ปาฐกถา ::: ถ้อยแถลงไทยต่อที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันที่ 18 ธ.ค. เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ Bella Center กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมระดับสูง (High Level Segment : HLS) ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 และพิธีสารเกียวโตสมัยที่ 5 พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม
สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีราสมูสเซน และรัฐบาลเดนมาร์กที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งเป็นการแสดงว่าประเทศเดนมาร์กมีความจริงจังเพียงใดในการตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง เราต่างต้องร่วมกันต่อสู้กับปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจังและถือเป็นสิ่งที่เร่งด่วนที่เราจะต้องร่วมทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาถกเถียงหรือผลักความรับผิดชอบกันอีกต่อไป
แม้ว่าจะต้องใช้วิธีการที่ต่างกัน แต่เราก็ต่างประสงค์ที่ไปสู่จุดหมายเดียวกันในการแก้ปัญหา ภายใต้มาตรการตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาคือความพยายามที่จะต่อสู้กับเรื่องนี้ โดยไม่ให้กระทบต่อกระบวนการพัฒนาของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) จึงไม่อยากให้ความพยายามในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าและการลงทุนของประเทศที่กำลังพัฒนา
ประเทศไทยเองเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสภาพภูมิอากาศของโลกและการคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการอาหารโลกที่จะเพิ่มขึ้นถึง 50 % ภายในปี 2050 นั้น อาจจะมีผลทำให้ความสามารถในการผลิตอาหารของประเทศไทยลดลงซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารได้ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงได้มีการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งโครงการนี้ถูกออกแบบให้เราสามารถรักษาผลผลิตที่ดี ในขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน
ในภาพรวมแล้ว ประเทศไทยได้นำปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งในฉบับที่ 10 และ 11 ซึ่งเป็นการวางแผนให้ประเทศไทยที่ไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้ผลิตคาร์บอนน้อยลง และสนับสนุนการขนส่งและการลำเลียงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคในประเทศมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
นอกจากนั้นแล้ว ประเทศไทยได้อนุวัติแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (2551-2565) ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำพลังงานทดแทนมาใช้ร้อยละ20 ของพลังงานที่มีใช้ทั้งหมดของประเทศภายในปี 2022 ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพิ่มให้ครอบคลุมพื้นที่จากร้อยละ30 เป็นร้อยละ 40 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่อนุรักษ์กว่า 228 แห่งและมีแผนที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งการอนุรักษ์ป่าไม้และโครงการปลูกป่าได้รณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย
ในส่วนของอาเซียน ประเทศไทยตระหนักว่าการดำเนินเพื่อรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของไทยเพียงประเทศเดียว ไม่เพียงพอ จึงต้องมีการร่วมมือกันกับประเทศต่างๆและในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ เราได้มีการส่งเสริมความตระหนักเกี่ยวกับปัญหานี้ และมีการดำเนินการร่วมกันในภูมิภาค ระหว่างการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราได้มีการออกแถลงการณ์ Joint Statement on COP 15 of the UNFCCC และ CMP 5 ของพิธีเกียวโต นอกจากนี้ ในเดือนที่แล้ว ประเทศไทยได้จัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเพื่อรับรองใน ASEAN Common Understanding และมีการจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN Climate Changes ขึ้นด้วย
ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีมาตรการรับมือในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่า เราจะมีส่วนน้อยมากในการปล่อยก๊าซที่ผ่านมาในอดีต อย่างได้ก็ดี ประเทศอาเซียนเห็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศนี้ควรต้องรับผิดชอบกับการกระทำในอดีต และมีศักยภาพและเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเพียงพอในแง่เทคโนโลยี
ด้วยข้อจำกัดของประเทศที่กำลังพัฒนาในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งในแง่เงินสนับสนุนและเทคโนโลยี ศักยภาพของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศที่กำลังพัฒนาจึงขึ้นอยู่กับการให้ความสนับสนุนดังกล่าวด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น อาเซียนสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มประเทศ G77 สาธารณรัฐประชาชนจีน และ กลุ่ม LDCs (กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด Least Developed Countries) เพื่อให้ประเทศที่พัฒนาแล้วจัดสรรงบประมาณร้อยละ 0.5 - ร้อยละ 1 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP- Gross National Product) พร้อมกันกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนา (ODA- Oversea Development Assistance) และกลไกเหล่านี้ต้องมีความพร้อมตลอดเวลาและสามารถเรียกใช้ได้อย่างง่ายดายจากประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะจากประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่อ่อนแอที่สุด และประเทศที่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าวต้องนำความช่วยเหลือไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศของตนอย่างแท้จริง
เราได้ใช้เวลา 2 ปีที่ผ่านมา จากบาหลี สู่ บอนน์ จากกรุงเทพฯ สู่ บาเซโลน่า ก่อนที่เราจะมาถึงโคเปนเฮเกนในวันนี้ และถึงบทสุดท้ายของแนวทางที่เราได้วางไว้ เราต้องร่วมสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกันและ เราสามารถทำได้ที่กรุงโคเปนเฮเกนแห่งนี้