ปาฐกถา ::: ทบทวนแนวคิดชาตินิยมไทย พิเคราะห์ส่วนประกอบทาง “ชาติพันธุ์” “สถาบันกษัตริย์” และลักษณะ “สุดโต่ง”
ปาฐกถานำการสัมมนา โดยศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน, สหรัฐอเมริกา
ปฏิกิริยาจากสาธารณชนและสื่อไทยที่มีต่อการก่อความไม่สงบในพื้นที่ของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู นับตั้งแต่ปี 2004 นั้นดูคล้ายชาตินิยมทางชาติพันธุ์อันอัปลักษณ์ที่พุ่งไปยังชนกลุ่มน้อยมุสลิมเชื้อสายมลายู ข้อกล่าวหานั้นมักจะพุ่งตรงไปยังอุดมการณ์ชาตินิยมไทยนับแต่ทศวรรษ 1940 ภายใต้ยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ผลิตอุดมการณ์นั้น โดยตำหนิว่ายุคสมัยดังกล่าวต้องรับผิดชอบต่อการสร้างลัทธิเชื้อชาติไทย หรือชาตินิยมทางชาติพันธุ์ โดยมักถูกเรียกในภาษาไทยว่าลัทธิ “คลั่งชาติ” (chauvinism) ชาตินิยมเช่นนี้เลือกที่รักมักที่ชัง กีดกัน และผลักไสคนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์ไทยและพุทธออกไปอยู่ ณ ชายขอบ อนึ่ง ความเห็นคล้ายกันที่มีต่อลัทธิเชื้อชาตินิยมไทยยังพบได้ในการอภิปรายเรื่องชนกลุ่มน้อยในเขตที่สูง
“เชื้อชาติ” ในแนวคิดแบบไทยนั้นคืออะไร? ชาตินิยมไทยมีลักษณะคลั่งเชื้อชาติหรือคลั่งชาติพันธุ์กันแน่? อะไรที่ทำให้ชาวจีนไม่เป็นปัญหาในทางชาติพันธุ์? ความล้มเหลวของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยในการจัดการกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานีนั้นมีเหตุจากการครอบงำของชาตินิยมแบบพิบูล-หลวงวิจิตรใช่หรือไม่?
ขณะที่มีลักษณะอันแปลกประหลาดในลัทธิชาตินิยมไทยซึ่งควรได้รับการอธิบายเป็นจำนวนมาก อาทิ ขณะที่ชาตินิยมไทยไม่เคยนึกถึงหรือก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแนวราบในหมู่สมาชิก ทว่ากลับมีลักษณะเน้นลำดับชั้นโดยตลอด ชาตินิยมไทยให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์เป็นลำดับแรก หรือในอีกชื่อก็คือลัทธิราชาชาตินิยม เป็นต้น
กล่าวได้ว่าการอภิปรายเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมไทยในความขัดแย้งเกี่ยวกับปาตานี หรือก็คือการเลือกที่รักมักที่ชังต่อชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยนั้น แทบจะไม่เคยนำประเด็นคุณลักษณะแบบลำดับชั้นและแนวคิดนิยมกษัตริย์เข้ามาสู่การพิจารณาเลย หลายต่อหลายคนกลับเสนอแนะว่าอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ต่างหากที่สนับสนุนให้เกิดขันติธรรมทางชาติพันธุ์ หาใช่ลัทธิชาตินิยมแต่อย่างใด
ผมอยากทำให้ความเข้าใจของเราที่มีต่อชาตินิยมไทยซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วยการสืบรอยสาแหรกวงศ์ของลัทธิชาตินิยมไทย และหันกลับมาพิจารณาการจัดวางด้านอุดมการณ์ของมัน พร้อมทั้งเสนอคำถามใหม่ โดยใคร่เสนอว่าลัทธิชาตินิยมไทยถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขกึ่งอาณานิคม กึ่งจักรวรรดินิยมในช่วงทศวรรษ 1880-1920 ชุดความสัมพันธ์ทางอำนาจสี่แบบซึ่งมีส่วนเอื้อต่อการสำแดงออกอย่างหลากหลายของชาตินิยมไทยก็คือ
1) ความสัมพันธ์ที่ย้อนแย้งระหว่างสยามและตะวันตก 2) ความปรารถนาแบบจักรวรรดินิยมของสยามในความสัมพันธ์ต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค 3) มโนทัศน์เรื่องคนไทยกับกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มวัฒนธรรมที่สำคัญ อาทิเช่นชาวจีน และ 4) อุดมการณ์ของชาติไทยในฐานะสังคมอินทรีย์ภาพที่ประกอบด้วยความสัมพันธ์เชิงลำดับชั้นมากมาย ประการสำคัญที่สุดคือลำดับชั้นของอำนาจทางศีลธรรม ผลกระทบทรงพลังที่สุดก็คือราชาชาตินิยมซึ่งต่อมาสามารถรวมเอาลัทธิชาตินิยมแบบฟัสซิสต์ในช่วงทศวรรษ 1940 เข้ามาไว้ด้วยกัน
กล่าวได้ว่าความจริงแล้วชาตินิยมไทยที่กล่าวหากันอยู่นี้ก็คือมรดกของความปรารถนาแบบจักรวรรดินิยมของสยามที่สำแดงออกมาในรูปของคำว่า “เชื้อชาติ” นั่นเอง
ที่มา:http://www.patani-conference.net/ การสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง ภาพหลอกหลอน ณ ชายแดนใต้ของไทย : การเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีและโลกอิสลาม ระหว่างวันที่ 11 - 12 ธันวาคม 2552 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย โครงการภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ