ปาฐกถา ::: ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช “การบริหารการศึกษาตามความต้องการของสังคม”
ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานสถาบันนโยบายศึกษา ปาฐกถาพิเศษ “การบริหารการศึกษาตามความต้องการของสังคม”ในงานสัมมนา “การบริหารการศึกษาตามความต้องการของสังคม” (Education on Demand) ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553
ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาว่า การศึกษาเป็น เรื่องที่มีความสำคัญมากในขณะนี้ ขณะที่สังคมกำลังมีการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับ การจัดการศึกษานั้นยัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากการจัดการศึกษาไทยนั้นให้ความสำคัญในเรื่องความดี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการจัดการศึกษาที่เป็นหลักสูตรเดียว และใช้วิธีการสอน ทำให้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างน้อย ทั้งๆที่โลกและความรู้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งสำหรับการเน้นความมีเอกภาพของการศึกษา พบว่า ต้องการให้การศึกษาเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง และส่วนใหญ่รัฐยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา
สำหรับเรื่องการจัดการศึกษาตามความต้องการของสังคม เพื่อหาแนวทางการจัดการศึกษาอย่างไรให้ตรงความต้องการของสังคมนั้น ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการศึกษา นอกเนื่องไปจากสร้างความเสมอภาคทางคุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรในการศึกษา เพื่อให้เกิดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม
การจัดการศึกษากับความสอดคล้องของการศึกษาที่มีต่อสังคม
ประธานสถาบันนโยบายศึกษา กล่าวว่า ความสอดคล้องของการศึกษาที่มีต่อสังคม คงไม่ใช่บทบาท การศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว ที่จะตอบสนองความต้องการของสังคม แต่การศึกษายังต้องทำอะไรที่นำสังคม หรือเป็นอะไรที่จะช่วยพัฒนาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในสังคมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และมีคุณธรรม เป็นคนดี นอกเนื่องไปจากการได้ความรู้
“ในสมัยก่อน ในประเทศสหรัฐอเมริกา เคยมีความคิด ของเดวี่ ว่าการศึกษามีส่วนสำคัญมากในการพัฒนาประชาธิปไตย หมายความว่า การศึกษาไม่ใช่แต่เพียงการให้ความรู้ในสาระวิชาต่างๆในชั้นเรียนเท่านั้น แต่จะต้องสร้างค่านิยมชุดหนึ่งที่สอดคล้องกับชีวิตในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วย การมองบทบาทของการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวางมากกว่าที่ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนแต่เพียงอย่างเดียว
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความต้องการทางสังคม ว่ามีความหมายแคบหรือกว้าง ถ้ามีความหมายแคบก็เพียงแต่สังคมมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ความต้องการทางสังคมในระบบทุนนิยมก็คือ ต้องการให้การศึกษาสามารถที่จะพัฒนาแรงงานที่มีความรู้ มีทักษะ และมีประสิทธิภาพ ที่จะไปสร้างระบบเศรษฐกิจ แบบทุนนิยม แต่ถ้ามีความหมายกว้าง ว่าความสำคัญทางสังคมไม่ได้ตอบสนองเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง แต่การศึกษาจะต้องมีบทบาทในการสร้างคนให้เป็นคนอย่างสมบูรณ์ ในการสร้างอุปนิสัย สร้างคุณธรรม สร้างค่านิยม ให้คนสามารถอยู่ด้วยกันในสังคม อย่างสันติ และมีความสามัคคีปรองดองกัน เป็นต้น”
สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ สังคมในที่นี้จะหมายถึงอะไร ถ้าเรามองว่าการศึกษาจัดการในตรงความต้องการของสังคม ในสังคมที่ใหญ่ที่กว้างขวางแล้ว แต่อาจทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่เสมอภาคได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องมองว่าสังคมมีลักษณะอย่างไร
“ส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะมองสังคมว่า เป็นสังคมที่พัฒนาแล้ว กับสังคมที่กำลังพัฒนา สังคมที่พัฒนาแล้ว คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง และเป็นสังคมอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม สังคมที่ไม่พัฒนาก็ถูกมองว่า เป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นเมือง และเป็นชนบท ผู้ที่มีรายได้ที่ดี และมีรายได้ต่ำ เป็นต้น”
สังคมไทย ถูกเรียกว่า เป็นสังคม 4 ฐาน
ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวว่า การจัดการการศึกษามุ่งให้คนในสังคมได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง จึงมีการศึกษาภาคบังคับ และการจัดการศึกษาส่วนใหญ่ ก็ไปเน้นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสังคมไทย เป็นสังคมไม่ได้มีสังคมเพียงสองส่วน แต่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลง และถูกเรียกว่า สังคม 4 ฐาน คือ
1.สังคมแห่งการแข่งขัน คือสังคมที่เข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์แล้ว เป็นสังคมที่มีระบบการผลิตที่เน้นการส่งออกเป็นสำคัญ มีแรงงานที่ทำงานทางด้านการผลิตสินค้า และการให้บริการ และมีความผูกพันกับเศรษฐกิจของโลก กลุ่มคนเหล่านี้ เป็นเพียงกลุ่มคนส่วนหนึ่งในสังคมไทย เป็นผู้ที่มีวิถีชีวิต และผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องอยู่นอกเหนือสังคม จะเห็นได้ว่า คนในสังคมจำนวนมาก ทำงานโดยจะไม่รับเงินประจำ แต่รับเป็นค่าธรรมเนียมบริการ เช่นผู้ที่ทำงานวิชาชีพหรือทางด้านกฎหมาย ในสำนักงานกฎหมายบางแห่ง ไปทำงานช่วงกลางคืน ซึ่งตรงกับเวลาการทำงานของสหรัฐอเมริกา รับค่าธรรมเนียมตามอัตราของนักกฎหมายในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
คนในสังคมเช่นนี้ มีชีวิตอยู่ด้วยการที่มีความคาดหวังการศึกษาแตกต่างกับคนทั่วไปของสังคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรงเรียนหลักสูตรอินเตอร์เนชั่นแนล หรือโรงเรียนสองภาษา เกิดขึ้นมาก และตอบสนองของคนในสังคมส่วนนี้ที่เป็นสังคมเสี้ยวเล็ก ซึ่งบุคคลเหล่านี้ยอมจ่ายเงินเพื่อการศึกษาก็สูงถึง 500,000-1,000,000 บาทต่อปีในการรับบริการ ซึ่งแตกต่างกับการจัดการศึกษาระบบขั้นพื้นฐานอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักสูตรของครู และเครื่องมือเครื่องใช้และการลงทุนของทรัพยากรทางการศึกษา การคัดเลือกครูก็มีการคัดเลือกจากต่างประเทศ เช่น ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และบางส่วน ส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศ
2.สังคมฐานานุภาพ คือ สังคมที่เห็นการศึกษาและค่านิยมของการศึกษาว่าเป็นการเพิ่มสถานภาพ ทางสังคมให้ มหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มขยายการให้ปริญญามากขึ้น นอกจากปริญญาตรี ยังมีปริญญาโท ปริญญาเอก เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยจะให้ความสำคัญกับการศึกษามาก เพราะการศึกษาเป็นบันไดเลื่อนสถานภาพในทางสังคม ดูได้จากมีนักศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวนนับล้านคน และหลักสูตรการจัดการศึกษามีความแตกต่างจากสมัยก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโครงการต่างๆในแต่ละมหาวิทยาลัย แต่การศึกษาในสังคมเช่นนี้ ยังคงก่อให้เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพทางการศึกษา
3.สังคมแห่งความพอเพียง คือ สังคมต่างจังหวัดโดยทั่วไป คือ คนทั่วไปพยายามอยากได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น เมื่อจบชั้นประถมก็อยากเรียนในระดับมัธยมฯ ปวช. ปวส. และอยากเรียนไปจนถึงระดับปริญญาตรี แต่ไม่จำเป็นต้องถึงระดับปริญญาโท ความต้องการของสังคมในส่วนนี้ คือ การมีงานทำ การมีชีวิตที่อยู่อย่างอยู่เย็นเป็นสุข
4.สังคมด้อยโอกาส คือ ส่วนของสังคมในชนบท คนส่วนใหญ่ยังเป็นคนยากจน เป็นชาวนาที่ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง เป็นผู้ที่อยู่ในกระแสของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความต้องการของสังคมส่วนนี้ คือ การยกระดับและขยายโอกาสทางการศึกษา ต้องการ โรงเรียน มัธยมฯ ซึ่งรัฐก็ตอบสนองได้ดี ดังที่เห็นว่ามีโรงเรียนขนาดเล็กมากมาย ที่จำเป็นจะต้องยุบรวม และมีความต้องการที่จะมีการศึกษาในระดับหนึ่งเท่านั้น
เราจะเห็นว่า การจัดการศึกษา เพื่อความต้องการของสังคมนั้น สังคมมีความต้องการที่หลากหลาย ขึ้นอยู่ที่เราเลือกใช้จัดการการศึกษาให้เหมาะสำหรับพื้นที่ จะเป็นแบบลู่เดียวหรือหลายลู่ หรือใช้ทางเลือกหลายอย่าง โดยขณะนี้ เราก็มีการแบ่งประเภทของมหาวิทยาลัย เช่น เรามีมหาวิทยาลัยวิจัย เป็นต้น มหาวิทยาลัยที่สอนเฉพาะปริญญาตรี วิทยาลัยชุมชน มีมหาวิทยาลัยเน้นเฉพาะการสอน ส่วนที่เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย ก็ต้องการที่จะยกระดับ การวิจัยการสร้างนวัตกรรม ต้องการที่จะให้ประเทศไทย มีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น
หลักสูตรการจัดการศึกษาไทยในปัจจุบัน
ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวถึงการจัดการศึกษาในประเทศไทยว่า หลักสูตรของประเทศไทยนั้น แต่เดิมไม่มีความยืดหยุ่นมากนัก แต่ในระยะหลัง มีการยืดหยุ่นมากขึ้น โดยยอมให้ มีวิชาที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ แต่ การจัดการหลักสูตร ยังคงเน้นสาระความรู้ทางวิชาการ ทั้งๆที่โลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ช่องว่างที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่ความรวยความจนอีกต่อไป แต่เป็นช่องว่าง ในทางความรู้ ซึ่งนอกจากจะเป็นสังคมแห่งความรู้แล้ว สิ่งที่เพิ่มเติม คือ เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ คือนอกจากมีความรู้แล้ว ต้องมีความคิดในแนวการสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการอีกด้วย
เมื่อเรามองเช่นนี้แล้วจะมีการจัดการศึกษาอย่างไร ซึ่งเราสามารถแบ่งการจัดการศึกษาได้เป็น 2 ส่วน คือ1.คุณภาพการศึกษา ว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน 2.การศึกษาให้สอดคล้องกับสังคมส่วนต่างๆได้อย่างไร
ประธานสถาบันนโยบายศึกษา กล่าวว่า “การจัดการศึกษาที่ผ่านมา เป็นร้อยปีนั้น แต่ก่อนนั้นค่อนข้างง่าย เพราะคามรู้มีอยู่จำกัด และองค์ความรู้ ไม่ได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วเหมือนปัจจุบัน แต่ในขณะนี้ ความรู้ที่เรียนในปีนี้ ในปีหน้าอาจจะเป็นความรู้ที่ล้าสมัย เช่น สถาปนิก เมื่อก่อนวาดรูปเก่ง และสมัยนี้ต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบ จะแก้แบบก็แก้ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ความรู้ที่มีในสาขาวิชาก็ไม่ใช่ความรู้ในเชิงเดี่ยวอีกต่อไป แต่มีการผสมผสาน หรือการบูรณาการ หรือมีความรู้เป็นสหวิทยาการ
ถ้าถามว่า เราจะเตรียมคนให้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรและทำอย่างไรเราถึงจะเรียนที่จะรู้ได้ ขณะที่ความรู้มีอยู่มากมาย กว่าช่วงอายุของคน ข้อมูลข่าวสารก็มีมากมาย เพราะฉะนั้น การที่จะเลือกรับข้อมูลข่าวสาร บางส่วน และปฏิเสธ ไม่รับข้อมูลข่าวสารอีกส่วน ทำอย่างไร
“ผมคิดว่าในยุคนี้ เราต้องปรับการจัดการเสียใหม่ ให้เน้นการให้ทักษะมากกว่าการให้สาระ อย่างน้อย ครึ่งหนึ่ง เพราะถ้าหากเรามีความรู้ทางด้านทักษะ จะถือว่าเราได้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความรู้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราก็สามารถที่จะใช้ทักษะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและใช้กับการดำเนินชีวิตของเราในอนาคตได้ อย่างน้อยทักษะที่สำคัญ 4 ด้านก็คือ
1.ทักษะทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเครื่องมือการเรียนรู้แบบใหม่ ที่เราเป็นเจ้าของได้ แต่ใช้ได้ตามจังหวะการเรียนรู้ของ ให้เท่าทันกับความร่วมมือการใช้เทคโนโลยีนั้น
2.ทักษะภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เนื่องจากความรู้ในโลกความรู้ไซเบอร์ ในขณะนี้เป็นภาษาอังกฤษ ทักษะนี้จำเป็นและสอดคล้องกับทักษะทางด้านเทคโนโลยี
3.ทักษะทางด้านการสื่อสาร จากคนต่างๆ ซึ่งก็เป็นทักษะที่มีความสำคัญ
4.ทักษะการคิด ซึ่งในหลักสูตรของเรานั้น ยังไม่ปรากฏเท่าใด โดยที่มีสมมุติฐานว่า ถ้าเปิดสอนและมีการตั้งคำถามให้มีการวิเคราะห์แล้ว คนก็จะคิดเป็น แต่จริงๆการคิดนั้นสามารถฝึกการเรียนรู้ได้
ซึ่งทั้ง 4 ทักษะนี้ จำเป็นไปนอกจากทักษะชีวิตที่มนุษย์จำเป็นต้องมี
ศ.ดร. ชัยอนันต์ กล่าวอีกว่า คนคนหนึ่ง ต้องอยู่ในระบบโรงเรียน 12 ปี เป็นอย่างน้อย ถ้าจะเรียนจนถึง ปริญญาเอกก็ประมาณ 15-17 ปี สรุปว่าในช่วงอายุหนึ่ง คนเราอยู่ในระบบโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ และหลักสูตรก็เป็นเรื่องของการที่คุณครูเข้ามาบรรยาย ไม่มีกิจกรรมที่คนๆหนึ่งจะฝึกทักษะชีวิตหรือพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
“มีโรงเรียนน้อยแห่งที่สอนศิลปะ สอนดนตรี และให้เด็กได้เล่นกีฬา อย่างมาก ถ้าเป็นโรงเรียนในอังกฤษ กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตในโรงเรียนของเด็ก เราจะพบว่าคนที่จบในโรงเรียนอังกฤษ จะมีความรอบด้านมากกว่าคนที่จบโรงเรียนโดยทั่วไป เพราะว่าเขาเรียนรู้หลายอย่าง มีกิจกรรม โต้วาที ทำประโยชน์เพื่อสังคม กิจกรรมกลางแจ้งมากมาย”
เพราะฉะนั้น การบริหารการศึกษาเพื่อความต้องการของสังคม สังคมทุกส่วนต้องการทักษะหลายด้าน เช่นที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะทักษะการคิด ที่การคิดช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากความคิดสร้างสรรค์
“เราลองคิดดูว่าทำไมรองเท้าในประเทศไทยขายคู่ละ 200-300 บาท แต่ในอิตาลี ขายคู่ละ 10,000 ถึง20,000 บาท หรือ กระเป๋าผู้หญิง เสื้อผ้า ที่มีแบรนด์เนม มีราคาสูงมาก สิ่งที่มีแบรนด์ต้องเสียเงินไปมาก ที่เรียกว่า แบรนด์ สิ่งที่เขาใส่ลงไปนั้น มาจากการออกแบบ เกิดจากความสร้างสรรค์ เกิดจากความคิดที่ผลิตเป็นสินค้าและบริการ ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่คนไทยเรา ถ้าใครอยากจะคิดสร้างสรรค์ ออกแบบก็ต้องรอจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ไปเรียนสถาปัตย์ การออกแบบอุตสาหกรรม เป็นต้น
ในประเทศอังกฤษสอนวิชา Design and technology ตั้งแต่สมัยเด็กๆ การออกแบบก็ต้องใช้เทคโนโลยี และนำไปใช้ด้วยมือ หรือถ้าพึ่งเครื่องจักร เขาสอนตั้งแต่วัยเด็ก ไม่แปลกใจว่าอังกฤษในขณะนี้ มีนักออกแบบ ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นส่วนใหญ่ เพราะเขาสามารถที่จะเอาความรู้สร้างสรรค์ได้อย่างกว้างขวาง”
ประธานสถาบันนโยบายศึกษา กล่าวว่า การจัดการด้านการศึกษาที่มีลักษณะเอกภาพเชิงเดี่ยว เน้นในเรื่องการเหมือนกันทั้งหมด ต้องมีการปรับปรุง เรื่องหลักสูตรบ้านเรามีวิชาเลือกมากมาย แต่วิชาเลือกที่จะเปิดสอนทั้งหมดมีน้อยมาก บางที่ก็เป็นเลือกเชิงบังคับ เป็นต้น ดังนั้น การจัดการศึกษาแบบนี้ ทำให้คนเราอยู่ในโลกแคบ และเรียนรู้ในเรื่องของสาระมากกว่าทักษะ และเมื่อเรียนจบไป ก็เป็นสาเหตุให้จำไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร
เน้นทักษะทางวิชาชีพมากกว่าวิชาการ
การจัดการศึกษาที่มีปัญหาเฉพาะคุณภาพ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะเมืองไทย แต่ต่างประเทศที่นึกว่าไม่มีปัญหาก็มีบ้าง เด็กในประเทศอังกฤษบางส่วน ยังคิดว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก และเสียงวิ่งเร็วกว่าแสง เด็กในอเมริกาส่วนหนึ่ง ทอนเงินก็นับผิดนับถูก และการจ่ายเชคก็ยังมีการเขียนผิดอยู่มากมาย แสดงว่าการศึกษาในหลายประเทศก็ยังมีความล้มเหลว ไม่มีคุณภาพ
“ผมเคยพบคนทำงานเป็นช่างเทคนิค ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ คนเหล่านั้นจบเพียงชั้นมัธยมเท่านั้น แต่สามารถทำเครื่องฝีมือให้กับห้องแล็ปได้ แสดงว่า การเรียนรู้ที่เน้นทักษะมีความสำคัญ”
ประเทศไทยยังจำกัดเรื่องค่านิยมมาเกี่ยวข้องด้วย ว่า การเรียนในโรงเรียนวิชาการนี้สูงส่ง มีคุณค่ามากกว่า การทำอะไรด้วยมือเพราะฉะนั้น การอาชีวะของเราจึงไม่ค่อยได้รับความก้าวหน้าเท่าที่ควร ซึ่งเราควรเน้นให้มากขึ้น
ศ.ดร.ชัยอนันค์ กล่าวว่า เมื่อครั้งยังบริหารโรงเรียนอยู่นั้น ก็รู้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง เห็นว่าไม่มีค่ามากนัก ถ้านักเรียนที่จะเรียนสายวิชาชีพ ผมก็เลยทำให้มันฟังดูดี ก็คือเอาวิชา Design and technology เข้ามาสอน จริงๆแล้วก็เป็นการสอนในเรื่องไฟฟ้า เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ในเรื่องช่างไม้ การออกแบบและใช้คอมพิวเตอร์ แทนที่จะเรียกว่าสายวิชาชีพ แต่อย่างน้อยเขามีทักษะที่จะออกไปทำอะไรได้ในอนาคต ซึ่งถ้าเขาได้ทั้ง 4 ทักษะ อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของสาระวิชาที่เขาได้และลืมไปหมด ทักษะที่เขาเคยทำ ยิ่งทำมาก ก็ยิ่งมีความชำนาญมาก การเรียนรู้ก็จะไม่เสียไป อันนี้ก็เป็นส่วนแรกที่เราต้องพัฒนาและปรับปรุง คุณภาพการศึกษา ให้เน้นในเรื่องทักษะมากกว่าสาระ
ความต้องการของการจัดการศึกษาของสังคม
มาดูถึงเรื่องความต้องการของสังคม ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวว่า ในเรื่องของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ประเทศไทยทำไว้ค่อนข้างดี เพราะ การศึกษาขั้นพื้นฐานได้กระจายไปทั่วประเทศ สังคมทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นสังคมด้อยโอกาสสังคมพอเพียง สังคมการแข่งขัน ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับอานิสงส์การการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งนั้น แต่ถ้ามองลึกลงไปแล้วในสังคมด้อยโอกาสก็ยังมีบุคคลพิเศษ ที่มีความด้อยโอกาส เพราะร่างกายบกพร่องอีก ฉะนั้น การจัดการศึกษาพิเศษเหล่านี้ มันแพงกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอด สอนคนหูหนวก ต้องใช้เงิน ต้องใช้อุปกรณ์ ต้องใช้ครูที่มีความสามารถพิเศษ อันนี้เราค่อนข้างจะจัดไว้ให้อย่างดี และเรามีองค์กรเอกชน อาสาสมัคร เข้ามาช่วยมากมาย แต่ว่าสังคมด้อยโอกาส ที่ยังได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานชั้นต้นที่ยังไม่ได้รับการศึกษาขั้นมัธยมศึกษา เพราะฉะนั้น การจัดการศึกษาสำหรับคนเหล่านี้ การเน้นทักษะยิ่งมีความสำคัญใหญ่ที่ทักษะนั้นจะหมายไปถึง สายวิชาชีพด้วย
“ในสังคมด้อยโอกาสจะพบว่า จบการศึกษาเพียงชั้น ป.4 และได้ไปเรียนอีกทีก็ตอนถูกเกณฑ์ทหาร เข้าไปก็ถูกสอนการซ่อมจักรยานยนต์บ้าง ซ่อมรถ ตัดผม ดังนั้น คนพวกนี้ก็ได้เรียนน้อยก็เป็นได้เพียงเช่นนี้ ถ้าไม่มีทักษะอย่างดีในการเรียนรู้ก็ไปเป็นยามเฝ้าสถานที่ต่างๆ ที่เรียกว่า รปภ. เต็มไปหมด
ดังนั้น การจัดการศึกษาสำหรับสังคมด้อยโอกาส ผมคิดว่า เน้นเรื่องการพัฒนาวิชาชีพแทนที่มุ่งให้ความรู้ทางวิชาการ เน้นฝึกวิชาชีพมากขึ้น เวลานี้สถานศึกษาในต่างจังหวัดก็มีการทำเกษตรกรรม อย่างที่สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงสนับสนุนอยู่ ก็มีการเลี้ยงไก่ ปลูกผักสวนครัว ทำน้ำปุ๋ย ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ถูกทาง การจัดการศึกษาในแบบนี้ก็ควรจะมีหลักสูตรเน้นการพัฒนาทักษะอาชีพชีวิตให้มากขึ้น”
“ส่วนที่เป็นของสังคมฐานานุภาพ ปัญหาหนักคือ คุณภาพของการเรียนในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริญญาตรี ปริญญาโทและการที่ของเรามีสายศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์มาก แต่สายวิทยาศาสตร์บางสาขาวิชายังมีน้อย เช่น สาขาฟิสิกส์ เป็นต้น นั่นคือว่า เราจะจัดการศึกษาอย่างไร ให้มหาวิทยาลัยผลิตบุคลากร ทางด้านวิทยาศาสตร์ และมีการจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องนอกห้องเรียนมากขึ้น ลดหน่วยกิตปริญญาตรีลงจาก 140 หน่วยกิต อาจจะมีให้สัก 20 – 30 หน่วยกิตที่ให้ออกไปทำงานในที่ต่างๆ ไม่เช่นนั้น เราจบมาแล้วไปทำงานบริษัท เขาจะเอาไปฝึกซ้ำอีก แม้แต่จบวิศวกรรมศาสตร์ ก็ยังต้องเอาไปฝึกซ้ำใหม่ ก่อนเข้าไปทำงานในโรงงาน เป็นต้น”
โจทย์สิ่งที่ยากก็คือ การสร้างการวิจัยและนวัตกรรมในระดับที่จะทำให้ประเทศไทย ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เครื่อง GT200 ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ แต่เกี่ยวข้องกับความซื่อสัตย์สุจริตของคนมากกว่า เพราะฉะนั้น การสร้างนวัตกรรม และงานวิจัย เพื่อจะให้เรามีความสามารถ ที่จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นับเป็นสิ่งสำคัญและท้าทาย
ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวว่า รัฐบาลเคยบอกว่า จะให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ก็เป็นเพียงลมปาก ปัจจุบันก็ยังรอเงินวิจัยอยู่ และยังไม่แน่ว่าจะได้เมื่อไร เพียงเป็นแค่โครงการเท่านั้น และส่วนของงบที่ใช้วิจัยและพัฒนาของไทยก็มีน้อยมาก ไม่ถึง 1% ของ DGP เพราะฉะนั้น การจัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในด้านนี้ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย ก็เป็นเป้าหมายต่างจากการจัดการศึกษาของสังคมส่วนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง แต่มหาวิทยาลัยเราไม่ค่อยตระหนัก เพราะว่า เราไปมองสังคมมิติเดียว เป็นเหมือนก้อนดินก้อนเดียว เราก็สอนกันไปโดยไม่ดูว่ามีความสอดคล้องหรือไม่
“โอกาสทางการศึกษาในเรื่องความสอดคล้องกับความต้องการทางสังคม เรายังมีน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะให้มหาวิทยาลัยได้มองกลับไปช่วยสังคมด้อยโอกาสให้มากที่สุด แล้วก็มีการวิจัย ทำการวิจัย หรือการศึกษาท้องถิ่น ปัญหาพื้นฐานในทางสังคมให้มากกว่านี้ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม และการทำมาหากินต่างๆ พัฒนาเทคโนโลยี ที่เหมาะสมสำหรับการผลิต สินค้าที่ไม่ใช่สินค้าอุตสาหกรรม
เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยที่อยู่ในสังคมแบบการแข่งขัน ก็ไม่ควรคิดว่า จะทำเฉพาะการแข่งขันอย่างเดียว ควรจะจัดการศึกษาให้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา อุทิศเวลาและตัวเองให้กับสังคมส่วนอื่นๆ ที่ยังเสียเปรียบมากขึ้น”
แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และการศึกษาเป็นองค์ความรู้ที่ใหญ่ มีบุคลากรนับแสนคน การที่จะทำให้คนนับแสนคนเปลี่ยนพฤติกรรมพร้อมกัน เป็นเรื่องยาก
ถ้าหากเราจะพูดถึงการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ประธานสถาบันนโยบายศึกษา กล่าวว่า เราต้องมาทบทวนการจัดหลักสูตร การจัดสัดส่วนให้ทักษะและสาระเป็นสัดส่วนที่พอๆกัน การเพิ่มคุณภาพการแข่งขัน และสำหรับการจัดการทรัพยากรในด้านการศึกษานั้น ต้องมีการกระจายอำนาจการศึกษามากขึ้น เพราะหลายๆส่วนจะเกิดขึ้นได้จากการศึกษาระดับท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)และองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ซึ่งเวลานี้เป็นที่ยินดีว่าได้ก้าวหน้าไปมาก เช่น อุดรธานี และหนองคาย เพราะมีโรงเรียนที่ดี
“ผมเคยแนะนำวิธีแก้ปัญหาในอนาคตให้กับนักเรียนที่จังหวัดอุดร เขาก็คิดแก้ปัญหากับเรื่องรอบๆ ตัว ปัญหาท้องถิ่นจริงๆ ในหมู่บ้านเขา เพราะฉะนั้น การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ถ้ามองในระดับการจัดการศึกษาแล้ว เราจะมีพื้นที่การศึกษาไม่ได้ ต้องมีการโอนอำนาจอย่างแท้จริง ไปสู่โรงเรียนและจัดสรรทรัพยากรให้ทั่วถึง โดยให้ท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือ ทุ่มเทงบประมาณกับการศึกษามากขึ้น ”
ขณะนี้ ทรัพยากรในการศึกษา ถูกจัดไปจากส่วนกลาง ดังนั้น การมองความแตกต่างที่หลากหลายในท้องถิ่น มักจะถูกละเลยไป โดยสรุปแล้ว การจัดการศึกษา จะมีสาระสำคัญหลัก คือ 1.แนวคิด เกี่ยวกับความรู้ การจัดการทางด้านความรู้ 2.หลักสูตร ให้มีความยืดหยุ่น 3.คุณภาพมาตรฐานการศึกษา
“สำหรับระดับจัดการจัดการศึกษา ต้องมองว่า ถ้าเป็นการจัดการศึกษา ของส่วนที่มีความยากจนมาก น่าจะจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐให้เงินเพิ่มไปกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่คำนึกถึงเงินที่ได้มาจากรายหัวของเด็กนักเรียนเท่านั้น
สิ่งจำเป็นของการจัดการศึกษาต้องคำนึงถึงพื้นที่เป็นหลัก กระจายลงสู่สังคมให้รู้ ว่าการกระจายไม่เน้นเฉพาะสังคมโดยรวม จัดให้มีสอดคล้องกัน เพราะสังคมจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจมีวิธีที่ต่างกัน จุดเน้นที่ต่างกัน ความพยายาม การจัดสรรทรัพยากรที่ต่างกัน”