ปาฐกถา “ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช” เมื่อ"รัฐ" แปรสภาพ กลายเป็น "รัฐตลาด"
"ว่าไปแล้ว การเลือกตั้ง
ก็เป็นการ "ประมูล" ใครมีเงินมากก็ได้ตำแหน่งไป
อิทธิพลของตลาดที่เข้าไปสู่การเมือง
ทำให้ปชช.เคยชินกับพฤติกรรมใหม่"
กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ ครั้งที่ 3 เรื่อง "จากรัฐรวมศูนย์อำนาจ สู่การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นและชุมชน" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง รัฐชาติสู่รัฐการตลาดอำนาจรวมศูนย์ โดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์ปาฐก
ศ.ดร.ชัยอนันต์ เริ่มต้นกล่าวปูพื้นถึงความหมายของคำว่า "รัฐ" ซึ่งเป็นหน่วยทางการเมืองที่มีมานานแล้วแต่โบราณ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะแม้จะมีคำจำกัดความชัดเจน ถึงการมีดินที่แน่นอน มีประชากร มีรัฐบาลและอำนาจอธิปไตย มีอิสระในการดำเนินกิจการต่างๆ ได้ แต่อำนาจของรัฐที่มีอยู่เหนือดินแดนและประชากรในสมัยโบราณก็เป็นอำนาจไม่เด็ดขาด ไม่สมบูรณ์และไม่ครอบคลุม เนื่องจากเทคโนโลยีและการคมนาคมยังไม่พัฒนา หลายชุมชนอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล รัฐจึงไม่สามารถใช้อำนาจบังคับได้เต็มที่ตลอดเวลา
"ชีวิตของประชาชนในสมัยโบราณจึงปลอดจากอำนาจรัฐ เรียกได้ว่า เป็นสภาพอนาธิปไตย คือ สภาพที่ปราศจากอำนาจสูงสุด หรืออำนาจอธิปไตยดินแดนและประชากรมีความเลื่อนไหลไปเป็นระยะๆ ไม่ใช่เครื่องกำหนดที่ตายตัว กลไกของรัฐในสมัยโบราณจึงบ่งชี้ได้จากขอบเขตของอำนาจในส่วนเมือง หรือภายในกำแพงเมือง ที่มีการค้าขาย และมีตลาด
สมัยโบราณ "ตลาด" ไม่ได้ดำเนินไปอย่างอิสระเสียทีเดียว รัฐพยายามเก็บภาษีและดูแลความสงบเรียบร้อย แต่ปล่อยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างอิสระ กระทั่งในช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมมีความเจริญ ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับผู้ใช้แรงงานและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น มีการใช้เงินเป็นปัจจัยในการแลกเปลี่ยนลงทุนและเกิดการขยายตัวของตลาด รัฐจึงจำเป็นต้องหามาตรการมากำกับดูแล
เกิดการตกลง ต่อรอง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ไม่ใช่ประชาชนในรอบนอกหรือชนบท แต่เป็นประชาชนกลุ่มพ่อค้า ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจและการตลาด ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับการตลาดจึงเริ่มขึ้น
ส่วนประชาชนจึงกลายเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐและอำนาจการตลาด
จากนั้นมา บทบาทของรัฐเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะออกกฎหมาย กำหนดอัตราการเก็บภาษีอากร แต่เริ่มกำหนดกติกาในส่วนอื่นๆ ในสังคมให้เติบโตและคงอยู่ร่วมกันได้ อย่างมีผลประโยชน์ด้วย
ในส่วน "ระบอบประชาธิปไตย" เมื่อมีข้อเรียกร้อง รัฐควรมีบทบาทเป็นตัวกลาง หรือกรรมการ ที่คอยออกแบบกติกาและดูแลให้ผลประโยชน์ การแข่งขันและการตกลงต่อรองเกิดขึ้นภายใต้กรอบกฎหมาย โดยไม่ฝักฝ่ายประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งการเมือง กลุ่มธุรกิจ อิทธิพลและประชาชนที่ต้องไม่มีกลุ่มใดมีอำนาจเหนือกลุ่มอื่นได้ และรัฐต้องเป็นกลางอย่างแท้จริง
แล้วในประเทศไทยมีสภาพการดังกล่าวนี้อยู่จริงหรือไม่... ในสมัยหนึ่ง รัฐไม่เป็นกลาง เข้าแทรกแซงและกำหนดวิถีชีวิตของประชาชน ต่อมาเมื่อกลุ่มต่างๆ มีมากขึ้น จึงเกิดการต่อรอง แข่งขันและแย่งชิงอำนาจ รัฐกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคลของกลุ่มคนและกลุ่มทุน
ปัจจุบันตลาดมีความก้าวหน้าไปมาก เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านข้อมูลข่าวสารที่ทำให้โลกเล็กลง เกิดชุมชนเสมือนจริงที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องพบปะกัน แต่สามารถมีผลประโยชน์และติดต่อธุรกรรมกันได้ ทั้งตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดแรงงานระหว่างประเทศเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว รัฐจึงจำเป็นต้องรวมกับรัฐอื่น เช่น การจัดตั้งสหภาพ และการยกเลิกกำแพงภาษี ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสาร เงื่อนไขและกติกา ซึ่งเป็นการขยายตัวของระบบทุนนิยมที่มี "ตลาด" เป็นกลไกสำคัญ
"ตลาด" จึงกลายเป็นตัวผลิตคุณค่าใหม่ เพื่อกล่อมเกลาประชาชน จากเดิมที่เรียนรู้จากการศึกษา ครอบครัว โรงเรียนและศาสนา เปลี่ยนเป็นเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ทีวี อินเตอร์เน็ท ตลาดจึงเป็นอำนาจที่ครอบงำชีวิตมนุษย์ในสังคมอย่างแท้จริง โดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อและการประชาสัมพันธ์เป็นอาวุธสำคัญ
ในระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี ตลาดจะต้อง "เสรี" ไม่ใช่ถูกผูกขาดโดยบรรษัทใดบรรษัทหนึ่ง หรือกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่ง คำถามจึงอยู่ที่ว่าในประเทศไทย ตลาดมีความเสรีจริงหรือไม่... คำตอบ คือ ไม่เสรี
สิ่งที่บ่งชี้ชัดเจนจะเห็นได้จาก ระบบการเมืองในสมัยก่อน การหาเสียงเลือกตั้ง กำหนดนโยบายทางการเมืองของรัฐบาล พบว่า มีส่วนสาธารณประโยชน์และสาธารณชนอยู่ค่อนข้างมาก แต่ตลาดสมัยใหม่เป็นการแข่งขันที่ไม่เสรี มีอำนาจกลุ่มทุนที่เหนือกว่า และเป็นกลุ่มทุนที่ร่ำรวยมาจากการรับสัมปทานของรัฐ เช่น กลุ่มทุนด้านคมนาคม
ตลาดการเมืองแบบใหม่ และการเลือกตั้ง จึงเป็นตลาดของการ "ซื้อขาย" ที่จะว่าไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งก็ได้ เพราะแท้จริง การเลือกตั้งก็เป็นการ "ประมูล" ว่า ใครมีเงินมากก็ได้ตำแหน่งไป
ฉะนั้น อิทธิพลของตลาดที่เข้าไปสู่การเมือง ทำให้ประชาชนมีความเคยชินกับพฤติกรรมใหม่ การเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมของผู้ซื้อและผู้ขายในตลาด เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า "เงินไม่มา กาไม่เป็น"
จะพบว่า ปัญหาของประชาธิปไตย ไม่ได้มีเฉพาะเรื่อง พรรคการเมือง และคุณธรรมของนักการเมือง แต่อยู่ที่โครงสร้างของรัฐ และตลาด ที่ "รัฐ" ได้แปรสภาพ กลายเป็น "รัฐตลาด" ซึ่งทำให้งบประมาณแผ่นดินไม่ใช่งบสาธารณะอีกต่อไป แต่กลายเป็นงบที่นักการเมืองจะแข่งขันกันเข้าไปควบคุมและใช้ประโยชน์ การคอร์รัปชั่นจึงเกิดขึ้นอย่างมาก
ส่วนนโยบายประชานิยม ก็เป็นลักษณะพิเศษของรัฐตลาด เพราะมุ่งซื้อคะแนนเสียงจากประชาชนเป็นสำคัญ การซื้อขายคะแนนเสียงกลายเป็นการแลกเปลี่ยนทางการเมือง เมื่อได้อำนาจก็ไปกำหนดนโยบายที่จะทำให้ประชาชนสนับสนุน
"นักการเมืองถือโอกาสนี้ชิงงบประมาณ หาผลประโยชน์ส่วนตน และนำเงินงบประมาณนั้นนำไปให้ประชาชน โดยมุ่งหวังคะแนนเสียงและการสนับสนุนต่อไป"
ปัจจุบันเมื่อตลาดเป็นสิ่งที่มีอำนาจมากต่อรัฐ ทำให้รัฐต้องดำเนินทุกวิถีทางที่จะรักษาตลาดไว้ โดยเฉพาะตลาดทุน ที่พยายามจะสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อชักจูงให้การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ อิทธิพลของตลาด จึงมีส่วนในการกำหนดนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ และนโยบายทางเศรษฐกิจ
หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ตลาดและชุมชน จะพบว่า ตลาดเติบโตขึ้นมาก ปริมาณของความสัมพันธ์ระหว่างการเงินของตลาดและบรรษัทข้ามชาติ มีมากกว่างบประมาณของรัฐหลายร้อยเท่า รวมถึงมีการขยายตัว มีเครื่องมือ มีองค์กร มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความล้ำหน้าในการจัดการ
...แม้แต่ระบบราชการสมัยใหม่ยังปรับเปลี่ยนนำวิธีการของ "เอกชน" มาใช้ในการปฏิบัติงาน ถือเป็นการยอมรับว่า การปฏิบัติงานของระบบราชการนั้นด้อยกว่าภาคเอกชน
ไม่ว่าชุมชนจะเติบโต มีกลุ่มที่หลากหลายมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น แต่รัฐก็ยังรวมศูนย์อำนาจ แม้จะมีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
"ประชาชนและชุมชน ถูกประกบอยู่ระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์ รัฐไม่เป็นกลางและอำนาจตลาดที่รุกราญชีวิต ในรูปแบบบัตรเครดิต การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ระบบเงินผ่อน ชีวิตมนุษย์ที่ถูกประกบด้วยสิ่งเหล่านี้ ทางออกจึงอยู่ที่การ "ปฏิเสธ" ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจตลาด และการมีระบบเศรษฐกิจพอเพียง"
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประชาธิปไตยไทย ไม่ใช่ปัญหาของประชาธิปไตยโดยตรง แต่เป็นปัญหาของอำนาจรัฐและอำนาจตลาด ที่ยังไม่เป็นอำนาจเสรีอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยเสรีอย่างแท้จริง จะเกิดขึ้นไม่ได้ ตราบที่ยังมีความพยายามเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐ และนำมาออกนโยบายเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มกลุ่มหนึ่ง และยึดกุมตลาด...
ฉะนั้น ความเป็นอิสรเสรีของตลาดและรัฐ หากเกิดขึ้นไม่ได้จากพลังกดดันโดยทั่วไปเหมือนประเทศอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นได้จากการ "ปลีกตัว" ของประชาชนออกจากอำนาจรัฐและอำนาจตลาด