สัมภาษณ์ ::: ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช "มหาวิทยาลัยไทยต้องเปลี่ยนลุคส์ใหม่เพื่อสังคม สร้างจิตสำนึกใหม่การศึกษา"
แม้วันนี้ประเทศยังก้าวออกไปจากภาวะวิกฤตไม่ได้ แต่คนไทยจำนวนไม่น้อย รู้สึกโล่งอก รู้สึกผ่อนคลายจากความกดดัน เมื่อนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศกระบวนการปรองดอง 5 ข้อ สอดคล้องกับภาคประชาสังคมก็เริ่มขับเคลื่อนเอ่ยถามขึ้นถึงวาระ ‘การปฏิรูปประเทศไทย’ ร่วมกัน หวังดึงเชื้อไฟที่กำลังเผาบ้านผลาญเมืองอยู่ขณะนี้ให้ทุเลาเบาบางลงได้บ้าง
คำถามอีกด้านหนึ่งสำหรับสังคมเช่นกันว่า การศึกษาจะช่วยพาชาติออกจากวิกฤตความวุ่นวายในบ้านเมืองขณะนี้ได้อย่างไร หรือปฏิรูปประเทศ ต้องทำควบคู่กับปฏิรูปการศึกษารอบที่สองที่เพิ่งเริ่มต้นขับเคลื่อนไปได้ไม่ไกล ต้องปฏิรูปคน ปฏิรูปทัศนคติ-ค่านิยม-จิตสำนึกใหม่ ไปพร้อมกันด้วยหรือไม่
ทีมข่าวศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยได้ มีโอกาสนั่งสนทนากับเจ้าของแนวคิดการจัดการความรู้เครือข่ายครูเพื่อศิษย์ หรือขบวนการครูกู้แผ่นดิน "ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช" นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม และประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา....
...ปัญหา บ้านเราชอบคิดมองแบบแยกส่วน การแก้ปัญหามหาวิทยาลัยต้องลงไปทำงานกับสังคม 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัยต้องช่วยกัน มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานที่ลอยตัวจากสังคม ... มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับตัวเอง ไม่ใช่คิดว่า ฉันรู้ ฉันฉลาด ฉันมาช่วยคุณ ฉันเป็นเทวดามาโปรด อย่างนี้ก็ ไม่ใช...
- ฉายภาพการศึกษาไทย ‘อุดมศึกษาเชิงพาณิชย์’
การศึกษาต้องเปิดกว้างให้มากเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ มหาวิทยาลัยไทยมีเยอะมาก มีสาขาเยอะมาก ตามพ.ร.บ.การศึกษาได้ให้การดูแลอุดมศึกษาอยู่ภายใต้สภามหาวิทยาลัยเองสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กับคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ดูแลเพียงนโยบายและระบบ พอมองภาพใหญ่เช่นนี้แล้วจะเห็นว่า เราประสบความสำเร็จในการเปิดกว้างในการจัดการและดูแลกันเองของสถาบันแต่ละแห่ง
แต่สิ่งที่ตามมาของการเปิดกว้างนี้ทำให้เกิดตลาดทางการศึกษา เป็นอุดมศึกษาเชิงพาณิชย์ เกิดวิธีคิด การทำมาหากินในรูปแบบธุรกิจอุดมศึกษาขึ้น โดยการเกิดขึ้นนี้ชัดเมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนหนึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญของคุณภาพการศึกษาเท่าใดนัก
จะเห็นว่าอุดมศึกษาของไทยเราก็อยู่ในสภาพแบบนี้ ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของอุดมศึกษาไทย และตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่สกอ.กับกกอ. จึงมีหน้าที่ทำให้ส่วนที่ไม่ดีเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยที่สุด จะให้ถึงขั้นไม่มีเลยก็ทำไม่ได้เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมเปิด สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คือ เราดูแลการบริหารจัดการสถาบันต่างๆ ที่เราให้อิสระในการทำงานไม่เป็น
เราต้องทำให้คุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนคนทั้งประเทศอยู่ดีกินดีขึ้น ด้วยการยกระดับคุณภาพศึกษา เมื่อเราเทียบกับ 50 ปีที่แล้วจะพบว่าความเป็นอยู่ดีขึ้นมากในแต่แง่ของความสะดวกสบาย
- ทางแก้...เมื่อมหาวิทยาลัยกลายเป็นธุรกิจการศึกษา
สำหรับเรื่องการกำกับดูแลอุดมศึกษาไทย ภายใต้การทำงานของสกอ.และกกอ.ที่ผ่านมานั้น ส่วนตัวผมมองว่า เราใช้เพียงการออกกฎกติกาในการกำกับดูแล ซึ่งก็ดี แต่ควรจะมีเรื่องของการสร้างแนวร่วมในสังคม ร่วมรับผิดชอบในสังคมด้วย ต้องมีการสื่อสารกับสังคม มีประเด็นของการคุ้มครองผู้บริโภค (ในการศึกษา) เพราะเมื่ออุดมศึกษากลายเป็นธุรกิจ สถาบันการศึกษาเหล่านั้นต้องคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
เนื่องจากเป็นบริการทางการศึกษา และสถาบันต่างๆ เป็นผู้ให้บริการ ดังนั้นจึงต้องทำให้ประชาชนฉลาดและรู้เท่าทันเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยตนเอง ต้องทำให้เกิดลักษณะของการคุ้มครองสิทธิด้วยตนเอง (Self regulation) สถาบันการศึกษาต้องให้ข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลจริงๆ ว่าหลักสูตรที่เปิดรับนักศึกษานั้นผ่านหรือไม่ อย่างไร ได้รับการรับรองหลักสูตรแล้วหรือไม่ ต้องทำทุกอย่างให้อยู่ในที่แจ้ง ต้องไม่ปล่อยทำให้เกิด "มุมมืด" ต้องให้คนช่วยกันทำให้มันสว่าง ซึ่งนี่คือภาพใหญ่ของการทำให้การอุดมศึกษาไทยมีคุณภาพ
- มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศทำหน้าที่สมบทบาทแล้วหรือไม่ ?
มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ขณะนี้ผมไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า (หัวเราะ) แล้วเรื่องงบวิจัยก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ อย่างไร ทั้ง 9 แห่ง (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.มหิดล ม.เกษตรศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และม.เทคโนโลยีสุรนารี) กว่า 9 พันล้านบาท เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้ปี 2553 เป็นลักษณะคอตัด ถูกลดลงไปมาก มหาวิทยาลัยอาจจะเข้าเนื้อตัวเองด้วยในการลงทุนวิจัย
จากที่เคยรับฟังมหาวิทยาลัยวิจัยทั้งนี้ 3 แห่ง ได้แก่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งม.สงขลานครินทร์นั้นได้ลงทุนควักกระเป๋าเอง 300 ล้านบาท ซึ่งผมมองว่ากลไกของการมีมหาวิทยาลัยวิจัยนั้นจะเป็นตัวผลักดันให้มหาวิทยาลัยคิดใหญ่ และคิดไกลได้
เรื่องมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาตินั้นแม้เราจะเริ่มทำช้า แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ ต้องให้มหาวิทยาลัยสร้างนวัตกรรมความรู้ขึ้น ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่ทำเรื่องนี้ไปแล้วและได้ดี เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ต้องส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยคิดให้ใหญ่ไกลและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เราต้องคิดด้วยว่า เราจะใส่เครื่องมือและทรัพยากรในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวิจัยเหล่านั้นได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องคิดด้วย ไม่ใช่เพียงมุ่งเน้นที่ตัวเนื้อหาสาระอย่างเดียว
หากถ้าถามผมโดยส่วนตัวว่าจะให้ทำอย่างไรนั้นก็ต้องบอกว่ายังไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าก็มีวิธีที่จะทำให้เกิดผลต่อเนื่องได้เยอะ โดยหลักการเมื่อมหาวิทยาลัยคิดเองได้แล้ว มีวิธีการหรือไม่ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีความคิดการใหญ่ที่ดีพร้อมแต่ไม่ได้โอกาสเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยจะได้คิดและทำด้วย
- สถาบันการศึกษาจะช่วยค้ำจุนสังคมไทยในขณะนี้ได้อย่างไร ?
การศึกษาเราไม่ได้เติบโตมากับการยึดโยงกับสังคมไทย จุดนี้ คือ เรื่องสำคัญมาก วัฒนธรรมของอุดมศึกษาไทยเป็นวัฒนธรรมที่ลอยตัวออกจากสังคม ตัวยึดโยงยึดเพียงกับตัววิชาการ ยึดโยงอยู่กับต่างประเทศที่แต่ละคนไปเรียนมา เราไม่ได้ยึดโยงกับสังคมไทย
ขณะที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเติบโตมาจากกลไกการทำงานร่วมกับสังคม เพราะทำงานร่วมกับสังคมจึงเติบโตทางวิชาการ จึงมีผลงานวิจัย จึงสามารถคิดสิ่งต่างๆ ได้ จึงเจริญก้าวหน้า ได้รับทุนบริจาคต่างๆ เข้ามา เหมือนกับว่าการยกระดับทางสังคม ความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั้งหลายกับมหาวิทยาลัยนั้นไปด้วยกัน
ของไทยเรานั้นไม่ใช่ มหาวิทยาลัยไม่ได้โตจากอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เป็นลักษณะไปเรียนจากต่างประเทศแล้วนำมาสอนลูกศิษย์ งานวิจัยก็วิจัยเพื่อส่งไปเรียนเมืองนอก ไม่ได้วิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพสังคมชีวิตทุกอย่างของบ้านเมืองเรานี่คือวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยไทย ภาษาวิชาการเรียกว่า ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ไม่ค่อยมีการเชื่อมโยงกับสังคมจริงๆ
ผมคิดว่าถ้าจะให้ง่ายนั้น เราต้องใส่ทรัพยากรลงไป เช่น ต่างประเทศที่เขาใส่ทรัพยากรลงไปในความคิดริเริ่มใหม่ๆ ตัวอย่างกรณีของสกว.เมื่อปี 2535 ที่ตั้งสกว.ขึ้นเพื่อให้มีกองทุนสำหรับงานวิจัย ทำให้เกิดการบริหารจัดการแบบใหม่ขึ้น เมื่อเกิดความริเริ่มใหม่ๆ เกิดการบริหารจัดการใหม่ ก็ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในงานวิจัย
เมื่อต้องการให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมกับสังคม ดังนั้นก็ต้องใส่ความคิดริเริ่มใหม่ๆ เข้าไป ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ทำงานร่วมกับสังคมจริงๆ อย่างดีๆ นั้นก็มีอยู่บ้างแล้ว เพียงแต่งบประมาณที่จะเข้าไปสนับสนุนนั้นกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ผมลองคิดว่าถ้ากระจายงบวิจัยให้มหาวิทยาลัยปีละ 50 ล้านบาทแล้วก็สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยก็จะเติบโตร่วมกับสังคม จะเติบโตจากประสบการณ์ของเราเอง เนื่องจากอุดมศึกษาจะเติบโตอยู่อย่างโดดๆ คนเดียวไม่ได้ ต้องมีการจัดการความรู้ นำของดีๆ ที่มีอยู่แล้วนำมาแบ่งปัน ทำความเข้าใจร่วมกัน
เราเรียนมาจากเมืองนอกเราไม่เคยสร้างความรู้ ความเข้าใจจากสังคม เราไม่เคยเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วง 50 ปีหรือ 100 ปีที่ผ่านมาอย่างเป็นระบบที่สามารถมีคำอธิบายได้อย่างเป็นทางการนัก
- จะจัดการความรู้ได้แบบใด ?
ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เคยเสนอโมเดลการจัดการความรู้ที่ชื่อว่า ‘โมเดลปลาทู’ ไว้ว่าการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ต้องประกอบตัว 3 ส่วน 1.หัวปลา (Knowledge Vision) คือ ต้องการความรู้เรื่องอะไร เพื่อไปบรรลุเป้าหมายอะไร และในการจะบรรลุเป้าหมายนั้นรู้หรือไม่ว่าต้องใช้ความรู้เรื่องใดบ้าง 2.ตัวปลา (Knowledge Sharing) คือ การสร้างกลุ่มเพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันให้สนองต่อทิศทางของหัวปลาให้ได้ เป็นตัวอย่างการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อยกระดับความรู้ ให้บรรลุสู่เป้าหมายของหัวปลาให้ได้ และ 3.หางปลา (Knowledge Asset) คือ ตัวความรู้ ที่สามารถให้ผู้อื่นมาค้นคว้า ดูได้ ด้วยการบันทึกความรู้เรื่องราวของการทำงานนั้นๆ ที่ไปสู่ความสำเร็จ
ตรงส่วนนี้คนมักเข้าใจผิด ความรู้นี้ไม่ใช่ทฤษฎีเหมือนในหนังสือ หากเป็นความรู้เชิงปฏิบัติ เพราะอย่าลืมว่าหัวปลาคือการแบ่งปันวิธีการ ความรู้ปฏิบัติการ ไม่ใช่เพียงความรู้ตัวตำรา
ดังนั้นการจัดการความรู้ คือ การจัดการตัวความรู้ที่เป็นการปฏิบัติซึ่งอยู่คน เพราะฉะนั้นการจัดการความรู้ตัวพระเอกนางเอกหลักจริงๆ ก็คือ คน คนที่ตั้งใจดี ทำงานดี เกิดผลสำเร็จ ซึ่งผลสำเร็จนั้นอาจจะธรรมดาหรือดีกว่าธรรมดานิดหน่อยก็ตาม จากนั้นก็นำมาแบ่งปันกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยที่คนทั่วไปก็ถูกฝังหัวมาว่าการจัดการความรู้ คือ การจัดการความรู้ในทฤษฎีหรือตำรา ซึ่งอย่าลืมว่าความรู้ในการจัดการความรู้ คือ ความรู้ปฏิบัติ ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติแล้วนำความรู้ในทฤษฎีมาอธิบายประกอบย้ำ เพื่อยกระดับความรู้จริงๆ ให้ความรู้ปฏิบัติสามารถอธิบายได้
- บทบาทที่มหาวิทยาลัยไทยต้องเล่นต่อจากนี้
ปัญหาบ้านเราชอบคิดมองแบบแยกส่วน การแก้ปัญหามหาวิทยาลัยต้องลงไปทำงานกับสังคม 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัยต้องช่วยกัน มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานที่ลอยตัวจากสังคม ต้องมีระบบตรวจดูว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเมื่อไม่ได้อยู่ในช่วงชั่วโมงการสอนแล้วได้ไปทำอะไรบ้าง ในการเรียนรู้ การทำงาน ได้ไปนำความรู้ ความเจริญในการปฏิบัติการอย่างไรบ้างมาสู่มหาวิทยาลัย และมีการจัดการความรู้เหล่านั้นอย่างไรบ้างให้แก่สังคมด้วย เราต้องสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมา ต้องมีวิธีการที่ทำให้มหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้องกับสังคม
เช่น กรณีของมาบตาพุดมหาวิทยาลัยสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้เยอะมาก ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่ามหาวิทยาลัยนั้นมองตัวเองอย่างไร แล้วคนทั่วไปมองมหาวิทยาลัยอย่างไร หรือมหาวิทยาลัยมองเพียงว่ามหาวิทยาลัยเป็นคุณ ไปช่วย ไปสอน นั้นก็คงคิดผิด ถ้ายังมีท่าทีเช่นนี้ไม่มีวันจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำประโยชน์ให้สังคมได้ ยังใช้วิธีการต่อท่อมาจากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เอาความรู้เขามานั้นผิด ซึ่งต้องเปลี่ยนใจให้ได้ ว่าคุณสร้างตัวมาจากแผ่นดินนี้ แล้วยกระดับความรู้ขึ้นมา
เราไม่ต้องไปทำวิจัยถึงโลกพระจันทร์ แต่เราควรทำวิจัยในลักษณะ Knowledge Translation ต้องทำงานวิจัยเพื่อนำเอาความรู้มาใช้ มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพบ้านเมืองของเรา แค่นี้ก็ทำให้เราฉลาดขึ้นเยอะแล้ว สามารถเขียนบทความตีพิมพ์อะไรได้เยอะแยะ
ดังนั้นต้องจัดการความรู้ที่มีอยู่แล้ว ต้องไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยยังไม่ใช่ มหาวิทยาลัยเพียงสอนหนังสือ แค่ให้ปริญญาบัตร ถ้ามหาวิทยาลัยยังคิดอย่างนี้ก็ไม่มีวันจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้
พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มหาวิทยาลัยของเรายังไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราแยกตัว เราไม่สร้างตัวจากการทำหน้าที่ร่วมกันกับสังคม ทำหน้าที่ร่วมกันกับสังคมแปลว่า ไปทำงานร่วมเคียงบาเคียงไหล่อย่างเท่าเทียม เคารพคนอื่น เคารพหน่วยราชการ เคารพชาวบ้าน เคารพคนในท้องถิ่น เคารพคนในอุตสาหกรรม ว่า เขามีความรู้ส่วนหนึ่ง แล้วเราก็มีความรู้ส่วนหนึ่ง จากนั้นก็มาทำงานด้วยกัน ช่วยกันยกระดับความรู้ของสังคมขึ้น มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับตัวเอง ไม่ใช่คิดว่า ฉันรู้ ฉันฉลาด ฉันมาช่วยคุณ ฉันเป็นเทวดามาโปรด อย่างนี้ก็ ไม่ใช่
- ระบบอุดมศึกษาต้องปรับวิธีคิด
การปฏิรูปการศึกษารอบนี้ก็ไม่พ้นแบบเดิม กี่รอบก็ไม่สำเร็จ ระบบอุดมศึกษา ระบบการศึกษาจะพาชาติออกจากวิกฤต ต้องปรับกันใหม่ ต้องใช้วิธีคิดใหม่ คิดเป็นส่วนหนึ่ง ร่วมทำงานกับสังคม วันนี้เรายังคิดแบบว่า ครูนั้นจะสามารถก้าวหน้าประสบความสำเร็จได้ ต้องทิ้งลูกศิษย์เพื่อไปเรียนต่อ ทำคุณวุฒิ หรือสร้างผลงานวิชาการ ซึ่งการมุ่งฝึกอบรมครูนั้นเป็นมิฉาทิฐิ ครูต้องเป็นบุคคลเรียนรู้ วันนี้การปฏิรูปการศึกษารอบสองก็ยังไม่จับที่โครงสร้าง จับที่ตัวครูที่เน้นอบรมครู ครูต้องเป็นบุคคลเรียนรู้มากกว่าแค่ฝึกอบรม การฝึกอบรมครูควรมีแค่ 20-30% ของชีวิตครู ที่เหลือทั้งหมดนั้นต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อมาสอนเด็ก
ครูต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศส่งเสริมชักจูงเด็กนักเรียนให้เรียนรู้ แต่วันนี้ครูของเรายังเรียนรู้ไม่เป็น โลกในอนาคตการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญเพราะความรู้ต่างๆ จะมีมากขึ้นจนตามไม่ทัน ดังนั้นต้องเรียนรู้เป็น คนเราจะต้องมีทักษะการเรียนรู้ มีฉันทะในการเรียนรู้ ในวันนี้ครูยังไม่มีทั้งสองอย่าง ครูของเราไม่ได้ถูกฝึกตรงนี้
ครูต้องยึดหลักง่ายๆ ทำเรื่องใดก็ให้มีความสุขจากเรื่องนั้น ยกระดับความรู้ตนเองจากเรื่องนั้น มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน คนไทยก็ด้วย เราต้องยกระดับตัวเองให้เก่งขึ้นจากการทำหน้าที่ของเราเอง ต้องลดอีโก้ลงเพื่อเรียนรู้กับสังคม และวันนี้ถ้าเราอยากให้การศึกษาดีขึ้นต้องทำให้ทรัพยากรการศึกษาถูกใส่เข้าไปที่ตัวเด็กให้มากที่สุด