“ธรรมศาสตร์ เราทำเยอะ เรื่องอาเซียน”
"เราต้องสอน นักศึกษาให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
รู้จักความหลากหลาย
ความคิด ทัศนคติ เป็นเรื่องสำคัญมาก"
45 ปีแห่งการสถาปนาอาเซียน ถือได้ว่า ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ "อาเซียน" กลายเป็นคำที่ติดหู ติดตลาด และหากจะนับเวลาถอยหลังเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 พร้อมหรือไม่พร้อม ในส่วนของสถาบันการศึกษา และได้มีการทำอะไรกันไปแล้วบ้าง
เรานำคำถามนี้ไปถาม ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเปิดตัวโครงการ ASEAN Sense of Citizenship (ประชากรอาเซียน) ที่ตึกโดม ท่าพระจันทร์
"ธรรมศาสตร์ ทำเรื่องอาเซียนมากที่สุดแล้ว ผมว่าเราทำเยอะ และหวังว่า ก่อนปี 2558 เข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะเห็นมรรคผล"
จากนั้นไล่เรียงให้เห็นภาพ "ธรรมศาสตร์" ทำทั้งเรื่องการเรียนภาษาอาเซียน ภาษาอังกฤษ ตั้งศูนย์อาเซียนขึ้นมาโดยเฉพาะ หวังให้เป็น Think Tank ข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียน มอบหมายให้สถาบันทรัพยากรมนุษย์ทำเรื่องนี้ด้วย รวมถึงการปรับหลักสูตรวิชาปริญญาตรี สร้างหลักสูตรปริญญาโทขึ้นมา
"อาเซียน เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก นอกจากสถาบันทรัพยากรมนุษย์แล้ว ธรรมศาสตร์ก็ยังได้ตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาขึ้นมาหมาดๆ ในปีนี้ " อธิการบดี มธ. บอกโดยไม่ปิดบัง ตัวเลขงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลให้มาตั้งศูนย์อาเซียน จำนวน 24 ล้านบาท เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น Think Tank หรือศูนย์ข้อมูลในเรื่องอาเซียนที่ดีที่สุดในประเทศไทย
หากใครอยากรู้เรื่องอาเซียน ทุกมิติ ไม่ว่า การเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมอยู่ที่นี่ ศ.ดร.สมคิด แสดงความมั่นใจ พร้อมตั้งเป้าให้ศูนย์อาเซียนศึกษา เป็นแม่แบบที่ดีของประเทศไทย
นอกจากนี้ อธิการบดีมธ. ยังมอบนโยบายให้คณะศิลปศาสตร์ เปิดสอนวิชาภาษาอาเซียนทุกภาษา และสั่งปรับวิชาพื้นฐานให้มีวิชาอาเซียนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันก็ขอให้คณะทุกคณะ ในรั้วแม่โดม เปิดวิชาอาเซียน เช่น คณะนิติศาสตร์ ต้องมีกฎหมายอาเซียน คณะเศรษฐศาสตร์ก็มีเศรษฐกิจอาเซียน เป็นต้น
รวมถึงการเปิดวิชาการภาษาอังกฤษเป็นการทั่วไปให้นักศึกษา ขณะที่สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มาช่วยทำเรื่องอาเซียน เช่น โครงการ ASEAN Sense of Citizenship นับเป็นอีกมิติหนึ่ง ที่อธิการบดี มธ. ยอมรับว่า วันนี้ความสนใจเรื่องอาเซียนจำกัดอยู่ในแวดวงรัฐบาลที่ประสานงานซึ่งกันและกันในชาติอาเซียน ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกร่วม ยังไม่ลงถึงประชาชนในแต่ละประเทศจริงๆ ประชาชนไม่รู้อาเซียนคืออะไร ?!?
ฉะนั้นโครงการ ASEAN Sense of Citizenship ที่ส่งเสริมความรู้สึกของการเป็น "ประชากรอาเซียน" มุ่งหวังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนในชาติอาเซียนเกิดขึ้นจริง รวมถึงความพยายามหาจุดเชื่อมโยง ในเรื่องวัฒนธรรม เศรษฐกิจ
ทั้งหมดจะเน้นหนักไปที่เรื่องของคน ในมิติทางวัฒนธรรมที่ให้ "คน" มาร่วมกันทำให้อาเซียน เป็นอาเซียนอย่างแท้จริง
เช่นเดียวกัน ที่สถาบันปรีดีพนมยงค์ ก็ได้มีการเปิดหลักสูตรอาเซียนเป็นภาษาอังกฤษ ในระดับปริญญาโท เริ่มเดือนตุลาคม 2555 นี้ ตอกย้ำว่า การเรียนการสอนอาเซียนในประเทศไทย คึกคักมากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อถามถึงความหวังจะมีคนจากชาติอาเซียนมาเรียนในประเทศไทย กับตัวเลขความเป็นจริงเป็นอย่างไรนั้น อธิการบดี มธ. บอกว่า ที่ผ่านมา นักศึกษาอาเซียนมาเรียนในธรรมศาสตร์ยังไม่มากเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามาจากจีน ดังนั้น จึงมีนโยบายให้ทุนในมหาวิทยาลัยที่ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ให้ส่งนักศึกษามาเรียนที่นี่
"อนาคตเราจะไปเซ็น MOU กับมหาวิทยาลัยในอาเซียน ระดับ Top three หมายเลข 1 2 3 ธรรมศาสตร์จะไปไล่เซ็น MOU ทั้งหมด เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยในอาเซียน ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม"
สำหรับความพร้อมในการสร้างบุคลากร 8 กลุ่มวิชาชีพหลัก ได้แก่ วิศวกรรม การสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี การบริหาร และการท่องเที่ยว รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีนั้น ศ.ดร.สมคิด ยืนยันว่า ธรรมศาสตร์ มีครบ ใน 8 วิชาชีพแล้ว แต่ความรู้ในเรื่องอาเซียนยังน้อยอยู่ เช่น วิศวกร ทุกวันนี้ มีคนถามวิศวกรที่จบจากธรรมศาสตร์จะไปทำงานที่ฟิลิปปินส์ได้หรือไม่ วิศวกรฟิลิปปินส์ มาทำงานในเมืองไทยได้หรือไม่
"ตรงนี้ยังเป็นปัญหาทางกฎหมาย ใน 8 วิชาชีพ มีใบประกอบวิชาชีพ ต้องมีการสอบก่อนได้ใบประกอบวิชาชีพ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดการสอบ ที่เป็นภาษาไทย ไม่เว้นแม้แต่วิชาชีพแพทย์ ก็มีการสอบใบประกอบโรคศิลป์ เป็นภาษาไทย ดังนั้น ในระยะยาวอาเซียนต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล (set standards)"
ชาติในอาเซียนต้องค่อยๆ ทำกันไป ค่อยๆ 'ทลาย' กำแพงกั้น
แม้วิธีทลายกำแพง จะเป็นปัญหาใหญ่ แต่อธิการบดี มธ. ย้ำชัดว่า มีความจำเป็น และขึ้นอยู่ที่สภาวิชาชีพทั้งหลายที่ต้องมานั่งตกลงกัน แม้การสอบบางวิชาชีพ เช่น วิศวกรในประเทศไทย อาจจะสอบยากกว่าในหลายประเทศในอาเซียน หรือสภาวิชาชีพ อาจไม่รับมาตรฐานของบางประเทศ ก็ต้องมาตกลงกัน
"ธรรมศาสตร์ได้เริ่มสอนคนให้มองกว้างขึ้น โดยการพยายามบอกนักศึกษาว่า วิศวกรที่จบจากธรรมศาสตร์ไม่จำเป็นต้องทำงานในประเทศไทย อาจไปทำงานในชาติอาเซียนได้ ตลาดในหลายวิชาชีพหลังเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน จะกว้างขวางมากขึ้น"
ขณะที่ความสมดุลระหว่างแรงงานมีฝีมือ ไหลเข้า กับไหลออก เมื่อเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว เรื่องนี้คงต้องลุ้นกันต่อไป...
ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ศ.ดร.สมคิด บอกถึงความคืบหน้าในส่วนของการเปิด-ปิดภาคเรียน ให้ตรงกันในบรรดาชาติอาเซียนด้วยว่า เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ปี 2557 จะมีการปรับภาคเรียนให้ตรงกัน โดยได้ขอให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ทยอยปรับตารางเรียนไปเรื่อยๆ จนกระทั้งปี 2557 ต้องปรับพร้อมกันหมด
"ภาคเรียนที่ 1 ระหว่าง 15 สิงหาคม – 15 กันยายน ซึ่งจะตรงกับชาติอาเซียนส่วนใหญ่ รวมถึงไปตรงกับประเทศอังกฤษ สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้นักศึกษาไทยไปเรียนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ทำให้การแลกเปลี่ยนนักศึกษาต่อไปนี้ทำได้ง่ายขึ้น"
ขณะที่อีกเรื่องที่ยังไกล ในสายตาของอธิการบดี มธ. ก็คือ เรื่องของการโอนย้ายหน่วยกิจของมหาวิทยาลัยในอาเซียนด้วยกัน เขาบอกว่า แม้ความจริงจะทำได้อยู่แล้ว แต่มหาวิทยาลัยมักจะไม่ค่อยยอมเท่าไหร่นัก แม้แต่ตัวนักศึกษาเอง ก็ยังไม่พร้อมไปเรียนเช่นกัน
ก่อนยกตัวอย่างมาอธิบายเพิ่มให้เข้าใจ
"คุณไปเรียนต่างประเทศ คุณเรียนได้ 1-2 ตัว ขณะที่นักศึกษาในประเทศไทยเรียน 5-6 ตัว ถามว่า บ้านเราจะไปเรียน 5-6 ตัวที่ฟิลิปปินส์ได้ไหม แล้วมาเทียบเมืองไทย ตอบว่า ได้ ทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะการที่ไปเรียนต่างประเทศ โอกาสกลับมาแล้วเรียนจบภายใน 4 ปี ยังไม่แน่นอน อีกทั้งมหาวิทยาลัยในอาเซียนยังไม่ได้มาตรฐานทั้งระบบ"
เมื่อถามถึงสิ่งที่นักศึกษาไทยยังขาดอยู่ ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า ผู้บริหารมธ. มองไปที่การสอนนักศึกษาให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องบอกนักศึกษา และคนไทยคือ "เราต้องรู้จักความหลากหลาย" ความคิด ทัศนคติ ซึ่งสำคัญมาก สำหรับคนไทยที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับประเทศเพื่อนบ้านให้ได้
แม้ปี 2558 จะเป็นแค่จุดตั้งต้น...ทำให้คนที่ไม่เหมือนกัน แต่อยากอยู่ด้วยกัน ได้มีความรู้สึกร่วมเป็น "ประชากรอาเซียน" ก็ตาม