ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม "บัณฑิตไทยในพระราชดำริ"
“เวลาพูดเราจะใช้คำว่า สติปัญญา เราไม่ใช้คำว่าปัญญา เฉยๆ เหตุที่ใช้ว่าสติปัญญา เพราะ สติ ต้องมาก่อนปัญญา ไม่ใช่ปัญญามาก่อนสติ เพราะต้องใช้สติก่อนปัญญา ความรู้ที่ท่านได้มหาวิทยาลัย คือ ปัญญา แต่ท่านจะได้สติหรือไม่ ไม่ทราบ ฉะนั้น การที่ท่านจะใช้ปัญญา ต้องสติ เป็นเครื่องควบคุม มิฉะนั้น แล้ว ปัญญาก็จะเกินสติ"
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษ เรื่อง “บัณฑิตไทยในพระราชดำริ” ในโอกาสที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาคนไทยที่สมบูรณ์แบบ” ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"บัณฑิตไทยพระราชดำรัส และพระราชดำริ มีความแตกต่างกัน พระราชดำรินั้น เป็นความในพระราชหฤทัยที่ยากที่จะมีใครสามารถจะไปล่วงรู้ได้ ว่าจะทรงมีแนวพระราชดำริตริตรองอย่างไร แต่พระราชดำรัสนั้น คือ สิ่งที่ปรากฏออกมา บางครั้งได้จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นเอกสารทั่วไป บางครั้งก็ได้สดับตรับฟังด้วยตนเอง จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจน
เวลาที่เราพูดถึงบัณฑิต หากใช้พจนานุกรมเข้าไปจับ คำแปลมีอยู่ว่า คือ ผู้รู้ นักปราชญ์ ซึ่งเป็นคำสามัญ ส่วนที่จะเอาไปใช้กับใคร ต้องดูสถานะ และความรอบรู้ของผู้นั้น สมัยก่อนมาถึงปัจจุบัน ใครเป็นผู้รู้ หรือนักปราชญ์ มีความรู้มากก็ทรงยกย่องเป็นราชบัณฑิต แม้กระทั่งราชทินนาม ที่จะมีคำว่าบัณฑิตติดท้ายเข้าไป ในบรรดาศักดิ์หรือราชทินนาม ของขุนนางคนใด ใช่ว่าจะมีคำว่าบัณฑิต ติดสอยเข้าไปได้ง่ายๆ
ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ท่านได้เล่าสืบทอดต่อกันมาว่า เป็นนักกฎหมายใหญ่ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร ซึ่งจะถกเถียงกันมากที่จะเกิดราชทินนามนี้ จนแน่ใจว่าท่านสมกับคำว่าบัณฑิต จึงได้รับคำยกย่องในราชทินนามว่า พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร (บุญจ๋วน บุญยะปานะ) ซึ่งต่อมาท่านได้เป็นประธานศาลฎีกา
ในทางพระพุทธศาสนา ก็มีพระมโหสถบัณฑิต พระวิธุรบัณฑิต นั่นคือ บัณฑิตในความหมายทั่วๆไป อีกนัยหนึ่งที่เข้าใจกันโดยทั่วๆไป บัณฑิต คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญา ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี โท หรือเอก บางครั้งอาจจะรวมไปถึงประกาศนียบัตรชั้นสูง
ในวันนี้ จะเป็นบัณฑิตประเภทหลังเสียมากกว่า คือ อุตสาหะเข้ามาเรียนในสถาบันอุดมศึกษา จนจบได้รับปริญญาไปแล้ว เป็นคนชนิดไหน อย่างไร ทำอะไรได้หรือไม่ได้ คงจะไม่ใช่บัณฑิตในความหมายกว้างๆทั่วๆไป เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ใช่หน้าที่ของสภาการศึกษาแห่งชาติ....”
“เท่าที่ได้ศึกษามา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแนวพระราชดำริ และเคยมีพระราชดำรัสหลายครั้งเกี่ยวกับความเป็นบัณฑิต โอกาสที่จะแสดงพระราชดำรัสให้ปรากฏ บ่อยที่สุด ดังที่ได้ยินทั่วไป คือ เวลาที่ทรงพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดระยะเวลาประมาณ 50 ปี อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตรงนี้ เคยมีการรวบรวม ไปจำหน่ายจ่ายแจกกันมากมายว่า ได้ทรงเคยตรัสอย่างไร ในแต่ละงาน แต่ละโอกาส และ ประเภทที่ 2 คือ พระราชดำรัสเกี่ยวกับความเป็นบัณฑิตที่มิได้พระราชทานในโอกาสพระราชทานปริญญาบัตร แต่เป็นการพระราชทานในโอกาสทั่วไป แก่บุคคลและคณะบุคคล ในการส่วนพระองค์ หรือเป็นการสาธารณะ
ความแตกต่างของการพระราชทานพระราชดำรัสทั้ง 2 ประเภท อยู่ที่ประเภทแรก จะเรียกว่า พระบรมราโชวาท เพราะเป็นคำสอน คำแนะนำ ส่วนประเภทหลัง คือ พระราชดำรัสทั่วๆไป
ประเภทแรก คือ พระบรมราโชวาท ส่วนใหญ่ หรือทั้งหมด จะมีการร่างถวายให้ทอดพระเนตร ทรงแก้ไข และทรงอ่านในโอกาสนั้นๆ ต่อจากนั้นมีการแจกจ่ายสำเนา ให้บุคคลทั้งหลายอัญเชิญไปอ่านตรึกตรองซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ได้เคยสอบถามเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วม มีคำอธิบายสอดคล้องกันหลายคนว่า การร่างพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทในลักษณะแรก หรือพระราชดำรัสใดๆ ที่จะต้องทรงอ่านนั้น โดยมากจะเริ่มต้นด้วยการให้แนวพระราชดำริก่อนว่า หัวข้อ ขอบเขตควรจะเป็นเช่นนี้ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการยกร่าง และมีการตรวจจนถึงขั้นของชั้นราชเลขาธิการ โดยเมื่อทรวงถวายขึ้นไปจะทรงตรวจแก้ทุกครั้ง
ซึ่งอาจารย์ภาวาส บุนนาค ในสมัยที่เป็นรองราชเลขาธิการ ได้เล่าให้ฟังว่า ทรงตรวจแก้ และทรงทักท้วงว่าสั้นไป ยาวไป บางครั้งใช้คำสมัยใหม่เกินไป เป็นคำที่พระองค์ไม่ทรงใช้ บางครั้งใช้คำสมัยเก่าและเชยเกินไป พระองค์ก็ไม่ทรงใช้ บางครั้งแปลคำในหลักการที่พระองค์ทรงรับสั่งไว้ผิด บางครั้งจะพระราชทานแนวพระราชดำริเบื้องต้น แต่เพียงว่า ให้เอาหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาข้อนี้เป็นตัวตั้ง และเอาไปขยายความ แต่ผู้ร่างจะขยายจนเข้าป่าเข้าดงไป และย้อนออกมาจากป่าไม่ได้ ก็จะตรัสว่า “มันไปไม่สุดป่าก็เอาแค่ต้นๆ หรือกลางป่าก็พอแล้ว”
นี่เป็นเรื่องของพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทที่ร่างถวาย แล้วจะทรงอ่านในโอกาสต่างๆ ส่วนในกรณีที่เป็นพระราชดำรัสที่ไม่ได้ทรงอ่านนั้น คือ พระราชดำรัสสดๆ ได้ทรงเตรียม บางครั้งก็ไม่ได้ทรงเตรียม เพราะว่า ตรัสทันทีทันใด เมื่อพระราชทานออกไป จะมีเจ้าหน้าที่บันทึกเทป พระสุรเสียงไว้ แล้วนำไปถอดเทปเผยแพร่ ในโอกาสต่อมา ซึ่งเราจะได้ยิน พระราชดำรัสในลักษณะนี้มากขณะที่มีคณะบุคคลเข้าเฝ้า หรือเวลาเสด็จพระราชดำเนินตามสถานที่ต่างๆ หรือว่าทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัย หรือเสด็จฯ ออกมหาสมาคม ณ ศาลาดุสิตาลัย ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา
โดยมากเวลาผู้ใดจะศึกษาแนวพระราชดำริ หรือพระราชดำรัส ซึ่งมีคนทำหลายคนและหลายหัวข้อ อย่างผมเอง เคยทำ ในเรื่องพระราชดำรัสทางกฎหมาย อ.กนก เคยทำเรื่อง พระราชดำรัสทางรัฐศาสตร์ หรือหลายคนทำเรื่องอื่นๆ มักให้ความสำคัญกับพระราชดำรัสแบบสดๆ นี่มาก เพราะจะสะท้อนถึงทางใจของพระราชดำริได้เป็นอย่างดี และบางครั้งจะมีการโต้ตอบกัน มีผู้ที่กราบบังคมทูลถามและต่อท้าย และพระองค์ก็ทรงตอบ
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ประเทศเมื่อมาประมวลกันแล้ว ต้องเรียกว่า หากเจาะลึก ศึกษาลงไป จะได้ทราบความในพระราชหฤทัย โดยเฉพาะหัวข้อในวันนี้ คือ ความเป็นบัณฑิตได้เป็นอย่างดี ถ้าจะประมวล บรรดาพระราชดำรัส พระบรมราโชวาททั้งหลาย ที่จะมีอยู่ประมาณ 200 องค์ด้วยกัน (200 เรื่อง) ที่เกี่ยวกับความเป็นบัณฑิตแล้ว ประมวลได้ว่า
ประการแรก เมื่อรับสั่งถึงบัณฑิต ก็รับสั่งว่าบัณฑิต คือผู้รู้ โดยเฉพาะยิ่งเรียนจากมหาวิทยาลัย จบออกไปได้รับปริญญาบัตร ก็คือ ผู้รู้ จะเรียกอย่างอื่นได้อย่างไร ในความเป็นผู้รู้ รู้ในสาขาวิชานั้นๆ ที่ตนเองเรียนจบมา เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จะไม่ได้ทรงขยายความต่อออกไปอีกมากนัก แต่จะทรงเน้นอยู่เสมอ หากไปดูพระบรมราโชวาทที่ทรงไปประกาศตามที่ต่างๆ รวมไปถึงงานพระราชทานปริญญาบัตร จะทรงเริ่มเสมอว่า บัณฑิต คือ ผู้รู้ รู้ในสาขาวิชาที่ตนได้ศึกษา ต่อจากนั้น ก็ทรงขยับขยายย้ายไปตรัสเรื่องอื่นๆอีกต่อไป”
รู้จักสามัคคี อย่าแยก-ตัดออก
“ดร.สุเมธ (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา) เคยเล่าให้ผมฟังว่า พระเจ้าอยู่หัวเคยทรงมีพระราชดำรัสว่า รู้รักสามัคคี จึงได้ทรงแก้ไขถ้อยคำที่ทรงไปเผยแพร่ในครั้งแรกว่า รู้จักสามัคคี พระองค์ตรัสว่าไม่ใช่ รู้ ก็คือ รู้ ตรงนี้คือความรู้ หรือ knowledge ก็ได้ รัก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สามัคคี ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทรง ตั้งพระราชหฤทัยว่า เอามารวมเข้าด้วยกัน อย่าไปแยก อย่าไปตัด อย่าไปถอด
เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้น จะตรัสถึงความเป็นผู้รู้ ในศาสตร์ ในสาขานั้นๆ ถ้าจะทรงอธิบายขยายความ ก็จะเป็นในโอกาสที่จะตรัสแก่บรรดาบัณฑิตเฉพาะสาขาหรือเฉพาะทาง ในงานพระราชทางปริญญาบัตร บัณฑิตที่นั่งอยู่หน้าพระพักตร์มากเหลือเกิน จนไม่สามารถตรัสถึงเรื่องคอมพิวเตอร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ แพทย์ หรือครุศาสตร์ใดๆได้ ตรงนี้ ผมได้เคยศึกษาว่า ในโอกาสที่ได้พระราชทานประกาศนียบัตรเนติบัณฑิต แน่นอนที่ไปรับพระราชทาน ก็คือ นักกฎหมาย ทรงตรัสว่า ท่านทั้งหลายเป็นเนติบัณฑิต บัณฑิตในที่นี่คือ บัณฑิตทางเนติ ก็คือ ผู้รู้ทางกฎหมาย พระองค์ก็ทรงขยายความ ก็เป็นการขยายความ ที่ไพเราะ ชัดเจนมาก และบ่อยครั้งยังนำไปรับสั่งซ้ำหลายครั้งในรอบปี บางครั้งและข้ามปี และที่น่าสนใจทรงปราม จะทรงตรัสสดๆ ซึ่งถ้ามีคนนำเทปไปถอดเทปพระสุรเสียง และไปปะติดปะต่อ จากที่ทรงได้ดำรัสขั้นต้นปี ปลายปี ข้ามปี และในปีติดๆกัน จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องเดียวกันตลอด
เช่น ในเวลาที่ได้ตรัสกับบรรดา เนติบัณฑิต ซึ่งก็คือ บัณฑิต ในปีหนึ่งได้ทรงเริ่มว่า พวกท่านทั้งหลายเป็นนักกฎหมาย เป็นเนติบัณฑิต เรียนกฎหมายมา ต้องระวังว่า คนเราเมื่อเรียนกฎหมายมากๆ รู้กฎหมายมาก ก็นึกว่า กฎหมายนั่นคือวิธีที่จะนำไปแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ท่านควรนึกแต่เพียงว่า กฎหมายเป็นวิธีหนึ่งที่จะนำไปใช้สร้างความยุติธรรม
และทรงกลับมาขยายความ คำว่า หนึ่ง ยังมีอีกหลายวิธี อย่าไปคิดว่า กฎหมายคือตัวความยุติธรรมเสียเอง กฎหมายเป็นเพียง มรรควิธี เท่านั้น แต่ไม่ใช่ผล วันนี้เราอาจใช้กฎหมายเป็นวิธีการนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมได้ แต่บางครั้ง มันก็ไปไม่ได้ อาจจะต้องไปใช้วิธีการอื่นอีกได้ ตรงนี้คือ สติปัญญาของคนที่เป็นบัณฑิต ที่จะคิด ปรับและนำไปประยุกต์เอาว่า จะเลือกใช้เส้นทางใด ขนาดไหน เพียงใด
ในเวลาต่อมาก็ยังทรงตรัสอย่างนี้อีกหลายครั้งกับบุคคลต่างๆคณะ เช่น เมื่อคณะผู้พิพากษา เข้าไปทรงถวายคำสัตย์ปฏิญาณ ก็จะทรงตรัสอีกว่า พวกท่านทั้งหลายเป็นนักกฎหมาย ทำงานกับกฎหมายนานๆ ก็จะนึกว่าในโลกนี้มีแต่กฎหมายเท่านั้น ความจริงต้องลืมหูลืมตา มองอย่างอื่นเสียบ้าง มองดูอีกว่า บ้านเมืองยังมีอย่างอื่นอีก มีศาสตร์อื่นอีก และข้อสำคัญ คือการที่จะสร้างความยุติธรรมนั้น ยังมีวิธีการอื่นได้อีก ส่วนวิธีนั้นคืออะไร ท่านมีปัญญา ลองไปคิดดู
ทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องเดียวกันตลอด แล้วย้อนกลับมาว่า เมื่อได้ตรัสแก่บัณฑิต จะเริ่มจากบอกว่า เป็นผู้รู้ก่อน ฉะนั้น เมื่อเรียนจบแล้ว ยังไม่รู้ ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย...”
ย้อนศึกษาพระราชดำรัสในอดีต
“ต่อจากนั้นจะสังเกตได้ในพระราชดำรัสแต่ละคราว เป็นพระบรมราโชวาทแต่ละองค์ว่า จะทรงขยายความในเรื่องอื่น ไม่หยุดอยู่ที่ความเป็นผู้รู้ จะตรัสถึงเรื่องต่างๆ แล้วแต่เหตุการณ์ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามา ข้อเสียเปรียบของคนที่กลับไปย้อนศึกษาพระราชดำรัสในอดีต คือ บางครั้งเราไม่รู้ถึงบริบทแห่งเหตุการณ์ แต่ในปีนั้นๆ คนในเหตุการณ์เขารู้ว่า ต้องการทรงมุ่งแสดงถึงเหตุการณ์ในเรื่องใด ใช้ไปในการแก้ปัญหาใด
2-3 ปีมานี้ ได้ทรงรับสั่งถึงเรื่องปัญหาของชาติ บ้านเมือง เราทั้งหลายอยู่ในภาวะเหตุการณ์นั้น ก็ทรงพอจะรู้ และเข้าใจ คาดเดา และตีความได้ แต่สำหรับในอีก 10 ปีข้างหน้า หากประเทศไทยยังอยู่ เมื่อย้อนกลับไปศึกษาพระราชดำรัสเหล่านั้น ก็จะยังงงว่า ทรงรับสั่งถึงเรื่องอะไร เช่นเดียวกัน ในกรณีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความเป็นบัณฑิต เมื่อได้ทรงขยายความลงไปแล้ว การศึกษานั้นควรไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
ในช่วงเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2500 ต้นๆ จนถึง 2511 -2512 ประมาณนั้น ถ้าใครอ่านหนังสือพิมพ์จะพบว่า นักปราชญ์ ครูบาอาจารย์ จะพูดและบ่นกันมากถึงเรื่อง ความเสื่อมในการใช้ภาษา คือ ภาษาไทย อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนบทความหลายบทความ ว่ารำคาญ ครูบาอาจารย์ที่พูดไทยคำ อังกฤษคำ คอลัมนิสต์ นักเขียนหลายคน เขียนว่า วันนี้เรียนจบมหาวิทยาลัยมา พูดภาษาไทยไม่เป็นภาษา วันนี้ที่พูดในวันนั้น พูดไม่เป็นภาษา เขียนก็ยิ่งไม่เป็นภาษา บางครั้งวกวน ฟุ่มเฟือย ไม่รู้ว่าต้องการอะไร
เพราะฉะนั้นในปี พ.ศ. 2512 เมื่อพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้ทรงเริ่มตรัสว่า “ท่านทั้งหลายเป็น บัณฑิต บัณฑิตเป็นผู้รู้ ผู้รู้นั้นควรเป็นผู้ที่รู้จักการใช้ภาษา ที่ต้องเริ่มจากภาษา สมัยนี้มีการใช้ภาษาที่วกวน ฟุ่มเฟือยมาก บางครั้งใช้ภาษาไทยปนกับภาษาต่างประเทศ เพราะนึกภาษาไทยไม่ออก คิดว่าอย่างนี้จะสื่อความได้ดี มันสื่อได้เฉพาะผู้ฟังเฉพาะหน้า คนอื่นที่เขาได้ฟังต่อไป เขาจะสื่อกับเราไม่ได้”….
เหล่านี้ ก็เป็นตัวอย่างว่า เมื่อพระองค์ทรงตรัสกับบัณฑิต แล้วจะเริ่มจาก การตรัสว่า การเป็นผู้รู้ และจะลงไปในเรื่องต่างๆ สุดแต่เหตุการณ์ในเวลานั้น ในระยะแรกๆ ได้รับสั่งการใช้ภาษา บางปีทรงรับสั่งว่า บัณฑิตเวลาพูด จะต้องเขียนด้วย การพูด การเขียน คือการสื่อสาร ถ้าไม่ทำให้เขารู้ และไม่เข้าใจ แล้วจะให้คนอื่นทำตาม และเข้าใจในสิ่งที่เรารู้ได้อย่างไร ทั้งหมดคือ ประมวลความรู้ ที่สำคัญในเวลานั้น หลังจากนั้น ในปีต่อๆมา ก็จะรับสั่งเรื่องอื่น ขยับออกไปถึงปัญหาอื่นที่เกิดขึ้น”
39 ปีมาแล้ว ทรงตรัสถึงเรื่องความปรองดอง
“ ใน ปี 2514 หากท่านจำประวัติศาสตร์ได้ มีการยึดอำนาจ มีความแตกแยก และแตกร้าวพอสมควรกันในสังคมไทย เพราะว่าเหตุหนึ่งของการยึดอำนาจ คือ การแตกกันในสภาฯก่อน ต่อมาเป็นการแตกในการเมืองนอกสภาฯ และขยับไปในวงการต่างๆ และนำไปสู่การแตกในสภาฯ 14 ตุลาคม ในปี 2516
ปี 2514 และ 2515 เมื่อเสด็จฯ ไปทรงพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตรัสถึงเรื่อง ความปรองดอง และทรงใช้คำนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องความปรองดอง และทรงอธิบายว่า ความปรองดองคืออะไร และทำอย่างไร ทำไมจึงต้องเลือกเอาโอกาสที่จะไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีผู้ฟังอยู่ไม่มากนักในหัวข้อระดับชาติ เรื่องความปรองดอง ซึ่งผมไม่สามารถเดาความในพระราชหฤทัยไม่ได้ แต่สังเกตได้ว่าพระราชดำรัสสำคัญ ที่วันนี้ได้อ้างกันมาถึงวันนี้ เนื้อความนั้นสำคัญแน่ แต่ถ้าถามว่าโอกาส เวลา สถานที่ คืออะไร บางครั้งเรานึกไม่ออกว่า ทำไมจึงเลือกโอกาสอย่างนี้
ท่านจำพระบรมราโชวาทที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งได้หรือไม่ และน่าจะเป็นพระบรมราโชวาทที่มีการอ้างอิงได้มากที่สุดในประเทศไทย ในสมัยหนึ่ง ได้ขึ้นป้ายเกือบทุกหัวถนน คือ พระบรมราโชวาท ที่ว่า
“บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เราไม่มีทางทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ ทำอย่างไร จะให้คนดีมีโอกาสปกครองบ้านเมือง และอย่าให้คนไม่ดีกำเริบ”
ท่านเคยทราบว่า พระบรมราโชวาทนี้ พระราชทานที่ใด โอกาสใด ผมเอง อ่านครั้งแรก คงเป็นเวลาสิ้นปี ขึ้นปีใหม่ แต่ได้พระราชทานแก่คณะลูกเสือ ที่ไปชุมนุมกันที่ค่ายลูกเสือศรีราชา ในปี 2512 ผู้ที่ฟัง เป็นเด็กทั้งนั้น แต่แน่นอนเวลา สถานที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เวลาอ้าง ก็เชิญ พระบรมราโชวาทมาอ้าง ซึ่งคงไม่นึกถึงเหตุที่ทรงเป็นเช่นนี้ เป็นอุบัติเหตุหรือว่าเหตุการณ์นั้นมาถึง จะใช้โอกาสนั้น คงไม่ใช่แน่ จะต้องทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า ในโอกาสเช่นนี้ จะทรงสื่อสารไปได้อย่างไร ยิ่งเป็นการที่เป็นการอ่านจากข้อความที่ทรงเตรียมเอาไว้แล้ว
ย้อนกลับมาว่า ที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงความปรองดอง ติดต่อกันถึง 2-3 ปี แล้วท้ายที่สุดมาลงท้ายด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ทรงขยายความด้วยว่าความปรองดองนั้น เป็นความปรองดองระหว่างใครกับใคร และควรทำอย่างไร นั่นเรื่องหนึ่ง”
อย่าหยุด อย่าชะงัก อย่างรั้งรอ
“ช่วง ปี 2517 – 2518 หลัง 14 ตุลาคม 2516 เกิดอะไรขึ้น ต้องจำว่า เป็นช่วงที่ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น จะรู้ว่าบ้านเมือง ไม่เรียบร้อยสู้ดีนั้น ในช่วงเวลานั้น บัณฑิต ในรั้วมหาวิทยาลัย อยู่ในภาวะที่เคว้งคว้าง คือ ไม่รู้จะยึดอะไร
ในปี 2518 เมื่อเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ตรัสเรื่องสำคัญ ที่มีการอ้างอิง เรื่องหนึ่ง และเป็นพระบรมราโชวาทที่ยาวมาก เพราะทรงลงลึกในหัวข้อหนึ่ง ที่ว่าด้วย ความขัดแย้งระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ “เนื่องจากว่าท่านทั้งหลายเป็นบัณฑิต เรียนมามาก ก็ถือว่าเป็นผู้รู้ทฤษฎีมาก เมื่อจบแล้วออกไปทำงาน ไปปฏิบัติ อาจจะมีความรู้สึกว่า ทฤษฎีที่เรียนมากับการปฏิบัติ เข้ากันไม่ค่อยได้ บางคนเลิกทฤษฎีหันไปปฏิบัติ บางคนเอาแต่ปฏิบัติแล้วไม่นำพาต่อทฤษฎี ฉะนั้นท่านต้องทราบว่าเมื่อทฤษฎีกับวิธีปฏิบัติขัดแย้งกัน ท่านควรจะเลือกทำอย่างไร”
และได้ตรัสว่า ในแนวพระราชดำรินั้น เมื่อใครมีหน้าที่อย่างไร ต้องทำไปตามนั้น และทรงเน้นว่าถึงครั้งสองครั้งว่า อย่าหยุด อย่าชะงัก อย่างรั้งรอ ซึ่งสมัยนี้ ใช้คำว่า อย่าเข้าเกียร์ว่าง ให้ทำไป ในระหว่างนั้น ต้องคิดว่า เราจะเอาวิธีปฏิบัติให้เข้าทฤษฎี หรือเอาการปฏิบัติมาปรับเข้ากับทฤษฎีได้อย่างไร อย่าทิ้งทางใดทางหนึ่ง
ผมเคยได้อ่านข้อความจาก professor (ศาสตราจารย์) จากต่างประเทศว่า บางคน เวลาเจอปัญหา ใช้ทฤษฎีเลือกทางใดทางหนึ่ง ทางเดียว ความจริงมีอีกวิธีหนึ่ง คือ การผสมผสาน เพราะฉะนั้น เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งถึงเรื่องความขัดแย้งและวิธีปฏิบัติ ควรจะเอามาผสมผสานด้วยกันได้ และยังเชื่อว่า ปรับจริงก็น่าจะปรับได้ เป็นวิธีที่น่าจะประยุกต์ได้ เมื่อทำไปได้ระยะก็จะรู้เอง ขณะเดียวกันท่านก็ต้องคิดถึงศาสตร์ ศิลป์อื่นๆที่ท่านไม่ได้เรียนมา คงต้องหันกลับไป เพื่อที่จะดึงเข้ามาช่วย ซึ่งก็ยังทรงตรัสต่อเนื่องกันอีกหลายๆปี เรื่องการใช้ศาสตร์และศิลป์ในสาขาอื่น”
เป็นผู้รู้ต้องรู้จักทำงานประสานกับคนอื่นให้ได้
“ในเวลา ต่อมามีเสียงพูดกันมากว่าบัณฑิตจบออกไป ทำงานไม่ได้ ใจคอคับแคบ ไม่รู้จักเรื่องของคนอื่นนอกจากเรื่องของตัวเอง … ซึ่งจากการสำรวจนั้นมีอยู่แล้วว่าเป็นเช่นนั้น ซึ่งจะเป็นลักษณะของคนไทยก็ได้ ว่าทำงานเดี่ยว ทำงานหมู่คณะ ยาก
เพราะฉะนั้น ปี 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสในคราวหนึ่งครั้งไปพระราชทานปริญญาบัตร ที่ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า บัณฑิต ที่ต้องเริ่มจากการเป็นผู้รู้ จะต้องรู้จักการทำงานประสานกับคนอื่นให้ได้ จะต้องไม่สร้างความขัดแย้ง ทรงอุปมาว่า เหมือนหนึ่งหมู่ดนตรี ที่ต้องเล่นเป็นหมู่คณะ จึงจะไพเราะ...
วิธีที่จะทรงใช้เสมอ คือ การทรงทำให้รู้ ให้เห็น ให้ดู ให้เป็น ไม่บ่อยที่พระองค์ จะทรงสอนให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่จะทรงใช้วิธีทำ และเมื่อจะทรงสอน จะทรงใช้ตัวอย่างอื่น ไม่เคยยกตัวอย่างของคนนั้นมาติติง ซึ่งก็มีบ้าง แต่น้อยครั้งเต็มที ส่วนใหญ่เป็นการอุปมา เป็นเทคนิคที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง
มีพระบรมราโชวาทที่สำคัญ เวลารับพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ผู้แทนบัณฑิตต้องถวายคำสัตย์ปฏิญาณ ในปี 2520 พระราชทานว่า ที่บัณฑิตพูดว่าจะรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ และสิทธิ์แห่งปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คำว่าสัตย์ ทรงเข้าพระราชหฤทัยว่า อำนาจแห่งวิชาความรู้ มีอำนาจมาก มีศักดิ์มาก ส่วนสิทธิ์ คือ ความสำเร็จ เพราะฉะนั้น เมื่อทรงปฏิญาณว่า จะทรงรักษาไว้ซึ่งศักดิ์และสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยนี้ ท่านต้องรักษาอำนาจแห่งความรู้ที่มีที่ได้เล่าเรียนมา และต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ ไม่ใช่สำเร็จเพราะได้เกียรตินิยมอันดับ 1 หรือ 2 แล้วหลังจากนี้ไป ไม่รู้กันอีกแล้ว หากไม่รู้ก็ต้องนิยมไปขวนขวายหาความรู้ใส่ตนเองต่อ
ทรงเตือนด้วยว่า สิทธิ์ ไม่ใช่การได้อะไรแล้วไปนำมา แต่หมายถึงความสำเร็จ ไม่ใช่ความยากได้อะไร สอดคล้องต่อไป ในงานพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2529 ทรงรับสั่งว่า วันนี้จะพูดถึงความรับผิดชอบของบัณฑิต เพราะบัณฑิตจะต้องรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อวิชาชีพ ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ แต่สิ่งที่ยังไม่เข้าใจตรงกัน คือ คำว่า รับผิดชอบ ว่ามันคืออะไร ได้ทรงขยายความว่า ความรับผิดไม่ได้หมายความว่า ขอรับโทษ และความรับชอบ ไม่ได้หมายความว่า รับรางวัล
สิ่งตรงนี้ พอมานึกเปรียบเทียบกับทางการเมือง จะสังเกตว่า นักการเมืองไทย เมื่อเวลามีเสียงเรียกร้องว่าให้ท่านรับผิดชอบ ท่านจะเลี่ยงเสมอว่า ขอโทษ แต่รับผิดจะไม่มีคนใช้ ซึ่ง รับผิด หมายความถึงว่า การยอมรับว่า ผิด แล้วจะพยายามทำให้ดีขึ้น ส่วนการรับชอบ ก็ไม่ได้หมายถึงเอารางวัล แต่คำว่าชอบ มันคำเดียวกับว่า ชอบในกฎหมาย ชอบในความเป็นธรรม เมื่อเรื่องนี้ถูกต้อง จึงขอรับชอบ ซึ่งหากเข้าใจ ก็จะเข้าใจความรับผิดชอบมากขึ้น ทรงรับสั่งกับบัณฑิต เพื่อให้ไปเรียนรู้กันต่อ และไม่ทรงอธิบายในวงการอื่นอีกเลย”
ปะติดปะต่อพระราชดำริความเป็นบัณฑิตไทย
ศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า “ในปีต่อไป ทรงพระราชดำรัสลึกลงไปอีก ว่า “ถ้าเป็นบัณฑิตแล้ว เรียนจบแล้วมีความรู้ แต่ถ้าหากออกไป ท่านต้องมีความรู้ยิ่งขึ้น การที่ท่านจะรู้ได้ยิ่งขึ้น ข้อที่ 1 หากท่านจะรู้อะไร ต้องรู้ให้กระจ่างและรู้ให้ลึก อย่าใช้วิธีรู้ในทางกว้าง ข้อที่ 2 ให้นำความรู้ที่รู้มาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ต่างๆ เหตุการณ์ในที่ทำงาน หรือในประเทศก็ได้ ข้อ 3 ทำใจให้เป็นกลาง เที่ยงตรง เที่ยงธรรม เพราะเป็นการนำมาใช้กับเหตุการณ์ใดๆ ถ้าลำเอียงหรืออคติ จะเอามาประยุกต์ผิดทันที” พระราชดำรัสนี้ ทรงเตือนที่จุฬาฯ
“และปีเดียวกัน ทรงเตือนที่ ธรรมศาสตร์ว่า “ความรู้ที่มีอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ 3 อย่าง คือ ความรู้ด้านวิชาการ ความรู้ด้านปฏิบัติการ และความรู้ที่เรียกกันว่า ความคิดความอ่าน โดยความรู้ด้านวิชาการ ท่านได้มาแล้วนับแต่วันที่เข้ามหาวิทยาลัย ความรู้ปฏิบัติการ ท่านจะเจอตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และมีความรู้อีกอย่างหนึ่งในสังคม คือ ความคิดความอ่าน ซึ่งอาจจะไม่เคยเรียนมา เป็นเรื่องของทรรศนะ เป็นเรื่องของความเห็น เป็นการจินตนาการต่อไป เพื่อความรู้ เพิ่มพูนยิ่งขึ้น”
ทั้งหมด คือเรื่องที่พยายามอธิบายมาเป็นลำดับ หากเอามาปะติดปะต่อและร้อยเรียง โดยไม่ข้ามสถานการณ์ในแต่ละปี แต่ละช่วงเหตุการณ์ ท่านจะเห็นถึงความเป็นบัณฑิตไทยในพระราชดำริ ค่อนข้างชัดเจน รวมความไม่มีอะไรมากไปกว่า การที่ต้องการให้ทรงมีสติ”
สติ ต้องมาก่อนปัญญา ไม่ใช่ปัญญามาก่อนสติ
“ในปี 2521 เคยตรัสไว้ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า ภาษาไทยนั้น “เวลาพูดเราจะใช้คำว่า สติปัญญา เราไม่ใช้คำว่าปัญญา เฉยๆ เหตุที่ใช้ว่าสติปัญญา เพราะ สติ ต้องมาก่อนปัญญา ไม่ใช่ปัญญามาก่อนสติ เพราะต้องใช้สติก่อนปัญญา ความรู้ที่ท่านได้มหาวิทยาลัย คือ ปัญญา แต่ท่านจะได้สติหรือไม่ ไม่ทราบ ฉะนั้น การที่ท่านจะใช้ปัญญา ต้องสติ เป็นเครื่องควบคุม มิฉะนั้น แล้ว ปัญญาก็จะเกินสติ
ดังนั้น จึงขอสรุปว่า ความเป็นบัณฑิตไทย อยู่จากสิ่งเหล่านี้ ที่เป็นพระราชดำรัสทั้งหลาย คือ ความเป็นผู้มีสติ ความเป็นผู้มีปัญญา ความเป็นผู้มีเหตุมีผล ความเป็นผู้ที่รู้จักนำเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ในสังคม ความเป็นผู้รับผิดชอบ เราคาดหมายเหลือเกินจากบัณฑิต ว่าอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย 3-4 ปี จะหล่อหลอมให้เกิดบุคลิกภาพได้ทันใจอย่างไร ต้องกลายเป็นเรื่องมหาวิทยาลัย ครูบาอาจารย์ ที่ต้องเป็นส่วนด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้ทรงตรัสเป็นการส่วนพระองค์ในเรื่องเหล่านี้ คราวหนึ่ง เคยติดตามผู้นำรัฐบาลไปเข้าเฝ้า แล้ว ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษา เคยตรัสกับรัฐมนตรีท่านหนึ่งว่า คนเรียนหนังสือ ในโรงเรียนก็ดี โดยเฉพาะในระยะหลังนี้ไม่แน่ใจว่าเขาเรียนกันอย่างไร แต่ไม่เหมือนที่เรียนในสมัยก่อน ความเจนจัด ความลงลึก รู้จริง ผิดกัน แต่คนสมัยนี้รู้กว้างกว่า คือ รู้มาก แต่ไม่ลึก ซึ่งไม่แน่พระทัยว่าอย่าไหนดีกว่ากัน
อีกคราวหนึ่งทรงปรารภ ถึงเรื่องคนที่เรียนในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยก็ดี จะออกไปทำงานข้างนอก จะทำอย่างไรให้มีจิตใจอยากออกไปทำงานกับประชาชน ทำอย่างไรให้มีความรู้สึก อยากไปประสานงานเป็นหมู่เป็นคณะ หรือทำให้เรียนรู้ว่าตนเองต้องเรียนรู้อะไรต่อไปอีกเยอะ คราวหนึ่งได้ตรัสว่า อุดมศึกษา ทำให้คนเรียนรู้ว่า คนทั้งหมด เป็นอุดม ที่จริงแล้ว น่าจะยังต้องใช้คำที่ยังมีต่อ และเวลาที่พระองค์ทรงเล่า จะยกตัวอย่างเหตุการณ์บ้านเมือง
ยกตัวอย่างเช่น พระบรมราชชนนี สอนว่าทรงสอนการท่องสูตรคูณอย่างไร ได้รับสั่งว่า คุณครูในโรงเรียนสอน ท่องสูตรคูณอย่างไร แต่สมเด็จย่าไม่ได้สอน แม่ 2 ถึง แม่ 12 แต่ท่านสอน แม่ 6 อยู่แม่เดียว และทรงอธิบายว่าแม่ 6 จะแตกไปสู่แม่อื่นได้อย่างไร และรับสั่งว่า พอท่องแม่ 6 ได้ ก็สามารถท่องแม่อื่นได้ แม้กระทั่งความประหยัดก็ทรงทำให้ดู จึงใช้สอนคนอื่นว่า พูดแล้วเหนื่อย แต่จะทรงทำให้ดู ทำหนเดียวไม่รู้ก็ทำหลายหน บางครั้งเป็นหลักวิทยาศาสตร์ด้วย”
ห้องเรียน มีวิกฤต เราควรทำอย่างไร
“หมอประเวศ วะสี กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า วิกฤตสุดๆ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพูด แต่จะหมายความว่าอย่างไรทุกท่านรู้อยู่แก่ใจ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น มองให้เป็นวิกฤตก็ได้ มองให้เป็นโอกาสก็ได้ ขอยกตัวอย่างคำพูดของ อ. สุมน อมรวิวัฒน์ว่า ดิฉันมองเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็นห้องเรียน เป็นห้องเรียนที่หากเราเรียนรู้อะไร ก็จะเรียนรู้ได้มาก
ผมได้เอาคำพูดนั้นมาคิดอย่างจริงจัง พบว่า แต่ถ้ามองให้มันเป็นห้องเรียน เราเรียนรู้อะไรได้มาก นอกเหนือการเรียนรู้ เรื่องความสามัคคี ไม่สามัคคี อาจจะเรียนรู้ไปได้ด้วยซ้ำว่า เวลามีวิกฤต เราควรทำอย่างไร เราอาจจะเรียนรู้ว่าความทุกข์ยากลำบากของคนจำนวนหนึ่ง มันมีอยู่จริง ที่หลายคนไม่เคยนึกว่ามันมีอยู่จริง
ครั้งหนึ่งสมัชชาคนจนขับเคลื่อนมาปิดล้อมทำเนียบฯ ติดต่อกันสัก สิบปี พวกเขามาด้วยปัญหา ร้อยแปดพันเก้า ในปี 2540 ที่มาเรียกร้อง แก้ปัญหาความยากจนต่างๆ พอรวมมาแล้วได้กว่า 100 ข้อ ข้อสุดท้าย คือ การจัดตั้งศาลปกครองโดยเร็ว ซึ่งเขาตอบได้ว่า เพื่อมีแล้วเอาไว้ตัดสินข้อพิพาทระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั่นเป็นเพียงในปี 2540 จนมีการจัดตั้งศาลปกครอง ซึ่งบางทีข้อเรียกร้องเหล่านี้ ผ่านไป 10 ปีก็ไม่ได้แก้ไขหมด”
บัณฑิต ผู้ผลิตบัณฑิต บทบาทแก้ความทุกข์ยาก
“แม้ว่าในวันนี้ ที่มาชุมนุม บางคนไม่ได้มาชุมนุมเพื่อเรียกร้อง บางคนบอกว่าสนุก บางคนมาด้วยความทุกข์จะมากจะน้อยยังไม่ทราบ แล้วถ้าวันนี้ กวาดถนนกันเรียบร้อยแล้ว และบอกว่าทุกอย่างจบ อันตราย สำหรับความคิดนี้ เพราะคนเหล่านั้น ก็แบกความทุกข์กลับไปบ้านเกิดของตัว แล้วถ้าคิดว่ามาเรียกร้องตรงนี้ลำบากและไปเรียกร้องกันอยู่ที่บ้าน ก็จะเกิดอันตราย ทุกอย่างมันมีไม่มาก แต่ต้องเอาความจริงเหล่านี้ขึ้นมาวางบนโต๊ะ มาแก้กันให้เข้าใจ ซึ่งรัฐบาลเองก็รู้ และพยายามจะทำ
กลับมามองว่า มหาวิทยาลัย จะมีบทบาทอย่างไรในสิ่งเหล่านี้ ได้ เอาเรื่องพระราชดำรัสหรือแนวพระราชดำริที่ได้เล่า 1 ใน 100 มาปรับใช้ ก็ว่า บัณฑิตก็ดี ผู้ผลิตบัณฑิตก็ดี น่าจะอยู่ในฐานะผู้ที่มีบทบาทในสิ่งเหล่านี้ได้ มันมีกิจกรรมหลายอย่าง ที่น่าจะทำได้ ตามความถนัด จัดเจนของแต่ละสาขาวิชา เพราะความทุกข์ที่มีอยู่ บวกกับความทุกข์ใหม่อีกหลายอย่าง และอย่าลืมว่าผู้ชุมนุมอาจจะมาเพียงบางท้องที่ แต่ยังมีที่ที่ยังไม่ได้มาก็มี และยังทุกข์อยู่ ต้องเอามาโหวตกัน
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการบางคน ถึงพูดว่า ถ้ามันยุ่งยากและปัญหามันเยอะ แทนที่จะปล่อยให้เป็นการหาเสียงนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละชุด เป็นประชาสังคม แต่ต้องยกขึ้นมาให้เป็นหน้าที่รัฐบาล ทำประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ และไม่มีใครสามารถไปอ้างได้ว่า รัฐบาลไหนทำ ที่จะไปอ้างได้ หากเป็นรัฐสวัสดิการโดยกฎหมาย โดยแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมฯ หากไม่ทำ ถือว่าบกพร่อง แต่ที่ผ่านมา ใครจะทำก็ได้ ใครทำ กลายเป็นพระเดช พระคุณไป อย่างนี้ มหาวิทยาลัย ต้องเข้าไปช่วยคิด บัณฑิตทั้งหลายต้องเข้าไปช่วยคิด”
“มือต่อมือจับกระดาษแผ่นเดียวกัน” พระราชภาระที่หนัก
“เราพูดถึงบัณฑิตไทยตามแนวพระราชดำรัสหรือในแนวพระราชดำริ ผมพยายามจะประมวลส่วนที่เปิดเผยได้ ตรวจสอบได้ ก็คือต้องเอามาจากพระบรมราโชวาทในงานพระราชทานปริญญาบัตร ท่านผู้รู้หลายท่าน ว่า เวลาพระราชทานปริญญาบัตรเป็นภาระที่หนักมาก บัณฑิตแต่ละคนที่ไปรับไม่ได้เหนื่อย มากไปกว่าการเดินขึ้น โค้ง และยื่นมือไปรับ แต่คนที่นั่งอยู่เฉยๆ หยิบแล้วยื่นให้ เคยคิดกันหรือไม่ว่า ปริญญาบัตร 10 แผ่นที่เข้าปก เท่ากับ 1 กิโลกรัม ปีหนึ่งพระราชทานแก่บัณฑิตมีการเสด็จพระราชดำเนินกี่ครั้ง และทรงทำเช่นนี้มากว่า 50 ปี หรือมากกว่านี้ คิดเป็นน้ำหนัก หลายร้อยกิโลกรัม และระยะทางการหยิบยื่นปริญญาบัตร ต่อ 1 ปี เป็นร้อยกิโลเมตร นับว่าเป็นพระราชภาระที่หนักมาก
ซึ่งแม้ในวังเคยพระราชทานบังคมทูลแล้วว่าให้งดพระราชทานปริญญาบัตร เปลี่ยนไปใช้วิธีอย่างอื่น แต่พระองค์รับสั่งว่า
“สิ่งที่มีประสงค์จะสอนให้คนที่เป็นบัณฑิตได้รู้ด้วย เป็นความรู้สุดท้ายจากมหาวิทยาลัยนั้นๆ เป็นความรู้สุดท้าย คือให้รู้จักว่า คนเราต้องอดทน คนเราต้องมีวินัย คนเราบางครั้งมันเหนื่อย แต่ต้องทำเพื่อคนอื่น และที่สำคัญที่สุด คือ ทรงรับสั่งว่า เป็นโอกาสเดียวที่พระองค์ท่านจะทรงได้ใกล้ชิดพสกนิกรมากที่สุด จนกระทั่งมือต่อมือจับกระดาษที่เดียวกัน แม้แต่เวลาพระราชทานน้ำสังข์ ก็ยังไม่ได้ใกล้ชิด เทียบเท่าขนาดนี้ เพราะแค่ทรงหลั่งน้ำสังข์ลงบนศีรษะเท่านั้น แต่นี่เป็นการสัมผัสเบื้องบน บัณฑิตจับเบื้องล่าง เป็นการส่งต่อพระบรมราชปณิธานไปยังบัณฑิตด้วย”
และพระบรมราชปณิธาน นั่นคือ ความอดทน อดกลั้น วินัย และคนเราต้องทำงานเพื่อคนอื่น จะคิดเอาว่า ถ้ามันทุกข์มากก็อย่าไปทำคงเป็นไปไม่ได้