สัมภาษณ์ ::: ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ “การศึกษาสำคัญเกินกว่าทิ้งไว้ในมือใครคนใดคนหนึ่ง”
“อนาคตของเด็กอยู่ในมือครู เช่นเดียวกับอยู่ในมือของพ่อแม่และสังคม ครูดีสามารถช่วยชดเชยความบกพร่องของพ่อแม่และสังคมได้เป็นอันมาก และการจะเป็นครูดีได้นั้น ต้องเริ่มต้นที่มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ปรารถนาจะเป็นครูที่มีคุณค่าเป็น เบื้องต้น และตั้งใจเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับเด็กทั้งหลาย” รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนไว้ในหนังสือเล่มเล็กๆ แต่ทรงคุณค่า ชื่อ “สิ่งละอันพันละน้อย” ที่มอบไว้ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2553
ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญาผู้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนสร้างระบบการศึกษา ซึ่งขณะนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ในการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ได้เปิดโอกาสให้เราได้พูดคุยหลังจากปีที่ผ่านมา ได้ทำงานหลากประเภท หลายระดับความรับผิดชอบ
ท่ามกลางการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาใน ทศวรรษที่สอง วันนี้รศ.ดร.วรากรณ์ มองเรื่องการปฏิรูปการศึกษารอบสองในประเด็นการผลิตครูพันธุ์ใหม่ที่ผ่านครม.ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “เป็นเรื่องที่ผ่านหลายๆ คน หลายๆ ฝ่าย คิดว่าดูอย่างรอบคอบแล้ว โดยเป็นรูปแบบการศึกษาที่เป็นเส้นทางปกติของทางราชการ ขณะที่การปฏิรูปประเทศไทยในเรื่องสร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤตของภาคีเครือข่ายสถาบันทางปัญญาก็เป็นคนละแนวที่ไม่จำเป็นต้องเป็นทางการ"
หากจะถามถึงประสบการณ์ตลอด 1 ปีที่ผ่านมากับการร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยโดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา
“เวทีนี้ทำให้ได้ความรู้ได้มุมมองที่แตกต่าง และยังเปิดโอกาสให้ได้ทำงานวิจัยเรื่องการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ ไปแล้ว 9-10 ครั้ง เชิญบุคคลจากที่ต่างๆ มาแลกเปลี่ยน เล่าประสบการณ์ ทั้งการศึกษานอกหลักสูตร การศึกษาบอกระบบ พูดถึงครูที่มีการปฏิบัติเป็นเลิศ การบริหารจากท้องถิ่น ทำให้เข้าใจกระบวนการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยมากยิ่ง ขึ้น”
ถ้าจะให้มองการศึกษาไทยในอีก10 ปีข้างหน้า
"อีก10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณอายุประมาณ 188,000 คน ในฐานะที่เป็นกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ คิดว่า แม้โครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้นมาเพื่อผลิตนักศึกษาครูชดเชยอัตรา เกษียณเหล่านั้น แต่ก็ทำได้เพียง 36,000 คน หรือประมาณ 19% เท่านั้น ปี 2552 ที่ผ่านมาจึงเป็นปีแรกรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เรียกว่าครูพันธุ์ใหม่แบบทดลองนำร่อง บรรจุเข้ารับราชการในปี 2554 จำนวน 2,000 คน ป้อนให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,800 คน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อีก 200 คน ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับครูที่จะเกษียณอายุในปีนั้นประมาณ 9,000-10,000 คน ”
อดีตรมช.ศธ.อธิบายถึงขั้นตอนการคัดเลือกครูพันธุ์ใหม่ว่า “จะเริ่มคัดเลือกตั้งแต่ยังอยู่ในมหาวิทยาลัย ทั้งประเภทให้ทุน และประเภทรับประกันการทำงาน โดยผู้สนใจอาชีพครู มีถึง 4 ช่องทางที่จะสามารถก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ได้ ประตูแรก เรียนครู 5 ปีในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสิทธิได้ทั้งทุนและเมื่อเรียนจบแล้วสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ ประตูที่ 2 คือ คนที่จบปริญญาตรีแล้วไปเรียนประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู สำหรับสถาบันการศึกษาที่คัดเลือกมาแล้ว ประตูที่ 3 สอบคัดเลือก ซึ่งดำเนินการเปิดสอบและบรรจุเข้าเฉพาะสนามอัตราจ้างที่มีอัตราเกษียณอายุ ประตูที่ 4 คือ คนทั่วไปจบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ที่เลือกจะเป็นครูด้วยการไปสอบอัตรา หรือแม้แต่คนที่จบประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู โครงการผลิตครูรูปแบบ 4+1 ที่เรียนวิชาชีพครูแล้วอยากจะมาสอบเข้ามาเป็นครู"
ขณะที่เรื่องการบริหารจัดการการศึกษาก็สำคัญไม่แพ้เรื่องการพัฒนาคุณภาพครูเช่นกัน
“การพัฒนาครูใหม่ เรื่อง ครูดีก็ทำไป แต่เรื่องการบริหารจัดการก็ต้องทำ หมายความถึงปฏิรูปการบริหารงานที่ปัจจุบันพบว่า มีปัญหามากทั้งในเรื่องของการเกลี่ยอัตรากำลัง การบริหารงานของคณะกรรมการสภาการศึกษาที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาครูกระจุกตัว ได้ ความเป็นอิสระของโรงเรียน ความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียนเพื่อให้สามารถบริหารงานเอง เลือกครูดีเอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพดีขึ้นทันที
“ การศึกษาของชาติเป็นเรื่องของทุกคน และสำคัญเกินกว่าจะทิ้งไว้ในมือนักการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ หรือคณะกรรมการปฏิรูป หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น การศึกษาจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องอาศัยสื่อมวลชนและสังคมมองเห็นความสำคัญแล้ว ช่วยกันผลักดัน ขณะที่การเปลี่ยนนโยบาย หรือเจ้ากระทรวงบ่อยครั้ง ประกอบกับการขาดความมุ่งมั่นของสังคมไทยในการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา พูดอย่างเดียวแล้วไม่ทำยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทย หากได้รับการแก้ไขก็จะทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้น และหันมามองเรื่องของการศึกษาสำคัญลำดับต้นๆ”
สำหรับมุมมองเรื่องการบริหารจัดการด้านการศึกษาอีก 10 ปีข้างหน้า ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่
“ การบริหารจัดการด้านการศึกษาอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ การเกลี่ยอัตรากำลัง ปัญหาการขาดแคลนครู การมีครูที่เพียงพอต้องให้ความสนใจด้วย ไม่ใช่เน้นเรื่องของคุณภาพครูเพียงอย่างเดียว ขณะที่การดึงดูดคนดีมาเป็นครูด้วยการให้ผลตอบแทน จะทำอย่างไรให้วิชาชีพครูได้รับผลตอบแทนที่ทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆ รวมทั้ง เรื่องทัศนคติและการควบคุมกำกับของสังคมที่มีต่อครู เรื่องของการดูแล การติดตามประเมินผลครู เรื่องของชุมชนในการที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องของการศึกษา เพราะการศึกษาไม่ใช่เพียงเรื่องของครู เพียงอย่างเดียว พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถมีส่วนช่วยได้มาก ด้วยการดูแลลูกแทนที่มอบภาระให้ครูทั้งหมด”
ส่วนความคาดหวังกับนาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ว่าที่รมว.ศธ.คนใหม่นั้น
“จากประสบการณ์ที่นายชินวรณ์ เคยเป็นครูมาก่อน ทำให้รู้ดีว่า อาชีพครูมีปัญหาอะไรบ้าง จากการติดตามเรื่องการศึกษามาโดยตลอดกับบทบาทสำคัญอย่างเช่น การร่างกฎหมายครู รู้เรื่องเกี่ยวกับครู และเคยร่วมงานกับดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรมว.ศธ.มาหลายปี ส่วนนโยบายด้านการศึกษาก็หวังว่า จะมีความต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการเรียนฟรี การพัฒนาโรงเรียนที่มีคุณภาพ การปิดช่องว่างระหว่างคุณภาพของโรงเรียนในเมืองกับนอกเมือง และการปราบปรามทุจริตที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการที่ยังคาราคาซังอยู่ให้ จบสิ้นไป”
สุดท้าย 16 มกราคม วันครูปีนี้อาจารย์วรากรณ์ ยังฝากให้ครูได้กลับมานั่งคิด ทบทวนถึงบทบาทของตัวเองว่า ควรจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ความผูกพันธ์ระหว่างครูกับสังคม ในส่วนของสังคมก็ควรใช้โอกาสนี้ตระหนักถึงบทบาทของครู โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีบทบาทในการสนับสนุนครูได้อย่างไร
“ ในเมื่อความหมายของคำว่า “ครู” ไม่ได้จำกัดความเฉพาะที่ต้องบรรจุเป็นครูเท่านั้น พ่อแม่สามารถเป็นครูได้โดยธรรมชาติ ไม่ต้องเป็นวิชาชีพ อยากให้วันครูปีนี้ ระลึกถึงการเป็นครูมากกว่าตัวครู เพราะโลกปัจจุบันนี้ครูมีมากมาย ทั้งอินเทอร์เน็ตก็เป็นครู วิกิพีเดียก็เป็นครู อยากให้มองไปที่บทบาทของครูลักษณะที่เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่จำเป็น ต้องเป็นตัวคน”
ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองของผู้ที่จะมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในวันที่ 1 มีนาคม 2553 นี้