร่งปฏิรูปรูปจิตสำนึก เพื่อให้ภาคประชาชนมีพลังแรง สร้างเครือข่ายให้ใหญ่ และให้สังคมเห็นด้วย ซึ่งเมื่อนั้น หากกลุ่มไหนเป็นรัฐบาลก็จะขับเคลื่อนด้วยกันทั้งหมด
การเคลื่อนเรื่องจิตสำนึก ต้องเน้นที่การตื่นตัวของสังคม ตั้งแต่ระดับรากจนถึงยอด ตื่นตัวทั้งองคาพยพ คนระดับสูง ระดับกลางและระดับล่าง ต้องตื่นตัวพร้อมกัน เห็นตรงกันว่า ทางออกของประเทศไม่มีหนทางอื่น นอกจากการปฏิรูป ซึ่งการที่จะทำให้ตื่นตัวได้นั้นสร้างให้สังคมรับรู้และเข้าใจ ในประเด็นปัญหาความยุ่ยเปื่อยทั้งตัวของสังคม ในหลายเรื่อง ไม่ว่าเรื่องไหนก็ตามจะมาสำเร็จ หากสังคมไม่หนุน สร้างให้สังคมหนุน รับรู้เข้าใจ และเข้าร่วมด้วย เป็นหัวใจหลัก”
ปฏิรูปจิตสำนึก เคลื่อนสู่ปฏิรูปสังคมใหญ่ ได้อย่างไร
นพ.พลเดช : วิธีการเคลื่อนสังคมขนาดใหญ่ ต้องมีศาสตร์และศิลป์
“ศาสตร์ คือ ความรู้จริงในเชิงทฤษฎีมวลชน การเคลื่อนไหวสังคม จิตวิทยาสังคม ความรู้ต่างๆต้องมี และศิลป์ คือ ศิลปะที่จะนำเสนอ ศิลปะที่จะมาทำให้ความรู้ มาใช้ให้ถูกกลุ่ม ถูกจังหวะ และถูกวิธี
การเคลื่อนไหวสร้างสำนึกของประชาชน มีรายละเอียดมากไม่ดี เพราะประชาชนจะงง เหมือนกับการให้ประชาชนหลายวิชา เพราะหากลงรายละเอียดแต่ละวงนั้น ยังมีรายละเอียดซับซ้อนจนสู่ภาคใหญ่ไปที่จิตสำนึก เนื้อหาสาระต้องไม่มากไม่น้อยเกินไป รูปแบบสำคัญกว่า ให้เกิดเป็นรูปธรรม
การขับเคลื่อนตั้งแต่ฐานรากขึ้นไป ต้องใช้การขับเคลื่อนเชิงศิลปะ วัฒนธรรม อย่าขับเคลื่อนเชิงวิชาการ เพราะเป็นการเอาเนื้อหานำแต่การขับเคลื่อนแบบศิลปวัฒนธรรมจะต้องเอารูปแบบนำ ศิลปะ คือ ศิลปิน เพลง กวี ภาพวาด ซึ่งจะเป็นสื่อสัญลักษณ์ หากเอาเนื้อหามาก นักเรียนกระโดดหนี และไม่เกิดการเรียนรู้ แต่ไม่ใช่การปฏิเสธเนื้อหา ต้องมี 2 แบบประกอบกัน เพียงต้องเน้นศิลปวัฒนธรรม เพราะเข้าถึงจิตใจได้ง่าย
อาทิ ลิเก หนังตะลุง ที่มองเห็นเป็นภาพการเคลื่อนไหว ที่ไม่ใช่การสัมมนา แต่เป็นการประชุมเพื่อหาทางออก ว่า จะเสนอประติมากรรม ทำสัญลักษณ์ อย่างไร แล้วสัญลักษณ์ก็จะกระแทกใจและจดจำไปทั่วทุกชนชั้น”
“การปฏิรูปในช่วงนี้ ผมเห็นว่า ต้องเน้นหนักไปที่การตื่นตัวของสังคมให้เร็วที่สุด หากตั้งได้เร็ว เคลื่อนอย่างแรงทั้งประเทศ ใช้สื่อ ศิลปวัฒนธรรม จะทำให้การตื่นตัวของประชาชน ได้อย่างรวดเร็ว พอเรื่องมันติดใจประชาชน จะเหมือนว่าวที่ติดลมบน ก็จะไม่กลัวว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่อยู่ แต่หากยังไม่ติด สังคมต้องรับสภาพ อาจจะชะงักไปบ้าง เชื่อว่าภาคประชาชนและผู้ที่ห่วงใยบ้านเมืองที่มีอยู่จะยังไม่หยุด กระบวนก็ไม่หยุด เพราะวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 ปีนั้น ชี้ให้เห็นแล้วว่า บ้านเมืองไม่มีทางไป นอกจากการปฏิรูป และไม่ยอมแพ้
วันนี้ ผมเชื่อว่า การปฏิรูปประเทศไทย จุดติดแล้ว ถ้ารัฐบาลมีความมั่นคงพอประมาณ และสนับสนุนอย่างเหมาะสม จะติดลมบนได้ง่าย ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ต้องสานต่อ แต่หากรัฐบาลไม่มั่นคง การสนับสนุนอาจด้อยและอ่อนกำลังลง แต่การขับเคลื่อนจะยังไม่หยุด ภาคเอกชน เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน มีความพร้อมมากขึ้น แต่ก่อน องค์กรชุมชนยังน้อย หน่วยงานสนับสนุน ยังไม่มี แต่วันนี้พร้อมแล้ว
ฉะนั้น ความเห็นพร้อมพอสมควรแต่เพียงว่า ควรจะเร่งสร้างความตื่นตัวของสังคม ความรู้สึกเป็นเจ้าของในการปฏิรูป ควรทำในช่วงนี้ เพราะมีสิ่งเดียวที่จะติดลมบน นำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้เร็ว มีภูมิคุ้มกันกับขบวนที่จะเคลื่อนต่อไป หากไม่ติด ภูมิคุ้มกันก็จะลำบาก ถึงแม้เดินหน้าได้ ก็ลำบาก”