สัมภาษณ์:::::“ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” ภารกิจสุดหินขับเคลื่อนงานสร้างจิตสำนึกใหม่ให้คนไทย
ในยามที่สังคมไทยถูกชำแหละให้ขาดเป็นส่วนๆ บ้านเมืองประสบวิกฤติความขัดแย้ง หลายคนหลายฝ่ายต่างพยายามช่วยกันหาทางออกร่วมกันให้กับประเทศอย่างอุตสาหะ หนึ่งในนั้นมีชื่อ “ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์” ทันตแพทย์หนุ่ม เพิ่งเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้จัดการสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครบ 1เดือน วันนี้ เปิดโอกาสทีมข่าวศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยสัมภาษณ์พิเศษ เพื่อตอบโจทย์วาระประเทศไทยต้องมาพูดและทำเรื่อง “สร้างจิตสำนึกใหม่”
บทสนทนาจากนี้อาจทำให้คนไทยคิดได้มากขึ้นว่า เราจะมีส่วนร่วมพาชาติออกจากวิกฤติได้อย่างไร
“จิตสำนึกใหม่ของคนไทย” ต้องเป็นอย่างไร ?
จิตสำนึกใหม่ของคนไทย 1.ต้องเป็นจิตใหญ่ จิตสำนึกที่ต้องเห็นความเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือระดับใดก็แล้วแต่ สำคัญมาก คุณเชื่อหรือไม่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้ ตรงนี้จะเป็นส่วนใกล้หรือไกลก็ว่ากัน คุณจะเชื่อหรือไม่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน คุณเชื่อหรือไม่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะถ้าคนเห็นความเป็นธรรมชาตินี้ได้ก็จะไม่ทำร้ายอะไรเลย ต้องทำให้คนเห็นตรงนี้ก่อน
2.เมื่อคนมองเห็นความเป็นธรรมชาติแล้วก็จะต้องมีจิตที่เป็นอิสระ จิตที่เป็นอิสระทำให้ไม่อยากได้ อยากมีมาก ไม่อยากได้รถเก๋ง คนแบบนี้จะมีความเป็นอิสระที่จะเลือกที่จะเป็น อาจจะไม่ต้องอยู่ในกระแสหลักก็ได้ แค่อยากเป็นคนส่วนหนึ่งในชุมชน อยากจะเป็นอะไรก็เป็นได้หมดเลย ซึ่งจะนำมาสู่ 3. จิตที่มีพลัง คือ จิตที่สามารถก้าวพ้นอุปสรรคทั้งหมดได้ สามารถทำได้หมดทุกอย่าง ก้าวข้ามพ้นอุปสรรคได้
ผมคิดว่าตรงนี้ คือ หัวใจของการสร้างจิตสำนึกใหม่ และตัวอย่างในลักษณะนี้มีเยอะมาก ผมนิยามจิตสำนึกใหม่ไว้แบบนี้ แต่ผมจะไม่ตอบว่าจิตสำนึกใหม่ คือ จิตที่เป็นส่วนรวม ไม่ตอบอย่างนั้น แต่ขอมองเป็นซีรี่ย์ไว้แบบนี้
“ถ้าคนไทยมีจิตสำนึกใหม่แบบนี้ได้มากพอ ประเทศจะเปลี่ยน มีพลังมหาศาล”
เหตุผลใหญ่ต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ให้คนไทย
ผมคิดว่าปัญหาหลักของคนไทยตอนนี้อยู่ที่วิธีคิด คนมีการแบ่งแยกกันนั้นก็เพราะว่าเขาไม่ได้มองว่าสังคมที่ดีที่อยู่ร่วมกันนั้นทำได้ เขาเชื่อว่าสังคมต้องเป็นขาวหรือดำ ต้องมีสีเหลืองหรือแดง ผมว่าตรงนี้คือหัวใจ ถ้าคนมีจิตสำนึกใหม่ ก็อาจจะคิดต่างได้ อาจจะชอบใครหรือไม่ชอบใคร จะเชื่อวิธีไหนหรือไม่เชื่อวิธีไหนก็ตาม
“ถ้ามีจิตที่ใหญ่แล้วก็จะไม่มีความขัดแย้ง เราจะร่วมกันพัฒนาประเทศได้ ผมเชื่อว่า นี่คือพื้นฐานและความสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้คนไทย”
วิธีการที่จะปรับจิตสำนึกคนไทย
กระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่นั้น เรา (สสส.) จะไปบอกว่าต้องทำเรื่องที่ 1 2 3 นั้นไม่ใช่ เรามองเรื่องกระบวนการสร้างจิตสำนึก เรามองว่าจุดที่ต้องเปลี่ยนจิตสำนึกคืออะไร ก็คือหน่วยทุกหน่วยในสังคม ตั้งแต่ระดับประเทศ ไล่มาระดับเมือง ตำบล จนถึงประชาชน ทุกคนต้องเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนวิธีการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคมใหม่
ฉะนั้น กระบวนการจิตสำนึกเรามีหน้าที่แค่กระตุ้นให้ทุกหน่วยต่างเชื่อในการเปลี่ยนแปลง และทำให้เข้ามาร่วมเป็นตัวเปลี่ยนด้วย สสส.จะทำเพียงหน้าที่ “กระตุ้น” จนปฏิบัติการทางสังคมเกิดขึ้น สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจากทุกหน่วยของสังคมเอง สสส.เพียงกระตุ้นให้เกิดเปลี่ยนจิตสำนึกจากกระบวนการที่ทุกหน่วยทำขึ้นเอง ไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ
กระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้คนไทยไม่อาจจะเข้าไปแก้จิตสำนึกคนไทยได้เป็นเรื่องๆ จะไปแก้ให้คิดถึงส่วนรวม หรืออะไรเป็นเรื่องๆ คงทำไม่ได้ แต่กระบวนการของเราจะเข้าไปในลักษณะ “ปฏิบัติการทางสังคม” ที่ทุกคนทำได้ ใช้สื่อกระตุ้นให้คนมีความคิด มีความเชื่อ คิดที่จะเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงได้ผ่านสื่อ หลังจากนั้นก็จะมีเครือข่ายที่คนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กร ชุมชน ในทุกระดับก็จะสามารถเข้าร่วมได้
ตัวอย่างปฏิบัติการทางสังคม เช่น ปฏิบัติการเชี่ยงใหม่เอี่ยม ซึ่งเป็นภารกิจรักษ์เชียงใหม่ที่เริ่มจากการกระตุ้นให้คนในพื้นที่ตระหนักในการร่วมกันรักษาเมืองเชียงใหม่ โดยได้นำปัญหาในเรื่องของขยะ คุณภาพน้ำ การปลูกต้นไม้ มาเป็นประเด็นในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกใหม่ ผ่านทางสื่อและกิจกรรมต่างๆ ที่ทุกคนสามารทำร่วมกันได้ภายในเวลา 99 วัน (ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-10 พ.ค.นี้)
ส่วนวิธีการในการจะสร้างจิตสำนึกใหม่นั้นจะเป็นอย่างไร กลุ่มต่างๆ เหล่านั้นก็จะร่วมกันกำหนดขึ้นเอง ทางสสส.จะเข้าไปกำหนดไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิธีคิดของสสส.จะต้องมีสื่อใหญ่ สื่ออารมณ์ต้องพูดแสดงให้เห็นความสำคัญมีตัวอย่างของการสร้างจิตสำนึกใหม่ เพื่อให้คนไทยเชื่อว่าสามารถทำได้ เพื่อให้คนไทยรู้ว่าจะสามารถไปที่ไหนได้บ้าง จะทำอะไรต่อไป มีโอกาสในการหาข้อมูล
เป้าหมายของภารกิจนี้
ผมวางเป้าหมาย 100 เมือง 10,000 องค์กร 1,000,000 คน ที่ต้องเปลี่ยนจิตสำนึกใหม่ ภายในเวลา 4 ปี นี่เป็นสิ่งที่คิดไว้ และเชื่อว่าทำได้ การมีขบวนการแบบนี้เยอะมาก มีคนที่มีจิตสำนึกใหม่แบบนี้เป็นแสนแล้ว แม้จะยังไม่มีตัวเลข และถ้าถามว่ามีองค์กรที่เปลี่ยนแบบนี้แล้วหรือไม่ ตัวผมเชื่อว่ามีเป็นพันองค์กร สำหรับเมืองที่จะเปลี่ยนเป็นเมืองแบบใหม่นั้นเริ่มมีบ้างแล้วภายใน 4 ปีจะเห็นรูปธรรมที่จับต้องได้ในทุกระดับ
คนอื่นมองว่าตรงนี้คือโจทย์ใหญ่มากเรื่องการสร้างจิตสำนึกใหม่ ผมก็เชื่อตรงนี้ว่าจิตสำนึกใหม่คือ 3 จิตนี้ แม้จะไม่ง่ายเหมือนเรื่องอื่น ยอมรับการเคลื่อนเรื่องนี้นั้นยากกว่าหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ทั้งมีความซับซ้อน และหวังผลมาก แต่ก็เชื่อว่าเกิดแน่ โดยเฉพาะจำนวนคนที่จะเปลี่ยน 1,000,000 คนนี้จะทำให้ได้
ตัวอย่าง ของชุมชนหรือคนที่เปลี่ยนจิตสำนึกใหม่
ยก ตัวอย่าง หมู่บ้านหนองกลางดง อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีนายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์เป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่อดีตในหมู่บ้านมีปัญหา ยาเสพติด การพนัน ปัญหาเด็ก ชาวบ้านติดสุรา เศรษฐกิจไม่ดี เป็นต้น กระบวนการแก้ปัญหาเหล่านี้เขาทำกันแบบไม่ได้แก้ทุกเรื่อง ทีละเรื่อง เขาไม่ได้มาแก้ว่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น สิ่งที่หมู่บ้านนี้ ทำ คือ เริ่มต้นด้วยการสร้างกระบวนการในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านก็สร้างสภาชุมชน นำชาวบ้านมาคุยปัญหาร่วมกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ จนสุดท้ายสามารถแก้ปัญหาทุกเรื่องได้หมด
พอชุมชน เริ่มมีความคิด เริ่มมองพ้นจากเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ชุมชนก็จะมีพลังทันที นี่คือจิตสำนึกใหม่ในความหมายของผม
หรือใน กรณีของการทำเกษตรกรรมของพ่อผาย สร้อยสระกลาง แห่งต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ก็เช่นกัน เรา (สสส.)ต้องกระตุ้นให้คนไทยตระหนักก่อน จากนั้นให้ลงมือทำในรูปแบบของตนด้วยตนเอง
เราจะมี ต้นแบบหรือตัวอย่างอื่นๆ ให้ เช่น การเปลี่ยนแปลงในระดับหมู่บ้านก็ไม่ได้มีเพียงหมู่บ้านหนองกลางดง ยังมีอีกหลายที่ และหลายรูปแบบของการจัดการ ตัวอย่างหรือต้นแบบเหล่านี้จะต้องถูกจัดอย่างเป็นระบบหมวดหมู่กันต่อไป เช่น ต้องจัดต้นแบบของการจัดการเรื่องครอบครัวที่สามารถเป็นต้นแบบคลาสสิกได้ ต้องคัดเลือกมาเป็นตัวอย่างเพื่อสื่อสาร เป็นต้น
ประเด็น ที่ห่วงตอนนี้คือจะหยิบตัวอย่างใดมาแล้วให้โดนมากกว่า ชนิดที่เห็นแล้วสามารถไปโดนคนในหลายรูปแบบ เช่น คนในเมืองอาจจะมองว่าอยากเห็นครอบครัวที่จัดแบ่งเวลาให้สำหรับลูก แต่คนในชนบทอาจจะมองอีกเรื่อง อาจมองว่าครอบครัวจะต้องออมเงินร่วมกันเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น
กลยุทธ์การขับเคลื่อนงาน 4 ปีจากนี้
แต่เดิมสสส. ภาพที่คนมักเห็น ทำไม่กี่เรื่องเหล้า บุหรี่ ความจริงแล้วทำทุกเรื่อง ส่วนภาระกิจ “ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ก็จะเป็นภาพที่กว้างของสสส. ซีรี่ย์ที่ผมวาดไว้ก็จะเห็นภาพตั้งแต่บุคคล ครอบครัว ชุมชนที่น่าอยู่
ถามว่างานสสส.จะเปลี่ยนหรือไม่ งานสสส.นั้นกว้างอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องทำออกมาให้ร้อยออกมาเป็นธีมเดียวกันให้ได้ สสส.ต้องทำงานได้มากกว่าการเป็นองค์กรสนับสนุนทุนในแต่ละเรื่อง เช่น การเข้าไปร่วมคิดกับทุกคนให้มากขึ้น จะไม่เล่นบทเดิมต่อไปนี้จะเข้าไปร่วมคิดกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ จะมีการมองเป้าหมายที่ชัดเจนด้วยเป็นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น
แต่เดิมเราแตะประเด็นสุขภาพในแง่ลบ เช่น เรื่องเหล้า บุหรี่ จากนี้จะแตะด้านบวกมากขึ้น ที่ชัดเจน คือ
1. งานเชิงรุกสสส.จะแตะด้านบวกสร้างพาร์ทเนอร์ชิพทั้งกับชุมชน สังคม ธุรกิจ สร้างให้เป็นภาพของพันธมิตรในการสร้างสุขภาพที่ชัดเจนขึ้น
2. ทำงานเชิงรุกมากขึ้นเช่นงานมิติที่จากเดิมสสส.เล่นบทสนับสนุน ต่อไปสสส.จะเล่นบทร่วมคิดด้วย ร่วมสนับสนุนในเชิงที่มากกว่าตัวเงิน จะสนับสนุนความรู้ สนับสนุนเครือข่าย สนับสนุนความเป็นเพื่อน หรืออื่นๆ
3. เชื่อมโยงบูรณาการมากขึ้น หยิบเรื่องที่มีความสำคัญมาทำร่วมกันเป็นขบวนการเดียวกัน เช่น เรื่องอาหารต้องแก้ตั้งแต่ระบบการผลิตระบบในชุมชน การกิน สสส.จะแตกงานนี้มาบูรณาการมากขึ้น ในเชิงรูปธรรม
ภาคีขับเคลื่อนสร้างจิตสำนึกใหม่
ภาคีทั้งหมดสามารถเป็นภาคีเรื่องสร้างจิตสำนึกใหม่ได้เลย ภาครัฐ ประชาสังคม นักวิชาการ เอกชน มีทุกส่วน มีหมด ผมเชื่อว่าเรามีหลายหมื่นองค์กร 8 ปีที่ผ่านมาสสส.มีพาร์ทเนอร์มากมาย ทั้งหมดจะมาร่วมกันจัดการการสื่อสาร จัดขบวนทำให้มีพลังมากขึ้นแล้วก็เชื่อมต่อกันเป็นขบวนใหญ่ให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดต่อไป
ตัวอย่างในระดับบุคคลที่เปลี่ยนจิตสำนึกตัวเองแล้วมีเยอะมาก จากที่ทำในเรื่องสุรา บุหรี่ หรือจิตอาสา มีครอบครัวที่เปลี่ยนเยอะมาก ในระดับขององค์กรก็มีหลายพันองค์กรที่เข้ามาอยู่ในเครือข่าย และไม่ใช่องค์กรเล็กๆ คือ มีองค์กรน่าอยู่ หรือที่ทำงานน่าอยู่ ที่ไม่ได้น่าอยู่เฉพาะภายในองค์กรอย่างเดียว แต่หมายถึงปฏิสัมพันธ์กับสังคมด้วย เช่น การลงไปทำซีเอสอาร์แบบแท้ๆ ไม่ใช่ซีเอสอาร์เทียม เชื่อว่าองค์กรเหล่านี้มีพลังที่จะต่อยอดได้
ผมจึงเชื่อว่างานขับเคลื่อนสร้างจิตสำนึกนี้ โจทย์ คือ การจัดขบวนและการสร้างการสื่อสาร ผมคิดว่าน่าจะพอแล้ว การสื่อสารออกไปก็จะต้องมีสื่อและอาจจะจัดเป็นแคมเปญ ก็ต้องคุยกันอีกที
กรอบระยะเวลาการเตรียมปฏิบัติการ
ผมเชื่อว่าตัวอย่างที่ทำมาทั้งหมดนั้นสามารถทำได้ ใช้เวลา 3-6 เดือนในการเตรียมงาน หลักการคือว่า หลักการสื่อสารของสสส. จะกระตุ้นลงไป จุดก็คือว่าคุณจะต้องเป็นอิสระ ผมขอยกตัวอย่างแบบนี้ว่า เวลาผมไปเจอไม่ว่าจะชุมชน หรือในเมือง ที่ไหนทุกที่ก็จะบอกว่าตัวเองมีปัญหา ล้วนแต่บอกว่า แก้กันไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ เช่น ไม่สามารถแก้ได้ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น ถ้าคนในชุมชนยังมีการศึกษาไม่พอ เป็นต้น
ดังนั้นสิ่งที่สสส.จะทำคือจะสื่อออกไปว่า ไม่ว่า คุณจะมีความลำบากยากเย็นแค่ไหน คุณก็ทำได้ คุณเริ่มได้ ซึ่งผมเชื่อว่าต้องมีข้อความหรือสารที่จะสื่อออกไปในลักษณะนี้ จะต้องย้ำในจุดนี้
ส่วนจะมีเป็นสื่อรูปแบบใดบ้างนั้นก็ต้องคิดอีกทีภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ คอนเซปต์คือต้องจี้ไปในจุดนี้ว่าทุกคนสามารถทำได้เลยในเรื่องนี้ ไม่ต้องรออะไรแล้ว สสส.อาจต้องนำคนที่ทำได้แล้ว หรือทำได้แล้วมาคุยกัน
สสส. กับบทบาทช่วยสังคมไทยในยามวิกฤติ
ผมมองว่าสถานการณ์ ณ ตอนนี้มันอาจจะอยู่แค่ครึ่งเดียวของระยะเวลาที่เราต้องเจอ ถ้าเราดูตัวอย่างความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมา ได้ใช้เวลาเยอะกว่านี้มาก เช่น สมัยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ใช้เวลากว่า 10 ปี เหตุการณ์ก็รุนแรงกว่านี้ ฆ่ากันตาย ผู้นำนักศึกษาก็เข้าป่า ซึ่งกว่าจะเกิดกระบวนการถอยกลับย้อนมาก็ 10 ปี เต็ม
กระบวนการครั้งนี้พึ่ง 5 ปีกว่า ยังไม่เร็ว คิดว่าครั้งนี้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น อาจจะมองต่างจากหลายคน สสส.เองก็คงเล่นบทที่เล่นได้ คือ ช่วยประคับประคองสถานการณ์ ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่นุ่มนวลที่สุด ทำในทุกบทที่จะช่วยประคองสถานการณ์
3 เรื่องเร่งด่วนที่สสส.จะทำขณะนี้มีอะไรบ้าง
1.ร้อยเรียงทุกเรื่องที่ทำออกมาในเรื่องวาระของการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ 2.เร่งจัดระบบความสัมพันธ์กับภาคีเครือข่ายทั้งหมดเพื่อร่วมสร้างสุขภาวะคนไทย ซึ่งเรื่องนี้ต้องรีบทำ และ 3.จากนี้ต่อไปสสส.จะจับเรื่องสำคัญๆ บางเรื่องออกมาทำ เพื่อให้มีผลต่อสังคมในเชิงสุขภาวะที่ชัดเจน เช่น เรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือเรื่องแฮปปี้ 8 เป็นต้น
สสส.ยุคทพ.กฤษดา แตกต่างจากยุคก่อนอย่างไร
ที่ตั้งใจไว้ ภาพของสสส.ในยุคผม อยากให้สสส.เป็นภาพขององค์กรของคนทั้งหมดมากขึ้น ตั้งใจว่าจะสร้างขบวนการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงของการกำหนดทิศทาง ผมเชื่อว่าภาพของสสส.ต้องขยายขึ้น มีคนมีส่วนร่วม มารัก มาร่วมทำกันมากขึ้น สสส.ก็จะมีภาพของการทำงานเชิงบวกชัดเจนขึ้น สุดท้ายคนจะรักสสส.มากขึ้น