เปิดใจ "ภญ.สำลี ใจดี" กับโทษประหาร "วิชาชีพเภสัชกร" ทุจริตซูโดฯ
"ค้น ตามจับรพ. เป็นแค่ปลายน้ำ
ถามว่า ช่องจัดจำหน่ายของรง.เหล่านี้มีกี่ช่อง
ผลิตเสร็จแล้วขายไปที่ไหน"
ซองฟรอยส์ ซองยา จำนวนมากมายที่ถูกทิ้งเกลื่อน จนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปตรวจพบที่อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบค้น คดีทุจริตเบิกยาแก้หวัดสูตรซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine ) ออกจากโรงพยาบาล เพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด
ในขณะที่สื่อก็ให้ความสนใจเกาะติดข่าวฉาวโฉ่จนถึงทุกวันนี้ ฟากของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น กำลังเดินหน้าตรวจสอบขบวนการยักยอกยา "ซูโดอีเฟดรีน" อีกฟากหนึ่งคนในวงวิชาชีพ ซึ่งรับใช้ผู้ป่วยและสาธารณชน อย่าง "วิชาชีพเภสัชกรรม" ได้ข่าวว่า มีการระดมพลมานั่งถกคิดกันแล้วว่า จะมีแอคชั่นอย่างไรบ้างกับปรากฎการณ์นี้
ซึ่งหากมีข่าวที่เกี่ยวกับแวดวงยา หนีไม่พ้น ต้องไปพูดคุยกับ "หมอยา" ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม อาจารย์ท่านนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น 'ปูชนียบุคคลในวงการเภสัชศาสตร์' ครูของวิชาชีพเภสัชกรรม และเคยได้รับรางวัล "คนดีของแผ่นดิน" จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) มาหมาดๆ เมื่อปีที่แล้ว ( 2554)
ในฐานะครู ผศ.ภญ.สำลี ระบายออกมาเป็นคำแรก คือ รู้สึกเศร้าใจ ก่อนจะเปรยว่า "ทำไมลูกเรา ซึ่งปลูกฝังมาอย่างดี ทำถึงขนาดนี้"
@ ข่าวคราวเรื่องนี้ ซึ่งมีเภสัชกรเข้าไปเกี่ยวพัน ทำให้วิชาชีพนี้เสื่อมเสียมากน้อยแค่ไหน
การประกอบสัมมาชีพตรงนี้ ต้องมีศีลธรรม 2 ชั้น
"ทำอย่างนี้มันแย่มาก ไม่ว่าหมอใดๆ ทั้งสิ้น ในฐานะที่อาจารย์เป็นครู เป็นหมอยา สะท้อนใจ เขาไม่รู้เหรอ เขาอยากมีอยากได้กันถึงขนาดนี้เลยหรือ มันรวยขนาดไหน" และอยากจะถามต่อ (ใช้มือตบไปที่หน้าตักของตัวเอง)
...ตายไปเอาไปได้ไหมเนี๊ยะ รดน้ำศพ น้ำสักหยดก็ยังเอาไปไม่ได้
ฉะนั้น หากมองในแง่วิชาชีพ อาจารย์รู้สึกแย่มาก ในแง่ครูบาอาจารย์ ก็เศร้าใจ ในแง่ประชาชน ก็ต้องมาเจอวิกฤตซ้ำเติมแบบนี้
คนเลวไม่กี่คนทำให้ คนในวิชาชีพเน่าไปหมด แต่ก็เชื่อว่า มีกัลยาณมิตร ลูกศิษย์ลูกหา ที่คอยช่วยเหลือกัน ช่วยสั่ง เอาเวลาราชการไปรับใช้ส่วนตัว ดังนั้น คนเหล่านี้ต้องได้รับบทลงโทษที่แรงที่สุด หากพบว่ามีเจตนากระทำผิด นั่นคือ ประหารชีวิต ออกไปจากวิชาชีพ ซึ่งคือ การถอนใบประกอบวิชาชีพ เมื่อเขาเป็นคนธรรมดาไป ไม่เป็นเภสัชกรอีกต่อไป
@ การคุมเข้ม ยาตัวนี้
ก็เพื่อความปลอดภัย ปกติยาจะอยู่ในกฎหมาย 3 ฉบับ พระราชบัญญัติยา 2510 , วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งยา แบ่งเป็น 3 ฐานะ โดยแต่ละกฎหมายมีความเข้มไม่เท่ากัน
ถามว่า มีความจำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ หรือไม่ คิดว่า มีความจำเป็นน้อยมาก ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เคยมีการเสนอให้ยกเลิกด้วยซ้ำไป แต่ก็มีการเสนอให้ยาตัวนี้ไปอยู่ใน พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สุดท้ายขยับฐานะไปเป็นยา ซึ่งประเด็นข้อกฎหมายทำให้ยานี้มีการระบาด
@ ความชัดเจนของอาจารย์ กับยาตัวนี้
ถอน (เสียงเข้ม) ไม่มียาตัวนี้ในประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะมีการประนีประนอมให้ยาตัวนี้อยู่ในระบบปิดก็ตาม
ความเห็นของ "สำลี ใจดี" เนี๊ยะ คือ Absolutely N0 ทุกสูตร ไม่มียานี้ทุกสูตรในประเทศไทย แต่สถานการณ์ที่คณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ฯ เขาบอกว่า ยานี้อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ฯ มีการคุมเข้ม ทั้งยาเดี่ยวและยาผสม ไม่มียกเว้น ดังนั้นโจทย์จึงไม่เหมือนกัน
@ เหตุผลการคงยาซูโดไว้
อาจมีกลุ่มแพทย์ concern (กังวล) กับคนไข้ที่ติดยา ที่เขากินแล้วดีขึ้น แน่นอนว่า ในแง่ธุรกิจเขาก็ผลิตเพื่อขาย ไม่ใช่องค์กรการกุศล โจทย์นี้จึงไม่ต้องพูด
แต่อยากบอกประชาชนคนไทยว่า ยาตัวนี้ไม่ได้จำเป็น หากบ้านเราไม่ใช่ เขาผลิตก็ขายไม่ได้ ต่อให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์
@ ติดตามการสอบสวน ยาซูโด ล่องหน อาจารย์มองว่า ยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่
โจทย์ของอาจารย์ง่ายมาก ยาเดี่ยวตัวนี้ วัตถุดิบคุมเข้ม อย.เท่านั้นเป็นคนจำหน่ายในประเทศนี้ ขณะที่สูตรผสม อยู่ในพรบ.ยา มีการคุมเข้มเช่นกัน ต้องขึ้นทะเบียน ถึงผลิตได้
"คุณมีวัตถุดิบกี่สิบล้านตันเข้ามาในประเทศนี้ คุณก็รู้เป็นยาเดี่ยวกี่ล้านตัน มาเป็นยาสูตรผสมกี่ล้านตัว ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 50 กว่าโรงงาน "
เมื่อรู้จำนวนวัตถุดิบ โรงงานผลิตก็รู้ แล้วถามว่า โรงงานผลิตนำไปขายใคร รู้หรือไม่ นี่คือต้นน้ำเลยนะ
@ แล้วที่กำลังตามจับ ตามตรวจสอบหาความผิดปกติ
ค้น ตามจับโรงพยาบาล เป็นแค่ปลายน้ำ ถามว่า ช่องจัดจำหน่ายของโรงงานเหล่านี้มีกี่ช่อง ผลิตเสร็จแล้วขายไปที่ไหน โรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิก ชัดเจน
โรงงานผลิตกี่ล้านเม็ด ขายไปที่ไหน ถามว่า รู้หรือไม่ รู้
@ มองขบวนการยักยอกยาซูโด นี้มีเส้นทางอย่างไร
ลักษณะเริ่มจากตัวบุคคล แต่อยู่ๆ ไม่มีคนซื้อก็ไม่ได้ มันต้องมีดีมานด์ กับซัพพลาย มีดีมานด์ที่ต้องการพิเศษ ดังนั้นคนเหล่านี้ใจอ่อน ยอมเป็นซัพพลายไซน์ได้ไง บางแห่งมีทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีทั้งเภสัชกร
กรรมนี้มันเกิดกรรมเดียวไม่ได้นะ มันต้องมีคนร่วม ดังนั้นการตรวจสอบต้องตามไปให้จริง ให้ชัด
ที่สำคัญ โรงพยาบาลเราต้องแยก กลุ่มที่ดีก็ไม่มีปัญหา โรงพยาบาลต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ลอยมาลอยไป มีเจตนา กับกลุ่มที่มีที่มาที่ไป เหตุเพราะซื้อยาโรงพยาบาลราคาถูกกว่า ดังนั้น คลินิก หรือร้านยาก็มาฝากซื้อ ด้วยราคานี้
เภสัชกรพวกนี้ก็ทำหน้าที่ประสานงาน เอื้อเฟื้อ เช่น คุณหมอ ก. ฝากซื้อยา 1 หมื่นเม็ด เภสัชกรก็โทร บอกร้านยาขอซื้อยาอีก 1 หมื่นเม็ด ของหมอ ก. หรืออีกแบบ มีเภสัชกร บางคนไปเปิดร้านขายยา ก็สั่งซื้อ 1 หมื่นเม็ด ใช้โทรศัพท์สั่ง ใบสั่งก็เป็นของโรงพยาบาล หรือร้านยา แต่พวกนี้จะเอาเวลาราชการไปรับใช้ตัวเอง ดูแลแบบเอื้อเฟื้อกัน พวกนี้...มี
แต่ทุกวันนี้ เรากำลังไปไล่ตามพวกเจตนา ใช่บ้างไม่ใช่บ้าง
@ แล้วปัญหานี้จะลุกลาม เหมือน/แตกต่างจาก ทุจริตยา 1,400 ล้านบาทในอดีต หรือไม่ อย่างไร
ไม่ใช่ กรณีปรากฎการณ์ซูโด ปัญหาจะมากกว่า และแตกต่างจากทุจริตยารอบแรก โดยครั้งนั้น เป็นยาที่เราใช้กับคนไข้ แต่ไปซื้อด้วยราคาที่แพงเกินเหตุ ยาบางประเภทก็อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งไม่มีความจำเป็น อีกทั้งหลักฐานก็หายากกว่า
การทุจริตยารอบแรก เรียกไปคุยตัวต่อตัว
ครั้งนี้นะ ข้อมูล "เจาะ" ง่ายกว่า ดูต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แกะรอยง่ายกว่า แต่หากดูเรื่องความไม่ปลอดภัย ก็มีมากกว่า มีผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมาก แถมไม่มีใครบังคับใคร "เป็นเจตจำนงที่จะทุจริต"