ปาฐกถา ::: วิภาษวิธีแห่งจิตตปัญญา...ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ในงานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 2 เรื่องจิตตตปัญญาศึกษา: ทางเลือกหรือทางรอดของสังคม? เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการอิสระปาฐกถาพิเศษ “วิภาษวิธีแห่งจิตตปัญญา”(The Dialectic of Spiritual Wisdom) โดยได้เล่าเรื่องราวที่เขานำวิภาษวิธีเข้าสู่สนามรบใหม่ คือสนามรบภายในตน ที่มนุษย์ทุกคนควรใส่ใจ
อาจารย์เสกสรรค์ กล่าวถึงปัญหาหลักของโลกปัจจุบันว่า เกิดจากการมองโลกแบบแยกส่วน และการมองโลกแบบขั้วตรงข้าม (dualism) ซึ่งก่อปัญหาขึ้นอย่างมากมาย และผลักดันให้มนุษย์กระทำกับสิ่งอื่น คนอื่น พวกอื่น ราวกับว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน กลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทุกระดับในสังคม ทั้งคนต่อคน ขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ล้วนเนื่องมาจากวิธีการมองโลกเช่นนี้
จากปัญหาอันซับซ้อนที่ไหลบ่าท่วมทับสังคม อาจารย์เสกสรรค์จับเครื่องมือที่คุ้นเคย ซึ่งเคยใช้ในการมองโลก ชีวิต สังคม และดูเหมือนเป็นแนวทางขับเคลื่อนพฤติกรรมของเขามาโดยตลอดมาใช้อีกครั้ง แต่คราวนี้เขาใช้เครื่องมือเดิมมาศึกษาพื้นที่ใหม่ คือพื้นที่ของโลกด้านในตนเอง ซึ่งเขาอธิบายว่า
“วิภาษวิธี คือวิธีคิดที่มีมานานนับพันปี ถูกนำมาใช้โดยโสคราติส นักปรัชญาตะวันตกรวมทั้งลัทธิมาร์กซ หลักการวิภาษวิธีออกจะคล้ายคลึงกับปรัชญาตะวันออกอยู่มาก กล่าวคือ สรรพสิ่งในโลกล้วนอยู่ในสภาวะเปลี่ยนแปลง มีความความเคลื่อนไหวภายใน และเชื่อมกับปัจจัยภายนอกโดยผ่านการเคลื่อนไหวภายในของตน ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจึงล้วนเชื่อมโยงกันแบบสหสัมพันธ์ ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งเป็นไปด้วยความขัดแย้งภายใน เพราะสรรพสิ่งล้วนประกอบด้วยองค์ประกอบซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามในตนเอง และคลี่คลายได้โดยการต่อสู้เพื่อเอกภาพระหว่างคู่ตรงข้ามคู่ใหม่ในสิ่งกำเนิดใหม่ และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายจึงคลี่คลายด้วยเส้นทางวิวัฒนาการ วิภาษวิธีต่างจากการมองแบบทวิลักษณะ ตรงที่เห็นความสืบเนื่องกันของสรรพสิ่ง แต่กระนั้นก็ตาม ดังที่เราเห็นกันอยู่ วิภาษวิธีก็ยังไม่อาจนำมนุษย์ออกจากความขัดแย้งได้ อาจเพราะความผิดพลาดที่ไม่เข้าใจเรื่องความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง”
สรุปง่ายๆ ว่า การมองโลกแบบวิภาษวิธีคือ มองให้เห็นสิ่งเดิมที่เป็นอยู่ เห็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาท้าทาย และเห็นการก่อกำเนิดของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจเหมือนเดิม หรือไม่เหมือนเดิมเลยก็ได้
เมื่ออาจารย์เสกสรรมองเข้าไปในโลกด้านในตนเอง เขาพบสิ่งเดิมที่มีมนุษย์มีอยู่ร่วมกันคือ ดวงจิตของปุถุชนที่เต็มไปด้วยสิ่งรกรุงรัง จิตที่เสวยอารมณ์ปรุงแต่ง ต้องชำระสะสางขนานใหญ่ ความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นกับจิตดวงเดิมของเขาคือการชำระจิตใจให้สงบ การท้าทายตัวเองด้วยการปักใจเด็ดเดี่ยวที่จะเอาชนะด้านมืด ซึ่งต้องอาศัยการต่อสู้ภายในอันละเอียดอ่อน เพื่อนำไปสู่สภาวะใหม่ของการสลายอัตตาตัวตนแบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง เป็นการเดินทางจากการปรุงแต่ง สู่ศีล 5 และสู่ปรัชญาปรมิตา
คำถามสำคัญที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเขาในวันนี้คือ กระบวนการใดที่จะสามารถนำพามนุษย์ก้าวข้ามพ้นการมองโลกแบบแยกส่วน และในขณะเดียวกัน ก็ก้าวข้ามพ้นจากความขัดแย้งภายในตนเองด้วย
“การที่บุคคลตระหนักว่าบุคลิกภาพ พฤติกรรม แบบที่ตนเป็นนั้นนำความทุกข์มาให้ กล่าวคือ บุคคลนั้นกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความขัดแย้งภายในตน แทนที่จะกล่าวโทษผู้อื่นสิ่งอื่น และวนเวียนกระทำสิ่งที่สร้างทุกข์ให้ตนต่อไป แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่บุคคลจะเห็นอัตตาหรืออีโก้ของตน หากแต่การได้เห็นนี้เอง คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตนเอง”
อาจารย์เสกสรรค์บอกว่า แม้เราจะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองแล้ว ก็ยังมีกับดักและหลุมพรางมากมายรออยู่ตลอดเส้นทางที่เดินไป เพราะเราต่างคุ้นชินอยู่กับวิธีเรียนแบบทวิลักษณะ แยกส่วน ย่อส่วน โดยไม่ตระหนักว่า “ความรู้” กับ “การรู้” ห่างไกลกันมาก เช่นเดียวกับที่ “ความเห็นหรือความคิดเห็น” ต่างจาก “การเห็น” โดยสิ้นเชิง
“สำหรับคนที่เกิดและโตมาในยุคสมัยใหม่ ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก การเรียนรู้แบบสัมผัสตรงย่อมเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เนื่องจากพวกเราถูกสอนให้รับรู้ทุกอย่างผ่านภาษา เคยชินกับการคิดคำนวณตลอดเวลา แม้แต่การคิดก็เป็นสิ่งที่ต้องทำผ่านถ้อยคำเสมอ ดังนั้นการรับรู้โลกด้วยวิธีดังกล่าวจึงเป็นเพียงการอ่านสัญลักษณ์เกี่ยวกับความจริง มีใช่การสัมผัสความจริง ยิ่งต้องการค้นหาความจริงเกี่ยวกับตัวเองด้วยแล้ว วิธีหาความรู้แบบคิด อ่าน เขียน และคำนวณยิ่งใช้ไม่ได้เลย”
อาจารย์เสกสรรค์แนะนำวิธีการก้าวข้ามพ้นจากความขัดแย้งภายในตนเองว่า เราจำเป็นต้องออกจากการเรียนที่แยกส่วน โดยการออกจากสนามแห่งความคิด ออกจากการต่อสู้ที่ใช้ตรรกะ ใช้เหตุผล ก้าวข้ามพ้นจากวิธีคิดวิธีการแบบเก่า
“พุทธศาสนามีกลยุทธ์ที่แยบคายมากในการสลายความขัดแย้งภายใน อันดับแรก ไม่แนะนำให้ขยายความขัดแย้งดังกล่าวให้กลายเป็นปรปักษ์ หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือไม่ทำให้อีโก้เปลี่ยนจากหลงรักตัวเองมาเป็นเกลียดชังตัวเอง เนื่องจากเห็นว่าตัวเองยังไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าจะเป็น… เรื่องทะเลาะกับตัวเองนี้เกิดขึ้นได้ง่ายมากสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นเดินทางธรรม วิธีจัดการความขัดแย้งภายใน ไม่ได้ทำโดยเอาความคิดไปสู้กับความคิด หากเอาการ ‘ไม่คิด’ เข้าไปแทนที่การคิดเสียมากกว่า”
ในทางตรรกะ การ ‘ไม่คิด’ ดูไม่น่าจะเป็นหนทางออกของปัญหาใดได้เลย ไม่ต้องพูดไกลไปถึงการออกจากความขัดแย้งแห่งตัวตน แต่หากเราเปิดใจกว้างที่จะเรียนรู้ เพื่อการเห็น โดยไม่ขังตัวเองไว้ในความรู้เดิมหรือความคิดเห็นแห่งตนเอง อาจเป็นไปได้ว่าการเดินทางเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณตามเส้นทางนี้ อาจไม่ยากเย็น หรือผืนความรู้สึกนัก
“ด่านสุดท้ายของวิภาษวิธีแห่งจิตตปัญญานั้นนับว่าน่าสนใจยิ่ง เพราะมันเป็นการปล่อยวางเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กล่าวคือไม่มีทั้งธรรมะและผู้ปฏิบัติธรรม ทุกอย่างหลอมรวมเป็นหนึ่ง ไม่มีทั้งผู้รู้และผู้ถูกรู้ มีแต่การรู้เท่านั้น ตามความเข้าใจของผม นี่คือภาวะสังเคราะห์สุดท้ายของจิตที่วิวัฒน์มาจากความขัดแย้งภายใน”
ที่มาhttp://www.ce.mahidol.ac.th