ปาฐกถา ::: ศ.นพ.ประเวศ วะสี "การขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่การพัฒนาประเทศ"
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานเครือข่ายสถาบันทางปัญญา กล่าวปาฐกถานำเรื่อง "การขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่การพัฒนาประเทศ" ในการประชุมเสวนาวิชาการ "การขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่การพัฒนาประเทศ" จัดโดยภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้
"เรื่องชุมชนท้องถิ่นนั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ ที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาก ถ้าเราคิดดูว่าทำไมประเทศไทยถึงมีทรัพยากรมากมาย แล้วเราจะสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขทั้งประเทศ ทรัพยากรเหล่านี้มากเกินพอที่จะสร้างความสุขของทุกคนได้ แต่ทำไมเราล้มเหลว ทั้งที่เรามีทรัพยากรและเครื่องมือมากมาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราขาดความคิดเชิงโครงสร้าง เราคิดแต่เชิงเทคนิค ซึ่งเทคนิคและเครื่องมือเรามีมาก แต่ถ้าเราไม่คิดเชิงโครงสร้าง เหมือนเรามีค้อน มีสิ่ว ที่เป็นเครื่องมือที่ใช้แกะได้ ตอกได้ แต่ถ้าไม่มีการออกแบบว่าจะแกะเป็นรูปอะไรก็แกะไปเรื่อยๆ ไม่รู้วิธีแกะเป็นพระพุทธรูป หรือเป็นรูปช้าง หรือรูปอะไรแน่"
ดังนั้นต้องมีการออกแบบ เราคิดเชิงเทคนิคหมดทำให้ได้ความรู้เชิงเทคนิคเป็นเรื่องๆ แต่ถ้าเราคิดเชิงโครงสร้างเมื่อใดนั้นทำให้ง่ายนิดเดียว เหมือนอุปมาอุปไมยว่า ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างสำเร็จจากยอด พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ถ้าสร้างจากยอดก็พังลงๆ ต้องสร้างจากฐาน
แต่เราพัฒนาประเทศสร้างจากยอดทุกเรื่อง เศรษฐกิจก็ทำแต่ข้างบนแล้วบอกว่าให้กระเด็นลงข้างล่าง คือทำให้ใหญ่ๆ แล้วกระเด็นลงข้างล่าง ดังนั้นจึงไม่สำเร็จเพราะตัวช่องว่างนั้นห่างมากขึ้นระหว่างคนจนคนรวย เรื่องการศึกษาเราก็เอาแต่ข้างบน การศึกษาก็ทิ้งข้างล่างหมด เรื่องการเมืองเรากำลังพัฒนามาเป็นประชาธิปไตยมา 76ปีแล้วไม่ค่อยสำเร็จเท่าไร เพราะเราทำแต่ประชาธิปไตยระดับชาติ ขาดประชาธิปไตยพื้นฐานทำให้ไม่สำเร็จ ไม่มีประเด็นใดทำสำเร็จ ในสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น มีคนไปพบบันทึกของพระองค์ท่าน ท่านทรงเขียนเรื่อง Local Democracy ประชาธิปไตยฐานต้องไปที่ท้องถิ่น
ในสหรัฐอเมริกา ตั้งประเทศขึ้นมาแล้วก็แข็งแรงโดยรวดเร็วเพราะมีการดีเบทหรือถกเถียงกันก่อน ว่าแนวคิดของประเทศใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้นนี้เป็นแนวคิดอะไร แล้วก็ตกลงว่าเป็นแนวคิดท้องถิ่น เพราะฉะนั้นเขานำแนวคิดนี้ไปจัดชื่อประเทศเป็น United States of America ประเทศอเมริกานี้เกิดจากการรวมตัวกันของท้องถิ่น เพราะฉะนั้นเขาก็แข็งแรงโดยรวดเร็ว ไม่ได้มีแต่วอชิงตัน แต่กระจายอยู่ตามท้องถิ่นเต็มไปหมด
ชุมชนท้องถิ่น คือ จุดยุทธศาสตร์ชาติ
ราษฎรอาวุโส กล่าวถึงแนวคิดเรื่องพระเจดีย์ว่า “ขณะนี้ถ้าเราจะใช้แนวคิดเรื่องพระเจดีย์นั้น การสร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ซึ่งฐานของพระเจดีย์ของสังคมคือชุมชน ท้องถิ่น ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทุกด้านก็จะรองรับสังคมด้านบนไว้ รองรับยอดพระเจดีย์ไว้ให้มั่นคง แต่ถ้าเราสร้างพระเจดีย์จากยอดก็จะพังลงๆ เพราะไม่มีฐานรองรับ เพราะฉะนั้นเวลาคิดแบบนี้ก็จะง่ายขึ้นทำไม่กี่ปีก็จะแข็งแรงรวดเร็ว เป็นยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทุกด้าน ซึ่งจะต้องมี 8 ด้านเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
ความยั่งยืนนั้นจะเกิดจากอะไร ดูจากร่างกายของเราทุกคนเป็นตัวอย่างของระบบที่ดีที่สุด ไม่มีระบบอะไรจะดีเท่าระบบร่างกายมนุษย์ที่ประกอบด้วยเซลล์ อวัยวะต่างๆ มากมายหลากหลาย ซึ่งมีลักษณะ คือ 1.มีอัตลักษณ์ identity หัวใจจะไปแทนปอดไม่ได้ ปอดจะแทนตับไม่ได้ 2. มี Autonomy เอกภาพ อิสรภาพเพราะว่าถ้ารอให้ใครสั่งให้หายใจ ใครสั่งให้หัวใจเต้นก็คงตายก่อน 3.มีบูรณาการเป็นเอกภาพ ถ้าหัวใจไปทางปอดไปทางก็เป็นคนไม่ได้ มีบูรณาการเชื่อมโยงกันหมดเป็นเอกภาพจึงมีความยั่งยืน ถ้าอวัยวะใดอยากจะไปพัฒนาแยกส่วนนั้นก็ตายอย่างเดียว สมมติถ้าปอดอยากพัฒนาไปตับอยากพัฒนาไปแยกส่วนกันนั่นก็คือ มะเร็ง ก็ทำให้เสียดุลยภาพหมด
เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากให้เห็นก็คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นถ้าจะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ต้องมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ ซึ่งที่เราทำมาทั้งหมดนั้นเป็นการแยกส่วนทั้งสิ้น อะไรที่ทำแบบแยกส่วนก็จะนำไปสู่วิกฤติเป็นมะเร็ง พัฒนาเศรษฐกิจก็ทำแต่เศรษฐกิจ จิตใจก็จิตใจ สังคมก็สังคม ทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกัน การเมืองก็การเมือง สิ่งแวดล้อมก็สิ่งแวดล้อมแยกเป็นเรื่องๆ ไป แล้วก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็คือ การพัฒนาอย่างบูรณาการเชื่อมโยงกัน
การจะพัฒนาอย่างบูรณาการได้ต้องยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ยึดกรมเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะกรมนั้นเป็นกรมเรื่องๆ กรมต้นไม้ กรมดิน กรมน้ำ แยกเป็นเรื่องๆ เป็นกรมวิชาการ แต่การพัฒนาอย่างบูรณาการนั้นต้องยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง กรมมีประโยชน์ในการสนับสนุนพื้นที่ ถ้ายึดพื้นที่เป็นตัวตั้งก็คือ ชุมชนท้องถิ่น ความสำคัญของชุมชนท้องถิ่นเรียกว่าฐานของพระเจดีย์ และมีการพัฒนาอย่างบูรณาการ”
“ชุมชนบ้านหนองกลางดง” ร่วมสร้างแผนชุมชนขับเคลื่อนท้องถิ่น
มีตัวอย่างให้เห็นทั้งในระดับชุมชนและในระดับท้องถิ่น เช่น ชุมชนบ้านหนองกลางดง หมู่บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาแลง อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ดูแล ที่มีสภาผู้นำชุมชน มีสมาชิก 59 คน 3 คนเป็นผู้นำที่เป็นทางการ คือ ผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกอบต. 2 คน แต่ละหมู่บ้านจะมีสมาชิกไปเป็นสมาชิกอบต. 2 คน ที่เป็นทางการในระดับหมู่บ้านจะมี 3 คน อีก 56 คนเป็นผู้นำที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ ผู้นำกลุ่มสตรี ผู้นำเยาวชน ผู้บริหารกองทุนชุมชน มีกลุ่มต่างๆ เป็นผู้นำตามธรรมชาติ
สภาผู้นำชุมชนนี้เป็นศูนย์รวมหมู่บ้าน หมู่บ้านจะเป็นอย่างไร มีหนี้สินเท่าใด มีเรื่องยากจน อาชีพ สิ่งแวดล้อม สังคม ปัญหายาเสพติดเป็นเช่นใด จะปราบอย่างไร มีการรวมข้อมูลชุมชนแล้วนำมาทำแผนชุมชนหรือแผนแม่บทชุมชนเป็นแผนพัฒนาอย่างบูรณาการทุกด้าน โดยนำแผนพัฒนาชุมชนจากสภาผู้นำนี้ไปยกร่างให้ประชาชนทั้งหมู่บ้านดู ก็ช่วยกันเพิ่มเติม ตัดทอนแก้ไข มาเข้าแผนพัฒนาชุมชนเป็นของทุกคนในหมู่บ้านที่ร่วมกันทำ เมื่อร่วมกันทำก็เข้าใจร่วมขับเคลื่อนกันได้ คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันขับเคลื่อน
ถ้าเป็นแผนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำลงไปนั้น ชาวบ้านก็จับต้องไม่ได้ ขับเคลื่อนไม่ได้ นี่เป็นแผนที่ชาวบ้านทำเองขับเคลื่อนเองได้ และเวลาขับเคลื่อนไปแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้นหมด ความยากจนลดลง สิ่งแวดล้อมดีขึ้น สังคมก็ดีขึ้น ดีขึ้นหมดทุกอย่างในหมู่บ้านนี้
ที่ ต.ปากพูน อ.เมืองนครศรีธรรมราช ที่มีคน 35,000 คนมีศูนย์เด็กเล็ก 7 ศูนย์ในตำบลเดียวมีครูพี่เลี้ยง 20 คน อบรมมาอย่างดี เด็กเล็กทุกคนในตำบลนี้เข้าเรียนโดยไม่ต้องสอบเข้า เข้าเมื่อใดก็ได้ตามความสะดวก ตามความพร้อม ไม่มีข้อห้าม แล้วเรียนฟรี เด็กเล็กทุกคนดื่มนมสดฟรีหมดทุกวัน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในตำบลนี้ เพราะเขาเลี้ยงโคนมเอง ซึ่งเรื่องเด็กเล็กนี้สำคัญทุกอบต.อยากทำศูนย์เด็กเล็กทั้งนั้น แล้วเราก็รู้เป็นความรู้มา 20-30 ปีแล้วว่า ถ้าเด็กเล็กปฐมวัยได้รับการเลี้ยงดูที่ดีก็จะเป็นคนดี ฉลาดแล้วมีความสุข เพราะฉะนั้นเราต้องทุ่มเทเรื่องปฐมวัย ท้องถิ่นทั้งหลายอยากทำศูนย์เด็กเล็กทั้งสิ้น ประเด็นจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้มีครูพี่เลี้ยงที่ดีๆ ซึ่งต้องช่วยกัน รวมถึงการดูแลหญิงตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งอบต.ปากพูนก็เกิดภาพสวรรค์บนดิน
8 เรื่องที่ต้องบูรณาการในการพัฒนาท้องถิ่น
ในชุมชนต้องมี 8 เรื่องเชื่อมโยงกันคือ 1.เรื่องเศรษฐกิจ การมีสัมมาชีพทุกคนในพื้นที่ 2.เรื่องจิตใจ 3. สังคม การอยู่ร่วมกันในครอบครัวในชุมชน การดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกัน 4.วัฒนธรรม 5.สิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องดูแลรักษา 6.เรื่องสุขภาพ 7.เรื่องการศึกษา การเรียนรู้ 8.เรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเท่าที่กล่าวมาเป็นประชาธิปไตย เรื่องสภาผู้นำชุมชน ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านมาร่วมกันดูแล 8 เรื่องที่บูรณาการกัน เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย พอเกิดการบูรณาการดังนั้นก็เกิดภาพสวรรค์บนดิน ชาวบ้านเป็นหมื่นๆ คนได้ค้นพบ วิถีที่ได้ดุลยภาพวิถีชีวิต ได้ทำการวิจัยต่างๆ
การขยับตัวของท้องถิ่นที่ในแต่ละจังหวัด มีประมาณ 10 อำเภอ 100ตำบล ประมาณ 1,000 หมู่บ้าน ทั้งหมดรวมประมาณ 76,000 หมู่บ้าน ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงถ้าเราดูเป็นจังหวัดๆ นั้นสามารถที่จะทำงานให้ขยับตัวไปได้ เต็มพื้นที่ประเทศไทย ก็ลองนึกภาพถ้าทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ ทุกเทศบาล ท้องถิ่นมีการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้ง 8 เรื่องเข้าด้วยกันเป็นการพัฒนาสุจริตทุกด้าน บ้านเมืองก็จะมีฐานที่แข็งแรงมาก ไม่ต้องกลัวเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจเพราะรองรับได้หมด คนตกงานในเมืองไปอยู่ในชุมชนท้องถิ่นได้ ไม่ต้องกลัวเพราะประเทศไทยผลิตอาหารได้เองซึ่งเป็นจุดแข็งของเราที่ต้องรักษาไว้
เรามีมหาวิทยาลัย 100กว่าแห่ง 76 จังหวัดสามารถคิดได้ว่ามีมหาวิทยาลัยจังหวัดละ 1 แห่ง ถ้ามหาวิทยาลัยไปทำงานกับจังหวัดส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้เข็มแข็งไม่กี่ปีก็สำเร็จ แต่เราโฟกัสไปที่จุดต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่น เราก็จะมีฐานของประเทศไทยที่เข้มแข็งภายใน5-10 ปีนี้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเพราะทรัพยากรต่างๆ เรามีมาก ซึ่งการศึกษาของเรานั้นไปผิดทาง
การวิจัยเรื่องสมองใหม่ๆ นั้นพบว่าในสมองมีเซลล์สมองที่เรียกว่า เซลลกระจกเงา หรือ Mirror neuron ซึ่งเซลล์นี้ถ้าเห็นใครทำอะไรก็จะทำงานได้ทันที เหมือนกระจกเงาสะท้อนเข้าสู่สมองทันที คนเรานี้การเรียนรู้โดยการสอนได้ผลประมาณ 5% แต่ 95% เรียนรู้จากการเห็นคนอื่นทำและตัวเองลงมือทำ เมื่อเราย้อนไปดูระบบการศึกษาของเราทั้งหมดจะเห็นว่าเราทุ่มเททั้งหมดไปกับการสอนซึ่งได้ผลน้อยต้องเรียนรูจากการลงมือทำ ให้มหาวิทยาลัยลงมือทำร่วมกันกับท้องถิ่น
วิธีก็คือ มหาวิทยาลัยจะมีนิสิต นักศึกษา อาจารย์ไปร่วมในกระบวนการทำแผนชุมชนกับชาวบ้าน 1.ได้เรียนรู้จากท้องถิ่น 2. อาจารย์ นิสิต นักศึกษา มีความรู้มีเทคโนโลยีบางอย่างที่ชาวบ้านไม่มีก็ได้ร่วมช่วยท้องถิ่นทำแผนได้ดีขึ้น และจะเป็นตัวเชื่อมในมหาวิทยาลัยมีเทคโนโลยีมากมายแต่เชื่อมกันไม่ได้กับท้องถิ่น ถ้ามีตัวเชื่อมเช่นนี้ก็จะช่วยได้มาก
ที่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์มีมูลนิธิหนึ่งชื่อ ฟรังซ์ซัวซาเวียร์ ที่ได้นำวิศวกรที่เกษียณอายุแล้วสามคนในสวิสเซอร์แลนด์ไปพม่าดูการสร้างอาชีพ ซึ่งความคิดของวิศวกรจะมองเห็นเชิงเทคนิคช่วยสร้างอาชีพได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยนั้นมีความรู้มากมายแต่เราไม่เคยมองชาวบ้าน มองแต่ยอดบนถ้ามหาวิทยาลัยมองด้านล่างและช่วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะช่วยท้องถิ่นได้มากมาย
“ตัวอย่าง เช่น สถาบันวิจัยราชมงคลของจ.สกลนคร ที่มีเครือข่ายอินแปงเป็นการรวมตัวจากกลุ่มชาวบ้านจาก 8 อำเภอรอบๆ ภูพาน โดยขึ้นไปสำรวจภูพานว่ามีต้นไม้อะไรจะศูนย์พันธุ์แล้วบ้างก็ไปเก็บเมล็ดมาขยายพันธุ์ช่วยกันปลูก รักษาพันธุ์ดูแลสิ่งแวดล้อม แล้วก็เพาะขายด้วยต้นละ 2 บาทซึ่งแกนนำกลุ่มก็บอกว่ากำไรของเขาคือ การสร้างความสุขของคนอื่น ซึ่งต้องนับถือหัวใจเขาสูงมาก ชาวบ้านที่เป็นนักปราชญ์เช่นนี้มีมาก”
สรุปคือ จุดง่ายๆ มหาวิทยาลัยต้องไปร่วมทำแผนชุมชนเรียนรู้ต่างๆ ว่าจะทำอย่างไร เราต้องมีเทคโนโลยีบางอย่างไปร่วมกับท้องถิ่น บางทีนักศึกษาไปก็มี ซึ่งนักศึกษาจะเก่งเรื่องคอมพิวเตอร์แต่ชาวบ้านไม่มี ก็ต้องช่วยชาวบ้าน
สังเคราะห์ความรู้ “ดินสู่ฟ้า-ฟ้าสู่ดิน”
ถ้ามหาวิทยาลัยทำอย่างนี้ มหาวิทยาลัยก็จะเป็นปัจจัยช่วย 1จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย ช่วยชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง แล้วมีอะไรอีกก็ช่วยกัน มหาวิทยาลัยมีการเรียนรู้ทั้งอาจารย์ นักศึกษา ได้เรียนรู้จากการลงมือทำของจริง ได้สนุก ซึ่งต้องช่วยแบบนี้แล้วทฤษฎีจะดีขึ้น เป็นวงความรู้ชนิดดินสู่ฟ้า ฟ้าสู่ดิน ดินหมายถึงชีวิตจริง ปฏิบัติจริง การปฏิบัติจริงก็จะมีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ต่างๆ จากนั้นถ้าเรานำวิชาการไปวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เข้าใจชัดขึ้น ก็จะเป็นความรู้ที่สูงขึ้นอีก คนก็จะใช้ความรู้นั้นอีก ถ้ายิ่งวิเคราะห์สังเคราะห์อีกก็เป็นความรู้ที่ดีขึ้นอีกก็ถูกนำไปใช้อีกจะ วนอยู่เช่นนี้
ดังนั้นทุกรอบที่วนเคลื่อนไปการปฏิบัติก็จะดีขึ้น ความรู้ก็จะดีขึ้น ทฤษฎีก็ดีขึ้น เพราะสังเคราะห์มาจากของจริง แต่ขณะนี้ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ความรู้นั้นวนอยู่ คือ วนอยู่ในสุญญากาศ ซึ่งควรจะวนแบบดินสู่ฟ้า ฟ้าสู่ดิน ฉะนั้นถ้ามหาวิทยาลัยไปทำกับชุมชนท้องถิ่นนั้นจะเปลี่ยนแปลง จะเป็นการปฏิรูปมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะมีประโยชน์ กระตุ้นการวิจัยเพราะบางเรื่องโจทย์ที่มีความรู้ยังไม่มี เราก็ไปวิจัยเพิ่มเติมขึ้น บ้านเมืองก็จะหันเข้ามาหากันอย่างดี
วิธีการที่มหาวิทยาลัยจะช่วยได้ก็คือ การสังเคราะห์ประเด็นนโยบายจากการปฏิบัติ เพราะว่าคนที่ปฏิบัตินั้นจะรู้หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน และอะไรที่จะช่วยให้การปฏิบัติได้ดี ก็คือ นโยบายอะไรที่จะไปเพิ่มอุปสรรค ไปลดอุปสรรคให้ดีขึ้น แต่เมื่อถ้าเราไปทำไปร่วมเสริมสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ก็อาจจะทำให้พบว่าชาวบ้านทำไม่ได้เพราะปัญหาที่ดิน ก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ต่อไป และมหาวิทยาลัยก็จะเป็นพลังขยายประเด็นนโยบาย เพราะมหาวิทยาลัยมีบารมี มีวิชาการด้วย ชาวบ้านไม่มีปากไม่มีเสียงเชื่อมโยงประเด็นนโยบาย ดังนั้นมหาวิทยาลัยเมื่อไปทำแล้วจะช่วยเป็นตัวสังเคราะห์ประเด็นนโยบาย ช่วยเชื่อมโยงประเด็นนโยบายไปสู่นโยบายระดับชาติ ถ้าเราสามารถโยงประเด็นนโยบายจากรากหญ้าไปสู่นโยบายระดับชาติได้เมื่อใดก็คือประชาธิปไตยที่เดินโดยรากหญ้า ไม่ใช่นโยบายที่เดินโดยขาดที่มาที่ไป ซึ่งมีนโยบายมากมายที่ไม่ดีต่อประเทศและทำให้ประเทศลำบาก
ยกตัวอย่าง ครูคนหนึ่งเป็นหมอที่โรงพยาบาลศิริราชชื่อ อาจารย์หมอสวัสดิ์ สกุลไทย ท่านเป็นคนช่างคิด ท่านบอกว่าการขนส่งประเทศไทยนั้นผิดใช้รถสิบล้อขนส่งทั่วประเทศ ผลาญน้ำมัน การขนส่งระยะไกลนี้ถ้าขนส่งโดยรถไฟกับเรือกลไฟนั้นจะถูกลงมากแล้วระยะทางก็จะใกล้กว่ารถสิบล้อ เราต้องทำหัวรถจักรเองให้ได้ ใช้หัวรถจักรไอน้ำโดยให้ชาวบ้านทั้งประเทศปลูกฝืนใช้ต้นไม้โตเร็วโดยที่เราไม่ต้องไปซื้อน้ำมัน ซึ่งเรือกลไฟนั้นแรงฉุดมีมากและแม่น้ำก็มีอยู่แล้วซึ่งบรรทุกของหนักๆ ไปได้ไกลมาก นี่ก็เป็นตัวอย่างว่านโยบายนั้นไม่ถูกต้องซึ่งทำให้เสียหายเพียงใด พอราคาน้ำมันแพงเราก็ช็อตทั้งประเทศ ถ้าถามว่าใครกำหนดนโยบายตรงนี้ก็คือ คนอยากสร้างถนน คนอยากขายรถยนต์ คนอยากขายน้ำมันเป็นผู้กำหนดนโยบายแบบนี้แต่ประเทศเสียหาย
มหาวิทยาลัยเรามีมากมาย เพราะฉะนั้นในอนาคตมหาวิทยาลัยต้องสามารถเข้าไปมีส่วนในการสร้างนโยบายสาธารณะ แล้วก็จะมีได้ก็ต้องเข้าใจความเป็นจริงของสังคม การวิจัยที่นำวิชาการเป็นตัวตั้งก็ควรจะนำสังคมเข้ามาด้วย มหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดไม่ได้มองจากสังคมเข้ามา มองจากวิชาการแล้วก็พัฒนาแต่วิชาการในเรื่องวิจัย แต่ถ้ามองจากสังคมเข้ามาแล้วนั้นจะเห็นประเด็นมากมายที่ควรทำ
เช่น วิทยุชุมชนท้องถิ่น หรือเรื่องที่ถ้าเราสามารถฝึกอบรมนักข่าวให้มีความรู้ในตัวในเรื่องต่างๆ ได้ประมาณ 1,000 คน ประเทศก็จะเปลี่ยนเลย ซึ่งมหาวิทยาลัยมีกำลังมากทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บางมหาวิทยาลัยมีเงินเป็นหมื่นล้านบาทก็มี วิชาการก็มี ทำไมไม่ช่วยให้ทุนการศึกษาแก่นักข่าว เพราะนักข่าวเขาจนต้องคุ้ยเขี่ยหากินเอง ดังนั้นต้องสร้างหลักสูตรชนิดที่ให้สามารถยังทำงานได้แล้วมีทุนการศึกษาให้ด้วย ถ้ามหาวิทยาลัยช่วยให้ทุนตรงนี้ ถ้าสมมติให้เรียนปริญญาโทประมาณ 1,000 คน ประเทศก็จะเปลี่ยนไปเลยเพราะนักข่าวมีความรู้ในตัวเวลาไปสื่อสารกับใครก็จะเป็นตัวเชื่อมความรู้ เพราะสังคมนั้นต้องเชื่อมความรู้ออกไป เป็นต้น
ขจัดมายาคติเปิดให้โอกาส “ผู้นำที่ไม่เป็นทางการ”
อยากฝากสำหรับเรื่องผู้นำที่ไม่เป็นทางการ หรือผู้นำตามธรรมชาตินั้น จะเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานร่วมกัน จะเกิดขึ้น 100% ซึ่งตอนที่ยังไม่ได้ทำงานก็จะไม่รู้ สมมติมีคน 100 คนไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนมาทำงานร่วมกันแล้วบอกให้โหวตว่าคนไหนควรเป็นตำแหน่งอะไรก็จะโหวตไม่ถูก เพราะไม่รู้จักกันแต่ถ้าทำงานร่วมกันไปก็จะปรากฏขึ้นมาเอง เรียกว่าผุดบังเกิด หลังจากการทำงานร่วมกัน
คนที่จะมีลักษณะ 5 ประการ เป็นเบญจคุณลักษณะ คือ 1.เป็นคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ทำงานร่วมกันก็จะรู้ คนเห็นแก่ตัวก็จะไม่เอา 2.เป็นคนสุจริต เป็นไม่สุจริตก็ไม่เอา 3.เป็นคนฉลาด 4.เป็นคนติดต่อสื่อสารเก่ง พูดจารู้เรื่อง มีเสน่ห์ ก่อความบันดาลใจให้ผู้คน 5.เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ซึ่งจะเกิดขึ้น 100% ในกระบวนการทำงานร่วมกันเกิดผู้นำตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นผู้นำตามธรรมชาติถ้าเรามีหมู่บ้านละ 50 คน แล้วเรามี 80,000 หมู่บ้านนี้ เราก็จะมีผู้นำตามธรรมชาติ 4 ล้านคน ซึ่งจะเป็นฐานของผู้นำที่เป็นคนเก่ง คนดี แล้วถ้าเราส่งเสริมเขาให้ทำงานต่อไปก็จะส่งผู้นำเหล่านี้เป็นคนเก่ง คนดีขึ้นมา เราต้องสนใจผู้นำที่ไม่เป็นทางการด้วย
มายาคติอย่างหนึ่งในสังคมไทยที่ทำให้สังคมไทยอ่อนแอ คือ เราจะนับถือความเป็นทางการมากกว่าความไม่เป็นทางการ ซึ่งที่จริงแล้วความไม่เป็นทางการมีมาก่อนความไม่เป็นทางการ และใหญ่กว่า เป็นธรรมชาติที่ดีกว่า แท้จริงมากกว่า ดังนั้นเราต้องนิยมความไม่เป็นทางการมากขึ้น การทำความดีไม่ต้องขออนุมัติ