ปาฐกถา:ภิกษุณีธัมมนันทา “บนเส้นทางการพัฒนาจิตวิญญาณ การหล่อหลอม และการกำหนดเส้นทางชีวิต"
“รากที่เป็นตัวเราเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น การที่เราเห็นต้นไม้เห็นแต่ลำต้น และเห็นกิ่งก้านสาขา ฉะนั้นในส่วนของรากเราไม่เห็นจึงต้องฟูมฟักดูแลให้ดี นั่นหมายถึงชีวิตของพวกเราทุกคน อยากให้เราย้อนกลับไปดูรากของเรา มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง รักษารากเพื่อให้ต้นแข็งแรง มั่นคง”
ในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2553 ครั้งที่ 36 ภิกษุณีธัมมนันทา ปาฐกถาในหัวข้อ "บนเส้นทางการพัฒนาจิตวิญญาณ การหล่อหลอม และการกำหนดเส้นทางชีวิต" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา
ภิกษุณีธัมมนันทา เริ่มต้นเล่าถึงความสนใจเรื่องต้นหมากรากไม้ โดยเฉพาะเรื่องของรากว่า ได้เห็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พูดถึงรากของต้นข้าว ว่า ข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีมาก โดยเฉพาะรากของต้นข้าวนั้นจะมีความยาว เช่นถ้าต้นข้าวสูง 1 เมตร รากก็จะยาวถึง 1 เมตร ซึ่งความสนใจในเรื่องราก มาสู่การเฝ้าระวังต้นไม้ เริ่มทำความเข้าใจว่า ต้นไม้ที่เราเห็นนี้ เป็นเพียงสิ่งที่เราเห็นด้วยตา การที่ต้นไม้มีลำต้นแข็งแกร่ง แผ่กิ่งก้านสาขา แตกใบ ผลิดอกออกผลได้ ก็มาจากราก
“ต้นยางที่สูงตระหง่านตามลำพัง ต้องเป็นต้นไม้ที่รากแข็งแกร่ง โดยเฉพาะหากอยู่บนที่สูงแรงลมจัดมากๆ ต้นไม้ยังยืนหยัดอยู่ได้ แสดงว่ารากต้องมั่นคง ต้นไทรมีรากอากาศ ช่วยสนับสนุนลำต้น ต้นกล้วยอยู่กันเป็นกลุ่มเบียดกันทำให้ต้นเอน ต้องใช้ไม้ค้ำ แต่หากตัดรอบๆต้นใหญ่ออก ทิ้งให้ต้นใหญ่ยืนต้นตามลำพังจะได้เครือที่แข็งแรง หวีมาก ได้ผลเต็มที่ ขณะที่ต้นรอบๆ ตัดเพื่อให้ทยอยโต นี่คือธรรมะที่ได้จากต้นไม้ เมื่อทำความเข้าใจกับรากของต้นไม้ ก็มาทำความเข้าใจ รากของตัวเอง”
จากนั้น ได้เล่าตำนานที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของภิกษุณีธัมมนันทา ที่สร้างตัวภิกษุณีธัมมนันทาขึ้นมา เรื่องแรกเป็นเรื่องของยายน้อย คือน้องของยาย อยู่อำเภอหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี
“สมัยก่อนโจรเวลาจะเข้าปล้นบ้าน เขาเอาประกาศติด ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเอง ยายน้อย 2 คน ก็เอาพ่อแม่ที่แก่เฒ่าไปแอบไว้ในสวนกล้วยหลังบ้าน พอได้เวลาโจรเข้าบ้านยายซึ่งเป็นพี่น้องสองคน ก็ปีนไปขอบประตู คนละข้าง เอาผ้าประจำเดือนแขวนไว้ โดยสมัยโบราณเชื่อว่า โจรจะมีของขลัง และจะถูกทำลายด้วยเลือดประจำเดือน ทำให้เราเกิดความเข้าใจอะไรลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เมื่อโจรคนแรกไถลเข้ามาก็ถูกคุณยายฟันขาดสะพายแล่ง เป็นจุดที่โจรไม่คาดคิดว่า หัวหน้าโจรที่มีอาคมขลังมากๆ จะโดยฟัน ฉะนั้นบ้านนี้ต้องมีอะไรดีมากๆ ท้ายสุดก็ร้องว่า ไอ้เสือถอย
เป็นตำนานที่เล่าสืบทอด นี่ตระกูลของเรา การเผชิญกับปัญหาการที่เราจะต้องสามารถเผชิญกับปัญหาได้โดยไม่ต้องรอให้คนอื่นช่วย นี่คือตำนาน ที่อยู่ในความทรงจำ ที่มีอิทธิพลต่อเรา”
เรื่องที่สอง ภิกษุณีธัมมนันทา เล่าเรื่องคุณทวด “เป็นผู้ชายที่รูปร่างเล็ก อยู่จังหวัดตรัง มีอยู่ครั้งหนึ่งต้องไปงานวัด มีการจัดเปรียบมวย เป็นมวยต่างจังหวัด มีคนเก่งกล้ามากจนไม่มีคนขึ้นไปชกด้วย แต่คุณทวดกระโดดขึ้นไปรับคำท้าจนสามารถล้มยักษ์ได้ เรื่องขึ้นไปถึงพระเนตรพระกัณฑ์ ได้รับพระราชทานพระทินนาม เป็นหลวงเรืองฤทธิเดชะราชรองเมือง นี่เป็นเรื่องที่สร้างเรื่องความกล้า ขณะที่ความตระหนักรู้ทางการเมือง เพราะมีสายเลือดการเมือง เพราะคุณพ่อเป็นผู้แทนจังหวัดตรังคนแรก”
“อยากจะพูดถึงการเลือกชีวิต เริ่ม ค.ศ.1983 ช่วงนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว แต่ไม่เคยแสดงตัวว่า มีแม่เป็นภิกษุณี ใช้ชีวิตเป็นคนสองโลก จนกระทั่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชิญไปตอบคำถามเรื่อง อนาคตภิกษุณีสงฆ์ในสังคมไทยจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นการประชุมพูดเรื่องศาสนา ผู้หญิงแล้วก็การเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งผู้เข้าประชุมเป็นผู้หญิงทั้งหมด ร้องไห้กันเยอะ เห็นความทุกข์ยากของผู้หญิง อาตมาเริ่มสรุป เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาต่อสู้ ทำไมผู้หญิงมีความโกรธ กลับมาบ้านตั้งใจมาศึกษาปฏิบัติธรรมที่ชัดเจน เป็นจุดหักเห ตั้งใจจะไม่เป็นนักวิชาการเท่านั้น
หลังจากที่กลับมาจากการประชุมครั้งนั้นแล้ว หันกลับมาพิจารณาการปฏิบัติธรรมทางพุทธให้ชัดเจนมากขึ้น เรื่องที่ควรทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก เรื่องผู้หญิง ความรุนแรง ความทุกข์ยากของคน ความไม่ยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด เราจะทำอย่างไรที่จะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ โดยที่ตัวเราเองยังคงรักษาความสงบในใจของเราไว้ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ … ขณะเดียวกันทำอย่างไรให้จิตของเราเป็นปกติ ทำอย่างไรเราจะทำงานเพื่อสังคม เพื่อพระพุทธศาสนา
มีคนจำนวนมากถามว่า พรุ่งนี้กับชาติหน้า อย่างไหนจะถึงก่อน มี 1% ไม่เข้าใจอันไหนจะถึงก่อน 1% นี้เองทำให้เราต้องรักษาจิตของเราให้เป็นกุศลอยู่เสมอ แม้งานที่เราทำพวกสื่อจะพยายามผลักดันให้เราต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง บอกตรงนี้ว่า มิใช่ เพียงแต่ต้องมารับใช้ทำหน้าที่ภิกษุณีที่พระพุทธเจ้าประทานเอาไว้ ไม่มีเรื่องการต่อสู้สิทธิสตรีความไม่เท่าเทียมกันเลย เพราะความสามารถของผู้หญิงนั้นเรามีความสามารถดีกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ธรรมชาติของผู้หญิงเอง ไม่คิดว่างานที่ตัวเองทำเป็นการต่อสู้กับใคร
สื่อมักจะบีบคั้นให้เราพูดออกมาในลักษณะของการต่อสู้ หลายครั้งมีความรู้สึกว่า สื่อทำให้เราหลงทำให้เรื่องการบวชเป็นเรื่องของการต่อสู้ เพราะสื่อจะได้ขายดี ช่วงแรกรู้ว่า ตัวเองตกเป็นเหยื่อของสื่อ กว่าจะรู้เท่าทัน ก็โง่ไปเยอะ ไม่เป็นไรความโง่ของตัวเองทำให้มีการพัฒนาตัวเอง”
จากนั้นภิกษุณีธัมมนันทา เล่าถึงช่วงไปเฝ้าองค์ดาไลลามะ เมื่อปี ค.ศ.1985 และประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์แทบจะเอาชีวิตไม่รอด ทำให้ระลึกได้ว่า ชีวิตที่เหลือจากนี้ถือเป็นรางวัล และคิดได้ว่า ไม่ควรใช้ชีวิตที่เหลือเพื่อตนเอง
“ช่วงกลางอายุที่เราพบว่ารอบๆตัวเราดูเหมือนว่าหาสาระไม่ได้ ช่วงที่มีความทุกข์ไม่สามารถแก้ไขตัวเองได้ นี่คือสิ่งที่เราได้ค้นพบตัวเองจากความยากลำบากของตัวเองว่า จุดหนึ่งเราจะทำอะไรกับตัวเอง
ขึ้นต้นด้วยรากที่เป็นตัวเราเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น การที่เราเห็นต้นไม้เห็นแต่ลำต้น และเห็นกิ่งก้านสาขา ฉะนั้นในส่วนของรากเราไม่เห็นจึงต้องฟูมฟักดูแลให้ดี นั่นหมายถึงชีวิตของพวกเราทุกคน อยากให้เราย้อนกลับไปดูรากของเรา มีความเป็นมาอย่างไรบ้าง รักษารากเพื่อให้ต้นแข็งแรง มั่นคง
ผู้หญิงหลายคนมีปัญหากับแม่ ความสัมพันธ์แม่กับลูกต้องคลี่คลาย มิเช่นนั้นเราจะเป็นคนทุกข์ไม่เลิก อาตมาก็มีปัญหากับแม่ แม่เป็นผู้หญิงที่แกร่งยอมรับไม่ได้ที่เห็นลูกอ่อนแอ อาตมาโตมาเป็นคนอ่อนแอ ทำอะไรไม่เป็นแหย เป็นลูกคนเล็ก ต้องต่อสู้เยอะกับความคาดหวังของพ่อแม่ ต่อสู้กับการเลือกชีวิตของตนเองโดยไม่เลือกชีวิตที่คนอื่นกำหนดให้มา
คนรอบข้างคาดหวังให้เราบวชเพื่อสืบสานงานของแม่ ซึ่งการบวชเป็นการอุทิศชีวิต จนกระทั่งได้รับฟังชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีปัญหากับพ่อ ยอมรับพ่อไม่ได้ จนพ่อเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา กว่าเขาจะคลี่คลายได้ก็ใช้เวลายาวนานมาก ซึ่งการฟังเรื่องนี้ทำให้เข้าใจปัญหาของตัวเองที่มีกับแม่ ท้ายที่สุดสามารถรับแม่ได้ นี่เป็นเรื่องราวที่ผ่านการหล่อหลอม ผ่านเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ฝึกความมั่นคงอย่างไร
ช่วงที่บวชใหม่ ๆ โดนหนักมาก อย่างหนึ่งที่เอาตัวรอดมาได้ คือ ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจารี ความมั่นคงในธรรมะ ธรรมะจะรักษาเราได้ ทั้งหมดนั้นเป็นการยืนยันว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีจริง ผู้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนาก็ย่อมได้รับการดูแลจริงๆ”