สัมภาษณ์ :::: ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ “กำหนดเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา เด็กไทยต้องมีคุณภาพ”
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญา ผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนสร้างระบบการศึกษา และเป็นอีกครั้งที่ทีมข่าวศูนย์ข้อมูลข่าวปฏิรูปประเทศไทยได้รับเกียรตินั่งพูดคุยถึงการทำงาน หลังจากอาจารย์วรากรณ์สวมหมวกอีกใบในฐานะรองประธานคนที่ 2 ของคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2
ถึงวันนี้ได้จุดเน้นการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 แล้วหรือยัง
ดร.วรากรณ์ : “ในภาพรวมของการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 มีกรอบวางไว้แล้ว อาจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้วางไว้ของสคศ.ได้ทำไว้แล้ว ภายในปี 2556 จะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีกรอบการปฏิรูปอย่างเป็นระบบ 4 กรอบด้วยกัน คือ 1.พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ 2.พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ 3.พัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และ4.พัฒนาการบริหารจัดการใหม่ เป็นกรอบที่ต้องดำเนินการตามนี้ เพียงแต่ว่าจะปฏิบัติอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการต้องพิจารณาต่อไป
สำหรับแนวทางที่นายกรัฐมนตรีพูดไว้แล้ว คิดว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก นายกรัฐมนตรีพูดถึงความล้มเหลวที่ผ่านมาของการปฏิรูปการศึกษา มีความจริงที่ต้องยอมรับในการทำงานด้านการศึกษา คือ การศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างคนเท่านั้น ถ้าจะให้ไปข้างหน้าได้ต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วนในสังคมให้ไปในทิศทางเดียวกันด้วย ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน สื่อก็ต้องขยับเคลื่อนไปด้วยกัน ไม่ใช่เพียงแต่กระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว ขณะที่หน่วยงานของราชการยังผูกขาดอำนาจในเรื่องของการจัดการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง”
ถามถึงเป้าหมายสำคัญการปฏิรูปการศึกษารอบนี้
ดร.วรากรณ์ : “เป้าหมายของการปฏิรูปอยู่ที่เด็ก เยาวชน และลูกหลาน ไม่ได้อยู่ที่ในความก้าวหน้าในเรื่องซีของบุคคลที่ทำงานอยู่ในวงการศึกษา หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหลานของเรามีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้สองข้อ ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าเราจะมาปฏิรูปกัน แล้วดูแต่ในเรื่องของโครงสร้างเพียงอย่างเดียว แม้ว่าโครงสร้างจะต้องมีการปรับปรุงบ้าง แต่จุดสนใจไม่ควรไปที่เรื่องของโครงสร้าง อยู่ที่จะทำอย่างไรให้เด็กได้รับประโยชน์มากที่สุด ควรมุ่งเน้นไปที่ตัวเด็ก ถ้าเริ่มคิดที่จะไปจากกรอบการบริหารไปถึงโรงเรียน ขอให้คิดกลับทาง ควรจะเริ่มต้นที่ตัวเด็กก่อน ตรงไปที่โรงเรียนแล้วย้อนกลับไปว่าต้องบริหารอย่างไร เพื่อจะได้สิ่งที่เราต้องการ”
“เด็กจะดีได้ต้องมาจากครู ถามว่าแล้วครูที่ดีจะมาจากไหน ต้องไล่ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไปเริ่มต้นต้องพัฒนาพื้นฐานเป็นทบวง กว่าจะไปถึงครูถึงเด็ก ผมว่าก็หายไประหว่างทางเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าคิดกลับกันเริ่มต้นจากเด็กว่าเด็กต้องการอะไรบ้าง อะไรที่ทำให้โรงเรียนดีขึ้น อะไรที่ทำให้เด็กดีขึ้น ก็ต้องย้อนกลับไปว่าต้องการอะไรบ้าง สิ่งนี้อาจจะเป็นวิธีการที่จะช่วยให้การมองเห็นเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น”
พูดถึง “สมัชชาปฏิรูปการรูปการศึกษา” เหมือนหรือต่างกับสมัชชาสุขภาพ
“สมัชชาปฏิรูปการรูปการศึกษา เป็นการเชิญคนหลากหลายมาประชุมกันและรับฟังความคิดเห็น แล้วก็พูดกันถึงเรื่องวิธีปฏิบัติ ลำดับความสำคัญความเห็นต่างๆ เพราะว่าเป้าหมายได้ออกมาแล้ว ให้วิธีการปฏิบัติทั้งหลายคณะกรรมการของอาจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ได้ออกมาแล้วก็เหลือแต่ปฏิบัติ ทางสมัชชาฯ จะฟังความเห็นคนที่หลากหลาย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษา มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะการศึกษานั้นสำคัญเกินกว่าการที่จะทิ้งไว้ในมือคนในวงการศึกษา ต้องมอบให้กับคนที่อยู่นอกวงการศึกษาด้วย และคงไม่เหมือนกับสมัชชาสุขภาพ สำหรับสมัชชาการปฏิรูปการศึกษาในความเห็นส่วนตัวคิดว่าหมายถึงการประชุมมากกว่า”
เมื่อถามถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่หลบซ่อนอยู่ลึกๆ ในระบบการศึกษาไทย
ดร.วรากรณ์ ได้ยกกรณีที่หลายมหาวิทยาลัยพยายามตั้งแคมป์กวดวิชาเพื่อการสอบตรงของเด็ก เพื่อฝึกเด็กให้เข้ามาในมหาวิทยาลัย โดยเห็นว่า จะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่มีเงินและไม่มีเงิน “คนอื่นหรือมหาวิทยาลัยเอกชนทำคงไม่เป็นไร แต่ประเด็นคือเป็นเรื่องเชื่อมต่อโยงกับอาจารย์คณะที่เข้ามหาวิทยาลัย อย่างนี้ก็ไม่ค่อยดี เพราะว่าทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นมา ว่า ในการติวในการสอน ถ้ามีอาจารย์จากคณะนั้น สถาบันนั้นมา ก็ทำให้เกิดความสงสัย ความกริ่งเกรงว่ามีข้อได้เปรียบเสียอะไรเกิดขึ้น (จากการเข้าแคมป์กวดวิชาของสถาบันนั้นๆ) ก็คล้ายๆ กับโรงเรียนติวที่มีอาจารย์จากโรงเรียนนั้นมาสอนเรื่องนี้ไม่ค่อยสวย”
“มหาวิทยาลัยต้องพิจารณา หลายคณะทำแบบนี้สมควรทำหรือไม่ ถ้าเอกชนทำก็ทำโดยที่ต้องไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับมหาวิทยาลัยหรือคณะเลย แต่ถ้ามีคนของคณะเข้าไปเกี่ยวทำให้สงสัยในการได้เปรียบเสียเปรียบ เหมือนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปตั้งโรงเรียนกวดวิชเสียเอง ผมก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการกำกับดูแล ฉะนั้นต้องกำกับในเรื่องนี้ว่าสมควรให้มีเหตุการณ์ลักษณะนี้หรือไม่”
จริงหรือไม่ที่รัฐลงทุนการศึกษาไปที่อุดมศึกษามากกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ดร.วรากรณ์ : “คงไม่จริง ถ้าการลงทุนในที่นี้หมายถึงเงินที่ลงไปนั้น เงินส่วนใหญ่ลงไปที่การศึกษาพื้นฐานมาก ส่วนอุดมศึกษาได้เพียง 50,000 ล้านบาทต่อปี การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตั้ง 250,000 ล้านบาท ถ้าดูในรูปงบประมาณ แต่ถ้าดูในรูปความช่วยเหลืออุดมศึกษาได้รับการช่วยเหลือมาก มีการกู้ยืมต่างๆ ทำให้คนในอุดมศึกษาสามารถได้เรียน ได้รับทุน เรียกว่าได้มาก เพราะคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้จ่ายตามทุนจริง เช่น คนเรียนแพทย์ต้นทุนปีละล้านกว่าบาท วิศวกรรมศาสตร์ประมาณปีละ 800,000 กว่าบาท ต้นทุนคนที่เรียนจ่ายเพียงปีละไม่กี่หมื่นบาท
อย่างนี้เท่ากับว่ารัฐเก็บเงิน 800,000 บาท แต่บอกว่าช่วยเหลือคนที่เรียน โดยออกเองแค่ 50,000 บาท อีก 750,000 บาทเอาคืนไป ถ้าถามว่าคนเหล่านี้เป็นใครก็คนมีฐานะมีการศึกษาทั้งนั้น ที่ลูกสามารถจะไปสอบเข้าได้ คนพวกที่ไม่มีฐานะก็แพ้ตกออกตั้งแต่ม.5 ม.6 ป.4 ป.5 ป.6 แล้ว”
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ดร.วรากรณ์ เห็นว่า แพ้คัดออกเด็กพวกนี้ ต้องได้รับการอุดหนุนช่วยเหลือด้านการศึกษาด้วย มีการศึกษานอกระบบตามอัธยาศัยที่มีประสิทธิภาพ "แน่นอนประเทศไทยจำเป็นต้องการคนที่มีการศึกษาทางด้านแพทย์ วิศวกร แต่ว่าไม่ใช่ในราคาที่ต่ำ ต้องเก็บในราคาที่สูงกว่านี้ เชื่อว่าแพงกว่านี้พ่อแม่คนที่มีลูกเรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็ยินดีที่จะจ่ายได้ คนไหนไม่มีทุนก็ให้เรียนฟรีไป นำเงินที่ได้มากๆ จากคนมีฐานะที่สามารถจะจ่ายได้มาเก็บไว้ แล้วนำมาเป็นทุนไว้ให้คนที่ไม่มีได้รับสิทธิตรงนี้ เราจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้ให้กับอุดมศึกษา แต่ให้กับสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) แทน”
เมื่อถามว่า สุดท้ายการศึกษาจะช่วยสร้างความสมานฉันท์ ช่วยแก้ความทุกข์ยากของแผ่นดิน ได้อย่างไรบ้าง ดร.วรากรณ์ นั่งคิดอยู่นาน ก่อนจะยอมรับว่า “ยังหาคำตอบเรื่องนี้ไม่ได้ กำลังคิดและทำการศึกษาเรื่องนี้อยู่”