ปาฐกถา ::: ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา “หน ทางสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระบบสุขภาพ”
"ผู้ที่มีความรู้น้อย โกงน้อย ผู้ที่มีความรู้มาก จะโกงได้อย่างพิสดาร"
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2553 ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการประชุม 11th HA National Forum : “การพัฒนาที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน” (Flexible & Sustainable) หัวข้อ “หนทางสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระบบสุขภาพ” ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)
"ปีนี้ ประเด็น ที่ยกขึ้นมาเป็นเรื่องการพัฒนาที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน โดยเรื่องยืดหยุ่น เป็นเรื่องที่ได้พูดกันมาหลายเที่ยว และทุกคนเข้าใจดี แต่วันนี้อยากจะเจาะลงไปที่เรื่องของความยั่งยืน เพราะว่าน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่เราต้องเพิ่มเข้ามาเพิ่มเติมในระบบ ถ้าจะให้มองถึงเรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือ มีโรคระบาดเกิดขึ้นในระบบ เดิมโรคนี้เป็นโรคเฉพาะถิ่น และอุบัติใหม่ขึ้นมาหลายแห่ง จนกลายเป็นโรคระบาด โดยตอนนี้ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งความหมายของโรคนี้ หมายถึง ความฟุ่มเฟือย การใช้เกินความจำเป็น การใช้ประโยชน์โดยไม่มีหลักฐาน แล้วนำมาใช้ โดยไม่มีหลักฐานของความปลอดภัย หรือมีประโยชน์น้อยกว่าความคุ้มค่า แล้วมันก็กระจายจากความฟุ่มเฟือย กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะอยู่ในสังคมทั่วไปหมดเลย ที่เป็นการระบาดเกิดขึ้น
สำหรับในวงการสุขภาพ ในตอนนี้ได้ระบาดเข้ามาในวงการของเราแล้ว ถ้าดูเรื่องยาที่เรากินเป็นกำ ยาบางส่วนอาจจะมีคุณค่าจริง แต่ยาบางส่วนก็ไม่มีคุณค่า และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าได้ประโยชน์อะไร อาจจะเป็นโทษด้วยซ้ำ ยามันเข้าไปตีกันเอง หลายๆคนให้คนกินยาเป็นกำ หลายๆคนกินเองเป็นกำด้วย นอกจากยา ยังมีการตรวจในห้องปฏิบัติการ การตรวจพิเศษต่างๆ การหัตถการ การผ่าตัด หลายๆอย่างอาจเกิดมาจากกระบวนการที่ฟุ่มเฟือย การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค น่าจะเป็นคำถามสำหรับเรา ว่าโรคฟุ่มเฟือย ได้กระจายเข้ามาในวงการของเราแล้วหรือยัง อย่างไร”
ศ.นพ.จรัส กล่าวต่อว่า ถ้าพูดถึงความยั่งยืนนั้น มีการพูดกันมานานแล้ว แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ปี 1992 เมื่อ 18 ปีมาแล้ว ตอนนั้น มีการประชุม เรื่องสิ่งแวดล้อมว่า สิ่งแวดล้อม ถ้าหากเราใช้มัน อย่างเป็นปัจจุบันนี้ เกิดภาวะมลภาวะทั้งหลายแล้วมันจะไม่ยั่งยืน ถือเป็นจุดเตือนครั้งแรก ที่เกิดในโลก ไม่ใช่แค่การมีมลภาวะ แต่มลภาวะมีผลมาถึงสุขภาพด้วย
“ตอนนี้คนกำลังได้ยินเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม ที่เป็นสภาพไม่ใช่อยู่เฉพาะบนผิวโลก แต่เป็นการออกไปสู่อวกาศ จนเกิดเป็นมลภาวะ เรือนกระจก ก็เป็นเรื่องของโลกร้อน หรือ Climate change global warming ที่มีหลักฐาน และรายงานการศึกษามากมาย ส่งผลต่อเรื่องของสุขภาพ มาจากโลกร้อน เกี่ยวกับเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทั้งหลาย ซึ่ง ส่วนนี้มันมากระทบกับสุขภาพด้วย ดังนั้น ความยั่งยืน ในทางสุขภาพ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยแน่นอน
อีกสิ่งหนึ่งที่ถัดมา เมื่อมีขยายจากทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ความยั่งยืน ก็มีสาเหตุจากทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยทรัพยากรฯที่มีอยู่อย่างจำกัด และยังใช้อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน อีกหน่อยมันก็จะหมด หลายคนบอกว่า เรายืมลูกหลานเรามาใช้แล้ว พอมาถึงรุ่นลูกหลาน จะไม่มีอะไรให้ใช้ ทรัพยากรกำลังร่อยหรอลงไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ เรื่องของพลังงาน ที่น้ำมันกำลังจะหมดโลก เรื่องอาหาร ซึ่งเรื่องทรัพยากรก็เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอยู่ไม่ใช่น้อย
มีองค์กรหนึ่ง เรียกว่า Food for the World ซึ่งผลสรุปของโครงการนี้ คือ ในโลกนี้มีอาหารพอ แต่ที่เป็นปัญหา เพราะคนกินเกิน บางคนไม่มีจะกิน พวกกินเกิน ก็ทำให้เกิดโรคเช่นกัน คือ โรคอ้วน ก็จะเป็นปัญหาทางสุขภาพ ขณะเดียวกัน บางส่วนของโลก ก็มีการขาดอาหาร ทำให้สุขภาพเลวลง นอกจากนั้นแล้ว บางแห่งเกิดการตายจากการขาดอาหาร เพราะฉะนั้น ความยั่งยืนของสุขภาพก็ต้องนึกถึงทรัพยากรด้วย อันนี้ขยายความเพื่อให้มันกว้างขึ้น ว่าเราพูดความยั่งยืน ต้องมองอย่างกว้างขวาง
UN University ตั้ง Program for Sustainable Production & Consumption ที่มีหมายความว่า นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ความยั่งยืนจะอยู่ที่การผลิตด้วย มีสินค้าหลายตัวที่ผลิตแล้วไม่นำไปสู่ความยั่งยืน การใช้ คือ Consumption(การบริโภค) การให้บริการ คงจะมีเรื่อง Consumption และ Service ว่าการบริการทางการแพทย์จะนำไปสู่ความยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งแนวโน้มขณะนี้ กำลังนำไปสู่ความไม่ยั่งยืน สร้างแรงผลักดันสู่ความไม่ยั่งยืน
อยากจะชี้ประเด็น เรื่องที่เราถูกกระทบด้วยความไม่ยั่งยืน ว่า เราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ถ้ามองดูดีๆ เราเหมือนว่า เราเหมือนพบกับพายุที่มากระทบกับสุขภาพไทย ซึ่งผมลองนำมา 9 ประการ ก็จะนำมาขยายความเพื่อให้เห็นทีละส่วน ดังนี้
ประเด็นที่ 1 เรื่องความรู้ขยายตัวอย่างมากมาย วิทยาการต่างๆ มันขยายตัวมาก และเปลี่ยนเร็วด้วย ต้นปี ท้ายปีไม่เหมือนกัน เป็นวิทยาการซ้ำซ้อนขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น ผลที่ตามมาสำหรับพวกเรา คือ ความไม่รู้ ตามไม่ทัน และก็ถูกหลอก ที่ซ้อนอยู่ในนั้น หลายคนไม่กล้าที่จะพูด แต่ต้องพูด ออกมาตรงๆ ว่ามีความมักง่ายเกิดขึ้น เพราะไม่ทันได้คิด เพียงแต่กระทำไปเลย
ประเด็นที่ 2 คือ เทคโนโลยี มีราคาแพง เมื่อ 10-20 ปีก่อน เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ไม่มีใครคิดว่า เครื่องมือต่างๆ จะมีราคาแพงเช่นปัจจุบัน มันก็เลยทำให้เกิดสภาพอันหนึ่งที่องค์การอนามัยโลก ความเจ็บป่วยล้างผลาญ เช่น ใครเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจริงๆ เป็นโรคอย่างหนึ่ง เช่น มะเร็ง หมอจะบอกว่า เดือนหนึ่งต้องใช้เงินเป็นแสน และ มีการรักษาอีกอย่างหนึ่งที่ต้องจ่ายเป็นล้าน คนไข้ก็จะตอบทันทีเลยว่าจะต้องรักษา ซึ่งเราไม่รักษา และยอมตาย แต่คนส่วนใหญ่ คงไม่ยอมตาย เพราะฉะนั้น ก็จำเป็นต้องเอาเงินที่เก็บไว้ทั้งหมดมาจ่าย ก็กลายเป็นคนยากจนทันที
นอกจากนั้นแล้ว ถ้าไม่มีเงิน เพื่อรักษาชีวิต ก็จำเป็นต้อง เป็นหนี้เป็นสิน ต้องกลายเป็นคนที่เป็นหนี้เป็นสิน เกิดความเดือดร้อน ทั่วไป สภาพนี้จริงเป็นสภาพซึ่งพวกเราอยู่ในวงการแพทย์ ค่อนข้างจะตระหนักน้อย โรงพยาบาลของเราไม่นึกถึงความเดือดร้อน ของชาวบ้านที่เกิดขึ้นจากความเจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีที่มีราคาแพง ปัญหามันก็คือ มันคุ้มค่าหรือไม่ มันสามารถที่จะมีพลังหรือกำลังที่จะสู้กับเรื่องเหล่านี้ได้หรือไม่
ถ้าเป็นเศรษฐี เราก็ไม่ต้องห่วง ใช้อะไรก็ได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ฐานะปานกลาง ก็ต้องเกิดเป็นหนี้เป็นสิน เดือดร้อนพอสมควร ยิ่งคนยากจน คำตอบของคนก็คือ คุณตายเถอะ เป็นคำตอบที่รับไม่ได้จริงๆในวงการ เพราะฉะนั้น เรื่องที่มารองรับ เทคโนโลยีที่มีราคาแพง ในส่วนบุคคลก็ดี ในส่วนสังคมก็ดี อีกส่วนหนึ่ง คือ เรื่องการเบิกได้ ที่ใช้จ่ายไป เพราะประชาชน คิดว่าเป็นเงินหลวง ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราใช้งบประมาณไปทั้งหมด 16,000 ล้าน ปีที่ผ่านมา 6 ปีให้หลัง เพิ่มขึ้นมาเป็น 60,000 ล้าน แต่ก็ไม่ใช่ว่าชีวิต สุขภาพของข้าราชการ รัฐวิสาหกิจและครอบครัว จะดีขึ้น คือ ต้องดีขึ้น 5-6 เท่า แต่ผลลัพธ์ไม่ใช่เช่นนั้น ระบบสุขภาพก็ไม่ดีขึ้นตามไปด้วย แต่การที่เราใช้จ่ายนี้ คงจะเข้าไปอยู่ของการเป็นโรคฟุ่มเฟือย โรคที่เกิดจากการไม่ระวัง แม้ว่าเงินนั้นจะไม่ใช่เงินที่ออกมาจากกระเป๋าของเราเอง หรือเงินของคนไข้ แต่เป็นเงินของประเทศ เงินของส่วนร่วม ซึ่งก็มาจากภาษีอากร ของเราเอง ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก ยิ่งใช้เงินหลวง ยิ่งต้องระวังมากยิ่งขึ้น อันนี้ต้องเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดของเราเลยทีเดียว เราต้องมีความไวต่อปัญหา เราต้องตระหนักถึงปัญหา มีความเห็นใจและเข้าใจ
พายุลูกที่ 4 คือ การเปลี่ยนแปลงของโรค เช่น โรคอุบัติซ้ำ โรคดื้อยา โรควัณโรค ตอนนี้กลายเป็นโรคดื้อยาทุกชนิดที่มีอยู่ เรื่องโรคอุบัติใหม่ เรื่องโรคเดิม วิธีการรักษาใหม่ โรคเดิม ป้องกันได้ แต่ก่อนป้องกันไม่ได้ ตอนนี้ป้องกันได้ เมื่อก่อนรักษาไม่ได้ ปัจจุบันรักษาได้ และมีโรคใหม่ๆเกิดขึ้น ปัญหาเดิมก็ยังอยู่ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น ถือว่าเป็นพายุลูกใหญ่ คือ การเปลี่ยนแปลงของตัวระบบบริการสุขภาพเอง
ยกตัวอย่าง โรคอ้วน มีการศึกษาภาวะโรคอ้วน หรือภาวะโภชนาการในประเทศไทย พบว่า ผู้ใหญ่ หรือเด็กวัยรุ่นในประเทศไทย ร้อยละ 30 อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า โรคอ้วน สภาพปัญญานี้เพิ่มขึ้น มีการศึกษาย้อนหลัง ตั้งแต่ ปี 2529 มาจนถึงตอนนี้ สุดท้ายศึกษาใน ปี 2551 ในเวลา 20 กว่าปี เลวลงไปอย่างชัดเจน มีการเปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารจากข้าว ผัก ผลไม้ที่เป็นอาหารไทย กลายเป็นการกินตามแบบฝรั่ง ก็มี โปรตีน ไขมัน น้ำตาลมาก มีเครื่อง รสหวานต่างๆ อาหาร Junk Food ต่างๆ จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่แล้ว บอกว่า โรคอ้วน นับเป็นปัญหาสำคัญของชาติ
เราสร้างแรงจูงใจได้อย่างไร ว่าจะสร้างแผนการออกกำลังกาย เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ลดความอ้วน เห็นเลยว่า เคยมีรายงานแปลกๆ ที่มีการห้ามขาย Junk Food ในโรงเรียน อันนี้เกิดขึ้นในหลายๆโรงเรียน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เด็กของเราเข้าสู่โรคอ้วน เพราะว่าถ้าเด็กอ้วน เซลล์ไขมัน มันก็จะขยายตัว แล้วก็จะติดไปจนอายุมากขึ้น และขยายตัวอยู่อย่างนั้น มีโอกาสเป็นโรคอ้วนมากขึ้น
เรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องจำเป็นต้องดูแลรักษาโรคอ้วนมาตั้งแต่เด็กๆ คือ สภาพที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนไม่สบาย แล้วเรารักษา แต่เป็นหน้าที่ของเราด้วย ที่จะยื่นมือออกไปในสภาพ ที่ทำให้เกิดตัวปัญหา อาหารเสริมและตัวควบคุมน้ำหนัก ตอนนี้ขายดี มีการโฆษณา มีการลดราคา ส่งเสริมการขาย มีการขายตรง กิจการสปา กิจการออกกำลังกาย ก็เจริญมากขึ้น กิจการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่จำเป็น หรือเป็นสิ่งที่เป็นทางเลือกอื่น หรือไม่ สำหรับประเทศเรา สำหรับคนของเราหรือไม่
ประเด็นที่ 5 การเปลี่ยนแปลงของประชากร ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ต้องตระหนักแล้วว่า ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น การเกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ก็มากขึ้น อีกทั้ง โรคอุบัติเหตุ บาดเจ็บ แม้ว่าจะมากในคนที่มีอายุน้อย แต่สำหรับผู้สูงอายุ ก็ยังเป็นมาก ทั้งหมดเหล่านี้ เมื่อรวมกันจะเห็นชัดว่าผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น คนที่ต้องการบริการสุขภาพ ยิ่งต้องการมากขึ้น ไม่ใช่กระทบเฉพาะกับระบบสุขภาพ แต่โรคที่เกิดขึ้น
หลายคนคงเคยได้ยินว่า พบงานวิจัยที่ปลายของโครโมโซมมีลักษณะที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดขึ้นทั้งใน ยีนส์ สัตว์ และพบในคนด้วย ซึ่งการแบ่งเซลล์ไม่สามารถแบ่งได้อีกต่อไป มีนาฬิกาที่กำหนดการตายของเซลล์ไว้ เซลล์มีการแก่ และเกิดการล้มตายของเซลล์ โดยบอกได้ว่า กำหนดว่าเซลล์จะต้องตาย และสามารถแบ่งได้กี่ครั้งถึงจะตาย สภาพนี้ก็เป็นสภาพที่เป็นธรรมชาติ และยังพบว่ามีเอนไซม์ยับยั้งไม่ให้เกิดการแก่ได้
เมื่อก่อนเราบอกว่า คนทุกคนต้องตาย คนทุกคนต้องแก่ เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ตอนนี้มาบอกว่า ที่ระดับเซลล์ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องตาย เกิดความคิดใหม่ว่า ต้องการมีชีวิตอมตะ เป็น อมร แปลว่า เทวดา ไม่ตาย ขณะเดียวกันพบว่าเซลล์ที่ไม่ต้องตาย คือ เซลล์มะเร็ง ก็สามารถเป็นการต่อต้านมะเร็งได้
จากผลวิจัยดังกล่าวจากเรื่องนี้ ทำให้นำมาใช้ในการชะลอ การสูงอายุ และความแก่ คือ เมื่อเราเกิดความแก่ คือ อวัยวะและเซลล์ทุกส่วนมีความเสื่อมลงไป ความสวยงาม ความกระฉับกระเฉง ความสวยงามในการทำหน้าที่ลดลง การปรับตัวถดถอย มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น การทรงตัว การรับความรู้สึก ทุกอย่างถดถอย มองในอีกมุมหนึ่ง คือ การเป็นธรรมชาติ เป็นพรหมลิขิต เราเป็นมนุษย์คงมีอายุไม่เกิน 120 เพราะว่า นั่นคือสิ่งที่กำกับตามธรรมชาติอยู่แล้ว
มีความคิดซ้อนขึ้นมาว่า ไม่ใช่ทั้งหมด หรอก เรามีกฎแห่งกรรม การที่เราจะตาย เกิดขึ้นจากการชะลอความแก่เกิดขึ้น ก็มีมาตรการป้องกันความเสื่อม ก็ได้รู้ว่า เรามีอาหารป้องกันความเสื่อม การออกกำลังกาย วิถีชีวิตป้องกันความเสื่อม จิตใจ ที่โผล่เข้ามา คือ ยาชะลอความแก่ ที่เข้ามา ซึ่งแน่นอนว่า คนก็ไม่ต้องการที่จะแก่ สิ่งที่ปรากฏคือ สารต้านอนุมูลอิสระ ที่บอกว่า ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่แก่อยู่ ก็ควรจะใช้ เพื่อจะได้อายุยืนต่อไป ทั้งการใช้ฮอร์โมน มาควบคุม ทั้งไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศ ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ให้แก้ปัญหาของความแก่ ซึ่งแม้ว่าจะเกิดอันตราย พวกเราก็รู้ดี
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่า ถ้าหากเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ออกมาขาย สามารถใช้ได้เลย ไม่ถือว่าเป็นยา เพราะฉะนั้น หลายอย่างที่มาจากธรรมชาติ ก็มีการโฆษณาขายได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งร้านขายยา คนก็ไม่อยากตาย ไม่อยากแก่ สภาพนี้ ก็นำไปสู่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมา คือ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เสริมจากธรรมชาติต่างๆที่ผลิตออกมาเพื่อช่วยต่อต้านความแก่ ความเหี่ยวของผิวหนัง บำรุงสมอง อีกทั้งช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ ป้องกันโรคมะเร็ง สารต่อต้านอนุมูลอิสระ มีเยอะในไวท์แดง ชาเขียว ซึ่งคนนิยมบริโภค นอกจากนั้นยังมีความนิยมใช้ วิตามินอี โอเกา 3 โอเมกา6 โอเมกา9 อีกด้วย
ผลวิจัยทางเภสัช บอกว่า ถ้าเราจะใช้ไวน์แดงกิน และได้สารต้านอนุมูลอิสระให้เพียงพอ ต้องกินไวน์แดงวันละ 12 ขวด ถึงจะได้พอ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ว่า ถ้าจะได้ผลจากสารต้านอนุมูลอิสระ อาจจะต้องตายก่อนเพราะโรคตับ ไม่เช่นนั้น ก็ยากจน ขาดอาหาร เพราะไม่มีเงินมากพอในการซื้อ ในชาเขียวก็เช่นกัน จะเห็นว่ามีอยู่ในตลาดมาก แต่ต้องกินกันจำนวนเท่ากับ โอ่ง 1 โอ่ง ถึงจะได้ผลจริงๆ
สำหรับ วิตามินอี สามารถใช้ได้ทั้งกินและทา เครื่องสำอางหลายประเภท เริ่มมีการผสมวิตามินอีเพื่อบำรุงผิวพรรณ จนมีการศึกษาจากองค์การอนามัยโลกว่า ถ้าจะใช้วิตามินอีนั้น ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ามากเกินไปจะเสียชีวิต เพราะฉะนั้น ต้องระวัง อย่าใช้เกิน ทั้งกินทั้งทา ร้ายกว่านั้น วิตามินอีมีอยู่ในธัญพืชทั้งหลาย เช่น ถั่ว งา ซึ่งไม่ควรกินก็ไม่ควรกินในปริมาณมาก
ทั้งหมดนี้ ปัญหามันคือ เสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ มันอาจจะมีโทษที่เราไม่ทราบ หรือถูกปกปิดไว้ใช่หรือไม่ เราไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เหล่านี้เป็นเรื่องของการระบาดของโรคความฟุ่มเฟือย เข้าไปในระบบของเรา ก็เลยมองกว้างออกไปอีกหน่อยว่า
ประเด็นที่ 6 การค้าขายบนความอยากของมนุษย์ ความบันเทิงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งของมนุษย์ ความตื่นเต้น การเล่นพนัน ก่อให้เกิดการพาณิชย์ การเข้ามาของเครื่องสำอาง ธุรกิจผ่าตัด เสริมสวย ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจสปา ออกกำลังกาย ลดความอ้วน การกีฬา ก็มีมากขึ้น
สำหรับที่เอ่ยมานี้ ไม่ได้หมายความถึงการต่อต้าน แต่ถ้าสำหรับคนที่มีเงิน ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิ์ แต่ที่กำลังมีปัญหา คือ เรามีทางเลือกอื่น ที่ไม่ต้องเสียเงินมากมายขนาดนั้น โดยไม่เดือดร้อน ปัจจุบัน มันมีคำเย้ายวน ให้เราต้องทำเช่นนั้น และเมื่อทำแล้ว มีคนเกิดการเสพติดเครื่องสำอาง มีคนเสพติดเรื่องยารักษาความแก่ เสพติดความแก่ เด็กๆ เสพติดการเล่นเกมส์บนคอมพิวเตอร์ เกิดจากสภาพเดียวกันใช่ไหม
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรพิจารณา คือการลดความอยากของเราเอง ไม่ใช่ตัดทิ้งไป แต่ใช้ตามฐานะของแต่ละบุคคล โดยไม่ให้เกิดความเดือดร้อน อิงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และที่สำคัญคือ เราต้องไม่ส่งเสริมความอยากของเราเองให้ผู้อื่น ที่มาพึ่งเรา คือคนไข้และประชาชนที่มาขอความรู้จากเรา
ยกตัวอย่าง โรคอัลไซเมอร์ ตอนนี้บอกว่า สามารถป้องกันได้ รักษาได้ ก็เป็นเช่นนี้ ยกตัวอย่าง คือ ยา พวกเราใช้เองบ้าง หรือแพทย์สั่งให้ใช้บ้าง ในการรีวิว บอกว่า ผลประโยชน์ที่ได้มีน้อยมาก บางคนได้ประโยชน์ แต่บางคนไม่ได้เลย ทำให้เสียเงินโดยใช่เหตุ ร้ายกว่านั้น เกิดโรคใหม่คือ MCI พออายุมากขึ้นจะหลงๆลืมๆ จำชื่อคนไม่ค่อยจะได้ เราก็วินิจฉัยเองเลยว่าเป็นโรค เรียกว่าเป็นธรรมชาติก็ได้ เรียกว่าเป็นโรค มีการป้องกันได้ไหม ว่าความจำจะไม่เสื่อมถอย เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระบบของเรา ตอนนี้มี ยา เกิดขึ้นมากมาย นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างของการจัดการที่ไม่ควรใช้ให้เกิดขึ้นในระบบสุขภาพ ขึ้นอยู่ที่ว่าประชาชนมีความเข้าใจไหม และเป็นผู้ที่เข้าใจในความรู้และบริการ เราตระหนัก และรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้หรือไหม
พายุลูกที่ 7 ที่มากระทบ คือ ความเป็นประชาธิปไตย เป็นพายุที่พึงจะเกิดขึ้นในสังคม เพื่อเกิดสุขภาพดี เป็นสิทธิของประชาชน ซึ่งเมื่อก่อน เราอาจจะไม่คิด ว่าเป็นสิทธิที่พึงจะได้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่พึงจะได้รับ ซึ่งต้องได้เข้าถึงการรับบริการเป็นสิทธิ คุณภาพของบริการก็เป็นสิทธิ การที่ประชาชนมีสิทธิที่จะรู้มากขึ้น สงสัย และคาดหวัง จากระบบของเรา นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ควรจะเกิด
พร้อมกันนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่ง คือ เทคโนโลยีการสื่อสาร คมนาคม สารสนเทศ ซึ่งตอนนี้กระจายไปสู่ทุกหนแห่ง ในชนบท มีวิทยุ โทรทัศน์ ที่รับข้อมูลข่าวสารได้ เข้าไปในอินเทอร์เน็ตได้ สิ่งที่เป็นความรู้ เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ผูกขาดโดยวิชาชีพ
เมื่อก่อนความรู้ทางการแพทย์ คนทั่วไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ให้ไปปรึกษาแพทย์ ให้แพทย์ช่วย และไม่แนะนำให้รักษาเอง ซึ่งขณะนี้ เขาเข้าไปหาความรู้ในอินเทอร์เน็ตเข้าไปได้อย่างสบาย นี่คือสภาพที่เกิดขึ้น และไม่ใช่ความรู้ที่ผูกขาดอยู่ในมือของเฉพาะกลุ่ม ความรู้เป็นสมบัติสาธารณะ ด้วยเหตุนี้ ประชาชนมีความรู้มากขึ้น มีพลังมากขึ้น อย่าไปคิดถึงพลังที่ไม่ดี แต่เป็นพลังที่มีการดูแลตัวเองได้มากขึ้น
เมื่อเกิดสิ่งนี้ขึ้น ก็เกิดเป็นความไม่ไว้วางใจ ความระแวง สู่การขัดแย้ง ร้องเรียน ฟ้องร้อง ชดใช้ค่าเสียหาย กำลังเกิดขึ้น พวกเรากำลังตื่นตระหนก อยู่อย่างแรก เป็นของจริงที่เกิดขึ้น สาเหตุจริงๆ ของมันคืออะไร ก็คือ พายุทุนนิยม มีธุรกิจสุขภาพ มีอุตสาหกรรมสุขภาพ มีการแข่งขัน มีการตลาด และในระบบของทุนนิยม ก็จะต้องเป็นการได้กำไรสูงสุด อาศัยกลไกการตลาด การโฆษณา ส่งเสริมการขาย มากมาย เป็นกระบวนการ
แต่ความจริงแล้ว ทุนนิยมเป็นการสร้างความก้าวหน้า ที่เรากำลังประสบอยู่ จัดการกับความเสี่ยงได้ เพิ่มคุณภาพขึ้น เพราะฉะนั้น ผลดีที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เรากำลังได้รับอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันสอดแทรกเข้ามาด้วยแพทย์พาณิชย์ ไปสอดแทรก กับราคาที่แพงขึ้น ในเรื่องของค่ายา การบริการทางการแพทย์ที่แพงมาก การโน้มน้าวใจของแพทย์ เกิดเป็นการสร้างหนี้สิน ความเป็นจริงแล้ว ถ้าคนไข้คนนั้น ต้องการยาที่ได้รับผลดี และมีอยู่ เขาก็ควรที่จะได้รับสิทธิในการใช้ยานั้น แพทย์ที่จ่ายยา เพียงแต่จ่ายยาตามไปเท่าที่มีอยู่ แต่ไม่ตระหนักถึงความจำเป็นว่าคนไข้ต้องการยาแค่ไหน สิ่งที่ร้าย เทคโนโลยี เกิดราคาแพง ระบบของเรา ซึ่งบางส่วนก็ต้องโทษว่า เราเข้าไปอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ และสิ่งที่เราเผชิญ คือ เรามีความพร้อมในการรับมือหรือไม่ ใช้วิจารณญาณของเราดีแล้วหรือไม่
ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ ในระบบมันจะมีคนที่มากำกับอีก เช่น ผู้บริหาร นักธุรกิจ พยาบาล ผอ.โรงพยาบาล อาจจะต้องทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ เพราะคนๆหนึ่ง บอกว่าสามารถทำได้ อีกคนบอกไม่ได้ สภาพนี้เป็นปัญหาของทั้งสองฝ่าย
ด้วยเหตุนี้ จำเป็นต้องมีการสื่อสารใหม่ ระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนไข้ แพทย์และพยาบาลต้องพูดกับคนไข้ในลักษณะที่ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควร ในขณะที่คนไข้ก็ไม่มีความรู้ มิฉะนั้น ก็จะเกิดเป็นการฟ้องร้อง การร้องเรียน ชดใช้ค่าเสียหาย และแต่ละกรณี มันขึ้นมาจากเป็นแสน กลายเป็นล้าน กลายเป็นสิบล้าน แต่ละคนทำงานมาตลอดทั้งชีวิต ต้องมาจ่ายให้กับตรงนี้หมดเลย มันก็แย่ นี่คือสภาพ ทำให้ไม่อยากเป็นในตำแหน่งนี้ทำให้ระบบสุขภาพต้องเข้าไปสู่ การแพทย์แบบป้องกันตนเอง คือ การตรวจไปหมดทุกอย่าง ยิ่งตรวจเยอะราคาก็ยิ่งแพงขึ้น การให้ยาก็ให้ไปเลยหลายตัว เพื่อป้องกัน ไม่ให้การถูกฟ้อง ทั้งหมดเหล่านี้ นำไปสู่เรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ในทางด่วนกรุงเทพมหานคร เราจะเห็นป้ายโฆษณา ของโรงพยาบาลต่างๆ เช่น การอัลตราซาวด์หน้าลูกชัดเจน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่เป็นความอยากที่สร้างแรงกระตุ้นในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากไปมีคนไปซื้อเครื่องมือนี้มา ถ้าหากคนที่มาใช้บริการ เป็นคนที่มีเงินเยอะ ก็ดี แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีฐานะ ก็ถูกกระตุ้นเพื่อให้เกิดการเห็นหน้าลูก นำเงินที่นำไปจ่ายแทนที่จะเป็นอาหารเย็น ที่มีคุณภาพ ก็มาเห็นหน้าลูกเถอะ
ในตอนนี้มี โฆษณาแฝงในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นบทความที่สร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นใช้คำว่า ‘ท่านอยากรู้ไหมว่าท่านมีมะเร็งซ่อนอยู่ที่ใด’ ความอยากถูกกระตุ้น โดยอาศัยความกลัวเป็นฐาน เพราะฉะนั้น สถานพยาบาลหลายแห่ง ใช้ตรงนี้ เป็นเครื่องกระตุ้น แต่ข้อมูลในเชิงวิชาการยืนยัน ว่าไม่ควรใช้ในหลักอันนี้ เพราะเป็นการเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่า และอาจเกิดโทษ คือ อาจจะต้องผ่าตัด โดยไม่จำเป็น
ประเด็นที่ 8 เรื่อง ธุรกิจข้ามชาติ คือ ตอนนี้มี FTA จะมีอิทธิพลจากต่างชาติเข้ามา มีราคายา วัสดุอุปกรณ์ปัญหาหาเรื่องการประเมินเทคโนโลยีก็เข้ามา นี่เป็นปัญหาทางด้านระบบสุขภาพทั้งนั้นเลย
ยกตัวอย่างเช่น กรณีบัตรทอง บัตรประกันสุขภาพ กรณีที่ปวดเข่า ความจริงแล้ว เป็นสิ่งที่พบกันเยอะมาก แต่สาเหตุก็อยู่หลายอย่าง สาเหตุหนึ่ง คือ น่าจะง่ายที่สุด คือ บริหารร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณเข่านี้ แข็งแรงขึ้น และโรคจะหายไป แล้วทางเลือกคืออะไร เช่น ถ้าเราอ้วนเกินไป เราไปลดความอ้วนดีไหม เราควรจะใช้ยาหรือเปล่า ยาอะไรดี ถ้ามีการผ่าตัดจะเป็นเช่นไร ทั้งหมดเหล่านี้ คุณภาพ ประโยชน์ ราคา ก็แตกต่างกัน
มีการโฆษณาของยาชะลอรักษาโรคข้อเสื่อม สุดท้ายเป็นเอกสารเหมือนให้ความรู้ ว่ามีการรายการว่ามีการรองรับจากสถาบันใด ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ยาตัวนี้มีการช่วยได้ดีเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่มีหลักฐานว่าข้อดีหรือไม่ ยาตัวนี้ราคาแพง แต่ต้องใช้เป็นเวลานาน แต่ในฐานะของมูลนิธิ ของสถาบัน มันเป็นการอ้างอิงที่เชิงวิชาการ ที่เป็นเครื่องมือในการหลอกชาวบ้าน อาจจะถูกหลอกตัวเองด้วยว่า การศึกษาจากรายงานวิจัยรายงานเดียว ไม่ใช่คำตอบ ไม่อาจเชื่อถือได้ ดังที่เราเห็นในทีวี ที่มีการโฆษณาเชื่อถือ ว่าดีอย่างไร แล้วอ้างว่าจะใช้ได้ผล แล้วมันจะมีอยู่จริงหรือไม่ ความจริงต้องมีการพิจารณากว้างขวางกว่านั้น
ประเด็นสุดท้าย เรื่อง การบริหารจัดการสมัยใหม่ คือ การมีการบริหารจัดการที่ต้องไม่ขาดทุน คือ สิ่งที่ไม่ดี ก็ต้องตีความว่าไม่ยั่งยืน ไม่สามารถยืนอย่างดีได้ และเราควรประหยัดอย่างพอดี ด้วยปัญญาน้ำใจ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่จะมีปฏิบัติจริงได้อย่างไร หากเราจ่ายในสิ่งที่จำเป็นแม้ว่าจะราคาแพง ไม่จ่ายถ้าไม่จำเป็นและไม่คุ้มค่า ประสิทธิภาพจะได้ผลด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด รวมทั้งหมดนี้ คือ การจำกัด ค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในวิชาชีพแพทย์และพยาบาล ในวงการ การบริการของระบบสถานพยาบาล เนื่องจากมีความฟุ่มเฟือยในการใช้จ่าย
เรามีเครื่องมือคุณภาพต่างๆ ข้อมูลสถิติ บันทึก กฎเกณฑ์ บัญชียา แนวปฏิบัติ เวชระเบียน ซึ่งสิ่งเหล่านั้น เป็นเครื่องมือ ซึ่งไม่ต้องพูดมาก และพวกเราก็ตระหนักแล้วถึงเรื่องนี้
ศ.นพ.จรัส กล่าวสรุปว่า ระบบคุณภาพ ที่เราประชุมมาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 11 การพัฒนาบุคลากร ความรู้ ประสบการณ์ ฝีมือ ทีมงาน ระบบการส่งต่อ ข้อจำกัด การมีส่วนร่วม การแพทย์ การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ทั้งหลาย ดังนั้น เราต้องมานั่งนึกถึงปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานให้เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาของสังคม ทั้งสังคมไทย และระบบสังคมโลก คือ ความพอเพียง ความพอดี ทางสายกลาง ซึ่งต้องอาศัยความถูกต้อง มีเหตุผล มีหลักฐาน มีความรู้ เป็นขั้นตอน สมควรตามฐานะ
อีกด้านหนึ่ง คือ ภูมิคุ้มกันของความไม่แน่นอน ต่ออนาคตจากการเปลี่ยนแปลงภายนอก จะต้องไม่เสี่ยงจนเกินไป และไม่หวังผลเลิศจนเกินไป มีความมั่นใจในตนเอง มีเจตคติที่ดี บนฐานของความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวัง และปัญหา บนฐานของความซื่อสัตย์ สุจริต
ถ้าใครขับรถบนทางด่วน มีป้ายโฆษณาบ้านหรู ราคา 19.6 - 52.6 ล้านบาท นึกไม่ออกเลยว่าทำไมบ้านจะราคากว่า 50 ล้านบาท เขาโฆษณารถหรู ราคาเริ่มต้นที่ สิบล้าน ไม่รู้จะดีได้อย่างไร นาฬิกาเรือนละ ล้านบาท ปัญหานี้ เป็นปัญหาค่านิยมโดยรวมเลย เป็นปัญหาความโก้หรู เป็นปัญหาความเลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบ สภานี้เป็นสภาพสังคมโดยรอบ เป็นการสร้างความฟุ้งเฟ้อของโลก
แต่สำหรับ ค่านิยมสังคมไทยแล้วควรเน้นหลักการประหยัดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และต้องคิดว่า ควรหรือไม่ที่จะละอาย ที่จะอวดความมั่งมี ซึ่งผมคิดว่า การขึ้นป้ายโฆษณา ถือเป็นการตบหน้าความมั่งมีของระบบสุขภาพที่ไม่มีความสามารถในการสร้างบ้าน แม้แต่ราคา 2-3 ล้าน ยังไม่สามารถสร้างได้ แต่มีการโฆษณาราคากว่า 40 -50 ล้าน ถือเป็นการชวนเชื่อที่เกินความสามารถ
ถ้าพูดกันเองในวงการสนทนา วงแคบ คงไม่เป็นไร แต่หากมาโฆษณาในสังคมนี้ น่าต้องเป็นเรื่องน่าอายมากกว่าอวด คือ ค่านิยมในสังคมของเรา ที่ต้องถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับบุคคลแต่ละคน รวมทั้งเราเองด้วย ต้องละเว้นจากการตามอย่างมีคนทำอย่างโน้น เราก็จะทำตามไปเรื่อย มากกว่า การที่เราเป็นตัวของตัวเอง และเราควรจะระงับความอยาก
สำหรับคุณธรรมจริยธรรม ในระบบของสุขภาพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช บอกว่า ผู้ที่มีความรู้น้อย โกงน้อย ผู้ที่มีความรู้มาก จะโกงได้อย่างพิสดาร ท่านพูดได้ดี เพราะฉะนั้น เราคงต้องรักษาศีล ศีล 5 นี้จะเป็นศีลเบื้องต้น และเป็นสิ่งที่เราควรรักษา แต่เอามาเฉพาะสองอันเลย คือ ห้ามลักทรัพย์ กับ ห้ามพูดปด ถ้าเรารักษาศีล 2 ศีลนี้ได้ในวิชาชีพ มันก็จะคงจะช่วยแก้ปัญหาไปได้
สำหรับสิ่งใหม่ที่ทั่วโลก จะเกิดหลักจริยธรรมสำหรับเทคโนโลยี ในสังคมใหม่ เราต้องหาหลักจริยธรรมนี้ ที่นำไปสู่ความยั่งยืน ทั้งในวิชาชีพ ทั้งในสังคม ตอนนี้ก็เป็นระยะเปลี่ยนผ่าน เรามีสถาบันรับรองสถานพยาบาล หรือ สรพ. เป็นองค์การมหาชน ก็เป็นจุดเปลี่ยน เป็นผลสำเร็จ ของพวกเราทุกคน ที่จะได้พัฒนาในเวลา 12 ปี หรือกว่านั้น ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดการมองเห็นคุณภาพของบริการสุขภาพ บริการสุขภาพที่เหมาะสม ที่ถูกต้อง ซึ่งสำหรับวันนี้เห็นชัดว่าเรายังต้องปรับอีกเยอะ และที่สำคัญ คือ คงต้องปรับในใจของเราเอง”