พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่องการพัฒนาผู้นำเพื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตย
วันที่ 6 ก.พ. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปาฐกถาพิเศษ เรื่องการพัฒนาผู้นำเพื่อสร้างสังคมธรรมาธิไตย ในการประชุมวิชาการว่าด้วยนวัตกรรมผู้นำระดับชาติครั้งที่ 2 ณ อาคารอาทิตย์อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต
“ผมรับเชิญด้วยความยินดีและเต็มใจ โดยไม่ปฏิเสธคำเชิญ ทั้งๆที่ผมควรจะขอตัวเพราะผมไม่ใช่วิชาการที่พูดตามหัวข้อที่มหาวิทยาลัยกำหนด จึงใครเรียนกรุณาทราบว่า เบื้องหลังต่างๆ ที่ผมจะพูดในวันนี้ล้วนมาจากความรู้เล็กๆน้อย และส่วนมากมาจากประสบการณ์ที่สะสมไว้ในชีวิตการทำงานของผม เพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อความสงบสุขสันติสุข ปกติสุขของชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของผม ของท่านทั้งหลายและของคนไทยทั้งมวล
ผมขอชมเชยมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เพียรพยายามหาสิ่งที่ดีมีประโยชน์มามอบให้ลูกหลานของเราเสมอไป ผมมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับ ศรัทธา ความนิยมจากคนไทยและคนต่างประเทศ ผมได้ยินมาว่า เวลากล่าวถึงสถาบันการศึกษาในประเทศของเรา คนจะพูดเปรียบเทียบโดยใช้ดาวเป็นตัวเปรียบเทียบ ผมมีความเห็นว่า สถาบันการศึกษาไม่ใช่โรงแรม เป็นแหล่งความรู้ไม่เกี่ยวกับดาว
สถาบันการศึกษามีหน้าที่สำคัญมากหลายอย่าง เป็นแหล่งบ่มเพาะคน เป็นแหล่งประสาทความรู้ สถาบันการศึกษาใด สามารถปั้นคน ปั้นเด็กให้เป็นคนดี รู้จักคิด รู้จักสิทธิและหน้าที่เราต้องยกย่อง เราต้องชมเชย เราต้องให้เครดิตไม่ว่าสถาบันนั้นจะเป็นของรัฐหรือภาคเอกชนก็ตามไม่ใช่ให้ดาว
มหาวิทยาลัยกำหนดหัวข้อว่า การพัฒนาผู้นำกับการพัฒนาสังคมธรรมาธิปไตย แต่เรื่องราวที่ผมจะพูดต่อไปนี้อาจไม่ตรงกับหัวข้อ ผมขอเริ่มต้นดังนี้ ผมชอบคำว่าธรรมมาธิปไตยมาก ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานให้คำนิยาม ธรรมาธิปไตยว่า ธรรมาธิปไตย คือการถือธรรมเป็นใหญ่ ถือความถูกต้องเป็นหลัก เพราะสังคมธรรมาธิปไตย จึงต้องเป็นสังคมที่น่าอยู่ น่ารื่นรมย์ น่าศรัทธา ใครๆก็อยากเข้าไปเป็นสมาชิกสังคมนั้น เพราะฉะนั้นผู้นำของสังคมธรรมาธิปไตยจะสะดวกสบายในการนำ พัฒนาสังคม เพราะสังคมนั้นยึดถือธรรมยึดถือความถูกต้องเป็นปัจจัยเกื้อหนุน
เวลาเราพูดถึงคำว่าธรรม เราจะพูดถึงคุณธรรมบ้าง จริยธรรมบ้าง ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยกล่าวไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่งให้คำอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ โดยชี้แจงว่า โดยรวมเราควรพูดว่า จริยธรรม เพราะประกอบด้วยคุณธรรม คือธรรมที่เป็นคุณ และศีลธรรม คือธรรมที่เป็นข้อห้าม เป็นคำอธิบายที่มีเหตุมีผล
วันนี้เราจะพูดถึงเรื่องผู้นำ เมื่อเอ่ยถึงคำว่าผู้นำ ผมก็ถามตัวผมเองว่า เราจะได้ผู้นำมาโดยวิธีใด ผมตอบตัวเองว่า เราจะได้ผู้นำมาโดยการสร้าง มีข้อยกเว้นสำหรับคนบางคนที่โชคดีเกิดมา มีลักษณะของผู้นำติดตัวมาด้วย ข้อยกเว้นนี้มีน้อยมาก และผู้นำที่มีลักษณะติดตัวมาแต่เกิด ก็ใช่ว่าจะมีครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ ยังต้องสร้างเพิ่มเติมอีกหลายสิ่งหลายอย่าง
ฉะนั้น หลายสถาบันการศึกษาจึงมีหลักสูตรลักษณะผู้นำ (Leadership) สำหรับในการศึกษาทางทหารให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะผู้นำทางทหารมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน เวลาพูดถึงผู้นำ เมื่อมีผู้นำก็ต้องมีผู้ตาม ผู้นำคนใดเป็นคนดีมากๆ ก็จะมีผู้ตามมาก เหมือนคนมีเสน่ห์ ใครๆก็อยากอยู่ใกล้
หัวข้อที่มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีผู้นิยมขนานนามว่า เป็นมหาวิทยาลัยแห่งขุมพลังปัญญาของชาติ เพื่อร่วมสร้างสังคมธรรมาธิปไตย ถือเป็นปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ดีมาก ตรงเวลาพอดีกับสถานการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ ควรแก่การยกย่อง ให้ความร่วมมือ ร่วมคิด และร่วมใจเป็นอย่างยิ่ง
มหาวิทยาลัยรังสิตใฝ่หา ใฝ่ฝัน ว่า ถ้าในชาติบ้านเมืองของเราสามารถทำสังคมธรรมาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้จริง คนไทยจะมีความสุข คนไทยจะมีความเป็นธรรม และคนไทยจะได้รับความเป็นธรรม เพราะสังคมนั้น สังคมธรรมาธิปไตย คนไทยจะถือธรรมเป็นใหญ่ คนไทยจะถือความถูกต้องเป็นหลัก ผมเห็นว่าความใฝ่ฝันของมหาวิทยาลัยมีความเป็นไปได้สูงมาก และหากประสบความสำเร็จ ประเทศอันเป็นที่รักของเราจะมาสังคมที่เป็นแม่แบบของคุณงามความดีทั้งปวง ชาติบ้านเมืองของเราจะมีความสงบ และเป็นปกติสุข สมดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธาน
ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ปัจจุบันนี้ ปัญหามีว่าเรามีผู้นำแล้วหรือยัง มีพอแล้วหรือยัง เข้าใจสังคมธรรมาธิปไตยแล้วหรือยัง พร้อมร่วมกันสร้างแล้วหรือยัง เราจำเป็นต้องสร้างผู้นำช่วยกันร่วมมือกันสร้างสังคมธรรมาธิปไตย ผู้นำที่มีอยู่เข้าใจสังคมธรรมาธิปไตย พร้อมพัฒนาแล้วหรือยัง ผู้นำที่เรามีอยู่เข้าใจธรรมาธิปไตยอย่างลึกซึ้งถึงแก่น พร้อมพัฒนาสังคมธรรมาธิปไตยแล้วหรือยัง และผู้นำนั้นๆพึงมีคุณสมบัติ คุณลักษณะอย่างไรบ้าง
ในเรื่องเหล่านี้ ผมขอเสนอความเห็นเป็นส่วนตัวว่า 1.เรามีผู้นำแล้วมากมาย อาจกล่าวได้ว่า มากเกินไป ในบ้านเมืองของเรามีคนจำนวนมากอาสาที่จะเป็นผู้นำ อยากทำตัวเป็นผู้นำ แต่มีเสน่ห์น้อย ไม่ค่อยมีคนอยากเป็นผู้ตาม เป็นหน้าที่ของเรา ของทุกฝ่ายจัด คัดสรรหาผู้นำที่มีเสน่ห์ คนอยากตาม หรือแย่งกันตาม สรรหาได้แล้ว จึงนำมารวมกันเพื่อพัฒนาสังคมธรรมาธิปไตย
2.สังคมธรรมาธิปไตยเป็นคำที่เข้าใจง่ายมากแต่ผู้นำมากมายชอบอยากมีสังคมนี้หรือไม่ นิยมสังคมนี้หรือไม่ เห็นว่าสังคมชื่อนี้ เป็นสังคมที่ทรงคุณค่ามีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง รับได้หรือไม่ หรือรับได้แต่ไม่ชอบ ไม่ประสงค์ที่จะนำไปใช้ เพราะไม่สอดคล้องกับแนวทางความสำเร็จของตน ของญาติโยม ของกลุ่มของคนของตน ถ้าเป็นปัญหาอย่างนั้นคงต้องเป็นหน้าที่มหาวิทยาลัยออกแรงมากหน่อยขายความคิดสังคมธรรมาธิปไตยให้คนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วย เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง เห็นความดีงามและยอมรับด้วยความเต็มใจและจริงใจ
ทั้งสองข้อเป็นงานยากหนักเป็นเรื่องที่เราต้องทำให้ได้ ความฝันของมหาวิทยาลัยจึงจะส่องแสงสว่างจึงจะประสบความสำเร็จ ผู้นำในองค์กรต่างๆทั่วโลกทั้งภาครัฐและเอกชนฉะนั้นการสอนผู้นำในสถาบันการศึกษาจะเหมือนกัน บทบาทของผู้นำจะคล้ายกันมาก ผิดกันเฉพาะการนำไปใช้ มีสิ่งหนึ่งเป็นตัวแปรบทบาทผู้นำแต่ละประเทศ แต่ละทวีป คือวัฒนธรรม หมายรวมถึงจารีตประเพณี
ในประเทศอันเป็นที่รักของเราที่เห็นได้ชัด คือความเป็นญาติ ความเป็นเพื่อน ความเป็นผู้มีพระคุณ เหล่านี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บทบาทของผู้นำชาติของเรามีความแตกต่างออกไป จนในบางกรณีอาจมีผลถึงกับเสียหลักความยุติธรรมและหลักนิติรัฐ
อย่างไรก็ตาม โดยหลักการพื้นฐานสำคัญ ผมเชื่อมั่นว่า ผู้นำที่จะร่วมกันพัฒนาสังคมธรรมาธิปไตย ต้องเป็นคนดี เมื่อพูดถึงคำว่าคนดี ก็จะมีคำถามทั้งที่น่าสนใจและน่าเวียนศีรษะว่า คนดีคือคนอย่างไร โดยนัยยะก็พอจะเข้าใจได้ ว่า คนดีคือคนอย่างไร แต่ถ้าจะนิยามกันให้ชัดเจนน่าจะยืดยาวและนิยามแตกต่างกันไป ในหนังสือสมบัติผู้ดีมีเขียนไว้บ้างอาจได้ความรู้บ้าง
สำหรับตัวผมเองเมื่อพบกับเพื่อนหรือคน ผมจะสื่อกับคนเหล่านั้นให้เป็นคนดี แต่นิยามไม่ได้ครบถ้วน ความเชื่อส่วนตัวของผม ผมถือว่า ถ้าเราจะยกย่องชมเชยใครสักคนว่าเป็นคนดี ผู้นั้นอย่างน้อยที่สุดต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ ความเห็นส่วนตัวของผม
1.ต้องเข้าใจสามารถแยกแยะความดีกับความชั่วได้ ออกจากกันได้ถูกต้อง ชัดเจน และและเที่ยงธรรม 2.ต้องซื่อสัตย์สุจริตดูแลผู้เกี่ยวข้อง ผู้ร่วมงานให้เป็นคนซื่อสัตย์สุจริตด้วย 3.เสียสละและต้องสอนให้ผู้เกี่ยวข้องผู้ร่วมงานเข้าใจว่า เกิดเป็นคนต้องรู้จักเสียสละ 4.จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ร่วมงานให้เคร่งครัดต่อคำสัตย์ปฏิญาณ 5.ต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดี ให้คนมองเห็น เชื่อถือ ศรัทธา ว่าคนดีต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไรโดยปราศจากข้อกังขา 6.ต้องเข้าคำว่าเกิดมาต้องตอบแทนแผ่นดิน ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เพื่อความเป็นปกติสุขของคนไทย
ฉะนั้นผมขอยืนยันว่า การพัฒนาผู้นำเพื่อสร้างสังคมธรรมาธิปไตย การสรรหาผู้นำที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นความเร่งด่วนสูงมาก การทำความดียากยิ่ง แต่การรักษาความดีให้ดำรงอยู่คู่กับเราไปชั่วนิรันดร์ยากยิ่งกว่ามาก มีตัวอย่างปรากฎให้เห็นอยู่เนืองๆ มีหลายคนที่ทำความดีปรากฏเป็นเวลายาวนานแต่ในที่สุดก็ไม่สามารถดำรงความดีนั้นไว้ได้ น่าเสียดาย
บทบาทผู้นำแต่ละสาขาในหลักการไม่แตกต่างกัน แต่บทบาทผู้นำทหารมีข้อแตกต่างเพราะมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ทั้งในยามปกติ ไม่ปกติ และในยามสงคราม ท่านผู้มีเกียรติพอจะทราบหรือไม่ว่า กองพลทหารราบ กองพลทหารม้ามีกำลังพล 1 หมื่นคน อยู่ใต้ผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองพลเพียงคนเดียว คงจิตนาการได้ว่าทำไมผู้นำทางทหารจึงต้องมีบทบาทแตกต่างไป
ผมชอบคำว่าสังคมธรรมาธิปไตย มาก เป็นคำที่เหมาะกับสังคมไทยอย่างยิ่ง และใครขอให้พวกเราทุกคนที่มุ่งปรารถนาให้สังคมนี้เกิดขึ้น ช่วยกันทำ ช่วยกันสวดมนต์ขอให้พระสยามเทวาธิราชโปรดประทานความสำนึกที่ดี ที่ถูกต้อง ที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับหัวใจคนไทยทั้งมวล"