แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
คำต่อคำ: "วสันต์"ศาล รธน.‘หมาหัวเน่า’ พรรคไหนก็ไม่คบ แพ้ก็ด่า พอชนะก็เฉย
หมายเหตุ-นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวเสวนา “ระบบงานยุติธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์” ในงานสัมมนาวิชาการ บ.ย.ส.16 เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวชิราลงกรณ
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า องค์กรตุลาการถูกกล่าวหาว่า มาจากไหนก็ไม่รู้ เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย แต่ไม่ได้มาจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ตกลงเอาผู้พิพากษาจากการเลือกตั้งเลยดีหรือไม่
เฮ้ย...มี 15 ล้านเสียงฉันฆ่าใครก็ได้แล้วเรียกศาลประชาชนอย่างนั้นถูกไหม? หรือถ้าจะให้มีลูกขุนก็สบายมากสำหรับผู้พิพากษา คุมกติกา คุมเกมอย่างเดียวอยู่ในห้องพิจารณา แต่ถ้าเมืองไทยมีลูกขุน รับรองวิ่งเต้นกันแหลก
กฎกติกา ศาล รธน.ไม่เอื้อ ดึงคนร่วมงาน
ส่วน ในศาลรัฐธรรมนูญนั้น ปัญหาที่มีมาก่อนหน้านี้คือ กฎ กติกาไม่เชิญชวนให้ใครเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ ความเป็นส่วนตัว ทุกอย่างหายหมด
“ทุกวันนี้ไปไหนก็ลำบาก ยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ด้วยแล้ว เทคโนโลยีมันง่าย ขนาดนั่งประชุมอยู่ยังถูกถ่ายคลิปไปเผยแพร่ให้ว่อนอินเตอร์เน็ต ตอนนี้ขนาดเข้าห้องน้ำยังต้องระมัดระวัง กดโทรศัพท์มือถือก๊อกแก๊กๆ ภาพและเสียงก็อยู่ในนั้นหมดแล้ว บ้างทีก็มีตัดต่อพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องน่าระแวงอย่างยิ่ง แต่ส่วนตัวผมมั่นใจว่า คงไม่ได้ไปทำอะไรเลอะเทอะที่ไหน”
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคำวินิจฉัย ซึ่งในยุคที่ได้เข้าไปทำงานแรกๆ เกิดปัญหา ตรงที่กฎกติกากำหนดให้ตุลาการทุกคนถือคำวินิจฉัย ความเห็นส่วนคนละซองเข้าไปในที่ประชุมวันพิจารณาคดี เมื่อมติออกมาเป็นอย่างไร เสียงข้างมากเป็นอย่างไร ถึงจะมาเริ่มร่างคำวินิจฉัยกลาง จนทำให้เกิดปัญหาจุลกฐิน หรือไฟลนก้น มีอะไรก็อัดเข้าไป
ระยะหลังจึงมีการปรับเปลี่ยนให้เนียนขึ้น แก้ไขโดยให้เจ้าหน้าที่ยกร่างไว้ก่อนทุกทาง ประเด็นเช่นนี้ออกไปซ้ายหรือขวาอย่างไรได้บ้าง โดยคาดหมายเหตุผลเอาว่า ถ้าออกในธงที่หนึ่ง สอง หรือสามใช้เหตุผลอะไร เมื่อถึงเวลาได้มติเสียงข้างมากจึงเอามาตรวจแก้ไข มันจึงเร็วขึ้น
ยันกรอบอำนาจศาลจำกัดจำเขี่ย
อย่างไรก็ตาม การตัดสินของศาลต้องคำนึงถึงอำนาจหน้าที่และขอบเขต โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ เราต้องระมัดระวังอย่างมาก...
แต่หลายเรื่องก็มีคนข้องใจ เช่น การตัดสินเรื่องพระราชกำหนด 4 ฉบับเมื่อต้นปี หลายคนบอกว่าศาลเห็นด้วยกับรัฐบาล ว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่เห็นทำอะไร ศาลก็ตอบได้ว่า นั่นเป็นเรื่องของคนทำไม่ใช่คนตัดสิน
เราดูตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เมื่อรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเหตุฉุกเฉิน...ไม่ได้เขียนบอกว่าเมื่อศาลเห็นว่า เหตุฉุกเฉิน และเมื่อพวกผม 9 คนไม่ใช่มนุษย์ทองคำ จะไปรู้ดีกว่ารัฐมนตรีได้อย่างไร จึงดูแต่เพียงว่า มีเหตุผลอ้างอิงพอเชื่อถือได้หรือไม่ว่าจะไม่เอางบประมาณ เงินของแผ่นดินไปปู้ยี่ปู้ย่ำ...
ศาลต้องจำกัดจำเขี่ยนะครับว่า กรอบอำนาจเราอยู่ตรงไหน เช่นเดียวกับกรณี ม.68 ที่คนข้องใจ มองว่าศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่าย?
เปล่าเลย...
เรามองเฉพาะมาตรา 68 ซึ่งเป็นเรื่องของศาลที่มีอำนาจวินิจฉัยให้เลิกการกระทำ และมันก็มีอยู่ในหมวดของการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่สิทธิของอัยการสูงสุด แต่ถ้าอยากให้ผ่านอัยการสูงสุดก็สุดแล้วแต่ อยากจะแก้อยากจะยกเลิกก็ได้ แต่ถ้าอยู่ในจุดนี้เราก็ต้องตรวจสอบ
...และแค่ส่งคำร้องจะเป็นจะตายกันให้ได้ ม็อบฮึ่มๆ กัน สุดท้ายแยกย้ายกลับบ้าน
ส่วนพวกผมถูกรุมด่าข้างเดียว แต่ไม่เป็นไรเราจำเป็นต้องอดทน ไม่มีผลประโยชน์อะไร นอกจากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยไปได้
ไต่สวนแล้วไม่เข้าเหตุ ก็ยกคำร้อง ก็ไม่เห็นว่าอะไรเลย บ้างคนยกคำร้องมาขอบคุณ ไม่ต้องมาขอบคุณผมหรอกครับ เพราะทำไปตามหน้าที่ ไม่ได้อยากไปท้วงบุญคุณกับใคร
แล้วถามว่าได้อะไรไหม?...ยุคโลกาภิวัตน์นะครับ มีการขึ้นเวทีด่าศาล ด่าได้ตามสบาย ข่มขู่ คุกคาม และมีการแจกเบอร์โทรศัพท์บ้าน ลูก เมีย มันเป็นปรากฏการณ์ใหม่และเริ่มลุกลาม พวกผมในศาลรัฐธรรมนูญ หลายคนเป็นศิษย์เก่าศาลปกครอง ศาลยุติธรรมเราก็ไม่เคยพบอะไรแบบนี้ แม้แต่ศาลอาญาเองก็น่ากลัว มีม็อบบุกเข้าไปถึงบัลลังก์พิจารณา
นี่ถ้าใช้คำพูดตามอดีตนายกรัฐมนตรีที่ล้วงลับไป ต้องบอกว่า ผมไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ มันเป็นอะไรกันบ้านนี้ เมืองนี้
โลกาภิวัตน์สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ คงต้องพบประสบการณ์ใหม่ๆ ไปอีกระยะหนึ่ง และก็ไม่มีกฎหมายใดๆ คุ้มครอง
หลายคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่มีปัญหาครับ แต่จริงๆ แล้วคดีการเมืองมีไม่เกิน 20% ส่วนคดีอื่นมี 80% แต่มันไม่ดัง ถูกเรื่องอื่นกลบไปหมด เช่นเรื่องล่าสุดที่ตัดสินไปกรณีแยกยื่นภาษีสามีภรรยา ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร มัวแต่สนใจคดีทางการเมือง
ตอนนี้เราก็ยื่นร่างกฎหมายวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญ เสนอต่อสภาฯ เพื่อแก้ปัญหาหลายๆ เรื่อง เช่น เมื่อเสียงในองค์คณะเท่ากัน 4 ต่อ 4 ก็ให้คำร้องนั้นตกไป เพราะประธานไม่มีสิทธิ์ชี้ขาด แต่ร่างที่เสนอสภาฯ ก็ตกไปหนึ่งครั้งแล้ว เสนอเข้าไปใหม่ก็ไม่รู้ว่าจะผ่านให้หรือไม่ ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาคอื่น โดยเฉพาะภาคการเมือง
ซึ่งในที่สุด พวกผมก็เป็นเหมือน ‘หมาหัวเน่า’ พรรคอะไรก็ไม่คบ แพ้ก็ด่า พอชนะก็เฉย ลงท้ายเกลียดขี้หน้าเราหมดทุกพรรค
นี่คือสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องเผชิญ แต่ก็ไม่ได้ท้อถอย จนกว่าจะร้องออกมาว่า “ไม่ไหวแล้วโว้ย”