ปาฐกถา ::: เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: โลกไร้พรมแดนในประเทศที่มีพรมแดน
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “โลกไร้พรมแดนในประเทศที่มีพรมแดน : ความขัดแย้งระหว่างระเบียบ อำนาจ แบบรัฐชาติ กับสังคมโลกาภิวัตน์” ในโอกาสคณะรัฐศาสตร์ ครบรอบ 60 ปี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า อำนาจแห่งรัฐชาติกำลังถูกกัดกร่อน ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างอำนาจรัฐครั้งใหญ่ ประกอบด้วยการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาสังคม และปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่น
ดร.เสกสรรค์ เริ่มต้นทำความเข้าใจ 1. คำว่า รัฐชาติ คืออะไรทำไมถึงขัดแย้งกับสังคมโลกาภิวัตน์ 2.ความขัดแย้งดังกล่าวมีลักษณะอย่างไร 3.เมื่อขัดแย้งขึ้นแล้วเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง จะแก้ปัญหาด้วยหนทางไหน ซึ่ง ประเด็นใหญ่ทั้ง 3 พัวพันกันอย่างแยกไม่ออก
"ผู้คนมองบทบาทรัฐด้วยสายตาที่แตกต่างกัน มีข้อเรียกร้องต่อรัฐที่แตกต่างกัน และรัฐเองก็มีจิตนาการเรื่องอำนาจของตน รัฐชาติเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งไม่ว่าเราจะรู้สึกคุ้นเคยสักแค่ไหนก็ตาม ต้องยอมรับว่ารูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบนี้ ไม่ได้มีมาแต่โบราณ โดยเฉพาะรัฐสมัยใหม่ของไทย และชาติในความหมายสมัยใหม่
อำนาจการเมืองเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้อยู่ใต้อำนาจ การยอมรับ ก็ต้องอาศัยศรัทธา เกี่ยวกับประโยชน์สุขบางประการที่ผู้อยู่ใต้อำนาจเชื่อว่า อำนาจดังกล่าวจะนำมาให้ การเกิดขึ้น มีอยู่ และดำเนินไปของระเบียบอำนาจของรัฐชาติก็เช่นเดียวกับอำนาจรัฐรูปแบบอื่น ต้องอาศัยจินตนาการทางการเมืองมารองรับ เพียงแต่ว่า ข้ออ้างความชอบธรรมของรัฐชาติมีเนื้อหาที่มีลักษณะเฉพาะของตน ต่างจากการใช้อำนาจปกครองแบบโบราณ เริ่มแตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ กับความคิดความเชื่อของสังคมโลกาภิวัตน์
เราอาจสรุปได้สั้นๆ ว่า อำนาจแบบรัฐชาติมีรากฐานอยู่บนจินตนาการใหญ่ทางการเมือง 3 ประการ
1. มีการตีเส้นแบ่งความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างพลเมืองหรือประชากรของตนกับคนอื่นที่ไม่ได้สังกัดรัฐนี้ มีการนิยามสมาชิกภาพของประเทศไว้อย่างตายตัว มีเขา มีเรา มีคนไทยและไม่ใช่คนไทย ทั้งโดยบัญญัติทางกฎหมายและนิยามทางวัฒนธรรม
2. มีการถือว่าประชากรที่สังกัดอำนาจรัฐเดียว เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันในหลายมิติ เปรียบดังสมาชิกครอบครัวใหญ่ มีชะตากรรม ทุกข์ สุข ร้อนหนาวร่วมกัน
3. ถือว่าทั้งประเทศเป็นหน่วยผลประโยชน์ใหญ่ และถือว่าผลประโยชน์ส่วนรวมมีจริง มักเรียกว่าผลประโยชน์แห่งชาติ มีนัยยะว่า ทุกคนที่เป็นสมาชิกของชาติย่อมได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างถ้วนหน้า แม้ว่าบางทีอาจไม่เสมอกัน
จากจินตนาการใหญ่ทั้ง3ประการนี้ รัฐชาติจึงได้ออกแบบสถาบันการเมืองการปกครอง ขึ้นมารองรับ ตรากฎหมายจำนวนนับไม่ถ้วนขึ้นมา เพื่อจัดตั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสังคม ให้เป็นไปตามความเชื่อของเรา นอกจากนี้ยังดำเนินการปลูกฝัง ขัดเกลาจิตสำนึกของประชากรให้เข้ามาอยู่ในกรอบเดียวกัน เรียกโดยรวมว่า ระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ
กรณีของประเทศไทยระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างถูกตรวจสอบ ตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสมจริงของจินตนาการ ค่านิยม ความชอบธรรมของตัวสถาบันการเมืองการปกครอง ความเป็นธรรมของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือความถูกต้องที่เรียกว่า วัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับหลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐไทยเป็นอยู่และทำไป แต่คำวิจารณ์ก็จำกัดอยู่ในกรอบของรัฐชาติอยู่ดี เราเพียงอยากให้รัฐชาติ ของไทยเป็นรัฐชาติที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะนี้ตัวแบบที่ตกเป็นเป้าวิจารณ์กับถูกแปรรูปด้วยปัจจัยอื่นตลอดเวลา
อำนาจแบบรัฐชาติกำลังถูกกัดกร่อน
ตัวระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติกำลังถูกหักล้างกัดกร่อนอย่างรวดเร็วทุกยุคทุกสมัย จนทำให้เกิดคำถามว่า รัฐชาติของไทยจะสามารถรักษาระเบียบอำนาจของตนไว้ได้หรือไม่ สายไปแล้วหรือไม่จะจำกัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไว้ในกรอบคิดแบบรัฐชาติ สุดท้ายอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐชาติต้องแปรรูปไปแบบรัฐอื่น เราพร้อมหรือไม่ที่จะพบการเปลี่ยนแปลงแบบนั้น
เรื่องที่น่ากังวลก็คือ ที่ผ่านมา เรามีองค์ความรู้ไม่พอ ที่จะตอบคำถามเหล่านั้น อาจจะต้องทำการค้นคว้าวิจัยอย่างเร่งด่วน ผมคิดว่า นี่ควรจะเป็นวาระสำคัญสุดของวงวิชาการ โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ มาถึงวันนี้การเอ่ยถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติกับกระแสโลกาภิวัตน์คงไม่สามารถพูดกันในความหมายเก่าๆได้อีกแล้ว
วิกฤติปี 2540 เราเคยพูดถึงเรื่องการเสียกรุง กู้ชาติ ขายชาติ แรงกดดันจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศดูเหมือนละเมิดอธิปไตยของไทย การออกกฎหมาย 11 ฉบับโดยรัฐบาลไทย เพื่อยกเลิกข้อจำกัดของการค้าและการลงทุนแบบไร้พรมแดน คล้ายยอมจำนนต่อต่างชาติ เปิดประตูให้ต่างชาติเข้ามาถือครองประเทศไทย วันนี้ หลังเหตุการณ์คลี่คลายมา 10 ปี เราเห็นชัดว่า ระเบียบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่ประเทศไทยถูกกดดันให้ยอมรับนั้นไม่เพียงกลายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กันทั้งโลก ยังมาจากกรอบคิดที่แตกต่างจากจินตนาการมูลฐานของรัฐชาติอย่างสิ้นเชิง เป็นแนวคิดที่ยกเลิกทั้งพรมแดนด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และบางด้านกำลังเคลื่อนตัวไปสู่การยกเลิกพรมแดนทางการเมืองด้วย
เช่นนี้แล้วจินตภาพเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนก็ดี เรื่องเศรษฐกิจแห่งชาติก็ดี หรือเรื่องวัฒนธรรมแห่งชาติก็ดี หลายกรณีกลายเป็นเรื่องนอกประเด็น กระทั่งถูกมองว่า ล้าหลัง ไม่เกิดประโยชน์ แน่นอนการไม่สามารถมองปัญหาด้วยกรอบคิดเก่าๆ ไม่ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงระดับโลกเท่านั้น แต่เกิดจากการเปลี่ยนของสังคมไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาด้วย หลังเปิดประเทศต้อนรับการค้าและการลงทุนเสรี สิ่งที่เกิดมาทั้งหมดล้วนมีผลประโยชน์ของคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็บางส่วน แต่เป็นบางส่วนที่มีจำนวนมาก และมีน้ำหนักทางสังคมไม่ใช่น้อย ทุนต่างชาติไม่เพียงเข้ามาซื้อหุ้นตั้งโรงงานและถือครองทรัพย์สินในประเทศไทยเท่านั้น ผู้ประกอบการชาวไทยก็ร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ หรือไม่ก็ประกอบธุรกิจที่โยงใยก่อเกื้อเอื้อประโยชน์ให้กันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น นักธุรกิจไทยก็อาศัยระเบียบการค้าโลกที่เปิดกว้างข้ามพรมแดนไปลงทุนในต่างประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ผู้บริโภคไทยจำนวนไม่น้อย ชื่นชอบห้างใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติมากกว่าร้านโชห่วย มีพลเมืองไทยจำนวนมากที่ยังชีพด้วยการทำงานให้บริษัทต่างประเทศหรือออกไปขายแรงงานในประเทศอื่นๆ ในทางการเมืองสภาพเช่นนี้ หมายความว่า เป็นการรื้อถอนจินตนาการรัฐชาติในส่วนที่เป็นรากฐาน โดยเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ปราศจากจิตสำนึก จงใจ และไม่ขึ้นต่อเจตนารมย์ของผู้ใดใช่หรือไม่สังคมไทยเวลานี้กลายเป็นสังคมโลกาภิวัตน์ไปแล้ว เป็นโลกที่ทับซ้อนอยู่ในประเทศที่มีพรมแดน เส้นแบ่งระหว่างความเป็นคนไทยกับคนอื่นมีความหมายน้อยลง
คนไทยไม่ได้มีชะตากรรมเดียวกันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน หลายคนมีเส้นทางเดินชีวิตร่วมกับชาวต่างประเทศมากกว่า ส่วนผลประโยชน์แห่งชาติก็มีความหมายพร่ามัวไปหมด โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจไม่เพียงต้องแบ่งก้อนใหญ่ให้ชาวต่างประเทศเท่านั้น ส่วนที่แบ่งกันเองก็เหลื่อมล้ำอย่างยิ่ง กระทั่งมีคนไม่ได้ส่วนแบ่งเลย
ความสับสนอลหม่านแนวคิดเรื่องชาติ
การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทำให้เกิดความสับสนอลหม่านในเรื่องแนวคิดเรื่องชาติขนาดไหน ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยดังกล่าว ทำให้มีการใช้จินตภาพเรื่องชาติต่างไป 2 เรื่องคือ
ใช้เป็นวาทกรรมการทางการเมืองสำหรับต่อสู้กันเองภายในประเทศ เช่น มีการพูดถึงการกู้ชาติให้รอดพ้นจากคนไทยด้วยกัน หรือไม่ก็ช่วงชิงการเป็นผู้พิทักษ์รักษาผลประโยชน์แห่งชาติ มีการใช้วาทกรรมเรื่องชาติไปในทางการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ และถือเป็นส่วนหนึ่งของงานโฆษณา ตัวอย่าง การแจกเช็คช่วยชาติ เป็นนโยบายการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลตกลงกับห้างร้านต่างๆในการรับเช็คและเพิ่มมูลค่าของเช็คเพื่อประกันว่า ผู้ที่ได้รับแจกเช็คหัวละ 2,000 บาท จะหมดซึ่งแรงจูงใจในการนำเงินไปเก็บออม ผลที่ออกมาคือ มีการใช้คำว่า ชาติ ในข้อความโฆษณาสารพัด เช่น ชวนให้ซื้อเครื่องสำอางต่างประเทศเพื่อชาติ ชวนดูหนังหรือเข้าห้องคาราโอเกะ เพื่อชาติ มีการบอกผู้บริโภคว่า แค่ออกไปหาความบันเทิงเริงรมย์ ก็ถือว่ารักชาติมากแล้ว
นอกจากนี้ ผมยังเคยเห็นป้ายคำขวัญตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ระบุ นักท่องเที่ยวเป็นคนสำคัญของชาติ นับเป็นเรื่องแปลกหูแปลกตามากสำหรับคนที่ถูกสอนมาว่า บุคคลสำคัญของชาติควรประกอบด้วยคุณงามความดีบางประการ ในความเห็นของผม การนำจินตภาพเรื่องชาติมาใช้ทางการเมืองและธุรกิจ แทนจะช่วยรักษาความขลัง ของคำว่าชาติ กลับเป็นการเร่งความเสื่อมทรุดของแนวคิดชาตินิยม และระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ
สำหรับ คำว่า ขัดแย้งไม่ได้หมายถึงการต่อสู้เชิงปฏิปักษ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ หรือการเข้ากันไม่ได้โดยสิ้นเชิงระหว่างผลประโยชน์ไทยกับผลประโยชน์ต่างชาติ ไม่ได้หมายความว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับโลกทั้งโลก ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะนับวันเส้นแบ่งระหว่างเรากับเขา ดังกล่าว แทบไม่มีอยู่ในทางปฏิบัติหรือเหลืออยู่น้อยเต็มที ความขัดแย้งที่พูดถึง น่าหมายถึง ลักษณะที่อาจเข้ากันไม่ได้ ไม่ได้สอดคล้องกันระหว่างระเบียบอำนาจที่เราใช้อยู่กับสังคมที่แปรเปลี่ยนไป ผมเห็นว่าถึงเวลาที่ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาการ ควรช่วยกันค้นคว้าหาคำตอบ รัฐชาติแบบที่เรารู้จัก จะสามารถดูแลสังคมไทยที่เป็นพหูพจน์ได้หรือไม่ จะอำนวยความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจและสังคม อันประกอบด้วยปัจจัยข้ามชาติมากมายหลายอย่างด้วยวิธี และถ้าทำไม่ได้ รูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจในประเทศนี้ควรมีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกแก้ไขปรับปรุงอย่างไร
ผมขอย้ำว่า นี่เป็นเรื่องใหญ่กว่าความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มเสื้อสีต่างๆที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงลักษณะของรัฐ ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับระบอบการเมืองการปกครอง และในระดับรัฐบาล ระยะเวลาไม่ถึง 50 ปี โลกาภิวัตน์รอบแรกได้ส่งผลให้รัฐศักดินาโบราณของไทย ซึ่งเคยมีระบบกระจายอำนาจสูง ได้เปลี่ยนรูปเป็นรัฐระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และกลายเป็นต้นทางการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในเวลาต่อมา
หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองในช่วงนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของรัฐมีความจำเป็นและเป็นไปได้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงระดับรัฐของไทย น่าจะมีทั้งความจำเป็นและเป็นไปได้ เช่นเดียวกัน
ข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยในยุคโลกาภิวัตน์ในรอบปัจจุบัน ไม่ได้เกิดจากจินตนาการแบบประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำรอย ถ้าเรายอมรับว่ารัฐเป็นแกนกลางอำนาจของแต่ละประเทศ และเป็นกลไกหลักในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ผู้คนในสังคม ก็ต้องยอมรับว่า บัดนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมาย ชี้ให้เห็นว่า บทบาทหน้าที่ดังกล่าวของรัฐไทยกำลังอ่อนแอลงอย่างน่าตกใจ บางด้านรัฐไทยมีอำนาจน้อยลง กระทั่งได้รับฉันทานุมัติ ในการใช้อำนาจน้อยลง รัฐบังคับใช้กฎหมายบางเรื่องไม่ได้ ในระยะหลังๆ อำนาจรัฐมักถูกขืนต้านในรูปแบบต่างๆ มากขึ้นทุกที สภาพต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ระเบียบอำนาจแบบที่เราใช้อยู่กำลังมีปัญหาด้วยตัวของมันเอง ย่อมส่งผลกระทบลดทอนประสิทธิภาพของรัฐในการดูแลสังคมลงไปเรื่อยๆ
2 ปมปัญหาใหญ่รัฐไทยกำลังเผชิญ
ขณะเดียวกันปัญหาที่รัฐต้องแก้ไม่เพียงมีจำนวนเพิ่มขึ้น หากยังมีลักษณะใหม่ๆ เปลี่ยนไปจากเดิม โดยที่ตัวรัฐไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ แก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ถามว่า รัฐไทยกำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้าง ขมวดปัญหาใหญ่ๆได้2ประเภทคือ
1.ปัญหาการบูรณาการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับผลประโยชน์ของส่วนอื่นๆในสังคมไทย ถึงวันนี้ต้องยอมรับ ผลประโยชน์ของผู้คนมีความหลากหลายมาก ไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว ขัดแย้งเกินใช้คำว่าผลประโยชน์แห่งชาติ มาเป็นข้ออ้างในการบริหารอำนาจ เราต้องยอมรับว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ มีทั้งผลบวกและลบ และคนได้เสียจากโลกาภิวัตน์ไม่เท่ากัน คำว่า กลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ไม่มีเรื่องสัญชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
แม้ระดับการจ้างงานก็ไร้พรมแดนไปด้วย จากการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาจำนวนมหาศาล ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่ไม่ถือสัญชาติไทยในจำนวนที่มีนัยยะสำคัญ ประเด็นใหญ่ในเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยประเทศไทยทำกิน ซึ่งเป็นกรอบคิดเก่าที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป แรงงาน 2.5 ล้านคน ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกำลังการผลิต ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ทั้งของทุนไทยและทุนต่างชาติบางกลุ่ม ขณะเดียวกันก็กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการตรึงค่าแรงของผู้ใช้แรงงานชาวไทยด้วย แรงงานต่างชาติเป็นคนนอกโดยนิตินัยเท่านั้น หากการดำรงอยู่พวกเขาคือคนในของระบบการผลิตในประเทศไทย จึงสมควรได้รับการดูแลตามฐานะศักดิ์ศรีของความเป็นคน ตรงกันข้ามกับการเข้ามาของนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ มักได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
การออกกฎหมาย 11 ฉบับเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟไม่เพียงลดอำนาจรัฐไทยในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ลดทอนความเป็นรัฐชาติของไทยเท่านั้น ยังพารัฐไทยให้เอียงไปในทางอำนวยความสะดวกให้กับการเติมโตของทุนโลกาภิวัตน์ด้วย
สภาพดังกล่าวกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในระดับคอขาดบาดตายได้ ถ้ารัฐไทยยังใช้คำว่า ผลประโยชน์แห่งชาติไปผัดหน้าทางแป้งให้กับการขยายตัวของฝ่ายทุนเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจ ไม่ใยดี การสูญเสียผลประโยชน์ของผู้ได้ระบบผลกระทบ ตัวอย่าง เช่นการประท้วงของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่เดือดร้อนจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม กรณีมาบตาพุดเป็นตัวอย่าง ล่าสุด
ความเลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจ ในประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาแต่เดิมแล้ว เมื่อผนวกโครงสร้างนี้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์โดยมาปรับสมดุล สภาพที่เกิดขึ้นยิ่งเลวร้ายลงอีก ช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยสุดข้างบน 20 เปอร์เซ็นต์ กับคนจนสุด 20 เปอร์เซ็นต์ข้างล่าง ซึ่งต่างกันถึง 13 เท่า หากพูดถึงความกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ตัวเลขน่าตกใจ โดยมีนักเศรษฐศาสตร์คำนวณว่า 42 เปอร์เซ็นต์ ของเงินฝากในธนาคารทั้งประเทศ มีค่าประมาณ 1 ใน 3 ของจีดีพี ประเทศไทย เป็นของคนจำนวนเพียง 3.5 หมื่นคน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 64 ล้านคน เพราะฉะนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การต่อต้านการค้าการลงทุนแบบไร้พรมแดน แต่อยู่ที่การจัดวางฐานะของสิ่งนี้ไว้ในที่ทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเป็นจริง
การบูรณาการของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์กับส่วนอื่นๆของสังคมไทยจะทำไม่ได้เลย ถ้ารัฐไทยยังถือว่าการเติบโตทางภาคธุรกิจเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญของชาติเพียงอย่างเดียว และกดดันให้ผู้ยึดถือคุณค่าอื่นทางสังคม ตลอดจนกลุ่มคนที่เดือดร้อนจากการช่วงชิงทรัพยากร หรือเดือดร้อนจากการสูญเสียสิ่งแวดล้อมที่เอื้อกับสุขภาวะ ต้องหลีกทางให้โดยไม่มีเงื่อนไข
ตั้งแต่รัฐไทยตอบสนองข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟด้วยการ ออกกฎหมาย 11 ฉบับ อำนาจของรัฐในการแทรกแซงและกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจนับวันยิ่งน้อยลง ยิ่งไปทำสัญญาทวิภาคีแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งข้อตกลงที่ทำกับประเทศอาเซียน เรื่องการค้าและระบบการจัดเก็บภาษียิ่งทำให้อำนาจของรัฐในการกำหนดเศรษฐกิจน้อยลงไปอีก ผลก็คือกลไกลตลาดกลายเป็นสถาบันหลัก กำหนดทุกข์สุขของประชาชน รัฐแทบจะกลายเป็น นักเลงคุมตลาดเท่านั้นเอง แต่ตลาดหรือสถาบันตลาดก็ไม่ได้แก้ไขตัวเองได้เสมอไป บ่อยครั้งไม่มีธรรมาภิบาล ที่ชอบเรียกร้องเอากับรัฐ ทำให้การแทรกแซงของรัฐกลายเป็นเรื่องจำเป็น เห็นได้จากวิกฤติเศรษฐกิจไทย ปี 2540 และวิกฤติสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว
คำถามมีอยู่ว่า แล้วรัฐควรจะมีบทบาทเพียงแค่นี้หรือ เป็นยามรักษาความปลอดภัยและเป็นหน่วยบรรเทาทุกข์เวลาไฟไหม้ตลาด จริงอยู่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราไม่ต้องการให้รัฐไทยขยายตัวไปทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบผู้คน เพราะนั่นเป็นการเสริมฐานะครอบงำของรัฐให้เหนือสังคม
ดังนั้นข้อเรียกร้องเฉพาะหน้ามีอยู่ว่า รัฐจะทำหน้าที่บริหารความเป็นธรรมในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วได้อย่างไร สิ่งแรกที่รัฐจะต้องทำ คือ บูรณาการสังคมไทยเสียใหม่ ยอมรับการมีอยู่ ของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แทนจะปิดบังไว้ด้วยจินตนาการเรื่องชาติ จากนั้น ประสานผลประโยชน์ระหว่างทุนข้ามชาติ ทุนไทย แรงงานต่างชาติ แรงงานไทย เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น ผู้ค้าปลีก ชาวประมงพื้นบ้าน ชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง ข้าราชการ ทหารและพลเรือน และอีกหลายภาคส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมไทยปัจจุบัน
บูรณาการ (Intergration) หมายถึง การทำหน่วยย่อยที่กระจัดกระจาย หรือแม้แต่ขัดแย้งกันให้เปลี่ยนมามีความสัมพันธ์โยงใยกันเอื้อประโยชน์ให้กัน อีกทั้งมีความพอใจในความสัมพันธ์ดังกล่าวอันนี้ย่อมต่างจากความสมานฉันท์อย่างเลื่อนลอย ที่อาศัยการรณรงค์ทางอุดมการณ์เป็นสำคัญ
สำหรับการบริหารความเป็นธรรม นับเป็นหน้าที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นภารกิจ ใจกลางที่สุดของรัฐหรือผู้คุมอำนาจการปกครอง แต่ว่าเนื้อหาความเป็นธรรมจะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับการยึดถือของสังคมแต่ละยุคสมัย เราอาจกล่าวได้ว่า สังคมที่ปราศจากความเป็นธรรม ไม่มีวันที่จะพบกับความ สงบร่มเย็น
2.ปัญหาความไม่ลงตัวในการจัดสรรอำนาจการเมือง และพื้นที่ทางการเมืองในสังคมแบบพหุลักษณะ ถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องโลกาภิวัตน์อย่างไร ผมคิดว่า เกี่ยวข้อใน 2 ประเด็นคือ 1.ระบบเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน ตลอดจนโลกาภิวัตน์ด้านข่าวสาร ส่งผลให้คนไทยแตกพหุอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มวัฒนธรรม ข้อนี้ทำให้สังคมไทยปกครองยากขึ้น 2.โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ๆ ที่มั่งคั่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และมหาศาล และเช่นเดียวกับชนชั้นนำที่มาทีหลังในประวัติศาสตร์ทุกหนแห่งในโลก คนเหล่านี้ต้องการส่วนแบ่งทางอำนาจการเมืองการปกครอง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีทั้งประสบการณ์ ความรู้ที่เป็นศาสตร์ ศิลป์ของการปกครอง ทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
การสังคมไทยถูกทำให้เป็นพหุนิยมรวดเร็วเช่นนี้ ส่งผลต่อความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่โลกทัศน์ในเรื่องของประโยชน์ วิถีชีวิต แบบแผนทางวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อในด้านจิตวิญญาณ มาจนถึงความคิดเห็นทางการเมือง สภาพดังกล่าวทำให้การครอบงำอุดมการณ์ชาตินิยมแบบเก่าทำได้อยากขึ้น กระทั่งทำไม่ได้อีกต่อไป
คนไทยปัจจุบันตีคำว่า ชาติและความเป็นไทย แตกต่างกัน กระทั่งบางส่วนเริ่มเชื่อในจินตนาการแบบอื่น ดังเห็นได้จากพฤติกรรมของชนรุ่นหลัง ที่อยากมีชีวิตทางวัตถุแบบตะวันตก แต่อยากมีหน้าตาแบบชาวเกาหลี ขณะเดียวกันก็ชื่นชอบนักร้องไต้หวัน นักฟุตบอลบราซิล ชอบกินอาหารญี่ปุ่น เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่คนไทยบางส่วนมีผลประโยชน์แบบไร้พรมแดน ย่อมทำให้ยากขึ้นสำหรับชาติที่มีพรมแดนตายตัว ตลอดจนผู้คนที่ยึดมั่นในลัทธิชาตินิยม ตัวอย่างล่าสุด คือความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา การที่นายกรัฐมนตรีเขมรแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีไทยเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรีท่านนั้น “มีความผิด” ทั้งในทางการเมืองและอาญา และก็มีคนไทยบางส่วนโกธรแค้นกัมพูชาเพราะเห็นว่า กัมพูชาแทรกแซงกิจการภายใน ไม่ให้เกียรติประเทศไทยเท่าที่ควร ขณะที่คนไทยจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการตอบโต้ ถึงขั้นเรียกทูตกลับของรัฐบาลไทย กลับเทอารมณ์ไปที่ความขัดแย้งนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยในกัมพูชา มีมูลค่ารวมหลายหมื่นล้านบาท แม้นักธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังอดวิตกไม่ได้ว่า ยอดขายทัวร์ไปเขมรอาจได้รับแรงกระทบกระเทือน ไม่ต้องเอ่ยชาวบ้านบริเวณชายแดนต่างก็ภาวนาให้เรื่องนี้จบลงเร็ว
ลดแรงกระแทกจี้เปิดพื้นที่ทางการเมือง
จะเห็นว่า ทุกวันนี้เรื่องขัดแย้งระดับคลาสสิก เรื่องศักดิ์ศรีของประเทศคนไทยก็ไม่เห็นพ้องต้องกัน ในมิติทางการเมือง ลักษณะพหุพจน์ของสังคมไทยดังกล่าว สามารถนำไปสู่ข้อพิพาทได้สารพัดอย่าง และได้โดยง่าย ทั้งขัดแย้งกันเองและขัดแย้งกับผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการใช้อำนาจรัฐกดดันหรือลอนสิทธิ และอัตลักษณ์ของบรรดากลุ่มย่อยเหล่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ หากพวกเราประสงค์จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่
ทางการเมืองต้องไม่มีการผูกขาดนิยามความเป็นชาติและความเป็นไทย หากเห็นต่างสิ่งใดก็ว่าไปตามเนื้อผ้า และตามลักษณะรูปธรรมของความขัดแย้ง เรามีความจำเป็นต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และแก้ไขกรณีพิพาทด้วยสันติวิธี มาตรการสำคัญที่ลดแรงกระแทกของสังคมที่กำลังแตกปัจเจก แยกกลุ่มย่อย คือการมีพื้นที่ทางการเมือง (Political Space) ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนทุกกลุ่มต้องขึ้นเวทีการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจ แต่หมายถึงการมีหนทางเข้าถึงกระบวนการใช้อำนาจในกรณีที่ส่งผลกระทบถึงตน อีกทั้งมีพื้นที่ในการอธิบายเรื่องรวมของตนต่อรัฐ และผู้เกี่ยวข้อง คือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมพหุลักษณะต้องอยู่ในวิถีของการเมืองการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นปัญหาไหนก็แก้ไม่ได้
จริงๆ เราก็ได้เริ่มต้นมาบ้างแล้ว เช่นการกำหนดเรื่องสิทธิชุมชน และการเมืองภาคประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีการใช้ระบบประชาพิจารณ์ และการหยั่งประชามติเป็นครั้งคราว แต่ที่ผ่านมาถือว่า ยังไม่พอเราต้องขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้กันต่อไป
ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำไทยในปัจจุบันในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ แต่ละครั้งเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองตามหลังมา ไม่ว่าถูกเรียกว่าระบอบอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการขยายพื้นที่ในส่วนยอดของศูนย์อำนาจเพื่อให้ชนชั้นนำกลุ่มใหม่ หรือชนชั้นนำรุ่นใหม่ เข้ามาอยู่ในพันธมิตรการปกครอง และผ่านกาลเวลาสักระยะหนึ่งชนชั้นนำเก่าและใหม่มักจะปรับตัวเข้าหากัน กำหนดฐานะที่ทางอันเหมาะควรให้กันและกัน ตลอดจนร่วมกันใช้อำนาจทางการเมืองบังคับบัญชา สังคมที่อยู่เบื้องล่าง
อย่างไรก็ดี สภาพดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังวิกฤติปี 2540 ชนชั้นนำเก่าจากภาคธุรกิจเอกชน เคยร่วมมือเป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำจากภาครัฐมาเป็นอย่างดี ถูกวิกฤติครั้งนั้นทำให้มีฐานะเสื่อมถอยลงทั้งในทางการเมืองและสังคม ขณะเดียวกันก็เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่ที่เติบใหญ่จากระบบทุนโลกาภิวัตน์ สามารถรวบรวมความมั่งคงไว้ในมือตนได้อย่างรวดเร็ว และมหาศาลอย่างเหลือเชื่อ ที่สำคัญ คือ คนกลุ่มนี้ไม่เชื่อถือในการบริหารประเทศ ทั้งโดยชนชั้นนำจากภาครัฐและโดยนักการเมืองรุ่นเก่า ดังนั้นพวกเขาไม่เพียงตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเข้าไปมีส่วนแบ่งในศูนย์อำนาจ หากมีความประสงค์ถึงขั้นเข้าไปแทนที่ชนชั้นนำรุ่นเก่าๆ ทั้งหมดในการบริหารจัดการบ้านเมือง บางด้านอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นการขึ้นกุมอำนาจของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ในประเทศไทย ผ่านไปทางระบบการเลือกตั้งและมาพร้อมกับความคิดที่แน่นอนชุดหนึ่งในการปรับเปลี่ยนทั้งกลไกลรัฐและสังคมไทย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า จะทำให้ประเทศไทยเชื่อมร้อยกับโลกไร้พรมแดนได้อย่างกระฉับกระเฉงขึ้น
แต่ความสามารถเรื่องการค้าการลงทุน กับศาสตร์และศิลป์ในการปกครอง ถึงอย่างไรก็ยังมีลักษณะแตกต่างกัน หลังจากปกครองประเทศไทยได้ 5-6 ปี การสถาปนาอำนาจนำของนักการเมืองจากกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ ถูกท้าทายรุนแรงจากหลายภาคส่วนของสังคม กระทั่งถูกโค่นลงด้วยรัฐประหารในปี 2549 จากนั้นประเทศไทยก็พบกับความแตกแยกทางการเมืองที่หนักหน่วงร้ายแรงที่สุด
ผมอยากทบทวนว่า กระแสโลกาภิวัตน์ ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในมิติของการแข่งขันชิงอำนาจอย่างไร โดยภาพรวมประเทศไทยเคยปรับตัวเข้าหากระแสโลกาภิวัตน์มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการนำของคนกลุ่มหนึ่ง แต่บังเอิญรีบร้อนและไม่มีความคิดแยบคายพอที่จะบูรณาการสังคมไทยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และมอบฉันทานุมัติเสียก่อน ท่านเหล่านั้นจึงต้องประสบกับความล้มเหลว
พูดถึงความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2549 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เรื่องของพฤติกรรมและผลประโยชน์ส่วนบุคคลอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่วันนี้ขอละเว้นไม่กล่าวถึงฝ่ายใด แต่อยากพูดถึงประเด็นเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้การแบ่งพื้นที่อำนาจระหว่างชนชั้นนำ การเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ชนชั้นล่าง มีอุปสรรคขัดขวางอยู่มากทีเดียว
รวมศูนย์ โครงสร้างทำให้ท้องถิ่น-ปชช.อ่อนแอ
อำนาจรัฐสมัยใหม่ของไทยรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลาง มาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ที่เข้าใจยาก ทำไมยังรวมศูนย์จนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งๆที่เราพยายามสร้างระบอบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และเคลื่อนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มาระยะหนึ่งแล้ว การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ให้ทั้งประเทศอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรุงเทพนั้น แต่เราก็ต้องยอมรับว่า โครงสร้างอำนาจแบบนี้ทำให้การพัฒนาทางการเมืองของไทยสมัยใหม่ เต็มไปด้วยการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในส่วนกลางอย่างเลี่ยงไม่พ้น ใครคุมส่วนกลางได้ก็คุมที่เหลือได้ทั้งประเทศ ดังนั้น จึงเป็นโครงสร้างหลัก ที่ผู้ชนะได้ไปหมด ผู้แพ้ศูนย์เสียทุกอย่าง ใช่หรือไม่ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำที่แข่งกันสถาปนาอำนาจนำ ลื่นไถลไปสู่ความรุนแรงเป็นระยะๆ
ขณะเดียวกันโครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ประเทศไทยขาดรากฐานการปกครองตนเองแบบสมัยใหม่ในระดับท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแรง รวมทั้งทำให้การสร้างประชาสังคมในทุกระดับ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการควบคุมอย่างหนาแน่นของภาครัฐ เป็นโครงสร้างที่ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ กระทั่งดูแลตนเองไม่ได้ในหลายๆกรณี
สภาพทั้งหมดเมื่อนำมาบวกกับความเหลื่อมล้ำสุดขั้วทางเศรษฐกิจ ย่อมทำให้มวลชนชั้นล่างๆ เหลือทางเลือกไม่มากนัก ภายใต้เงื่อนไขที่บีบคั้นจากรอบทิศทาง เขาจนปัญญาในการสร้างพลังอิสระ สิ้นหวังการแสดงตัวตนทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศ จึงหันมาฝากความหวังไว้กับชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มนั้นบ้างกลุ่มนี้บ้าง กลายเป็นแบบหางเครื่องแทนที่จะเป็นการเมืองภาคประชาชน
ในความเห็นของผม นำมาสู่สถานการณ์ทางการเมืองอันหนักหน่วงในปัจจุบัน ผมไม่คิดว่าเราจะหาทางออกอะไรได้ หากยังเห็นเป็นความขัดแย้งระหว่าง ถูกกับผิด ระหว่างดีกับชั่ว หรือขาวล้วนดำล้วน เมื่อมองจากมุมกว้างแล้ว ผมเห็นว่า ทุกฝ่ายเป็นผลผลิตของเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง เป็นบุตรธิดาแห่งแผ่นดินด้วยกันทั้งสิ้น แต่ละฝ่ายมีข้อเสนอที่ดี แต่ก็มีจำกัดในด้านอื่นๆ เกินกว่าที่จะรับเหมาทำแทนคนที่เหลือทั้งประเทศ
แก้อย่างไรจึงจะตรงจุดและเกิดผลดีต่อองค์รวม ผมคิดว่า คำถามใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศไทยชั่วโมงนี้ มี 2 ข้อคือ 1. ในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นไปได้หรือไม่ ประเทศไทยจะปฏิเสธการมีส่วนแบ่งในพื้นที่อำนาจของชนชั้นนำจากกลุ่มทุนโลกภาภิวัฒน์ และถ้าปฏิเสธไม่ได้จะทำอย่างไร จะออกแบบสถาบันการเมืองแบบไหนจึงจะทำให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่ทางการเมืองอันพอเหมาะพอควร 2. ในยุคโลกาภิวัตน์รัฐไทยจะปกครองสังคมพหุลักษณะด้วยระบบรวมศูนย์อำนาจได้ต่อไปหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้จะทำอย่างไร
แน่นอนคำตอบสำหรับคำถาม 2 ข้อใหญ่ ถ้าจะให้ชัดเจนจริงๆ คงไม่ใช่เรื่องที่คิดเอาเองตามใจชอบ หากต้องศึกษาค้นคว้าอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยแง่คิดทฤษฏีการเมืองและข้อมูลเชิงประจักษ์
เลิกใช้ทฤษฏีเจ้านายแบ่งงานให้ลูกน้อง
ส่วนประเด็นใครควรเป็นผู้ปกครองไม่สำคัญเท่ากับการสร้างอำนาจการปกครองและวิธีการปกครอง มองจากมุมนี้แล้ว ระบบรัฐสภาอย่างที่ผ่านมา และเป็นอยู่ ยังไม่เพียงพอสำหรับการดูแลประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ เนื่องจากระบบดังกล่าว ยังต้องทำงานผ่านโครงสร้างบริหารแบบรวมศูนย์ ซึ่งเกิดก่อนประชาธิปไตยและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างอำนาจรัฐกันครั้งใหญ่ ประกอบด้วยการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาสังคมโดยรวมอย่างหนึ่ง และปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่นอย่างหนึ่ง ทั้ง 2 อย่างเริ่มดำเนินการมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่พอ ประเทศไทยต้องมีกระบวนรัฐรับฟังสังคมมากกว่านี้ ให้ประชาสังคมใช้ดุลยพินิจและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจมากกว่านี้
ส่วนเรื่องการกระจายอำนายสู่ท้องถิ่น ก็ต้องเลิกใช้ทฤษฏีเจ้านายแบ่งงานให้ลูกน้อง หากต้องอนุญาตให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นระบอบประชาธิปไตยด้วยตัวของเขาเอง จากนั้นถักทอเข้าหากันด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบแนวราบ โดยมีส่วนกลางเป็นผู้ประสานงานไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา
ผมคิดว่าเราไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากมุ่งหน้าไปในทิศทางนี้ ปัญหามีอยู่ว่า ภายใต้กรอบคิดของลัทธิชาตินิยมแบบเก่า เราจะบูรณาการภาคธุรกิจเอกชนที่คละเคล้าไปด้วยผลประโยชน์ต่างชาติเข้ากับภาคประชาสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างไร และภายใต้อำนาจรัฐที่ยังรวมศูนย์ได้ที่ส่วนกลาง ภาคประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร
เมื่ออำนาจรวมศูนย์ ปัญหาก็พลอยรวมศูนย์ไปด้วย การที่กลไกระดับล่างมีอำนาจน้อยและค่อนข้างอ่อนแอทำให้รัฐบาลไทยทุกรัฐบาล ล้วนต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องท่วมท้น จากทุกภาคส่วนของสังคม ส่งผลให้ขาดทั้งประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการทำงาน เรื่องเล็กเรื่องน้อยจึงต้องส่งมาที่รัฐบาลและกลายเป็นประเด็นการเมืองโดยไม่จำเป็น เช่นกรณีเด็กชายหม่อง ลูกแรงงานต่างชาติ เรื่องมาถึงครม.
ผมเพียงแต่คิดว่า การปรับโครงสร้างขนานใหญ่ด้วยการกระจายอำนาจเท่ากับช่วยสร้างกระบวนการแก้ไขป้องกันข้อพิพาทไว้ล่วงหน้า อีกทั้งช่วยปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของทั้งท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆในการเข้าหาโลกาภิวัตน์จากอัตลักษณ์อันหลากลายของตน ทำได้โดยเปลี่ยนฐานะของท้องถิ่น จากฝ่ายที่ถูกกระทำข้างเดียวมาเป็นหุ้นส่วนของโลกาภิวัตน์อย่างเสมอหน้ากับฝ่ายทุน และศูนย์อำนาจ
ถามว่า แล้วท้องถิ่นมีขีดความสามารถพอหรือไม่ พร้อมบางส่วนไม่พร้อมบางส่วน ความจำเป็นเกิดขึ้นแล้ว แต่ความเป็นไปได้ยังต้องมีการวิจัย การที่โลกไร้พรมแดนมาอยู่ในประเทศที่มีพรมแดนทำให้เราต้องพิจารณาหาหนทางบูรณาการประเทศกันใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย"