สัมภาษณ์ ::: 1 ปีปฏิรูปประเทศไทยคุยกับหัวเรือใหญ่ “ศ.นพ.ประเวศ วะสี”
โครงการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย เป็นเวทีของบุคลากรที่อาสามาร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทย โดยอาศัยความรู้และกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทำงานในนาม 'เครือข่ายสถาบันทางปัญญา' ในฐานะหัวเรือใหญ่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานเครือข่ายสถาบันทางปัญญา เปิดโอกาสให้ "ทีมข่าวปฏิรูปประเทศไทย" สัมภาษณ์พิเศษเปิดใจกับการดำเนินงานที่เพิ่งจะครบรอบ 1 ปีไปไม่นานนี้
จุดเริ่มแนวคิดปฏิรูปประเทศไทย
ศ.นพ.ประเวศ : ประเทศไทยเราพยายามปฏิรูปหลายเรื่องที่ผ่านมาซึ่งก็ไม่สำเร็จ ปฏิรูปการเมืองบ้าง ปฏิรูปการศึกษาบ้าง ทั้งๆ ที่เรื่องทั้งหมดเชื่อมโยงกัน แต่แยกปฏิรูป แยกเรื่องไปก็ทำให้ติดเรื่องนั้น ติดเรื่องนี้ เราก็เลยบอกต้องปฏิรูปทุกเรื่องพร้อมกัน จึงเป็นแนวคิดทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยขึ้น
ปฏิรูปการเมืองนั้นผมก็เคยทำมาก่อน สุดท้ายก็ไม่ถึงไหน คราวนี้ก็ได้มาปฏิรูปประเทศไทยปฏิรูปทุกเรื่อง 10 เรื่องที่ใหญ่มากเป็นเรื่องยากๆ ทั้งสิ้น แต่ละเรื่องนั้นยากและซับซ้อน พวกเรา (เครือข่ายสถาบันทางปัญญา) คิดว่าเรื่องนั้นยากและซับซ้อนถ้าพวกเรา ไม่ทำแล้วใครจะทำ รัฐบาลก็ทำไม่ได้เพราะเขายุ่งในเรื่องของเขา ก็ต้องมีคนพวกหนึ่งมาช่วยกันทำ
ปฏิรูปฯ เรื่องแรก “สร้างจิตสำนึกใหม่”
ศ.นพ.ประเวศ : เรื่องที่ 1 การสร้างจิตสำนึกใหม่ เรื่องนี้ยังไม่สำเร็จ เพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก มีคนคิดในเรื่องนี้อยู่ คือ นพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับคณะ creative ว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยมีจิตสำนึกใหม่ จิตสำนึกใหญ่ จิตสำนึกสาธารณะ ให้นึกถึงคนอื่น เรื่องนี้เรียกได้ว่า ยังไม่ค่อยก้าวหน้า แต่สำคัญที่สุด มีกลุ่มต่างๆ กำลังทำพยายามเรื่องนี้อยู่ เชื่อมโยงกับเรื่องสื่อ เช่น ทีวีไทยกำลังพยายามทำรายการอะไรต่างๆ เพื่อจะสร้างความคิดใหม่ จิตสำนึกใหม่ เป็นต้น
การสร้างจิตสำนึกใหม่ เป็นเรื่องยากต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แต่ว่าก็ต้องช่วยกัน ต้องพยายามให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นสำคัญ จริงๆ ก็พูดกันทั่วไปหมดว่าเราต้องการจิตสำนึกสาธารณะ อาจจะต้องไปทำเรื่องอาสาสมัคร จิตอาสาต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำ
สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ประเทศไทย
ศ.นพ.ประเวศ : การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ เรื่องที่ 2 นี้ เป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เราไม่ได้เอา GDP เป็นตัวตั้ง เอาสัมมาชีพเต็มพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล คนทุกคนมีอาชีพหมด บ้านเมืองประเทศเราก็จะร่มเย็นเป็นสุข เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในโลกขณะนี้คือ การไม่มีงานทำ การถูกให้ออกจากงาน (Lay Off) อะไรที่ไม่มั่นคง คนควรจะมีความมั่นคงในเรื่องอาชีพ แล้วก็ดูพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลเป็นจุดมุ่งหมาย
เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้จริงๆ ทุกฝ่ายต้องมุ่งให้คนมีงานทำ ให้ทุกคนมีรายได้ ที่จริงราชการก็มีงบประมาณจำนวนมาก ไปสร้างตึก สร้างอะไรต่างๆ ซึ่งต้องพยายามสร้างคนทำงาน วัดนั้นหลวงพ่อก็อาจจะมีเงินจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้เอาเงินมาให้คนมีรายได้รอบๆ วัดเลย ซึ่งควรจะต้องหางาน หรืออาจจะเรียกได้ว่า แกล้งจ้างงาน ให้คนไปทำความสะอาดถนน ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ถ้าเราไปดูเมืองจีนไปเที่ยว ไปไกลบนเขาก็จะเห็นคนกวาดใบไม้ กวาดอะไรโดยไม่จำเป็น แต่เราก็นึกได้ว่าเขาก็มีงานทำ ถ้าเรามุ่งอย่างนี้ก็จะทำได้จริงๆ สำหรับแกนหลักที่จะรับดูแลเรื่องนี้ยังไม่มี
ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่-สร้างชุมชนเข้มแข็ง
ศ.นพ.ประเวศ: เรื่องที่ 3 การสร้างชุมชนเข้มแข็ง มีคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง มีคนทำมาก เช่นคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นประธานอยู่ ขณะนี้กำลังไปทำอะไรอีกหลายเรื่อง มีส่วนของคุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สสส.คุณสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และใครต่อใครอีกหลายคน
จุดยุทธศาสตร์ (ชาติ) คือ จุดที่ 3 นี้ ชุมชนต้องเข้มแข็ง ลองนึกภาพว่าถ้าทุกหมู่บ้านเข้มแข็ง ทุกตำบล ทุกเทศบาลเข้มแข็งนั้นจะเป็นจุดที่เชื่อมทุกเรื่องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นจุดยุทธศาสตร์อยู่ตรงนี้ 1 ปีที่ผ่านมาเรื่องนี้ก็ขับเคลื่อนไปได้มาก
ชุมชนที่เข้มแข็งนั้นเหมือนกับสวรรค์บนดิน มีความสุขมาก เพราะว่าพัฒนา 8 เรื่องไปพร้อมๆ กันเชื่อมโยงกัน มีเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย พร้อมกันทั้ง 8 เรื่องพัฒนาอย่างบูรณาการ ซึ่งจะทำให้เกิดมากขึ้นๆ เรื่อย เคลื่อนทำให้เกิดกำลัง
สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤต
ศ.นพ.ประเวศ: เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องยาก อยู่ระหว่างเคลื่อนไหว ผมได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งกำลังพิมพ์ ชื่อ ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน คนยังไม่ค่อยรู้ว่า เรามีความทุกข์จากระบบการศึกษา ที่ต้องวิ่งเต้นไปติว ไปวิ่งหาโรงเรียนดีๆ ให้ลูกเรียน ร้อยแปดปัญหาลำบากลำบน ตรงนี้เลยลำบากกันไปหมด
ในการปฏิรูปการศึกษาส่วนนี้ มีหลายคนร่วมกัน เช่น ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย หรือดร.วิจารณ์ พานิช ที่ทำในส่วนอุดมศึกษา เราก็ว่าจะทำอีกในเรื่องตรงนี้ เรื่องระบบการศึกษาที่จะแก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน ซึ่งยังไม่สำเร็จ
จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีคนทำมาก อย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เองก็อยากทำ ใครๆ ก็อยากทำ แต่ไม่รู้ว่าจะจับเรื่องนี้อย่างไร เพราะเรื่องนี้นั้นยากในตัวของมันเอง ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ท่านเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็บอกว่าเรื่องนี้ยากจริง ดังนั้นต้องช่วยกันเพราะระบบการศึกษาปัจจุบันนี้เป็นมา 100 ปีแล้ว แนวคิดนั้นผิด คอนเซปต์เรื่องการศึกษานั้นผิดแล้วทำให้ลำบาก เพราะถ้าคอนเซปต์ผิดนั้นไปถึง 50 ปี 70 ปี 100 ปีกว่าจะกลับตัวได้ ซึ่งต้องปรับแนวคิดว่าการศึกษานั้นคืออะไร
ปฏิรูปการเมืองการปกครอง ธรรมาภิบาล สันติภาพ ความยุติธรรม
ศ.นพ.ประเวศ : เรื่องที่ 5 ธรรมาภิบาล การเมืองการปกครอง ระบบความยุติธรรม เรื่องสันติภาพ เป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องนี้หนักและใหญ่มีหลายคนช่วยกันทำตรงนี้ การเมืองการปกครอง ธรรมาภิบาล เช่น ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันพระปกเกล้า
เรื่องความยุติธรรมในสังคมที่ไม่ยุติธรรมเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำ กำลังก่อตัวและเชื่อมโยงทุกองค์กร อย่าง ดร.คณิต ณ นคร ที่มาประชุมร่วมด้วย หรือคุณชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม มีผู้พิพากษาคุณสุนทรียา เหมือนพะวงศ์ กำลังปรับกันอยู่ว่าจะทำเรื่องอะไรบ้าง
3 เรื่องต้องปฏิรูปไปพร้อมกัน
ศ.นพ.ประเวศ : เรื่องที่ 6 การสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้ามีดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ได้ทำอะไรต่างๆ ไปมากแล้ว รวมถึงการทำธนาคารของประชาชน หรือธนาคารลูกจ้าง
เรื่องที่ 7 สร้างความสมดุลของพลังงานและสิ่งแวดล้อม มีดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธาณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญแต่ว่ามีผู้คนทำกันกระจัดกระจาย เราต้องทำตรงนี้ให้มีพลังขึ้น เพราะว่าเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมและวิกฤตพลังงาน
เรื่องที่ 8 ปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะของคนทั้งมวล มีการทำมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ทำมาตั้งสิบกว่าปี เป็นเรื่องที่แข็งแรงที่สุดมีองค์กรเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งในรูปองค์กรที่มีกฎหมายรองรับและเป็นองค์กรอิสระ ทั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งก็จะเป็นเครื่องมือที่จะทำงาน การปฏิรูประบบสุขภาพนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า องค์กรเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกับทั้งหมด เพราะสุขภาพเป็นเรื่องของทั้งหมด ไม่ใช่เพียงเรื่องหมอ หรือเรื่องยาเท่านั้น
ยุทธศาสตร์ชาติและการวิจัย
ศ.นพ.ประเวศ : ยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องที่ 9 เราต้องรู้หมดเลยว่าทั้งโลกนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ต้องรู้หมดว่ากำลังจะเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วเราจะวางตำแหน่งของประเทศไทยไว้อย่างไร ซึ่งก็มีคนทำๆ ไว้ที่ต่างๆ แต่ว่าเรื่องนี้ยังขาดพลัง มหาวิทยาลัยเรียกได้ว่าไม่ทำเลย ส่วนฝ่ายความมั่นคงก็ต้องทำในส่วนของเขาเกี่ยวกับความมั่นคง
ตอนนี้ทีวีไทยได้มาคุยว่าจะทำรายการอนาคตประเทศไทย เป็นการนำคนต่างๆ มาพูดคุยกัน ซึ่งก็จะเข้าไปเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องนี้ยังต้องการความเข้มแข็ง มีพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ก็จะมีทหารเสนาธิการเข้ามาวิจัยข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก แล้วดูว่าอะไรต่างๆ จะกระทบเราบ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าประเทศเรายังขาดเรื่องนี้อยู่ และกำลังจะตามพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็จะตามมาพูดคุยในฐานะประธานสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ก็จะตามท่านมาคุยร่วมกันในเวทีนี้
สร้างระบบการสื่อสารที่ผสานการสร้างสรรค์ทั้งหมด
ศ.นพ.ประเวศ : เรื่องที่ 10 เรื่องการสื่อสาร มีดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.และทีวีไทย แต่ว่ายังต้องการแนวร่วมมากกว่านี้ ยังต้องการคณะทำงานสักคณะที่มีอย่างจริงจัง
คณะทำงานเรื่องยุทธศาสตร์การสื่อสาร โจทย์ คือเรามีเครื่องมือ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต อะไรต่างๆ แต่เราจะใช้อย่างไรเรื่องการสื่อสารนี้ ให้ได้เชื่อมโยงการพัฒนาทุกชนิด เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญ มีทีวีไทยที่มาร่วมแล้วยังต้องการใครที่อยากทำในเรื่องนี้อีก
ฝากเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยกับคนไทยทุกคน
ศ.นพ.ประเวศ: จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช้ชื่อแบบนี้ แต่มีคนที่มีแนวคิดที่จะปฏิรูปเรื่องต่างๆ ก็ได้ อาจจะไม่ต้องอยู่ในวงการนี้ ก็อยากให้เกิดการสื่อสารร่วมกันให้เกิดคนไทยทั้งหมดมาร่วมกัน
การปฏิรูปประเทศไทย ต้องทำไปอย่างนี้พร้อมๆ กันทุกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น ในอนาคตจะมีอีกหลายๆ เรื่องตามมา ก่อตัวเป็นเครื่องมือที่จะทำงาน
อีกเรื่องคือจะมีสำนักงานเรื่องปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ถ้าเราทำให้เกษตรกรทั้งหมดมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็จะไปถึงเรื่องความมั่นคง เรื่องอาหารต่างๆ ขณะนี้ตั้งสำนักงานแล้วจะประชุมกันในวันที่ 4 ก.พ.มีดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา เป็นผู้อำนวยการเรื่องนี้ก็น่าจะมีความสำคัญ แล้วถ้าเรื่องนี้ตั้งตัวได้ก็จะมีเรื่องของคนจนต่างๆ ตามมาอีก
สร้างคน สร้างกลไกช่วยประเทศ
ศ.นพ.ประเวศ: ต้องเข้าใจว่าทั้งหมดเป็นกระบวนการ เป็น process ที่หมายถึงคนมาร่วมกันทำงาน ไม่ใช่ finish product ตัวกระบวนการต้องใช้เวลานาน แต่ว่าเป็นการสร้างคน สร้างกลไกช่วยประเทศ จะเกิดกลไกเต็มไปหมด ฉะนั้นหน้าที่ของการสร้างนั้นต้องพยายามสื่อสารออกไปนอกเวทีปฏิรูปฯ ด้วย ว่าใครมีความคิดอะไรดีๆ เพื่อบ้านเมืองก็ถือว่าเป็นการปฏิรูปและนวัตกรรมทั้งสิ้น ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันก็ได้ แต่ต้องรู้ถึงกันอาศัยการสื่อสาร และหนักเข้าก็ให้คนไทยทั่วไปหมด ทุกคน ทุกองค์กรคิดเรื่องปฏิรูปประเทศไทย เพราะอย่างไรก็ต้องปฏิรูปประเทศไทย เนื่องจากเราจะทำอย่างเก่าๆ ไม่ได้แล้ว