สัมภาษณ์ ::: หมอนิรันดร์ “ปลดล็อคความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย”
ความยากจน ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการเมือง สิทธิทางการเมือง ความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนที่ด้อยโอกาส ... หากเข้าใจความเหลื่อมล้ำใน 3 ส่วนนี้ รัฐบาลต้องดูว่า ความเหลื่อมล้ำทั้ง 3 ส่วนนี้เกิดจากอะไร และเคยได้รับการแก้ไขอย่างไรมาแล้วบ้าง
นับเป็น ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติที่ต้องบันทึกไว้ ว่า วิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง เพียงเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกันได้ลุกลามจนทำเมืองไทยเกิดสงครามกลางเมือง เผาทำลาสถานที่หลายแห่งจนพังวินาศสันตะโรไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายยอมรับตรงกันว่า วิกฤตการณ์ทั้งหลายทั้งมวลของสังคมไทย เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างโดยมีรากเหง้ามาจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และสังคม
ปัญหา ที่สะสมมาอย่างยาวนาน ถึงวันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำเรื่องยากที่สุด เพื่อสร้างความเป็นธรรม แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทีมข่าวศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย สัมภาษณ์ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตส.ว.อุบลราชธานี เพื่อผ่าทางตัน ให้เห็นทางออกว่า จะทำอย่างไรจึงสามารถปลดล็อก และขจัดความไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมทางสังคมให้ลดน้อยลงได้...
ความเหลื่อมล้ำ “3 ส่วน” ในสังคมไทย
ถ้าจะ พูดถึงการแก้ไขความไม่เป็นธรรม ต้องให้เห็นก่อนว่า ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยมีอยู่ 3 ส่วน
1.ความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ คือ ปัญหาความยากจน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ต่างกันถึง 13-14 เท่า หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ดิน ชาวนาบอกว่าต่อไปจะไม่มีชาวนาปลูกข้าวให้กินอีกแล้ว โดยพบว่าเกษตรกรประมาณ 1.5 ล้านครอบครัวไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง
2.ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการเมือง สิทธิทางการเมือง ขาดมิติของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การพัฒนาพื้นที่ เช่น กรณีมาบตาพุด 20 ปีของการมีนิคมอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การพัฒนาที่ไม่สมดุล ทำให้การท่องเที่ยวที่ระยอง ที่มาบตาพุด ถูกทำลาย การเกษตรก็ล่มสลาย ทั้ง สวนทุเรียน มังคุด ลางสาด เหลือแต่นิคมอุตสาหกรรม
ปัญหาไม่ได้เป็นเรื่องของไพร่ อำมาตย์ แต่เป็นปัญหาเรื่องของทุนที่เข้ามาครอบงำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะทุนอำนาจใหญ่ๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรี โครงสร้างอำนาจทางการเมืองกลายเป็นเรื่องของการผูกขาดอำนาจกับผลประโยชน์โดย ทุนกับนักการเมือง ที่เราเรียกว่า "กลุ่มอำนาจธุรกิจการเมือง" ซึ่งไม่ใช่แค่ส่วนกลาง แต่ได้ลงไปถึงระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นเรื่องของธุรกิจการเมืองไปแล้ว
3.ความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนที่ด้อยโอกาส เช่น คนพื้นเมือง ชาวชนเขาต่างๆ มอร์แกน ชาวเล ชาวแม่อาย ชาวมอญ คนอพยพจากประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งมีมาแล้วเป็นร้อยๆ ปี แต่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานภาพ หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องคนจนในเมือง สลัม ปัญหาเด็กด้อยโอกาสที่ถูกระบบทุนอุตสาหกรรมเข้าไปละเมิด เป็นต้น
หากเข้าใจความเหลื่อมล้ำใน 3 ส่วนนี้ รัฐบาลต้องดูว่า ความเหลื่อมล้ำทั้ง 3 ส่วนนี้เกิดจากอะไร และเคยได้รับการแก้ไขอย่างไรมาแล้วบ้าง
วันนี้ชาวบ้านต้องการโฉนดชุมชน
เรื่องแรกที่พบมากคือ การบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่เป็นธรรม ว่ากันที่เรื่องง่ายๆ ก่อน ไม่ถึงการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีต้องสั่งการให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความ ศักดิ์สิทธิ์ ให้เป็นจริงมากขึ้น เช่น ในจังหวัดหนึ่งเราพบว่า มีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรม มีการทุจริตให้กับนายทุน นักการเมือง พบมาก เป็นการประกาศที่สาธารณะ ที่ป่า เป็น "ส.ค.บิน" หรือ "ส.ค.ลอย" ขณะที่ประชาชนที่อยู่มานานกลับถูกฟ้อง ถูกคดีบุกรุก กลายเป็นว่าประชาชนที่อยู่พื้นที่ป่าสาธารณะมานานแต่ถึงเวลากรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ไล่ชาวบ้านออกมา ฟ้องคดีแพ่งชาวบ้าน ขณะที่นายทุน นักการเมืองสามารถทำให้ราชการออกเอกสารให้ได้
นั่นหมายความว่า เป็นความไม่เป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมาย มีการทุจริตเกิดขึ้น และตรงนี้เรียกว่า "สองมาตรฐาน"
การทำเรื่องพวกนี้ไม่ยาก แต่ว่ารัฐบาลต้องประกาศว่าจะทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย สั่งการที่ดินจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ในเรื่องของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินว่าถูกต้องหรือไม่ ไม่ว่าที่จ.ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งกรณีเขายายเที่ยงที่กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ที่จริงๆ แล้วชาวบ้านโดนเรื่องแบบนี้เยอะมาก
ปัญหาวันนี้ชาวบ้านต้องการโฉนดชุมชนเพื่อทำให้เกิดการเข้าถึงเรื่องที่ดิน หากต้องการสร้างความเป็นธรรมในเรื่องของเศรษฐกิจ ที่ดิน ถือเป็นปัจจัยการผลิต แค่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงที่ดินได้ เรื่องพวกนี้ไม่ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก็ไม่ต้องยุบสภาด้วย
หนี้สินเกษตรกรทำได้หากรัฐบาลจริงใจ
ส่วนปัญหาหนี้สินเกษตรกรก็พูดกันมาก การจดบัญชีครัวเรือน ขึ้นทะเบียนคนยากจน ขณะนี้เราก็มีอยู่แล้วถามว่าทำต่อได้หรือไม่ อย่าไปใช้โครงการประชานิยม ชุมชนพอเพียง สังคมเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นโครงการต่างๆ เหล่านี้ก็จะทุจริตไปอีก ถามว่าหนี้สินเกษตรกรถ้าคิดกันจริงๆ จะแก้ได้หรือไม่ เจ้าหนี้ของชาวบ้านมีไม่กี่เจ้า เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และหนี้นอกระบบ
ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจแก้ปัญหาตรงนี้ก็แก้ได้ อย่าลืมเราเคยช่วยหนี้สินภาคธุรกิจเมื่อปี 2540 มาแล้ว ส่วนหนี้สินเกษตรกรพูดมานาน เพียงแค่ใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งการไปว่า ให้ ธกส. ธอส. ธนาคารต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้ หรือให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรมาช่วยดูแลตรงนี้ แล้วทำให้มาตรการเหล่านี้เกิดระบบที่ชัดเจนในการที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน เกษตรกรในระดับหนึ่ง ไม่ต้องให้ชาวบ้านชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะหนี้สินเหล่านี้เป็นหนี้สินของรัฐทั้งสิ้น เชื่อว่า ถ้าทำอย่างนี้ได้ปัญหาความยากจนก็จะค่อยๆ หมดไป
สำหรับในความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดขึ้นเพราะบางครั้งเราไม่ยอมรับสถานภาพของชาวบ้าน คนจน หรือคนพื้นเมือง เช่น การไม่ยอมรับสาธารณะบุคคลตามกฎหมาย พบว่า ชนพื้นเมือง ชาวเขา ชาวเผ่าต่างๆ มอร์แกน ชาวเล ต่างมีปัญหาไม่มีบัตรประชาชน ทั้งที่เรามีกฎหมายพ.ร.บ.สัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร ซึ่งสามารถใช้อำนาจของรัฐมนตรีไปออกได้ เพียงแต่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ มีพยานบุคคลที่จะมาชี้ว่าคนนี้อยู่ในประเทศไทยมา 50 ปี 100 ปี เพียงทำแค่นี้ได้ก็จะมีคนที่เป็นคนชนพื้นเมืองที่มีความหลากหลายในทาง วัฒนธรรม การศึกษา วิถีชีวิต จะเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย ซึ่งเหล่านี้เขาจะเข้ามาช่วยประเทศชาติได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ส่งเสริมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิม
หรือเรื่อง “ระบบการศึกษา” ที่แสดงให้เห็นระบบการศึกษาท้องถิ่น ที่เราต้องให้ความสำคัญกับเขาอทำให้คนอยู่ในพื้นที่ คนพื้นเมือง คนอีสาน คน3 จังหวัดชายแดนใต้ แทนที่จะเน้นระบบการศึกษาจากส่วนกลางที่มุ่งทำให้คนเป็นแพทย์ วิศวกร ก็ต้องทำให้การศึกษาสอดคล้องกับพื้นที่
เร่งจูนคลื่นวิทยุชุมชนให้เป็นของชุมชนจริงๆ
เรื่อง “สื่อ” ก็สำคัญในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ที่ต้องแก้ไข มีสื่อภาคประชาชน สื่อวิทยุชุมชน สื่อของสาธารณะ ขณะนี้สื่อวิทยุชุมชนกลายเป็นนักการเมืองธุรกิจ วันนี้ยังไม่ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไปแก้วิทยุชุมชนก่อน ต้องตั้งองค์กรอิสระ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เช่นใน 6 เดือนต้องทำให้เรื่องวิทยุชุมชนเป็นของชุมชนจริงๆ
วันนี้มีเพียง 200 กว่าแห่งที่เป็นวิทยุของชุมชน แต่อีก 5,000-6,000 แห่งกลายเป็นวิทยุของนักการเมืองหรือรัฐวิสาหกิจ ปัญหานี้แก้ได้โดยอำนาจฝ่ายบริหาร ใช้องค์กรอิสระ สื่อสาธารณะช่อง 11 ช่อง 9 และฟรีทีวี ส่วนหนึ่งที่กินสัมปทานของรัฐสามารถทำตรงนี้ให้เป็นระบบได้ และยังมีระบบโทรทัศน์ดาวเทียมก็สามารถสร้างระบบในการให้ข้อมูลข่าวสารได้ เนื่องจากวิทยุชุมชนขณะนี้มีการปลุกระดม ยั่วยุ
ดังนั้นถ้าเราทำตัวเนื้อหาสาระของสื่อให้ดีๆ ต้องทำให้สื่อสร้างลักษณะให้คนรู้เท่าทัน มีอิสระ และขณะเดียวกันไม่เห็นความแตกต่างของเรื่องความเห็น ไม่ต้องฟังว่าข้อมูลไหนจริงหรือไม่จริง เนื่องจากขณะนี้คือใครอยู่ข้างไหนก็ฟังแต่ข้อมูลข้างนั้น ซึ่งก็จะทะเลาะกัน แต่ถ้าสื่อมีการที่บอกความจริง สามารถวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลมาเสนอได้ คนก็จะตัดสินเอง วิเคราะห์ได้ ประชาชนก็จะตื่นตัวมากขึ้น
นอกจาก นี้ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ยังมีทั้งสุขภาพ ขณะนี้เรื่องสุขภาพก็เริ่มดีขึ้นแล้ว แต่เรื่องสื่อและการศึกษายังไม่ดี ส่วนเรื่องสวัสดิการประชาชนก็เริ่มดีขึ้นแต่ยังดีไม่มาก เพราะฉะนั้นเราต้องปรับเรื่องของความไม่เป็นธรรมตรงนี้ให้กับประชาชน
กระจายอำนาจ “ให้ชาวบ้านได้ร่วมคิด-ทำ”
นโยบายอะไรที่เป็นฐานประชาชนต้องให้ประชาชนได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินนโยบาย และได้ร่วมทำด้วย ซึ่งก็คือหลักการกระจายอำนาจ ถ้าทำอย่างนี้ได้ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็จะลดลง และงบประมาณต่างๆ แทนที่จะเป็นงบส่วนกลางของรัฐบาลก็ต้องกระจายไปสู่องค์กรท้องถิ่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วม
ความไม่เป็นธรรมทางการเมืองต้องยอมรับในหลักสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วม หากรัฐบาลมีเจตน์จำนงในการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการกำหนดนโยบาย สาธารณะแล้ว ตรงนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการสวมกันพอดี
ขณะนี้เรามีโครงสร้างสภาองค์กรชุมชน มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพิ่มมาทำงานตรงนี้มากขึ้น มีอบต. เราอย่าเพิ่งไปบอกว่าพวกนี้ทุจริต เพราะส่วนกลางเองก็ทุจริตมากมาย ความไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ จะต้องสร้างสิ่งตรงนี้ให้ดี ทำให้เห็นถึงความเป็นจริงในเรื่องของการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น และสร้างกลไกหลักสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน
สิทธิ คือ การสร้างความเป็นธรรมในสังคม เมื่อมีอะไรที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นการแก้ไขเชิงโครงสร้าง อะไรที่เป็นสิทธิ จะพูดถึงนโยบาย นำไปสู่กฎหมายที่นำไปแก้ไขได้อย่างถาวร เช่น มีสิทธิเรื่องที่ดิน สิทธิพิเศษ การกระจาย การปฏิรูปที่ดิน ให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้ หรือสิทธิทางทะเล ไม่ใช่มุ่งแค่การประมงในแง่ของธุรกิจ แต่เป็นในแง่ของประมงพื้นบ้าน ต้องมีนโยบายตรงนี้ด้วย เป็นต้น
ถ้าทำตรงนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องทำให้เห็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง โดยมองประเด็นอย่างมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นในเชิงอำนาจ เป็นการมีส่วนร่วมในการจัดการจากชาวบ้านทุกคน อาจจะมีหลายประเด็นที่หลากหลายแต่ละเดือน ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเห็นว่า มีกี่ประเด็น ก็จะเกิดภาพเห็นถึงการปฏิรูปถึงความไม่เป็นธรรม จะเกิดโรดแมปว่า 6 เดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง และใน 1 ปีจะทำอะไรบ้าง
เรื่องยุบสภานั้นก็อยู่ในอีกประเด็นหนึ่ง ผมคิดว่าถ้าพร้อมเมื่อไรค่อยมีการมายุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ และการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นประเด็นการแก้ไขโครงสร้างอำนาจของรัฐ คนพูดถึงแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งขณะนี้เราต้องข้ามรัฐธรรมนูญ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพราะมันเป็นรัฐธรรมนูญของรัฐ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ของประชาชน ตอนนี้ต้องเปลี่ยนไปแล้วว่า อย่าไปคิดที่ตัวรัฐธรรมนูญ ต้องคิดถึงนโยบายที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาของประชาชน
ปัญหา อยู่ที่ว่าประชาชนที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็อยากได้เรียกร้องนโยบายของสังคม กฎหมายและการทำงานของกลไกรัฐที่ต้องเสริมสร้างและบังคับใช้อย่างเป็นธรรม ขณะนี้ภาคนักการเมือง หน่วยงานราชการต่างๆพร้อมหรือยังที่จะมาทำงานแต่ละเดือน อำนาจรัฐพร้อมหรือยังที่จะทำงานให้กับประชาชน
แนะรัฐเปิดประตูให้ “เจ้าของบ้าน” ได้ปฏิรูปประเทศ
ส่วนการปฏิรูปใหญ่ทั้งประเทศนั้น ก็ไม่ใช่การพูดคุยกันแค่ปาก แค่การประชุม หรือแค่สถานการณ์ต่างๆ แต่อยู่ที่ว่าการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รัฐบาลจะทำให้หรือไม่ วันนี้ประชาชนพร้อมแล้วจึงมาชุมนุม เนื่องจากเขาได้รับความไม่เป็นธรรมมาตลอด จึงถือเป็นโอกาส แต่ตอนนี้รัฐบาลยังแก่งแย่งผลประโยชน์อยู่มาก ซึ่งถ้าสนใจตรงนี้จริงๆ คิดว่ามันจะทำให้พร้อมได้และต้องเปิดประตูเข้าไปรับประชาชนด้วย ขณะเดียวกันคนที่เฝ้าบ้านอย่างรัฐบาลก็ต้องเปิดรับประชาชนเจ้าของบ้านให้ เข้าไปได้ด้วย
ถ้าคนที่เราฝากให้ดูแลบ้านไม่มาเปิดประตูรับ เจ้าของบ้านก็จะเข้าไปไม่ได้ ต้องทำให้พร้อม ทั้งการใช้อำนาจการสั่งการ การบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดกฎหมาย นโยบาย ถ้าทำได้ ก็คือ การปฏิรูปประเทศไทย
การปฏิรูปครั้งนี้ไม่ได้ต้องการแค่สร้างความพอใจเรื่องคำตอบของนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปครั้งนี้ไม่ใช่การจัดเวทีประชาชนแค่ 1,000 – 2,000 คน การปฏิรูปครั้งนี้ต้องทำให้เกิดแนวทางการแก้ไขในทุกประเด็น ทุกกลุ่ม ทุกปัญหา และทุกพื้นที
ผลักดัน “ปฏิรูปประเทศไทย” เป็นสัญญาประชาคม ทุกรัฐบาลต้องทำ
ประเทศไทยมีปัญหาเยอะ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำในการทำให้อำนาจรัฐทุกอำนาจเข้ามาให้อำนาจเป็นของประชาชนมาแก้ไข ตรงนี้จึงจะเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องใช้เวลาแก้ ต้องทำให้เห็นเป็นสัญญาประชาคม ว่ารัฐบาลใดก็ตามที่เข้ามาก็ต้องทำเรื่องนี้
คณะกรรมการของรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะกี่ปีของรัฐบาลใด สมัชชาประชาชนตรงนี้ก็ยังต้องทำเช่นนี้ต่อไปถึงจะมีการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นจริง และต้องมีคนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการต่อเชื่อมโยงกับภาคสังคมได้ ไม่ใช่ว่ามาจากต่างภาคสังคม และเข้ามาควบคุมหรือมาใช้คนในภาคสังคมเท่านั้น คนที่เข้ามาต้องชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขด้วย
ประชาชนวันนี้ไม่ใช่ผู้จัดเสนอปัญหาเท่านั้น แต่ต้องเสนอแนวทางแก้ไขมาด้วย ภาคกรรมการ ผู้นำ ก็ต้องมีความรอบรู้ ทั้งในเชิงดำเนินการด้วยว่าจะเอาข้อเสนอนั้นไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร ตรงไหนได้บ้าง ต้องรู้ด้วยว่าจะนำส่วนราชการใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเรื่อง ต่างๆ มาร่วมนำเสนอและแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล
ดังนั้นคนที่จะมาทำเรื่องนี้ต้องเป็นที่ยอมรับ ต้องรู้จักเครือข่ายการทำงาน ต้องมีประสบการณ์การบริหาร มีประสบการณ์ในกลไกอำนาจรัฐและยอมรับในการทำงานของเครือภาคประชาสังคมด้วย ว่าเป็นส่วนที่จะมาช่วยกันในเรื่องการต่อเนื่องประเทศไทยได้อย่างสำเร็จ
การทำงานตรงนี้เป็นเรื่องทุกสี ทุกกลุ่ม เรื่องทั้งหมดต้องก้าวข้ามเรื่อง “สี” ไปให้ได้ อย่าว่า นี่เป็นเรื่องของสีเหลือง สีแดง ใครก็ได้ที่มีประสบการณ์ เพราะสังคมไทยเจ็บปวดจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเรื่องสีมามากแล้ว จึงทำให้เกิดปัญหามาก ผมคิดว่าคนไทยยังมีคนที่มีความสามารถอีกเยอะ อยู่ที่ว่า จะยอมรับ หรือไม่ ต้องเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้น คนไทยมีคนดีและเก่ง สำคัญว่า อย่าไปป้ายสี ไม่เช่นนั้น เราจะไปติดหล่มของสี ติดเรื่องความขัดแย้ง
“สร้างสิทธิ – สร้างความเป็นธรรม”
ถ้าต้องการไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ฯลฯ ต้องเริ่มจากการสร้างสิทธิ คือ การสร้างความเป็นธรรมในสังคม
สิทธิเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เป็นเรื่องของอำนาจรัฐ แต่รัฐต้องมีหน้าที่มาคุ้มครอง และสิทธินั้นไม่ใช่การเรียกร้องอย่างเดียว ต้องลุกขึ้นมาทำด้วย เพราะทุกอย่าง สิทธินั้นได้มาจากการต่อสู้ แต่ไม่ใช่การลุกขึ้นมาโวยวาย หากเป็นการลุกขึ้นมาทำในเรื่องการพัฒนาสิทธิของตน ต้องสร้างสิทธิที่เป็นจริง ซึ่งการชุมนุมเรียกร้องก็เป็นกระบวนการหนึ่ง แต่ยังมีเรื่องของการทำงานในพื้นที่ การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองด้วย เมื่อเรียกร้องแล้วก็ต้องร่วมทำ
มีปัญหาเรียกร้องได้ เป็นสิทธิของประชาชน แต่ต้องทำโดยสันติและปราศจากอาวุธ หากการชุมนุมทางการเมืองนั้นล้ำเส้นตรงนี้ไปก็จะเกิดปัญหาขึ้น สังคมก็จะเรียนรู้ว่าอะไรเป็นการชุมนุมที่เป็นสันติวิธี ไม่ใช่การชุมนุมที่มีการเอาความรุนแรงเป็นเครื่องมือ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องคิด