เข้าใจ “ไพร่” ในทัศนะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ผ่านมุมมอง ส. ศิวรักษ์
"มหาดไทยต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จากกระทรวงมาเฟีย
มาเป็นกระทรวงซึ่งมีการกระจายอำนาจ เคารพผู้คน พลเมือง
ช่วย อบต. -อบจ. ลดการทุจริต ทำงานโปร่งใส"
เนื่องในโอกาสครบ 150 ปี วันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเนื่อง ในโอกาสครบรอบ 50 ปีที่องค์การยูเนสโก ประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดปาฐกถา "เสาหลักของแผ่นดิน" ชุด "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" เรื่อง "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับคนร่วมสมัย" ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดยมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ นักคิด นักเขียนชั้นแนวหน้าของประเทศไทยได้รับฉายานามว่า ปัญญาชนสยาม เป็นองค์ปาฐก
เริ่มต้น อาจารย์สุลักษณ์ กล่าวถึงชีวิตส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระกรณียกิจต่างๆ ที่ล้วนโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยทุ่มเทพระองค์เพื่อรับใช้ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และราษฎร พร้อมกันนั้นยังได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงสายพระเนตรที่คมและชัดของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่มองเห็นถึงอัตลักษณ์ของข้าราชการ โดยทรงพระนิพนธ์ประวัติข้าราชการที่ทรงรู้จัก และนำมายกย่องสรรเสริญคุณความดีของท่านนั้นๆ เช่น
"มีความหมั่นเพียร และมีความมั่นคงเป็นข้อสำคัญในจริยวัตร มาทำงานตรงเวลา ไม่ทิ้งงานจนเสร็จธุระประจำวัน การอันใดที่ทำเป็นหน้าที่ ท่านทำการนั้นโดยพินิจและซื่อตรง มิให้ติได้ อีกประการหนึ่งท่านไว้วางอัธยาศัยต่อเพื่อนราชการเหมาะกับฐาน คือ ฟังคำสั่งของผู้ที่มีตำแหน่งเหนือตัวท่าน แม้เป็นเด็กกว่าก็ไม่แสดงความรังเกียจ วางตนเป็นสหายกับผู้ที่มีตำแหน่งชั้นเดียวกัน เมตตากรุณากับผู้น้อยที่อยู่ใต้บังคับบัญชา และไม่หย่อนตัวให้ผู้ใดดูหมิ่น"
เมื่อประทานโอวาทข้าราชการ ทรงเน้น 3 ข้อด้วยกัน แต่ที่ทรงเน้นเป็นพิเศษก็คือ ต้องทำให้ผู้น้อยนับถือ ดังความว่า
"1.เป็นผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ เหนือตัว 2.เป็นข้าราชการต้องซื่อตรง และจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3.เป็นผู้ปกครองต้องเอาใจ ผู้ในบังคับให้นับถือ ความนี้ คือการนับถือผู้น้อย หรืออีกนัยหนึ่งความที่ผู้น้อยเชื่อถือนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า คืออำนาจในการปกครอง ของผู้บังคับบัญชาทีเดียว
หากสำคัญผิดหลงนิยมว่า เป็นข้าราชการแล้ว จำต้องวางกิริยาท่าทางให้ผู้น้อยกลัวเกรงที่จะมีเกียรติยศและอำนาจ ผู้ซึ่งมีความนิยมอย่างนี้ ที่ข้าพเจ้าเห็นมา มักไม่ใคร่เอาตัวรอดได้"
"ความมุ่งหมายของราชการ จำแนกเป็นความมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1.ให้คนทั้งหลายในราชอาณาจักรอยู่เย็นเป็นสุข ปกติ ไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ประการหนึ่ง 2.ที่จะให้ราชอาณาจักรเจริญบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ และสิ่งที่เป็นเครื่องเกื้อกูลความสุขสำราญ ประการหนึ่ง และ 3.ที่จะต้องป้องกันและรักษาความเป็นอิสรภาพของราชอาณาจักร ให้บ้านเมืองคงอยู่ ในความปกครองของเรา ไม่เป็นข้าของชาติอื่นประการหนึ่ง"
อีกเรื่องที่ทรงเน้นเป็นพิเศษ คือความอารี ความอารีต่อผู้น้อย รวมถึงการไม่ดูถูกวัฒนธรรมของราษฎร โดยทรงตักเตือนว่า
" ราษฎรโดยมาก โดยเฉพาะที่เป็นชาวบ้านป่าเมืองไกล มีความคิดความนิยม ตามเพศ ตามนิสัยของเขาที่สืบมาในภูมิลำเนา ที่นั้นๆ เราต้องเอาใจใส่ในประเพณี และความนิยมของราษฎร ไม่ควรพูดหรือทำให้เขาขัดใจโดยไม่จำเป็น"
นอกจากนี้ ยังทรงตักเตือน โดยนัยว่า ความนิยมรักใคร่ของราษฎร เกิดขึ้นได้ เมื่อไม่ใช้อำนาจบังคับ
"แต่จะบังคับบัญชาราษฎร หรือให้กระทำอย่างไร ต้องเอาเป็นธุระชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจ ประโยชน์แห่งการนั้นๆ"
ส. ศิวรักษ์ กล่าวถึงทัศนะของกรมสมเด็จฯ แม้จะเป็นไปในสมัยราชาธิปไตยก็ยังนำมาประยุกต์ใช้ได้ มาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคสมัยประชาธิปไตยปลอมๆ อยู่ อนึ่ง "สายชล สัตยานุรักษ์" ได้เน้นอัตลักษณ์พิเศษ ของไทยตามพระดำริว่า มีคุณธรรม 3 ประการ คือ 1.ความรักเอกราช ความเป็นไท 2.ความปราศจากอหิสา และ3.ความฉลาดในการสมประโยชน์ ...
โดยอาจารย์สุลักษณ์ ได้ต้องตั้งคำถามถึงชนชั้นปกครองในเวลานี้ ว่า สำนึกในความเป็นเอกราชและประชาธิปไตยของประชาชาติขนาดไหน สำนึกกันบ้างไหมว่าเราตกอยู่ในอภิมหาอำนาจอย่าง จีน และสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด มิใยต้องเอ่ยถึงบรรษัทข้ามชาติที่มีอิทธิพล ในกรณีสมเด็จพระยาดำรงฯ นั้น ความเป็นไท และราษฎรแต่ละคน แม้คนพวกนั้นเป็นไพร่บ้าง พลเมืองบ้าง แต่ชนชั้นปกครองก็ต้องเคารพทัศนคติ วิถีชีวิต ตลอดจนวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะคนจีน มอญ แม้ชาวปักษ์ใต้ที่เป็นไทย มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ต่างไปจากไทยภาคกลาง ข้าหลวงเทศาภิบาลจากเมืองกรุง ก็ต้องไม่เข้าไปก้าวก่าย"
และยังมีทัศนคติที่แสดงถึงเรื่องการศึกษา ณ มณฑลปัตตานี ก็ตรัสว่า
"นักเรียนควรเรียนตามอาชีพของบรรพชน แต่คนที่มีบุคลิกต่างออกไปเป็นพิเศษ จนเห็นว่าอาชีพเดิมของบรรพชนไม่เหมาะกับวิสัย จึงควรแนะให้ศึกษาโรงเรียนต่างๆไป"
อาจารย์สุลักษณ์ กล่าวว่า ที่น่าต้องถาม ชนชั้นปกครองสมัยนี้ เข้าใจในความเป็นไทของคนในพื้นบ้านต่างๆ มากน้อยแค่ไหน แลเห็นไหมถึงการรวมตัวของสมัชชาคนจนก็ดี คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน และเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติต่างๆ เหล่านั้น เขาล้วนต้องการความเป็นไทด้วยกันทั้งนั้น รัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้าตัวโตๆ เข้าใจการข้อนี้กันบ้างไหม แม้เราจะอ้างว่า เป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ชนชั้นก็ยังไม่ได้หมดไป
...ชนชั้นล่างรังเกียจการครอบงำของชนชั้นบนยิ่งนัก ถ้าไม่เข้าใจความข้อนี้ ก็อยากที่จะเข้าใจเนื้อหาสาระของ "ไพร่" ในรูปแบบของคนเสื้อแดง ทั้งๆ ที่ในกรมสมเด็จฯ อยู่ในระบอบราชาธิปไตย แต่ดูจะทรงเข้าใจ "ไพร่" ได้ดีกว่าชนชั้นปกครองร่วมสมัยเสียอีก
ความปราศจากอหิสาที่ในกรมสมเด็จฯ เห็นว่า เป็นเอกลักษณ์พิเศษของความเป็นไท แม้จะเป็นอุดมคติมากไป แต่ก็เป็นแนวคิดสำคัญในการดำรงรักษาเอกราช อธิปไตยของแต่ละบุคคล แต่ละชุมชน และของประเทศชาติ
ส่วนการประสานประโยชน์ ที่ในกรมสมเด็จฯ ทรงยืนยันเป็นคุณสมบัติพิเศษของไทยนั้น ถ้าไม่ยอมรับสัจจะตั้งแต่แรกแล้วจะประสานประโยชน์ได้อย่างไร ความจริงจะประสานกับความเท็จได้อย่างไร ถ้ารู้ตัวว่าเรากล่าวคำเท็จ หรือรู้ตัวว่า เราทำผิดคิดมิชอบ ต้องสารภาพบาปเสียก่อน ดังนั้น คุณธรรม 3 ประการที่ในกรมสมเด็จฯ ทรงยืนยันว่า เป็นเอกลักษณ์วิเศษของไทยนั้น ควรได้รับการพิจารณาอย่างลึกซึ้ง และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับกาลสมัย...
ทั้งนี้ ภายหลังจบปาฐกถา อาจารย์สุลักษณ์ ตอบคำถามเกี่ยวกับการทำงานของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ในปัจจุบัน
@ ท่านคิดว่า ปัจจุบันบทบาทกระทรวงมหาดไทยกับการชี้นำประเทศ
กระทรวงมหาดไทย....พูดกันอย่างไม่เกรงใจ เป็นกระทรวงที่มีอำนาจมากเกินไปในการปกครองประเทศ แต่ก็ยังดีกว่ากระทรวงกลาโหม เพราะงบประมาณบริหารราชการแผ่นดินส่วนใหญ่หมดไปกับกระทรวงกลาโหม และทหารก็ไม่มีหน้าที่อื่น นอกจากเล่นกอล์ฟไปวันๆ ใช้เงินให้ฟุ่มเฟือยหมดไป เข้าไปที่ไหนก็แย่ที่นั่น ดู 3 จังหวัดภาคใต้เป็นตัวอย่าง
แม้กระทรวงมหาดไทยไม่เลวร้ายถึงเพียงนั้น แต่ก็เลวร้ายน้องๆ จากนั้นเท่านั้นเอง เพราะเหตุว่า จิตสำนึกของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยนั้น ยังเป็นความคิดแบบ "อำมาตย์" ยังดูถูกราษฎรอยู่ เห็นว่าคนนี้โง่เขลาเบาปัญญา
ซึ่งสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นั้น แม้จะเป็นราชาธิปไตย ท่านเข้าใจราษฎร เข้าใจไพร่บ้านพลเมือง แต่แน่นอนท่านมีจุดยื่นในเรื่องของชนชั้นว่าท่านต้องสูงกว่า
ขุนนางต้องทำตัวอ่อนน้อมไปหาไพร่ เจ้าก็ต้องทำตัวอ่อนน้อมไปหาไพร่ สมัยนี้แม้มีการอ้างความเป็นประชาธิปไตย แต่พวกขุนนางยังนึกว่าตัวเป็นชนชั้นที่สูงกว่าไพร่อยู่
"ผมว่าอันนี้เป็นจุดที่กระทรวงมหาดไทยจะไปไม่รอด"
เผื่อว่ามีการฉลอง 150 ปี ในกรมสมเด็จฯ คราวนี้ กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ กระทรวงมหาดไทยต้อง "ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา" ว่า การปกครองในแบบในกรมสมเด็จฯ ก็ดี ในแบบเจ้าพระยายมราชก็ดี ไม่ใช่ต้นแบบ เพราะยังต้องมีการกระจายอำนาจให้มาก ฟังคนให้มาก ฟังราษฎรให้มาก จะต้องรู้จักราษฎรให้มาก
ที่สำคัญ เวลานี้ไม่เหมือนสมัย ราชาธิปไตย ราษฎรตื่นตัวกันมากเลย แม้ชาวเขา แม้ว กระเหรี่ยง ที่เราดูถูกเขา เดี่ยวนี้เขาเป็นตัวของตัวเองมากเลย หากเราลงไปฟังเขา ไปเรียนจากเขา กระทรวงมหาดไทยฝึกข้าราชการรุ่นใหม่ให้ออกไปเรียนรู้ จากราษฎรต่างๆ เหล่านั้น
"ผมว่า กระทรวงมหาดไทยจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จากกระทรวงมาเฟีย มาเป็นกระทรวงซึ่งมีการกระจายอำนาจ มีการเคารพนับถือ ผู้คนพลเมืองและกระทรวงมหาดไทยจะสามารถช่วยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลดการทุจริตลง มีความโปร่งใสมากขึ้น แต่คนในกระทรวงมหาดไทยต้องลดการทุจริตลง โปร่งใส่มากขึ้นก่อน"
@ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีแนวคิดเรื่องการศึกษาอย่างไร
การศึกษาของไทยเวลานี้ ล้มเหลว ไม่แพ้กระทรวงมหาดไทย!!
...ระบบราชการไทยที่เริ่มมาสมัยรัชกาลที่ 5 มาถึงเวลานี้มันไม่ทำงานแล้ว อันนี้ต้องสังคยานากันใหญ่
กระทรวงศึกษาธิการสัญญาอะไรกับคนที่มาเรียน
"สัญญาว่า เอ็งไม่เข้าเรียนชั้นประถม เอ็งไม่ใช่ผู้ใช่คน จบชั้นประถมแล้วรู้สึกมีปมด้อย ต้องเข้ามัธยม มัธยมแล้วก็รู้สึกปมด้อยต้องเรียนอุดมศึกษา เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้ ก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งมีเป็นฝักถั่ว รวยทุกแห่งมหาวิทยาลัยเอกชน สัญญาอะไรครับ สัญญาว่า เมื่อได้ประกาศนียบัตรแล้วจะหางานทำให้ แต่แล้วส่วนใหญ่ก็หางานทำไม่ได้"
หัวใจการศึกษาที่ไม่มีใครพูดถึงเลย คือ "สิกขา" พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระธรรมวินัยของพระองค์ท่านก็คือสิกขา ศึกษาในไตรสิกขา เรื่องของศีล เป็นปกติ ทำอย่างไรลดความรุนแรงในตัวเรา ลดความโลภ โกรธ หลงในตัวเรา ทำตัวของเราให้มีศักยภาพที่จะรับใช้ผู้อื่น
เราจะนำศีลจะนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร ก็ต้องรู้จักตัวเอง ฝึกตัวเองให้รู้จักลมหายใจเข้าออก ศีลต้องลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน ศีลหมายถึงต้องอยู่กับธรรมชาติแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
นี่คือ ศีล สมาธิ และจะเกิดปัญญาว่าเราสามารถตัดสินใจได้ โดยปราศจากอคติ ซึ่งอคติเรามักตัดสินด้วยความเกลียด ความหลง ความรัก ความห่วง นี่คือหัวใจ การศึกษาสมัยใหม่ต้องเอาศีลมาประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสม โดยต้องเข้าใจโครงสร้างทางสังคมมันอยุติธรรมและรุนแรง
"คนรวยเอาเปรียบคนจน โดยคนรวยก็ไม่รู้ตัวว่า กำลังเอาเปรียบคนจน ที่ร้ายกว่านั้นเวลานี้มีบริษัทข้ามชาติเข้ามาคุม ทั้งจีนและอเมริกัน ถ้าเด็กหรือใครก็ตามไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของการศึกษา ก็จะมีข้อมูลมั่วๆ การศึกษาหมายถึงการซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ ให้กับเด็ก เพราะมันจะได้กินกัน สร้างตึกใหม่ๆ มันจะได้โกงกัน ขึ้นเงินเดือน เลอะเทอะทั้งหมด"
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านเข้าใจเรื่องการศึกษาเป็นอย่างดี ท่านบอกว่า
"การศึกษานั้นพวกเราส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนา ต้องศึกษาเรื่องการทำไร่ทำนา คนไหนไม่เหมาะรับราชการ ให้ทำอย่างอื่น"
เราต้องฝึกให้คนพร้อมจะเป็นชาวนา ให้ลูกชาวนาพร้อมจะเป็นชาวนา และต้องได้รับการตอบรับจากอาชีพเขา ไม่แพ้ข้าราชการ
เมื่ออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยึดอำนาจการปกครอง เป็นประชาธิปไตยในปี 2475 ปีนั้นมีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ว่า "ชาวนาต้องมีเงินเดือนกินไม่แพ้ข้าราชการ จะต้องมีบำนาญไม่แพ้ข้าราชการ " ครั้งแรกที่ปรีดีมาเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย มีบัญญัติเทศบาลเกิดขึ้นให้มีการเลือกตั้งทั่วทั้งหมด
ผมมองว่า การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว เป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้คนมีความภูมิใจในตัวเอง
"คนที่ไม่เข้าในระบบกระทรวงศึกษา ชาวบ้าน สมัชชาคนจน เขามีการศึกษาที่แท้จริง เพราะอยู่กับธรรมชาติ มีศาสนาพุทธเป็นพื้นฐาน รักความเป็นธรรม มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความสุจริต มีสัจจะ เป็นที่ตั้ง คนเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากวงการการศึกษาของราชการหรือเอกชนเลย"
การศึกษาของราชการสอนอย่างเดียวให้บูชารัฐ ซึ่งหมดสมัยแล้ว ขณะที่เอกชนก็สอนอย่างเดียวให้บูชาเงิน เหล่านี้ต้องเลิก "พระ" นี่ตัวร้ายเลย บูชาเงิน บูชาสมณศักดิ์
@ เมื่อกระทรวงต่างๆ เลอะเทอะ การสังคยนาควรทำอย่างไร
รัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ปี 2470 ท่านพิมพ์ พระบรมราชาธิบายเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 โดยรัชกาลที่ 7 บอกว่าเป็นการพลิกแผ่นดิน หรือนัยยะหนึ่งท่านเห็นว่า จตุสดมภ์ ที่สืบทอดจากสมัยอยุธยาใช้ไม่ได้แล้ว ถึงตั้งกระทรวงใหม่ 12 กระทรวง ซึ่งเหมาะสมในรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ยังเป็นอย่างเดิม กระทรวงมีมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น แต่ไม่ทำงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม ยิ่งใหญ่มากยิ่งเลวร้ายมาก
"แต่ก่อนยังมีกระทรวงที่ดี คือกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว กระทรวงสาธารณสุขเลอะเทอะหมดแล้ว เพราะใหญ่โตเกินไป กระทรวงต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ไร้สาระ เคยมีข้าราชการดีสามารถบอกนักการเมืองว่าเราไม่เห็นด้วย จะเชื่อไม่เชื่อ ก็แล้วแต่ แต่ข้าราชการมีกึ๊น แต่ขณะนี้กระทรวงต่างประเทศหมด เกือบไม่มีตัวยืนเลย เพราะไปกลัวนักการเมืองกันหมด"
การสังคยาประการแรก คือการเปลี่ยน "จิตสำนึก" ของเราเองก่อน อย่าไปหลงละเมอเพ้อฝันว่า กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จะแก้ไขปัญหาได้ ถ้าเราเป็นข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก็ต้องหาทางแก้ไขตัวเรา และเพื่อนของเรา
ยกตัวอย่าง อาจารย์ประเวศ วะสี อาจารย์เสม พลิ้วพวงแก้ว ผู้มีบทบาทนอกกระทรวง นอกมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบทบาทที่น่าสนใจมาก "บทบาทนอกระบบ" หากอยู่ในระบบก็ต้องปรึกษาหารือคนในระบบ ให้ไปอยู่นอกระบบ
ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก เปลี่ยนเพียงว่า เปิดโอกาสให้คนในกระทรวงออกไปรู้จักคนยากคนจน ออกไปเห็นสภาพสลัม ออกไปเห็นว่า คุกเป็นอย่างไร รวมทั้งหมด โดยเฉพาะ "ผู้พิพากษา" ด้วย
@ ในฐานะนักพยากรณ์สังคม มองบ้านเมือง 2-3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร
หากท่านเห็นการเคลื่อนย้ายของพลังมวลชน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงก็ดี เสื้อเหลืองก็ดี ต้องใช้หลักของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ 3 ประการ คือ พยายามสมานประโยชน์ ใช้อหิงสา มีความเป็นไท ซึ่งหากนำมาประยุกต์ผมเชื่อว่า มีทางเป็นไปได้ โดยผมเชื่อเลยว่า ต่อไปเสื้อเหลือง เสื้อแดงจะสมานฉันท์กันได้ โดยเสื้อแดงส่วนใหญ่จะต้องทิ้ง ไม่เอา "ทักษิณ"
พวกเสื้อเหลืองก็ต้องมาอยู่ร่วมกับพวกเสื้อแดง ...
หากเราเป็นเสื้อเหลือง ก็ต้องถามตัวเรา เสื้อเหลืองมีอะไรดีบ้าง มีอะไรบกพร่อง เสื้อแดงก็เช่นกันต้องถามตัวเอง มีอะไรดีบ้าง มีอะไรบกพร่องบ้าง โดยเสื้อเหลืองก็ต้องพยายามเข้าหาเสื้อแดง เคารพให้เกียรติ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่ต้องอภิปรายโต้แย้งกันด้วยความเคารพ
{youtubejw}xK53pb95MR0{/youtubejw}