แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
'เศรษฐพุฒิ' มองอนาคตไทย...เลือกได้ - "บุญเก่า" กำลังหมดลงแล้ว !!
ท่ามกลางวิกฤติปัญหาที่รุมเร้าและการกำกับทิศทางการแก้ปัญหาด้วยนโยบายที่กำลัง "กัดกร่อน" ประเทศไทย จนคลำไม่เจอทางออก ขณะนี้มีกลุ่มนักคิด นักวิชาการ และนักปฏิบัติลุกขึ้นรวมตัวกัน ในนาม "สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future)" ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มคนชั้นแนวหน้าที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อาทิต นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี น.พ.ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์ ราษฎรอาวุโส น.พ. รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ นายทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ฯลฯ
ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา และกรรมการผู้จัดการบริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด ที่จะมาตอบทุกข้อสงสัยถึง "บทบาท" สถาบันแห่งนี้ ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นคลังสมองแห่งใหม่ ให้กับประเทศ
@ จุดเริ่มต้นของสถาบันอนาคตไทยศึกษา และการรวมตัวครั้งใหญ่จากหลากหลายด้าน
สถาบันอนาคตไทยศึกษาเป็นการรวมตัวด้วยความเป็นห่วงเป็นใยของนักวิชาการ นักธุรกิจ ที่เห็นตรงกันว่า หากเศรษฐกิจของบ้านเมืองและภาคประชาชนไม่แข็งแรง ธุรกิจก็เดินหน้าไปลำบาก
และด้วยความที่มีเครือข่าย คณะกรรมการและที่ปรึกษาจากหลากหลายด้าน ทำให้การศึกษามีหลายมุมมอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัญหาโลกนี้ไม่มีเฉพาะด้าน แต่มีหลายมิติ นักคิด นักปฏิบัติที่มาจากหลากหลากลุ่มจึงตอบโจทย์นี้ได้ดีกว่าเดิม และจัดระบบแนวทางการทำงานของสถาบันให้ดีขึ้น เน้นปฏิบัติ เน้นต่อยอด
ที่สำคัญ เราจะไม่ทำงานวิจัยเพื่ออ่านกันเอง
@ สถาบันนักคิด นักวิจัยไทยมีหลากหลาย Thailand Future แตกต่างอย่างไร
สิ่งที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาแตกต่างจากสถาบันนักคิด นักวิจัยเดิมที่มีอยู่แล้ว เราเน้นในแง่ที่จะนำไปปฏิบัติ
แรกเริ่มทุกสถาบันก็พูดอย่างนั้น (หัวเราะ)
แต่ที่ผมมองว่า มันทำให้เราต่างและไปทางนี้ได้ ประการแรก เรามีเครือข่ายคณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักคิด และนักปฏิบัติ ทั้งอดีตข้าราชการเกษียณ และนักธุรกิจ ซึ่งทำให้ได้เรื่องมุมมองและไอเดียที่ไปนำไปปฏิบัติได้จริง และปฏิบัติได้เองในภาคธุรกิจ
ความแตกต่างประการต่อมา งานวิจัยของสถาบันอนาคตไทยศึกษาจะมุ่งเน้นปรัชญา 70:30
หมายถึง ส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะของงาน และการชี้แนะในเชิงนโยบายจะต้องมากกว่าส่วนที่เป็นวัตถุประสงค์ หรือบทวิเคราะห์ที่สวยหรู ซึ่งจะต่างจากงานวิจัยทั่วไปที่พบเห็น รวมทั้งงานชิ้นเก่าๆ ของผมด้วย
สิ่งที่ขาดตลอดเวลาในการดำเนินนโยบายใดๆ ก็ตาม คือ วิธีการ หรือข้อเสนอนะ (How to) และนั่นเป็นที่มาของปรัชญา 70:30
ทั้งนี้ ก็ยอมรับว่า เรามีคนไม่เยอะ ดังนั้น จะให้วิเคราะห์เองเยอะก็อาจไม่ใช่เรื่องที่เรารู้ดีสุด
โจทย์ของเราจึงไม่ได้ต้องการสร้างผลงานของตนเอง แต่ต้องการจุดประกายหรือให้เกิดการขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ
"เราไม่ได้ต้องการบอกว่า เรารู้ดีที่สุด หากคนอื่นทำไว้ดีก็จะนำมาต่อยอดสู่การปฏิบัติ วัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ไม่ดีเลยในขณะนี้ คือ เปลี่ยนจากนักวิจัย เป็นนักวิจารณ์ ทุกอย่างไม่มีอะไรดีหมด แต่กลับวิจารณ์แต่ข้อเสีย ไม่มองภาพรวม ต้องเพิ่มบทบาทการเสนอแนะและปฏิบัติได้ ทั้งนี้ คนไทยมักจะยอมรับสิ่งที่ตนเองคิดและทำ มากกว่าของผู้อื่นหรือการทำงานเป็นทีม แวดวงวิชาการยึดสถาบันของตนเองมาก ไม่ต่อยอดกัน แต่ยืนยันว่าสถาบันอนาคตไทยศึกษาไม่มีอีโก้"
เรายึดสโลแกนที่ว่า Engage – Analyze – Inform เป็นภารกิจของสถาบัน หมายถึง การร่วมมือกับกลุ่มเครือข่าย เพื่อทำความเข้าใจและหาข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นปัญหา แล้วค่อยนำมาวิเคราะห์
เช่น หากต้องการทำให้ SME ไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้มากขึ้น ก็จะคุยกับผู้มีส่วนได้เสีย ติดขัดกฎระเบียบข้อไหน และต้องไม่จบแค่งานสัมมนา แต่จะใช้สัมมนาเป็นจุดเริ่มในการบ่งชี้ว่าจะต่อยอดในพื้นที่ต่างๆ อย่างไร เป็นการยกระดับข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การแก้ไขที่ปฏิบัติได้จริง
@ นอกเหนือจากการเผยแพร่งานวิจัยที่เน้นการปฏิบัติ อะไรที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
(ตอบทันที) ข้อนี้ถูกถามบ่อย ซึ่งผมว่าแฟร์มาก
หากถามว่านักวิชาการ นักวิจัยคิดอะไรออกมาแล้วจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ผมว่า คนที่ตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่นักวิชาการหรือนักวิจัย แต่อยู่ที่ผู้กำหนดนโยบายหรือรัฐมนตรี ฉะนั้น หากเราไม่เผยแพร่ความคิด ยกระดับความเข้าใจของคนในเรื่องต่างๆ โอกาสที่จะเกิดการปฏิบัติได้จริงก็ถือว่าน้อย
"ยกตัวอย่างเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีก็เคยพูดถึง แต่ที่ไม่เกิด เพราะนโยบายอาจขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงบ่อย พลิกไปพลิกมา หากจะไปปรับให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปได้ก็เป็นไปได้ยาก
ในทางกลับกันถ้าเราสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจในวงกว้างให้กับประชาชนทั่วไปและสื่อ ให้เห็นว่า ประเด็นไหนจำเป็น สำคัญ และประเทศชาติต้องการก็ทำตรงนั้นตรงนี้ แต่ถ้าทำได้ต่อให้คนตัดสินใจเปลี่ยนหรือรัฐบาลเปลี่ยน ก็จะมีความต่อเนื่องและยั่งยืน"
@ จะเน้นศึกษาวิจัยเรื่องไหนเป็นพิเศษ
จริงๆ กรอบการวิจัยของเรากว้างและครอบจักรวาล คือ 1.ครอบคลุมภาคนโยบายสาธารณะ 2.ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ 3.ภาคประชาชน 4.โครงสร้างพื้นฐานในอนาคต
ซึ่งก็เป็นงานที่หนัก ซึ่งเครือข่ายเราอาจดูมุ่งเน้นด้านธุรกิจหรือเอกชน (หัวเราะ) แม้จะวางโจทย์ไว้กว้างๆ แต่ก็ยอมรับว่า จะต้องมีจุดเริ่มต้นสักที่หนึ่ง
"เครือข่ายของสถาบันเรา ผมอยากให้เป็นเครือข่ายจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่เอาชื่อมาแขวน เอารูปถ่ายมาแปะ แต่ต้องมีกิจกรรมจริงๆ ทำอะไรร่วมกันจริงๆ ซึ่งแนวคิดที่จะทำเร็วๆ นี้ คือ "อนาคตไทยเราเลือกได้" ซึ่งทางสถาบันมองว่า ประเทศไทยมีทุกวันนี้ได้ เพราะการตัดสินใจที่ดีและถูกต้องในอดีต
เช่น การลงทุนในโครงการอีสเทรนซีบอร์ดฯ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินใจเพื่อทำให้อนาคตเราดี ทางสถาบันฯ ก็จะนำเสนอเป็นตัวอย่าง เป็นตุ๊กตาและมีนักธุรกิจ ผู้นำทางความคิดมาถกเถียง ให้คำแนะนำที่จะนำไปสู่โจทย์ของสถาบันวิจัยต่อไป"
โจทย์ข้อนี้แก้ไม่ง่าย แต่การยกระดับความเข้าใจ ทำให้คนหันมาใส่ใจในเรื่องเหล่านี้คงช่วยได้บ้าง
ที่ผ่านมาสื่อชอบถามถึงจีดีพีไตรมาสหน้าว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมว่า ไร้สาระโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นเรื่องการคาดการณ์ ยังไม่มีใครรู้ชัด ในขณะที่สิ่งที่คนควรสนใจมีอีกเยอะ แต่ไม่พูดถึง ไม่วัด นั่นคือการวัดผลการดําเนินงานหรือประเมินผลการดำเนินงาน (KPI) ใน 4 ด้าน ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความสำคัญกับอนาคตของประเทศชาติมากว่าจีดีพีและนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้
@ วันนี้การลงทุนในประเทศไทยควรเริ่มที่อะไร คนไทยเห็นแต่ประชานิยม
เรื่องนี้ชัดเจนและเป็นตัวอย่างที่ดีมาก (เน้นเสียง)
พอเรามัวแต่ใส่ใจแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายที่ออกมาก็มีแต่ลด แลก แจก แถม พยายามทำให้ตัวเลขดูดี คนที่ได้ประโยชน์ก็แฮปปี้กันไป แต่ไม่รู้เลยว่า สิ่งที่ทำกันอยู่นั้นกำลัง "กัดกร่อน" อนาคตของประเทศเรา เมื่อใช้งบประมาณลักษณะนี้เยอะ ก็ไม่มีงบเหลือไปลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีจำเป็นจริงๆ
"หากดูโครงสร้างงบประมาณแล้วค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะงบโดนกินไปโดยที่ปรับลดลำบาก เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการข้าราชการ ภาระหนี้ งบโอนให้ท้องถิ่น เหล่านี้ทำให้งบลงทุนน้อยลง ซึ่งผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด และเราจะทำให้เห็นชัดๆ โดยการวัดงบประมาณว่าลดลงจากกี่เปอร์เซ็นต์ เหลือกี่เปอร์เซ็นต์"
@ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง
(ถอนหายใจ) การลงทุนในบ้านเรามันไม่ฟื้นเลย !!
หากเทียบกับประเทศอื่นยังห่างอยู่มาก ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มูลค่าลงทุนแท้จริงทั้งภาครัฐและเอกชน ต่ำกว่าก่อนปี 2540 อยู่ที่ประมาณ 75% ของปี 2539 ประเทศอื่นแม้เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่การลงทุนก็ฟื้นกลับมาหมดและสูงกว่าระดับที่เคยเป็นอยู่
ขณะที่ประเทศไทยการลงทุนต่ำกว่าประเทศอื่นอย่างมีนัยสำคัญ
"หากจะให้เอกชนมาลงทุน ภาครัฐก็ต้องช่วยนำ เพราะหากรัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สร้างรางรถไฟ สร้างถนนใหม่ เอกชนก็จะตามมาเยอะมาก เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญที่จะช่วยสร้างอนาคตเราให้ดีขึ้น ผมย้ำไว้เลยว่า ตอนนี้ "บุญเก่า" ของเรากำลังหมดลงแล้ว"
@ ข้อติดขัดที่ไม่เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ ประเทศไทยหวั่นคอร์รัปชั่น
(ถอนหายใจ) นี่แหละ คือ ปัญหาโลกแตกของบ้านเรา สุดท้ายแล้วต้องกลับไปที่ "คน" และความใส่ใจของ "คน"
หากผู้นำทางความคิดและสื่อพยายามสร้างความรับผิดชอบให้เพิ่มสูงขึ้น โอกาสและแนวโน้มก็จะดีขึ้น ขณะนี้ ระบบการตรวจสอบบ้านเรายังไม่เป็นที่ยอมรับ โครงการใหญ่ๆ ตรวจดูแค่ว่าใช้งบประมาณเป็นไปตามที่แจ้งหรือไม่ นั่นเรียกว่าการตรวจทาน ไม่ใช่การตรวจเพื่อวัดผล
"ในโครงการใหญ่ๆ ใช้ทุนเยอะๆ เพียงเจียดงบประมาณสักนิด เพื่อระบบการตรวจสอบวัดผล ผมว่าคุ้มค่ามาก เป็นการสร้างมาตรฐาน และเก็บข้อมูลประสิทธิภาพของโครงการที่ช่วยปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และคลายปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ตลอดให้ดีขึ้นบ้าง แทนที่จะเสื่อมลงตลอด"
@ หากไม่ทำประชานิยม จะแก้ปัญหาปากท้องให้คนไทยอย่างไร
วิธีการแก้ปัญหาปากท้องของคนที่จะยั่งยืนที่สุด คือ การทำให้รายได้ของคนโตขึ้นอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง ซึ่งมีวิธีเดียว ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน เพราะแม้จะเพิ่มค่าแรง ขึ้นเงินเดือน แต่ผลผลิตไม่เพิ่มก็ไม่มีงบมาจ้าง หากสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้โดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปัญหาความยากจนในโลกนี้คงไม่มีแล้ว
"การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ต้องตามมาด้วยการลงทุน เพิ่มเครื่องจักร เพิ่มทักษะมากขึ้น สุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องการศึกษา การขึ้นค่าแรงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง หากหวังว่าจะเป็นองค์ประกอบเดียว ให้ย้อนดูตัวอย่างในกรีซ ที่ให้สวัสดิการเกินการเติบโตของประเทศ อย่าให้ปัญหานี้ เหมือนฉายหนังซ้ำ ทั้งที่เรารู้ตอนจบแล้ว"
@ จะทำให้นโยบายสาธารณะ เข้าถึงชาวบ้านได้อย่างไร
นโยบายจะต้องไม่อยู่ลอยๆ เราจะลงพื้นที่ไปตามหัวเมือง กระจายความเจริญออกจาก กทม.ที่เริ่มอิ่มตัว การพัฒนาเริ่มแผ่ว แล้วดึงจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ เช่น การสร้างโอกาสให้คนมีรายได้ ซึ่งหนีไม่พ้นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ แต่มั่นใจว่าโอกาสที่จะเกิดในระดับท้องถิ่นสูงกว่าในระดับประเทศ
การพัฒนาหัวเมืองจึงเป็นโจทย์สำคัญในการหาทางออก
"ยกตัวอย่างการดึงจุดเด่น เช่น อาหาร นวดไทย และมวยไทย เรามีเอกลักษณ์ที่ดี แต่ขาดการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก เราเน้นเยอะ ไม่เน้นคุณภาพ ไม่เน้นเรื่องราว ส่วนนี้เป็นบทบาทของนักวิชาการและภาครัฐที่ทำให้เกิดขึ้นได้ ทำอย่างไร เนื้อหมูที่โคราช จะไปอยู่ระดับเดียวกับเนื้อโกเบ"
@ นำนโยบายลงไปในพื้นที่ จะสื่อสารกับชาวบ้านอย่างไร
มีหลายนโยบาย หลายประเด็นที่ประชาชนทั่วไปไม่เข้าใจและเข้าถึงได้ เช่น การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู หน่วยงานต่างๆ ให้ข้อมูลคนละด้าน ทางสถาบันฯ จึงจัดทำ Policy watch ยกระดับการพูดคุยเชิงนโยบาย ในประเด็นที่ประชาชนสับสน หรือนโยบายที่กำลังเป็นที่สนใจ แต่เข้าใจยากหรือขาดข้อมูล โดยจะวางโครงให้เห็นข้อเสนอแต่ละหน่วยงาน
จากนั้นจะฉายภาพข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าว แต่จะไม่มีบทสรุป ให้ผู้อ่านตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
(เน้นเสียง) ผมเชื่อว่า การถกบนพื้นฐานข้อมูลและเหตุผลจะเป็นประโยชน์กว่าการถกเถียงกัน
เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่แต่ละฝ่ายมีมุมมองต่างกันเป็นปกติ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าค่าจ้างขั้นต่ำกระทบแรงงานไทยกี่คน มีกี่คนที่ค่าแรงต่ำกว่า 300 บาทและคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน
ประเด็นเหล่านี้ไม่มีใครถกเถียง ตลาดแรงงานไทยมี 38 ล้านคน ในจำนวนนั้นมี 21 ล้านคนประกอบอาชีพอิสระ เช่น ขับแท็กซี่ เกษตรกรและแม่ค้า ซึ่งไม่เกี่ยวกับ 300 บาทเลย อีก 17 ล้านคนเป็นลูกจ้าง และมีค่าจ้างสูงกว่า 300 บาทต่อวันอยู่จำนวนมาก หากถกเถียงเรื่องนี้บนข้อเท็จจริงจะตอบโจทย์ได้หมด แต่ไม่มีใครนำข้อมูลนี้ออกมา"
นี่คือตัวอย่างนโยบายสิ่งที่สถาบันฯ จะจับตา ต่อไป